การยึดติดในสถาบันหรือรางวัลว่าเป็นตัววัดความเก่งกาจของศิลปินดูเป็นเรื่องหน้าขำอย่างหนึ่งในโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับความหลากหลาย คิด ๆ ดูว่าแนวดนตรีในโลกนี้ถ้านับรวม Sub-Genre ทั้งหลายเข้าไปด้วยแล้วก็มีมากจนนับแทบไม่ไหว แต่รางวัลจากสถาบันทั้งหลายมันแบ่งง่าย ๆ แค่ ป็อบ ร็อค อาร์แอนด์บี ซึ่งไม่อาจตอบรับกับความหลากหลายได้ และพาลจะทำให้เป็นการขีดเส้นขั้น ผูกขาดรูปแบบบางอย่างไว้ก็ได้ว่า "เสียงดี" ต้องเป็นเสียงแบบนี้ การเรียบเรียงที่ดีต้องเป็นแบบนี้ ๆ ฯลฯ ผมถึงคิดว่า เราควรจะไม่ไปยึดติดอะไรมากกับรางวัลที่มาจากการตัดสินของคนไม่กี่คนบนหิ้ง
เรื่องศิลปะที่มาจากการผูกขาดรสนิยมมันชวนให้รู้สึกย่ำแย่ฉันใด เรื่องการเมืองที่มาจากการผูกขาดของคนบนหิ้งก็ชวนให้รู้สึกย่ำแย่ฉันนั้น การพยายามสกัดไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันโดยอ้างว่าจะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองปกป้องตัวเองได้ มันก็ฟังดูเป็นการย่ำอยู่กับที่แล้วก็เป็นการปกป้องพวกพ้องที่อาจจะไม่ใช่นักการเมืองแต่อยู่บนหิ้งโดยอ้อม ๆ เช่นกัน
--------------------------
สิ่งที่อยู่บนหิ้งเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองหรือเรื่องศิลปวัฒนธรรมจะต้องถูกตั้งคำถามบ้างว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของประชาชน หรือแม้แต่เป็นตัวแทนของ Minority ได้จริงหรือเปล่า
ชะแว๊บมาพูดถึงสิ่งที่น่าจะเป็น "ทางเลือกที่สาม" ในวงการของดนตรี สำหรับคนที่ไม่ค่อยปลาบปลื้มกับดนตรีกระแสหลัก และมีรสนิยมที่ต่างออกไป ผมพยายามหลีกเลี่ยงคำว่าอินดี้อย่างสุดชีวิตเพราะคำ ๆ นี้ ในปัจจุบันมันถูกนำไปแปลงความหมายโดยผู้มีบารมีนอกค่ายเพลงจนทำให้คนเข้าใจผิด ๆ ถูก ๆ และใครที่ไม่รู้จริงก็มักจะด่าเหมามันหมด
ช่วงนี้มีโอกาสได้ฟังอยู่สองวงคือ Disorder วงแนวเมทัลที่เน้นการใส่จังหวะแบบกรู๊ฟเสริมอิทธิพลจากฮาร์ดคอร์ บ้างอาจจะเรียกวงนี้ว่าเป็นแนวเมทัลเพื่อชีวิต !? ซึ่งน่าจะจงใจหมายถึงเนื้อเพลงที่ที่หันมาพูดถึงสังคมรอบตัวแทนการอยู่กับแฟนตาซี
อัลบั้มที่วงนี้เพิ่งออกมาคือ This's order ที่ผมฟังโดยรวมแล้วคงต้องพูดแบบบั่นทอนกำลังใจหน่อยว่า ในแง่ของดนตรีโดยรวมแล้วยังไม่สุดและไม่มีอะไรที่เด่นเป็นพิเศษออกมา เพลงช้าสองเพลงที่ดูหลุดโทนหน่อย ๆ เพราะดีครับ โดยเฉพาะสายลมที่จากไป ทั้งเนื้อหาและดนตรีมันชวนให้นึกถึงพวกเพื่อชีวิตจริง ๆ
เนื้อหารวม ๆ ของอัลบั้มนี้แล้วมันชวนให้นึกถึงเมทัลวิพากษ์สังคมอีกวงหนึ่ง ซึ่งถ้าจะให้พูดแล้วส่วนใหญ่ยังหนีไม่พ้นกรอบคิดเดิม ๆ ซึ่งไม่ค่อยต่างอะไรกับการแค่ได้ระบายอารมณ์ดิบ ๆ ออกมาเท่าไหร่ เว้นอยู่เพลงเดียวเท่านั้นที่ผมคิดว่าเข้าท่าคือเพลง หลอกตัวเอง ...ที่ถ้าหากอัลบั้มนี้เป็นคอนเซปท์อัลบั้มแล้วล่ะก็ มันเป็นเพลงปิดอัลบั้ม (ไม่นับ Instrumental Outro) ที่เหมาะสมทีเดียว
อีกวงหนึ่งที่หน้าปกเด่นตระหง่านออกมาคือวงที่ชื่อภูมิจิต ในอัลบั้ม Found and Lost ถ้าไม่รู้จักมาก่อนจะพยายามเดาไปหลายเลยว่ามันเป็นวงแนวอะไรกันแน่ ด้วยน่าปกและชื่อเพลงที่น่าสนใจทำให้ผมลองเอามาฟังดูก็พบว่ามันเป็นเพลงทีแม้จะยังคงพื้นฐานแบบป็อบร็อคเอาไว้ แต่ก็เจือด้วยนีโอ-ไซคีเดลิก บางเพลงออกเป็นชูเกส (Shoegaze) เลยทีเดียว
หลายเพลงในอัลบั้มนี้ฟังเพลินและเชื่อว่าตั้งใจทำได้ดีทีเดียว แต่บางเพลงก็ธรรมดาไปหน่อย ด้านเนื้อหานี้แหวกออกมาจากวงนอกกระแสวงอื่นอยู่เหมือนกัน เรียกว่ามีแนวทางของตัวเองดี เพลงอย่าง New World Order พูดถึงอะไรที่ไม่ค่อยได้ยินจากปากของศิลปินไทยเท่าไหร่นัก แต่การถ่ายทอดเพลงนี้ยังมีลักษณะที่ชวนให้รู้สึกว่ามันจริงจังก็จริงจังไม่สุด บางประโยคของเนื้อเพลงทำให้โทนจริงจังในเพลง "หลุด" ออกมาเล็กน้อย
ทางวงภูมิจิตเคยบอกไว้ว่าอัลบั้มนี้เหมือนเป็นคอนเซปท์อยู่กลาย ๆ เกี่ยวกับชีวิตเด็กชายคนหนึ่งที่อาจจะชื่อภูมิจิตก็ได้ โดยพูดถึงสิ่งที่เขาได้พบเจอผันผ่านมาในชีวิต มีทั้งเรื่องความประทับใจใน "เมฆสีรุ้ง" เรื่องวุ่นวายใน "มากมายก่ายกอง" ดนตรีของสองเพลงนี้ฟังได้แบบเรื่อย ๆ
ขณะที่เพลงที่ดูตรงไปตรงมามากที่สุดในอัลบั้มอย่าง "รอผล..." ที่พูดถึงการรอผลสอบเอนทรานส์ ผมว่าเพลงนี้มีวิธีการเล่าเรื่องแบบที่ชวนให้รู้สึกได้มากกว่าช่วงท้าย ๆ ที่เริ่มพูดถึงอะไรในเรื่องสัจธรรมที่ฟังดู Sophisicate เกินไปหน่อยเมื่อเทียบกับการพูดถึงอะไรที่จับต้องได้ในช่วงต้น ๆ ของอัลบั้ม (ในอีกแง่หนึ่งเพลงอย่าง "อัตวินิบาตกรรม" กับ "รักคือความทุกข์ สุขคือนิพพาน" อาจจะดูเข้ากับปกอัลบั้ม แต่ผมคิดว่าถ้าจะทำเป็นคอนเซปท์อัลบั้มเนื้อหาของเพลงไม่น่าจะทิ้งห่างแบบไม่มีจุดเชื่อมโยงขนาดนี้)
อย่างไรก็ตามผมก็ยอมรับวงนี้ในแง่ความสดใหม่ ขณะเดียวกันก็ของมองโลกในแง่ดีรอดูพัฒนาการทั้งด้านดนตรีด้านเนื้อหาของพวกเขาต่อไป