Skip to main content

กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม

 

การเดินทางเพื่อจะเรียนรู้เรื่องของประเทศหนึ่งๆหรืออาณาจักรหนึ่งๆ ที่เชื่อว่ามีวิสัยทัศน์ มีจริตกริยา มีนิสัยประจำตน มีเรื่องราวแต่หนหลังโยงใยมาถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์ คือสิ่งยวนใจที่ฉันต้องควานหา แต่การเดินทางเข้ามาเลเซียครั้งนี้ ฉันข้ามแดนไปด้วยการพ่วงพาเอาความคิด ภาพบางภาพของบางกลุ่มชน ข้ามไปด้วย เพื่อไปหาคำตอบว่า ที่นั่นเขามีการจัดการ มีการดูแลกันอย่างไร

 

โจทย์หลักที่ว่านี้ คือ การจัดการป่า และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า ที่เรียกขานกันว่า “โอรัง อัสลี”

 

ความต้องการที่จะเรียนรู้ในระดับลึก ฉันรู้ว่าไม่สามารถจะเข้าถึงได้ในสถานภาพของนักท่องเที่ยว แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อฉันไม่มีองค์กรสังกัด ไม่ใช่ทั้งข้าราชการ ไม่ใช่ทั้ง NGO. เป็นแค่คนเดินทาง คนทำสวนทำไร่ ที่บังเอิญได้คลุกคลีกับปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะกฎหมายอุทยานฯบุกรุกเข้าไปในชีวิตของพวกเขา จนบางรายอยากฆ่าตัวตายเพราะถูกป่าไม้ฟ้องร้องเรียกเงินนับล้าน ในข้อหาว่าทำให้โลกร้อน ทั้งที่มือหยาบกร้านเคยกำเงินสูงสุดแค่เรือนหมื่นเท่านั้นเอง

 

หลังจากที่ฉันข่มใจว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง คุณลุงผู้เหี้ยมเกรียมก็เหยียบคันเร่งจมมิด ยานลำเก่าๆทะยานแหวกสายลมย่ำค่ำอย่างเร็วรี่ มันวิ่งแซงรถคันใหญ่ๆใหม่ๆทะเบียนมาเลย์มาอย่างฉลุย ฉันล่ะสะใจยิ่งนัก

 

กระทั่ง มาถึงด้านหน้าของท่ารถบัตเตอร์เวิร์ธ แกลงมาเปิดประตูรถให้ แล้วบอกว่า

เดินเข้าไปข้างในเองนะ แค่ร้อยกว่าเมตรเท่านั้น รถบัสจอดอยู่ที่ในนั้น” น้ำเสียงเอื้ออาทรขึ้นมาเชียว

ทุกคนบนรถต่างบอกว่าขอให้โชคดี ฉันบอกกลับไปว่า ขอให้โชคดีในการเดินทางทุกคนเช่นกัน

 

สามทุ่มกว่าๆ ตามเวลาของมาเลเซีย ที่เร็วกว่าไทยหนึ่งชั่วโมง ฉันมายืนตรงหน้าหญิงสาวที่คลุมผมเรียบร้อย ในช่องขายตั๋วแรกที่เห็น เธอทักเป็นภาษาของเธอ แต่ฉันบอกว่าขอตั๋วสองที่ไปจารันตุด ด้วยภาษานักล่าอาณานิคม เธอยิ้มรับ แล้วจัดการให้ บอกว่าให้รอรถที่ช่อง ๑๗ นะ รถจะมาถึง ๔ ทุ่มตรง

 

เรื่องรถ ฉันอ่านจากข้อมูลที่ตรวจสอบในอินเตอร์เน็ต รู้ว่ารถมาจากเปอร์ลิส อันที่จริงถ้าเราเข้าทางด่านวังประจัน จังหวัดสตูล ที่นั่นจะใกล้มาก แต่ในเมื่อเราเข้ามาจากด่านนอก ขึ้นรถที่นี่ก็นับว่าสะดวก เพียงแต่อาจโชคร้ายถ้าเป็นช่วงเทศกาลรถอาจจะเต็ม

 

 

 

 

 

ค่ารถ ๕๓ เหรียญ คิดเป็นเงินไทยราว ๕๓๐ บาท ใช้เวลา ๙ ชั่วโมง ไปถึงจันตุด ฉันรู้ว่ารถต้องอ้อมภูเขาสูงไปตามถนนหลวงสายเดิม ลงไปทางใต้เฉียดๆเก้นท์ติ้ง แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางฝั่งตะวันออก มุ่งขึ้นเหนือเล็กน้อย จึงไปถึงเมืองจารันตุด

 

ได้ตั๋วแล้วค่อยเบาใจ แบกกระเป๋ามาหาอาหารมื้อค่ำแบบเร่งรีบ(ฟาดด่วน) ที่อาคารขายอาหารรวมร้านเล็กๆมาอยู่ด้วยกัน ฉันชี้มือขอแกงไก่ราดข้าว หนุ่มเลือดอินเดียพยายามชี้ชวนให้เอาอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก ฉันบอกว่าไม่เอา แค่นี้ก็พอแล้วเยอะแล้ว ท่าทางของเราที่คุยกันไม่ค่อยจะเข้าใจ อาจเป็นเพราะฉันส่ายหน้า ที่เขาคิดว่าโอเคก็เป็นได้ จนคนอื่นที่เดินผ่านไปผ่านมาชะงักดู แต่เป็นแค่ชั่วแป๊บเดียว ฉันยกมือบอกพอแล้วๆพี่แกยังตักน้ำแกงจากกะละมังอื่นๆ มาให้ราดให้อีก สรุปว่าข้าวราดแกง ราคา ๓ เหรียญ มื้อนั้นฉันกินได้แค่ เหรียญครึ่งเท่านั้น เพราะรสชาดเท่ากับศูนย์

 

กว่ารถจะมา ฉันยังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ ได้เข้าห้องน้ำล้างหน้าตา ยืนยันว่าห้องน้ำของมาเลเซียที่ไหนๆก็สะอาดเสมอ และคนใช้บริการก็น้อย ไม่ต้องเข้าคิว จากนั้นฉันยังใช้เวลาเดินสอบถามเรื่องรถไปจารันตุดได้อีก เพราะอยากรู้ว่ามีรถคันอื่นอีกหรือเปล่าที่มุ่งหน้าไปทางนั้น เพราะในช่องขายตั๋วหลายช่องเขียนไว้ว่า “กัวลา ทาหาน” อันหมายถึงชื่อเมืองที่ตั้งของป่าทามัน เนการ่าคำตอบที่ได้คือ มีเพียงคันเดียว แต่ซื้อตั๋วได้หลายช่อง

 

ฉันไม่ได้เฉลียวใจอะไร ในชื่อกัวลาทาหาน ที่เขียนบอกไว้ เพราะจากการหาข้อมูลรู้แต่เพียงว่า ถนนไปป่าสามารถไปได้จนถึงเมือง “เตมเบอลิง” จากนั้นให้นั่งเรืออีก ๓ ชั่วโมง จึงจะไปถึง สำนักงานของป่าแห่งนั้น

 

ไม่เฉลียวใจกระทั่งว่า ตอนที่ขึ้นรถแล้ว และช่วงพักระหว่างทาง หนุ่มน้อยที่ร่วมนั่งโต๊ะ เขาบอกว่าบ้านเขาอยู่กัวลา ทาหาน เขากำลังจะกลับบ้าน และตอนรุ่งเช้า ที่รถบัสไปถึงเมืองจารันตุด ฉันและปิ๋นหอบของลงจากรถ แต่หนุ่มน้อยคนนั้น กับใครอีกหนึ่งคน ที่เป็นสองคนโดยสารสุดท้าย ยังอยู่บนรถที่มุ่งหน้าต่อไปยังปลายทาง

 

เป็นความเขลาของนักเดินทางแบบฉุกเฉิน ฉันอ่านข้อความที่บางคนโพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต บอกว่ารัฐบาลมาเลเซียมีดำริที่จะสร้างถนนเข้าไปถึงสำนักงานใหญ่ของป่าทามัน เนการ่า แต่ถูกนักอนุรักษ์ต่อต้านไว้จนต้องยกเลิกไป ที่ไหนได้ เมื่อฉันมาถึงที่นี่ ถนนสายนั้นพรุนไปแล้วด้วยรอยล้อรถที่บดขยี้ จากแรงกดทับของน้ำหนักตัวนักท่องเที่ยวร่างใหญ่ผู้บินมาจากแดนไกลปีละนับล้านคน โง่จริงๆฉัน

 

 

 

ฉันพลาดรายละเอียดการเดินทาง เพราะเพิ่งตัดสินใจไปมาเลเซีย ตอนกลับมาบ้านที่นครศรีธรรมราช ในต้นเดือนสิงหาคม โดยทิ้งหนังสือไกด์บุคฉบับสำคัญไว้ที่ไร่ที่ขอนแก่น ทั้งเชื่อมั่นในข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตว่าทันสมัยที่สุด แต่สิ่งที่ลืมสนิทและคิดว่าไม่สำคัญคือ เรื่องที่พัก จนกระทั่งเป็นปัญหาจนแทบถอดใจ

 

การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ฉันได้บทเรียนใหม่ ในเรื่องนิสัยไม่ยอมวางแผนจองที่พักล่วงหน้า โดยเฉพาะยุคสมัยที่ประชากรโลกล้นหลาม และยังบังอาจเสนอหน้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันอยู่กับฝรั่ง ผู้เชี่ยวชาญการเดินทาง แม้จะเป็นแบคแพ็กเกอร์แบบเดียวกันก็ตาม

 

กว่ารถจะมาถึง ฉันต้องทนสูดดมควันหลง ที่โชยมาจากสิงห์อมควัน ชายฉกรรจ์ทั้งหลายที่เดินเตร็ดเตร่ในชานชาลา จนมึนหัว เหม็นและมากกว่ากลิ่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่จอดอยู่ด้วยซ้ำ

 

โอ้ว่า...ประเทศไทย ชายหนุ่มนักอมควันทั้งหลายของแผ่นดิน ฉันขอขอบคุณที่พวกท่านลดจำนวนลงมาก จนแทบจะหายากในบางพื้นที่ ขอบคุณที่ไม่ก่อมลภาวะจากความสุขแต่เพียงลำพังของท่าน แล้วก่อความทุกข์แก่ส่วนรวมเหมือนผู้ชายประเทศนี้

 

ขอบคุณ ขอบคุณจริงๆ

.................

 

(ขอประทานอภัย ภาพถ่ายไม่สวยเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเป็นกล้องป๊อกแป๊ก คนถ่ายก็แป๋แป๋)

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร