Skip to main content

อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 

เมืองลอไม่ค่อยมีใครรู้จัก คนรู้จักกันแต่เมืองแถง ทั้งๆ ที่ทั้งในตำนานและในการส่งผีขึ้นเมืองฟ้า เมืองลอนี่แหละที่เป็นเมืองต้นกำเนิดของชาวไต/ไทในความรับรู้ของพวกไทดำ ปัจจุบันเมืองลอตั้งอยู่ในจังหวัดเอียนบ๋าย เป็นเมืองสวยงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตำนานเมืองลอเป็นอย่างไร จะให้เล่าที่นี่ก็ยืดยาวเกินไป  

 

รูปอาวเบี๋ยนกับผมเมื่อ 15 ปีก่อน ถ่ายที่บ้านท่านที่เมืองลอ

 

การเดินทางไปเมืองลอ แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ บนเขา กว่าจะถึงเมืองลอ กว่าจะได้เจออาวเบี๋ยนก็เหนื่อยยาก ชีวิตความเป็นอยู่ท่านก็เรียบง่าย อยู่แบบชาวบ้าน เรือนชานก็แค่พอเหมาะพออยู่กันสองผัวเมีย ท่านอยู่กับอาปอง ส่วนใหญ่ก็อยู่กันแค่สองคน  

 

ที่เรียกอาวและอานั้น ก็ด้วยเหตุว่าครูของผมคืออาจารย์คำจองบอกให้เรียกอย่างนั้น เพราะตามธรรมเนียมไทดำ หากจะเรียกใคร หลักแรกๆ ก็นับตั้งต้นที่ตัวเราว่าสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ครูผมนับเป็นอ้ายหรือเป็นพ่อของผม อาวเบี๋ยนแม้อายุเท่ากับครูผม ก็นับว่าเป็นน้องครูผมตามศักดิ์ของตระกูล ก็จึงนับเป็นอาวของผม  

 

คำว่าอาวนี่ก็เรียกตามคำของไทดำ ที่จะเรียกน้องผู้ชายของพ่อว่าอาว น้องผู้หญิงเรียกอา แต่นี่ก็ยังเป็นวิธีเรียกสำหรับคนที่ยังค่อนข้างห่างเหินกัน เพราะถ้าสนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกตามชื่อลูกคนโต เช่น ครูผมชื่อก๊ำจ่อง คนไม่รู้จักกันก็เรียกตามชื่อตัวคือชื่อจ่อง มีคำนำหน้าตามสมควร แต่ถ้ารู้จักกันดี เขาจะรู้ว่าลูกคนโตชื่อเนม ก็จะต้องเรียก อาวเนม หรืออ้ายลุงเนม ซึ่งสำหรับคนอื่นฟังก็จะงงมาก

 

กลับมาที่อาวเบี๋ยน หลังๆ มาท่านเรียกตัวเองกับผมว่า อ้าย หมายถึงพ่อ ก็นับว่าสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น เวลาเมาๆ ก็จะเรียกผมว่า สู ไม่ก็มึง แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ท่านก็จะเปลี่ยนสรรพนามเป็นข้อยบ้าง อ้ายบ้าง แล้วแต่บริบท  

 

เวลาไปเจอท่านที่เมืองลอแต่ละที ผมก็ไปรบกวนท่านให้ท่านทำข้าวปลาอาหารและเหล้ายามาเลี้ยงดูกัน พวกเราก็ช่วยเงินท่านบ้างนั่นแหละ แต่แน่นอนว่าก็จะเป็นการรบกวนทั้งแรงกายและเวลาส่วนตัวของท่านกับอาปอง แต่เมื่อไหร่ที่ไปกัน ท่านก็จะระดมลูกหลานสะใภ้คนเล็กคนโต มาช่วยทำอาหาร นั่งกินอาหารเป็นเพื่อนอย่างสนุกสนาน กับเก็บล้าง เมื่อ 3 ปีก่อนนี้  

 

คราวที่ผมพาอาจารย์นิธิไปเที่ยวถิ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พาอาจารย์นิธิไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านก็ทำอาหารเลี้ยงดู ผมร่ำสุรากับครอบครัวท่านพอสมควรก็ต้องขอตัวกลับไปพัก ความหนักหนาของสุรากับวิธิีการดื่ม และความพื้นบ้านของอาหารการกิน ทำให้เมื่อผละออกมาจากวงเหล้าแล้ว อาจารย์นิธิเอ่ยปากกับผมทันทีว่า "โชคดีชิบหายที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยา"  

 

เมื่อวาน (9 มีค. 62) เมื่อรู้ข่าวว่าท่านมาเยือนถิ่นไทดำถึงประเทศไทย ท่านไปร่วมงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทดำแห่งใหม่ที่วัดไผ่คอกเนื้อ บางเลน นครปฐม ผมก็รีบชวนฆัสรา ที่เพิ่งกลับจากงานที่ไต้หวันมาหมาดๆ เดินทางไปพบท่านทันที ตามธรรมเนียม คนไทดำพบกันก็ต้องกินเหล้าเป็นการคารวะกัน แสดงความรักใคร่กัน เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่จนได้มาดื่มเหล้าร่วมกันอีก (อันหลังนี่ผมเติมเอง)

 

เสียดายที่เมื่อวานไม่ได้ดื่มกินกันจนเมามาย ไม่ทันได้ถกเถียงกันดังแต่ก่อน เพราะต่างก็มีภารกิจรัดตัว เอาไว้การเดินทางรอบหน้าที่หากได้ไปพบท่านที่เรือนชานท่านอีก จะต้องดื่มกินอย่างเต็มที่เหมือนครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ได้อยู่นฐานะที่จะมาเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลี เดินทางไปแค่สองครั้ง ครั้งละไม่กี่วัน ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ ไม่ได้เชี่ยวชาญอะไร แต่ด้วยนิสัยของการชอบบันทึกเก็บไว้ ก็เลยอยากเขียนอะไรเกี่ยวกับเกาหลีที่รู้จักเอาไว้อ่านเอง เอาไว้คิดต่อ เอาไว้ก่อนที่จะลืม ก่อนที่จะไม่อยากเขียน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องคิดต่างจากส่วนกลาง ถ้าเราคิดว่าการครอบงำของความรู้ตะวันตกเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าใจตัวตนเราเอง และทั้งยังปิดกั้นความเป็นมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเข้าใจจากมุมมองที่ต่างออกไป เราก็จำเป็นที่จะต้องคิดทั้งนอกกรอบตะวันตกและนอกกรอบการครอบงำจากอำนาจศูนย์กลางของรัฐ ความคิดนอกกรอบการครอบงำดังกล่าวส่วนหนึ่งเรียกว่าแนวคิดหลังอาณานิคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไปโกเบเมื่อสี่วันก่อน (7 มิถุนายน 59) นอกจากได้รู้จักความเป็นเมืองฝรั่งๆ ของโกเบแล้ว สาระสำคัญของการไปโกเบวันก่อนอย่างหนึ่งคือการไปพิพิธภัณฑ์เครื่องมือช่างไม้แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของบริษัท Takenaka ที่บอกเล่าว่าตั้งมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 17 ส่วนพิพิธภัณฑ์นี้เปิดปี 1984 แล้วเข้าใจว่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาคอลเล็กชั่นและการจัดแสดงขึ้นมาเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รู้กันนะครับว่า เวลาที่เราเรียกว่า "หล่อๆ" นี่ ไม่ใช่ว่าต้องเป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็หล่อได้ เพราะมันหล่อในสำนวน ในการแสดงออก ในท่าที ทั้งๆ ที่หน้าตาไม่ต้องหล่อก็ได้ แต่หล่อที่คำพูด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่งสอนผมว่า “คำวิจารณ์น่ะ น่าฟังมากกว่าคำชื่นชม เนื่องจากคนที่วิจารณ์เราน่ะ เขาจริงใจกับเรามากกว่าคนที่ชื่นชมเรา ไม่มีใครวิจารณ์เราตามมารยาท แต่คนชมน่ะ บางทีเขาก็ชมเราไปตามมารยาทเท่านั้นแหละ” ดังนั้นเมื่อโลกเขารุมวิจารณ์ไทย เราก็ควรรับฟังเขา เพราะถ้าเขาไม่มีความจริงใจ ไม่อยากเห็นเราปรับปรุงตัวจริงๆ ไม่รัก ไม่ห่วง ไม่อยากคบค้าสมาคมด้วย เขาก็คงไม่ติติงเรา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดอย่างหลวม ๆ คือ พวกเขาเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สองชื่อแรกใช้ในประเทศไทย เรียกกลุ่มคนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ที่จริงพวกเขายังอยู่ในอำเภอเมือง อำเภอหนองหญ้งปล้อง และอำเภออื่น ๆ ของเพชรบุรี แล้วยังกระจายย้ายถิ่นไปในจังหวัดอื่น ๆ ตั้งแต่นครปฐม ชุมพร ไปจนถึงนครสวรรค์ เลย ฯลฯ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้ผมกลับมาไทย 7 วัน ไม่รวมวันเดินทางอีกสองวัน ที่มาเพราะได้รับเชิญมาเสนอความเห็นในการ workshop งานหนึ่ง ผมก็เลยถือโอกาสนี้ใช้ทุนที่ต้องใช้สำหรับทำวิจัย เก็บข้อมูลของมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งก็มีอยู่ไม่มากนัก มาเพื่อใช้เดินทางไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเลย