Skip to main content

ตอนที่ 5 บันทึกของลูก 

รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ

\\/--break--\>

 

เรื่องการบันทึก แม่จำได้ว่าครั้งหนึ่ง แม่ พ่อ และพี่ปุ้ยอยากรู้ว่าลูกบันทึกอะไรเอาไว้จึงหวงนักหวงหนาไม่ยอมให้ใครแตะต้อง เมื่อลูกลงไปอาบแดดที่ข้างกุฏิ พ่อจึงแอบขึ้นมาเปิดอ่าน ลูกกลับขึ้นมาเห็นบางอย่างที่ผิดสังเกตจึงพูดกับทุกคนด้วยน้ำเสียงดุๆว่า

"เปิดอ่านสมุดบันทึกของป่านใช่ไหม" เราสามคนก้มหน้าซ่อนยิ้ม ด้วยความละอายและบอกลูกว่าขอโทษนะลูก จากนั้นไม่มีใครกล้าแตะสมุดบันทึกของลูกอีกเลย

 

ลูกเริ่มเขียนบันทึกทุกวัน ตั้งแต่อยู่รับการรักษาแบบธรรมชาติบำบัดที่สวนป่านาบุญ อาจเป็นเพราะพ่อซื้อสมุดบันทึกมาให้ โดยที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะจริงจังในการบันทึก การบันทึกนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อมาอยู่ที่วัดป่าภูไม้ฮาว ลูกบันทึกทุกกิจกรรมของการดูแลตัวเองทั้งกายและจิต ยามที่หลวงพ่อมาเยี่ยมและให้ธรรมะ ลูกจะเอาบันทึกให้หลวงพ่ออ่าน ต่อมาหลวงพ่อเห็นว่าลูกชอบอ่านหนังสือธรรมะมาก ท่านจึงเอาหนังสือมาให้ลูกอ่าน แล้วบอกว่าช่วยสรุปให้หลวงพ่อฟังด้วยนะ

นั่นคือภาระกิจของลูกที่ทำอย่างเต็มใจ สมุดบันทึกของลูก จึงมีเพียงหลวงพ่อเท่านั้นที่ได้อ่าน

 

แต่เมื่อลูกจากไปแล้ว ลายมือที่ลูกทิ้งไว้ให้เราดู มีค่านับอนันต์ เพราะนับตั้งแต่วันออกจากโรงพยาบาลรามาฯ พ่อกับแม่คิดว่าต่อไปเราต้องดูแลลูกแบบไม่คลาดสายตา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ป้าน้าอาและคนที่รู้จักคุ้นเคยกับพ่อ แม่ ต่างพากันมาเยี่ยมลูกไม่ขาดสาย ทุกคนที่มาเยี่ยมลูกต่างก็ชมเชยว่า เป็นเรื่องแปลก และทึ่ง ที่ลูกไม่มีความเจ็บปวดเลย บางคนก็สงสาร มีทั้งลุ้นและให้กำลังใจตลอด ญาติ พี่น้องต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลลูก หรือมาเยี่ยมลูก และจากบันทึกของลูกทำให้แม่รู้ว่าเราเองก็อยู่ในการเฝ้าดูของลูกเช่นกัน ทุกคนที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่ใกล้ๆลูกจะบันทึกถึง ไม่เว้นแม้กระทั่งลุงยุทธที่ลูกผูกพันมาตั้งแต่จำความได้ ลูกยังเขียนบันทึกถึงลุงยุทธเพียงแค่ได้ยินพ่อเอ่ยถึง ซึ่งคงมาจากความห่วงใยที่รู้ว่าลุงยุทธป่วยเหมือนตัวเอง ทั้งได้เขียนจดหมายน้อยให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายนั้นด้วย

 

หลายบทของบันทึกลูก บอกให้เรารู้ว่าสภาวะจิตของลูกกำลังก้าวไกลไปอย่างรวดเร็ว อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่มีการดูแลของคนรอบข้างเป็นแรงหนุน ภาพวันเก่าๆเหล่านั้นจึงค่อยๆทยอยเรียงแถวเข้ามาในห้วงสำนึกแม่

 

เราออกมาจากโรงพยาบาลรามาฯ ในเวลาตอนเช้า ถึงจังหวัดมุกดาหารตอนบ่าย แต่เราบอกเส้นทางไปส่วนป่านาบุญที่อำเภอดอนตาล ไม่ใช่โรงพยาบาลในเมือง รถพยาบาลเลี้ยวขวาเข้าไปจอดถึงที่พักสร้างความสงสัยให้กับพยาบาลเป็นอย่างมาก ถามเราว่าทำไมจึงพาลูกมาอยู่ที่นี่ ต่อมาพยาบาลนำตัวลูกลงจากรถพร้อมกับเข็นรถที่ลูกนอนอยู่ พวกเขาเข็นอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ค่อยนุ่มนวลเพราะทางไปที่พักเป็นพื้นขรุขระ แม่กลัวลูกจะเจ็บจึงบอกให้เข็นช้าๆได้ไหม แต่เราเห็นว่าลูกไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้เลย กลับนิ่งเงียบ แม่ต่างหากที่กลัวว่าลูกจะเจ็บ จากการกระทบกระเทือนในการเดินทาง

 

จากวันที่ 16 พฤษภาคม จนถึง วันที่ 6 มิถุนายน 2551 ขณะลูกพักรักษาตัวที่สวนป่านาบุญ พ่อได้บวชอุทิศบุญให้ลูก 3 วัน วันที่ 17 พ.ค. 2551 เป็นวันที่พ่อบวช ลูกอยู่กับแม่และน้านี ตกกลางคืนลูกพูดกับแม่ว่า "หนูคิดถึงพ่อ" พลางร้องไห้ แม่โอบกอดลูกและปลอบใจว่า "พรุ่งนี้คุณพ่อก็มาหาลูกแล้ว" ในวันรุ่งขึ้นลูกได้พบกับพ่อในร่างของนักบวชที่ห่มผ้าเหลือง เพียงเห็นพ่อเดินเข้ามาลูกก็พยุงตัวเองลุกขึ้นจากที่นอนพร้อมกับไหว้หลวงพ่อของลูก น้ำตาแห่งความสุขไหลออกมา เรารู้ว่าลูกอิ่มเอิบใจที่เห็นผ้าเหลืองของพ่ออย่างบอกไม่ถูก ทุกคนที่อยู่ด้วยกัน ก็สุดที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ ระยะที่พ่อบวช ลูกได้ทำบุญตักบาตรกับหลวงพ่อของลูกทุกวัน

 

แม่อ่านบันทึกของลูก และนี่คือบางวันที่สวนป่านาบุญ


3/6/51

ครบรอบสามเดือนในการทำธรรมชาติบำบัด


ตื่น
05.40 . ยกขาข้างละ 10 ครั้ง ยกแขนข้างละ 10 ครั้ง ถ่ายปกติ กินน้ำหนอนฯ กินน้ำนาโน กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น กินข้าวเหนียว (ข้าวเย็น) กับน้ำผึ้ง กินมังคุด กินแตงโม แตงไทย กินลวกผักบุ้ง ดอกฟักทอง

ดู CD, กินข้าว ต้มจืดผัก ตุ๋นข้าวโพด กินน้ำผึ้ง กินธัญพืช (วันนี้พ่อไปส่งน้านีที่สกลฯ อยู่กับแม่สองคน)

ถ่ายอีกหนึ่งครั้ง ก่อนกินผลไม้ ถ่ายปกติดี แม่คืนเงิน 200 บาท แปรงฟัน กินน้ำมะพร้าว กินทองม้วน 2 แท่ง อ่านหนังสือ กินน้ำผึ้งนิดหน่อย เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า กินมันต้ม ฉี่ กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น แม่กดลมปราณให้ นวดหัว นวดตัว นอนหลับ กินธัญพืช กินมังคุด 2 ลูก กินแตงโม กินข้าวเหนียว+ธัญพืช กินมันต้ม ย่ามาหา อ่านหนังสือ สระผม กินธัญพืช กินทองม้วน กินน้ำผึ้ง ย่ายืมเงิน 20 บาท กลับ ยายนีเป็นหนักไม่มีใครดูแล ตานงค์ไปกรุงเทพฯ กินข้าวปิ้งปลานาง ต้มจืดผัก ดู CD Barbie กินมังคุด ฟังเพลง กินน้ำผึ้งกับข้าวเหนียว กินยาทิเบต กินทองม้วน แม่นวดหน้า ขูดซาที่หน้า นอนหลับ กินน้ำผึ้ง กินมัน นั่งรถเข็นดูแม่ทำกับข้าว แช่เท้า อาบน้ำ นั่งรถเข็นประมาณ 30 นาที นานเกินไปจนเหนื่อย นอน แม่นวดให้ ตื่นขึ้นมากินมังคุด พ่อมา เป่าเค้ก ครบรอบสามเดือน ดีใจมาก กินลวกผักบุ้ง อ่อมแซ่บ ดอกฟักทอง ฟักทองอ่อน กินข้าว นึ่งปลานาง ผัดเจ แกงจืดเจ ต้มจืดผัก กินข้าวพร้อมกันสามคน กินซาลาเปาไส้ถั่วเหลืองถั่วแดง 1 อัน พายสับปะรด 1 อัน กินเค้ก(กินแต่ขนมปัง)ช้อนเล็ก(กินน้อยมาก) กินน้ำเขียว กินยาทิเบต นอนหลับ กินมังคุด ตอนดึก ฉี่ 2 ครั้ง ถ่ายเป็นก้อนยาวปกติ 1 ครั้ง ตอน 02.25 .

 

วันนี้เป็นวันที่ประทับใจที่สุด ถึงแม้จะมีแค่เราสามคน และคำอวยพรจากพ่อกับแม่ (ปุ้ยส่งข้อความมาอวยพร) ทำให้มีกำลังที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ต่อไป จะไม่ท้อแท้

 

กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย

เพราะถ้ากายป่วยแล้ว ใจป่วยไปด้วยจะทำให้เราเกิด ความโลภ ความโกรธ และความหลง พ่อบอกว่าโรคของฉันไม่เกี่ยวกับเรื่องเวรกรรมแต่เป็นอุบัติเหตุต่างหาก แต่อันที่จริงถ้าไม่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็คงไม่รู้จักหมอทิเบต ไม่ได้รู้จักยาทิเบต ไม่ได้รู้จักลุงเผือก ไม่รู้จักคนที่ช่วยสวดมนต์ ให้เราเหมือนกัน การไปกรุงเทพฯครั้งนี้ทำให้เรารู้จักสิ่งต่างๆมากมาย สุข-ทุกข์ มาคู่กัน (หมอสุธี ส่งสมุดวาดรูป สีน้ำ ปากกามาให้)

 

ป่าน

วิมุตตา กุณวงษ์

นักสู้ที่ไม่เคยท้อแท้ต่อชะตากรรมชีวิต เพราะมีกำลังใจและอนาคตรออยู่ข้างหน้า...

 

ขอขอบคุณ คุณหมอสุธีเป็นอย่างมากที่มอบสมุดวาดรูปเล่มนี้ให้ป่าน

มันทำให้ป่านได้เขียนความรู้สึกดีๆ วาดรูปดีๆ

และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป

 

นี่คือบันทึกที่ทำให้แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่เด็กอ่อนแอ ไม่ใช่คนป่วยที่น่าสงสาร ลูกดูแลอารมณ์ตัวเองได้ แม้บางครั้งในตอนนั้น ลูกยังมีอาการหงุดหงิดบ้าง แต่มันก็สงบลงด้วยปัญญาของลูก

 

บางตอนของเรื่องอารมณ์ ในระยะแรกๆที่ออกมารักษาตัวที่สวนป่านาบุญ

 

ด้านอารมณ์

วันนี้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด โมโห ไม่พูด รำคาญทุกคน

ไม่สามารถระงับความโกรธได้ แสดงว่าใจป่วยแล้ว เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ใจป่วย

จะทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่เสมอ

จน แปลว่า ไม่มี มิใช่ทุกข์

รวย แปลว่า มีเยอะ มิใช่สุข

ชนะ แปลว่า ไม่แพ้ มิใช่สุข

เจริญ แปลว่า มีมากขึ้น มิใช่สุข

เติบโต แปลว่า ยิ่งใหญ่ขึ้น มิใช่สุข

เก่ง แปลว่า รู้มาก มิใช่สุข

 

ความสุขที่แท้จริง คือ ความไม่มีทุกข์

ความไม่มีทุกข์ที่แท้จริง คือ ความอิสระ

 

ความท้อแท้เบื่อหน่าย เป็นคนตายหมดอายุ

ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนา

การรู้จักทำใจ เมื่อไม่สมปรารถนาต่างหาก เป็นความสุข

 

มีบางวันที่ลูกยังคิดถึงโรงเรียนของลูก บอกกับแม่ว่า"ป่านอยากเรียนหนังสือ" พร้อมกับน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
แม่กอดลูกไว้ ปลอบใจลูกว่า "เอาไว้ให้ลูกหายก่อนแล้วค่อยเรียนนะ ลูกเรียนเก่งอยู่แล้วยังไงก็เรียนทันเพื่อนแน่นอน"

น้ำตาของแม่ไหลพร่าง ต้องรีบเปือนหน้าซ่อนมันไว้ไม่ให้ลูกเห็น

"แล้วแม่จะซื้อหนังสือ ม. 1 มาให้ลูกอ่านนะลูกจะได้เรียนทันเพื่อนๆ"

 

ลูกแม่ กว่าที่แม่จะกล้าเปิดบันทึกของลูกออกอ่านได้จนจบ แม่ต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างยิ่งยวด ส่วนพ่อนั้นเล่า แค่เห็นสมุดบันทึกของลูกวางอยู่ตรงหน้า น้ำตาก็ร่วงพรูแล้ว พ่อร้องไห้กับเรื่องราวของลูกบ่อยครั้งและง่ายดายยิ่งกว่าแม่ คงจะจริงของพ่อ ที่บอกกับใครๆว่า ลูกคนนี้รักผมมาก ผมก็รักเขามาก เขามีความรู้สึกนึกคิดเหมือนผม แต่สำหรับแม่ ความรักที่แม่มี ใครจะรู้ดีไปกว่าแม่ จริงไหม...ลูกแม่

 

"ป่านจะได้ไปอยู่กับหลวงพ่อเมื่อไหร่จ๊ะแม่" ลูกเฝ้าถามแม่ แม่ยังไม่กล้าตอบ เพราะว่าร่างกายของลูกยังอ่อนแอมาก แต่ด้วยความเข้าใจในแรงปรารถนาของลูก วันที่ 5 มิถุนายน พ่อจึงได้เดินทางไปวัดป่าภูไม้ฮาว เพื่อดูที่พัก ได้ไปกราบหลวงพ่อ ท่านบอกว่ามีกุฏิว่างด้านทิศตะวันตกอยู่ติดหน้าผา มีความเป็นสัดส่วนสะดวกสบายตามสมควร

 

เราจึงเตรียมพาลูกขึ้นไปอยู่วัด ในวันที่ 6 มิถุนายน นั้นเอง

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล