Skip to main content
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน แต่ในใจอยากให้เขาเห็นเป็นหลายคนเสียนัก บางทีอาจมีใครบางคนตามฉันมาก็ได้เพราะมีเรื่องลี้ลับเกิดขึ้น ในคืนที่ฉันมาถึงเชิงภูฉันมาถึงสำนักงานที่เชิงภูกระดึง ราวๆ สี่ทุ่ม คุณนิมิตรผู้ใจดีชวนให้ไปนอนที่บ้านของเขา บอกว่ามีลูกและภรรยาอยู่ด้วยไม่ต้องกังวล ฉันขอบคุณ บอกว่าขอที่พักง่ายๆ ตื่นเช้าฉันจะได้ขึ้นภูทันทีที่บ้านพักรับรองหลังใหญ่ ยังมีห้องว่างแต่แขกที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ยึดครองห้องไปสองห้อง เหลือหนึ่งห้องสำหรับฉัน ประเมินสถานการณ์ฉันคงไม่ได้หลับแน่ เพราะพวกเขากำลังตั้งวงเฮฮากันสุดเหวี่ยง จึงได้มาพักที่เรือนพักของยาม อยู่ใกล้สำนักงาน แต่อยู่ไกลกลุ่มบ้านพักทั้งหลายพอสมควร ชวนวังเวงใจ แม้มีไฟฟ้าสลัวๆกระจายทั่วพื้นที่ เรือนพักยาม มีพื้นที่ขนาด 1 X 2 เมตร แค่เปิดประตูแล้วล้มตัวลงนอน  แต่เจ้ากรรมแม้กลอนประตูก็ยังไม่มี ด้วยความง่วงและอ่อนเพลีย  ที่นอนบางๆกลิ่นสาบๆ ก็พอทนได้(อยู่แล้ว) เอากระเป๋าเสื้อผ้าวางกั้นประตู ถ้าใครเปิดเข้ามาอย่างน้อยกระป๋าก็ต้องส่งเสียงก่อนราวตี 4 กว่าๆ ฉันเห็นผู้ชายแต่งกายด้วยเครื่องแบบป่าไม้ สีเขียวอ่อน หน้าตาดี ท่าทางขี้เล่น อายุราวๆ 28 ปี พยายามเปิดประตู เหมือนจะหยอกล้อฉัน พอฉันตื่นเขาก็เดินหนีไป โดยจูงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปด้วย  เธอนุ่งชุดกระโปรงติดกัน ผมยาวมัดห้อยย้อยเป็นหางม้า ดูน่ารัก ฉันตกใจว่าทำไมเขามาแกล้งฉัน ดึกดื่นอย่างนี้ทำไมไม่รู้จักนอนกันอีก ด้วยความโมโหเล็กน้อย จึงเปิดประตู ตั้งใจว่าจะตะโกนถามว่า มาล้อเล่นกันทำไมฉันทะลึ่งพรวดลุกขึ้นนั่ง..รู้ตัวอีกที อ้าว....ฝันนี่นา  ขยับประตูดู ทุกอย่างยังปกติ แต่ภาพเมื่อกี้นี้เหมือนจริงมาก จนกระทั่งฉันไม่เชื่อว่าตัวเองฝัน แต่ก็ล้มตัวลงนอนพลางสวดมนต์แผ่เมตตา คิดในใจว่าสงสัยจะเจอดี (ฉันจะสวดมนต์ก่อนนอนและนังสมาธิเป็นประจำ ในทุกสถานที่โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่จะสวดมนต์สั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับความสะดวก เช้าตรู่ คุณนิมิตร เอาเครื่องบันทึกเสียงที่เขารับไปซ่อมให้ (เพราะสายพานขาด) มาให้ เพราะฉันจำเป็นต้องใช้ทำงานข้างบน (นี่เป็นอีกคนที่จำไม่ลืมในน้ำใจ)ฉันถามเขาว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเด็กผู้หญิงน่าตาน่ารักวัยประมาณ 7 ขวบ เสียชีวิตที่นี่บ้างหรือเปล่า คนถูกถามมองหน้าฉันแบบตกตะลึง“เจอดีเข้าแล้วเหรอ” คราวนี้ฉันตะลึงบ้าง เมื่อเขาบอกว่า“มีครับ เขายิงตัวตาย ยิงลูกสาว ยิงเมียก่อน แล้วยิงตัวเอง แต่ว่าเมียรอด”.......โอ้...สวรรค์ ฉันคราง“เขาน้อยใจ ทะเลาะกับเมียระแวงว่าเมียมีผู้ชายคนอื่นน่ะครับ”คุณนิมิตรบอกว่า มีนักท่องเที่ยวที่โชคดีได้เจอพ่อลูกเดินเล่นอยู่แถวนี้เหมือนกันฉันเดินขึ้นภูกระดึงอย่างช้าๆ สวดมนต์แผ่เมตตาแก่วิญญาณพ่อลูกและวิญญาณทั้งหลายตามรายทาง ที่ฉันรู้มาว่า นานมาแล้วมีดินถล่มตรงผาสุดท้ายก่อนขึ้นสันแปภูกระดึง นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ สังเวยชีวิตมาแล้วนี่คือเหตุที่ฉันตอบคุณเจ้าหน้าที่ไปอย่างยียวนเล็กๆ ในใจอยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉันจะได้อุ่นใจในการเผชิญโชคบนภูกระดึงการมีใครบางคนอารักษ์ขา โดยที่คนอื่นมองไม่เห็น ไม่เลวนะ...เอาล่ะเข้าเรื่อง...สรุปว่าการทำงานหนนี้ ฉันเก็บภาพ เก็บข้อมูลบนภูกระดึงอย่างสบายๆ เพราะเมื่อเริ่มกางเต๊นท์  แว่วเสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนถามกันว่า“ไหนล่ะผู้หญิงที่ขึ้นมาคนเดียว”ฉันเงยหน้าจากการปักสมอดิน ตะโกนตอบไปว่า“อยู่นี่ค่ะ” จากนั้น ทุกค่ำคืน เจ้าหน้าที่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั้งหลาย จะมานั่งผิงไฟ ดื่มกาแฟ พูดคุยที่เต๊นท์ฉัน สลับกับการเดินสำรวจดูแลความสงบแก่นักท่องเที่ยวจำนวนหลายพัน (อาจถึงหมื่น) พวกเขาสุภาพ แม้บางคนจะถามตรงๆว่า “ไม่กล้วหรือ ที่มาคนเดียว” ฉันบอกว่าคนเดียวที่ไหน คนเป็นพันๆ นั่งๆนอนๆ อยู่บนนี้ ยั้วเยี้ยไปหมด เขาหัวเราะ“ไม่เหงาหรือ” นั่น...บางคำถาม ที่ต้องคิดก่อนตอบ และฉันก็ตอบว่า“มาทำงาน ไม่มีเวลาเหงา ไม่มีเวลากลัว” คนถามคงพอใจในคำตอบ ฉันจึงได้รับการดูแลดุจญาติมิตรตลอดเวลา 5 วันที่อยู่บนนั้นยามเดินป่า ไปดูต้นน้ำพอง นักท่องเที่ยวทั่วไปต้องจ่ายค่าทัวร์คนละประมาณ 200 บาท (ถ้าจำไม่ผิด) ต้องห่อข้าวไปกินเอง และเผื่อเจ้าหน้าที่ที่นำด้วย ส่วนฉัน..เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ต้องครับผมเตรียมไว้ให้แล้วทุกอย่างฉันมีหน้าที่ถ่ายรูปเก็บข้อมูล แม้แต่ขาตั้งกล้องก็มีคนแบกให้  ทุกอย่างล้วนสะดวกดายเพราะฉันมาดี จึงได้เจอกับคนดีๆแม้แต่เรื่องเสื้อผ้า หรือผ้าห่ม ที่ต้องไปเช่าจากร้านอาหารของคุณป้ามะลิ เธอยังให้ยืมผ้าซิ่นส่วนตัวอีกสองผืน เมื่อรู้ว่าฉันมีเสื้อผ้าสำรองเพียงชุดเดียวต้องขอบคุณขาข้างหัก..ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากปีนภูกระดึง จนเจอสิ่งดีๆ ผู้คนดีๆ และบางอย่างที่บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดีแต่สิ่งแรกที่ฉันทำเมื่อกลับลงมาข้างล่าง  คือ...สังฆทาน
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป  รู้ได้ว่าขาทั้งสองข้างไม่มีกำลัง บนไหล่มีกระเป๋าเสื้อผ้าขนาดย่อมสะพายแล่ง จึงเดินไปใกล้ๆ แล้วถาม ว่าจะไปไหนเขาหยุดเดิน เหลียวหน้ากลับมาตอบด้วยสำเนียงใต้แบบแปร่งๆ “จะไปวัดนาบอนครับ” แล้วยิ้มให้ ฟันขาวสะอาด ตัดกับสีผิวคล้ำ“ทำไมไม่ขึ้นรถโดยสาร” ด้วยความแปลกใจ แอบสังเกตเห็นชายกางเกงสีเลือดหมูแหว่งวิ่น แต่ยังมีเค้าสะอาด รองเท้าฟองน้ำถูกใช้งานมานานพอสมควร “ไม่มีเงินครับ” เขาตอบอย่างระวังท่าที“อ้าว มาจากไหนล่ะคะ จะไปทำอะไร”“มาจากสงขลาครับ ว่าจะขอไปอยู่วัด”เขาเล่าว่า ถูกรถชนอาการสาหัส เมื่อสองปีก่อน  ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลา 8 เดือน หมอ บอกว่าเขาจะเดินไม่ได้อีกแล้ว เมื่อออกจากโรงพยาบาล ได้ไปอาศัยใบบุญในร่มเงาพระพุทธศาสนาที่วัดแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสงขลา ได้รับเมตตาจากพระและหมอนวด ที่อยู่ในวัด ช่วยดูแลรักษาด้วยการบีบนวดให้ จนกระทั่งพอช่วยเหลือตัวเอง ช่วยงานเล็กๆน้อยๆประเภทล้างจาน ดายหญ้าได้ ที่ต้องออกมาหาวัดใหม่อาศัยอยู่เพราะมีคนบอกว่าที่วัดนาบอนมีหมอนวดและหมอสมุนไพรที่น่าจะช่วยรักษาเขาได้ จึงดั้นด้นมาเป็นธรรมดา ที่ฉันจะต้องถามว่า เขาเป็นใครมาจากไหน“ผมเป็นคนบางสะพานใหญ่” มิน่าสำนวนเป็นคนทางนั้นจริงๆ “ได้กลับบ้านบ้างไหม” ฉันถามเขาบอกว่าไม่เลย  ตั้งแต่ออกมานาน15 ปี ไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมบ้านอีกเลย  ที่นั่นมีแต่ยาย เขาไม่มีพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กๆ ฉันไม่อยากรู้รายละเอียดมากไปกว่านี้ แต่เขาก็บอกชื่อหมู่บ้านมาให้รู้ และแถมท้ายว่า ลืมบ้านเลขที่ไปแล้วอาจเป็นเพราะฉันเป็นคนช่างสงสาร และเห็นท่าทางซื่อๆแววตาไร้เล่ห์เหลี่ยม จึงถามว่า อยากหางานทำบ้างไหม เผื่อฉันจะช่วยหาให้ เขากลับปฏิเสธ “ผมไม่อยากเป็นภาระให้ใคร แค่วางไม้เท้าอันนี้ลง ผมก็ล้มแล้ว เพราะผมพิการจากส่วนเอวลงล่าง แขนผมมีกำลัง แต่ก็หิ้วของหนักไม่ได้ เป็นภาระเปล่าๆ”ฉันนิ่งอึ้ง ไม่ได้คะยั้นคะยอต่อ และอันที่จริงฉันเองก็ยังไม่รู้ว่าจะหางานที่ไหนให้เขาในทันทีเหมือนกันคนที่ยืนอยู่ตรงหน้า สาหัสกว่าฉันมากนัก ขาลีบสองข้าง ทั้งรอยแผลที่คอ คล้ายตัวตะขาบยาวเป็นคืบ มือข้างซ้ายดูงอๆไม่ปกติ ที่เขายังเดินอยู่ได้ นับว่ามาจากแรงใจของความไม่ย้อท้อ อายุสามสิบกว่าๆ น่าจะเป็นวัยที่มีครอบครัว มีคนดูแล แต่ฉันไม่ได้ถามเรื่องนี้ รู้แต่ว่างานสุดท้ายที่เขาทำก่อนเกิดอุบัติเหตุคือเป็นคนงานของบ่อเลี้ยงกุ้งที่จังหวัดสงขลาระยะทางที่เขาจะต้องเดินไปราวๆ 10 กิโลเมตร คนธรรมดาเดินไปต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง แล้วคนพิการขาอย่างเขาจะใช้เวลาเท่าไหร่ โชคดีอาจมีคนจอดรถรับ แต่ถ้าไม่มีใครใจดีกับเขาล่ะ......ฉันกังวลจึงบอกให้เขาเดินกลับมานั่งรอบนแท่นหินที่หน้าบ้านฉันสักประเดี๋ยว เพื่อฉันจะกลับมาเอาเงินในบ้าน เงินจำนวนไม่มากนัก สำหรับค่ารถ และน่าจะเหลือเป็นค่าน้ำค่าอาหารได้สักมื้อ  ฉันยื่นให้เขา  หลังจากพนมมือไหว้ขอบคุณ ฉันเห็นใบหน้าที่เงยขึ้นมานั้น มีน้ำตารื้นไม่นานนักรถสองแถวโดยสารก็มาจอด ก่อนที่เขาจะเขยกไปขึ้นรถ เขาหันมาพูดว่า“อีกสักสามเดือน ถ้าผมดีขึ้นพอที่จะทำงานได้ ขอให้ผมมาทำงานที่นี่ได้ไหม”ฉันพยักหน้า“ได้สิ แต่การไปรักษาตัวคราวนี้ ให้เรียนรู้วิชานวดและยาสมุนไพรมาด้วย แล้วเราค่อยทำงานด้วยกัน”ฉันมีห้องอบสมุนไพร ที่ปิดร้างเอาไว้ปีกว่าแล้ว บางทีเขาอาจจะกลับมาดูแลมันได้  เดิมมันเป็นสถานที่ที่ฉันใช้รักษาตัวเอง และบริการคนในหมู่บ้านโดยให้บริจาคตามกำลังกลับมากวาดใบไม้อย่างเลื่อนลอย... ฉันไว้ใจคนง่ายไปหรือเปล่า  แต่เมื่อนึกถึงคราวที่ตัวเองถูกพิพากษาว่าจะต้องพิการไปตลอดชีวิต นึกถึงความหวาดหวั่น ความอ่อนแอ ความโดดเดี่ยว ที่ประเดประดังเข้ามา และความยากลำบาก ที่ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อหลีกหนีความพิการ เป็นเวลานับสิบปีของฉัน ใบไม้แห้งถูกตักไปกองรวมกันในกอง เศษซากใบไม้กองนี้ มันจะต้องกลายเป็นปุ๋ยหมักในวันหน้า  คิดถึงตัวเอง คิดถึงเขาคนนั้นเรา...ต่างเป็นใบไม้ร่วง ที่พยายามดิ้นรนไปให้พ้นคำว่า “เศษขยะ”ในวันนี้...ฉันต้องขอบคุณคุณหมอคนนั้น ที่ทำให้ฉันต่อสู้กับข้างในตัวเองจนชนะแม้ว่าความพิการอาจมาเยือนจริงๆ ในวันหนึ่งข้างหน้าแต่ที่ผ่านมาหลายปี ฉันได้ใช้ขาทั้งสองข้าง จนคุ้ม................เพราะว่า ในปีต่อๆมา ฉันเริ่มเร่ร่อนทำงานอิสระมากขึ้น แต่ละงานที่ฉันเลือกทำ จะมีข้อแม้ว่า “ต้องใช้เวลาสั้นๆ สั้นเท่าไหร่ยิ่งดี งานที่นานเกินหนึ่งปี ฉันไม่รับทำ”แปลกใจไหม ว่าทำไม ขณะที่คนอื่น ต้องการงานที่มั่นคง แต่ฉันกลับรับทำงานแค่หนึ่งสัปดาห์ไปจนถึงหกเดือน และต้องเป็นงานสนามเท่านั้น ไม่รับงานในสำนักงานเหตุผลคือ ถ้าฉันรับปากทำงาน ฉันจะไม่ทิ้งงานกลางครัน โดยเฉพาะงานวิจัยภาคสนามที่ไม่ควรโยนภาระให้คนอื่นทำต่อ การเลิกทำทั้งที่งานยังไม่เสร็จ คนใหม่มาทำก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ไม่ยุติธรรมสำหรับคนจ้าง และสังขารฉันอาจแย่ลงวันใดวันหนึ่งก็ได้ ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมต่อคนจ้าง ฉันจึงขอเลือกงานระยะสั้น โดยไม่ได้บอกเหตุผล และไม่มีใครรู้ด้วยว่า “ฉันเป็นคนพิการ...ครึ่งทาง” บางงานฉันต้องเช็คระยะทางและเวลาที่ต้องเดินเข้าไปเก็บข้อมูล ที่ต้องปีนภูเขา สลับการเดินลุยสายน้ำในหุบเหว  พบว่าต้องใช้เวลาสามวัน แต่นายจ้าง..คนวางแผนกำหนดให้แค่วันเดียวฉันยังจำได้..งานนั้นฉันได้สำรวจระยะที่หนึ่ง เพื่อหาข้อมูลพื้นฐานระดับจังหวัด และอำเภอไปแล้ว เหลือระยะที่สองต้องเก็บข้อมูลระดับหมู่บ้าน  ฉันเป็นหัวหน้าทีมภาคสนาม มีเพื่อนร่วมงานอีกราวสิบคน ก่อนที่จะเซ็นสัญญาทำงาน ฉันพยายามหาข้อเท็จจริงมาชี้แจงเพื่อบอกนักวิชาการในห้องแอร์ว่า ข้อมูลพื้นฐานของคุณผิดพลาดอย่างมหันต์ การกำหนดเวลาให้เราแค่หนึ่งเดือน มันไม่มีทางเป็นได้ ที่ต้องต่อรองเรื่องเวลา ไม่ได้เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย แต่ฉันตั้งใจจะบอกกับพวกเขาว่า งานสนามอย่าใช้เพียงความคาดคะเน ถ้าคุณไม่เคยลงพื้นที่ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะแถวชายแดน อุปสรรคที่ดักรออยู่มากมายให้ต้องเผชิญ อย่าคิดว่าง่ายที่จะได้ข้อมูล และอย่าคิดว่าเงินที่จ่ายคือสิ่งที่มีค่ามากแล้ว หากคุณทำเองไม่ได้ งานนั้น ฉันชี้แจงอย่างใจเย็น ด้วยแผนที่ทางอากาศ ที่แสดงเส้นคอนทัวร์ ความสูงชัน ภาพถ่ายแสดงสภาพพื้นที่ ที่ฉันเคยเข้าไปเห็นมาแล้ว  แล้วบอกกับเขาว่า..ฉันไม่สามารถทำงานนี้ได้อีกต่อไป ฉันไม่มีความสามารถพอที่จะเดินเข้าไปในหมู่บ้านเลตองคุยามฤดูฝนและทำงานให้เสร็จได้ภายในวันเดียวนี่คืองานแรกและงานเดียว ที่ฉันทิ้งงานระหว่างทาง แต่ข้อมูลชุดแรก ฉันได้ส่งถึงมือเขาเรียบร้อย  ครั้งนั้น ยังรู้สึกเสียดาย ที่ไม่ได้ร่วมงานกับนักวิชาการบางคน แต่สำหรับบางคน..........!!!ฉันจึงเรียกตัวเองว่า “หมาล่าเนื้อ” เขาจ้างให้ล่าเนื้อ แต่ตัวเองไม่เคยได้ลิ้มรสเนื้ออันโอชะสักทีงานชิ้นต่อมาคือ “สำรวจเก็บข้อมูลหมู่บ้านต้นน้ำพอง” ซึ่งอยู่ด้านหลังภูกระดึง ระยะเวลาที่ต้องทำงานคือ 3 เดือน นายจ้างเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ฉันรับทำงานคนเดียวหมู่บ้าน 3 หมู่บ้าน ที่อยู่ต้นน้ำพอง เป็นหมู่บ้านในป่า ไม่มีรถโดยสาร เพราะถนนเลวร้ายมาก รถที่วิ่งได้มีเฉพาะรถขับเคลื่อนสี่ล้อของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และรถมอเตอร์ไซด์  มันเป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้ฉันได้ทดสอบความสามารถทางร่างกายของตัวเอง และเป็นไปตามความใฝ่ฝัน นั่นคือ “การเดินขึ้นภูกระดึง” เพื่อไปดูแหล่งต้นน้ำพองจริงๆ  หลังจากเก็บข้อมูลในหมู่บ้านเสร็จแล้ว ฉันจะต้องขึ้นไปดูและเก็บภาพสภาพต้นน้ำพองบนภูกระดึงการไต่ขึ้นที่สูงทีละก้าวๆ อย่างช้าๆ เพราะฉันต้องคอยระวังเข่าไม่ให้ทำงานหนัก ทั้งที่บนหลังมีเพียงเป้ไม้ไผ่ของชนเผ่าในฟิลิปปินส์ใช้เก็บรังนก ในนั้นมีเสื้อผ้าบางๆหนึ่งชุด และกล้องถ่ายรูปอย่างหนักพร้อมเลนส์สำรองอีกหนึ่งชิ้น น้ำหนักไม่มากเกินกว่าจะแบกสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับฉันนับว่าพอสมควรการเดินขึ้นเพียงลำพังและยังใส่แค่รองเท้าฟองน้ำ เป็นความประมาทอย่างรุนแรง  เรียกว่าหาความพร้อมในการเดินป่าไม่ได้เลย แต่ฉันก็ยังขึ้นมา เพราะว่า “มันเป็นงาน ที่ต้องทำให้เสร็จทันเวลา”การขึ้นภูกระดึงแบบไม่พร้อมทางร่างกายและอุปกรณ์ มีเพียงหัวใจที่พร้อม ทำให้ฉันได้พบเจอกับสิ่งดีๆมากมาย ทั้งเรื่องราวของผู้คนและธรรมชาติจนไม่อาจลืมได้ แม้ทุกวันนี้(โปรดติดตามตอนต่อไป)
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย ห่อเหี่ยวในหัวใจพี่บลู นักฮอกกี้ทีมชาติ หันมาเห็น จึงหยุดวิ่ง แล้วเดินมาหาฉัน เมื่อเขารู้ว่าฉันขาหัก เขาจึงเปิดขาข้างหักให้ฉันดู มันมีร่องรอยคล้ายๆของฉัน“อย่าไปเชื่อหมอนะน้อง หมอก็ห้ามพี่เล่นกิฬาแรงๆ แต่พี่ไม่เชื่อ ในที่สุดพี่ก็กลับมาลงทีมชาติได้เหมือนเดิม”คำของพี่บลู กังวานอยู่ในความทรงจำ คู่ขนานไปกับคำของหมอ หากไม่ใช่พี่บลู ฉันคงไม่เชื่อ แต่เพราะเขาเป็นนักกิฬา และเป็นนักกิฬาที่เอาจริงเอาจังมากกว่าฉัน ฉันจึงต้องเชื่อและเริ่มมีความหวังว่าจะเอาชนะความพิการได้อีกสิ่งหนึ่งที่พี่บลูมอบให้ เมื่อรู้ว่าฉันท้อแท้ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในวัดปฏิบัติธรรมเพื่อลดความเศร้าโศกมาระยะหนึ่งแล้ว พี่บลูหัวเราะฮึ ฮึ เหมือนฉันเป็นเด็กน้อย“จะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ต้องมีสติ การมีสติเหมือนการขับรถ ประคองพวงมาลัยไปให้สบายๆ พี่เรียนรู้การมีสติจากการขับรถ อย่าให้ตัวเองเครียดกับอะไรๆ ก็ใช้ได้แล้ว” สองสิ่งที่ฉันได้มา มีคุณค่ามหาศาล โดยที่พี่บลูอาจไม่รู้ เพราะนับแต่นั้น ฉันไม่ได้เจอกับพี่บลูอีกเลยแต่ความหวาดหวั่นยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรหากเดินไม่ได้ หรือต้องเดินขาเดียวพร้อมไม้ค้ำยัน แต่ที่แย่กว่านั้นคือตอนนี้ ฉันจะต้องมีคนช่วยนวดขาให้ทุกคืนก่อนนอน จึงจะนอนหลับได้ เมื่อไม่มีใครนวดให้ฉันต้องเรียนรู้การนวดตัวเอง เหมือนโชคช่วยอีกหน ในปีที่สี่ของการบาดเจ็บ งานที่เข้ามาให้เลือกในขณะนั้นคือ โครงการศึกษาวิจัย และสร้างเครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน ฉันรับทำงานทันที มันช่างสอดคล้องกับปัญหาของฉัน เหมือนฟ้าประทานมาทีเดียวฉันตระเวนเก็บข้อมูล สัมภาษณ์หมอยาสมุนไพร หมอนวดพื้นบ้าน และหมอตำแย ในภาคอีสานหลายจังหวัด มีโอกาสเรียนรู้เคล็ดวิชานวดของแต่ละหมอ และได้สูตรยาสมุนไพร หลายขนาน ตอนนั้น ฉันคิดว่า เราเริ่มทำงานช้าไป ในราวๆ ปี พ.ศ. 2531 บางหมู่บ้านเมื่อฉันไปถึง คำตอบที่ได้คือ หมอยาเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปีที่แล้ว เหลือแต่ห่อยา “ฮากไม้” ไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า หรือบางรายชราภาพมากจนไม่สามารถรักษาใครได้อีก แต่ก็ยังโชคดี ที่ยังเหลือหมอยาเก่งๆ ให้ฉันได้พบ จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายหมอพื้นบ้านขึ้นในที่สุด กลุ่มหมอยา มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่คนหนุ่มสาว และได้เดินป่าศึกษาสมุนไพรหลายครั้ง บางครั้งพ่อใหญ่สม พ่อหมอใหญ่แห่งอำเภอพล พาฉันเดินลุยตามป่าโคกเป็นวันๆ เพื่อรู้จักกับต้นยาและสรรพคุณยา แม้แข้งขาของฉันจะโอดโอยฉันก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความอยากรู้ฉันได้รับการถ่ายทอดวิชาแบบวิถีโบราณอย่างน่าภูมิใจ แต่บางวิชาต้องใช้คาถา ฉันไม่กล้าที่จะรับเพราะพ่อหมอบอกว่า ต้องมีข้อปฏิบัติ ที่ทางอีสานเรียกว่า “คะลำ” หรือข้อห้าม สำหรับคนที่จะใช้คาถานั้น เช่น ห้ามนั่งบนกี่ทอผ้า ห้ามนั่งหัวบันได ห้ามลอดราวตากผ้า หรืออื่นๆ อีก ...ฉันพิจารณาตัวเองแล้ว คงรับมาปฏิบัติไม่ได้ จึงไม่ได้มาสักคาถาเดียวเรื่องคาถา น่าเชื่อถือไม่น้อย เพราะเจอกับตัวเองครั้งหนึ่ง ตอนไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ฉันถูกแมลงป่อง ต่อยที่ปลายนิ้ว หมอเป่ามาเป่าให้เพี้ยงเดียว หายเป็นปลิดทิ้ง ฉันเชื่ออย่างไม่สงสัย เพราะว่ามันหายปวดในบัดดล (ไม่กล้าถามว่าคาถาอะไร กลัวความเจ็บปวดจะกลับมา)การทำงานกับหมอพื้นบ้านฉันมีความสุขมาก ได้ความรู้ ได้รับความเอ็นดูจากพ่อหมอแม่หมอ และที่สำคัญเหนืออื่นใด เขาไม่รำคาญยามฉันขอร้องให้ช่วยนวดขาที่แสนจะเจ็บปวดของฉัน จนฉันรู้ว่าวิธีการนวดของแต่ละคน ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรข้อดีของคนที่ใกล้พิการ คือความต้องการจะหาย ฉันจึงกระหายที่จะเรียนรู้วิชานวด และในที่สุดฉันก็ทำได้...ฉันเป็นหมอนวด ที่รู้จักภาวะความเจ็บปวดของคนประเภทเดียวกับฉัน ฉันรู้ว่าลักษณะกล้ามเนื้อแบบนี้ สภาพเอ็นและกระดูกอย่างนี้ ควรจะนวดอย่างไร ฉันนวดให้คนอื่นได้ แต่ฉันก็ยังเจ็บปวดขาอยู่ดีผ่านมาหลายปี ฉันได้วิชามากขึ้น ทั้งการนวด การอบสมุนไพร การทำยาหม่อง การทำน้ำมันนวดชนิดพิเศษ โดยเอาความต้องการของเองเป็นที่ตั้ง ฉันได้ใช้สิ่งเหล่านี้มาเพื่อการดูแลตัวเอง คิดว่า ถ้าฉันจะกลายเป็นคนพิการ แต่ฉันก็ยังทำอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนอื่นๆการเป็นหมอนวดที่ทำอย่างไม่หวังผลตอบแทนทางการเงิน กลับทำให้ฉันมีเงิน การเป็นคนที่รู้จักสมุนไพร ทำให้ฉันมีความสุข ที่ได้อยู่กับต้นไม้อย่างรู้จักคุณค่าของเขามากกว่าแค่เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง การปลูกสมุนไพรและเฝ้าดูเขาเติบโตเป็นสมบัติของโลก ฉันว่าแค่นี้ก็น่าจะพอสำหรับคนอย่างฉันทุกวันนี้ เวลาใครถามว่า เรียนวิชาเหล่านี้มาจากไหน ฉันจะบอกว่า “เรียนจากหมอพื้นบ้านภาคอีสาน” เพราะที่ฉันเรียนรู้ไม่ใช่แค่วิชาหมอ แต่ฉันได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นหมอพื้นบ้าน ที่มีค่าครูค่าคายในการรักษาเพียงไม่กี่บาท แต่หมอได้รับการดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น ช่วยงานในไร่นา บ้างก็แบ่งข้าวปลาอาหารมาให้หมอตลอดปี เมื่อมีพิธีไหว้ครู จะเห็นผู้คนจากทั่วสารทิศมารวมกัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเก่งกาจของหมอคนนั้น ดังนั้น ในชีวิตฉัน อีกหนึ่งคนที่จะต้องจารึกชื่อไว้ ในนามของผู้มีบุญคุณ ในการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ คือ คุณยงยุทธ ตรีนุชกร หัวหน้าโครงการ ที่เป็นทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมงานของฉันตลอดสองปีเต็ม (ซึ่งปัจจุบันนี้ ฉันได้ข่าวว่ากำลังอยู่กับโรคร้ายอย่างมีความสุข บนเทือกเขาภูพาน)มีวิชาในการดูแลตัวเอง แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นไปจากความเจ็บปวด เพียงแต่ยามก่อนนอน ฉันสามารถนวดขา กดขา หรือทำโยคะ เพื่อจัดการกล่อมเจ้าความเจ็บให้อ่อนแรงลงไปบ้างอาการเจ็บแบบฉัน เป็นเจ็บที่น่าประหลาด เพราะเวลากลางวันเคลื่อนไหวมากๆ จะไม่ค่อยรู้สึก แต่พอล้มตัวลงนอน มันจะจู่โจมเข้ามาเป็นอาการเจ็บแปลบๆวิ่งพล่านขึ้นลงไปทั้งขา สลับปวดหนึบๆในข้อเข่า ขยับเข่าจะดังกึกกัก เอ็นเส้นที่เจ็บล้ามากที่สุดคือเส้นที่พาดผ่านรอยแผลจากที่กระดูกทิ่มออกมา ฉันรู้สึกเหมือนเอ็นเส้นนี้มันอยู่ผิดที่ผิดทางยากที่จะมีหมอนวดมือดีมาคุ้ยกลับได้ หรือว่ามันเป็นเส้นประสาทที่ถูกกระทบกระเทือนจนพิการไปแล้วก็ได้ ฉันจึงได้แต่เอาไม้แหลมๆกดแรงๆ กระตุ้นให้ประสาททำงาน จนเจ็บจี๊ดอย่างสะใจ จึงปล่อยออกเป็นอันว่าต้องใช้วิธี เกลือจิ้มเกลือ เจ็บสู้เจ็บ จึงจะได้นอนหลับ ผ่านมาห้าปี ความรู้สึกวิตกว่าอาจจะเป็นคนพิการลดน้อยลง แต่ยังรู้สึกถึงอาการเสื่อมของข้อเข่าที่เพิ่มมากขึ้นทุกวันฉันจึงมองหาวิธีจัดการกับมันใหม่....อย่างสนุกในอารมณ์(โปรดติดตามตอนต่อไป)