Skip to main content

กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม

 

การเดินทางเพื่อจะเรียนรู้เรื่องของประเทศหนึ่งๆหรืออาณาจักรหนึ่งๆ ที่เชื่อว่ามีวิสัยทัศน์ มีจริตกริยา มีนิสัยประจำตน มีเรื่องราวแต่หนหลังโยงใยมาถึงปัจจุบัน จนเป็นเอกลักษณ์ คือสิ่งยวนใจที่ฉันต้องควานหา แต่การเดินทางเข้ามาเลเซียครั้งนี้ ฉันข้ามแดนไปด้วยการพ่วงพาเอาความคิด ภาพบางภาพของบางกลุ่มชน ข้ามไปด้วย เพื่อไปหาคำตอบว่า ที่นั่นเขามีการจัดการ มีการดูแลกันอย่างไร

 

โจทย์หลักที่ว่านี้ คือ การจัดการป่า และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในป่า ที่เรียกขานกันว่า “โอรัง อัสลี”

 

ความต้องการที่จะเรียนรู้ในระดับลึก ฉันรู้ว่าไม่สามารถจะเข้าถึงได้ในสถานภาพของนักท่องเที่ยว แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อฉันไม่มีองค์กรสังกัด ไม่ใช่ทั้งข้าราชการ ไม่ใช่ทั้ง NGO. เป็นแค่คนเดินทาง คนทำสวนทำไร่ ที่บังเอิญได้คลุกคลีกับปัญหาของชาวบ้านที่เดือดร้อนเพราะกฎหมายอุทยานฯบุกรุกเข้าไปในชีวิตของพวกเขา จนบางรายอยากฆ่าตัวตายเพราะถูกป่าไม้ฟ้องร้องเรียกเงินนับล้าน ในข้อหาว่าทำให้โลกร้อน ทั้งที่มือหยาบกร้านเคยกำเงินสูงสุดแค่เรือนหมื่นเท่านั้นเอง

 

หลังจากที่ฉันข่มใจว่าถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง คุณลุงผู้เหี้ยมเกรียมก็เหยียบคันเร่งจมมิด ยานลำเก่าๆทะยานแหวกสายลมย่ำค่ำอย่างเร็วรี่ มันวิ่งแซงรถคันใหญ่ๆใหม่ๆทะเบียนมาเลย์มาอย่างฉลุย ฉันล่ะสะใจยิ่งนัก

 

กระทั่ง มาถึงด้านหน้าของท่ารถบัตเตอร์เวิร์ธ แกลงมาเปิดประตูรถให้ แล้วบอกว่า

เดินเข้าไปข้างในเองนะ แค่ร้อยกว่าเมตรเท่านั้น รถบัสจอดอยู่ที่ในนั้น” น้ำเสียงเอื้ออาทรขึ้นมาเชียว

ทุกคนบนรถต่างบอกว่าขอให้โชคดี ฉันบอกกลับไปว่า ขอให้โชคดีในการเดินทางทุกคนเช่นกัน

 

สามทุ่มกว่าๆ ตามเวลาของมาเลเซีย ที่เร็วกว่าไทยหนึ่งชั่วโมง ฉันมายืนตรงหน้าหญิงสาวที่คลุมผมเรียบร้อย ในช่องขายตั๋วแรกที่เห็น เธอทักเป็นภาษาของเธอ แต่ฉันบอกว่าขอตั๋วสองที่ไปจารันตุด ด้วยภาษานักล่าอาณานิคม เธอยิ้มรับ แล้วจัดการให้ บอกว่าให้รอรถที่ช่อง ๑๗ นะ รถจะมาถึง ๔ ทุ่มตรง

 

เรื่องรถ ฉันอ่านจากข้อมูลที่ตรวจสอบในอินเตอร์เน็ต รู้ว่ารถมาจากเปอร์ลิส อันที่จริงถ้าเราเข้าทางด่านวังประจัน จังหวัดสตูล ที่นั่นจะใกล้มาก แต่ในเมื่อเราเข้ามาจากด่านนอก ขึ้นรถที่นี่ก็นับว่าสะดวก เพียงแต่อาจโชคร้ายถ้าเป็นช่วงเทศกาลรถอาจจะเต็ม

 

 

 

 

 

ค่ารถ ๕๓ เหรียญ คิดเป็นเงินไทยราว ๕๓๐ บาท ใช้เวลา ๙ ชั่วโมง ไปถึงจันตุด ฉันรู้ว่ารถต้องอ้อมภูเขาสูงไปตามถนนหลวงสายเดิม ลงไปทางใต้เฉียดๆเก้นท์ติ้ง แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางฝั่งตะวันออก มุ่งขึ้นเหนือเล็กน้อย จึงไปถึงเมืองจารันตุด

 

ได้ตั๋วแล้วค่อยเบาใจ แบกกระเป๋ามาหาอาหารมื้อค่ำแบบเร่งรีบ(ฟาดด่วน) ที่อาคารขายอาหารรวมร้านเล็กๆมาอยู่ด้วยกัน ฉันชี้มือขอแกงไก่ราดข้าว หนุ่มเลือดอินเดียพยายามชี้ชวนให้เอาอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก ฉันบอกว่าไม่เอา แค่นี้ก็พอแล้วเยอะแล้ว ท่าทางของเราที่คุยกันไม่ค่อยจะเข้าใจ อาจเป็นเพราะฉันส่ายหน้า ที่เขาคิดว่าโอเคก็เป็นได้ จนคนอื่นที่เดินผ่านไปผ่านมาชะงักดู แต่เป็นแค่ชั่วแป๊บเดียว ฉันยกมือบอกพอแล้วๆพี่แกยังตักน้ำแกงจากกะละมังอื่นๆ มาให้ราดให้อีก สรุปว่าข้าวราดแกง ราคา ๓ เหรียญ มื้อนั้นฉันกินได้แค่ เหรียญครึ่งเท่านั้น เพราะรสชาดเท่ากับศูนย์

 

กว่ารถจะมา ฉันยังทำอะไรได้อีกตั้งเยอะ ได้เข้าห้องน้ำล้างหน้าตา ยืนยันว่าห้องน้ำของมาเลเซียที่ไหนๆก็สะอาดเสมอ และคนใช้บริการก็น้อย ไม่ต้องเข้าคิว จากนั้นฉันยังใช้เวลาเดินสอบถามเรื่องรถไปจารันตุดได้อีก เพราะอยากรู้ว่ามีรถคันอื่นอีกหรือเปล่าที่มุ่งหน้าไปทางนั้น เพราะในช่องขายตั๋วหลายช่องเขียนไว้ว่า “กัวลา ทาหาน” อันหมายถึงชื่อเมืองที่ตั้งของป่าทามัน เนการ่าคำตอบที่ได้คือ มีเพียงคันเดียว แต่ซื้อตั๋วได้หลายช่อง

 

ฉันไม่ได้เฉลียวใจอะไร ในชื่อกัวลาทาหาน ที่เขียนบอกไว้ เพราะจากการหาข้อมูลรู้แต่เพียงว่า ถนนไปป่าสามารถไปได้จนถึงเมือง “เตมเบอลิง” จากนั้นให้นั่งเรืออีก ๓ ชั่วโมง จึงจะไปถึง สำนักงานของป่าแห่งนั้น

 

ไม่เฉลียวใจกระทั่งว่า ตอนที่ขึ้นรถแล้ว และช่วงพักระหว่างทาง หนุ่มน้อยที่ร่วมนั่งโต๊ะ เขาบอกว่าบ้านเขาอยู่กัวลา ทาหาน เขากำลังจะกลับบ้าน และตอนรุ่งเช้า ที่รถบัสไปถึงเมืองจารันตุด ฉันและปิ๋นหอบของลงจากรถ แต่หนุ่มน้อยคนนั้น กับใครอีกหนึ่งคน ที่เป็นสองคนโดยสารสุดท้าย ยังอยู่บนรถที่มุ่งหน้าต่อไปยังปลายทาง

 

เป็นความเขลาของนักเดินทางแบบฉุกเฉิน ฉันอ่านข้อความที่บางคนโพสต์ไว้ในอินเตอร์เน็ต บอกว่ารัฐบาลมาเลเซียมีดำริที่จะสร้างถนนเข้าไปถึงสำนักงานใหญ่ของป่าทามัน เนการ่า แต่ถูกนักอนุรักษ์ต่อต้านไว้จนต้องยกเลิกไป ที่ไหนได้ เมื่อฉันมาถึงที่นี่ ถนนสายนั้นพรุนไปแล้วด้วยรอยล้อรถที่บดขยี้ จากแรงกดทับของน้ำหนักตัวนักท่องเที่ยวร่างใหญ่ผู้บินมาจากแดนไกลปีละนับล้านคน โง่จริงๆฉัน

 

 

 

ฉันพลาดรายละเอียดการเดินทาง เพราะเพิ่งตัดสินใจไปมาเลเซีย ตอนกลับมาบ้านที่นครศรีธรรมราช ในต้นเดือนสิงหาคม โดยทิ้งหนังสือไกด์บุคฉบับสำคัญไว้ที่ไร่ที่ขอนแก่น ทั้งเชื่อมั่นในข้อมูลจากอินเตอร์เน็ตว่าทันสมัยที่สุด แต่สิ่งที่ลืมสนิทและคิดว่าไม่สำคัญคือ เรื่องที่พัก จนกระทั่งเป็นปัญหาจนแทบถอดใจ

 

การเดินทางครั้งนี้ ทำให้ฉันได้บทเรียนใหม่ ในเรื่องนิสัยไม่ยอมวางแผนจองที่พักล่วงหน้า โดยเฉพาะยุคสมัยที่ประชากรโลกล้นหลาม และยังบังอาจเสนอหน้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ต้องแย่งกันกิน แย่งกันอยู่กับฝรั่ง ผู้เชี่ยวชาญการเดินทาง แม้จะเป็นแบคแพ็กเกอร์แบบเดียวกันก็ตาม

 

กว่ารถจะมาถึง ฉันต้องทนสูดดมควันหลง ที่โชยมาจากสิงห์อมควัน ชายฉกรรจ์ทั้งหลายที่เดินเตร็ดเตร่ในชานชาลา จนมึนหัว เหม็นและมากกว่ากลิ่นจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่จอดอยู่ด้วยซ้ำ

 

โอ้ว่า...ประเทศไทย ชายหนุ่มนักอมควันทั้งหลายของแผ่นดิน ฉันขอขอบคุณที่พวกท่านลดจำนวนลงมาก จนแทบจะหายากในบางพื้นที่ ขอบคุณที่ไม่ก่อมลภาวะจากความสุขแต่เพียงลำพังของท่าน แล้วก่อความทุกข์แก่ส่วนรวมเหมือนผู้ชายประเทศนี้

 

ขอบคุณ ขอบคุณจริงๆ

.................

 

(ขอประทานอภัย ภาพถ่ายไม่สวยเท่าที่ควรจะเป็น เพราะเป็นกล้องป๊อกแป๊ก คนถ่ายก็แป๋แป๋)

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล