Skip to main content

อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 

เมืองลอไม่ค่อยมีใครรู้จัก คนรู้จักกันแต่เมืองแถง ทั้งๆ ที่ทั้งในตำนานและในการส่งผีขึ้นเมืองฟ้า เมืองลอนี่แหละที่เป็นเมืองต้นกำเนิดของชาวไต/ไทในความรับรู้ของพวกไทดำ ปัจจุบันเมืองลอตั้งอยู่ในจังหวัดเอียนบ๋าย เป็นเมืองสวยงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตำนานเมืองลอเป็นอย่างไร จะให้เล่าที่นี่ก็ยืดยาวเกินไป  

 

รูปอาวเบี๋ยนกับผมเมื่อ 15 ปีก่อน ถ่ายที่บ้านท่านที่เมืองลอ

 

การเดินทางไปเมืองลอ แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ บนเขา กว่าจะถึงเมืองลอ กว่าจะได้เจออาวเบี๋ยนก็เหนื่อยยาก ชีวิตความเป็นอยู่ท่านก็เรียบง่าย อยู่แบบชาวบ้าน เรือนชานก็แค่พอเหมาะพออยู่กันสองผัวเมีย ท่านอยู่กับอาปอง ส่วนใหญ่ก็อยู่กันแค่สองคน  

 

ที่เรียกอาวและอานั้น ก็ด้วยเหตุว่าครูของผมคืออาจารย์คำจองบอกให้เรียกอย่างนั้น เพราะตามธรรมเนียมไทดำ หากจะเรียกใคร หลักแรกๆ ก็นับตั้งต้นที่ตัวเราว่าสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ครูผมนับเป็นอ้ายหรือเป็นพ่อของผม อาวเบี๋ยนแม้อายุเท่ากับครูผม ก็นับว่าเป็นน้องครูผมตามศักดิ์ของตระกูล ก็จึงนับเป็นอาวของผม  

 

คำว่าอาวนี่ก็เรียกตามคำของไทดำ ที่จะเรียกน้องผู้ชายของพ่อว่าอาว น้องผู้หญิงเรียกอา แต่นี่ก็ยังเป็นวิธีเรียกสำหรับคนที่ยังค่อนข้างห่างเหินกัน เพราะถ้าสนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกตามชื่อลูกคนโต เช่น ครูผมชื่อก๊ำจ่อง คนไม่รู้จักกันก็เรียกตามชื่อตัวคือชื่อจ่อง มีคำนำหน้าตามสมควร แต่ถ้ารู้จักกันดี เขาจะรู้ว่าลูกคนโตชื่อเนม ก็จะต้องเรียก อาวเนม หรืออ้ายลุงเนม ซึ่งสำหรับคนอื่นฟังก็จะงงมาก

 

กลับมาที่อาวเบี๋ยน หลังๆ มาท่านเรียกตัวเองกับผมว่า อ้าย หมายถึงพ่อ ก็นับว่าสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น เวลาเมาๆ ก็จะเรียกผมว่า สู ไม่ก็มึง แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ท่านก็จะเปลี่ยนสรรพนามเป็นข้อยบ้าง อ้ายบ้าง แล้วแต่บริบท  

 

เวลาไปเจอท่านที่เมืองลอแต่ละที ผมก็ไปรบกวนท่านให้ท่านทำข้าวปลาอาหารและเหล้ายามาเลี้ยงดูกัน พวกเราก็ช่วยเงินท่านบ้างนั่นแหละ แต่แน่นอนว่าก็จะเป็นการรบกวนทั้งแรงกายและเวลาส่วนตัวของท่านกับอาปอง แต่เมื่อไหร่ที่ไปกัน ท่านก็จะระดมลูกหลานสะใภ้คนเล็กคนโต มาช่วยทำอาหาร นั่งกินอาหารเป็นเพื่อนอย่างสนุกสนาน กับเก็บล้าง เมื่อ 3 ปีก่อนนี้  

 

คราวที่ผมพาอาจารย์นิธิไปเที่ยวถิ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พาอาจารย์นิธิไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านก็ทำอาหารเลี้ยงดู ผมร่ำสุรากับครอบครัวท่านพอสมควรก็ต้องขอตัวกลับไปพัก ความหนักหนาของสุรากับวิธิีการดื่ม และความพื้นบ้านของอาหารการกิน ทำให้เมื่อผละออกมาจากวงเหล้าแล้ว อาจารย์นิธิเอ่ยปากกับผมทันทีว่า "โชคดีชิบหายที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยา"  

 

เมื่อวาน (9 มีค. 62) เมื่อรู้ข่าวว่าท่านมาเยือนถิ่นไทดำถึงประเทศไทย ท่านไปร่วมงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทดำแห่งใหม่ที่วัดไผ่คอกเนื้อ บางเลน นครปฐม ผมก็รีบชวนฆัสรา ที่เพิ่งกลับจากงานที่ไต้หวันมาหมาดๆ เดินทางไปพบท่านทันที ตามธรรมเนียม คนไทดำพบกันก็ต้องกินเหล้าเป็นการคารวะกัน แสดงความรักใคร่กัน เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่จนได้มาดื่มเหล้าร่วมกันอีก (อันหลังนี่ผมเติมเอง)

 

เสียดายที่เมื่อวานไม่ได้ดื่มกินกันจนเมามาย ไม่ทันได้ถกเถียงกันดังแต่ก่อน เพราะต่างก็มีภารกิจรัดตัว เอาไว้การเดินทางรอบหน้าที่หากได้ไปพบท่านที่เรือนชานท่านอีก จะต้องดื่มกินอย่างเต็มที่เหมือนครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้