Skip to main content

สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด

ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด

.....

หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน เมืองลำพูน

ปีนั้น ฉันย้ายไปอยู่เมืองปาย และวนเวียนเดินทางอยู่แถวๆ ภาคเหนือ จึงได้แวะเยี่ยมและค้างแรมที่บ้านอันร่มรื่นย์น่าอยู่ของพี่อ้อย เมื่อฉันบ่นว่าเจ็บขา พี่อ้อยคงสงสารจึงฝังเข็มให้ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นเข็มเล็กๆ จิ้มลงไปในร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นขาข้างหัก ช่วงที่พี่อ้อยหมุนเข็มกระตุ้น ฉันรู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าวิ่งปรู๊ดปร๊าดไปทั่วร่าง วิ่งขึ้นไปที่สมองแล้วลงมาที่เท้า หมุนวนอยู่อย่างนั้น ความสุขลึกๆ ซ่านไปทั้งกายทั้งใจ

ตอนนั้นคิดว่า คนที่เสพยาเสพติดแล้วติดสุขมันเป็นแบบนี้นี่เอง สุขแบบพร่าๆ เบลอๆ มารู้ทีหลังว่าเป็นความเข้าใจผิด คิดไปเอง ทั้งเรื่องการฝังเข็มและเสพยา เพราะการฝังเข็มครั้งต่อๆ มา ฉันไม่มีอาการสุขล้ำลึกแบบนั้นอีกเลย

ครั้งนั้น..อาจเป็นไปได้ว่า พี่อ้อยจิ้มเข้าไปที่จุดแห่งความสุข (มั้ง) เพราะปีต่อๆ มา หมอฝังเข็มคนอื่น ที่แทงเข็มรักษาขาให้ ช่วยให้เส้นที่อยู่ผิดที่ผิดทางกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ความปวดล้าลดน้อยลง น้อยลงจนกระทั่งทุกวันนี้แทบไม่มีอาการนั้นเลย แต่ไม่มีครั้งไหนที่ความสุขวิ่งซ่านไปทั่วร่างอีก

เรื่องการฝังเข็ม ฉันได้ฝังกับหมอที่เรียนมาจากป่าทั้งนั้น เพราะว่าเคยไปปรึกษาหมอฝังเข็มในโรงพยาบาล บางที่คุณหมอวิเคราะห์อาการของฉันแล้ว บอกว่าฉันต้องฝังหลายครั้งติดต่อกัน ซึ่งฉันไม่สามารถจะอยู่รับการรักษายาวนานได้ (ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่) จึงเลิกราไม่พยายามรักษาตัวเองในโรงพยาบาล แต่จะใช้วิธีรักษาตามรายสะดวกของฉันเอง นานๆ จะได้เจอหมอ หมอทั้งหลายก็แสนจะนอกระบบ โชคดีที่ฉันได้เจอหมอเหล่านี้ และฉันขอยืนยันว่า ขาข้างหักของฉันยังทำงานอยู่ได้เพราะการรักษาด้วยการฝังเข็ม เท่าๆ กับการนวด

ครั้งสุดท้าย ที่เกิดเรื่องเกี่ยวกับขา จนฉันคิดว่า วาระสุดท้ายแห่งการเดินได้คงมาถึงแล้ว มันคือปีที่แล้วนี่เอง

ปีที่แล้ว เป็นปีที่ฉันนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานที่สุด นั่งโต๊ะทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ติดต่อกันราวๆ 6 เดือน

ในเดือนที่สามของการทำงาน ทุกครั้งที่ลุกขึ้นยืน ขาข้างหักจะไร้เรี่ยวแรง และรู้สึกไร้น้ำหนักจนไม่สามารถจะก้าวเดินได้ ทั้งในข้อเข่าก็เจ็บจี๊ด กระดูกข้อต่อติดขัดเสียงดังกึกกัก  ฉันคิดในใจว่า หรือว่าวันที่หมอคนนั้นพิพากษาไว้มาถึงแล้วจริงๆ เพราะเกิดอาการถี่ๆ และทุกวัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ฉันเคยเข้าใจว่าการรักษาน่าจะได้ผลดี และน่าจะไม่ต้องเป็นคนขาพิการในบั้นปลาย

แต่ครั้งที่ร้ายแรงได้เกิดขึ้น เมื่อลุกขึ้นยืนจะเดินออกมาจากโต๊ะทำงาน ก้าวเท้าจะเดินต่อ เจ็บจี๊ดที่เข่าจนทรุดซวนเซ ฉันตกใจหยุดยืนนิ่งอึ้ง ถามตัวเองว่าถ้าฉันก้าวเดินแล้วเจ็บมากกว่านี้ล่ะ (เจ็บแบบนี้ เคยเป็นในสมัยที่ขาหักใหม่ๆ เท่านั้น) แต่ถ้าฉันไม่เดิน ถ้าฉันมัวแต่โอดโอยกลัวเจ็บ แล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างไร ถ้าฉันกลัว ฉันยิ่งจะเจ็บ นั่นคือข้อสรุปที่ฉันบอกกับตัวเอง ค่อยๆ ตั้งสติ ยืนตัวตรง อาการเจ็บหายไปแล้ว ที่เหลือคือการตัดสินใจว่าจะนั่งลงหรือเดินต่อ ในขณะนั้น..ฉันคิดถึงอาการทุกขเวทนาทางกายที่เกิดเมื่อครั้งวิปัสสนา  และฉันเห็นการเกิดดับที่เป็นปกติธรรมดาของมัน และเห็นจิตที่ติดข้องขลาดกลัว พยายามเข้าไปบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามที่อยากให้เป็น คือไม่เจ็บไม่ปวด

นาทีที่ฉันตัดสินใจว่า ตายเป็นตายในสมาธิ ก็เคยผ่านมาแล้ว ฉะนั้นการเจ็บเข่าหนนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาวะสมาธิ แต่ฉันรู้ว่าทุกอย่างล้วนเกิดจากการปรุงแต่งและยึดติด ทั้งความเจ็บปวดและความไม่ต้องการให้เจ็บปวด

นาทีนั้น ฉันตัดสินใจอีกหน เจ็บเป็นเจ็บ หักเป็นหัก ให้มันรู้กันไป ถ้ามันจะทำให้ฉันเดินไม่ได้อีกแล้วก็ให้รู้กันไปเลย ในวินาทีที่เหยียดขาออกหากมันจะเจ็บหรือหัก หรือจะล้มลงก็ให้รู้กันไป จริงๆ หากไม่ใช่มันจะต้องผ่านพ้นไปเหมือนที่เคยผ่านบางสภาวะในสมาธิ

“ให้มันตายไปเลย” ฉันคำรามในใจ แล้วจึงสะบัดขาก้าวเดินอย่างแรงและเร็ว... ก้าวที่สอง ที่สาม และก้าวต่อๆ มาก็เป็นก้าวปกติ ที่ไม่เหลือเค้าของความเจ็บปวดอีกเลย

(นี่แหละค่ะ คือความลังเลที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แต่บอกได้เพียงว่า บางอย่างอาจเกิดขึ้นเพราะชะตากรรม แต่การพลิกผันก็อาจทำได้ ถ้าเรารู้ว่าเบื้องหลังของมันคืออะไร)

วันนี้ ฉันเชื่อมั่นว่าขาข้างหักของฉันกลับมาทำงานได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องฝืนทน ไม่ต้องพยายามก้าวเดิน เพราะพละกำลังที่เต็มเปี่ยมของมันได้กลับคืนมาแล้ว

คุณอาจคิดว่า เป็นเพราะฉันคิดไปเอง แบบใช้หลักจิตวิทยารักษาตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรเหมือนกัน

แต่อยากบอกกับคนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทรมานตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า “ชะตากรรมพลิกผันได้ ด้วยตัวของคุณเอง”

ทุกวันนี้ ฉันกลับมาทำงานหนักในสวน (หนักจริงๆ ยืนยัน) และยังแบกเป้เดินทางไกลใบโตๆ ได้เท่าเก่า ขับรถได้ไกลๆ โดยไม่ปวดขาตอนกลางคืน ยังเหลือแต่การกลับไปเดินทางไกลรอบหิมาลัยอีกหน เพื่อพิสูจน์ว่า ฉันคือคนปกติจริงๆ ยิ่งกว่าครั้งนั้น ที่เคยลากขาข้างพิการปีนป่ายรอบอันนาปุระนะ แหงนดูยอดเขามัจฉาปูฉะเรอยู่ เกือบสิบวัน ทั้งที่ต้องทรมานกายเพื่อความสบายใจ เพราะคิดว่าไหนๆ ก็จะเดินไม่ได้แล้ว ขอเดินเท้าบนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์เสียให้คุ้ม  

นั่นคือการเดินทางเท้าที่ไกลที่สุดเมื่อราวๆ 8 ปีก่อน คาดไม่ถึงว่าวันนี้ ฉันจะยังเดินได้อย่างปกติ
กว่า 20 ปี....จากความสิ้นหวังท้อแท้ กลายมาเป็นพลัง ให้ดิ้นรนหาทางออก จนฉันพบว่า
“เสี้ยววินาทีที่โชคร้าย อาจกลายเป็นเสี้ยววินาทีที่โชคดีได้ หากเรียนรู้ที่จะเป็น”

ก้าวเดินที่เหลืออยู่ ฉันจึงรำลึกเสมอว่า มันคือกำไรชีวิต ที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
ประมาณตีสาม เราค่อยๆไต่ขึ้นสู่เขตภูเขาสูง ฉันนึกเดาเอาว่าที่นี่น่าจะเป็นเขตรัฐสลังงอร์ เพราะว่าเผอิญสายตาปะทะกับป้ายที่เขียนว่า เกนติ้ง ไฮแลนด์ มีลูกศรชี้ไปทางซ้ายมือ แต่รถยังมุ่งหน้าตรงไป กระทั่งฉันเห็นเมืองเล็กๆมีไฟฟ้าสว่างไสว สาดจับที่รูปปั้นขององค์พระศิวะสีทองอร่ามความสูงร่วมร้อยเมตร ยืนตระหง่านตรงปากทางขึ้นถ้ำซึ่งมีขนาดใหญ่โตมโหฬาร ไม่น้อยไปกว่ากัน ฉันรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นถ้ำบาตู ฮินดูสถานที่สำคัญของคนมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย และถัดมาอีกไม่เกินครึ่งชั่วโมง มีป้ายเขียนไว้ว่า พิพิธภัณฑ์โอรัง อัสลี…
เงาศิลป์
คุณเคยเดินทางไปในทิศทางที่ไม่คุ้นเคยบ่อยไหม ขณะนั้นหัวใจของคุณเต้นเป็นจังหวะอะไร มันระทึกตื่นเต้นโครมครามปานช้างป่าตกมันหรือเปล่า หรือว่าเรียบเรื่อยราวห่านหงส์กระดิกปลายเท้าแผ่วใต้สายน้ำนิ่ง แล้วเคลื่อนร่างไปข้างหน้าอย่างละมุน แม้แต่ผิวน้ำก็แทบจะไม่กระจาย
เงาศิลป์
กำแพงบางๆ ที่กั้นระหว่างความทุกข์กับความสุข คือความกระหายใคร่รู้ในบางสิ่งบางอย่างที่ต้องหาคำตอบด้วยตนเอง จะเรียกสิ่งนั้นว่า ความท้าทาย การผจญภัย หรือความใฝ่รู้ ก็น่าจะได้ แต่บางทีมันกลับเป็นเครื่องจองจำบีบรัดหัวใจให้อึดอัดจนหายใจไม่ออก และฉันไม่ชอบอารมณ์นั้นเลย ฉันจึงต้องพยายามจะเป็นฝ่ายชนะมันด้วยการออกเดินทางเพื่อไปหาคำตอบ แม้จะอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็ตาม  
เงาศิลป์
ป่าในสำนึก คือวิหารอันโอฬาร ที่เปลี่ยนแปลงรูปทรงทุกขณะที่เคลื่อนเข้าใกล้ มีพลังดึงดูด มีมนต์สะกด มีความยิ่งใหญ่ที่ข่มให้เราตัวเล็กลง ฉันจึงหลงรักการถูกครอบงำนี้ อย่างไม่อยากถอนใจ
เงาศิลป์
ฉันได้ตายลงแล้วจริงๆ เพราะเบื้องหน้าที่มองเห็นคือท่านท้าวพญายมราช "ทำไมเจ้าจึงเลือกประตูบานที่สาม"น้ำเสียงเข้มขรึมไม่ด้อยไปกว่าท่วงท่าอันน่าเกรงขามบนบัลลังค์ ฉันซึ่งนั่งคุกเข่าก้มหน้าหลบสายตา ยิ่งต้องทำตัวห่อลีบ ประหนึ่งหลบหลีกคมหอกดาบที่พุ่งมาพร้อมกับคำถามนั้น
เงาศิลป์
  ลูกรักของแม่ ทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้เรารู้จักคำว่าสูญเสียได้อย่างลึกซึ้ง แม้แต่แม่เองก็ยังต้องครุ่นคิดย้อนหลังไปว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาไปแก้ไขหรือป้องกันการจากพรากที่แสนจะรันทดนี้ได้ ในตอนไหนได้บ้าง แม่ก็จะทำ ถ้าแม่รู้ว่าลูกจะอยู่กับเราไม่นาน แม่จะไม่ส่งลูกไปอยู่กับคนอื่น แม้คนนั้นจะเป็นปู่กับย่าก็ตาม ถ้าแม่รู้ว่าลูกป่วยหนักและมีเวลาเหลืออีกไม่นานนัก แม่จะไม่เชื่อหมอที่วินิจฉัยในครั้งแรก ถ้ารักษาลูกได้ด้วยวิธีใดๆ เพื่อให้ลูกหายขาด แม่ก็จะทำ แต่ก็นั่นล่ะ พูดไปเมื่อสายเสียแล้ว จะมีประโยชน์อะไร ที่จะรำพัน ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ คือ แม่อยากบอกกับคนที่เป็นพ่อแม่ทุกคนว่า…
เงาศิลป์
รุ่งขึ้นอีกวัน หลังจากเก็บอัฐิของลูกแล้ว ความเศร้าโศกค่อยๆ ถอยห่างไปจากเรา ในตอนสาย พ่อได้ประกาศเจตนารมย์ให้แก่ญาติมิตรทั้งหลายทราบว่า พ่อจะตั้ง “กองบุญแม่ชีป่าน” ขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนกิจกรรมด้านธรรมะ แก่เยาวชนตามเจตจำนงค์ของลูกที่เคยบอกกับใครๆไว้ว่า อยากทำงานสืบต่อพระพุทธศาสนา แม่เชื่อว่า ในขณะที่พ่อกล่าวคำขอบคุณทุกๆคนที่นั่งอยู่ในถ้ำ ตอนนั้น ลูกได้รับรู้ด้วยเป็นแน่แท้
เงาศิลป์
    ลูกสิ้นใจท่ามกลางวงล้อมของเหล่าผู้ที่รักและเมตตาลูก โดยเฉพาะหลวงพ่อซึ่งนั่งสมาธิสงบนิ่งตลอดเวลา ตั้งแต่ลูกมีอาการใกล้จะดับ จนผ่านนาทีแห่งการพลัดพรากนิรันดร์ไปแล้ว ท่านก็ยังนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่อย่างนั้น อีกหลายนาที
เงาศิลป์
แม่ไล่สายตามองหาคำว่ามะเร็ง ในหน้ากระดาษบันทึกของลูก ตั้งแต่หน้าแรกจนกระทั่งหน้าสุดท้าย ในจำนวนกว่า 300 หน้า ไม่มีสักคำเดียวที่ลูกจะเขียนถึงมัน  
เงาศิลป์
  อาจเป็นเพราะว่าแม่อยู่กับลูกตลอดเวลา จนกระทั่งคิดว่าความสงบนิ่งคืออาการปกติที่ลูกเป็นอยู่ แน่ล่ะ นิสัยของลูกไม่เหมือนเด็กอื่นๆมาตั้งแต่เล็กๆแล้ว ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมาตั้งแต่ตัวน้อยๆ บางครั้งแม่เคยเห็นลูกนั่งเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อยู่คนเดียว ทั้งแต่งตัวและหวีผมให้มันครั้งละนานๆ เป็นชั่วโมง สองชั่วโมง โดยไม่เบื่อหน่าย ก็นั่นคือกิจกรรมของเด็ก ภายในใจอาจมีจินตนาการมากมาย แต่ขณะที่เป็นคนป่วย การใช้เวลานิ่งเงียบอยู่กับตัวเองของลูก คือการเขียนบันทึกและอ่านหนังสือ ความนิ่งเงียบที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกดูคล้ายผู้ใหญ่คนหนึ่ง ที่แม้กระทั่งพ่อกับแม่ก็ยังเกรงใจ ไม่กล้ารบกวน  
เงาศิลป์
  วันที่ 1 สิงหาคม 2551 เวลาประมาณ 18 .30 น. ลูกของแม่ได้กลายเป็นลูกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในนามนักบวชหญิง ผู้ถือศีล 8
เงาศิลป์
  ชีวิตในแต่ละวันเป็นไปอย่างสงบเงียบ เพราะกิจกรรมหลักของลูกคือกินยา กินอาหาร อ่านหนังสือ สลับเขียนบันทึก ส่วนพ่อกับแม่ นอกจากจะต้องทำอาหาร ตรวจอาหาร นวด พอกยา อาบน้ำให้ อุ้มลูกไปห้องน้ำ อุ้มมานอกห้อง ระยะหลังยังต้องอุ้มลงมาอาบแดดยามเช้าๆ ที่แคร่ไม้ไผ่หน้ากุฏิ และต้องผลัดเปลี่ยนกันลงไปข้างล่างเพื่อทำธุระส่วนตัว กับซื้อหาอาหาร