Skip to main content

พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)

ผมยังไม่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้และยังไม่ได้อ่านฉบับแปล ซึ่งคิดว่าจะต้องอ่านแน่ๆ แต่ที่รู้จักหนังสือนี้เพราะได้อ่านหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000) ตั้งแต่ปี 2018 และใช้สอนมาตลอด เห็นอิทธิพลของงานคูฮาต่อจักรบาร์ตีสูงมาก แต่จักรบาร์ตีขยายประเด็นและยกระดับทางทฤษฎีให้งานของคูฮาไปไกลมาก
 
ผมก็เลยถามในห้องเสวนาว่า มีใครทราบหรือเปล่าว่าคูฮาได้อ่านงานของจักรบาร์ตีเล่มนี้ไหมแล้วคูฮามีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้อย่างไร ปรากฏว่าทุกท่านไม่แน่ใจว่าคูฮาเคยมีความเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ไหม เรื่องนี้ผมคงจะค้นหาเองต่อไป
 
แต่จากคำตอบและความเห็นส่วนหนึ่ง เลยทำให้รู้ว่า เพื่อนนักวิชาการไทยยังอ่านงานหนังสือ Provincializing Europe กันน้อยมาก แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่อิทธิพลทั่วโลก และนักวิชาการไทยก็ใช้กันอยู่บ้างเหมือนกัน  
 
ผมก็เลยนึกถึงบันทึกที่เคยเขียนหลังอ่านหนังสือเล่มนี้กับนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกที่คณะ ที่ มธ. เมื่อ 3 ปีก่อน (ปี 2018) ขึ้นมาได้ ก็ขอเอามาแปะไว้ข้างล่าง มีสองตอน ผมไม่ได้เรียบเรียงใหม่ให้ต่อกัน ขอแปะไว้แกนๆ แบบนี้แล้วกันครับ เผื่อใครสนใจไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านต่อ 
 
==========
(21 มีนาคม 2018)
 
วันนี้ สอน Provincializing Europe ของ Dipesh Chakrabarty (2000) แล้วพบว่า นอกจากจะเห็นประเด็นมากขึ้นแล้ว ยังเห็นการเมืองไทยในหนังสือเล่มนี้มากขึ้นอีกด้วย ดังนี้
 
(1)
 
"โครงสร้างความคิดเรื่องเวลาของประวัติศาสตร์โลกแบบ 'แรกก็เกิดในยุโรป แล้วจึงเกิดขึ้นที่อื่นในโลก' เป็นแนวคิดแบบพวกลัทธิคลั่งประวัติศาสตร์ (historicist) ส่วนพวกนักชาตินิยมที่ไม่ใช่ตะวันตกภายหลังก็จะผลิตแบบฉบับท้องถิ่นของคำอธิบายเดียวกัน ด้วยการแทนที่ 'ยุโรป' ด้วยศูนย์กลางระดับท้องถิ่นที่สร้างกันขึ้นมา" 
 
"พวกประวัติศาสตร์นิยมจึงจัดวางเวลาทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นมาตรวัดความห่างทางวัฒนธรรม (อย่างน้อยก็ในการพัฒนาเชิงสถาบัน) ที่ถูกทึกทักเอาว่ามีอยู่ระหว่างสังคมตะวันตกและสังคมไม่ตะวันตก" (p. 7)
นี่ชวนให้นึกถึง The Other Within และงานเรื่อง "อย่างไหนที่เรียกว่าศิวิไลซ์" ของธงชัย วินิจจะกูล 
 
(2) 
 
จักรบาร์ตีชี้ว่า ในงาน "On Liberty" ของ J.S. Mill "ชาวอินเดียและแอฟริกัน 'ยังไม่' ศิวิไลซ์พอที่จะปกครองตนเอง" (p. 7) คนเหล่านี้จึงต้อง "รอ" ไปก่อนจนกว่าจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะปกครองตนเองได้ "มิลล์กล่าวไว้ในบทความ "On Representative Government" ว่า 'การศึกษาทั่วไปจะต้องเกิดขึ้นก่อน จึงจะมีการเลือกตั้งทั่วไปได้" (p. 9) 
 
ขนาดนักเสรีนิยมอย่างจอห์น สจ๊วต มิลล์ ยังพูดถึงพวก subaltern ไม่ต่างอะไรกับชนชั้นนำในประเทศไทยที่พูดแบบนี้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 คือรอให้คนมีการศึกษาก่อนจึงค่อยให้อำนาจทางการเมืองและจึงค่อยให้เลือกตั้ง
 
(3)
 
ทัศนะต่อการไม่แยกศาสนาออกจากการเมืองของสังคมที่ถูก Eric Hobsbawm เรียกว่า "prepolitical" ในทัศนะของจักรบาร์ตี ก็ถือว่าเป็นแนวคิดแบบยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอีกแบบหนึ่ง เพราะ "กิจกรรมที่อาศัยพระเจ้าหลายองค์ วิญญาณต่างๆ และผีสางเทวดาต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางอำนาจและศักดิ์ศรีของทั้งคนเบี้ยล่างและชนชั้นนำในเอเชียใต้ สิ่งที่ปรากฏ [ทางศาสนา] นี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของสิ่งที่ลึกกว่าหรือ "จริงกว่า" ในความจริงทางสาธารณ์ (secular reality)" (p. 14)
 
นี่ชวนให้นึกถึงการถกเถียงกันเรื่องศาสนาเมื่อสองสามวันก่อนที่มีการพยายามอธิบายกันว่าการเมืองต้องแยกจากศาสนา แต่น่าสงสัยว่าทัศนะแบบนี้ก็เป็นวิธีคิดแบบเอายุโรปเป็นศูนย์กลางอยู่อีกหรือเปล่า
 
(4) 
 
Provincializing Europe ไม่ใช่การทำยุโรปให้เป็นบ้านนอก ไม่ใช่การบอกว่ายุโรปเป็นแค่ถิ่นหนึ่ง และยิ่งไม่ใช่การปฏิเสธอิทธิพลของยุโรป และไม่ใช่ไม่ยอมรับวิธีคิดสากลของยุโรปแล้วยึดมั่นแต่สัมพัทธ์นิยมทางวัฒนธรรม (p.42-43) แต่เป็นการยอมรับทั้งการมีอยู่ของอำนาจ "จักรวรรดินิยมยุโรป" และการที่พัฒนาการเป็นสัมยใหม่นั้น ไม่ได้เกิดจากยุโรปเท่านั้น แต่ยังมีอิทธิพลส่งกลับไปจากนอกยุโรปด้วย (p. 43)
 
จักรบาร์ตีจึงวิจารณ์ทั้งแนวคิดที่ถ่วงพัฒนาการประชาธิปไตยและแนวคิดที่ก้าวหน้าแบบส่งเสริมกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะวิธีคิดที่ทั้งสองกลุ่มมีร่วมกันคือ ยึดเอายุโรปเป็นแกนกลางทั้งคู่ ยึดเอาประชาธิปไตยแบบสังคมที่มีกฎุมพีเป็นแกนกลางทั้งคู่ เชื่อมั่นประชาธิปไตยแบบกฎุมพีมากกว่าทั้งคู่
แนวคิดแบบนี้มองข้ามการมีส่วนร่วมทางการเมืองของกลุ่มคนเบี้ยล่างที่ถูกกดทับ (subaltern) ซึ่ง มีความสมัยใหม่ทางการเมือง (the political modernity) หากแต่อยู่ในโลกอีกแบบที่ยังไม่สมัยใหม่
 
===========
 
(29 มีนาคม 2018) 
 
Dipesh Chakrabarty ใน Provincializing Europe อ่านงานมาร์กซ์ได้อร่อยมาก
เอามาร์กซไปสนทนากับอริสโตเติลเรื่อง convention หรือ “ขนบ” แล้วโยงไปเรื่อง being-in-the-world ของไฮเดกเกอร์ แล้วชี้ให้เห็นว่า capitalism ด้านที่มาร์กซพูด คือส่วนที่ที่จริงมันหลุดไปจาก capitalism น่ะ มันมีอยู่ ซ้อนอยู่ในระบบทุนนิยมนี่แหละ แล้วมาร์กซเองก็พูดถึงด้วยนั่นแหละ เพียงแต่เขายังไม่ได้ทำอะไรต่อมากนัก
 
จักรบาร์ตีสร้างข้อถกเถียงผ่านมโนทัศน์เรื่อง "abstract labor" แรงงานนามธรรม ที่มาร์กซถือว่าเป็นแกนหลักสำคัญของระบบทุนนิยม (ไม่ใช่เงินตราและสินค้า ซึ่งมีมาก่อนหน้าทุนนิยมอยู่แล้ว) เมื่อโยงกับอริสโตเติล แรงงานนามธรรมก็คือ “ขนบ” ของชุมชนชีวิตแบบทุนนิยมนั่นเอง เพียงแต่ในชุมชนทุนนิยม มันยังมีขนบอื่นๆ ซ้อนอยู่ด้วย
 
แรงงานนามธรรมคือสิ่งที่ทำให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนแบบทุนนิยมได้ คือการแลกเปลี่ยนที่ไม่ต้องสนใจ "มูลค่า" (value) การใช้ของสิ่งของโดยสิ้นเชิงเลย แรงงานนามธรรมคือการทำให้แรงงานที่มีมูลค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นสิ่งที่วัดค่าเทียบกันได้หมด ทำให้ของที่เกิดจากแรงงานที่แตกต่างกัน มีที่มาที่ไป มีประวัติศาสตร์ มีกรอบทางสังคม มีวิถีชีวิต ที่ห่อหุ้มแรงงานที่แตกต่างกัน กลายมาเป็นเพียงแรงงานที่วัดค่าเทียบกันได้ 
 
ผ่านการควบคุมด้วยวินัย แรงงานนามธรรมทำให้คนเป็นเครื่องจักรเพราะแรงงานคนถูกตีค่าเป็นแค่จังหวะสม่ำเสมอของกล้ามเนื้อ ทำให้แรงงานคนเทียบกับแรงงานเครื่องจักรได้ ทำให้เครื่องจักรกับคนทำงานร่วมกันได้ จักรบาร์ตีชี้ว่า มาร์กซพูดเรื่องวินัยไว้ไม่ต่างกับที่ฟูโกต์เอามาขยายใน Discipline and Punish 
 
จักรบาร์ตีเสนอให้อ่านหนังสือ Capital ของมาร์กซด้วยการหาประวัติศาสตร์สองด้าน History 1 คือประวัติศาสตร์สากลของระบบทุนนิยม History 2(s) คือการหาประวัติศาสตร์ที่ซ้อน แทรก ดำเนินควบคู่ ไม่อาจถูกลดทอน แล้วแถมยังบั่นทอนระบบทุนนิยม ซึ่งมาร์กซเองก็กล่าวถึงอยู่เป็นระยะๆ 
 
ประเด็นใหญ่ประเด็นหนึ่งคือเรื่อง life, vital forces (หมายรวมถึงจิตสำนึก เจตจำนง และสังคม/ชุมชน) ที่ให้กำเนิดแรงงานอีกทีหนึ่ง มันเป็นพลังที่ล้นพ้นเกินไปจากการกำกับควบคุมของทุน ในขณะที่ทุนพยายามลดทอนพลังชีวิตให้เหลือเพียงแรงงานนามธรรม แต่ก็ยังไม่สำเร็จง่ายๆ
 
บันทึกเอาไว้ก่อน กำลังคิดจะเอามาใช้เร็วๆ นี้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้