Skip to main content

สวัสดีค่ะ ขาดหายไปนานสำหรับเรื่องของชะตากรรมคนขาหัก ขอสารภาพว่าที่ทิ้งช่วงห่างหายไปนานขนาดนี้ เพราะว่าขาดความเชื่อมั่นที่จะเขียน (อย่างรุนแรง) เนื่องจากรู้สึกว่าท่านผู้อ่านประชาไท ค่อนข้างมีภูมิปัญญาสูง แต่คนเขียนปัญญาต่ำ ครุ่นคิดอยู่นานว่าจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี ในท่ามกลางสภาพปัญหาการดิ้นรนรักษาตนเองและบางครั้งได้รับการดูแลอย่างไม่คาดคิด

ค่ะ...ตอนนี้ขอสรุปรวบรัดเล่าให้ฟังว่า เกิดอะไรขึ้นในที่สุด

.....

หลายครั้งที่ได้พบและเรียนรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากผู้รู้ แต่ครั้งที่เป็นประสบการณ์ตรงที่สุดก็คือ การฝังเข็มจากพี่อ้อย (กัลยา ใหญ่ประสาน) รุ่นพี่ที่เคารพรัก เจ้าของร้านอาหารสุขภาพโขง-สาละวิน เมืองลำพูน

ปีนั้น ฉันย้ายไปอยู่เมืองปาย และวนเวียนเดินทางอยู่แถวๆ ภาคเหนือ จึงได้แวะเยี่ยมและค้างแรมที่บ้านอันร่มรื่นย์น่าอยู่ของพี่อ้อย เมื่อฉันบ่นว่าเจ็บขา พี่อ้อยคงสงสารจึงฝังเข็มให้ เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เห็นเข็มเล็กๆ จิ้มลงไปในร่างกาย โดยเฉพาะส่วนที่เป็นขาข้างหัก ช่วงที่พี่อ้อยหมุนเข็มกระตุ้น ฉันรู้สึกเหมือนมีไฟฟ้าวิ่งปรู๊ดปร๊าดไปทั่วร่าง วิ่งขึ้นไปที่สมองแล้วลงมาที่เท้า หมุนวนอยู่อย่างนั้น ความสุขลึกๆ ซ่านไปทั้งกายทั้งใจ

ตอนนั้นคิดว่า คนที่เสพยาเสพติดแล้วติดสุขมันเป็นแบบนี้นี่เอง สุขแบบพร่าๆ เบลอๆ มารู้ทีหลังว่าเป็นความเข้าใจผิด คิดไปเอง ทั้งเรื่องการฝังเข็มและเสพยา เพราะการฝังเข็มครั้งต่อๆ มา ฉันไม่มีอาการสุขล้ำลึกแบบนั้นอีกเลย

ครั้งนั้น..อาจเป็นไปได้ว่า พี่อ้อยจิ้มเข้าไปที่จุดแห่งความสุข (มั้ง) เพราะปีต่อๆ มา หมอฝังเข็มคนอื่น ที่แทงเข็มรักษาขาให้ ช่วยให้เส้นที่อยู่ผิดที่ผิดทางกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ดีขึ้น ความปวดล้าลดน้อยลง น้อยลงจนกระทั่งทุกวันนี้แทบไม่มีอาการนั้นเลย แต่ไม่มีครั้งไหนที่ความสุขวิ่งซ่านไปทั่วร่างอีก

เรื่องการฝังเข็ม ฉันได้ฝังกับหมอที่เรียนมาจากป่าทั้งนั้น เพราะว่าเคยไปปรึกษาหมอฝังเข็มในโรงพยาบาล บางที่คุณหมอวิเคราะห์อาการของฉันแล้ว บอกว่าฉันต้องฝังหลายครั้งติดต่อกัน ซึ่งฉันไม่สามารถจะอยู่รับการรักษายาวนานได้ (ทั้งที่กรุงเทพฯและเชียงใหม่) จึงเลิกราไม่พยายามรักษาตัวเองในโรงพยาบาล แต่จะใช้วิธีรักษาตามรายสะดวกของฉันเอง นานๆ จะได้เจอหมอ หมอทั้งหลายก็แสนจะนอกระบบ โชคดีที่ฉันได้เจอหมอเหล่านี้ และฉันขอยืนยันว่า ขาข้างหักของฉันยังทำงานอยู่ได้เพราะการรักษาด้วยการฝังเข็ม เท่าๆ กับการนวด

ครั้งสุดท้าย ที่เกิดเรื่องเกี่ยวกับขา จนฉันคิดว่า วาระสุดท้ายแห่งการเดินได้คงมาถึงแล้ว มันคือปีที่แล้วนี่เอง

ปีที่แล้ว เป็นปีที่ฉันนั่งทำงานกับคอมพิวเตอร์นานที่สุด นั่งโต๊ะทุกวัน วันละหลายชั่วโมง ติดต่อกันราวๆ 6 เดือน

ในเดือนที่สามของการทำงาน ทุกครั้งที่ลุกขึ้นยืน ขาข้างหักจะไร้เรี่ยวแรง และรู้สึกไร้น้ำหนักจนไม่สามารถจะก้าวเดินได้ ทั้งในข้อเข่าก็เจ็บจี๊ด กระดูกข้อต่อติดขัดเสียงดังกึกกัก  ฉันคิดในใจว่า หรือว่าวันที่หมอคนนั้นพิพากษาไว้มาถึงแล้วจริงๆ เพราะเกิดอาการถี่ๆ และทุกวัน ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ฉันเคยเข้าใจว่าการรักษาน่าจะได้ผลดี และน่าจะไม่ต้องเป็นคนขาพิการในบั้นปลาย

แต่ครั้งที่ร้ายแรงได้เกิดขึ้น เมื่อลุกขึ้นยืนจะเดินออกมาจากโต๊ะทำงาน ก้าวเท้าจะเดินต่อ เจ็บจี๊ดที่เข่าจนทรุดซวนเซ ฉันตกใจหยุดยืนนิ่งอึ้ง ถามตัวเองว่าถ้าฉันก้าวเดินแล้วเจ็บมากกว่านี้ล่ะ (เจ็บแบบนี้ เคยเป็นในสมัยที่ขาหักใหม่ๆ เท่านั้น) แต่ถ้าฉันไม่เดิน ถ้าฉันมัวแต่โอดโอยกลัวเจ็บ แล้วฉันจะมีชีวิตอยู่ต่อได้อย่างไร ถ้าฉันกลัว ฉันยิ่งจะเจ็บ นั่นคือข้อสรุปที่ฉันบอกกับตัวเอง ค่อยๆ ตั้งสติ ยืนตัวตรง อาการเจ็บหายไปแล้ว ที่เหลือคือการตัดสินใจว่าจะนั่งลงหรือเดินต่อ ในขณะนั้น..ฉันคิดถึงอาการทุกขเวทนาทางกายที่เกิดเมื่อครั้งวิปัสสนา  และฉันเห็นการเกิดดับที่เป็นปกติธรรมดาของมัน และเห็นจิตที่ติดข้องขลาดกลัว พยายามเข้าไปบังคับบัญชาให้มันเป็นไปตามที่อยากให้เป็น คือไม่เจ็บไม่ปวด

นาทีที่ฉันตัดสินใจว่า ตายเป็นตายในสมาธิ ก็เคยผ่านมาแล้ว ฉะนั้นการเจ็บเข่าหนนี้ แม้จะไม่ได้อยู่ในสภาวะสมาธิ แต่ฉันรู้ว่าทุกอย่างล้วนเกิดจากการปรุงแต่งและยึดติด ทั้งความเจ็บปวดและความไม่ต้องการให้เจ็บปวด

นาทีนั้น ฉันตัดสินใจอีกหน เจ็บเป็นเจ็บ หักเป็นหัก ให้มันรู้กันไป ถ้ามันจะทำให้ฉันเดินไม่ได้อีกแล้วก็ให้รู้กันไปเลย ในวินาทีที่เหยียดขาออกหากมันจะเจ็บหรือหัก หรือจะล้มลงก็ให้รู้กันไป จริงๆ หากไม่ใช่มันจะต้องผ่านพ้นไปเหมือนที่เคยผ่านบางสภาวะในสมาธิ

“ให้มันตายไปเลย” ฉันคำรามในใจ แล้วจึงสะบัดขาก้าวเดินอย่างแรงและเร็ว... ก้าวที่สอง ที่สาม และก้าวต่อๆ มาก็เป็นก้าวปกติ ที่ไม่เหลือเค้าของความเจ็บปวดอีกเลย

(นี่แหละค่ะ คือความลังเลที่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร แต่บอกได้เพียงว่า บางอย่างอาจเกิดขึ้นเพราะชะตากรรม แต่การพลิกผันก็อาจทำได้ ถ้าเรารู้ว่าเบื้องหลังของมันคืออะไร)

วันนี้ ฉันเชื่อมั่นว่าขาข้างหักของฉันกลับมาทำงานได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องฝืนทน ไม่ต้องพยายามก้าวเดิน เพราะพละกำลังที่เต็มเปี่ยมของมันได้กลับคืนมาแล้ว

คุณอาจคิดว่า เป็นเพราะฉันคิดไปเอง แบบใช้หลักจิตวิทยารักษาตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจะพิสูจน์ได้อย่างไรเหมือนกัน

แต่อยากบอกกับคนที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทรมานตัวเองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า “ชะตากรรมพลิกผันได้ ด้วยตัวของคุณเอง”

ทุกวันนี้ ฉันกลับมาทำงานหนักในสวน (หนักจริงๆ ยืนยัน) และยังแบกเป้เดินทางไกลใบโตๆ ได้เท่าเก่า ขับรถได้ไกลๆ โดยไม่ปวดขาตอนกลางคืน ยังเหลือแต่การกลับไปเดินทางไกลรอบหิมาลัยอีกหน เพื่อพิสูจน์ว่า ฉันคือคนปกติจริงๆ ยิ่งกว่าครั้งนั้น ที่เคยลากขาข้างพิการปีนป่ายรอบอันนาปุระนะ แหงนดูยอดเขามัจฉาปูฉะเรอยู่ เกือบสิบวัน ทั้งที่ต้องทรมานกายเพื่อความสบายใจ เพราะคิดว่าไหนๆ ก็จะเดินไม่ได้แล้ว ขอเดินเท้าบนเส้นทางศักดิ์สิทธิ์เสียให้คุ้ม  

นั่นคือการเดินทางเท้าที่ไกลที่สุดเมื่อราวๆ 8 ปีก่อน คาดไม่ถึงว่าวันนี้ ฉันจะยังเดินได้อย่างปกติ
กว่า 20 ปี....จากความสิ้นหวังท้อแท้ กลายมาเป็นพลัง ให้ดิ้นรนหาทางออก จนฉันพบว่า
“เสี้ยววินาทีที่โชคร้าย อาจกลายเป็นเสี้ยววินาทีที่โชคดีได้ หากเรียนรู้ที่จะเป็น”

ก้าวเดินที่เหลืออยู่ ฉันจึงรำลึกเสมอว่า มันคือกำไรชีวิต ที่ต้องใช้ให้คุ้มค่า

บล็อกของ เงาศิลป์

เงาศิลป์
  พักหลังๆนี้ลูกอ่านหนังสือเยอะมาก บางครั้งไม่มีหนังสือใหม่มาให้อ่าน ลูกจะเฝ้ารอคนที่รับปากว่าจะเอาหนังสือมาให้ หรือว่าเมื่อพ่อไปในเมือง ลูกก็รอว่าน่าจะมีหนังสือมาให้บ้าง
เงาศิลป์
 
เงาศิลป์
กระปุก หมาเพื่อนรักของลูกต้องกลับไปบ้านบัว เพราะพ่อพามันมาเยี่ยมลูกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น วันที่มันกลับไปกับพ่อ ลูกมองตามอย่างอาลัย แต่คงเข้าใจในความจำเป็น แม้จะรักมันมากแต่ลูกก็รู้ว่ามันต้องกลับไป เพราะที่นี่ไม่ใช่ที่อยู่ของมัน
เงาศิลป์
ในราวกลางเดือนมิถุนายน ลูกยังลุกขึ้นนั่งได้เองบ้าง และบันทึกประจำวัน นอกจากจะเป็นเรื่องการกินยา อาหาร ที่คล้ายๆกันในแต่ละวัน จะแตกต่างไปบ้างเมื่ออาหารบางอย่างที่ตรวจต่อมไทมัสแล้วกินไม่ได้ ทั้งที่วันก่อนๆเคยกินได้ เช่น บันทึกของวันที่ 19 มิถุนายน ลูกเขียนว่า กินแกงอ่อมไม่ได้
เงาศิลป์
ลูกทำสมาธิด้วยการภาวนาพุทโธตั้งแต่ครั้งแรกที่หลวงพ่อมาสอนให้ ลูกจะนอนหลับตานิ่งๆภาวนา เมื่อวานนี้ แม่ชีคนสวยของลูก มาแนะนำว่า เวลาบริหารร่างกาย ด้วยการยกแขน ยกขา คู้เหยียด จากที่เคยนับจำนวนครั้ง ให้เปลี่ยนมาเป็นท่อง พุท-โธ ยามที่หดขาเข้า พร้อมกับหายใจเข้า ท่องว่าพุท ยามที่เหยียดขาออก พร้อมทั้งหายใจออก ลูกก็ท่องว่า โธ ลูกก็ทำตามนั้น
เงาศิลป์
วันที่ 13 มิถุนายน พ่อต้องไปบรรยายเรื่องเครือข่ายอินแปงกับการพัฒนาสังคมเกษตรกรรมรอบเทือกภูพานที่สกลนคร ลูกตื่นแต่เช้าตรู่ พร้อมพ่อ ในเวลา 03.55 น. พ่อออกไปแล้วลูกนอนต่อ จนตื่นราวๆเจ็ดโมงเช้า เปิดเสียงเทศน์ของหลวงพ่อที่ลูกบันทึกไว้ในโทรศัพท์ฟังวันนี้สดชื่นมาก พ่อบอกว่าหน้าตาแจ่มใส ฉี่ ถ่ายเหลืองเป็นก้อนปกติ(เยอะ) ชงยาญี่ปุ่นกิน แล้วอ่านคำภาวนาอุทิศบุญและคำอธิษฐานบารมีหลวงพ่อกับแม่ชีมาเยี่ยม หลวงพ่อเทศน์สอน ทำสมาธิ แม่ชีคนใหม่สวย จบ doctor บอกว่าจะเอาอาหารเสริมถั่วเหลืงผสมงาดำมาให้ หลวงพ่อกับแม่ชีกลับกินฟักทองแม่ชีเอาอาหารเสริมมาให้ ตรวจแล้วกินไม่ได้
เงาศิลป์
หนึ่งอาทิตย์ที่มาอยู่วัด ในบันทึกของลูกยังเขียนถึงเรื่องอาหารการกินที่เป็นของชอบส่วนตัว เช่น ขนมขาไก่ ทองม้วน ยังมีเรื่องบันเทิงเริงรมย์แทรกเป็นระยะ คือ ดู CD การ์ตูน อ่านหนังสือนิยายที่เป็นบทย่อจากละครโทรทัศน์ ลูกยังมีความรู้สึกนึกคิดแบบเด็กๆยังอยากได้กระเป๋าสตังค์คิดตี้ ยังมีอารมณ์หิวที่เกิดขึ้นรุนแรงจนร้องไห้งอแงยามดึก
เงาศิลป์
เราสามคน พ่อแม่ลูก กลายเป็นคนวัดไปแล้ว อ้อ บางวันมีน้านีมาจากสกลฯ ช่วยทำกับข้าวด้วย และยังผู้รู้เรื่องธรรมชาติบำบัดอีกหลายคน ที่มาช่วยแนะนำสิ่งที่ดีๆให้ แต่แม่ยังต้องเดินไปทำอาหารที่โรงครัวของวัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่พักของเรานัก ที่นั่นสะอาดและกว้างโล่ง มีน้ำประปาภูเขาให้ใช้อย่างสะดวกสบายเหลือเฟือ อันที่จริงก็ใช้กันทุกมุมวัดอยู่แล้ว เพราะว่าน้ำประปาที่ว่านี้ คือน้ำที่ผุดขึ้นมาเป็นน้ำพุเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากหนึ่งของภู ความสูงของพื้นที่ซึ่งสูงกว่าที่วัด หลวงพ่อจึงสร้างประปาภูเขาขึ้นมาอย่างง่ายดาย มีถังน้ำพักน้ำ ณ จุดที่มีน้ำพุหนึ่งลูก แล้วใส่ท่อให้มันวิ่งมาตามท่อน้ำ…
เงาศิลป์
แม่กับพ่อเริ่มทำสวนผักข้างๆ กุฏิ ผักที่ปลูกง่ายที่สุดคือต้นอ่อมแซ่บ พืชตระกูลล้มลุก กลีบดอกบอบบางสีม่วงอมชมพู สีของมันสวยหวานสดใส คนทั่วไปเรียกว่า บุษบาริมทาง แต่คนอีสานมองเห็นเป็นของกินได้ จึงเรียกอ่อมแซ่บ คงมาจากการแกงอ่อมแล้วอร่อยกระมัง ลูกแม่ต้องกินทุกวัน เป็นเมนูผักลวก
เงาศิลป์
เช้าวันที่ 6 มิถุนายน ลูกตื่นเต้นมาก แม่รู้ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางมาอยู่วัดกับหลวงพ่อ วันนั้นลูกตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ เตรียมเก็บเข้าของเครื่องใช้ส่วนตัวใส่กระเป๋าคิดตี้ใบเล็กสีชมพูหวานแหววของลูก แต่เพราะลูกยังมีอาการตัวร้อนเป็นไข้รุมๆ ทำให้แม่กับพ่อเป็นห่วง เราจึงวางแผนเดินทางในตอนเย็น วันนั้นลูกร่าเริงมาก และเขียนบันทึกว่า วันศุกร์ที่ 6 มิถุนายน 2551 วันแห่งความสุขและความสงบวันนี้ตื่นขึ้นมายิ้มรับวันใหม่ด้วยใจที่เบิกบาน มีความสุขในสมุดบันทึกสุขภาพอีกเล่ม ลูกเขียนไว้ว่า
เงาศิลป์
ตอนที่ 5 บันทึกของลูก  รูปรอยต่างๆของลูก ยังคงอยู่เหมือนที่เคยมีลูก แม้แต่ภายในห้องนอน ทุกอย่างยังถูกจัดวางเหมือนเดิม บ้านไม้หลังเล็กๆใต้ถุนสูงแบบโบราณ ซุกตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้น้อยใหญ่หลังนี้ มีห้องนอนสองห้อง ห้องหนึ่งเป็นของลูก ที่เตียงนอนยังมีหนังสือเล่มโปรดวางไว้ที่หัวเตียง อาจมีแปลกออกไปบ้างคือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ 4 เล่ม ที่ลูกเขียนทุกวันเกือบทุกเวลา เพราะลูกตั้งใจบันทึกกิจกรรมการดูแลตัวเองและบทธรรมะเอาไว้ ตลอดเวลาสี่เดือนของความป่วยไข้ แม้กระทั่งวันสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครร้องขอให้ทำ
เงาศิลป์
การที่คนป่วยคนหนึ่ง ได้เลือกหนทางรักษาตัวเองด้วยตัวเอง น่าจะมีองค์ประกอบอยู่สองอย่างที่สำคัญ นั่นคือ หนึ่ง ความรู้ที่มีพร้อมในเรื่องวิธีการรักษาที่ตัวเองเลือก สอง ความไม่รู้ในวิธีการใดๆ แต่ต้องตัดสินใจเลือกในสิ่งที่คิดว่าสะดวกทั้งต่อตนเองและคนดูแล