Skip to main content

ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธีแต่มาวันนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์คนเดิมอธิบายสั้นๆ ว่า การใช้กำลังของรัฐถูกต้องตามตำราเกินไป ส่วนผู้ชุมนุมยังต้องเคร่งครัดกว่านี้อีก

จะให้ใส่คำพูดแบบนักสันติวิธี หมายความว่า การใช้กำลังของรัฐในวันที่ 16 ตค. ถูกต้องตามตำราสันติวิธีของการสลายการชุมนุมแล้ว ส่วนการชุมนุมของผู้ชุมนุม ยังสันติวิธีไม่พอ อย่างนั้นหรือครับ

เบื้องต้นเลย สมมติว่าเราไม่ต้องสนใจว่า ทำไมอาจารย์ไม่ถามถึงความชอบธรรมของรัฐตั้งแต่ต้นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ชอบธรรมไหม ไม่ว่าจะในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย หรือในทางตำราสันติวิธี (หรือสันติวิธีเขาไม่สนใจว่าจะต้องใช้ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่)

ซึ่งข้อนี้ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมอาจารย์ไม่สนใจเอ่ยถึงประเด็นนี้ ถ้าบอกว่า ก็เขาไม่ได้ถาม แต่หลายครั้งที่นักข่าวถามอะไรอาจารย์ อาจารย์ก็สวนกลับว่า ต้องถามอีกคำถามก่อน ได้เสมอไม่ใช่หรือ

สมมติว่าลืมประเด็นพื้นฐานนี้ไปก่อน ผมก็ยังสงสัยต่อว่า คำพูดที่ว่า "ฝ่ายรัฐนอกตำราหน่อยได้ไหม ฝ่ายผู้ชุมนุมเคร่งครัดตามตำราให้มากขึ้นได้ไหม" นั้น เป็นข้อเสนอที่ใช้ได้ไหม

ข้อแรก คำพูดแบบนี้ของอาจารย์กลับกลายเป็นการ justify ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังของรัฐว่า ฝ่ายรัฐทำตามตำราแล้ว ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมต่างหากที่ยังไม่เคร่งครัดพอ น้ำเสียงแบบนี้คือเกรงใจผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ชุมนุม เพราะขอร้องให้ฝ่ายรัฐยอมทำผิดบ้าง แต่ไม่ตั้งคำถามเลยว่า ที่ฝ่ายรัฐทำนั้น ถูกแล้วตั้งแต่ต้นหรือไม่

มีคำถามที่อาจารย์เคยถามผมเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่า การที่ผมวิจารณ์วาทกรรมฝ่ายผู้ด้อยอำนาจ (ขณะนั้นคือวาทกรรมวัฒนธรรมชุมชนของ NGOs) จะเป็นการลดทอนกำลังของผู้ต่อสู้กับอำนาจนำหรือเปล่า ถึงวันนี้ผมก็อยากถามอาจารย์ในทำนองเดียวกันนี้ว่า การไม่วิจารณ์ผู้มีอำนาจ จะเป็นการให้ท้ายผู้มีอำนาจอยู่หรือเปล่า

ข้อต่อมา วิธีการที่รัฐใช้เมื่อคืนวันที่ 16 ตค. นั้น เป็นไปตาม “ตำรา” เล่มไหน  ขณะนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลักการสลายการชุมนุมอย่างสากลนั้น จะไม่ใช้น้ำผสมสารพิษร้ายแรง มีกลุ่มแพทย์จำนวน 300 กว่าคนยอมสละหน้าตา ชื่อเสียง หน้าที่การงาน ระบุว่าเป็นสารพิษ มีอันตราย มีข้อมูลว่า หลักสากลจะไม่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง ฯลฯ ตกลงวิธีการที่รัฐใช้นั้น "สันติเกินไป" แล้วหรือ

อีกข้อหนึ่งคือขั้นตอนการใช้กำลังของรัฐ ณ สถานการณ์ขณะนั้น ถ้าอาจารย์ติดตามใกล้ชิดจริงจังเพียงพอ อาจารย์ยังจะสรุปว่า “ระดับความรุนแรงที่รัฐใช้” ได้สัดส่วนกับ “ระดับความรุนแรงที่มวลชนใช้” หรือไม่  

การที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่เฉยๆ บนถนน แน่นอนว่าก่อความเดือดร้อนต่อประชาชน แต่นั่นเป็นเวลาเพียงยังไม่เกิน 2 ชั่วโมงดีด้วยซ้ำ แต่รัฐใช้กำลังรุนแรงในระดับนี้ อาจารย์คิดว่า "สันติแล้วหรือ" ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของมวลชนแล้วหรือ แล้วมวลชน "ยังสันติไม่พอ" อีกหรือ

ทั้งหมดของข้อเสนออาจารย์ชัยวัฒน์ล่าสุดนี้ ทำให้ผมเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า อาจารย์ได้ให้การรับรองความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในวันที่ 16 ตค. ไปแล้ว แต่กับผู้ชุมนุม อาจารย์กลับตัดสินไปแล้วเช่นกันว่า ยังเคร่งครัดน้อยไป และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุม เคร่งครัดกับสันติวิธียิ่งกว่านี้  

ผมเกรงว่า ถ้าผู้ชุมนุมต้องเคร่งครัดกว่านี้ ก็คงไม่ต้องออกมายืนบนถนนเพื่อแสดงออกทางการเมืองแล้วล่ะ สู้นั่งๆ นอนๆ กดคีย์บอร์ดอยู่หน้าจอ เป็นสันติวิธีหน้าจอในห้องนั่งเล่นกันไปไม่ดีกว่าหรือครับ  

ถ้าเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคร่งครัดมากกว่านี้ ก็จะต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมงดการแสดงออกทางการเมืองล่ะ จะต่างอะไรกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนล่ะ  

แล้วสันติวิธีของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์จะต่างอะไรกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองล่ะ

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
  ขอบอกว่า วันนี้นอยกับบูราวอย (Michael Burawoy) พอสมควร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมติดตามละคร "แรงเงา" อย่างใกล้ชิด...จากที่เพื่อนๆ เล่ากันน่ะ ไม่ได้ดูเองหรอก (เพราะไม่มีทีวีดู ไม่ชอบดูทีวี และไม่ดูทีวีมาหลายปีแล้ว) แต่ก็เกิดสงสัยว่า "ทำไมไอ้ผอ.มันโง่งี้(วะ)" ถ้าจะตอบว่า "ผู้ชายหล่อก็เหมือนผู้หญิงสวยนั่นแหละ มันโง่" ก็คงจะดูโง่ไปหน่อย ก็เลยลองคิดต่อดูว่า หนึ่ง ที่จริงไม่ได้มีแต่ ผอ.ในละครแรงเงาโง่อยู่คนเดียวหรอก พระเอกละครไทยกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มันก็โง่แบบนี้กันทั้งนั้นแหละ ส่วนใหญ่เลยนะผมว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผ่านมาสี่วัน ถ้าจะให้บอกว่าประทับใจอะไรกับปราสาทหินบ้าง คงยากที่จะบอก เพราะวิ่งผ่านหินก้อนต่างๆ มากมายเสียจนไม่ทันได้หยุดคิดกับอะไรต่างๆ ดีที่ได้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักมานุษยวิทยามากมายมาให้ความรู้ข้างๆ หูเวลาท่านถกเถียงกัน จึงพอจะเก็บเกี่ยวเชื่อมโยงอะไรมาได้บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยุกติ มุกดาวิจิตร