Skip to main content

Theodor W. Adorno

ผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ

Adorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรี

Adorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive 

โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก

False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อน

เขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ

"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"

ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ  ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"

คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มี

ดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือก

ยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้ว

ในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?

ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.com

บทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง :P

แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)

Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคม

ผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ  พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์

จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" 

ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"

สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิง

ไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...

บล็อกของ Music

Music
ภฤศ ปฐมทัศน์ ผมได้ยินข่าวเรื่อง "จังหวะแผ่นดิน World Musiq & World Bar B Q" วันเดียวก่อนวันงานนั่นเอง ได้ยินคุณทอดด์ ทองดี พูดผ่านวิทยุว่าจะมีศิลปินจากหลายประเทศทั่วโลกมาเข้าร่วม และมีการแสดงร่วมกันของเพื่อแสดงให้เห็นว่าดนตรีมันไร้พรมแดน ผมเองเข้าใจความรู้สึกของคนที่พูดอะไรที่เป็นอุดมคติครับ และรู้สึกที่สิ่งที่คุณทอดด์แกพูดแกไม่ได้ตอแหล (แบบพวกอ้างศีลธรรม) ผมรู้สึกได้จากน้ำเสียงและการไหว้วอนขอให้ภาครัฐและกระทรวงวัฒนธรรมหันมาสนใจ ทำให้รู้สึกว่าแกมีความตั้งใจตรงนี้จริง ๆ แต่ว่าอุดมคติที่สวยงามบางทีมันเป็นแค่สิ่งที่ฉาบเคลือบอะไรที่ยังแหว่งโหว่อยู่ภายใน…
Music
    ขึ้นหัวไว้ไม่ได้หมายความว่าตัวผมเองกำลังหลบหน้าหลบตาไปอยู่ที่อยุธยาแต่อย่างใด ช่วงที่หายไปเพราะจำต้องไปปฏิบัติภารกิจทั้งส่วนตัวและไม่ส่วนตัว พอได้จังหวะแล้วจึงเข้ามาเขียนงานที่ห่างหายไปนานอีกครั้ง หลายคนคงนึกได้แล้วว่าหมายถึงผลงานใหม่ของมาโนช พุฒตาล ซึ่งผมได้ซีดีผลงานล่าสุดของเขา ทั้งสองชิ้นมาพร้อมกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง สิ่งที่ผมหวังจากชื่อมาโนช พุฒตาลคือตัวงานดนตรีหลังจากที่เขาห่างหายจากการออกอัลบั้มเพลงไปพักนึง ("ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" เหมือนออกมาให้หวังอะไรบางอย่างเล่น ๆ แล้วก็หายไป)…
Music
ช่วงที่ผ่านมาผมขอลาพักจากการเขียนคอลัมน์ไปชั่วคราว ไม่ได้ลากิจ และยังไม่ได้ลาออกจากการเขียนคอลัมน์แน่นอน เพียงแต่หลบจากความเหนื่อยล้าจากหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อไปเติมพลังให้ตัวเองเท่านั้นในช่วงที่พักจากการเขียนคอลัมน์ไป ก็คิดว่าจะลองหลบมุมสงบ ๆ อยู่ ปิดหูปิดตาตัวเองจากสิ่งรอบข้างดูสักพัก … แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวบางอย่างที่ทำให้ผมต้องรู้สึกถึงความย่ำแย่ น่าเบื่อหน่ายไม่รู้จบของประเทศที่ผมอยู่อีกครั้งจริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง (ซึ่งสื่อบางแห่งดูจะพยายามแปลงให้เขากลายเป็นเพศอื่นอยู่เสมอ…ซึ่งผมว่าเขาคงไม่เดือดร้อนอะไร) เขาไม่ได้เป็นคนดีอะไรนักหนา…
Music
  นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเล่าอิงจินตนาการพร้อมกับความเป็นไปได้ทางวิทยาศาสตร์ นักทฤษฎีแบ่งนิยายวิทยาศาสตร์ออกไว้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ ‘ยุคคลาสสิก' ที่มักพูดถึงอนาคตภายใต้อวกาศกว้างใหญ่ไพศาล มองอนาคตอย่างก้าวหน้าและอิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งความเจ็บปวดหลังยุคอุตสาหกรรมที่ยังมีการกดขี่กันของมนุษย์ทำให้ ‘ยุคที่สอง' ของนิยายวิทยาศาสตร์เริ่มมีท่าทีวิพากษ์สังคมเข้ามาปะปน บางเรื่องก็มีประเด็นทางสังคม อย่างการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ บ้างก็มีจินตนาการของรัฐบาลเผด็จการเบ็ดเสร็จที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ มาจนถึง ‘คลื่นลูกที่สาม' ก็มองโลกในแง่ร้ายอย่างสุดกู่ จินตนาการก้าวหน้า ล้ำสมัย…
Music
 "The disgraced values of the company manAre why you fight and sacrificeDon't bend or break for their one-way rulesOr run from battles you know you'll lose""คุณค่าของคนทำงานที่ถูกลดทอนคือเหตุผลที่คุณเสียสละ ต่อสู้ และวิงวอนคุณไม่อาจฝ่าฝืนกฏเหล็กของพวกเขาได้หรือแม้จะทั่งจะหนีจากการดิ้นรนที่คุณรู้ว่าจะแพ้โดยไม่อาจทำอะไร"- Tomorrow's IndustryDropkick Murphys เป็นวงพังค์ร็อคที่มาจากการรวมตัวของชาวไอริชที่อพยพมาอาศัยในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ มีผลงานที่พอให้คนต่างแดนได้รู้จักบ้างคือเพลงประกอบภาพยนตร์ The Departed ที่ชื่อ "I'm Shipping Up to Boston"…
Music
การยึดติดในสถาบันหรือรางวัลว่าเป็นตัววัดความเก่งกาจของศิลปินดูเป็นเรื่องหน้าขำอย่างหนึ่งในโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับความหลากหลาย คิด ๆ ดูว่าแนวดนตรีในโลกนี้ถ้านับรวม Sub-Genre ทั้งหลายเข้าไปด้วยแล้วก็มีมากจนนับแทบไม่ไหว แต่รางวัลจากสถาบันทั้งหลายมันแบ่งง่าย ๆ แค่ ป็อบ ร็อค อาร์แอนด์บี ซึ่งไม่อาจตอบรับกับความหลากหลายได้ และพาลจะทำให้เป็นการขีดเส้นขั้น ผูกขาดรูปแบบบางอย่างไว้ก็ได้ว่า "เสียงดี" ต้องเป็นเสียงแบบนี้ การเรียบเรียงที่ดีต้องเป็นแบบนี้ ๆ ฯลฯ ผมถึงคิดว่า เราควรจะไม่ไปยึดติดอะไรมากกับรางวัลที่มาจากการตัดสินของคนไม่กี่คนบนหิ้งเรื่องศิลปะที่มาจากการผูกขาดรสนิยมมันชวนให้รู้สึกย่ำแย่ฉันใด…
Music
อะไรๆ ในโลกนี้มันน่าสนใจไปหมดแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีแต่ผู้คนหันไปมอง หันไปพูดถึง เก็บมาเล่ากันทั่วบ้านทั่วเมือง ช่วยผลิตซ้ำ และแม้กระทั่งสร้างคู่ตรงข้ามให้กับคนที่ไม่รู้ และ/หรือ ไม่อยากรู้ ขณะเดียวกันสิ่งที่ผมคิดว่ามันน่าสนใจมาก ๆ โคตร ๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือสิ่งที่อยู่ในซอกหลืบไม่ค่อยมีคนสนใจ มันดูเหมือนการได้ค้นพบอะไรบางอย่างที่อาจจะทำให้เราอัศจรรย์ใจหรือทำให้ผิดหวังก็ได้ เพียงแต่ในทุกวันนี้ไอ้สิ่งที่อยู่ในซอกหลืบจริงๆ มันหายากขึ้นทุกที ในวงการเพลงอินดี้อะไรทั้งหลายก็มีชื่อวงทั้งต่างประเทศและในประเทศผุดผาดขึ้นมาให้จำกันไม่ทัน และพอลองเจียดเวลา (อันน้อยนิด) จากการทำมาหากินมาลองฟัง…
Music
รูป Ad จาก http://www.electthedead.co.uk/วง System of a Down เป็นวงดนตรีอเมริกันที่สมาชิกทั้ง 4 คนล้วนเป็นชาวอาร์เมเนียน ดนตรีของพวกเขา บางคนก็เรียกว่าเป็นอัลเตอร์เนทีฟ บ้างก็ว่าเป็นนูเมทัล บ้างก็พยายามจำกัดความง่ายๆ ว่าเป็นฮาร์ดร็อค แต่ถ้าให้เรียกแบบกินความหมายครอบคลุมที่สุดล่ะก็ คงต้องบอกว่าพวกเขาเป็นวงร็อคที่แพรวพราว สอดผสานดนตรีในพรมแดนอื่นๆ เข้ากับซาวน์พื้นฐานแบบยุค 90's และขณะเดียวกันก็มีพลังขับเคลื่อนแบบพังค์นอกจากจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะของวงร็อคหลากกลิ่นแล้ว แฟนเพลงหลายคนยังชอบเนื้อหาวิจารณ์สังคมและการเมืองของพวกเขาที่เข้าใจทำให้ถูกจริตคนบางกลุ่มได้ บวกกับดนตรีหนักๆ จากหลายๆ เพลงแล้ว…
Music
  ช่วงที่ผ่านมามีข่าวคราวเกี่ยวกับคอนเสิร์ตแนวอนุรักษ์ธรรมชาติอะไรพวกนี้ออกมาหลากหลายมากมายอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะคอนเสิร์ตต้านโลกร้อนที่เข้าใจเกาะกระแสเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ (แต่ไม่รู้ว่าเข้าใจลึกไปในระดับไหน) มาสร้างเวทีคอนเสิร์ตให้สนุกสุดเหวี่ยง เวลามีคนมาถามความเห็นผมเรื่องนี้ ผมมักจะหัวเราะ หะ ๆ แล้วตอบว่ารู้สึกเฉย ๆ ถ้ามันจะดีมันก็ดีในแง่ที่มีคอนเสิร์ตมาให้สนุกกัน ส่วนศิลปินก็ได้หน้าได้ตากันไป เพราะโดยส่วนตัวผมไม่คิดว่าศิลปินจะรู้ลึกรู้จริงรู้จังอะไรกันเรื่องนี้มากมาย ไม่ต้องกระไรมาก ผมจะยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงเรื่องหนึ่ง คือเมื่อหลายปีก่อน…
Music
  "ผมคงจัดเป็นพวกปีกซ้ายนั่นแหละ และพอเวลาผ่านไปผมก็รู้สึกแข็งแกร่งขึ้น ผมให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าอิฐบล็อกหรือกำแพงศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อในการมีชีวิตอยู่ ผมคิดว่าแทนที่คำถามจะเป็น ‘พวกคุณเชื่อในพระเจ้าหรือเปล่า' มันควรจะเป็นว่า ‘พระเจ้าเชื่อในพวกเราหรือเปล่า' ต่างหาก ใครจะรู้ได้"- Aviv Geffen - Memento Mori"Officer, it's better to be a coward that is alivethan to be a dead heroYou fight with tanks and gunsI fight with pen and paperYou call me a draft dodgerMemento Mori..."- Memento Mori (2)จริงๆ แล้ว ไม่เพียง Aviv Geffen เท่านั้นที่เป็นที่รู้จักของชาวอิสราเอลโดยทั่วไป…
Music
  "1,000 people yellShouting my nameBut I wanna die in this momentI wanna die"- 1,000 People -Aviv Geffen เกิดและเติบโตในช่วงสงครามเลบานอนครั้งแรก ที่กองทัพอิสราเอลคิดจะเข้ายึดครองเลบานอนเพื่อยุติสงครามกลางเมือง แต่ความขัดแย้งนี้ดูจะห่างไกลจากตัวเขารวมถึงหนุ่มสาวคนอื่น ๆ ซึ่งต่างก็ดำเนินชีวิตคู่ขนานกับความขัดแย้งนี้จนแม้ปัจจุบันก็ยังไม่จบไม่สิ้น ข้อตกลงหยุดยิงไม่อาจทำให้ความตึงเครียดลดลงได้ ระเบิดนิรนามยังคงถูกยิงมาจากที่ไหนสักแห่งภาพที่ดูขัดแย้งกันอย่างชัดเจนในตัว Geffen คือ ขณะที่เขาแต่งเพลงและเผยความคิดเห็นในแบบอิสราเอลฝ่ายซ้าย แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพทางดนตรี…
Music
  "Love films are broadcast lateBut violence is allowed at any hourWhile on a kibbutz a girl was rapedIn the disco they set their spirits free"- Violence -เป็นเรื่องธรรมดาที่น้อยคนในบ้านเราจะรู้จักศิลปินหนุ่มจากอิสราเอลที่ชื่อ Aviv Geffen เพราะผมเองกว่าจะรู้จักเขาก็ต้องโยงอะไรหลายทอดอยู่เหมือนกันมันเริ่มจากการที่ผมชื่นชอบวงโปรเกรสซีฟร็อค ที่ชื่อ Porcupine Tree แล้วนักร้องนำและผู้กุมบังเหียนของวงนี้คือ Steve Wilson ในขณะที่ยังคงอยู่กับวงเดิม ก็ได้ออกไปมีโปรเจกท์ย่อยคือวง Blackfield ด้วย ซึ่งวงโปรเจกท์ของเขานี้ ก็ตั้งใจว่าจะเป็นวงป็อบร็อค ที่ทำร่วมกับนักดนตรีรุ่นน้องชาวอิสราเอลคนหนึ่ง…