Skip to main content

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ที่จริงมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมชอบมากเช่นกันคือบทวิเคราะห์ภาพเขียนฝาผนังถ้ำลาสโก ว่าด้วยกำเนิดศิลปะ ซึ่งเป็นเล่มที่มีที่ห้องสมุดของคณะสังคมวิทยาฯ เสียดายที่ผมไม่ได่สั่งมาเก็บไว้เองคงเพราะเมื่อยี่สิบปีก่อนนั้นผมว่ามันราคาแพงอยู่

ขอเล่าถึงงานบาไตล์สั้นๆ จากความทรงจำเร็วๆ ไว้ตรงนี้ครับ ตามคำชวนของพี่แป๊ด ร้านหนังสือก็องดิก

จอร์จ บาไตล์ (Georges Bataille) เป็นนักเรียนของเอมิล เดอร์ไคม์ (Émile Durkheim) เป็นคนที่พัฒนาด้านที่เป็นเซอร์เรียลลิสม์ของเดอร์ไคม์ ขณะที่ด้านที่เป็นค้านเที่ยน (Kantian) แถมค่อนข้างจะสุภาพแล้วจรรโลงกฎระเบียบของเดอร์ไคม์นั้น เป็นงานของหลานเดอร์ไคม์คือมาร์เซล โมสส์ (Marcel Mauss)

ผมเจองานบาไตล์จากการไล่อ่านหนังสือกลุ่มมานุษยวิทยาศาสนาตั้งแต่เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ไล่มาตั้งแต่เดอร์ไคม์ (The Elementary Forms of the Religious Life, 1912) ซึ่งอธิบายว่ากำเนิดศาสนาคือกำเนิดสังคม สัญลักษณ์ในศาสนาอย่างโทเทม คือภาพแทนสังคม

แล้วผมก็ไปอ่านงานของเมอร์เซ อีเลียด (Mircea Eliade) (The Sacred and the Profane, 1957) ซึ่งอ้างอิงงานศึกษาความศักดิ์สิทธิ์ (the holy) ย้อนไปถึงงานของรูดอล์ฟ ออตโต (Rudolf Otto) ซึ่งแยกความศักดิ์สิทธิ์ออกจากสาธารณ์ ความศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งนอกเหนือต่างหากจากสาธารณ์ คนที่เชื่อจะไม่เอามาปนกัน

จากนั้นผมไปอ่านงานของลูกศิษย์เดอร์ไคม์อีกคนคือ โคเช ไกลัว (Roger Caillois หนังสือ Man and the Sacred, 1939) ที่เสนออะไรคล้ายๆ เอเลียดและเดอร์ไคม์ปนๆ กัน แต่ผมว่ามันเป็นระบบลงตัวไปหน่อย อ่านแล้วเบื่อ จนมาเจองานของบาไตล์ที่ร่วมรุ่นกับไกลัว แต่พิลึกพิลั่นกว่ามาก ผมเลยตามอ่านมายืดยาวหลายเล่ม

บาไตล์พยายามเข้าใจความเป็น ความตาย กามารมณ์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ ศิลปะ กระทั่งพลังสร้างสรรค์และทำลายล้างของจักรวาล งานเขาจึงเป็นระบบปรัชญาขนาดใหญ่ ที่อธิบายแทบทุกเรื่อง  

บาไตล์ถอดรื้อระบบคิดแบบตะวันตกเรื่องความเป็นเหตุเป็นผล การมีอยู่และการสูญสลาย กฎเกณฑ์และการฝ่ากฎเกณฑ์ งานเขาจึงมีอิทธิพลต่อฌาค แดร์ริดา (Jacques Derrida) มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) และชอง โบริยาร์ด (Jean Baudrillard) ในแง่ของการวิพากษ์เหตุผล วิพากษ์ความเป็นระบบ วิพากษ์เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและมาร์กซิสม์ที่วางอยู่บนความสมเหตุสมผล  

นั่นเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมสนใจบาไตล์ เพราะเขาให้แนวทางการเดินออกมาจากระบบคิดแบบกำไร-ขาดทุนที่ผมเบื่อมากจากเรียนปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์  

เช่นว่า ข้อเสนอเรื่อง general economy ของบาไตล์ เสนอให้มองว่าการแลกเปลี่ยนของมนุษย์นั้นเป็นมากกว่า restricted economy ที่แค่คิดคำนวณถึงผลได้ผลเสียอย่างสมดุลกันในเชิงวัตถุเท่านั้น หรือคิดแต่จะได้อย่างคิดคำนวนได้ หากแต่ยังมีการแลกเปลี่ยนที่วางอยู่บนการทิ้ง ความสูญเสีย การทำลายล้าง มากกว่าการคิดถึงผลได้อย่างแคบแบบนักคิดสายทุนนิยม รวมทั้งมาร์กซิสม์อย่างแคบคิด  

การทุ่มเท การเสียสละ การ sacrifice ที่หมายถึงทั้งการสละและการบูชายัญ จึงเป็นมิติทางเศรษฐกิจแบบเศรษฐกิจทั่วไป และถึงที่สุดแล้ว บาไตล์เสนอว่า พลังจักรวาล ความตาย และกามารมณ์ คือเศรษฐกิจทั่วไปที่ห้อมล้อมเศรษฐกิจอย่างแคบ และสร้างสรรค์ความเป็นไปทั้งมวลอยู่

อีโรติก จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันมหึมานี้ ในหนังสือ Erotism บาไตล์เสนอว่า ภาวะคนใกล้ตายกับภาวะ orgasm หรือภาวะสุขสมทางเพศ เป็นอารมณ์เดียวกัน คือทั้งสุขทั้งทุกข์ ทั้งเจ็บปวดและรื่นรมย์ กึ่งเป็นกึ่งตาย เป็นภาวะก่อนเป็นและไม่เป็นอะไร หรือเชื่อมต่อระหว่างความเป็นและไม่เป็นต่างๆ  

ภาพหน้าปกหนังสือเล่มหนึ่งจึงเป็นภาพนักบุญเทเรซ่า ซึ่งกำลังจะตาย แต่แสดงภาวะอารมณ์เดียวกับการถึงจุดสุขสมทางเพศ

สำหรับบาไตล์ ศาสนายุคใหม่ อย่างศาสนาคริสต์ จึงไม่ต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักและมาร์กซิสม์ ที่เสนอให้จำกัดควบคุมการสูญเสีย หรือลดละภาวะสุขสมทางเพศ เพื่อเพ่งเล็งไปยังการผลิตที่เล็งผลได้ที่คิดคำนวณได้เท่านั้น  

นั่นต่างจากศาสนาและสังคมก่อนสมัยใหม่ที่ความตาย การทำลาย (อย่างพิธี potlatch ของชาวอินเดียน) ความรุนแรง ความสุขทางเพศที่ไม่สามารถคิดคำนวณผลได้ชัดเจน เป็นรากฐานสำคัญของสังคมที่วางอยู่บนเศรษฐกิจอย่างกว้าง  

งานบาไตล์อ่านสนุก ชวนให้คิดเชื่อมโยงอะไรได้หลายอย่างอย่างเป็นระบบ แม้ไม่ช่วยให้สามารถนำไปปบใช้ทำวิจัยได้อย่างง่ายๆ ก็ช่วยให้เข้าใจระบบคิดที่แตกต่างออกไปได้ ช่วยให้อ่านงานหลังโครงสร้างนิยมได้ดีขึ้น ช่วยเชื่อมต่อปรัชญากับมานุษยวิทยาได้อีกวิธีหนึ่ง  

แต่ก็แปลกใจที่ทำไมคนเขียนบทซีรีส์บางคนถึงสนใจหยิบงานบาไตล์มาอ่านและใส่เข้าไปในบทละคร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนคนหนึ่งตั้งประเด็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยในหลายจังหวัดว่าจะพัฒนาไปไกลกว่ามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางด้าน "สังคมศาสตร์" ผมก็เลยคิดอะไรขึ้นมาได้หลายอย่าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านเรื่องการขายข้าวของ บก.ลายจุด ไปขัดใจคนอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ทีแรกก็ไม่ค่อยอยากสนใจนัก เพราะ บก.ลายจุด ขยับทำอะไรที ฝ่ายนั้นก็คอยจ้องโจมตีเรื่อยไปจนน่าเบื่อไปแล้ว แต่พอเสธ.ไก่อูมาสนใจการขายข้าวของ บก.ลายจุด ผมว่า อ้อ อย่างนี้นี่เอง ทำไมการขายข้าวของ บก.ลายจุด จึงน่าสนใจขึ้นมาได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นโจมตีกระแนะกระแหนส่วนหนึ่งของความเห็นผมกันยกใหญ่ แต่ผมว่าก็ดีนะ มันชี้ขีดจำกัดของความคิดคนดี ก็ไม่ใช่ว่าผมจะพูดถูกหมดหรือพูดครบถ้วนหมดจดหรอก เพียงแต่มีข้อแย้งกับข้อโต้แย้งเหล่านั้นได้มากเช่นกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีรากฐานอยู่ในประวัติศาสตร์ความคิดทางการเมืองไทยมาเนิ่นนาน น่าจะนานไม่น้อยไปกว่าแนวคิดประชาธิปไตย หากแต่น่าสงสัยว่า ทำไมแนวคิดนี้จึงยังไม่เป็นที่เข้าใจกันเสียที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายวันมานี้ มีนักคิดหลายๆ คนเสนอวิธีทำความเข้าใจสังคมไทยใหม่ๆ มากมาย หลายคนพยายามไม่ตัดสินว่านี่คือการถอยหลังหรือย้อนรอยกลับไปในอดีต เพราะนักศึกษาประวัติศาสตร์สังคมย่อมทราบดีว่า สังคมเปลี่ยนแปลงเสมอ และในเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราจะเข้าใจสังคมปัจจุบันอย่างไร ผมคนหนึ่งล่ะที่พยายามไม่คิดว่านี่เป็นการ "ถอยหลัง" หรือซ้ำรอยอดีตอย่าง deja vu 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่องไม่เป็นเรื่องบางครั้งก็ชวนให้น่ารำคาญ ทำให้ต้องมาคอยอารัมภบทออกตัวมากมาย ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็น 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมโชคดีที่มีโอกาสได้รับเชิญไปร่วมประชุมวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อวันศุกร์สัปดาห์ก่อน ทั้งหมดเป็นประสบการณ์แปลกใหม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แนวโน้มของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงให้เห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นว่า จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ลดอำนาจของประชาชนลง แนวโน้มนี้ไม่ได้เหนือความคาดหมายของผู้เฝ้าติดตามการเมืองไทยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกระบวนการต่อเนื่องของการทำลายประชาธิปไตยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557 ที่เกิดปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองและใช้กำลังรุนแรงของมวลชนเข้าไปปิดล้อมทำลายการเลือกตั้ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่จำเป็นต้องสาธยายคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสังคมไทย หากคุณไม่เห็นคุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ คุณก็คือคนที่ไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังกรอกยาฝิ่นใส่ปากตัวเอง แล้วเมายาอยู่จนหลงคิดไปว่ากำลังดื่มโอสถบำรุงกำลัง หากคุณไม่คิดอย่างนั้น ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปแล้วไม่ต้องมาพยายามเถียงกับผมให้เสียเวลาเปลืองอารมณ์ที่จะต้องคุยกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันศุกร์ที่ผ่านมา (20 กพ. 58) ผมไปร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรมด้วยกัน ทั้งหมดเกี่ยวกันบ้าง ไม่เกี่ยวกันบ้าง แต่อยากเล่าให้ฟังว่ามันชวนคิดและชวนตกใจมากทีเดียว 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อเห็นข่าวว่ามีการพูดถึงคนไทยมาจากเขาอัลไตกันขึ้นมาอีก ผมก็ระลึกขึ้นมาทันทีว่า เรื่องนี้ได้ข้อตกลงกันไปชัดเจนนานแล้วนี่นาว่า เป็นความรู้ที่ผิดพลาด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐบาลทหารไม่อยากให้ถูกเรียกว่าตนเองเป็นเผด็จการ เพราะยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ที่ตนเป็นอยู่นั้นเป็นเผด็จการ เหมือนโจรที่ไม่อยากถูกเรียกว่าโ