ฟืนท่อนใหญ่ถูกซุนเพิ่มเข้าไปอีกท่อน มันเป็นไม้ส้มเสี้ยวที่ถูกโค่นล้มลงเพราะขวางทางรถยนต์คันใหญ่ คนตัดบอกว่าไม้ชนิดนี้ยากที่จะแปรรูปเพราะเนื้อไม้บิดเป็นเกลียว ฉันจึงขอให้เขาตัดเป็นท่อนสั้นๆ เพื่อจะใช้ประโยชน์ตามแต่จะคิดได้ แต่พอลมหนาวทายทักแข็งขันมากขึ้น ฉันต้องตัดใจตัวเองจนเลือดซิบ ขณะที่ก้มลงลากมันมาใส่ไฟอย่างยากเย็น เพราะทั้งหนักและเสียดาย และรู้สึกผิดต่อตัวเอง
หมาน้อยสองตัวต้องการความอบอุ่นตลอดคืน ฉันเองก็ต้องการ แม้จะมีผ้าห่มแต่ก็ไม่เพียงพอที่จะกันหนาวได้ การใช้ฟืนดุ้นเล็กๆ คือภาระที่ต้องลุกขึ้นมาใส่ไฟเกือบตลอดเวลา ถ้าเป็นอย่างนั้นฉันคงไม่มีเรี่ยวแรงเหลือไว้ทำงานในไร่ยามกลางวันอีกเป็นแน่ นั่นคือเหตุผลที่ต้องตัดใจ และให้อภัยตัวเอง
แหงนหน้าดูดวงดาวที่พราวฟ้า ใครนะ ที่ช่างบอกว่าการดูดวงดาวเป็นความสุข อพิโถ...ฉันไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น ความสุขของฉันสำหรับที่นี่คือการนั่งลงคุยกับเจ้าหมาน้อย ตอแยหยอกล้อกับมัน และการได้นอนหลับอย่างอบอุ่นสบายๆ ในคืนหนาวนั่นต่างหาก
เสียงนกหากินกลางคืนตะเบ็งร้องดังแก๊บ ๆ ๆ มาจากแนวต้นกุงสูงลิ่บลิ่วที่หน้ากระท่อม เสียงที่ใกล้ตัว สิ่งที่ใกล้ตาคือสัญญาณทั้งหลายที่ต้องนิ่งฟัง คืนไหนไม่มีเสียงนก ไม่มีแม้กระทั่งเสียงแมลง เป็นคืนที่ชวนหนาวในอกเป็นที่สุด บางคืน..เสียงทั้งหลายที่ระเบ็งเซ็งแซ่อยู่รอบๆ กลับหยุดกึกเหมือนจังหวะดนตรีที่ถูกกำหนดให้เงียบเสียงโดยฉับพลัน รอเวลาโหมประโคมเครื่องอย่างครบครันอีกครั้ง ในนาทีต่อมา แต่ทว่าที่นี่กลับไม่ใช่เช่นนั้น มันคือความเงียบที่ยาวนาน เงียบจนวังเวง จนขนหัวลุก ไม่มีที่ใดๆ ที่จะเงียบได้เท่านี้อีกแล้วบนโลกนี้ ฉันต้องค่อยๆ ผ่อนลมหายใจ เพราะกลัวว่าเสียงหายใจจะดังเกินไปจนความเงียบนั้นได้ยิน และมันอาจค้นหาฉันจนเจอ แม้ฉันจะนอนอยู่ในมุ้งในห้องหับที่มิดชิดก็ตาม
ที่นี่ คือโนนหมู่บ้านเก่า ที่คนละแวกนี้เรียกว่า “โนนบ้านคึม” มีเรื่องเล่ามากมายที่หลายคนไม่อยากจะพูดถึง แต่ฉันก็ยังพอจะรู้บ้างว่า สาเหตุที่ต้องกลายเป็นบ้านร้างเพราะว่า เมื่อ 40 ปี ก่อนนั้น มีการปล้นและฆ่าตายทั้งบ้าน ทางราชการจึงมาขอร้องให้ย้ายไปอยู่ริมถนนใหญ่ เหลือพื้นที่ทำกินเอาไว้ ที่พวกเขาแวะเวียนมาเมื่อถึงฤดูเพาะปลูกเท่านั้น การที่ฉันมาลงหลักปักฐานสร้างบ้านหลังน้อยอยู่ในนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจสำหรับใครๆ ที่รับรู้ โดยเฉพาะแม่ค้าในตลาดตามหมู่บ้านใกล้เคียง ที่มักจะต้องถามว่า “มาจากไหน” พอฉันตอบว่า “มาจากโนนบ้านคึม” ทุกคนจะตกใจ ร้องว่า “โอ้ อยู่ได้ยังไงน่ะ”
ทีแรกฉันไม่รู้ว่า พวกเขาหมายความว่าอย่างไร แต่เมื่ออยู่นานไป ฉันเริ่มได้คำตอบ จนบางครั้งฉันต้องถามตัวเองว่า “คิดถูกหรือผิดกันแน่ที่มาอยู่ที่นี่” คำตอบที่ให้กับตัวเองคือ “ไม่ผิดหรอก เพราะถึงจะไม่ใช่ที่นี่ ฉันคงอยู่ที่ไหนสักแห่งที่มีสภาพไม่แตกต่างกัน” ฉันรู้จักตัวเองดี อะไรที่ง่ายดายฉันมักไม่ค่อยเลือกทำ วิญญาณนักผจญภัยตกยุคมันยังสิงฉันอยู่
คืนนี้ ลมหนาวชื่นโชยผ่านผิวเป็นระลอก สูดลึกเข้าไปในอกอย่างช้าๆ เพื่อเยียวยาความปวด...ล้า ของร่างกาย
“ฉันเหนื่อย” รำพึงกับตัวเองเบาๆ อยู่ข้างใน เหนื่อยล้ากายแต่ใจแกร่งจะเป็นไรไป อีกใจตอบรับ ในเมื่อเพื่อนร่วมทุกข์ยังมีอีกเยอะแยะ โดยเฉพาะชาวไร่แถวนี้ พวกเขายังทุกข์ทั้งกายทั้งใจสาหัสกว่าฉันนัก
เมื่อวานนี้ น้องแดงสาวชาวไร่อ้อย แปลงที่อยู่ทางทิศใต้ของไร่ฉัน ขาดทุนไปแล้วล่ะ เพราะเธอต้องเช่าที่ดิน ต้องจ้างรถไถใหญ่มาไถที่ ต้องจ้างคนดายหญ้า ต้องจ้างคนตัดอ้อย ต้องจ้างคนขึ้นอ้อย (เอาอ้อยขึ้นรถบรรทุก) ต้องจ้างรถบรรทุก ต้องซื้อยาฆ่าหญ้า ทุกอย่างล้วนแต่เป็นเงิน เงิน และเงินที่ต้องจ่าย ตกแล้วต้นทุนไร่ละไม่ต่ำกว่า 4,500 บาท แต่ได้ผลผลิตไร่ละ ไม่ถึง 10 ตัน หรือได้เงินไร่ละไม่เกิน 6,000 บาท เรียกว่าเสียแรงเปล่า แถมยังเสียความรู้สึกที่ความฝันว่าจะได้กำเงินแสนต้องล่มสลายลงกลางแดดหนาว
“ก็รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลชั่วคราว เขาก็บริหารแบบชั่วคราว ไม่ได้สนใจชาวไร่ชาวนาจริงๆ ไม่เหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ราคาอ้อยได้ตั้ง 800 ถึง 900 บาท”
นั่นคือข้อสังเกตของตาเก้ คนปลูกอ้อยอีกราย น้ำเสียงของเขาฟังดูแหบแห้งไร้ความหวัง เมื่อสะท้อนสภาพความเชื่อที่มีอยู่ในใจ ฉันนึกถึงใบไม้ที่ผุเปื่อย ที่ในที่สุดยังมีคุณค่าต่อแผ่นดินอีกครั้งเมื่อปลิดขั้วร่วงลงดิน เขาไม่ได้กล่าวยกย่องอดีตนายกฯคนนั้นมากไปกว่านี้ แต่ฉันเห็นเยื่อใยในน้ำเสียง ใช่สินะ...อะไรจะมัดใจคนได้มากไปกว่ารูปธรรมของผลประโยชน์ ที่พวกเขาได้รับ
มุมมองของคนหาเช้ากินค่ำ คล้ายคนกำลังจะจมน้ำ แค่ขอนเล็กๆลอยมาใกล้เขาต้องคว้าเอาไว้ แม้ขอนนั้นจะเป็นเคลือบยาพิษชนิดกัดผิวอย่างรุนแรง หรือการแตะต้องอาจทำให้พิษกระจายทั่วสายน้ำ ใครเล่าจะหยุดฟังเสียงห้าม ที่ยืนตะโกนอยู่บนฝั่งแต่ไม่เคยลงมือช่วยเหลืออะไรเลย แถมยังบอกว่า “ว่ายเข้ามาซี ว่ายเข้ามา ฝั่งอยู่ทางนี้”
ฝั่งน่ะรู้จัก แต่เรี่ยวแรงจวนจะหมดสิ้นแล้ว ท่านรู้บ้างไหม
ฉันคิดย้อนไปไกลทั้งกระบวน ขณะที่มองภาพของตาเก้ที่ยืนนิ่ง เบื้องหลังมีเปลวไฟลุกโพลงประทุเปรี๊ยะๆ ไหม้ลามเลียใบอ้อยแห้งแผ่วงกว้างออกไปเรื่อยๆ ยิ่งทำให้นึกถึง “เวทีสัมมนาเรื่องโลกร้อนที่เกาะบาหลี”
เขาเป็นอีกคนที่ยังทนทานทำในสิ่งที่กลืนกินความหวังของตัวเองให้ร่อยหรอลงไปทุกปี โชคดีว่าเขายังมีที่ดิน มีรถแทรกเตอร์เป็นของตัวเอง ที่ได้มันมาครอบครองในสมัยที่เศรษฐกิจเฟื่องฟู ต้นทุนจึงต่ำกว่าของน้องแดง
การทำไร่อ้อยของเขาไม่ต้องพูดว่าเพื่อจะร่ำรวย ขอแค่ปลดหนี้สินได้สักปีก็น่าจะเป็นบันไดไปสู่สวรรค์ ถามว่าทำไมไม่ลองปลูกพืชชนิดอื่นที่เป็นไม้ยืนต้น คำตอบคือ “ไม่มีเงินทุน” แต่ฉันรู้ว่าเบื้องหลังคำตอบยังมีเหตุผลอีกหลายอย่างที่ละเอียดอ่อน ยากที่ล้วงลึก โดยเฉพาะหนี้สินที่มีดอกเบี้ยงอกงามรวดเร็วกว่าดอกผลใดๆ
ทำไมเขาจึงยากจน ทำไมเขาเป็นหนี้ ไม่ต้องค้นหาสาเหตุกันนักหรอก ถ้าเพียงยอมรับความจริงว่า “คนชนบทขายถูกและซื้อแพงกว่าเสมอ” แค่นี้ก็เห็นแล้วสังคมทุนนิยมไม่เคยปราณีเหยื่อของมันเลยแม้แต่คนเดียว
หากเป็นนักธุรกิจเจ้าของโรงงาน เมื่อรู้ว่ากำลังขาดทุน อาจปิดโรงงาน ลอยแพคนงานให้ตกระกำลำบาก จนรัฐบาลต้องยื่นมือมาช่วย แต่ชาวสวนชาวไร่ทั้งหลาย ทำได้อย่างดีที่สุดก็แค่ลงมือทำซ้ำ ตราบใดที่ยังมีที่ดิน มีแหล่งกู้เงินให้กู้มาลงทุนเพิ่ม จนในที่สุด ต้องขายที่ดินเพื่อใช้หนี้ แล้วเร่ร่อนไปเป็นแรงงานรับจ้าง ตามวิถีทางแห่งโลกาวิบัติ
ในเวลานี้เราลุกขึ้นมาพูดเรื่องสภาวะโลกร้อน ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นได้ โปรดจริงใจในการช่วยกันดับไฟ “ในหัวอกหัวใจ” ของชาวไร่ชาวนา กันเสียก่อนเถิดพี่น้องเอ๋ย