Skip to main content

ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธีแต่มาวันนี้ อาจารย์ชัยวัฒน์คนเดิมอธิบายสั้นๆ ว่า การใช้กำลังของรัฐถูกต้องตามตำราเกินไป ส่วนผู้ชุมนุมยังต้องเคร่งครัดกว่านี้อีก

จะให้ใส่คำพูดแบบนักสันติวิธี หมายความว่า การใช้กำลังของรัฐในวันที่ 16 ตค. ถูกต้องตามตำราสันติวิธีของการสลายการชุมนุมแล้ว ส่วนการชุมนุมของผู้ชุมนุม ยังสันติวิธีไม่พอ อย่างนั้นหรือครับ

เบื้องต้นเลย สมมติว่าเราไม่ต้องสนใจว่า ทำไมอาจารย์ไม่ถามถึงความชอบธรรมของรัฐตั้งแต่ต้นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ชอบธรรมไหม ไม่ว่าจะในทางการเมืองระบอบประชาธิปไตย หรือในทางตำราสันติวิธี (หรือสันติวิธีเขาไม่สนใจว่าจะต้องใช้ในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่)

ซึ่งข้อนี้ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมอาจารย์ไม่สนใจเอ่ยถึงประเด็นนี้ ถ้าบอกว่า ก็เขาไม่ได้ถาม แต่หลายครั้งที่นักข่าวถามอะไรอาจารย์ อาจารย์ก็สวนกลับว่า ต้องถามอีกคำถามก่อน ได้เสมอไม่ใช่หรือ

สมมติว่าลืมประเด็นพื้นฐานนี้ไปก่อน ผมก็ยังสงสัยต่อว่า คำพูดที่ว่า "ฝ่ายรัฐนอกตำราหน่อยได้ไหม ฝ่ายผู้ชุมนุมเคร่งครัดตามตำราให้มากขึ้นได้ไหม" นั้น เป็นข้อเสนอที่ใช้ได้ไหม

ข้อแรก คำพูดแบบนี้ของอาจารย์กลับกลายเป็นการ justify ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังของรัฐว่า ฝ่ายรัฐทำตามตำราแล้ว ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมต่างหากที่ยังไม่เคร่งครัดพอ น้ำเสียงแบบนี้คือเกรงใจผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ชุมนุม เพราะขอร้องให้ฝ่ายรัฐยอมทำผิดบ้าง แต่ไม่ตั้งคำถามเลยว่า ที่ฝ่ายรัฐทำนั้น ถูกแล้วตั้งแต่ต้นหรือไม่

มีคำถามที่อาจารย์เคยถามผมเมื่อ 30 ปีที่แล้วว่า การที่ผมวิจารณ์วาทกรรมฝ่ายผู้ด้อยอำนาจ (ขณะนั้นคือวาทกรรมวัฒนธรรมชุมชนของ NGOs) จะเป็นการลดทอนกำลังของผู้ต่อสู้กับอำนาจนำหรือเปล่า ถึงวันนี้ผมก็อยากถามอาจารย์ในทำนองเดียวกันนี้ว่า การไม่วิจารณ์ผู้มีอำนาจ จะเป็นการให้ท้ายผู้มีอำนาจอยู่หรือเปล่า

ข้อต่อมา วิธีการที่รัฐใช้เมื่อคืนวันที่ 16 ตค. นั้น เป็นไปตาม “ตำรา” เล่มไหน  ขณะนี้มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า หลักการสลายการชุมนุมอย่างสากลนั้น จะไม่ใช้น้ำผสมสารพิษร้ายแรง มีกลุ่มแพทย์จำนวน 300 กว่าคนยอมสละหน้าตา ชื่อเสียง หน้าที่การงาน ระบุว่าเป็นสารพิษ มีอันตราย มีข้อมูลว่า หลักสากลจะไม่ฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมโดยตรง ฯลฯ ตกลงวิธีการที่รัฐใช้นั้น "สันติเกินไป" แล้วหรือ

อีกข้อหนึ่งคือขั้นตอนการใช้กำลังของรัฐ ณ สถานการณ์ขณะนั้น ถ้าอาจารย์ติดตามใกล้ชิดจริงจังเพียงพอ อาจารย์ยังจะสรุปว่า “ระดับความรุนแรงที่รัฐใช้” ได้สัดส่วนกับ “ระดับความรุนแรงที่มวลชนใช้” หรือไม่  

การที่ผู้ชุมนุมยืนอยู่เฉยๆ บนถนน แน่นอนว่าก่อความเดือดร้อนต่อประชาชน แต่นั่นเป็นเวลาเพียงยังไม่เกิน 2 ชั่วโมงดีด้วยซ้ำ แต่รัฐใช้กำลังรุนแรงในระดับนี้ อาจารย์คิดว่า "สันติแล้วหรือ" ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของมวลชนแล้วหรือ แล้วมวลชน "ยังสันติไม่พอ" อีกหรือ

ทั้งหมดของข้อเสนออาจารย์ชัยวัฒน์ล่าสุดนี้ ทำให้ผมเข้าใจเป็นอื่นไปไม่ได้เลยว่า อาจารย์ได้ให้การรับรองความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรงโดยรัฐในวันที่ 16 ตค. ไปแล้ว แต่กับผู้ชุมนุม อาจารย์กลับตัดสินไปแล้วเช่นกันว่า ยังเคร่งครัดน้อยไป และเรียกร้องให้ผู้ชุมนุม เคร่งครัดกับสันติวิธียิ่งกว่านี้  

ผมเกรงว่า ถ้าผู้ชุมนุมต้องเคร่งครัดกว่านี้ ก็คงไม่ต้องออกมายืนบนถนนเพื่อแสดงออกทางการเมืองแล้วล่ะ สู้นั่งๆ นอนๆ กดคีย์บอร์ดอยู่หน้าจอ เป็นสันติวิธีหน้าจอในห้องนั่งเล่นกันไปไม่ดีกว่าหรือครับ  

ถ้าเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมเคร่งครัดมากกว่านี้ ก็จะต่างอะไรกับการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมงดการแสดงออกทางการเมืองล่ะ จะต่างอะไรกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนล่ะ  

แล้วสันติวิธีของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์จะต่างอะไรกับการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองล่ะ

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก