Skip to main content

คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 

งานเริ่มด้วยการฉายหนังสยองขวัญที่มีชั้นเชิงพอสมควรเรื่อง "ผีสามบาท ตอน ท่อนแขนนางรำ" ที่สร้างจากเรื่องสั้นของมนัส จรรยงค์ แล้วนักศึกษาก็ชวนแลกเปลี่ยนเรื่องหนัง ว่าจะลองวิเคราะห์ได้อย่างไรบ้าง  

 

ผมก็ลองวิเคราะห์ไป ด้วยวิธีแบบโครงสร้างนิยมบ้าง ด้วยแนวคิดแบบความขัดแย้งเชิงชนชั้นบ้าง ด้วยแนวคิดแบบผีขวัญในของกำนัลบ้าง จะเล่าให้ครบก็จะยืดยาวเกินไป ขอเล่าเรื่องอื่นดีกว่า

 

แต่เริ่มแรกเลยก่อนสนทนาเรื่องหนัง นักศึกษาถามว่า "อาจารย์ศึกษาเรื่องเวียดนาม ทำวิจัยที่เวียดนาม ที่นั่นมีผีไหมคะ" 

 

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก แน่นอนว่าเวียดนามมีผี ทุกที่ผมก็ว่ามีผีทั้งนั้นแหละ เพราะทุกที่มีคนตาย เพียงแต่ ผมพยายามนึกดู นึกย้อนกลับไปว่า ผมเคยเจอผีไหม ผมคิดว่าผมไม่เคยเจอผี เจอแต่ปรากฏการณ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจอคนวิเศษที่เหนือมนุษย์ธรรมดา อะไรแบบนี้เคยเจอ แต่ไม่เคยเจอปรากฏการณ์ผี

 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่กลัวผี ผมกลัวผี ผมบอกว่า ถ้าจะถามว่าผมนับถือศาสนาอะไร ศาสนาที่ผมอยากนับถือที่สุดคือศาสนาผีนี่แหละ ผมถือผี เมื่อก่อนผมเคยเจอปรากฏการณ์ผีอำอยู่บ่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเป็นแล้ว ผมว่าส่วนหนึ่งมาจากความเครียด ส่วนหนึ่งมาจากร่างกาย 

 

แต่เวลาผีอำแต่ละที ผมก็ตกใจนั่นแหละ เพียงแต่ไม่คิดว่ามันเป็นการกระทำของผี แล้วผมก็จะพยายามสะกดความคิดตัวเองว่า ไม่ให้ท่องบทสวดของพุทธศาสนา เพราะผมกลัวพุทธศาสนาครอบงำมากกว่ากลัวผีอำ

 

กลับไปที่มานุษยวิทยา เมื่อคืนวานผมพยายามยกตัวอย่างสั้นๆ ความรู้มานุษยวิทยาทุกยุคทุกสมัยหมกมุ่นกับผีมากอย่างไร เช่น ย้อนไปถึงยุคเจมส์ เฟรเซอร์ เขาอธิบายว่าผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นความเชื่อที่คนสมัยก่อนมีเพื่อใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่พวกเขาเข้าใจเอาเองว่ามันเป็นอย่างนั้น คือ ผีเป็นวิธีหนึ่งที่คนสมัยก่อนอธิบายโลก เมื่อมีวิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ก็มาอธิบายโลกแทน

 

ยุคต่อมา ปรมาจารย์อย่างเอมิล เดอร์ไคม์เขียนหนังสือเล่มสุดท้ายในชีวิตเขาว่าด้วยเรื่องศาสนา ซึ่งแท้จริงก็คือเรื่องผีนั่นแหละ ว่าผีก็คือสังคม สมการผี=สังคมมาจากการที่ผีคือพลังลึกลับของสังคม เ็นสัญลักษณ์ที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิทยาในระดับชุมชน ระดับสังคม แล้วถูกถ่ายทอดให้อยู่ในรูปสัญลักษณ์ที่เป็นรูปบูชา 

 

เดอร์ไคม์ในภาคนี้เป็นภาคที่เซอร์เรียล เด็มไปด้วยสัญวิทยาและการตีความ ต่างจากเดอร์ไคม์ภาควิทยาศาสตร์และสถิติ ที่นักสังคมวิทยามักให้ความสำคัญกัน เดอร์ไคม์ภาคนี้ส่งอิทธิพลต่อนักมานุษยวิยารุ่นต่อๆ มาอีกหลายคน ที่ขบคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์แะลสิ่งสาธารณ์ต่อจากเขา 

 

เช่น มาร์เซล โมส ที่พูดเรื่องของขวัญ ซึ่งมีวิญญาณของเจ้าของอยู่ หรือแมรี ดักลาส ที่พูดเรื่องความศักดิ์สิทธิ์อันเกิดจากการรับรู้ต่อสิ่งที่อยู่ในสภาวะกำกวม ก้ำกึ่ง ไม่เสถียร สุ่มเสี่ยง 

 

ไปจนกระทั่งนักคิดอย่างจอร์จ บาไตล์ ที่เสนอความคิดเรื่องระบบเศรษฐกิจทั่วไป ซึ่งต้องนับรวมทั้งการทำลายล้างหรือการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยไร้เหตุผล ว่ามีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยไปกว่าการผลิตและการคิดคำนวณอย่างสมเหตุสมผล แนวคิดนี้น่าจะมีอิทธิพลต่อปิแอร์ บูดิเยอร์ในยุคต่อมาไม่น้อยทีเดียว

 

ทางด้านของการต่อต้านการควบคุมของสังคมเองก็ใช่ย่อย เช่น มาร์กซ ที่เสนอว่าศาสนา ซึ่งผีก็เป็นหนึ่งในนั้น ถูกใช้เป็นยาฝิ่นหลอกลวงเพื่อควบคุมคน แต่สำหรับงานแนวฟูโกเดียน หรือนักรัฐศาสตร์ที่นักมานุษยวิทยาชองเอางานเขามาใช้อย่างเจมส์ สก็อตต์ ก็เสนอว่า ผู้ถูกกดขี่ก็อาจพลิกผีกลับมาใช้เป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านอำนาจได้เช่นกัน 

 

ในงานยุคหลังจากหลังโครงสร้างนิยม อย่างบรูโน ลาตูร์, ฟิลลิป เดสโกลา, และดอนนา ฮาราเวย์ ผีเป็นภาวะพ้นมนุษย์ที่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ โดยไม่ควรพยายามลากเข้าสู่วิธีคิดที่ยังยึดเอามนุษย์และวิธีคิดแบบตะวันตกเป็นศูนย์กลาง นอกเหนือจากการเข้าใจโลกจากมุมของสัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติ มากกว่าจากมุมของมนุษยนิยมแล้ว การหามุมมองของผีที่หลุดออกจากวิธีคิดแบบเดิมเป็นความมุ่งมั่นของพวกเขา

 

สำหรับงานของผมเอง ไม่ว่านักมานุษยวิทยาคนอื่นจะทำงานกับอะไร แต่ผมเอง งานเขียนเกี่ยวกับคนไตของผมอยู่กับผีตลอด ผมชอบไปป่าช้า ผมชอบไปงานศพ อะไรที่เกี่ยวกับความเข้าใจเฉพาะตนของชาวไต มักจะเกี่ยวกับผี ผีอยู่ทั้งในชีวิตประจำวันและยิ่งอยู่ในพิธีกรรมของชาวไตที่ผมรู้จัก ผมคิดว่า โลกคนกับผีของชาวไตเป็นโลกแบบ magical realism อย่างยิ่ง

 

มาร์กซกับเองเกลส์พูดเป็นประโยคแรกใน "คำประกาศพรรคคอมมิวนิสม์" ว่า "ผีตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป นั่นคือผีคอมมิวนิสม์" มาร์กซและเองเกลส์คงไม่รู้ว่า ใน พ.ศ. นี้ ผีตนนั้นยังหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่เลย ภาวะผีจึงเป็นภาวะที่พ้นการจัดการของสังคม ตราบใดที่ยังมีภาวะเหนือการจัดการของมนุษย์อยู่ ก็ยังมีภาวะผี ไม่ว่าผีตนนั้นจะอยู่ในรูปใด

 

ผมว่า ที่นิชเชอบอกว่า "พระเจ้าตายแล้ว" น่ะ ก็คงจริงอยู่กับคนส่วนน้อยมากๆ อยู่นั่นเอง เพราะความสำนึกต่อการมีอยู่ของผียังคงหลอกหลอนผู้คนอยู่เสมอ ที่แน่ๆ คือ สำหรับนักเรียนมานุษยวิทยา ผีหลอกหลอนวิชานี้ตลอดเวลา นี่ทำให้ผมเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยประการหนึ่งคือ วิชามานุษยวิทยานั้นหมกมุ่นกับผีมาก ถ้าไม่มีผี วิชามานุษยวิทยาคงอยู่ไม่ได้  

 

แต่นอกจากความกลัวที่คนมีต่อผีแล้ว ผมว่าผีเป็นสิ่งน่ากลัวที่พิเศษอยู่อย่างคือ คนกลัวผีแต่ก็ชอบผี เรากลัว แต่ก็อยากเจอ อยากเห็น คนชอบเรื่องผี คนพึ่งพิงผี คนไม่อยากอยู่ใกล้ แต่ไม่ได้รังเกียจผีขนาดที่จะต้องกลายเป็นนักวิทยาศาสตร์แล้วเลิกกลัวผีกันไปหมด เป็นไปได้ที่ผีจะมีพลังเร้นลับบางอย่างที่อาจจะคอยแอบสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยู่เงียบๆ ไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้