Skip to main content

มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า

"ผมก็ไม่แน่ใจว่า งานชิ้นนั้นจะถือว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาหรือเปล่า ไม่เข้าใจว่านักมานุษยวิทยาไม่ลงสนามแล้วจะถือว่าทำงานมานุษยวิทยาได้ยังไง"
 
ผมมารู้ทีหลังว่า ตอนนั้นอาจารย์อคินกำลังพูดถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (ปี 2538) ของผม ที่ตอนหลัง "ฟ้าเดียวกัน" มาพิมพ์ให้ชื่อ "อ่านวัฒนธรรมชุมชน" (2548) แต่ตอนที่พูดถึงงานผมนั้น อาจารย์อคินท่านก็คงไม่ได้สนใจหรอกว่าผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องอักษรไตในเวียดนามอยู่
 
ผมขอสารภาพว่าผมเฉยๆ กับงานเขียนเรื่องสลัมของอาจารย์อคิน เท่าที่รู้คือเป็นงานปริญญาเอกของท่าน ผมออกจะรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบเจ้าอาณานิคมไปศึกษาคนพื้นเมืองในประเทศอาณานิคมด้วยซ้ำ เมื่อผมเข้ามาทำงานเรียนที่ธรรมศาสตร์น่ะ อาจารย์อคินออกจากธรรมศาสตร์ไปแล้ว ท่านออกไปตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ผมมาเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์แล้วล่ะ แต่ชื่อท่านยังอยู่ที่รายชื่ออาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
 
อาจารย์อคินทิ้งมรดกไว้อย่างหนึ่งที่มันตกทอดมาสู่ผมโดยที่ท่านเองก็คงไม่สนใจหรอก ที่จริงมันก็ไม่ใช่มรดกของท่านหรอก เพราะมันเป็นครุภัณฑ์ คือโต๊ะทำงานไม้ ที่ตกทอดจากอาจารย์อคิน ไปยังอีกท่านที่เมื่อท่านนี้ย้ายไป พอผมเข้ามาทำงานหลังจบปริญญาโท โต๊ะตัวนั้นผมก็รับมาใช้ต่อ แล้วก็ยังใช้มาจนปัจจุบันนั่นแหละ
 
หนังสืออาจารย์อคินที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด และทำให้ผม "ตาสว่าง" แล้วอย่างเป็นระบบในวิธีอ่านแบบของผมเองมานานแล้ว คือหนังสือที่เคยแปลกันในชื่อว่า "สังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์" (2527 ต้นฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ปี 1969) ขณะนี้มี pdf ให้อ่านฟรีแล้ว (http://www.openbase.in.th/files/tbpj105.pdf) และมีสำนวนแปลใหม่ออกมาแล้ว (http://socanth.tu.ac.th/outreach/publication/saipin-tr-2560/)
 
ผมได้ยินหรือรู้มาจากไหนสักแห่งว่าอาจารย์อคินเขียนหนังสือเล่มนี้สมัยเรียนปริญญาโทใบที่สอง คือท่านไปเรียนปริญญาโทใบแรกในทางกฎหมาย ด้วยเพราะภาระในตระกูลแกคาดหวังแกอย่างนั้น แต่ภายหลังท่านย้ายไปเรียนมานุษยวิทยา แล้วใช้วิธีการทางกฎหมายประกอบกับมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ทำวิทยานิพนธ์ พูดอีกอย่างคือ นี่ก็ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่ใช้ฟิวว้งฟิวเวิร์คหรือเก็บข้อมูลภาคสนามอะไรที่ท่านมาคาดหวังคนรุ่นใหม่สักหน่อย แต่ก็เป็นงานที่มีค่ามากต่อวงวิชาการและความรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยกรุงเทพฯ
 
ที่เป็นงานที่มีค่าเพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างสังคมไทย หนังสือชี้ว่า สังคมไทยมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เข้มงวด เต็มไปด้วยลำดับชั้น และที่สำคัญคือ ช่วยให้เข้าใจว่า ใครที่เป็นกษัตริย์น่ะ คือคนที่คุมกำลังมากที่สุด แล้วระบบการสืบสันตติวงศ์น่ะ ที่ต้องเปลี่ยนในช่วงเดียวกับการเปลี่ยนระบอบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อช่วยให้การสืบราชสมบัติราบรื่นขึ้นหลังการยกเลิกระบบไพร่นั่นแหละ แต่ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นวัตถุประสงค์ที่อาจารย์อคินตั้งใจจะเผิดเผยให้เห็นไว้ตั้งแต่แรกหรอก
 
ผมไม่ได้มีส่วนร่วมงานกับอาจารย์อคินเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท งานช่วงนั้นอาจารย์ไปทำที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมจึงรู้จักท่านในบทบาทนี้เพียงผิวเผิน ภายหลังเมื่ออาจารย์เกษียณ ก็ได้ข่าวว่ามาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดการเรื่องพื้นที่ของคนจนในกรุงเทพฯ ผมก็ห่างๆ เพราะไม่ได้ทำเรื่องนี้อีกเช่นกัน
 
ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง อาจารย์อคินหอบโครงการและรายชื่อ NGOs ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เข้าไปเสนอโครงการปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้าใจว่าไปคุยกันที่ราบ 11 ที่ผมรู้เพราะไปให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องคนเสื้อแดงที่ขณะนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำ ในการประชุมของหน่วยงานหนึ่ง พร้อมกับที่อาจารย์อคินไปเสนอข้อมูลอีกมุมที่ที่ประชุมเดียวกัน แน่นอนว่าผมมีมุมมองที่ต่างไปจากอาจารย์อคินและสนับสนุนคนละแนวทางกับอาจารย์อคิน
 
จากนั้น ผมก็พอจะรู้ว่าอาจารย์อคินน่าจะเริ่มจำหน้า ชื่อ และทัศนะผมได้บ้างแล้วล่ะ แต่คราวนี้ท่านไม่ว่าผมไม่ลงฟิวด์ ไม่เก็บข้อมูลสนามแล้วล่ะ แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะทางการเมืองของผมอย่างรับไม่ได้ที่จะให้ผมร่วมงานด้วย ซึ่งผมก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ก็อยากให้รู้ชัดๆ ว่าอะไรที่คิดว่าตนเองเข้าใจน่ะ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
 
งานวิชาการเล่มสุดท้ายที่สำคัญของอาจารย์อคินคือ "วัฒนธรรมคือความหมาย" (2551) ซึ่งเป็นการทบทวนงานเขียนของคลิฟเฟิร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) ตั้งแต่งานยุคแรกๆ ถึงงานยุคหลัง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิดเพลิน แต่ที่ลุ้นที่สุดคืออยากรู้ว่าท่านจะเขียนถึงบทที่ว่าด้วย "ความหมาย" หรือเกิร์ซยุคหลังจากที่เขาได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมมากขึ้นแล้วอย่างไร
 
แล้วก็เป็นไปดังคาดไว้ อาจารย์อคินดูจะไม่ค่อย "อิน" กับงานของเกิร์ซยุคหลังนัก อ่านไปๆ ท่านคงเห็นเงาของนักเรียนมานุษยวิทยาที่เคยเดินตามหลังท่านมาเมื่อหลายปีก่อน ผมไม่โทษหรือดูเบาท่านหรอก เพราะมันคงประหลาดมากที่ในบั้นปลายชีวิต อาจารย์อคินผู้เคยทำงานในขนบแบบปฏิฐานนิยมมาโดยตลอด จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการตีความความหมายและวรรณกรรม เพียงแต่ผมก็ต้องคอยเตือนนักเรียนรุ่นหลังๆ ว่า หากจะใช้หนังสือเล่มนี้ ก็ใช้อย่างระมัดระวังว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ที่ไหน เพราะผมมั่นใจว่า อาจารย์อคินไม่ได้อินนักกับสิ่งที่เรียกว่า "ความหมาย" ที่ติดอยู่บนชื่อหนังสือเล่มนี้เองนักหรอก
 
ใครสักคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้กับสาธารณชนอย่างหนักหน่วงอย่างอาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ก็จะต้องเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่ผมคงไม่สามารถจำคนหลายคนได้แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ความอาลัยอย่างกระอักกระอ่วนที่ผมมีต่ออาจารย์อคินคงจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน พร้อมๆ กับที่ผมจะระลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ส่งผ่านมายังคนรุ่นหลังรวมทั้งผม ผ่านการสร้างวิชามานุษยวิทยาในไทย และการฝากผลงานสำคัญๆ อย่างการศึกษาโครงสร้างสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
บันทึกจากซิดนีย์ ออสเตรเลีย วันที่ 23 เมษายน 2557
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คงจะมีการจากไปของนักเขียนในโลกไม่กี่ครั้งที่จะได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากเท่าการจากไปของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากอำมาตย์ชนะ...โลกวิชาการไทยจะเป็นอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองเดือนที่ผ่านมาผมเดินทางอย่างบ้าระห่ำ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ไปเวียดนาม 4 วัน กลับมาแล้วไปญี่ปุ่น 12 วัน กลับมาแล้วไปเชียงใหม่ 2 วัน แล้วไปมาเลเซีย 5 วัน แล้วต่อไปนครศรีธรรมราช 3 วัน ที่จริงเดือนหน้าก็จะไปต่อ คราวนี้ไปออสเตรเลีย 5 วัน กลับมาเดือนต่อไปมีคนชวนไปทุ่งใหญ่นเรศวรอีก 5 วัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปสัมมนาวิชาการที่กัวลาลัมเปอร์ จัดโดยมหาวิทยาลัยมาลายา เมื่อเสร็จงานตัวเองแล้ว ขอพักผ่อนด้วยการบันทึกถึงมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งผมได้มาเยือนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การบอกเล่าเรื่องราวของ "คนอื่น" ที่ต่างจากเรามากๆ ให้ "พวกเรา" อ่าน อย่างมากก็ทำได้แค่ บอกเล่าผ่านถ้อยคำ ผ่านประสบการณ์ที่ "พวกเรา" ต่างคุ้นเคยกันดี พูดอีกอย่างก็คือ การเล่าเรื่องคนอื่นคือ "การแปล" หรือ "การแปร" เรื่องที่แตกต่างให้คุ้นเคย เป็นการดัดแปลงของคนอื่นให้เราเข้าใจในภาษา ในสัญญะแบบที่พวกเราเองรับรู้อยู่ก่อนแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดท้ายชั้นเรียนวิชา "มานุษยวิทยาอาหาร" กับนักเรียนปริญญาโทและปริญญาเอกเมื่อสองวันก่อนด้วยมื้อการไปกินอาหารไทยพื้นๆ แสนอร่อยราคาประหยัดที่แพร่งภูธร พระนคร ตลอดภาคการศึกษา พวกเราพยายามเข้าใจอาหารผ่านหลายๆ คำถาม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนถามผมว่า "ไปญี่ปุ่นทำไมบ่อยๆ" นั่นสินะ ไปทีไรกลับมาก็มีของฝากบ้าง เรื่องเล่าบ้าง รูปวาดบ้าง เล่าว่าไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ ไม่เห็นมีบอกตรงไหนว่าไปทำงานมา ก็เลยขอเล่าสักหน่อยแล้วกันว่าไปทำอะไรมาบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การคงอยู่ของการชุมนุมในขณะนี้ แม้ว่าจะสูญเสียความชอบธรรมไปมากแล้ว เพราะสนับสนุนการใช้ความรุนแรง มีการใช้กำลังอาวุธ ผู้ชุมนุมข่มขู่คุกคามประชาชน สื่อ และเจ้าหน้าที่รัฐรายวัน รวมทั้งไม่สามารถปกป้องดูแลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ แต่ทำไมยังมีใครพยายามเลี้ยงกระแสการชุมนุมนี้ไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่ออยู่ที่อื่น ก็คิดถึงถิ่นฐานอันคุ้นเคย แต่เมื่อกลับมาถึงบ้านแล้ว ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับถิ่นที่ชั่วคราวที่ได้ไปเยือน บางคนก็คงมีอารมณ์อย่างนี้กันบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"รู้สึกไหมว่า การศึกษาต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (13 กพ. 57) ไปเยี่ยมชม Kyoto Museum for World Peace ตามคำบอกเล่าของหลายๆ คน และตามความประสงค์ของผู้ร่วมเดินทาง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ชวนให้คิด มีถ้อยคำหลอกหลอนมากมาย มีภาพความรุนแรง มีบทเรียนที่มนุษย์ไม่เคยเรียนรู้ มีการเห็นคนไม่เป็นคน และสุดท้ายสะท้อนใจถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย