Skip to main content

วันเวลาที่ผ่านไป ฉันค่อยๆ คลายความกังวล แม้ว่าความรู้สึกเจ็บปวดจะมาอยู่เป็นเพื่อนเกือบตลอดเวลา แต่วิชาเกลือจิ้มเกลือ เจ็บแก้เจ็บ ยังใช้ได้เสมอ (โปรดใช้วิจารณญาณในการนำไปทดลอง)

และแล้วเหมือนกรรมบันดาล (อีกแล้ว)

วันหนึ่ง ฉันได้เรียนรู้ว่า คนเราได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเพียงแค่ 60 – 70 % เท่านั้น ส่วนที่เหลือยังไม่เคยรู้จักมัน และปล่อยให้มายาคติบางอย่างครอบงำ โดยเฉพาะคำว่า “อย่าทำ” .... “ไม่ควรทำ”.....หรือ “ไม่เหมาะสมที่จะทำ” และอะไรอีกหลายความคิดที่ปิดกั้นโอกาสของตัวเอง

กลางเดือนตุลาคมของปีหนึ่ง ฉันเร่ร่อนลงเรือไปที่หาดไร่เล ตอนนั้นแทบว่าไม่มีคนไทยรู้จักหาดไร่เล นอกจากฮิปปี้และนักปีนผา (ที่ส่วนใหญ่เป็นนักปีนผาอาชีพ)

ฉันเป็นนักท่องเที่ยวไทยคนเดียว และเป็นผู้หญิงท่ามกลางชาวต่างชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่มากมนัก เพราะเดือนตุลาคมยังไม่หมดมรสุม บังกะโลราคาพอประมาณมีให้เลือกเหลือเฟือ ฉันเปลี่ยนที่พักทุกคืน ย้ายไปตามมุมต่างๆ ตามความพอใจ แค่ย้ายที่นอนอ่านหนังสือเพราะฝนตกเกือบตลอดเวลา

เจ็ดวันที่ฉันอยู่ที่นั่น  สามวันแรก..ฉันเตร็ดเตร่พูดคุยกับนักเดินทาง และนักปีนผา โดยเฉพาะคุณเต็ก เพื่อหาข้อมูลมาเขียนสารคดี แต่เมื่อฉันเจอกับรำพึง นักปีนผาสาว เป้าหมายการทำงานของฉันก็เปลี่ยนไปทันที

“พี่ พี่มาคนเดียวเหรอ รู้ไหมผู้ชายแถวนี้ เขาหาว่าพี่อกหัก จึงมาเที่ยวทะเลคนเดียว” รำพึงบอกให้รู้เมื่อเราสนิทกันแล้ว
ฉันได้แต่ยิ้ม ผู้ชายที่เธอว่า คือกลุ่มนักปีนผาที่ฉันไม่ได้พูดคุยด้วย นอกจากจักรเพียงคนเดียว เพราะฉันรู้จักเขาตั้งแต่เขาขายงานศิลปะที่ฟุตบาทถนนข้าวสาร นั่นเป็นอีกยุคหนึ่งที่ฉันสัญจรไปรู้จักกับพวกเขา และกลายเป็นมิตรภาพที่ยาวไกล จนมาพบกันอีกหนที่ไร่เล แต่เราก็ทิ้งระยะห่างต่อกัน ฉันยังอยู่โดดเดี่ยวตามชายทะเล ถ่ายรูปปู ถ่ายรูปฝนไปตามประสาคนเดินทาง

“พี่ไปปีนผากับหนูเถอะ” รำพึงชวน เมื่อเห็นฉันยืนแหงนมองฝรั่งตัวโตๆ กำลังตะกายไปบนหน้าผาราวกับเป็นแมงมุม
เธอเป็นครูสอนปีนผาที่เป็นผู้หญิงคนเดียวในไร่เล

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

ฉันไม่ลังเลสักนิด แต่บอกกับเธอว่าขาพี่ไม่ดีนะ มันเป็นขาที่หักไปแล้ว เธอบอกว่าการปีนผาไม่ได้ใช้กำลังขาเพียงอย่างเดียว ลองดูไหม..ฉันลิงโลดใจอยู่แล้ว คำชวนที่ตบท้ายว่า
“หนูไม่คิดเงินพี่หรอก อยากให้พี่ลองดู เผื่อจะชอบ”

รายละเอียดการปีนผา คงไม่ต้องอธิบาย เพราะยากที่จะบอกว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนจุดที่คนเริ่มต้นปีนทั้งหลายขึ้นไปได้ มันเป็นครึ่งทางของยอดเขาที่เป็นหน้าผาชัน 90 องศา ฉันนั่งอยู่บนแง่หินมองทิวทัศน์ไปไกลๆ อย่างสุขแสนสุข สุขใจจนบรรยายไม่ถูก....ใช่ค่ะ สารแห่งความสุขมันหลั่งออกมาจริงๆ ไม่ใช่เพราะใจคิดไปเอง หลังจากที่โหนต่องแต่งดูน่าหวาดเสียว และฉันพยายามจะยืดแขน ยืดมือไปเหนี่ยวแง่หินเล็กๆ เพื่อจะดึงตัวเองขึ้นไปที่สูงกว่า ส่วนเท้าที่ยันร่องหินเอาไว้กำลังเขย่งถีบส่งร่างให้สูงขึ้น เวลาขณะนั้น ในใจฉันมีแต่ความตั้งใจที่จะไปต่อให้ได้ ด้วยเสียงเชียร์ของรำพึงที่คอยตะโกนบอกว่า

“พี่ต้องทำได้ อีกนิดเดียว เอ้า อึ๊บ ๆ ไปเลย ไปเลย”  ที่เธอบอกว่าไปเลยหมายความว่า ฉันต้องกล้าดีดร่างไปหาปุ่มหินอีกอันที่สูงกว่าให้ได้ ที่จริงหากไม่มีบัดดี้คอยดึงเชือกส่งร่างให้ขยับขึ้นไป ฉันคงทำไม่สำเร็จ อาจตกหน้าผาลงมาตาย แต่เพราะรู้ว่าถึงมือเท้าจะพลาด อย่างร้ายแรงฉันก็แค่ร่วงลงมาขั้นต่ำตามเดิม เพราะเชือกที่แขวนติดตัวฉันก็จะดึงให้ห้อยต่องแต่งกับหน้าผาสูงเท่านั้น (เทคนิคการปีนที่สูงแบบนี้ ฉันเคยเรียนในวิชาแคมป์ปิ้ง จึงไม่ได้หวั่นวิตก)

การปีนผาสำหรับคนปกติ อาจเป็นดูธรรมดา แต่สำหรับฉัน ภาวะที่ต้องไปต่อในที่สูงให้ได้อย่างสุดกำลังนั้นเอง ทำให้ฉันตระหนักว่า..ถ้าเราทิ้งความหวาดกลัวลง สิ่งที่มุ่งมั่น..ยังมีหนทางเป็นไปได้เสมอ เพราะพลังจากภายในเรามีสำรองอยู่จริงๆ

ที่มากกกว่าความสุขในการปีนผา คือการได้รู้จักศักยภาพของตนเอง รวมทั้งขาข้างหักยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ของมันต่อไป

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล