Skip to main content

ตอนที่ 5 บันทึกของลูก 

รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ

\\/--break--\>

 

เรื่องการบันทึก แม่จำได้ว่าครั้งหนึ่ง แม่ พ่อ และพี่ปุ้ยอยากรู้ว่าลูกบันทึกอะไรเอาไว้จึงหวงนักหวงหนาไม่ยอมให้ใครแตะต้อง เมื่อลูกลงไปอาบแดดที่ข้างกุฏิ พ่อจึงแอบขึ้นมาเปิดอ่าน ลูกกลับขึ้นมาเห็นบางอย่างที่ผิดสังเกตจึงพูดกับทุกคนด้วยน้ำเสียงดุๆว่า

"เปิดอ่านสมุดบันทึกของป่านใช่ไหม" เราสามคนก้มหน้าซ่อนยิ้ม ด้วยความละอายและบอกลูกว่าขอโทษนะลูก จากนั้นไม่มีใครกล้าแตะสมุดบันทึกของลูกอีกเลย

 

ลูกเริ่มเขียนบันทึกทุกวัน ตั้งแต่อยู่รับการรักษาแบบธรรมชาติบำบัดที่สวนป่านาบุญ อาจเป็นเพราะพ่อซื้อสมุดบันทึกมาให้ โดยที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะจริงจังในการบันทึก การบันทึกนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อมาอยู่ที่วัดป่าภูไม้ฮาว ลูกบันทึกทุกกิจกรรมของการดูแลตัวเองทั้งกายและจิต ยามที่หลวงพ่อมาเยี่ยมและให้ธรรมะ ลูกจะเอาบันทึกให้หลวงพ่ออ่าน ต่อมาหลวงพ่อเห็นว่าลูกชอบอ่านหนังสือธรรมะมาก ท่านจึงเอาหนังสือมาให้ลูกอ่าน แล้วบอกว่าช่วยสรุปให้หลวงพ่อฟังด้วยนะ

นั่นคือภาระกิจของลูกที่ทำอย่างเต็มใจ สมุดบันทึกของลูก จึงมีเพียงหลวงพ่อเท่านั้นที่ได้อ่าน

 

แต่เมื่อลูกจากไปแล้ว ลายมือที่ลูกทิ้งไว้ให้เราดู มีค่านับอนันต์ เพราะนับตั้งแต่วันออกจากโรงพยาบาลรามาฯ พ่อกับแม่คิดว่าต่อไปเราต้องดูแลลูกแบบไม่คลาดสายตา ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ป้าน้าอาและคนที่รู้จักคุ้นเคยกับพ่อ แม่ ต่างพากันมาเยี่ยมลูกไม่ขาดสาย ทุกคนที่มาเยี่ยมลูกต่างก็ชมเชยว่า เป็นเรื่องแปลก และทึ่ง ที่ลูกไม่มีความเจ็บปวดเลย บางคนก็สงสาร มีทั้งลุ้นและให้กำลังใจตลอด ญาติ พี่น้องต่างก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันดูแลลูก หรือมาเยี่ยมลูก และจากบันทึกของลูกทำให้แม่รู้ว่าเราเองก็อยู่ในการเฝ้าดูของลูกเช่นกัน ทุกคนที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่ใกล้ๆลูกจะบันทึกถึง ไม่เว้นแม้กระทั่งลุงยุทธที่ลูกผูกพันมาตั้งแต่จำความได้ ลูกยังเขียนบันทึกถึงลุงยุทธเพียงแค่ได้ยินพ่อเอ่ยถึง ซึ่งคงมาจากความห่วงใยที่รู้ว่าลุงยุทธป่วยเหมือนตัวเอง ทั้งได้เขียนจดหมายน้อยให้กำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายนั้นด้วย

 

หลายบทของบันทึกลูก บอกให้เรารู้ว่าสภาวะจิตของลูกกำลังก้าวไกลไปอย่างรวดเร็ว อย่างเป็นรูปธรรม โดยที่มีการดูแลของคนรอบข้างเป็นแรงหนุน ภาพวันเก่าๆเหล่านั้นจึงค่อยๆทยอยเรียงแถวเข้ามาในห้วงสำนึกแม่

 

เราออกมาจากโรงพยาบาลรามาฯ ในเวลาตอนเช้า ถึงจังหวัดมุกดาหารตอนบ่าย แต่เราบอกเส้นทางไปส่วนป่านาบุญที่อำเภอดอนตาล ไม่ใช่โรงพยาบาลในเมือง รถพยาบาลเลี้ยวขวาเข้าไปจอดถึงที่พักสร้างความสงสัยให้กับพยาบาลเป็นอย่างมาก ถามเราว่าทำไมจึงพาลูกมาอยู่ที่นี่ ต่อมาพยาบาลนำตัวลูกลงจากรถพร้อมกับเข็นรถที่ลูกนอนอยู่ พวกเขาเข็นอย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ค่อยนุ่มนวลเพราะทางไปที่พักเป็นพื้นขรุขระ แม่กลัวลูกจะเจ็บจึงบอกให้เข็นช้าๆได้ไหม แต่เราเห็นว่าลูกไม่ได้สนใจกับเรื่องนี้เลย กลับนิ่งเงียบ แม่ต่างหากที่กลัวว่าลูกจะเจ็บ จากการกระทบกระเทือนในการเดินทาง

 

จากวันที่ 16 พฤษภาคม จนถึง วันที่ 6 มิถุนายน 2551 ขณะลูกพักรักษาตัวที่สวนป่านาบุญ พ่อได้บวชอุทิศบุญให้ลูก 3 วัน วันที่ 17 พ.ค. 2551 เป็นวันที่พ่อบวช ลูกอยู่กับแม่และน้านี ตกกลางคืนลูกพูดกับแม่ว่า "หนูคิดถึงพ่อ" พลางร้องไห้ แม่โอบกอดลูกและปลอบใจว่า "พรุ่งนี้คุณพ่อก็มาหาลูกแล้ว" ในวันรุ่งขึ้นลูกได้พบกับพ่อในร่างของนักบวชที่ห่มผ้าเหลือง เพียงเห็นพ่อเดินเข้ามาลูกก็พยุงตัวเองลุกขึ้นจากที่นอนพร้อมกับไหว้หลวงพ่อของลูก น้ำตาแห่งความสุขไหลออกมา เรารู้ว่าลูกอิ่มเอิบใจที่เห็นผ้าเหลืองของพ่ออย่างบอกไม่ถูก ทุกคนที่อยู่ด้วยกัน ก็สุดที่จะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ ระยะที่พ่อบวช ลูกได้ทำบุญตักบาตรกับหลวงพ่อของลูกทุกวัน

 

แม่อ่านบันทึกของลูก และนี่คือบางวันที่สวนป่านาบุญ


3/6/51

ครบรอบสามเดือนในการทำธรรมชาติบำบัด


ตื่น
05.40 . ยกขาข้างละ 10 ครั้ง ยกแขนข้างละ 10 ครั้ง ถ่ายปกติ กินน้ำหนอนฯ กินน้ำนาโน กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น กินข้าวเหนียว (ข้าวเย็น) กับน้ำผึ้ง กินมังคุด กินแตงโม แตงไทย กินลวกผักบุ้ง ดอกฟักทอง

ดู CD, กินข้าว ต้มจืดผัก ตุ๋นข้าวโพด กินน้ำผึ้ง กินธัญพืช (วันนี้พ่อไปส่งน้านีที่สกลฯ อยู่กับแม่สองคน)

ถ่ายอีกหนึ่งครั้ง ก่อนกินผลไม้ ถ่ายปกติดี แม่คืนเงิน 200 บาท แปรงฟัน กินน้ำมะพร้าว กินทองม้วน 2 แท่ง อ่านหนังสือ กินน้ำผึ้งนิดหน่อย เช็ดตัว เปลี่ยนเสื้อผ้า กินมันต้ม ฉี่ กินยาทิเบต ชงยาญี่ปุ่น แม่กดลมปราณให้ นวดหัว นวดตัว นอนหลับ กินธัญพืช กินมังคุด 2 ลูก กินแตงโม กินข้าวเหนียว+ธัญพืช กินมันต้ม ย่ามาหา อ่านหนังสือ สระผม กินธัญพืช กินทองม้วน กินน้ำผึ้ง ย่ายืมเงิน 20 บาท กลับ ยายนีเป็นหนักไม่มีใครดูแล ตานงค์ไปกรุงเทพฯ กินข้าวปิ้งปลานาง ต้มจืดผัก ดู CD Barbie กินมังคุด ฟังเพลง กินน้ำผึ้งกับข้าวเหนียว กินยาทิเบต กินทองม้วน แม่นวดหน้า ขูดซาที่หน้า นอนหลับ กินน้ำผึ้ง กินมัน นั่งรถเข็นดูแม่ทำกับข้าว แช่เท้า อาบน้ำ นั่งรถเข็นประมาณ 30 นาที นานเกินไปจนเหนื่อย นอน แม่นวดให้ ตื่นขึ้นมากินมังคุด พ่อมา เป่าเค้ก ครบรอบสามเดือน ดีใจมาก กินลวกผักบุ้ง อ่อมแซ่บ ดอกฟักทอง ฟักทองอ่อน กินข้าว นึ่งปลานาง ผัดเจ แกงจืดเจ ต้มจืดผัก กินข้าวพร้อมกันสามคน กินซาลาเปาไส้ถั่วเหลืองถั่วแดง 1 อัน พายสับปะรด 1 อัน กินเค้ก(กินแต่ขนมปัง)ช้อนเล็ก(กินน้อยมาก) กินน้ำเขียว กินยาทิเบต นอนหลับ กินมังคุด ตอนดึก ฉี่ 2 ครั้ง ถ่ายเป็นก้อนยาวปกติ 1 ครั้ง ตอน 02.25 .

 

วันนี้เป็นวันที่ประทับใจที่สุด ถึงแม้จะมีแค่เราสามคน และคำอวยพรจากพ่อกับแม่ (ปุ้ยส่งข้อความมาอวยพร) ทำให้มีกำลังที่จะต่อสู้กับโรคร้ายนี้ต่อไป จะไม่ท้อแท้

 

กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย

เพราะถ้ากายป่วยแล้ว ใจป่วยไปด้วยจะทำให้เราเกิด ความโลภ ความโกรธ และความหลง พ่อบอกว่าโรคของฉันไม่เกี่ยวกับเรื่องเวรกรรมแต่เป็นอุบัติเหตุต่างหาก แต่อันที่จริงถ้าไม่ได้ไปกรุงเทพฯ ก็คงไม่รู้จักหมอทิเบต ไม่ได้รู้จักยาทิเบต ไม่ได้รู้จักลุงเผือก ไม่รู้จักคนที่ช่วยสวดมนต์ ให้เราเหมือนกัน การไปกรุงเทพฯครั้งนี้ทำให้เรารู้จักสิ่งต่างๆมากมาย สุข-ทุกข์ มาคู่กัน (หมอสุธี ส่งสมุดวาดรูป สีน้ำ ปากกามาให้)

 

ป่าน

วิมุตตา กุณวงษ์

นักสู้ที่ไม่เคยท้อแท้ต่อชะตากรรมชีวิต เพราะมีกำลังใจและอนาคตรออยู่ข้างหน้า...

 

ขอขอบคุณ คุณหมอสุธีเป็นอย่างมากที่มอบสมุดวาดรูปเล่มนี้ให้ป่าน

มันทำให้ป่านได้เขียนความรู้สึกดีๆ วาดรูปดีๆ

และมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไป

 

นี่คือบันทึกที่ทำให้แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่เด็กอ่อนแอ ไม่ใช่คนป่วยที่น่าสงสาร ลูกดูแลอารมณ์ตัวเองได้ แม้บางครั้งในตอนนั้น ลูกยังมีอาการหงุดหงิดบ้าง แต่มันก็สงบลงด้วยปัญญาของลูก

 

บางตอนของเรื่องอารมณ์ ในระยะแรกๆที่ออกมารักษาตัวที่สวนป่านาบุญ

 

ด้านอารมณ์

วันนี้อารมณ์ไม่ดี หงุดหงิด โมโห ไม่พูด รำคาญทุกคน

ไม่สามารถระงับความโกรธได้ แสดงว่าใจป่วยแล้ว เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ใจป่วย

จะทำให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง อยู่เสมอ

จน แปลว่า ไม่มี มิใช่ทุกข์

รวย แปลว่า มีเยอะ มิใช่สุข

ชนะ แปลว่า ไม่แพ้ มิใช่สุข

เจริญ แปลว่า มีมากขึ้น มิใช่สุข

เติบโต แปลว่า ยิ่งใหญ่ขึ้น มิใช่สุข

เก่ง แปลว่า รู้มาก มิใช่สุข

 

ความสุขที่แท้จริง คือ ความไม่มีทุกข์

ความไม่มีทุกข์ที่แท้จริง คือ ความอิสระ

 

ความท้อแท้เบื่อหน่าย เป็นคนตายหมดอายุ

ความสุขไม่ได้อยู่ที่ความปรารถนา

การรู้จักทำใจ เมื่อไม่สมปรารถนาต่างหาก เป็นความสุข

 

มีบางวันที่ลูกยังคิดถึงโรงเรียนของลูก บอกกับแม่ว่า"ป่านอยากเรียนหนังสือ" พร้อมกับน้ำตาที่ไหลอาบแก้ม
แม่กอดลูกไว้ ปลอบใจลูกว่า "เอาไว้ให้ลูกหายก่อนแล้วค่อยเรียนนะ ลูกเรียนเก่งอยู่แล้วยังไงก็เรียนทันเพื่อนแน่นอน"

น้ำตาของแม่ไหลพร่าง ต้องรีบเปือนหน้าซ่อนมันไว้ไม่ให้ลูกเห็น

"แล้วแม่จะซื้อหนังสือ ม. 1 มาให้ลูกอ่านนะลูกจะได้เรียนทันเพื่อนๆ"

 

ลูกแม่ กว่าที่แม่จะกล้าเปิดบันทึกของลูกออกอ่านได้จนจบ แม่ต้องใช้ความเข้มแข็งอย่างยิ่งยวด ส่วนพ่อนั้นเล่า แค่เห็นสมุดบันทึกของลูกวางอยู่ตรงหน้า น้ำตาก็ร่วงพรูแล้ว พ่อร้องไห้กับเรื่องราวของลูกบ่อยครั้งและง่ายดายยิ่งกว่าแม่ คงจะจริงของพ่อ ที่บอกกับใครๆว่า ลูกคนนี้รักผมมาก ผมก็รักเขามาก เขามีความรู้สึกนึกคิดเหมือนผม แต่สำหรับแม่ ความรักที่แม่มี ใครจะรู้ดีไปกว่าแม่ จริงไหม...ลูกแม่

 

"ป่านจะได้ไปอยู่กับหลวงพ่อเมื่อไหร่จ๊ะแม่" ลูกเฝ้าถามแม่ แม่ยังไม่กล้าตอบ เพราะว่าร่างกายของลูกยังอ่อนแอมาก แต่ด้วยความเข้าใจในแรงปรารถนาของลูก วันที่ 5 มิถุนายน พ่อจึงได้เดินทางไปวัดป่าภูไม้ฮาว เพื่อดูที่พัก ได้ไปกราบหลวงพ่อ ท่านบอกว่ามีกุฏิว่างด้านทิศตะวันตกอยู่ติดหน้าผา มีความเป็นสัดส่วนสะดวกสบายตามสมควร

 

เราจึงเตรียมพาลูกขึ้นไปอยู่วัด ในวันที่ 6 มิถุนายน นั้นเอง

 

 

 

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ฉันสังเกตดูรอบๆ บ้านหลังน้อยของลุงลี แทบไม่มีพืชผักที่พอจะเก็บกินได้ สงสัยอยู่ครามครันว่า ทำไมไม่ปลูก ในเมื่อแกเป็นคนเก่าแก่และเป็นคนเดียวที่อยู่ในป่านี้มานานถึง 20 กว่าปี ตอนที่ฉันได้หน่อกล้วยหอมพันธุ์ดีมาจากหนองคาย แกก็ยังอุตส่าห์เอาปุ๋ยขี้ควายมาให้ตั้งสามกระสอบ แถมยังสอนวิธีปลูกให้อีกด้วย เมื่อเห็นฉันลงมือขุดหลุมห่างๆ เพราะคิดว่าในอนาคตมันต้องแตกหน่อมาชนกันเอง แกกลับบอกว่าให้ชิดๆกันหน่อยจะดีกว่า เป็นแรงดึงดูดให้กล้วยโตเร็วขึ้น ฉันก็เอาตามนั้น ก้นหลุมกว้างลึกรองด้วยปุ๋ยมูลสัตว์สลับหญ้าแห้ง ดูเป็นวิชาการมากๆ ตามคำแนะนำของแกถามแกว่าจะเอาไปปลูกเองสักต้นไหม…
เงาศิลป์
ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเองหมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่…
เงาศิลป์
สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด.....หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน…
เงาศิลป์
วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว) วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเองกลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (…
เงาศิลป์
การขึ้นภูกระดึงอย่างไร้ความพร้อม กลับทำให้ฉันได้สิ่งดีๆมากมายคุณนิมิตร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว ได้เขียนจดหมายน้อยอย่างไม่เป็นทางการ ให้ฉันถือไปยื่นให้กับเจ้าหน้าที่บนภู ที่เป็นเพื่อนกัน ในจดหมายเขียนว่า “ช่วยดูแลคนที่ถือจดหมายฉบับนี้ด้วย ตามสมควร” ที่อาคารลงทะเบียนบนภู ฉันยื่นจดหมายให้กับเจ้าหน้าที่ คะเนจากหน้าตา เขาคนนั้นคงมีอายุพอๆกับฉัน เมื่ออ่านจบเขามองหน้าฉันอย่างเฉยเมย บอกว่าบ้านพักเต็มหมดแล้ว เหลือแต่เต๊นท์  ฉันบอกว่าฉันตั้งใจจะพักเต๊นท์อยู่แล้ว“มากันกี่คน” น้ำเสียงห้วนๆ  ไม่รู้ทำไม“คุณเห็นกี่คนล่ะคะ คุณเห็นแค่ไหนก็แค่นั้นล่ะค่ะ” ฉันตอบกึ่งยียวน…
เงาศิลป์
เช้าวันนี้….ใบไม้สีเหลืองเกลื่อนพื้น ดูสวยงาม แต่ไม่นานมันจะถูกเรียกว่า “ขยะ” ด้วยเรียวไม้กวาดก้านมะพร้าว ค่อยๆลากให้มันมากองรวมกัน ทีละนิดรอยทรายเป็นเส้นลดเลี้ยวตามแนวกวาด ลีลาคล้ายบทกวีร้อยบท ที่มีเนื้อหาเดียว คือความสงบทุกเช้า ฉันจะอยู่กับมัน ทั้งไม้กวาด พื้นทรายและใบไม้ร่วงสายตาจับอยู่ที่พื้น..แต่ด้วยหางตา เห็นบางอย่างเคลื่อนไหวอยู่บนถนนหน้าบ้าน  จากที่ยืนอยู่ ระยะทางราวร้อยก้าว เงาร่างเดินโยกเยก บดบังด้วยแนวพุ่มไม้เตี้ยๆ จึงมุ่งมองอย่างตั้งใจ เห็นใครบางคนเคลื่อนไหวอย่างช้าๆจึงเดินออกไปดูร่างล่ำสันค่อยๆ เคลื่อนไปอย่างลำบาก เขาใช้ไม้ยาวๆ ค้ำถ่อ ประคองร่างกายให้ขาตวัดสลับกันไป …
เงาศิลป์
“ฉันจะต้องไม่พิการ”ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนักจากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิตปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้นแต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย…