Skip to main content
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น

\\/--break--\>

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ ที่ไม่มีในบันทึกที่เป็นตัวอักษร แต่บันทึกไว้เป็นเสียง คือคำสอนของหลวงพ่อ ที่ลูกแอบบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือของลูก จนหลวงพ่อแซวว่า ความลับแตก เสียงคำสอนที่ลูกเปิดฟังซ้ำๆ ในวันก่อนๆ แม่ไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อแม่ได้ฟังอีกครั้งอย่างตั้งใจ ในเวลาที่ไม่มีลูกอยู่ข้างๆแล้ว ทำให้แม่กระจ่างชัดถึงคำว่าการรักษาของหลวงพ่อนั้น คือสิ่งใด

 

ทุกวัน เวลาสายๆ ลูกจะนอนหลับตานิ่งเงียบยาวนาน บอกว่ากำลังภาวนาเปิดร่างกายให้หมอเทวดามารักษาตามวิธีการของหลวงพ่อ

 

"วิธีการที่จะรักษาตัวเองอย่างธรรมชาติที่แท้จริง เราจะต้องทำร่างกายของเราให้เป็นธรรมชาติ ต้องไม่มีเรา เราต้องวางจิตลงไปให้ได้ ร่างกายนี่ เราวางได้ง่าย เพราะเราเห็นคนตายเรารู้แล้วว่าคนตายต้องเผาทิ้ง แต่จิตนี่เรายังเห็นเป็นเราอยู่ เพราะถ้าไม่ใช่เราแล้วใครนึกใครคิด ทำไมมันคิดได้ ทำไมหงุดหงิดได้ ทำไมรำคาญได้ อันนี้ นี่ เพราะจิตเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านรู้ความลับอันนี้ ซึ่งน้อยคนที่จะรู้ได้ ท่านรู้ว่าจิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง นึกคิดปรุงแต่งได้จริง แต่มันเป็นกระบวนทางจิต เป็นกระบวนการทางนามธรรม เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง มันนึกคิดได้ตามธรรมชาติของมันเอง เราต่างหากที่ไปขี้ตู่ว่ามันเป็นเรา เหมือนที่เราตู่ว่า ร่างกายเป็นของเรา ตู่ว่าปากกาเป็นของเรา เอานู่น เอานี่มาเป็นของเรา จริงๆแล้วเป็นธรรมชาติที่เอามาสำหรับใช้สอย สมมุติเอาว่าเป็นของเรา สิทธิ์ของเรา โดยทางโลกยอมรับกัน ว่าอันนั้นเป็นของคนนั้น อันนี้เป็นของคนนี้ เพื่อไม่ให้ก้าวก่ายยุ่งเหยิงวุ่นวาย แต่ความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างเป็นของธรรมชาติหมดเลย ต้นไม้ก็อยู่ตามธรรมชาติ ที่เอามาทำบ้านทำเรือนก็เอามาจากธรรมชาติโน่น แต่เราก็ไปตู่ว่าเป็นของเรา บ้านเป็นของเราก็จริง แต่เป็นจริงโดยสมมุติ มีข้อตกลงกันว่า ใครสร้างมันขึ้นมาคนนั้นมีสิทธิ์อยู่อาศัย สมมุติเรียกว่าบ้านของคนนั้น แต่มันไม่ได้เป็นของคนนั้นตลอดไป พอถึงเวลามันก็ผุพังไป สลายไป ยึดมันเอาไว้ไม่ได้ ร่างกายก็เหมือนกัน มันมาตามธรรมชาติ ถึงเราจะเกิดมาจากพ่อแม่ อาศัยธาตุพ่อธาตุแม่ มีจิตวิญญาณมาอาศัยอยู่ อาศัยอาหารตามธรรมชาติมาหล่อเลี้ยง แล้วมันก็เจริญเติบโตมาเพราะมันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เรียกว่า ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟจากข้างนอกมาหล่อเลี้ยงที่สมมุติว่าเป็นร่างของเรา สมมุติเรียกว่า หนัง ขน เล็บ กระดูก


สมมุติที่เรียกว่าเป็นร่างกายของเราแค่ไหน ถ้าจิตมันแจ้งชัด มันจะไม่หลงยึดว่าเป็นกายเรา เป็นของเรา ส่วนจิตใจอันนี้ ต้องอาศัยสมาธิ คอยสังเกตดูใจบ่อยๆ ว่ามันเกิดขึ้นเอง แล้วก็ดับไปเองตลอดเวลา เราอย่าไปตู่ว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา ความโกรธมันไม่ใช่เรา ไม่ได้เป็นของเรา เป็นเพียงแค่อารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป ห้ามไม่ให้โกรธ ไม่ได้ มันเกิดเอง เมื่อกระทบกับสิ่งที่ไม่ถูกใจ มันก็กระทบกระเทือนทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง เกิดสังขารประเภทหนึ่ง คืออาการไม่ได้ดั่งใจ ไม่ตรงกับความรู้สึก ถ้าเราควบคุมได้จริงจะทัน ทันที ว่า อ้อ คือธรรมชาติ ทุกอย่างจะเข้าไปสู่ธรรมชาติทั้งหมด


ถ้าเรารู้ทันกระบวนการทางธรรมชาติฝ่ายนามธรรม เราจะไม่เป็นทุกข์ พอไม่เป็นทุกข์ ร่างกายจะอยู่ตามธรรมชาติของมัน ใจก็อยู่ตามธรรมชาติ ทีนี้มันจะปรับสมดุลภายในกายในจิตเรา มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน เพราะเราไม่ได้เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง

 

ความไม่สบาย ถ้าอยากจะหาย ก็ไม่ถูกอีก เพราะใจไม่อยู่ในอำนาจของเราแล้ว เหมือนกับว่ายังมีเรา เพราะเราอยากหาย ไม่อยากเจ็บป่วย แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนอย่างนั้น ท่านบอกว่า เรามีหน้าที่เข้ามารักษาจิตของเราเอาไว้ ให้มันรู้ความจริงเสีย ส่วนความป่วยมันจะหายหรือไม่ อันนั้นเป็นธรรมชาติ


ดูสิ พระพุทธเจ้าท่านละเอียดกว่าเรานะ เรานี่ยังหยาบ ยังอยากจะหาย ไม่อยากจะป่วย แต่ต้องรักษาไหม ก็ต้องรักษา เพราะว่าเราอาศัยร่างกายนี้อยู่ เราก็ต้องรับผิดชอบร่างกายของเรา เหมือนเรามีบ้านนี่ ถ้ามันรั่วเราก็ต้องซ่อม ถ้าใครไม่ซ่อมบ้านก็โง่น่ะซี ปล่อยให้มันผุพัง ฝนตกลงมาแล้วก็รั่ว กลายเป็นคนขี้เกียจ กลายเป็นคนไม่เอาถ่าน ไม่มีสติปัญญาไป มันต้องมีความรับผิดชอบที่จะซ่อม ซ่อมเองไม่ได้ก็ต้องให้ช่างมาซ่อม เหมือนเราเป็นไข้ รักษาเองไม่ได้ก็ต้องให้หมอรักษา


ควรกินยา ก็ต้องกิน ควรกินอาหารก็ต้องกิน เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องดูแลร่างกาย แต่เวลารักษานี่ เราก็อยากจะหาย ทุกคนอยากจะหาย แต่ให้รู้ว่า ถ้าเราอยากจะหายเราต้องไม่กระวนกระวาน เราทำเหตุให้ถูกต้อง ส่วนจะหายหรือไม่นั้น ให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ อันนี้ เราจะไม่ทุกข์อีกแบบหนึ่ง เพราะเราน่ะอยากจะหายล่ะ แต่เรามาดูเหตุว่า ทำอย่างไรจึงน่าจะดีขึ้น ทำอย่างไรนะ จึงจะดีได้ เราเอาหลักของพระพุทธเจ้าเข้ามา มารักษาจิตเอาไว้ ไม่ให้มันยินดียินร้าย นี่ล่ะ เข้ามาหาจิตตรงนี้ไว้


ที่นี้ พอเรารู้หลักของจิตแล้ว รักษาจิตเอาไว้ให้สมดุล ถ้าจิตมันสมดุล ร่างกายก็สมดุลด้วย ธาตุต่างๆก็จะอยู่ไปตามหน้าที่ของมัน หน้าที่ของเราคือ ปรับสมดุลในจิต รักษาสมดุลที่แท้ภายในจิต นี่แหละที่ท่านเรียกว่า "มัฌชิมาปฏิปทา" ทางสายกลาง สายกลางตรงไหน กลางที่จิตของเรา ที่มีความสมดุล มันพอดีก็พอดีที่จิตเรา ถ้าหากจิตมันปรับไม่ได้ มันก็พอดีไม่ได้ เดี๋ยวมันจะเอานั่นเอานี่ กลัวไม่หาย กลัวเป็นมาก กังวลว่าวันนี้ดี พรุ่งนี้อาจจะไม่ดี


เราต้องพร้อมที่จะยอมรับสภาพ แต่ทีนี้ การที่จะทำให้ได้ดีขึ้นมา ยา เราก็รับประทานแล้ว อาหารเราก็รับประทานแล้ว บริหารร่างกายแล้ว ทำให้ถูกต้องทุกอย่างแล้ว ทีนี้ ในนามธรรม ในสิ่งแวดล้อมที่เรามองไม่เห็น ต้องอาศัยจิตของเราเป็นกุศลที่สูงที่สุด คือการปฏิบัติธรรม


นี่... การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า คือการที่เรามีสติสัมปชัญญะ รู้ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จิตสามารถรักษาสมดุล ปล่อยวาง ให้กายกับจิตเป็นธรรมชาติ อยู่ตามธรรมชาติ ถ้าเราทำได้จริง

นี่แหละ สภาวะทางจิตใจ เราจะลึกซึ้ง เราจะแน่ใจว่า เป็นอันเดียวกับธรรมชาติ นี่..มันจะเข้าหาธรรมชาติแล้วนะนี่ ธรรมชาติที่มองไม่เห็น แต่จะรู้ จะเข้าใจ รับได้ สัมผัสได้ เขาก็จะมาช่วยเรา เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นธรรมชาติอันเดียวกัน จึงจะเข้ามาหากันได้

 

นี่ล่ะ...มันมีความลึกซึ้งอย่างนี้ เพราะฉะนั้น วิธีการของเรานี่ เรารักษาโดยวิธีการธรรมชาติ แต่เป็นธรรมชาติทางร่างกาย ก็รักษาด้วยยา อาหาร บริหาร ทีนี้ด้านจิตใจเราเอาธรรมะของพระพุทธเจ้า เอาความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้มาก่อน ท่านประทานคำสอนเอาไว้ ถ่ายทอดมาถึงเรา ทีนี้เราก็ตั้งใจปฏิบัติปรับสมดุลภายในจิตยอมรับความจริงตามธรมชาติ ปล่อยวางทุกอย่างตามธรรมชาติ แม้กระทั่งจิตก็ปล่อยวางอย่างเป็นธรรมชาติ เมื่อวางจิตแล้ว ทุกอย่างก็อยู่ของมันตามธรรมชาติของมันเอง

 

ที่นี้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายนี่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ต้องอาศัยบุญ มีอำนาจของบุญเป็นพลัง คนเราจะเกิดได้ก็เพราะบุญ มีบุญกับบาปเป็นสิ่งกำหนด เวลาบุญให้ผลก็เป็นอย่างหนึ่ง เวลาฝ่ายบาปให้ผลก็เป็นอย่างหนึ่ง ทีนี้...พระพุทธเจ้าท่านก็เปรียบเทียบให้ฟัง เรื่อง ทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายดีที่สูงที่สุด เพราะทำให้จิตของเรานี่สะอาดบริสุทธิ์ได้ เมื่อใครปฏิบัติธรรม สำรวมกาย วาจา ใจ ได้ดี กุศลก็แรงขึ้น บุญก็มาก เมื่อมีกุศลแล้วเราก็แผ่บุญไปถึงธรรมชาติที่มาช่วยรักษาเรา ด้วยจิตที่เป็นกลางนะ ไม่ใช่ด้วยความอยากที่จะหาย จิตต้องปล่อยวางเป็นกลางๆ  ข้างในพยายามปล่อยวาง วางกาย วางจิต กายรู้วางแล้ว แต่จิตมันวางยาก เราต้องพยายามให้มีสติต่อเนื่องเรื่อยไป สติสำคัญที่สุดเลย สติจะเพิ่มได้ยังไง เกิดขึ้นได้จากการทำ สติอ่อนๆ เป็นทางให้มีสติมากขึ้น สติกลางๆเป็นทางทำให้จิตมีพลัง สติที่เข้มแข็งเกิดขึ้น กลายเป็นมหาสติ ควบคุมจิตได้ จิตจะเข้าไปหาความจริง คือ กาย สักแต่ว่ากาย จิต สักแต่ว่าจิต นี่คือความจริงที่เราต้องการ เรียกว่าเห็นความจริง เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป จิตของเราจะไม่เป็นกังวล มันต้องเห็นด้วยจิต ลึกซึ้งอยู่ในจิต แจ้งชัดตามความเป็นจริงอยู่ในจิต นี่ล่ะ เป็นเหตุให้เราจะต้องเจริญสติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

 

ส่วนอย่างอื่น เมื่อเราทำถูกต้องแล้ว หมดทุกอย่างแล้ว หายก็เอา ไม่หายก็เอา ไม่ยินดีไม่ยินร้าย นี่ล่ะ หลักธรรมที่จะเข้ามาหาจิตเรา ทีนี้ก็พิสูจน์สิว่า ระหว่างกรรมดีกับกรรมไม่ดีของเรา อันไหนจะให้ผลมากกว่ากัน...นี่ นี่แหละ คือการรักษาด้วยวิธีธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดแต่เรื่องธรรมชาติฝ่ายรูป ยานั่น ยานี่ อาหารชนิดนั้น ชนิดนี้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมตรงนั้นตรงนี้ แต่พระพุทธเจ้าสูงขึ้นมากว่านั้น ด้วยการให้รักษาจิตเป็นธรรมชาติ ไม่เข้าไปหลงยึดว่าอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับจิต เป็นตัวเราเป็นของเรา สักแต่ว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราไม่หลงยินดียินร้าย

 

ทีนี้เมื่อเวลาจิตเราสงบ เราให้บุญได้ เวลาเราออกจากสมาธิ เรามีจิตสงบถือว่าเป็นกุศล มีพลังมาก ฝ่ายที่อยู่สูงเขาจะรับพลังนี้ได้ เราก็อุทิศบุญนี้ไป ยกบุญให้ โดยเฉพาะผู้ที่เต็มใจมาช่วยเรา เราอุทิศบุญให้ เขาก็จะมาช่วยเรา เราก็ปล่อยวางความอยาก อยากที่จะหาย ความไม่อยากจะเป็นเราก็วางลง ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถรักษาความพอดีในจิตเราได้ ไม่สามารถรักษาสมดุลของร่างกาย ของจิตใจได้ เรียกว่า เราต้องมาปรับที่จิตของเรา

 

ในเมื่อความจริงก็คือความจริง ร่างกายไม่ใช่ของเราแน่ๆ เข้าใจแล้วทีนี้ คราวนี้มาเข้าใจเรื่องจิตอีกอย่างหนึ่ง เข้าใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ล่ะกระบวนการฝ่ายนามธรรม

 

เวลาอะไรมากระทบใจปุ๊บ มันเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณจิต ถ้ากระทบแล้วรู้สึกสบาย เราก็จะพอใจ ถ้าไม่สบาย เราก็จะไม่พอใจ ถ้าเรารู้ทันก็จะไม่เป็นไร แค่รู้ว่าสบาย หรือไม่สบาย แต่ถ้าไม่สบาย แล้วเราอยากให้หายไป ด้วยความไม่ชอบใจ มันจะเปลี่ยนโทสะ ขัดข้องภายในจิต เราจะต้องรู้ทันภายในจิต ที่อธิบายให้ฟังหมายถึงว่า กระบวนการฝ่ายจิตมันเกิดขึ้นได้ เวลาเราไปเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม กระทบปั๊บมันเกิดวิญญาณหนึ่งรับรู้ รู้แจ้งในอารมณ์ปั๊บ มันจะเกิดขึ้นในกระบวนการนี้อย่างเป็นธรรมชาติ เราห้ามไม่ได้เลย เราต้องมีสติดูใจเราไปเรื่อยๆ จึงจะทันมัน เมื่อทันแล้วสิ่งเหล่านี้ด็จะดับ มันจะไม่มีผลอะไรต่อจิต แต่ถ้าเราไม่ทัน มันมีผลเกิดเป็นเราขึ้นมา เกิดความชอบใจ เกิดความอยากได้ มันก็ปรุงแต่งในทางจะเอา อยากได้ อยากมี อยากเอา

 

ถ้าสติเราอ่อน มันก็ปรุงมาก แต่ถ้าสติแข็ง มันก็ปรุงน้อย ดับได้เร็วขึ้น ดับได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ถ้าสติรู้ทันอารมณ์ได้ตลอด มันก็จะว่างจากอารมณ์ แต่พอเผลอมันก็มีบ้าง ก็แล้วไป ไม่เป็นไร เพราะเรายังอยู่ในขั้นฝึกอบรมอยู่ เหมือนความโกรธ ที่เกิดขึ้นมา มันก็ปรุงแต่งไปอีกแบบหนึ่ง ก็ให้รู้ทันความคิดของเราเอง ที่เรียกว่าทันกระบวนการความคิด รู้จักกระบวนการฝ่ายนาม เราก็สามารถวางจิตให้อยู่ตามธรรมชาติของมัน

 

เวลา 18 กว่านาที ที่หลวงพ่อสอนลูก ด้วยหลักธรรมที่ลึกซึ้ง นั่นเป็นเพียงครั้งเดียว ในวันเดียว ตลอดเวลาที่ลูกอยู่ที่วัด ถ้าท่านไม่ได้รับนิมนต์ไปไหน ไม่มีเลยสักวันที่ท่านจะไม่มาโปรดลูก และมอบสิ่งที่ดีงามล้ำค่านั้นให้แก่ลูกของแม่

 

และท่อนสุดท้ายในเสียงที่บันทึก ท่านกล่าวว่า...

"เอาล่ะ หลวงพ่อจะไม่พูดอะไรแล้วนะ ทำสมาธินะ แล้วหลวงพ่อจะประคองจิตให้"

นั่นคือที่มาของ "การเปิดร่างกายให้เทวดามารักษา" ที่ลูกเขียนไว้ในวันต่อๆมา

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร