Skip to main content
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล
\\/--break--\>

คุณกำลังดูแลคนที่คุณรักด้วยวิธีการไหนคะ

กรณีของแม่ชีน้อย เธอเลือกจากใจที่เปี่ยมศรัทธา และหาใช่วิธีการรักษาในทางกายไม่ แต่บังเอิญโชคดี ที่เธอมีครอบครัวอันเป็นที่รักคอยหนุนช่วยทางด้านการรักษาร่างกายไปพร้อมๆกัน

ตอนที่ 4 ได้พบกับหลวงพ่อ

พี่พยาบาลคนนั้นเดินจากไปแล้ว  แม่จึงเข้ามาถามลูกเพื่อให้ลูกเป็นคนตัดสินใจ  แต่ลูกอ่อนเพลียจนไม่มีแรงที่จะพูด แม่จึงถามลูกว่า แม่ให้ป่านเลือกนะลูกว่า  ข้อหนึ่งลูกจะให้หมอทำคีโมหรือไม่  ข้อสอง หรือว่าลูกจะกลับไปรักษาธรรมชาติบำบัดที่สวนหมอเขียว(แม่พูดพลางชี้นิ้วขึ้นหนึ่งนิ้ว และสองนิ้ว) คำตอบที่ได้รับคือ ลูกชูมือขึ้นสองนิ้ว แม่ดีใจที่เราคิดเหมือนกัน แม่ไม่อยากเห็นลูกทรมานมากไปกว่านี้อีกแล้ว

"ถ้างั้นกลับบ้านเรากันนะลูก"
ลูกมีอาการดีใจ สีหน้าแววตาบ่งบอกถึงความสุขกลับมาอย่างฉับพลัน

ถึงกระนั้นแม่เองก็ยังกังวลใจไม่น้อย ในการดูแลลูกโดยปราศจากเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น จึงเตรียมซื้อออกซิเจนกระป๋องเล็กๆไว้ให้ลูกกับรถเข็นหนึ่งคัน  ส่วนพ่อได้ไปติดต่อขอรถพยาบาลกับโรงพยาบาล กำหนดการที่จะเดินทางได้คือวันพรุ่งนี้ตอนเช้า

16 พฤษภาคม 2551

"ป่านอยากไปอยู่ที่วัดกับหลวงพ่อ" ลูกบอกแม่กับพ่อในเช้าวันนั้น ก่อนที่จะออกเดินทาง
"ที่วัดไม่มีเครื่องมือพยาบาลอะไรเลยนะลูก" พ่อย้ำ
"ไม่เป็นไรค่ะพ่อ ป่านอยากไปอยู่กับหลวงพ่อ" ลูกยืนยัน
"แต่ว่าตอนนี้ร่างกายป่านยังไม่แข็งแรงนัก ไปรักษาตัวที่สวนป่านาบุญก่อนนะลูก"
"ค่ะ" ลูกรับคำอย่างเข้าใจในความจำเป็น

ความผูกพันที่ลูกมีต่อหลวงพ่อ คงเริ่มตั้งแต่การได้พบกับท่านในครั้งแรกนั้นแล้ว


วันนั้น วันที่
25 เมษายน 2551 หลวงพ่อมีธุระบางอย่างที่จังหวัดสกลนคร ขณะที่ลูกนอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาลรักษ์สกลมาตั้งแต่เมื่อวาน อาจารย์ชนินทร์ ที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ ได้เคยนิมนต์หลวงพ่อเอาไว้ว่าอยากให้ท่านมาโปรดเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ศูนย์อินแปง เพราะอาจารย์ชนินทร์มาเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเครือข่ายอินแปงกับการสร้างสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกเขาภูพาน ได้มาพบลูกที่นอนป่วย และเห็นว่าลูกเป็นเด็กดีที่น่าช่วยเหลือ จึงนิมนต์หลวงพ่อเอาไว้

วันนั้น ด้วยเหตุบังเอิญ ที่อาจารย์อยากจะนิมนต์หลวงพ่อ และหลวงพ่อก็อยู่ในเมืองนั้นแล้วด้วย การนัดหมายจึงเกิดขึ้น โดยที่หลวงพ่อเดินทางมารออาจารย์ชนินทร์ที่โรงพยาบาล ขณะที่รอหลวงพ่อท่านได้นั่งสมาธิอยู่ที่ห้องโถง บางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในวันนั้น แม่มารู้จากปากของหลวงพ่อ เมื่อเวลาผ่านมาแล้วเกือบ 4 เดือน

"ก่อนที่เราจะไปเยี่ยมเขาในห้อง เรานั่งสมาธิรอคนที่จะมาพาไป อยู่ข้างนอก มีความลึกลับบางอย่างสื่อสารกับเราได้ บอกถึงสภาวะบางอย่างของเขา เมื่อไปถึงเราก็บอกเขาตรงๆไปเลย ตรงกับสภาวะจิตของเขานั่นล่ะ บอกให้ปล่อยวาง แยกเวทนา แยกกาย แยกจิตออกจากกัน จนกระทั่งให้ปล่อยวางแม้กระทั่งจิต ซึ่งเขาก็ทำได้นะ"

ลูกแม่ คำพูดนี้ของหลวงพ่อ แม่ได้รับฟังในวันที่17 กรกฎาคม 2551 วันนั้นหมออพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์ มาถ่ายรูปและสัมภาษณ์ลูก และถามถึงการที่ลูกได้พบกับหลวงพ่อในครั้งแรกว่า ลูกได้เรียนรู้การปฏิบัติธรรมอย่างไร คนที่ตั้งคำถามอาจจะต้องการวิธีการที่ชัดเจน แม่เห็นลูกนิ่งคิด แล้วค่อยๆตอบอย่างช้าๆว่า

"เมื่อหลวงพ่อบอกว่า ให้ปล่อยวาง ก็ค่อยๆแยกความรู้สึกออกไป เห็นชัดเจนว่ากายกับจิตแยกกัน จิตเบาสบายมากขึ้น" น้ำเสียงสดใส คำตอบกระชับชัดเจน เปี่ยมพลังอยู่ภายใน
"ใช้เวลานานแค่ไหนคะ จึงแยกได้ชัดเจน" คุณหมอถามต่อ
"ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีค่ะ"    ลูกตอบช้าๆ น้ำเสียงมั่นคง ทุกคนในที่นั้นส่งเสียงร้อง ฮ้า!! แล้วพากันหัวเราะชอบใจ
"คนที่อายุมากแล้ว ยังทำไม่ได้อย่างหนูเลยนะลูก" หมออพภิวันท์ ว่า

มีวีดีโอที่พ่อบันทึกการพบกับหลวงพ่อในครั้งนั้นด้วย น่าแปลก ที่วันนั้นเป็นวันที่ใครหลายคนมาเยี่ยมลูกกันเต็มห้องไปหมด เขาทั้งหมดได้กราบหลวงพ่อด้วย แม้กระทั่งลุงยุทธที่จากโลกนี้ไปก่อนลูกหนึ่งวัน ก็ยังได้กราบหลวงพ่อ เพราะลุงยุทธยังเดินเหินได้ จึงมาเยี่ยมลูกพร้อมพี่น้องชาวบ้านจากบ้านบัวอีกหลายคน

หลวงพ่อถามลูกว่าชื่ออะไร ลูกตอบว่าชื่อวิมุตตา ใครเป็นคนตั้งให้ ลูกบอกว่า พ่อและแม่ แล้วหลวงพ่อก็พาลูกทำสมาธิ จากนั้นก็ให้ธรรมะ ช่วงที่สอนธรรมะทุกคนออกไปอยู่ข้างนอกห้อง เหลือเพียงพ่อกับย่า เมื่อเสร็จการให้ธรรมะแก่ลูกแล้ว หลวงพ่อหันมาพูดกับคุณย่าว่า

"คนนี้จิตเขาดีมาก" หมายถึงจิตของลูก แล้วชี้ไปที่ตัวคุณย่า
"อย่าห่วงเขาเลยห่วงตัวเองดีกว่า" แล้วท่านก็กลับไป

นับว่าเป็นวันแห่งปรากฏการณ์พิเศษสำหรับลูก เพราะทีมคุณย่า อันมีญาติพี่น้องทางจังหวัดมุกดาหารและสกลนครได้ไปถวายผ้าจีวรองค์พระธาตุพนม เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแก่ป่านตั้งแต่เช้า ก่อนที่จะมาเยี่ยมป่านและได้กราบหลวงพ่อกันถ้วนหน้า

นับแต่นั้นมา ลูกจะนอนหลับตานิ่งนานๆ ระยะแรกๆ ด้วยความห่วงใยของพ่อ จึงเฝ้าแตะตัวลูกเบาๆ จนลูกบอกว่า
"พ่อ ป่านกำลังทำสมาธิ" จากนั้นเราทุกคนไม่พยายามรบกวนเวลานั้นของลูกอีกเลย

ครั้งที่สอง ที่ลูกได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อ

วันที่ 30 เมษายน 2551 ด้วยความบังเอิญ ที่ลูกและหลวงพ่อต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ ด้วยเที่ยวบินโดยสารเดียวกัน หลวงพ่อรับกิจนิมนต์ที่กรุงเทพฯ ส่วนลูกอาการไม่ดีขึ้นญาติก็อยากให้ไปรักษาและตรวจเช็คร่างกายอย่างละเอียดอีกหนที่โรงพยาบาลรามาฯจะได้รักษาที่ดีที่สุดและรู้ว่าเป็นอะไรกันแน่ เพราะผลการตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อในตับหลายจุด

หลวงพ่อแวะมาเยี่ยมลูกอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาฯในวันที่ 3 พฤษภาคม ท่านได้ให้ธรรมะ แก่ลูกจนกระทั่งจิตของลูกมีกำลังมากขึ้น ความเจ็บปวดลงไปมาก

"ตอนนั้นก็สอนให้เขาดูเวทนา ให้สู้กับความเจ็บปวด สอนให้วางกาย วางเวทนา และให้วางจิตไปเลยทีเดียว" หลวงพ่อเล่าให้เราฟังทีหลัง และครั้งนั้นหลวงพ่อยังชวนลูกมาอยู่ที่วัดด้วย

"ไปอยู่ที่วัดกับหลวงพ่อไหม" หลวงพ่อถามลูก
"ไปค่ะ" ลูกตอบจริงจัง
"ที่วัดหลวงพ่อไม่มีเครื่องมือพยาบาลนะ ไม่มีอะไรเลยนะ ต้องเดินขึ้นภูเขาด้วย"
"ไปค่ะ"ลูกย้ำ

แม่กับพ่อไม่คาดคิดเลยว่า สิ่งที่ลูกพูดคือความตั้งใจจริงอย่างแน่วแน่ และลูกได้เลือกทำ จนกระทั่งวาระสุดท้าย

การร้องขออยากกลับบ้านของลูก จึงหมายถึงการขอกลับมาอยู่กับหลวงพ่อ จริงอยู่แม้เราจะไม่ได้บอกลูกว่าลูกเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เพื่อไม่อยากให้ลูกทุกข์ใจ แต่ลูกก็น่าจะรู้ว่าความทรมานเพราะเครื่องมือการแพทย์ และการดูแลด้วยการแพทย์ทางเลือกนั้น อะไรเป็นสิ่งที่ลูกน่าจะเลือกมากกว่ากัน ตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลลูกไม่ชอบห้องแอร์ ไม่ชอบสายออกซิเจนที่เสียบอยู่ที่จมูกตลอดเวลา ไม่ชอบเข็มน้ำเกลือที่คาแขน ยิ่งนานวันแขนขาและท้องยิ่งบวมเบ่ง

ความเมตตาของพลวงพ่อ ที่มีต่อลูกถึงสองครั้ง คือสายน้ำทิพย์ที่ชะโลมเลี้ยงหัวใจของเราทุกคน ราวกับสวรรค์ประทานมา แต่เบื้องหลังทั้งมวล ย่อมมีเหตุปัจจัยที่พิสูจน์ได้ แม้นว่าพ่อกับแม่ไม่เคยรู้จักหลวงพ่อมาก่อน แต่การที่อาจารย์ชนินทร์ ได้มารู้จักกับเรา และนิมนต์หลวงพ่อมาโปรดลูก เพราะเห็นว่าพ่อทำงานกับพี่น้องชาวบ้านที่ด้อยโอกาสมานาน การย้อนคืนของการดูแลจึงมีวงจรเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ก็น่าภาคภูมิใจและเป็นกำลังใจแก่เราในวันต่อๆมา ของการดูแลเยียวยาลูก

ไม่ใช่เฉพาะหลวงพ่อเท่านั้นที่เมตตาลูก ยังมีเพื่อนพ้องน้องพี่ที่เป็นเครือข่ายงานพัฒนาทั่วประเทศ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมลูกไม่ขาดสาย ตอนที่อยู่ที่โรงพยาบาลรามาฯ พ่อกับแม่ไม่เคยโดดเดี่ยวเลย แม้ความทุกข์ท่วมท้นในอกก็ตาม

อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่แม่ต้องเอ่ยถึง  คือหมอโซนัม หมอชาวธิเบต ท่านได้รับเชิญจากอาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ ให้มาเปิดคอร์สอบรมและรักษาด้วยการแพทย์แผนธิเบต ที่อาศรมวงศ์สนิท  เมื่อคุณหมอรู้เรื่องของลูก ท่านได้สละเวลาเดินทางมาเยี่ยมลูกที่โรงพยาบาลและที่สวนป่านาบุญ พร้อมทั้งมอบยาธิเบตให้

สายใยที่มีคุณค่าเหล่านี้ ลูกได้สัมผัสด้วยตัวเองจนกระทั่ง ในเวลาต่อมา ลูกอธิษฐานจิตว่า ถ้าลูกหายจากโรคร้ายนี้ ลูกอยากเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนธิเบต ที่ประเทศธิเบต

แต่ความป่วยไข้ก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ แม้ว่าลูกได้ก้าวข้ามความเจ็บปวดไปแล้วก็ตาม

ในวันที่ 17 กรกฎาคม หมออพภิวันท์ ยังได้ถามลูกว่า
 "ตอนที่อยู่ที่โรงพยาบาลรามาฯ ถ้าเทียบความเจ็บปวดทั้งหมดมี 10 ระดับ ตอนนั้นน้องป่านปวดในระดับไหนคะ" แม่ชีอพภิวันท์ เป็นหมอเชี่ยวชาญด้านเด็ก
"ปวดระดับ 6 ค่ะ" ลูกบอก
"แล้วหลังจากที่ทำสมาธิตามที่หลวงพ่อสอน ความเจ็บปวดลดลงเหลือเท่าไหร่คะ"
"เหลือ 3 ค่ะ" นั่นคือความเจ็บปวดลดลงตั้งแต่ได้เจอหลวงในครั้งแรก แสดงว่าลูกมีความก้าวหน้าทางจิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกบอกว่า
"ไม่ปวดเลย ตั้งแต่ออกมาจากโรงพยาบาลรามาฯ"

พัฒนาการด้านในของลูกยืนยันได้จากสมุดบันทึกของลูก ที่เขียนอย่างละเอียดละออแทบทุกเวลา ทุกกิจกรรม ตลอดเวลา 3 เดือนกว่าที่ลูกออกมาจากโรงพยาบาล บางอย่างทำให้แม่มองเห็นความลึกซึ้งในการมองชีวิตของลูก และทำให้เรามองย้อนเข้ามาที่ตัวเองด้วย

เวลาสายๆ เราออกเดินทางจากโรงพยาบาลรามาฯ มุ่งหน้ามาบนถนนสายมิตรภาพ ไปสู่สวนป่านาบุญของหมอเขียว อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร และที่จังหวัดนครราชสีมา ขณะที่เราแวะพักที่ปั๊มน้ำมัน ลูกพยุงตัวลุกขึ้นนั่งบนเปลพยาบาล พ่อรีบประคองช่วย ลูกยิ้มให้พ่อ โดยที่ไม่ได้พูดจาอะไร ลูกดึงเข็มน้ำเกลือที่มีน้ำเกลือและมอร์ฟีนระงับความปวดออกจากแขนที่บวมเบ่ง แล้วเหวี่ยงมันไปข้างตัวอย่างไม่ใยดี เมื่อแขนทั้งสองเป็นอิสระ ลูกโผมากอดพ่อ พร้อมกับบรรจงหอมแก้มพ่ออย่างซาบซึ้งอยู่นาน

สร้างความแปลกใจและกังวลใจให้กับพี่พยาบาลประจำรถโรงพยาบาล ที่กลัวว่าลูกอาจจะปวดและเป็นอันตราย

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร