Skip to main content

การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมาย

คุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า
“ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร”

ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว

“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม
“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน แต่ในใจอยากให้เขาเห็นเป็นหลายคนเสียนัก บางทีอาจมีใครบางคนตามฉันมาก็ได้

เพราะมีเรื่องลี้ลับเกิดขึ้น ในคืนที่ฉันมาถึงเชิงภู

ฉันมาถึงสำนักงานที่เชิงภูกระดึง ราวๆ สี่ทุ่ม คุณนิมิตรผู้ใจดีชวนให้ไปนอนที่บ้านของเขา บอกว่ามีลูกและภรรยาอยู่ด้วยไม่ต้องกังวล ฉันขอบคุณ บอกว่าขอที่พักง่ายๆ ตื่นเช้าฉันจะได้ขึ้นภูทันที

ที่บ้านพักรับรองหลังใหญ่ ยังมีห้องว่างแต่แขกที่เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ยึดครองห้องไปสองห้อง เหลือหนึ่งห้องสำหรับฉัน ประเมินสถานการณ์ฉันคงไม่ได้หลับแน่ เพราะพวกเขากำลังตั้งวงเฮฮากันสุดเหวี่ยง จึงได้มาพักที่เรือนพักของยาม อยู่ใกล้สำนักงาน แต่อยู่ไกลกลุ่มบ้านพักทั้งหลายพอสมควร ชวนวังเวงใจ แม้มีไฟฟ้าสลัวๆกระจายทั่วพื้นที่

เรือนพักยาม มีพื้นที่ขนาด 1 X 2 เมตร แค่เปิดประตูแล้วล้มตัวลงนอน  แต่เจ้ากรรมแม้กลอนประตูก็ยังไม่มี ด้วยความง่วงและอ่อนเพลีย  ที่นอนบางๆกลิ่นสาบๆ ก็พอทนได้(อยู่แล้ว) เอากระเป๋าเสื้อผ้าวางกั้นประตู ถ้าใครเปิดเข้ามาอย่างน้อยกระป๋าก็ต้องส่งเสียงก่อน

ราวตี 4 กว่าๆ ฉันเห็นผู้ชายแต่งกายด้วยเครื่องแบบป่าไม้ สีเขียวอ่อน หน้าตาดี ท่าทางขี้เล่น อายุราวๆ 28 ปี พยายามเปิดประตู เหมือนจะหยอกล้อฉัน พอฉันตื่นเขาก็เดินหนีไป โดยจูงเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปด้วย  เธอนุ่งชุดกระโปรงติดกัน ผมยาวมัดห้อยย้อยเป็นหางม้า ดูน่ารัก ฉันตกใจว่าทำไมเขามาแกล้งฉัน ดึกดื่นอย่างนี้ทำไมไม่รู้จักนอนกันอีก ด้วยความโมโหเล็กน้อย จึงเปิดประตู ตั้งใจว่าจะตะโกนถามว่า มาล้อเล่นกันทำไม

ฉันทะลึ่งพรวดลุกขึ้นนั่ง..รู้ตัวอีกที อ้าว....ฝันนี่นา  ขยับประตูดู ทุกอย่างยังปกติ แต่ภาพเมื่อกี้นี้เหมือนจริงมาก จนกระทั่งฉันไม่เชื่อว่าตัวเองฝัน แต่ก็ล้มตัวลงนอนพลางสวดมนต์แผ่เมตตา คิดในใจว่าสงสัยจะเจอดี (ฉันจะสวดมนต์ก่อนนอนและนังสมาธิเป็นประจำ ในทุกสถานที่โดยไม่มีข้อยกเว้น แต่จะสวดมนต์สั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับความสะดวก

เช้าตรู่ คุณนิมิตร เอาเครื่องบันทึกเสียงที่เขารับไปซ่อมให้ (เพราะสายพานขาด) มาให้ เพราะฉันจำเป็นต้องใช้ทำงานข้างบน (นี่เป็นอีกคนที่จำไม่ลืมในน้ำใจ)

ฉันถามเขาว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเด็กผู้หญิงน่าตาน่ารักวัยประมาณ 7 ขวบ เสียชีวิตที่นี่บ้างหรือเปล่า คนถูกถามมองหน้าฉันแบบตกตะลึง

“เจอดีเข้าแล้วเหรอ” คราวนี้ฉันตะลึงบ้าง เมื่อเขาบอกว่า
“มีครับ เขายิงตัวตาย ยิงลูกสาว ยิงเมียก่อน แล้วยิงตัวเอง แต่ว่าเมียรอด”.......โอ้...สวรรค์ ฉันคราง
“เขาน้อยใจ ทะเลาะกับเมียระแวงว่าเมียมีผู้ชายคนอื่นน่ะครับ”

คุณนิมิตรบอกว่า มีนักท่องเที่ยวที่โชคดีได้เจอพ่อลูกเดินเล่นอยู่แถวนี้เหมือนกัน

ฉันเดินขึ้นภูกระดึงอย่างช้าๆ สวดมนต์แผ่เมตตาแก่วิญญาณพ่อลูกและวิญญาณทั้งหลายตามรายทาง ที่ฉันรู้มาว่า นานมาแล้วมีดินถล่มตรงผาสุดท้ายก่อนขึ้นสันแปภูกระดึง นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์ สังเวยชีวิตมาแล้ว

นี่คือเหตุที่ฉันตอบคุณเจ้าหน้าที่ไปอย่างยียวนเล็กๆ ในใจอยากให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉันจะได้อุ่นใจในการเผชิญโชคบนภูกระดึง

การมีใครบางคนอารักษ์ขา โดยที่คนอื่นมองไม่เห็น ไม่เลวนะ...

เอาล่ะเข้าเรื่อง...

สรุปว่าการทำงานหนนี้ ฉันเก็บภาพ เก็บข้อมูลบนภูกระดึงอย่างสบายๆ เพราะเมื่อเริ่มกางเต๊นท์  แว่วเสียงเจ้าหน้าที่ตะโกนถามกันว่า
“ไหนล่ะผู้หญิงที่ขึ้นมาคนเดียว”

ฉันเงยหน้าจากการปักสมอดิน ตะโกนตอบไปว่า
“อยู่นี่ค่ะ”

จากนั้น ทุกค่ำคืน เจ้าหน้าที่หนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั้งหลาย จะมานั่งผิงไฟ ดื่มกาแฟ พูดคุยที่เต๊นท์ฉัน สลับกับการเดินสำรวจดูแลความสงบแก่นักท่องเที่ยวจำนวนหลายพัน (อาจถึงหมื่น)

พวกเขาสุภาพ แม้บางคนจะถามตรงๆว่า
“ไม่กล้วหรือ ที่มาคนเดียว” ฉันบอกว่าคนเดียวที่ไหน คนเป็นพันๆ นั่งๆนอนๆ อยู่บนนี้ ยั้วเยี้ยไปหมด เขาหัวเราะ
“ไม่เหงาหรือ” นั่น...บางคำถาม ที่ต้องคิดก่อนตอบ และฉันก็ตอบว่า
“มาทำงาน ไม่มีเวลาเหงา ไม่มีเวลากลัว” คนถามคงพอใจในคำตอบ ฉันจึงได้รับการดูแลดุจญาติมิตรตลอดเวลา 5 วันที่อยู่บนนั้น

ยามเดินป่า ไปดูต้นน้ำพอง นักท่องเที่ยวทั่วไปต้องจ่ายค่าทัวร์คนละประมาณ 200 บาท (ถ้าจำไม่ผิด) ต้องห่อข้าวไปกินเอง และเผื่อเจ้าหน้าที่ที่นำด้วย ส่วนฉัน..เจ้าหน้าที่บอกว่า ไม่ต้องครับผมเตรียมไว้ให้แล้วทุกอย่าง

ฉันมีหน้าที่ถ่ายรูปเก็บข้อมูล แม้แต่ขาตั้งกล้องก็มีคนแบกให้  ทุกอย่างล้วนสะดวกดายเพราะฉันมาดี จึงได้เจอกับคนดีๆ

แม้แต่เรื่องเสื้อผ้า หรือผ้าห่ม ที่ต้องไปเช่าจากร้านอาหารของคุณป้ามะลิ เธอยังให้ยืมผ้าซิ่นส่วนตัวอีกสองผืน เมื่อรู้ว่าฉันมีเสื้อผ้าสำรองเพียงชุดเดียว

ต้องขอบคุณขาข้างหัก..ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันอยากปีนภูกระดึง จนเจอสิ่งดีๆ ผู้คนดีๆ และบางอย่างที่บอกไม่ได้ว่าดีหรือไม่ดี

แต่สิ่งแรกที่ฉันทำเมื่อกลับลงมาข้างล่าง  คือ...สังฆทาน

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร