Skip to main content

“ฉันจะต้องไม่พิการ”
ฉันคำรามหนักแน่นอยู่ในใจ ในคืนวันหนึ่ง เมื่อนอนอยู่ในท่าทีเอาขาขวาพาดไว้บนกำแพง เพื่อดัดขาไล่ความเมื่อยล้า จากงานหนัก

จากวันนั้น อะไรก็ตามที่ทำให้เข่าของฉันเจ็บน้อยลง ฉันจะทำทันที เริ่มจากการค้นหาวิธีแก้ไข ควบคู่ไปกับการยอมรับความเจ็บปวดของขาข้างขวาว่าเป็นคู่แท้ของชีวิต

ปีแรก ฉันเดินกะเผลกแบบคนขาเป๋ เพราะขาขวาสั้นกว่าขาซ้าย และยังไม่มีพละกำลัง เวลาเดินจึงเห็นว่าตัวเอียงมาก เป็นที่เวทนาตัวเองยามคนจ้องมอง ทำให้ฉันเข้าใจหัวอกคนพิการมากขึ้น

แต่แล้ววันหนึ่ง เหมือนพระมาโปรด ฉันกลับมากรุงเทพฯ แล้วไปเยี่ยมเพื่อนๆที่มหาวิทยาลัย ขณะนั่งอยู่ริมสนามฟุตบอล มองคนอื่นๆเล่นกิฬา อย่างเสียดาย ห่อเหี่ยวในหัวใจ

พี่บลู นักฮอกกี้ทีมชาติ หันมาเห็น จึงหยุดวิ่ง แล้วเดินมาหาฉัน เมื่อเขารู้ว่าฉันขาหัก เขาจึงเปิดขาข้างหักให้ฉันดู มันมีร่องรอยคล้ายๆของฉัน
“อย่าไปเชื่อหมอนะน้อง หมอก็ห้ามพี่เล่นกิฬาแรงๆ แต่พี่ไม่เชื่อ ในที่สุดพี่ก็กลับมาลงทีมชาติได้เหมือนเดิม”

คำของพี่บลู กังวานอยู่ในความทรงจำ คู่ขนานไปกับคำของหมอ หากไม่ใช่พี่บลู ฉันคงไม่เชื่อ แต่เพราะเขาเป็นนักกิฬา และเป็นนักกิฬาที่เอาจริงเอาจังมากกว่าฉัน ฉันจึงต้องเชื่อและเริ่มมีความหวังว่าจะเอาชนะความพิการได้

อีกสิ่งหนึ่งที่พี่บลูมอบให้ เมื่อรู้ว่าฉันท้อแท้ถึงขนาดเข้าไปอยู่ในวัดปฏิบัติธรรมเพื่อลดความเศร้าโศกมาระยะหนึ่งแล้ว พี่บลูหัวเราะฮึ ฮึ เหมือนฉันเป็นเด็กน้อย
“จะอยู่ในวัดหรือนอกวัดก็ต้องมีสติ การมีสติเหมือนการขับรถ ประคองพวงมาลัยไปให้สบายๆ พี่เรียนรู้การมีสติจากการขับรถ อย่าให้ตัวเองเครียดกับอะไรๆ ก็ใช้ได้แล้ว”

สองสิ่งที่ฉันได้มา มีคุณค่ามหาศาล โดยที่พี่บลูอาจไม่รู้ เพราะนับแต่นั้น ฉันไม่ได้เจอกับพี่บลูอีกเลย

แต่ความหวาดหวั่นยังมีอยู่ ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไรหากเดินไม่ได้ หรือต้องเดินขาเดียวพร้อมไม้ค้ำยัน แต่ที่แย่กว่านั้นคือตอนนี้ ฉันจะต้องมีคนช่วยนวดขาให้ทุกคืนก่อนนอน จึงจะนอนหลับได้ เมื่อไม่มีใครนวดให้ฉันต้องเรียนรู้การนวดตัวเอง

เหมือนโชคช่วยอีกหน ในปีที่สี่ของการบาดเจ็บ งานที่เข้ามาให้เลือกในขณะนั้นคือ โครงการศึกษาวิจัย และสร้างเครือข่ายหมอยาพื้นบ้าน ฉันรับทำงานทันที มันช่างสอดคล้องกับปัญหาของฉัน เหมือนฟ้าประทานมาทีเดียว

ฉันตระเวนเก็บข้อมูล สัมภาษณ์หมอยาสมุนไพร หมอนวดพื้นบ้าน และหมอตำแย ในภาคอีสานหลายจังหวัด มีโอกาสเรียนรู้เคล็ดวิชานวดของแต่ละหมอ และได้สูตรยาสมุนไพร หลายขนาน

ตอนนั้น ฉันคิดว่า เราเริ่มทำงานช้าไป ในราวๆ ปี พ.ศ. 2531 บางหมู่บ้านเมื่อฉันไปถึง คำตอบที่ได้คือ หมอยาเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปีที่แล้ว เหลือแต่ห่อยา “ฮากไม้” ไว้ให้ลูกหลานดูต่างหน้า หรือบางรายชราภาพมากจนไม่สามารถรักษาใครได้อีก แต่ก็ยังโชคดี ที่ยังเหลือหมอยาเก่งๆ ให้ฉันได้พบ จนกระทั่งเกิดเป็นเครือข่ายหมอพื้นบ้านขึ้นในที่สุด

กลุ่มหมอยา มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่คนหนุ่มสาว และได้เดินป่าศึกษาสมุนไพรหลายครั้ง

บางครั้งพ่อใหญ่สม พ่อหมอใหญ่แห่งอำเภอพล พาฉันเดินลุยตามป่าโคกเป็นวันๆ เพื่อรู้จักกับต้นยาและสรรพคุณยา แม้แข้งขาของฉันจะโอดโอยฉันก็ไม่ย่อท้อ ด้วยความอยากรู้

ฉันได้รับการถ่ายทอดวิชาแบบวิถีโบราณอย่างน่าภูมิใจ แต่บางวิชาต้องใช้คาถา ฉันไม่กล้าที่จะรับเพราะพ่อหมอบอกว่า ต้องมีข้อปฏิบัติ ที่ทางอีสานเรียกว่า “คะลำ” หรือข้อห้าม สำหรับคนที่จะใช้คาถานั้น เช่น ห้ามนั่งบนกี่ทอผ้า ห้ามนั่งหัวบันได ห้ามลอดราวตากผ้า หรืออื่นๆ อีก ...ฉันพิจารณาตัวเองแล้ว คงรับมาปฏิบัติไม่ได้ จึงไม่ได้มาสักคาถาเดียว

เรื่องคาถา น่าเชื่อถือไม่น้อย เพราะเจอกับตัวเอง

ครั้งหนึ่ง ตอนไปช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าว ฉันถูกแมลงป่อง ต่อยที่ปลายนิ้ว หมอเป่ามาเป่าให้เพี้ยงเดียว หายเป็นปลิดทิ้ง ฉันเชื่ออย่างไม่สงสัย เพราะว่ามันหายปวดในบัดดล (ไม่กล้าถามว่าคาถาอะไร กลัวความเจ็บปวดจะกลับมา)

การทำงานกับหมอพื้นบ้านฉันมีความสุขมาก ได้ความรู้ ได้รับความเอ็นดูจากพ่อหมอแม่หมอ และที่สำคัญเหนืออื่นใด เขาไม่รำคาญยามฉันขอร้องให้ช่วยนวดขาที่แสนจะเจ็บปวดของฉัน จนฉันรู้ว่าวิธีการนวดของแต่ละคน ว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ข้อดีของคนที่ใกล้พิการ คือความต้องการจะหาย ฉันจึงกระหายที่จะเรียนรู้วิชานวด และในที่สุดฉันก็ทำได้...ฉันเป็นหมอนวด ที่รู้จักภาวะความเจ็บปวดของคนประเภทเดียวกับฉัน ฉันรู้ว่าลักษณะกล้ามเนื้อแบบนี้ สภาพเอ็นและกระดูกอย่างนี้ ควรจะนวดอย่างไร

ฉันนวดให้คนอื่นได้ แต่ฉันก็ยังเจ็บปวดขาอยู่ดี

ผ่านมาหลายปี ฉันได้วิชามากขึ้น ทั้งการนวด การอบสมุนไพร การทำยาหม่อง การทำน้ำมันนวดชนิดพิเศษ โดยเอาความต้องการของเองเป็นที่ตั้ง ฉันได้ใช้สิ่งเหล่านี้มาเพื่อการดูแลตัวเอง คิดว่า ถ้าฉันจะกลายเป็นคนพิการ แต่ฉันก็ยังทำอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพของตัวเองและคนอื่นๆ

การเป็นหมอนวดที่ทำอย่างไม่หวังผลตอบแทนทางการเงิน กลับทำให้ฉันมีเงิน

การเป็นคนที่รู้จักสมุนไพร ทำให้ฉันมีความสุข ที่ได้อยู่กับต้นไม้อย่างรู้จักคุณค่าของเขามากกว่าแค่เป็นต้นไม้ต้นหนึ่ง

การปลูกสมุนไพรและเฝ้าดูเขาเติบโตเป็นสมบัติของโลก ฉันว่าแค่นี้ก็น่าจะพอสำหรับคนอย่างฉัน

ทุกวันนี้ เวลาใครถามว่า เรียนวิชาเหล่านี้มาจากไหน ฉันจะบอกว่า “เรียนจากหมอพื้นบ้านภาคอีสาน” เพราะที่ฉันเรียนรู้ไม่ใช่แค่วิชาหมอ แต่ฉันได้เรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมของความเป็นหมอพื้นบ้าน ที่มีค่าครูค่าคายในการรักษาเพียงไม่กี่บาท แต่หมอได้รับการดูแลเรื่องอื่นๆ เช่น ช่วยงานในไร่นา บ้างก็แบ่งข้าวปลาอาหารมาให้หมอตลอดปี

เมื่อมีพิธีไหว้ครู จะเห็นผู้คนจากทั่วสารทิศมารวมกัน มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเก่งกาจของหมอคนนั้น ดังนั้น ในชีวิตฉัน อีกหนึ่งคนที่จะต้องจารึกชื่อไว้ ในนามของผู้มีบุญคุณ ในการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ คือ คุณยงยุทธ ตรีนุชกร หัวหน้าโครงการ ที่เป็นทั้งอาจารย์และเพื่อนร่วมงานของฉันตลอดสองปีเต็ม (ซึ่งปัจจุบันนี้ ฉันได้ข่าวว่ากำลังอยู่กับโรคร้ายอย่างมีความสุข บนเทือกเขาภูพาน)
มีวิชาในการดูแลตัวเอง แต่ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นไปจากความเจ็บปวด เพียงแต่ยามก่อนนอน ฉันสามารถนวดขา กดขา หรือทำโยคะ เพื่อจัดการกล่อมเจ้าความเจ็บให้อ่อนแรงลงไปบ้าง

อาการเจ็บแบบฉัน เป็นเจ็บที่น่าประหลาด เพราะเวลากลางวันเคลื่อนไหวมากๆ จะไม่ค่อยรู้สึก แต่พอล้มตัวลงนอน มันจะจู่โจมเข้ามาเป็นอาการเจ็บแปลบๆวิ่งพล่านขึ้นลงไปทั้งขา สลับปวดหนึบๆในข้อเข่า ขยับเข่าจะดังกึกกัก เอ็นเส้นที่เจ็บล้ามากที่สุดคือเส้นที่พาดผ่านรอยแผลจากที่กระดูกทิ่มออกมา ฉันรู้สึกเหมือนเอ็นเส้นนี้มันอยู่ผิดที่ผิดทางยากที่จะมีหมอนวดมือดีมาคุ้ยกลับได้ หรือว่ามันเป็นเส้นประสาทที่ถูกกระทบกระเทือนจนพิการไปแล้วก็ได้ ฉันจึงได้แต่เอาไม้แหลมๆกดแรงๆ กระตุ้นให้ประสาททำงาน จนเจ็บจี๊ดอย่างสะใจ จึงปล่อยออกเป็นอันว่าต้องใช้วิธี เกลือจิ้มเกลือ เจ็บสู้เจ็บ จึงจะได้นอนหลับ

ผ่านมาห้าปี ความรู้สึกวิตกว่าอาจจะเป็นคนพิการลดน้อยลง แต่ยังรู้สึกถึงอาการเสื่อมของข้อเข่าที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

ฉันจึงมองหาวิธีจัดการกับมันใหม่....อย่างสนุกในอารมณ์

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร