ช่วงที่ผ่านมาผมขอลาพักจากการเขียนคอลัมน์ไปชั่วคราว ไม่ได้ลากิจ และยังไม่ได้ลาออกจากการเขียนคอลัมน์แน่นอน เพียงแต่หลบจากความเหนื่อยล้าจากหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อไปเติมพลังให้ตัวเองเท่านั้น
ในช่วงที่พักจากการเขียนคอลัมน์ไป ก็คิดว่าจะลองหลบมุมสงบ ๆ อยู่ ปิดหูปิดตาตัวเองจากสิ่งรอบข้างดูสักพัก … แต่แล้วก็ไม่สำเร็จ ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวบางอย่างที่ทำให้ผมต้องรู้สึกถึงความย่ำแย่ น่าเบื่อหน่ายไม่รู้จบของประเทศที่ผมอยู่อีกครั้ง
จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของผู้ชายคนหนึ่ง (ซึ่งสื่อบางแห่งดูจะพยายามแปลงให้เขากลายเป็นเพศอื่นอยู่เสมอ…ซึ่งผมว่าเขาคงไม่เดือดร้อนอะไร) เขาไม่ได้เป็นคนดีอะไรนักหนา แต่ก็ไม่ได้เป็นคนเลวขนาดที่ว่าเห็นแล้วต้องเบือนหน้าหนี เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่บังเอิญมีโอกาสสวมสูทออกทีวีให้พวกท่านได้หาเรื่องด่าอยู่เสมอเท่านั้น
สิ่งที่ทำให้ผมหงุดหงิดคือ เขาถูกรังแกด้วยเรื่องที่ฟังดูขำขันเหลือเกินในโลกที่ Freedom of Speech ควรจะเป็นของประชาชนได้แล้ว เป็นการใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล แต่ไม่เห็นมีใครออกมาวิจารณ์พวกนี้ในพื้นที่สาธารณะบ้าง การวิจารณ์รัฐบาล (ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง) เป็นเรื่องดี ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่าโครงสร้างอำนาจรัฐมันมีมากกว่ารัฐบาล มันยังมีผู้ที่คอยออกมาโจมตี ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายแค้นหรือพวกขุนนางกังฉินทั้งหลาย ซึ่งพวกหลังนี้รอดพ้นการวิพากษ์วิจารณ์ไปได้ทุกครั้ง
เป็นเรื่องธรรมดาในวงการนี้ที่มีแพ้มีชนะ ท่ามกลางผู้คนที่ต้องสูดกลิ่นเน่าเหม็นของมันต่างรู้เรื่องนี้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ถูกรังแกไล่ต้อนจนมุมโดยพวกขุนนางอำนาจนิยมจะแพ้พ่ายเสมอไป เพราะปลาบางตัวมันทำเบ่งใหญ่ได้แต่ในหนองน้ำเล็ก ๆ ที่มันคิดว่านั่นเป็นทั้งโลกของมันแล้ว แต่ไม่รู้หรอกว่าเมื่อหนองน้ำเล็ก ๆ นั่นกลายเป็นบึงใหญ่ขึ้นมา มันอาจจะต้องเจอปลาอีกกี่ตัวที่ใหญ่กว่ามันโดยไม่ต้องเบ่ง
“You might be a big fish
In a little pond
Doesn’t mean you’ve won
‘Cause along may come
A bigger one”
- Lost!
สิ่งที่พอจะทำให้ผมมีอารมณ์คึกกลับมาเขียนเรื่องเพลงได้อีกครั้งคืออัลบั้มใหม่ของวงบริทป็อบแห่งยุคอย่าง Coldplay หลังจากที่งานของพวกเขาอาจจะดูเนื่อย ๆ ลงไปบ้างในอัลบั้มก่อนหน้านี้ (แต่ยังคงความไพเราะอยู่เช่นเคย) อัลบั้มนี้ดูเหมือนพวกเขาจะกลับมามีชีวิตชีวา กระปรี้กระเปร่ากันอีกครั้ง แค่เห็นชื่ออัลบั้มอย่าง “Viva la Vida or Death and all his friends” และปกอัลบั้มที่แปลกตาไปก็พอจะรู้แล้วว่าจะต้องเตรียมตัวพบอะไรใหม่ ๆ จากวงนี้อย่างแน่แท้
คำว่า Viva la Vida (แปลว่า “สดุดีชีวิต” ไม่ก็คำอื่นที่ใกล้เคียงกัน) มาจากชื่อรูปวาดของศิลปินหญิง ฟรีดา คาห์โล (ใครอยากรู้เรื่องราวชีวิตอันฉูดฉาดของเธอคงต้องลองหาภาพยนตร์ที่ชื่อ “ฟรีดา” มาดู) ขณะที่รูปปกเป็นรูปวาดของศิลปินฝรั่งเศสที่มีชื่อว่า “Liberty Leading the People” เป็นรูปที่เขียนถึงการปฏิวัติต่อต้านพระเจ้าชาร์ลที่สิบ หรือที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติเดือนกรกฎา”
หากจะให้อธิบายเกร็ดต่อเล็กน้อย (เท่าที่ข้อมูลและความรู้อย่างงู ๆ ปลา ๆ ของผู้เขียนจะมี) การปฏิวัติในครั้งนี้ส่งผลให้พระเจ้าหลุยส์-ฟิลิปส์ ขึ้นครองราชย์ต่อและทำให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายชัดเจนระหว่างฝ่ายสนับสนุนราชบัลลังค์และฝ่ายสนับสนุนสาธารณรัฐ แต่กระบวนการทางประวัติศาสตร์ก็ค่อย ๆ ขับเคลื่อนมาเรื่อย ๆ จนถึงการปฏิวัติครั้งสำคัญในปี คศ.1848
ก่อนที่คอลัมน์นี้จะกลายเป็นคอลัมน์ประวัติศาสตร์ ผมก็อยากพูดถึงความสงสัยของตัวเองอยู่หน่อยว่า การเปลี่ยนรูปแบบปกอัลบั้มจากเดิมของพวกเขาต้องการจะสื่ออะไรมากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีหรือเปล่า เพราะทั้งสามอัลบั้มก่อนหน้านี้ปกจะออกเรียบง่าย นิ่ง แต่แฝงความหมาย ขณะที่ปกอัลบั้มแบบ “การปฏิวัติเดือนกรกฎา” นี้ดูอล่างฉ่างผิดวิสัย Coldplay (ไม่นับว่ามี Reference งานจิตรกรรมถึงสองชิ้น)
แล้วผมก็พบว่ามีเพลงหนึ่งที่พูดถึงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของฝรั่งเศส คือเพลง Viva la Vida ซึ่งเป็นเรื่องเล่าผ่านมุมมองของราชาผู้เคยมีอำนาจมาก่อน แล้วพบว่าวันหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของบ้านเมืองก็มาถึง เมโลดี้ทั้งจากเครื่องสายและจากเสียงร้องของ Chris Martin สวยได้อารมณ์มาก ทั้งตัวดนตรีและเนื้อเพลงไม่แฝงความโกรธแค้นใด ๆ ไว้เลย ดู ๆ ไปออกจะเป็นมุมมองที่เข้าใจโลกเสียด้วยซ้ำ
“Just a puppet on a lonely string
Oh who would ever want to be king?”
- Viva la Vida
บรรยากาศของการใช้เครื่องสายสร้างอารมณ์โออ่าแต่ก็ยังไม่ลืมความไพเราะดั้งเดิมของ Coldplay เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งเท่านั้น สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งน่าจะมาจากโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้คือ Brian Eno ผู้เคยทำหน้าที่เดียวกันนี้กับวงอย่าง U2 (ไม่รู้ Coldplay ประชดที่ถูกหาว่าเริ่ม U2 เข้าไปทุกวันแล้วหรือเปล่า) Talking Head และเคยมีผลงานแนวอิเล็กโทรนิคของตัวเอง คงต้องบอกว่า Eno มีส่วนสำคัญในการช่วยปั้นซาวน์ของ Coldplay ที่พยายามจะฉีกไปจากสามอัลบั้มก่อนให้เป็นรูปเป็นร่างได้ไม่ “หลุด” จนเกินไป
นอกจาก U2 แล้ววงที่มักจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับพวกเขาคือ Radiohead ซึ่งช่วงต้นของเพลง 42 ลูปของเปียโน เสียงร้องและเนื้อเพลง มันก็ชวนให้นึกถึง Radiohead อย่างช่วยไม่ได้ ก่อนจะตัดบทเปลี่ยนจังหวะกระทันหันไปสู่อีกอารมณ์ ซึ่งมุขตัดบทนี้ยังมีในอีกหลาย ๆ แทรก บางแทรกก็ใช้วิธีซ้อนเพลง ทำให้รู้สึกแปลก ๆ ไปบ้าง และบางเพลงก็ชวนให้อึดอัดไปหน่อย
(โดยส่วนตัวผมไม่ชอบเพลง Yes! ที่ คริส มาร์ติน พยายามจะร้องเสียงโทนต่ำ แต่ชอบ Chinese Sleep Chant ที่ซ่อนอยู่หลังเพลงนี้อีกที…ลำบากใจไม่น้อยเวลาจะฟัง)
ก่อนหน้าอัลบั้มนี้จะออกมามีเพลงหนึ่งที่เปิดเป็น Single ให้ดาวน์โหลดฟรีคือเพลง Violet Hill เป็นเพลงที่มีดนตรีหนักแน่น แต่มีจังหวะเน้น ๆ และริฟฟ์กีต้าร์ทรงพลัง พูดถึงสงครามและศาสนาแบบกี๊ก ๆ แต่พอเข้าใจได้
“I don’t want to be a soldier
Who the captain of some sinking ship
Would stow, far below
So if you love me why’d you let me go?”
- Violet Hill
ที่ผ่านมางานของ Coldplay หลายเพลงมักจะแฝงเรื่องหนัก ๆ ไว้ภายใต้ดนตรีที่ฟังดูตรงกันข้ามคือฟังดูเบาสบาย แต่ใน Viva la Vida or Death and All His Friends ดูจะปรับตัวดนตรีให้มีความหนักตามเนื้อหาและบางเพลงก็ออกโทนหม่นหมอง (เว้นเพลง Viva la Vida ที่พูดถึงการเมืองแบบลึกลงไปในมิติความเป็นมนุษย์) ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมเพลงเบา ๆ ที่ชวนให้หลบหนีจากโลกน่าเบื่อนี้ไปชั่วคราว
เพลงที่พูดถึงคือสองเพลงสุดท้าย คือเพลง Strawberry Swing และ Death and All His Friends เพลงแรกมีเสียงกีต้าร์ที่ได้อิทธิพลจากดนตรีพื้นบ้านแอฟริกัน บวกกับซาวน์ไซคีเดลิกหน่อย ๆ จังหวะจะโคนของกลองรวม ๆ ทำให้เพลงนี้ดูสดใสไม่น้อย เนื้อหาเป็นเรื่องหวนหาอดีตอยู่กลาย ๆ
ขณะที่ Death and All His Friends ในโครงสร้างของเพลงที่ค่อย ๆ บิวท์ช้า ๆ จากเปียโนนุ่ม ๆ ไปสู่จังหวะที่เร่งเร้าเรื่อย ๆ จนถึงท่อนร้องประสานเสียง ก็แฝงความหมายอย่างมีมิติไว้ภายใต้เนื้อเพลงเรียบ ๆ
“I don’t want a cycle of recycled revenge
I don’t want to follow death and all of his friends”
- Death and All His Friends
นัยหนึ่งอัลบั้ม “สดุดีชีวิตหรือความตายกับผองเพื่อนของเขา” เหมือนได้เข้าไปสำรวจ เผชิญหน้ากับบางด้านของชีวิต ขณะเดียวกันก็แอบแฝงการพยายามหนีและปฏิเสธอีกด้านอยู่เงียบ ๆ
ในท้ายเพลง Death and All His Friends ก็มีเพลงซ่อนไว้คือ The Escapist ซึ่งบอกว่าในที่สุดแล้ว การหนีมันก็เป็นเพียงความฝัน ทุกคนล้วนติดอยู่ในบ่วงที่เรียกว่าชีวิต ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เต็มไปด้วยการต่อสู้ไม่รู้จบ และชีวิตนี่เองคือสิ่งที่น่าถนุถนอมรักษา ไม่ให้อำนาจใด ๆ มาฉกชิง
We lie awake
And we dream
We’ll make an escape”
- The Escapist