Skip to main content
Music
 ที่ผ่านมาผมพูดถึงการที่ดนตรีไม่ได้ทำให้ใครกลายเป็นปัจเจกเทียมก็แล้ว พูดถึงโลกอันหลากหลายหลังปี 1970 ก็แล้ว พูดถึงการที่ตัวดนตรี Serious Music หรือ Popular Music ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการ Liberate อะไรโดยตรง (เว้นแต่วัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย จะว่าไป หากนับวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วย Popular Music น่ะ ช่วย “ปลดปล่อย” ผู้คนได้มากกว่าด้วยซ้ำ) ก็แล้วสำหรับในบทนี้ก็จะมาพูดถึงสิ่งที่อดอร์โนทำผิดพลาดมากที่สุด นั่นคือการปฏิเสธดนตรีป็อบโดยสิ้นเชิง ไม่ร่วมสังฆกรรมใด ๆ กับมันอีก เพราะเขาได้ตีกรอบมาแล้วว่าดนตรีป็อบมันย่อมเป็นอะไรที่ถูกทำให้มีมาตรฐานเดียวกัน (Standardize) และความที่มันมีมาตรฐานเดียวกันนี่เอง จึงไม่จำเป็นต้องไปตีความหรือวิจารณ์อะไรมันให้ยุ่งยาก เพราะมันล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตแบบโรงงานที่สร้างมาเพื่อบริโภคแล้วก็รับทุกอย่างไปเท่านั้นขอย้ำอีกครั้งว่า นี่คือความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดสำหรับอดอร์โนผมเชื่ออยู่ระดับหนึ่งว่า ศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน ป็อบหรือไม่ป็อบยังไงก็ตามแต่ มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ อยู่ทั้งนั้น แต่ไม่ถึงขั้นล้างสมองหรือทำให้ผู้คนเกิดยึดถือในมาตรฐานเดียวกันไปหมดได้การจะทำให้ผู้คนยึดถือมาตรฐานเดียวกันหมด (Standardization) มันเกิดจากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดกับคน ๆ นั้นก็มีส่วนในตรงนี้พิธีกรรมยืนเคารพธงชาติ การยืนในสถานการณ์อื่น ๆ ข่าวที่มาเวลาเดิมทุกวัน ภาพ เพลง และชุดสีเดียวซ้ำ ๆ ซาก ๆ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะถ่ายโอนลงในหัวใครได้ทันทีทันใดแบบการโหลดไฟล์ลงคอมพิวเตอร์ แต่มันเป็นเหมือนไวรัสที่ค่อย ๆ แอบครอบครองพื้นที่ความคิดของเราอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอย่างแนบเนียนแต่กระนั้นก็น่าสงสัยว่าสิ่งที่ผมเพิ่งกล่าวถึงข้างต้น (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังรักตัวกลัวตีน) น่าจะเรียกว่าเป็น 'วัฒนธรรมป็อบ' ได้จริงหรือไม่เพลงของแกรมมี่ อาร์เอส เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้ในที่แจ้ง อาจจะต้องระแวดระวังแฟนคลับแบบสุดโต่งสักเล็กน้อย (แฟนคลับที่ดี ๆ น่าคบหามันก็มี) และถึงแม้ว่าเราจะถูกคุกคามทำร้ายเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์เพลงป็อบที่คนส่วนใหญ่ชอบ กฏหมายก็พร้อมจะคุ้มครองเราแต่กับสิ่งที่ผมได้กล่าวถึงไป (และไม่ควรกล่าวถึงบ่อย ๆ หากยังไม่อยากถูกยัดข้อหา) นั้น วิพากษ์วิจารณ์ในที่แจ้งแทบไม่ได้ และหากเราถูกคุกคามทำร้ายเพราะวิพากษ์วิจารณ์ “…” ล่ะก็ กฏหมายในปัจจุบันก็คงไม่ปราณีเราแน่น่าสงสัยว่า สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นั้น ควรจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมป็อบ (หรือวัฒนธรรมมวลชน) จริง ๆ หรือ เพราะดนตรีที่เป็นวัฒนธรรมมวลชนจริง ๆ นั้น ไม่ว่ามันจะถูกผลิตมาจาก นายทุนใหญ่ (อาเฮีย อากู๋ ฯลฯ) หรือ นายทุนน้อย (อินด้ง อินดี้) มันก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้คน 'เลือก' เข้าถึงมันได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีความเชื่อหรือทัศนคติแบบใด ไม่จำเป็นต้อง “ยัดเยียด” เปิดตามระบบขนส่งมวลชนที่ล้ำสมัยขัดกับเนื้อหาเพลงพูดแบบทุนนิยมกระแสหลักเลยก็ได้ ว่าเพลงของ Pink Floyd สำหรับบางคน (รวมถึงผมเอง) อาจกลายเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะทั้งรูปแบบทางดนตรีที่ถูกจริตและเนื้อหาที่ “ตอบสนอง” ความรู้สึกพวกเขาได้ แต่นั่นเป็นเพราะเขาถูกยัดเยียดหรือเปล่า หรือว่าเขาได้ “เลือก” มันเองกันแน่ขณะเดียวกัน Pink Floyd สำหรับบางคนอาจเป็นแค่ดนตรีที่ฟังแล้วไม่เข้าใจ (น่าจะใช้คำว่า “ไม่อิน” จะถูกกว่า) แต่ก็เป็นเพียงเพราะมัน “ตอบสนอง” คนบางกลุ่มไม่ได้ คนกลุ่มนี้ไม่ได้ดีหรือเลว โง่หรือฉลาดกว่าใคร และหากเขาไม่ต้องการสิ่งที่ตอบสนองเขาไม่ได้ เขาก็แค่ “ไม่เลือก” มันเท่านั้นเองความเชื่อหรือทัศนคติที่แตกต่างกันจะนำมาซึ่งการวิจารณ์ และการสามารถวิจารณ์ได้อย่างไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ เป็นคุณสมบัติที่มีค่ายิ่งของวัฒนธรรมป็อบ การวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความเห็นโต้ตอบได้นี่แหละ ทำให้มันเป็นศิลปะ เป็นวัฒนธรรมของ “มวลชน” เป็นสิ่งที่ “สาธารณะ” อย่างแท้จริงเพลง “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” ของ โลโซ อาจทำให้ใครบางคนเปลี่ยนทัศนคติมามอง วิน-มอเตอร์ไซค์ในแง่ดีขึ้น ขณะที่บางคนอาจจะเคยมีประสบการณ์ร้าย ๆ จากคนทำอาชีพนี้มาก่อน เลยรู้สึกว่าเพลงนี้ไม่น่าเชื่อถือ แม้ทั้งคู่จะเห็นอะไรต่างกันในเพลง ๆ เดียว แต่หากพวกเขาแสดงความคิดเห็นกับมันร่วมกันได้ ย่อมเป็นเรื่องที่ดีคนเราย่อมมีวิจารณญาณของตนเอง และการที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ มันยังทำให้เกิดการโต้ตอบกับเพลง ๆ นั้น แล้วเรายังสามารถเอาไปถกเถียงกับคนอื่น ๆ ที่ฟังเพลงเดียวกันได้ ทำให้ผู้ที่ฟังเพลงนี้ล้วนแต่เป็นผู้บริโภคที่แอคทีฟ ไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภคแบบสมยอมรับความคิดมาโดยไม่มีการคัดคานแบบที่อดอร์โนว่ามา ไอ่สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นี่สิ…น่ากลัวการเมินเฉยโดยสิ้นเชิงต่อดนตรีป็อบซึ่งเป็นอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นวัฒนธรรมมวลชน จึงไม่ใช่ทางออกอย่างแน่นอนหากในพื้นที่ของการเมืองมีเรื่องของระบบตรวจสอบจากแนวราบ มีเรื่องของประชาสังคมในการคัดค้านหรือผลักดันนโยบาย ในพื้นที่ของวัฒนธรรมก็มีการวิจารณ์ การแสดงความเห็น ไม่ว่าจะจาก So-Called professional อย่างนักวิจารณ์ , นักวิเคราะห์ , นักวิชาการ ฯลฯ หรือจากคนทั่วไป (แบบที่เรียกว่า Civil Report) ทั้งหลาย ซึ่งไม่ว่ามันจะผิดจะถูก จะฟังดูโง่หรือฟังดูฉลาดยังไง ก็เป็นเสียงที่มีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะอย่างน้อยมันก็มาจากประชาชนปัญหาต่อมาคือ เราจะทำยังไงให้เสียงของผู้คนเป็นที่รับฟังโดยเท่าเทียม ไม่ว่ามันจะมีอคติ จะชี้นำ จะมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือจะไปขัดใจใคร เพราะมนุษย์ปุถุชนทุกคนล้วนแต่ยังมีอคติ มีการชี้นำในแบบของตนเอง มีการใส่ใจเรื่องผลประโยชน์ (บางคนอาจสำคัญถึงขั้นเป็นเรื่องของปากท้อง การอยู่รอด) แต่ทั้งหลายเหล่านี้คือความเป็นมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้าผืนเดียวกัน ไม่ได้มีใครอยู่เหนือฟากฟ้าของใครงานเขียนของอดอร์โนรวมถึงบทความของผมเอง ก็ล้วนอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ด้วย ทั้งผมและอดอร์โนต่างก็ชี้นำผู้อ่านอยู่ในแบบของตัวเอง แต่ผู้อ่านไม่ใช่หุ่นยนต์หรือคอมพิวเตอร์ ทั้งผมและอดอร์โนจึงไม่อาจป้อนข้อมูลชี้นำใครได้ 100% ทุกคนมีวิจารณญาณ มีทัศนคติดั้งเดิมที่ต่างกัน (จากการเรียนรู้ตั้งแต่กำเนิด) และมีเจตจำนงเสรีของตัวเองสิ่งที่ผมเพ้อฝันเอามาก ๆ คือจะทำอย่างไรให้คนยอมรับความต่างเหล่านี้ได้ โดยที่ไม่มีความต่างของใครลอยอยู่เหนือฟากฟ้า จนกลายเป็น “ความต่าง” ที่ดีกว่าของคนอื่น และที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ อะไรก็ตามที่มันลอยอยู่เหนือฟากฟ้ามันก็จะสร้าง “ความเหมือน” ขึ้นมาให้ต้องยอมรับแต่โดยดี เพราะว่ามันวิจารณ์ไม่ได้ โต้ตอบไม่ได้ … ในที่แจ้งขอขอบคุณทุกท่านที่ (ทน) อ่านการโต้แย้งอดอร์โน (แบบฝ่ายเดียว เอาเปรียบคนที่ตายไปแล้วน่าดู :P ) มาจนถึงตอนจบจะ “เห็นชอบ” หรือ “เห็นแย้ง” อย่างไร ประเด็นไหนเชิญวิจารณ์ และระบาย ได้ตามสะดวก;)
Music
   In The Flesh?"Tell me is something eluding you sunshine?Is this not what you expected to see?If you'd like to find out what's behind these cold eyesYou'll just have to claw your way through this disguise"จากเพลง ‘In The Flesh?'ของ Pink Floydอดอร์โน...ผมศึกษาและเขียนแย้งแนวคิดของคุณในเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคมาพอสมควร แต่สิ่งที่ผมค้นพบได้จากตัวคุณมันมีแต่เรื่องเกี่ยวกับความคิดทฤษฎีทั้งนั้นบางขณะที่ผมเคาะแป้นคีย์บอร์ดถกเถียงกับทฤษฎีของคุณ ผมก็ไพล่นึกไปว่า ในช่วงที่คุณมีชีวิตอยู่นั้น อะไรที่ทำให้คุณบันเทิงใจกับดนตรีที่มีซาวด์แบบ Atonal จนคุณถึงกับเขียนชมมันเป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้ (ไม่หรอก ผมยังไม่เชื่ออยู่ดีว่า Atonal music มันจะ Liberate อะไรใครได้ แต่ผมรู้ว่าคุณชอบมัน แบบเดียวกับที่ผมชอบวงร็อคหลายๆ วง) แล้วในแวดวงสังคมที่คุณอยู่ เขายอมรับกับความชอบ ยอมรับกับรสนิยมของคุณขนาดไหน?อะไรกันที่ทำให้คุณมองดนตรีแจ๊สแบบลบๆ การที่ใครจะมองอะไรแบบลบๆ มีความเป็นไปได้ว่าเขาจะถูกกระทำจากสิ่งนั้นมาก่อน การนำทฤษฎีมาจับในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้ได้มองอะไรจากเหตุผล จากตรรกะ มากกว่าจากอารมณ์หรือความรู้สึก แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็คือการ sublime ทำให้การแสดงทัศนะทางลบต่ออะไรอย่างหนึ่งยอมรับได้ อย่างน้อยก็ในวงวิชาการที่รับได้กับการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์เท่าที่ผมรู้มาจากชีวประวัติของคุณ คุณมีโอกาสได้สัมผัสเปียโนตั้งแต่ยังเยาว์วัย แล้วมันก็ทำให้คุณปิติกับเสียงของมัน กับฝีมือเปียโนที่ก้าวหน้าของตัวเอง คุณเป็นนักเรียนที่หลงรักความรู้และตัวหนังสือ เรียนจบออกมาด้วยระดับท็อปและพ่วงเอามิตรทางวิชาการออกมาด้วยตอนที่คุณอายุเท่าๆ กับผมในตอนนี้ ช่วงอายุที่คนเรากำลังหาทิศทางก้าวย่างไปสู่วัยทำงานนั้น คุณคิดอยากจะใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเอามาใช้วิจารณ์ดนตรีมาก แล้วคุณก็ได้เขียนงานวิจารณ์ที่คุณอยากเขียนสมใจ (เช่นเดียวกับผมที่ได้เขียนถึงคุณในตอนนี้) ก่อนที่คุณจะได้พบกับ คนอย่าง Alban Berg และ Arnold Schoenberg โดยเฉพาะคนหลังนี้เป็นผู้ที่นำพาให้คุณได้ค้นพบกับความมหัศจรรย์ของดนตรีแบบ Atonalityใช่ ! ด้วยความมาดมั่นของคนหนุ่มแน่น คุณจึงเอาความรู้ที่คุณสะสมมาจากการศึกษาบวกกับความคิดคุณเอง มาอธิบายความน่าชื่นชมของดนตรีที่คุณชอบ แต่ดูเหมือนตา Schoenberg เองก็เฉยๆ ไม่ยี่หระกับการที่คุณเอาปรัชญามาจับกับดนตรีของเขาเสียเท่าไหร่ แม้คุณอยากจะพรรณนาถึงความปลาบปลื้มที่คุณมีต่อเพลงๆ หนึ่งอย่างไร มันก็ดูจะเปล่าประโยชน์ในสายตาของศิลปินอีโก้แรงเหล่านั้น คุณถึงหันมาเอาดีทางด้านงานทางสังคมและวิชาการกระนั้นผมก็นึกถึงภาพของคุณที่โดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงชน ท่ามกลางงานเลี้ยงสวมหน้ากากของดนตรีแจ๊ส ตัวดนตรีเองมันไม่ได้ผิดบาปอะไรหรอก แต่กลุ่มชนที่เชยชมมัน ทั้งๆ ที่พวกเขาอาจจะแค่อยากเข้าสังคม อยากสวมหน้ากากเพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานเลี้ยงนั่นต่างหากใช่ไหม ที่ทำให้คุณรู้สึกแย่แต่ถ้าคิดในอีกทาง คุณอาจจะแค่สวมหน้ากากได้ไม่เก่งเท่าผมก็ได้...One of the few"...make them me, make them you,make them do what you want them tomake them laugh, make them cry,make them lie down and die"- จากเพลง "One of the few"ของ Pink Floydผมเป็นคนที่เติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่ฐานะการงานครอบครัวกระท่อนกระแท่นบ้าง แต่ก็เรียกได้ว่ามีอันจะกิน และคงเหมือนๆ กับครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปที่ได้ยินเพลงป็อบตามยุคสมัยจนชินชา โรงเรียนจะจับผมไปเต้นเพลงพี่เบิร์ด ธงไชย ในงานวันเด็ก คอนเสิร์ตในทีวีวันเสาร์อาทิตย์ก็มีนักร้องของค่ายใหญ่สลับกันมาออกทีวีให้ดู ผมตามดูรายการมิวสิควีดิโอของวัยรุ่น (ที่แบ่งค่ายกันชัดเจน) เพื่อที่จะได้มีเรื่องคุยกับเพื่อนตอนไปโรงเรียนจนกระทั่งพอผมโตขึ้นอีกหน่อย พอจะรู้สึกถึงคำว่า ‘เบื่อ' ผมเริ่มเบื่อเพลงป็อบตลาดแบบเดิมๆ ที่คนพากันพูดถึงซ้ำๆ เพลงที่ฉายในรายการก็แบบเดิมๆ ทำให้รู้สึกอยากค้นหาอะไรใหม่ๆ เพราะเพลงรักเนื้อหาซ้ำๆ เหล่านั้น ไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับผมอีกต่อไป แต่ก็มองไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีกว่าพอดีว่าในช่วงหนึ่งที่ครอบครัวต้องย้ายบ้าน ผมได้ไปค้นพบเทปเพลงแปลกๆ เข้า เป็นเทปเพลงที่ไม่มีป้ายแปะบอกว่าเป็นเพลงของใครเมื่อความอยากรู้อยากเห็นทำให้ผมเอาเทปม้วนนั้นมาใส่ในเครื่องแล้วกดปุ่มเพลย์ ทันใดนั้นเครื่องเล่นก็แว่วเสียงกีต้าร์โปร่งละมุนหูออกมา มีเสียงนักร้องเหมือนกำลังขับขานออกมาจากดินแดนที่ห่างไกล เนื้อร้องของมันเป็นภาษาอังกฤษที่ผมฟังไม่เข้าใจ แต่กลับทำให้ความรู้สึกปิติเอ่อล้นออกมาอย่างอธิบายไม่ถูก ผมมารู้จากแม่หลังว่านี่เป็นเพลงคันทรี่สมัยก่อนที่เคยชอบฟัง ซึ่งโลกใบเล็กๆ ของผมในตอนนั้นทำให้ผมมองว่าไอ่เทปนี่เป็น "ของแปลก" สำหรับผมไปแล้ว (ซึ่งต่อมาก็จะรู้ว่า โลกนี้มันช่างกว้างขวาง และมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ กว่านี้อีกหลายเท่านัก) สิ่งที่ผมคิดว่ามีความสำคัญกับรสนิยม พื้นฐาน การฟังเพลงของแต่ละคน มันมาจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และสื่อฯคนที่อยู่ในสังคมเมืองอย่างผม อิทธิพลที่สำคัญคงไม่พ้นสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งผมเองก็ได้รับรู้มาเท่าที่สื่อเหล่านี้เสนอมาให้ เพื่อนๆ ที่คุยกันในโรงเรียนก็คือคนที่เสพย์สื่ออันเดียวกับเรานั่นแหละ อาจจะเว้นให้คนที่มีอภิสิทธิ์หน่อยคือคนที่มีเคเบิลทีวี ที่จะคอยเอาวัฒนธรรมป็อบแบบ MTV มากึ่งอวดกึ่งเผยแพร่ ...ยุคสมัยที่ผมเติบโตมาเป็นเช่นนี้จริงๆ จึงไม่แปลกหากเขาจะไม่รู้จักเพลงคันทรี่ และเพลงเก่าอื่นๆ ที่ผมบังเอิญค้นพบจากเทปนิรนามยุคสมัยของผมในเวลาต่อมายังมีการคาบเกี่ยวของยุคบอยแบนด์กับอัลเตอร์เนทีฟ ความทรงจำของทั้งวงบอยแบนด์และอัลเตอร์เนทีฟนั้นมีอยู่แน่ๆ แต่ไม่กระจ่างชัดเท่าวงร็อคเก่าๆ หลายวงที่ผมค่อยๆ ทำความรู้จักมัน ผมจึงรู้จัก Take That, Boyzone ดีพอๆ กับที่รู้จัก Scorpions, The Eagles หรือ Pink Floyd เหมือนผมบิดนาฬิกาย้อนเวลากลับอยู่คนเดียว ขณะที่คนอื่นๆ แห่แหนไปกับอะไรอย่างหนึ่ง ไม่ว่ามันจะมีชื่อว่าอะไรก็ตามคุณลองนึกถึงภาพผมในตอนที่ยังเป็นเด็กหนุ่มสวมกางเกงขาสั้นที่สวมหน้ากาก ทำตัวกลมกลืนไปกับกลุ่มคนที่เชยชมอะไรทั้งหลาย ทั้งที่ในใจผมไม่ได้รู้สึกเชยชมไปกับสิ่งเหล่านั้นด้วยจริงๆ เลย ผมจะเดินตัวลีบเวลาที่นึกถึงอารมณ์อันบรรเจิดของเพลง Bohemian Rhapsody (เพลงจากวง Queen) ความเกรี้ยวกราดในเพลงของ Nirvana แต่ไม่สามารถพูดให้ใครฟังได้ มวลชนอันแปลกหน้าเหล่านั้นต่างสวมหน้ากากของสัตว์ประหลาด...หน้ากากอันเดียวกับที่ผมสวมไว้ด้วยผมได้แต่ซ่อนความรู้สึกเหน็ดหน่ายไว้ใต้หน้ากากนั่น รู้สึกอยากจะก่นด่าไอ่เพลงมองโลกในแง่ดีตอหลดตอแหล จากวงที่เขาไม่สนว่ามันจะมาจากค่ายเพลงกระแสหลัก หรือ So-Called อินดี้ (คำว่า "อินดี้" ในวงการเพลงไทยสำหรับผมมันไม่มีความหมายอะไรเท่าไหร่ หลายๆ วงที่เรียกตัวเองว่าเป็นอินดี้ก็มีดนตรีธรรมดาๆ ไม่ค่อยต่างจากในกระแสหลัก นานๆ ทีจะเจอที่แหวกๆ ออกมา หรืออีกนัยหนึ่งคือคำๆ นี้ถูกบิดเบือนไปสู่การค้าในรูปแบบที่เนียนและดูมีระดับกว่าเท่านั้น) ใจจะขาด หากแต่กระแสมวลชนสวมหน้ากากพวกนั้นคงกลืนกินเสียงของผมไปหมดหน้ากากสัตว์ประหลาดที่เขาสวมนั้น มันช่างคับ (แคบ), หนัก, หนา และวันหนึ่งก็จะทำให้ผมเจ็บปวดกับมันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงโชคร้ายที่อดอร์โนอยู่ได้ไม่ถึงยุคของอินเตอร์เน็ต และโชคดีที่อินเตอร์เน็ตทำให้ผมได้พบกับคนที่เรียกได้ว่าเป็น "พวกเดียวกัน" ในทางรสนิยม ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอีกต่อไปการที่ผมเขียนแย้งอดอร์โนเรื่องป็อบปูล่าร์มิวสิคนั้น ไม่ได้หมายความว่าอะไรที่เป็นกระแสนิยมมันคือสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมเสมอไป ผมอยากให้รู้ไว้ว่า คนที่รู้สึกถูกกระทำจากวัฒนธรรมกระแสนิยมมันก็มีอยู่ และอย่าได้เอาชนชั้นล่าง เอาคนจนมาอ้างเลย ผมจะบอกให้ก็ได้ว่าผู้นำเทรนด์กระแสหลักจริงๆ มันก็คือชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อนี่แหละผมอยากจะบอกอีกว่า ไอ่วัฒนธรรมกระแสรองทั้งหลายส่วนหนึ่งมันมีที่มาจากคนที่รู้สึกถูกกระทำจากกระแสหลักนั่นแหละ แล้วชนชั้นกลางที่พวกคุณชอบด่าๆ กันมันก็มีหลายจำพวก เพราะฉะนั้นการที่เอะอะอะไรก็ด่าวัฒนธรรมกระแสรองแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่แยกแยะ มันก็ฟังดูตื้นเขินและเหมารวม ไม่ต่างกับที่อดอร์โนด่าเพลงป็อบเลยIn The Flesh"...And they sent us along as a surrogate bandWe're gonna find out where you folks really stand"- จากเพลง "In The Flesh" ของ Pink Floydอดอร์โน...ผมเชื่อว่าทั้งผมและคุณต่างเคยมีความเจ็บปวดอันเดียวกัน มีความเกลียดชังคล้ายๆ กัน ผมอาจจะเขียนแย้งคุณ แต่ผมไม่ได้ปฏิเสธความคิดของคุณไปหมดทุกอย่าง ในแง่การพยายามเชื่อมโยงเรื่องดนตรีกับการปลดปล่อยตัวเองและสังคมอะไรของคุณนั่นมันฟังดูลักลั่นก็จริง แต่ในแง่วัฒนธรรมคุณมีส่วนถูกการผลิตซ้ำของมายาคติในเนื้อหา มันช่วยตอกย้ำภาพของอะไรบางอย่าง ไม่ว่าภาพอันนั้นมันจะบิดเบือนไปจากความเข้าใจที่แท้จริงของคนสักเพียงใดก็ตาม เพลง "ฤดูที่แตกต่าง" อาจทำให้ใครหลายคนเชื่อเอาเองว่าคนเรามันมีทุกข์ต้องมีสุข เราจง ‘ได้แต่รอคอย' ไอ่ความสุขนั้นมาเองเหมือนแสงแดดในฤดูร้อนแล้วกันนะ ซึ่งคนที่เชื่อในเนื้อหาเพลงนี้บางคนเอาความเชื่อนี้ไปตัดสินคนที่เรียกร้องหาความสุข ว่าทำไมไม่รู้จักมองโลกในแง่ดี ทั้งที่ไม่เคยรู้เลยว่า อีกหลายๆ คนในโลกมีฝนตกอยู่ตรงที่เขาตลอดเวลา และไม่เคยพบไอ่ ‘ฟ้าสว่าง' ที่ว่าเลยแม้แต่น้อยแต่ขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่า เพลงที่พูดถึงความเจ็บปวดจากคนระดับล่างในสังคมบางเพลง มันก็เป็นการตอกย้ำความต้อยต่ำของพวกเขาหรือไม่ หรือว่าจริงๆ แล้วมันเป็นแค่การช่วย "สะท้อน" ภาพหรือความรู้สึกของพวกเขาออกมาได้เท่านั้นเองแต่ก็นะ...อดอร์โน...ศิลปะหรือวัฒนธรรม มันไม่ใช่อะไรแข็งๆ หรือตรงทื่อแบบที่จะใช้อธิบายเหมารวมแบบโต้งๆ ได้ ถึงผมจะเชื่อว่าสื่อสาธารณ์ ป็อบปูล่าร์มิวสิค อะไรพวกนี้มันมีส่วนในการปรับเปลี่ยน บิดเบือน การรับรู้และความเชื่อ ของผู้คน แต่การปฏิเสธศิลปะหรือสื่อสาธารณ์โดยสิ้นเชิงมันคงไม่ใช่ทางออกที่ดี  แล้วทางออกของพวกเราคืออะไรน่ะหรือ?คราวหน้าผมจะมาบอกคุณ... 
Music
Theodor W. Adornoผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะAdorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรีAdorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้นซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อนเขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ  ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มีดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือกยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้วในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.comบทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคมผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ  พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิงไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...