Skip to main content


ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์