Skip to main content

ตอนที่ 5 บันทึกของลูก 

รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ

\\/--break--\>

 

เรื่องการบันทึก แม่จำได้ว่าครั้งหนึ่ง แม่ พ่อ และพี่ปุ้ยอยากรู้ว่าลูกบันทึกอะไรเอาไว้จึงหวงนักหวงหนาไม่ยอมให้ใครแตะต้อง เมื่อลูกลงไปอาบแดดที่ข้างกุฏิ พ่อจึงแอบขึ้นมาเปิดอ่าน ลูกกลับขึ้นมาเห็นบางอย่างที่ผิดสังเกตจึงพูดกับทุกคนด้วยน้ำเสียงดุๆว่า

"เปิดอ่านสมุดบันทึกของป่านใช่ไหม" เราสามคนก้มหน้าซ่อนยิ้ม ด้วยความละอายและบอกลูกว่าขอโทษนะลูก จากนั้นไม่มีใครกล้าแตะสมุดบันทึกของลูกอีกเลย

 

ลูกเริ่มเขียนบันทึกทุกวัน ตั้งแต่อยู่รับการรักษาแบบธรรมชาติบำบัดที่สวนป่านาบุญ อาจเป็นเพราะพ่อซื้อสมุดบันทึกมาให้ โดยที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะจริงจังในการบันทึก การบันทึกนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อมาอยู่ที่วัดป่าภูไม้ฮาว ลูกบันทึกทุกกิจกรรมของการดูแลตัวเองทั้งกายและจิต ยามที่หลวงพ่อมาเยี่ยมและให้ธรรมะ ลูกจะเอาบันทึกให้หลวงพ่ออ่าน ต่อมาหลวงพ่อเห็นว่าลูกชอบอ่านหนังสือธรรมะมาก ท่านจึงเอาหนังสือมาให้ลูกอ่าน แล้วบอกว่าช่วยสรุปให้หลวงพ่อฟังด้วยนะ

นั่นคือภาระกิจของลูกที่ทำอย่างเต็มใจ สมุดบันทึกของลูก จึงมีเพียงหลวงพ่อเท่านั้นที่ได้อ่าน

 

แต่เมื่อลูกจากไปแล้ว ลายมือที่ลูกทิ้งไว้ให้เราดู มีค่านับอนันต์ เพราะนับตั้งแต่วันออกจากโรงพยาบาลรามาฯ พ่อกับแม่คิดว่าต่อไปเราต้องดูแลลูกแบบไม่คลาดสายตา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ป้าน้าอาและคนที่รู้จักคุ้นเคยกับพ่อ แม่ ต่างพากันมาเยี่ยมลูกไม่ขาดสาย ทุกคนที่มาเยี่ยมลูกต่างก็ชมเชยว่า เป็นเรื่องแปลก และทึ่ง ที่ลูกไม่มีความเจ็บปวดเลย บางคนก็สงสาร มีทั้งลุ้นและให้กำลังใจตลอด ญาติ พี่น้องต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลลูก หรือมาเยี่ยมลูก และจากบันทึกของลูกทำให้แม่รู้ว่าเราเองก็อยู่ในการเฝ้าดูของลูกเช่นกัน ทุกคนที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่ใกล้ๆลูกจะบันทึกถึง ไม่เว้นแม้กระทั่งลุงยุทธที่ลูกผูกพันมาตั้งแต่จำความได้ ลูกยังเขียนบันทึกถึงลุงยุทธเพียงแค่ได้ยินพ่อเอ่ยถึง ซึ่งคงมาจากความห่วงใยที่รู้ว่าลุงยุทธป่วยเหมือนตัวเอง ทั้งได้เขียนจดหมายน้อยให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายนั้นด้วย

 

หลายบทของบันทึกลูก บอกให้เรารู้ว่าสภาวะจิตของลูกกำลังก้าวไกลไปอย่างรวดเร็ว อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่มีการดูแลของคนรอบข้างเป็นแรงหนุน ภาพวันเก่าๆเหล่านั้นจึงค่อยๆทยอยเรียงแถวเข้ามาในห้วงสำนึกแม่

 

เราออกมาจากโรงพยาบาลรามาฯ ในเวลาตอนเช้า ถึงจังหวัดมุกดาหารตอนบ่าย แต่เราบอกเส้นทางไปส่วนป่านาบุญที่อำเภอดอนตาล ไม่ใช่โรงพยาบาลในเมือง รถพยาบาลเลี้ยวขวาเข้าไปจอดถึงที่พักสร้างความสงสัยให้กับพยาบาลเป็นอย่างมาก ถามเราว่าทำไมจึงพาลูกมาอยู่ที่นี่ ต่อมาพยาบาลนำตัวลูกลงจากรถพร้อมกับเข็นรถที่ลูกนอนอยู่ พวกเขาเข็นอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ค่อยนุ่มนวลเพราะทางไปที่พักเป็นพื้นขรุขระ แม่กลัวลูกจะเจ็บจึงบอกให้เข็นช้าๆได้ไหม แต่เราเห็นว่าลูกไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้เลย กลับนิ่งเงียบ แม่ต่างหากที่กลัวว่าลูกจะเจ็บ จากการกระทบกระเทือนในการเดินทาง

 

จากวันที่ 16 พฤษภาคม จนถึง วันที่ 6 มิถุนายน 2551 ขณะลูกพักรักษาตัวที่สวนป่านาบุญ พ่อได้บวชอุทิศบุญให้ลูก 3 วัน วันที่ 17 พ.ค. 2551 เป็นวันที่พ่อบวช ลูกอยู่กับแม่และน้านี ตกกลางคืนลูกพูดกับแม่ว่า "หนูคิดถึงพ่อ" พลางร้องไห้ แม่โอบกอดลูกและปลอบใจว่า "พรุ่งนี้คุณพ่อก็มาหาลูกแล้ว" ในวันรุ่งขึ้นลูกได้พบกับพ่อในร่างของนักบวชที่ห่มผ้าเหลือง เพียงเห็นพ่อเดินเข้ามาลูกก็พยุงตัวเองลุกขึ้นจากที่นอนพร้อมกับไหว้หลวงพ่อของลูก น้ำตาแห่งความสุขไหลออกมา เรารู้ว่าลูกอิ่มเอิบใจที่เห็นผ้าเหลืองของพ่ออย่างบอกไม่ถูก ทุกคนที่อยู่ด้วยกัน ก็สุดที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ ระยะที่พ่อบวช ลูกได้ทำบุญตักบาตรกับหลวงพ่อของลูกทุกวัน

 

แม่อ่านบันทึกของลูก และนี่คือบางวันที่สวนป่านาบุญ


3/6/51

ครบรอบสามเดือนในการทำธรรมชาติบำบัด


ตื่น
05.40 . ยกขาข้างละ 10 ครั้ง ยกแขนข้างละ 10 ครั้ง ถ่ายปกติ กินน้ำหนอนฯ กินน้ำนาโน กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น กินข้าวเหนียว (ข้าวเย็น) กับน้ำผึ้ง กินมังคุด กินแตงโม แตงไทย กินลวกผักบุ้ง ดอกฟักทอง

ดู CD, กินข้าว ต้มจืดผัก ตุ๋นข้าวโพด กินน้ำผึ้ง กินธัญพืช (วันนี้พ่อไปส่งน้านีที่สกลฯ อยู่กับแม่สองคน)

ถ่ายอีกหนึ่งครั้ง ก่อนกินผลไม้ ถ่ายปกติดี แม่คืนเงิน 200 บาท แปรงฟัน กินน้ำมะพร้าว กินทองม้วน 2 แท่ง อ่านหนังสือ กินน้ำผึ้งนิดหน่อย เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า กินมันต้ม ฉี่ กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น แม่กดลมปราณให้ นวดหัว นวดตัว นอนหลับ กินธัญพืช กินมังคุด 2 ลูก กินแตงโม กินข้าวเหนียว+ธัญพืช กินมันต้ม ย่ามาหา อ่านหนังสือ สระผม กินธัญพืช กินทองม้วน กินน้ำผึ้ง ย่ายืมเงิน 20 บาท กลับ ยายนีเป็นหนักไม่มีใครดูแล ตานงค์ไปกรุงเทพฯ กินข้าวปิ้งปลานาง ต้มจืดผัก ดู CD Barbie กินมังคุด ฟังเพลง กินน้ำผึ้งกับข้าวเหนียว กินยาทิเบต กินทองม้วน แม่นวดหน้า ขูดซาที่หน้า นอนหลับ กินน้ำผึ้ง กินมัน นั่งรถเข็นดูแม่ทำกับข้าว แช่เท้า อาบน้ำ นั่งรถเข็นประมาณ 30 นาที นานเกินไปจนเหนื่อย นอน แม่นวดให้ ตื่นขึ้นมากินมังคุด พ่อมา เป่าเค้ก ครบรอบสามเดือน ดีใจมาก กินลวกผักบุ้ง อ่อมแซ่บ ดอกฟักทอง ฟักทองอ่อน กินข้าว นึ่งปลานาง ผัดเจ แกงจืดเจ ต้มจืดผัก กินข้าวพร้อมกันสามคน กินซาลาเปาไส้ถั่วเหลืองถั่วแดง 1 อัน พายสับปะรด 1 อัน กินเค้ก(กินแต่ขนมปัง)ช้อนเล็ก(กินน้อยมาก) กินน้ำเขียว กินยาทิเบต นอนหลับ กินมังคุด ตอนดึก ฉี่ 2 ครั้ง ถ่ายเป็นก้อนยาวปกติ 1 ครั้ง ตอน 02.25 .

 

วันนี้เป็นวันที่ประทับใจที่สุด ถึงแม้จะมีแค่เราสามคน และคำอวยพรจากพ่อกับแม่ (ปุ้ยส่งข้อความมาอวยพร) ทำให้มีกำลังที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ต่อไป จะไม่ท้อแท้

 

กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย

เพราะถ้ากายป่วยแล้ว ใจป่วยไปด้วยจะทำให้เราเกิด ความโลภ ความโกรธ และความหลง พ่อบอกว่าโรคของฉันไม่เกี่ยวกับเรื่องเวรกรรมแต่เป็นอุบัติเหตุต่างหาก แต่อันที่จริงถ้าไม่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็คงไม่รู้จักหมอทิเบต ไม่ได้รู้จักยาทิเบต ไม่ได้รู้จักลุงเผือก ไม่รู้จักคนที่ช่วยสวดมนต์ ให้เราเหมือนกัน การไปกรุงเทพฯครั้งนี้ทำให้เรารู้จักสิ่งต่างๆมากมาย สุข-ทุกข์ มาคู่กัน (หมอสุธี ส่งสมุดวาดรูป สีน้ำ ปากกามาให้)

 

ป่าน

วิมุตตา กุณวงษ์

นักสู้ที่ไม่เคยท้อแท้ต่อชะตากรรมชีวิต เพราะมีกำลังใจและอนาคตรออยู่ข้างหน้า...

 

ขอขอบคุณ คุณหมอสุธีเป็นอย่างมากที่มอบสมุดวาดรูปเล่มนี้ให้ป่าน

มันทำให้ป่านได้เขียนความรู้สึกดีๆ วาดรูปดีๆ

และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป

 

นี่คือบันทึกที่ทำให้แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่เด็กอ่อนแอ ไม่ใช่คนป่วยที่น่าสงสาร ลูกดูแลอารมณ์ตัวเองได้ แม้บางครั้งในตอนนั้น ลูกยังมีอาการหงุดหงิดบ้าง แต่มันก็สงบลงด้วยปัญญาของลูก

 

บางตอนของเรื่องอารมณ์ ในระยะแรกๆที่ออกมารักษาตัวที่สวนป่านาบุญ

 

ด้านอารมณ์

วันนี้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด โมโห ไม่พูด รำคาญทุกคน

ไม่สามารถระงับความโกรธได้ แสดงว่าใจป่วยแล้ว เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ใจป่วย

จะทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่เสมอ

จน แปลว่า ไม่มี มิใช่ทุกข์

รวย แปลว่า มีเยอะ มิใช่สุข

ชนะ แปลว่า ไม่แพ้ มิใช่สุข

เจริญ แปลว่า มีมากขึ้น มิใช่สุข

เติบโต แปลว่า ยิ่งใหญ่ขึ้น มิใช่สุข

เก่ง แปลว่า รู้มาก มิใช่สุข

 

ความสุขที่แท้จริง คือ ความไม่มีทุกข์

ความไม่มีทุกข์ที่แท้จริง คือ ความอิสระ

 

ความท้อแท้เบื่อหน่าย เป็นคนตายหมดอายุ

ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนา

การรู้จักทำใจ เมื่อไม่สมปรารถนาต่างหาก เป็นความสุข

 

มีบางวันที่ลูกยังคิดถึงโรงเรียนของลูก บอกกับแม่ว่า"ป่านอยากเรียนหนังสือ" พร้อมกับน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
แม่กอดลูกไว้ ปลอบใจลูกว่า "เอาไว้ให้ลูกหายก่อนแล้วค่อยเรียนนะ ลูกเรียนเก่งอยู่แล้วยังไงก็เรียนทันเพื่อนแน่นอน"

น้ำตาของแม่ไหลพร่าง ต้องรีบเปือนหน้าซ่อนมันไว้ไม่ให้ลูกเห็น

"แล้วแม่จะซื้อหนังสือ ม. 1 มาให้ลูกอ่านนะลูกจะได้เรียนทันเพื่อนๆ"

 

ลูกแม่ กว่าที่แม่จะกล้าเปิดบันทึกของลูกออกอ่านได้จนจบ แม่ต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างยิ่งยวด ส่วนพ่อนั้นเล่า แค่เห็นสมุดบันทึกของลูกวางอยู่ตรงหน้า น้ำตาก็ร่วงพรูแล้ว พ่อร้องไห้กับเรื่องราวของลูกบ่อยครั้งและง่ายดายยิ่งกว่าแม่ คงจะจริงของพ่อ ที่บอกกับใครๆว่า ลูกคนนี้รักผมมาก ผมก็รักเขามาก เขามีความรู้สึกนึกคิดเหมือนผม แต่สำหรับแม่ ความรักที่แม่มี ใครจะรู้ดีไปกว่าแม่ จริงไหม...ลูกแม่

 

"ป่านจะได้ไปอยู่กับหลวงพ่อเมื่อไหร่จ๊ะแม่" ลูกเฝ้าถามแม่ แม่ยังไม่กล้าตอบ เพราะว่าร่างกายของลูกยังอ่อนแอมาก แต่ด้วยความเข้าใจในแรงปรารถนาของลูก วันที่ 5 มิถุนายน พ่อจึงได้เดินทางไปวัดป่าภูไม้ฮาว เพื่อดูที่พัก ได้ไปกราบหลวงพ่อ ท่านบอกว่ามีกุฏิว่างด้านทิศตะวันตกอยู่ติดหน้าผา มีความเป็นสัดส่วนสะดวกสบายตามสมควร

 

เราจึงเตรียมพาลูกขึ้นไปอยู่วัด ในวันที่ 6 มิถุนายน นั้นเอง

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร