ขึ้นหัวไว้ไม่ได้หมายความว่าตัวผมเองกำลังหลบหน้าหลบตาไปอยู่ที่อยุธยาแต่อย่างใด ช่วงที่หายไปเพราะจำต้องไปปฏิบัติภารกิจทั้งส่วนตัวและไม่ส่วนตัว พอได้จังหวะแล้วจึงเข้ามาเขียนงานที่ห่างหายไปนานอีกครั้ง
หลายคนคงนึกได้แล้วว่าหมายถึงผลงานใหม่ของมาโนช พุฒตาล ซึ่งผมได้ซีดีผลงานล่าสุดของเขา ทั้งสองชิ้นมาพร้อมกันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสได้ฟังเมื่อไม่นานมานี้เอง
สิ่งที่ผมหวังจากชื่อมาโนช พุฒตาลคือตัวงานดนตรีหลังจากที่เขาห่างหายจากการออกอัลบั้มเพลงไปพักนึง ("ชีวิตที่เจ็บปวดของคนป่วย" เหมือนออกมาให้หวังอะไรบางอย่างเล่น ๆ แล้วก็หายไป) เราอาจได้รู้จักเขาในฐานะนักจัดรายการวิทยุในคลื่นที่ปิดตัวลงไปแล้ว ใครหลายคงติดใจในท่วงท่าลีลาการจัดรายการของ "บุตรนายเฉลียวกับนางอำไพ" คนนี้ ขณะที่บางคนอาจคิดถึงเขาในฐานะคนทำดนตรี โดยเฉพาะแนวโปรเกรสซีฟ ร็อค อย่างอัลบั้ม "ในทรรศนะของข้าพเจ้า" ที่คมคายทั้งเนื้อหาและตัวเพลง แล้วเชื่อได้ว่าต้องมีคนที่ชื่นชมตัวเขาในทั้งสองบทบาท
ผมเปิดแผ่นลำดับที่หนึ่ง "อยู่อยุธยา" เล่นไปในขณะที่ครุ่นคิดถึงเจตนาว่าทำไมมาโนช พุฒตาลที่มีต้นทุนทางสังคมอยู่พอสมควรถึงเลือกทำงานแบบต้นทุนต่ำ ทำแบบ Self-Release ไม่พึงพาค่ายใด หรือเป็นเพราะบริบททางธุรกิจดนตรีในปัจจุบัน ทำให้เลือกเล่นกับพื้นที่ที่ต่างออกไป คิดในแง่ร้ายกว่านี้หน่อยคือนี่เป็นช่องทางเดียวที่เหลือ
(ในครั้งนี้ผู้เขียนเองขออนุญาตใช้รูปแบบถ่ายเองนะครับ เนื่องจากรูปอัลบั้มสองอัลบั้มนี้หายากมาก
อาจจะดูขัด ๆ ตาหน่อย )
ผลงานลำดับที่หนึ่ง "อยู่อยุธยา" เป็นงานเดี่ยวที่แบ่งเป็นสองแทร็ก แทร็กแรกเป็นเพลงที่เจ้าตัวบอกว่าเอาเพลง "อยุธยา" (เมืองเก่าของเราแต่ก่อน) มาร้องเล่นจนแปลงเนื้อเป็นของตนเองกลายเป็นเพลงยาวสิบนาที (มีแทรกเล่าเรื่องในช่วงกลางเพลง) ส่วนแทรกที่สองยาวยี่สิบกว่านาที จริง ๆ แล้วตัวเพลงเป็นเพลงเดียวกับแทร็กแรกแต่คราวนี้ตัวอาซัน (มาโนช) เองออกมาพูดอธิบายความเพิ่มเติมในแต่ละท่อนด้วย
ด้วยความเป็นงานแบบอะคูสติกแบบเรื่อย ๆ ที่ไม่มีการเล่นแบบร็อคที่หนักแน่น หรือการเรียบเรียงที่ซับซ้อนสำหรับผู้ที่หวังจะได้ฟังงานแบบเดียวกับอัลบั้ม ".ในทรรศนะของข้าพเจ้า" คงมีผิดหวังกันไปบ้าง แต่สำหรับคนที่ชอบแกจัดรายการวิทยุ เจอเล่นไปพูดไปแบบนี้คงหายคิดถึงกันไปหลายโยชน์
อย่างไรก็ดี บรรยากาศของเพลงโฟล์คแบบ "มาเดี่ยว" ของแกก็ยังมีเสน่ห์ไปอีกแบบ ไม่นับว่าเนื้อเพลงนี้ฟังก็รู้ว่าเขียนออกมาจากใจ ใช้ภาษาง่าย ๆ แต่เล่าเรื่องได้เห็นภาพ มีแกมขี้เล่นเสียเล็กน้อย เคร่งขรึมขึ้นบ้างในช่วงหลัง เขาเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของอยุธยาเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน แน่นอนว่าตัวเพลงมันต้องสะท้อนและวิพากษ์สภาพในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีอารมณ์แบบโหยหาอดีตกวักมือเชื้อชวนอยู่อย่างเสียมิได้
ผมฟังไปต้องระวังไป เพราะแม้จะไม่ได้อยู่อยุธยาเอง แต่ภาพสวย ๆ ของอยุธยาเมื่อยี่สิบปีที่แล้วจากถ้อยเสียงบอกเล่าของอาซันมันก็ชวนให้ถูกฉุดไปอยู่ในเวลานั้นแล้วปฏิเสธปัจจุบัน ผมชอบเนื้อเพลงที่ฟังดูมาจากใจ แต่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเห็นด้วยเสียหมด
อัลบั้มลำดับแรกเป็นเหมือนการทักทายเรียกน้ำย่อยก่อนจะมาถึงอัลบั้มลำดับที่สอง ที่คราวนี้ร่วมทำงานกับ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ อดีตมือกีต้าร์วงมาลีฮวนน่า ในชื่อที่ตรงไปตรงมาเอามาก ๆ อย่าง "มาโนช พุฒตาล บุตรของนางเฉลียวกับนางอำไพ & สมพงศ์ ศิวิโรจน์ บุตรของนายเลื่อนกับนางซุ่นลิ่น"
ในอัลบั้มนี้มีเพลง 4 เพลง และมีการพูดคุยถึงเบื้องหลังและแรงบันดาลใจในรูปแบบกึ่ง ๆ รายการวิทยุอีก 3 แทร็ก ต่อกัน อย่างเพลง "(กนกพงศ์) คนฟังเสียงฝน" ที่นอกจากจะเป็นเหมือนเพลง Tribute ให้กับกนกพงศ์ สงสมพันธ์ ผู้จากไปแล้ว ทางอาซันเองก็บอกว่ามันแต่งออกมาจากความประทับใจในเวลาได้ฟังเสียงฝนด้วย ดนตรีในเพลงนี้มีท่อนเวิร์สที่ฟังแล้วชวนให้นึกถึงโฟล์คนิ่ง ๆ ของ นิค เดรก แถมยังได้กีต้าร์ติดบลูส์แซมมาอย่างได้อารมณ์
ในส่วน "เพลงช้าง" เป็นเพลงที่มาจากแรงบันดาลใจของ สมพงศ์ ศิวิโรจน์ ที่เริ่มมาจากการตั้งคำถามว่าขณะที่มีคนบอกว่าช้างใกล้สูญพันธุ์ แต่กลับเจอช้างอยู่ได้บ่อย ๆ ตามถนนหนทาง เริ่มมาก็เว่ากันซื่อ ๆ และสมพงศ์เองก็เล่นยังคงเล่นบทบาทเว่ากันซื่อ ๆ ตลอดทั้งเพลงจึงให้อารมณ์แบบเพลงพูดขี้เล่น ๆ อยู่อย่างเสียมิได้ หีบเพลงปากกับเสียงคอรัส มีช้าง-มีช้าง-มีช้าง ยิ่งช่วยขับเน้นความขี้เล่นเสียจนอาจทำให้รู้สึกฉงนฉงายว่าต้องการสื่อเรื่องช้างหรือมากกว่านั้น แม้จะได้ฟังเจ้าตัวพูดถึงแรงบันดาลใจเอง ก็ยังไม่ค่อยเชื่ออยู่ดี ดันไปรู้สึกว่าเขาพูดความจริงไม่หมดเสียนี่
"บอกดวงจันทร์ฉันเหนื่อย" เป็นเพลงเรียบ ๆ ที่ผมดันฟังแล้วชอบเอามาก ๆ อาซันบอกว่าเนื้อเพลงนี้เริ่มมาจากอารามอยากมีเพลงที่พูดถึงดวงจันทร์อย่างศิลปินอื่น ๆ เขาบ้าง (เช่น Cat Steven มี Moonshadow อะไรแบบนี้เป็นต้น) เนื้อเพลงที่พูดถึงทั้งความรักและชีวิตในแบบคนที่ผ่านโลกมานาน แม้เพลงจะจบได้แบบยังไม่ถึงฝั่งเท่าไหร่ก็ตาม
"อย่าสิ้นหวัง" เป็นโฟล์คมาตรฐานสุด ๆ มีทั้งเนื้อหาและดนตรีที่อาจหาฟังได้เมื่อสัก 10-20 ปีมาแล้ว ไม่รู้ว่าจงใจหรือเป็นเพราะเสียงร้องของสมพงศ์ ด้วยหรือเปล่าที่ทำให้รู้สึกว่าเพลงนี้มันแอบ Lo-fi ทำให้ยิ่งเหมือนกับกำลังฟังจากเทปคาสเซทท์ยังไงอย่างนั้น เหมาะกับคนที่ชอบอะไรแบบโอลดี้วินเทจจ์ดีจริง
ในอัลบั้มหลังนี้ยังคงเป็นโฟล์คที่มีทั้งความขี้เล่นและลุ่มลึก อาจจะดูมีอะไรเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาหน่อย ช่วงพูดคุยในตอนหลัง (ซึ่งยาวกินเวลาเกินครึ่งแผ่น) ฟังดูธรรมชาติเป็นกันเอง ทั้งมาโนชและคุณสมพงษ์เองยังพอกันตั้งคำถามกลัวว่าการที่ออกมาพูดถึงแรงบันดาลใจในเพลงต่าง ๆ มันจะจำกัดจินตนาการ จำกัดการตีความของคนฟังหรือเปล่า
ผมก็แอบตอบให้ตรงนี้เลยว่า สำหรับผมแล้ว ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ มันอาจลดเสน่ห์ในความ "กำกวม" ไปบ้าง (แม้แต่เพลงช้างที่สุดจะตรงไปตรงมา...เว้ากันซื่อ ๆ ขนาดไหน ผมเองก็ยังไม่วายสงสัยว่ามันต้องแอบซ่อนอะไรอยู่) แต่ก็ทำให้งานดูกระจ่างแจ่มแจ้งดี อีกนัยหนึ่งก็แสดงความใกล้ชิดระหว่างผู้ผลิตกับผู้เสพงาน ยิ่งแทร็กที่พูดถึงแรงบัลดาลใจใน "อยู่อยุธยา" นี้ ยิ่งทำให้รู้สึกตัวเพลงดูมีพลังขึ้นด้วยซ้ำ
การเผยถึงแรงบันดาลใจจะไม่เป็นปัญหาตราบใดที่มันไม่ถูกผูกขาดทำให้เป็น "ความจริงหนึ่งเดียว"และผมเป็นคนเชื่อว่า ผลงานนั้นแยกออกมาจากตัวศิลปิน หากมีใครตีความเนื้อหาแย้งไปจากที่ศิลปินออกมาบอกเอง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เผลอ ๆ ความเห็นของเขาอาจจะสะกิดให้ตัวศิลปินเองนึกอะไรบางอย่างเพิ่มเติมออกก็ได้
ผมถึงคิดว่า "อยู่อยุธยา" จึงเป็นอัลบั้มที่เหมาะแก่การพักผ่อนสำหรับคนที่เจอเรื่องยุ่งยาก และยังคงรู้สึกยากลำบากกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย (ผมเองก็เป็น) ให้ได้เห็นภาพอดีตหวาน ๆ (ที่ตัวเองไม่ได้เป็นเจ้าของ) ชั่วคราว แล้วก็ตื่นขึ้นมาต่อสู้กับกงล้อของการเวลาที่หมุนต่อไป
.
.
ในโลกที่ไม่มี "ความจริงหนึ่งเดียว" ให้ต้องเชื่อตามอีกแล้ว