Skip to main content

ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธีแต่มาวันนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์คนเดิมอธิบายสั้นๆ ว่า การใช้กำลังของรัฐถูกต้องตามตำราเกินไป ส่วนผู้ชุมนุมยังต้องเคร่งครัดกว่านี้อีก

จะให้ใส่คำพูดแบบนักสันติวิธี หมายความว่า การใช้กำลังของรัฐในวันที่ 16 ตค. ถูกต้องตามตำราสันติวิธีของการสลายการชุมนุมแล้ว ส่วนการชุมนุมของผู้ชุมนุม ยังสันติวิธีไม่พอ อย่างนั้นหรือครับ

เบื้องต้นเลย สมมติว่าเราไม่ต้องสนใจว่า ทำไมอาจารย์ไม่ถามถึงความชอบธรรมของรัฐตั้งแต่ต้นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ชอบธรรมไหม ไม่ว่าจะในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย หรือในทางตำราสันติวิธี (หรือสันติวิธีเขาไม่สนใจว่าจะต้องใช้ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่)

ซึ่งข้อนี้ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมอาจารย์ไม่สนใจเอ่ยถึงประเด็นนี้ ถ้าบอกว่า ก็เขาไม่ได้ถาม แต่หลายครั้งที่นักข่าวถามอะไรอาจารย์ อาจารย์ก็สวนกลับว่า ต้องถามอีกคำถามก่อน ได้เสมอไม่ใช่หรือ

สมมติว่าลืมประเด็นพื้นฐานนี้ไปก่อน ผมก็ยังสงสัยต่อว่า คำพูดที่ว่า "ฝ่ายรัฐนอกตำราหน่อยได้ไหม ฝ่ายผู้ชุมนุมเคร่งครัดตามตำราให้มากขึ้นได้ไหม" นั้น เป็นข้อเสนอที่ใช้ได้ไหม

ข้อแรก คำพูดแบบนี้ของอาจารย์กลับกลายเป็นการ justify ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังของรัฐว่า ฝ่ายรัฐทำตามตำราแล้ว ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมต่างหากที่ยังไม่เคร่งครัดพอ น้ำเสียงแบบนี้คือเกรงใจผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ชุมนุม เพราะขอร้องให้ฝ่ายรัฐยอมทำผิดบ้าง แต่ไม่ตั้งคำถามเลยว่า ที่ฝ่ายรัฐทำนั้น ถูกแล้วตั้งแต่ต้นหรือไม่

มีคำถามที่อาจารย์เคยถามผมเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่า การที่ผมวิจารณ์วาทกรรมฝ่ายผู้ด้อยอำนาจ (ขณะนั้นคือวาทกรรมวัฒนธรรมชุมชนของ NGOs) จะเป็นการลดทอนกำลังของผู้ต่อสู้กับอำนาจนำหรือเปล่า ถึงวันนี้ผมก็อยากถามอาจารย์ในทำนองเดียวกันนี้ว่า การไม่วิจารณ์ผู้มีอำนาจ จะเป็นการให้ท้ายผู้มีอำนาจอยู่หรือเปล่า

ข้อต่อมา วิธีการที่รัฐใช้เมื่อคืนวันที่ 16 ตค. นั้น เป็นไปตาม “ตำรา” เล่มไหน  ขณะนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลักการสลายการชุมนุมอย่างสากลนั้น จะไม่ใช้น้ำผสมสารพิษร้ายแรง มีกลุ่มแพทย์จำนวน 300 กว่าคนยอมสละหน้าตา ชื่อเสียง หน้าที่การงาน ระบุว่าเป็นสารพิษ มีอันตราย มีข้อมูลว่า หลักสากลจะไม่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง ฯลฯ ตกลงวิธีการที่รัฐใช้นั้น "สันติเกินไป" แล้วหรือ

อีกข้อหนึ่งคือขั้นตอนการใช้กำลังของรัฐ ณ สถานการณ์ขณะนั้น ถ้าอาจารย์ติดตามใกล้ชิดจริงจังเพียงพอ อาจารย์ยังจะสรุปว่า “ระดับความรุนแรงที่รัฐใช้” ได้สัดส่วนกับ “ระดับความรุนแรงที่มวลชนใช้” หรือไม่  

การที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่เฉยๆ บนถนน แน่นอนว่าก่อความเดือดร้อนต่อประชาชน แต่นั่นเป็นเวลาเพียงยังไม่เกิน 2 ชั่วโมงดีด้วยซ้ำ แต่รัฐใช้กำลังรุนแรงในระดับนี้ อาจารย์คิดว่า "สันติแล้วหรือ" ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของมวลชนแล้วหรือ แล้วมวลชน "ยังสันติไม่พอ" อีกหรือ

ทั้งหมดของข้อเสนออาจารย์ชัยวัฒน์ล่าสุดนี้ ทำให้ผมเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า อาจารย์ได้ให้การรับรองความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในวันที่ 16 ตค. ไปแล้ว แต่กับผู้ชุมนุม อาจารย์กลับตัดสินไปแล้วเช่นกันว่า ยังเคร่งครัดน้อยไป และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุม เคร่งครัดกับสันติวิธียิ่งกว่านี้  

ผมเกรงว่า ถ้าผู้ชุมนุมต้องเคร่งครัดกว่านี้ ก็คงไม่ต้องออกมายืนบนถนนเพื่อแสดงออกทางการเมืองแล้วล่ะ สู้นั่งๆ นอนๆ กดคีย์บอร์ดอยู่หน้าจอ เป็นสันติวิธีหน้าจอในห้องนั่งเล่นกันไปไม่ดีกว่าหรือครับ  

ถ้าเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคร่งครัดมากกว่านี้ ก็จะต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมงดการแสดงออกทางการเมืองล่ะ จะต่างอะไรกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนล่ะ  

แล้วสันติวิธีของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์จะต่างอะไรกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองล่ะ

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา