Skip to main content

มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า

"ผมก็ไม่แน่ใจว่า งานชิ้นนั้นจะถือว่าเป็นงานทางมานุษยวิทยาหรือเปล่า ไม่เข้าใจว่านักมานุษยวิทยาไม่ลงสนามแล้วจะถือว่าทำงานมานุษยวิทยาได้ยังไง"
 
ผมมารู้ทีหลังว่า ตอนนั้นอาจารย์อคินกำลังพูดถึงวิทยานิพนธ์ปริญญาโท (ปี 2538) ของผม ที่ตอนหลัง "ฟ้าเดียวกัน" มาพิมพ์ให้ชื่อ "อ่านวัฒนธรรมชุมชน" (2548) แต่ตอนที่พูดถึงงานผมนั้น อาจารย์อคินท่านก็คงไม่ได้สนใจหรอกว่าผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องอักษรไตในเวียดนามอยู่
 
ผมขอสารภาพว่าผมเฉยๆ กับงานเขียนเรื่องสลัมของอาจารย์อคิน เท่าที่รู้คือเป็นงานปริญญาเอกของท่าน ผมออกจะรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบเจ้าอาณานิคมไปศึกษาคนพื้นเมืองในประเทศอาณานิคมด้วยซ้ำ เมื่อผมเข้ามาทำงานเรียนที่ธรรมศาสตร์น่ะ อาจารย์อคินออกจากธรรมศาสตร์ไปแล้ว ท่านออกไปตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ผมมาเรียนปริญญาตรีที่ธรรมศาสตร์แล้วล่ะ แต่ชื่อท่านยังอยู่ที่รายชื่ออาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
 
อาจารย์อคินทิ้งมรดกไว้อย่างหนึ่งที่มันตกทอดมาสู่ผมโดยที่ท่านเองก็คงไม่สนใจหรอก ที่จริงมันก็ไม่ใช่มรดกของท่านหรอก เพราะมันเป็นครุภัณฑ์ คือโต๊ะทำงานไม้ ที่ตกทอดจากอาจารย์อคิน ไปยังอีกท่านที่เมื่อท่านนี้ย้ายไป พอผมเข้ามาทำงานหลังจบปริญญาโท โต๊ะตัวนั้นผมก็รับมาใช้ต่อ แล้วก็ยังใช้มาจนปัจจุบันนั่นแหละ
 
หนังสืออาจารย์อคินที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด และทำให้ผม "ตาสว่าง" แล้วอย่างเป็นระบบในวิธีอ่านแบบของผมเองมานานแล้ว คือหนังสือที่เคยแปลกันในชื่อว่า "สังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์" (2527 ต้นฉบับภาษาอังกฤษพิมพ์ปี 1969) ขณะนี้มี pdf ให้อ่านฟรีแล้ว (http://www.openbase.in.th/files/tbpj105.pdf) และมีสำนวนแปลใหม่ออกมาแล้ว (http://socanth.tu.ac.th/outreach/publication/saipin-tr-2560/)
 
ผมได้ยินหรือรู้มาจากไหนสักแห่งว่าอาจารย์อคินเขียนหนังสือเล่มนี้สมัยเรียนปริญญาโทใบที่สอง คือท่านไปเรียนปริญญาโทใบแรกในทางกฎหมาย ด้วยเพราะภาระในตระกูลแกคาดหวังแกอย่างนั้น แต่ภายหลังท่านย้ายไปเรียนมานุษยวิทยา แล้วใช้วิธีการทางกฎหมายประกอบกับมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์ทำวิทยานิพนธ์ พูดอีกอย่างคือ นี่ก็ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ที่ใช้ฟิวว้งฟิวเวิร์คหรือเก็บข้อมูลภาคสนามอะไรที่ท่านมาคาดหวังคนรุ่นใหม่สักหน่อย แต่ก็เป็นงานที่มีค่ามากต่อวงวิชาการและความรู้ประวัติศาสตร์สังคมไทยกรุงเทพฯ
 
ที่เป็นงานที่มีค่าเพราะหนังสือเล่มนี้ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างสังคมไทย หนังสือชี้ว่า สังคมไทยมีระบบระเบียบที่เคร่งครัด เข้มงวด เต็มไปด้วยลำดับชั้น และที่สำคัญคือ ช่วยให้เข้าใจว่า ใครที่เป็นกษัตริย์น่ะ คือคนที่คุมกำลังมากที่สุด แล้วระบบการสืบสันตติวงศ์น่ะ ที่ต้องเปลี่ยนในช่วงเดียวกับการเปลี่ยนระบอบการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เพื่อช่วยให้การสืบราชสมบัติราบรื่นขึ้นหลังการยกเลิกระบบไพร่นั่นแหละ แต่ผมก็ไม่คิดว่านั่นจะเป็นวัตถุประสงค์ที่อาจารย์อคินตั้งใจจะเผิดเผยให้เห็นไว้ตั้งแต่แรกหรอก
 
ผมไม่ได้มีส่วนร่วมงานกับอาจารย์อคินเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท งานช่วงนั้นอาจารย์ไปทำที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผมจึงรู้จักท่านในบทบาทนี้เพียงผิวเผิน ภายหลังเมื่ออาจารย์เกษียณ ก็ได้ข่าวว่ามาทำงานที่สำนักงานทรัพย์สินฯ จัดการเรื่องพื้นที่ของคนจนในกรุงเทพฯ ผมก็ห่างๆ เพราะไม่ได้ทำเรื่องนี้อีกเช่นกัน
 
ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเหลือง-แดง อาจารย์อคินหอบโครงการและรายชื่อ NGOs ผู้สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงก่อนล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ราชประสงค์ เข้าไปเสนอโครงการปฏิรูปประเทศไทยกับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เข้าใจว่าไปคุยกันที่ราบ 11 ที่ผมรู้เพราะไปให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องคนเสื้อแดงที่ขณะนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำ ในการประชุมของหน่วยงานหนึ่ง พร้อมกับที่อาจารย์อคินไปเสนอข้อมูลอีกมุมที่ที่ประชุมเดียวกัน แน่นอนว่าผมมีมุมมองที่ต่างไปจากอาจารย์อคินและสนับสนุนคนละแนวทางกับอาจารย์อคิน
 
จากนั้น ผมก็พอจะรู้ว่าอาจารย์อคินน่าจะเริ่มจำหน้า ชื่อ และทัศนะผมได้บ้างแล้วล่ะ แต่คราวนี้ท่านไม่ว่าผมไม่ลงฟิวด์ ไม่เก็บข้อมูลสนามแล้วล่ะ แต่ท่านไม่เห็นด้วยกับทัศนะทางการเมืองของผมอย่างรับไม่ได้ที่จะให้ผมร่วมงานด้วย ซึ่งผมก็คาดไว้อยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น เพียงแต่ก็อยากให้รู้ชัดๆ ว่าอะไรที่คิดว่าตนเองเข้าใจน่ะ เป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
 
งานวิชาการเล่มสุดท้ายที่สำคัญของอาจารย์อคินคือ "วัฒนธรรมคือความหมาย" (2551) ซึ่งเป็นการทบทวนงานเขียนของคลิฟเฟิร์ด เกิร์ซ (Clifford Geertz) ตั้งแต่งานยุคแรกๆ ถึงงานยุคหลัง ผมอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างเพลิดเพลิน แต่ที่ลุ้นที่สุดคืออยากรู้ว่าท่านจะเขียนถึงบทที่ว่าด้วย "ความหมาย" หรือเกิร์ซยุคหลังจากที่เขาได้รับอิทธิพลของวรรณกรรมมากขึ้นแล้วอย่างไร
 
แล้วก็เป็นไปดังคาดไว้ อาจารย์อคินดูจะไม่ค่อย "อิน" กับงานของเกิร์ซยุคหลังนัก อ่านไปๆ ท่านคงเห็นเงาของนักเรียนมานุษยวิทยาที่เคยเดินตามหลังท่านมาเมื่อหลายปีก่อน ผมไม่โทษหรือดูเบาท่านหรอก เพราะมันคงประหลาดมากที่ในบั้นปลายชีวิต อาจารย์อคินผู้เคยทำงานในขนบแบบปฏิฐานนิยมมาโดยตลอด จะหันกลับมาให้ความสำคัญกับการตีความความหมายและวรรณกรรม เพียงแต่ผมก็ต้องคอยเตือนนักเรียนรุ่นหลังๆ ว่า หากจะใช้หนังสือเล่มนี้ ก็ใช้อย่างระมัดระวังว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ที่ไหน เพราะผมมั่นใจว่า อาจารย์อคินไม่ได้อินนักกับสิ่งที่เรียกว่า "ความหมาย" ที่ติดอยู่บนชื่อหนังสือเล่มนี้เองนักหรอก
 
ใครสักคนที่ทำงานอย่างจริงจัง ทุ่มเทชีวิตให้กับสาธารณชนอย่างหนักหน่วงอย่างอาจารย์อคิน รพีพัฒน์ ก็จะต้องเป็นที่จดจำไปอีกนานแสนนาน เพียงแต่ผมคงไม่สามารถจำคนหลายคนได้แต่เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ความอาลัยอย่างกระอักกระอ่วนที่ผมมีต่ออาจารย์อคินคงจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน พร้อมๆ กับที่ผมจะระลึกถึงคุณูปการที่อาจารย์ส่งผ่านมายังคนรุ่นหลังรวมทั้งผม ผ่านการสร้างวิชามานุษยวิทยาในไทย และการฝากผลงานสำคัญๆ อย่างการศึกษาโครงสร้างสังคมไทยสมัยต้นรัตนโกสินทร์

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระดับภูมิภาคซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ การปกครองส่วนภูมิภาค สภาองค์กรชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในแต่ละปี ผมมักไปร่วมสัมภาษณ์นักเรียนเพื่อเข้าศึกษาในคณะในมหาวิทยาลัยที่ผมสอนประจำอยู่โดยไม่ได้ขาด เสียดายที่ปีนี้มีโอกาสสัมภาษณ์นักเรียนเพียงไม่กี่คน เพราะติดภาระกิจมากมาย แต่ก็ยังดีที่ได้สัมภาษณ์อย่างจริงจังถึง 10 คนด้วยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียชีวิตของเด็กหญิงบนรถไฟทำให้สังคมไทยสะเทือนใจกันไปทั่ว แต่ที่น่าสะเทือนใจไม่น้อยไปกว่าความสูญเสียดังกล่าวคือ การแสดงออกของสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นความเป็นสังคมอาชญากรรมในหลายๆ ประการ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวัยเยาว์ ผมเริ่มสงสัยง่าย ๆ ว่า ในหัวของแต่ละคนคิดอะไรอยู่ จึงได้ทำให้คนแตกต่างกันหรือเหมือนกัน ผมพยายามค้นหาว่าความรู้ชนิดใดกันที่จะทำให้เข้าใจความคิดในหัวคนได้ แรก ๆ ก็เข้าใจว่าศาสนาจะช่วยให้เข้าใจได้ ต่อมาก็คือจิตวิทยา แต่ผมเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ แล้วมาสนใจประวัติศาสตร์และปรัชญา ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ สุดท้ายผมได้เจอกับวิชาที่น่าสนใจว่าน่าจะช่วยให้เข้าใจทัศนคติได้ดี นั่นก็คือวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมสงสัยว่า บุคคลที่น่านับถือจำนวนมากที่ยินยอมตอบรับหรือเสนอตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหาร ในคณะกรรมการต่างๆ มากมายนั้น ทั้งโดยออกนอกหน้าและเสนอตัวว่าขอทำงานอย่างลับๆ พวกเขาเข้าร่วมด้วยหลักการอะไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมพยายามครุ่นคิดอยู่นานว่า ทำไมคนไทยกลุ่มหนึ่งจึงโกรธนักโกรธหนาที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาประณามและต่อต้านการรัฐประหารครั้งนี้อย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่พวกเขานั้นเป็นทาสฝรั่งเหล่านี้มากที่สุดในประเทศนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการสันติศึกษาเหล่านี้*ท่านคงไม่ได้ติดตามข่าว ขณะนี้ไม่มีใครพูดถึงมาตรา 7 กันแล้ว ฝ่ายที่จะพยายามตั้งรัฐบาล ทั้ง กปปส. และพรรคพวก และการดำเนินงานของประธานวุฒิสภาเถื่อน (เพราะยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า ทำเกินอำนาจหน้าที่) ในขณะนี้ ไม่ได้สนใจข้อกฎหมายมาตราใดๆ ทั้งสิ้น พวกเขาเพียงพยายามหาเสียงสนับสนุนจากสังคมโดยไม่ใยดีกับเสียงคัดค้าน ไม่ใยดีกับข้อกฎหมาย เพื่อที่จะทูลเกล้าเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของเขาเท่านั้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (8 พค. 57) ผมข้องเกี่ยวอยู่กับภาพยนตร์ในหลายๆ ลักษณะ ตอนเช้า สัมภาษณ์นักศึกษาสอบเข้าปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ น่าแปลกใจที่ผู้เข้าสอบหลายต่อหลายคนสนใจภาพยนตร์ ตกบ่าย ไปชมภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"ตามคำเชิญของ "คุณสืบ" และ "คุณเปีย" ผู้กำกับและตากล้องภาพยนตร์เรื่อง "วังพิกุล"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 12 เพิ่งจบสิ้นลงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (22-24 เมษายน ที่มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย) ผมไปประชุมครั้งนี้อย่างเหน็ดเหนื่อย เพราะต้องเตรียมตัวเสนอบทความตนเองหนึ่งชิ้น และร่วมในห้องเสวนาโต๊ะกลมอีกสองห้อง ทุกรายการอยู่คนละวัน ผมก็เลยต้องพูดทุกวันทั้งสามวัน