วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)
และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว)
วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเอง
กลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักปีนผาอาชีพ)
ฉันเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว และเป็นผู้หญิงท่ามกลางชาวต่างชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากมนัก เพราะเดือนตุลาคมยังไม่หมดมรสุม บังกะโลราคาพอประมาณมีให้เลือกเหลือเฟือ ฉันเปลี่ยนที่พักทุกคืน ย้ายไปตามมุมต่างๆ ตามความพอใจ แค่ย้ายที่นอนอ่านหนังสือเพราะฝนตกเกือบตลอดเวลา
เจ็ดวันที่ฉันอยู่ที่นั่น สามวันแรก..ฉันเตร็ดเตร่พูดคุยกับนักเดินทาง และนักปีนผา โดยเฉพาะคุณเต็ก เพื่อหาข้อมูลมาเขียนสารคดี แต่เมื่อฉันเจอกับรำพึง นักปีนผาสาว เป้าหมายการทำงานของฉันก็เปลี่ยนไปทันที
“พี่ พี่มาคนเดียวเหรอ รู้ไหมผู้ชายแถวนี้ เขาหาว่าพี่อกหัก จึงมาเที่ยวทะเลคนเดียว” รำพึงบอกให้รู้เมื่อเราสนิทกันแล้ว
ฉันได้แต่ยิ้ม ผู้ชายที่เธอว่า คือกลุ่มนักปีนผาที่ฉันไม่ได้พูดคุยด้วย นอกจากจักรเพียงคนเดียว เพราะฉันรู้จักเขาตั้งแต่เขาขายงานศิลปะที่ฟุตบาทถนนข้าวสาร นั่นเป็นอีกยุคหนึ่งที่ฉันสัญจรไปรู้จักกับพวกเขา และกลายเป็นมิตรภาพที่ยาวไกล จนมาพบกันอีกหนที่ไร่เล แต่เราก็ทิ้งระยะห่างต่อกัน ฉันยังอยู่โดดเดี่ยวตามชายทะเล ถ่ายรูปปู ถ่ายรูปฝนไปตามประสาคนเดินทาง
“พี่ไปปีนผากับหนูเถอะ” รำพึงชวน เมื่อเห็นฉันยืนแหงนมองฝรั่งตัวโตๆ กำลังตะกายไปบนหน้าผาราวกับเป็นแมงมุม
เธอเป็นครูสอนปีนผาที่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไร่เล
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ฉันไม่ลังเลสักนิด แต่บอกกับเธอว่าขาพี่ไม่ดีนะ มันเป็นขาที่หักไปแล้ว เธอบอกว่าการปีนผาไม่ได้ใช้กำลังขาเพียงอย่างเดียว ลองดูไหม..ฉันลิงโลดใจอยู่แล้ว คำชวนที่ตบท้ายว่า
“หนูไม่คิดเงินพี่หรอก อยากให้พี่ลองดู เผื่อจะชอบ”
รายละเอียดการปีนผา คงไม่ต้องอธิบาย เพราะยากที่จะบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนจุดที่คนเริ่มต้นปีนทั้งหลายขึ้นไปได้ มันเป็นครึ่งทางของยอดเขาที่เป็นหน้าผาชัน 90 องศา ฉันนั่งอยู่บนแง่หินมองทิวทัศน์ไปไกลๆ อย่างสุขแสนสุข สุขใจจนบรรยายไม่ถูก....ใช่ค่ะ สารแห่งความสุขมันหลั่งออกมาจริงๆ ไม่ใช่เพราะใจคิดไปเอง หลังจากที่โหนต่องแต่งดูน่าหวาดเสียว และฉันพยายามจะยืดแขน ยืดมือไปเหนี่ยวแง่หินเล็กๆ เพื่อจะดึงตัวเองขึ้นไปที่สูงกว่า ส่วนเท้าที่ยันร่องหินเอาไว้กำลังเขย่งถีบส่งร่างให้สูงขึ้น เวลาขณะนั้น ในใจฉันมีแต่ความตั้งใจที่จะไปต่อให้ได้ ด้วยเสียงเชียร์ของรำพึงที่คอยตะโกนบอกว่า
“พี่ต้องทำได้ อีกนิดเดียว เอ้า อึ๊บ ๆ ไปเลย ไปเลย” ที่เธอบอกว่าไปเลยหมายความว่า ฉันต้องกล้าดีดร่างไปหาปุ่มหินอีกอันที่สูงกว่าให้ได้ ที่จริงหากไม่มีบัดดี้คอยดึงเชือกส่งร่างให้ขยับขึ้นไป ฉันคงทำไม่สำเร็จ อาจตกหน้าผาลงมาตาย แต่เพราะรู้ว่าถึงมือเท้าจะพลาด อย่างร้ายแรงฉันก็แค่ร่วงลงมาขั้นต่ำตามเดิม เพราะเชือกที่แขวนติดตัวฉันก็จะดึงให้ห้อยต่องแต่งกับหน้าผาสูงเท่านั้น (เทคนิคการปีนที่สูงแบบนี้ ฉันเคยเรียนในวิชาแคมป์ปิ้ง จึงไม่ได้หวั่นวิตก)
การปีนผาสำหรับคนปกติ อาจเป็นดูธรรมดา แต่สำหรับฉัน ภาวะที่ต้องไปต่อในที่สูงให้ได้อย่างสุดกำลังนั้นเอง ทำให้ฉันตระหนักว่า..ถ้าเราทิ้งความหวาดกลัวลง สิ่งที่มุ่งมั่น..ยังมีหนทางเป็นไปได้เสมอ เพราะพลังจากภายในเรามีสำรองอยู่จริงๆ
ที่มากกกว่าความสุขในการปีนผา คือการได้รู้จักศักยภาพของตนเอง รวมทั้งขาข้างหักยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป