"The disgraced values of the company man
Are why you fight and sacrifice
Don't bend or break for their one-way rules
Or run from battles you know you'll lose"
"คุณค่าของคนทำงานที่ถูกลดทอน
คือเหตุผลที่คุณเสียสละ ต่อสู้ และวิงวอน
คุณไม่อาจฝ่าฝืนกฏเหล็กของพวกเขาได้
หรือแม้จะทั่งจะหนีจากการดิ้นรนที่คุณรู้ว่าจะแพ้โดยไม่อาจทำอะไร"
- Tomorrow's Industry
Dropkick Murphys เป็นวงพังค์ร็อคที่มาจากการรวมตัวของชาวไอริชที่อพยพมาอาศัยในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐฯ มีผลงานที่พอให้คนต่างแดนได้รู้จักบ้างคือเพลงประกอบภาพยนตร์ The Departed ที่ชื่อ "I'm Shipping Up to Boston" นักวิจารณ์บางแห่งบอกว่าเพลงนี้ส่งกลิ่นอายของความกร้าวแกร่งแบบคนงานคอปกน้ำเงิน
วงชื่อแปลกวงนี้รวมตัวกันครั้งแรกในช่วงกลาง 90's พวกเขาเริ่มเล่นดนตรีกันโดยอาศัยชั้นใต้ดินในร้านตัดผมของเพื่อนเป็นที่จัดแสดง พอพบว่ามีคนชอบก็เริ่มอัดอัลบั้มและออกทัวร์ โดยในยุดแรก ๆ Dropkick Murphys เล่นพังค์ในแนวย่อยที่เรียกว่า Oi!
ต้องอธิบายสักนิดว่าแนวที่ชื่อว่า Oi! (แปลกพอ ๆ กับชื่อวง) นี้เป็นพังค์ที่เดิมทีมาจากชนชั้นแรงงานอังกฤษ พวกแนวนี้ไม่ค่อยเล่นเนื้อหาการเมืองเท่าไหร่ แต่จะเน้นพูดถึงชีวิตประจำวัน บางครั้งก็พูดถึงฟุตบอล เหล้ายาปลาปิ้ง มีบ้างที่บางครั้งก็ต่อยอดไปถึงสังคมได้อย่างเรื่องถูกปลดจากงาน ด่าตำรวจ จิกรัฐบาล (สองอย่างหลังนี้ก็มีในพังค์แนวอื่น ๆ เหมือนกันครับ)
จะว่าบางทีในความเป็นเนื้อหาแบบ Oi! มันก็เป็นภาพสะท้อนสังคมในอีกแบบ ที่อาจไม่สวยงามแบบเพื่อชีวิต มีท่าทีขี้เล่นแบบลูกทุ่งไทย ขณะเดียวกันก็แฝงอารมณ์ไม่พอใจสภาพความเป็นอยู่จากเบื้องลึกภายใน มาจากการเก็บกดไม่มีที่ระบาย จนไม่พ้นต้องมาระบายกับคนที่ต้องทนอยู่กับความเจ็บปวดเหมือนกัน เพลงอย่าง FightStarter Karaoke ก็ชวนให้นึกถึงภาพแบบนั้นอยู่
"Riot tonight
everybody let's go gonna start a fight
but with who I don't know
This world is not what it seems
These beer balls are ruining my dreams."
"ออกลุยในคืนนี้
ทุกคนพร้อมจะมีเรื่องต่อยตี
กับคนที่ไม่รู้กระทั่งว่าเป็นใคร
เพราะโลกมันไม่เป็นดังที่คาดไว้
เหล้ายาก็ไม่อาจบรรเทา
ความฝันที่ถูกทำลาย"
- FightStarter Karaoke
ด้วยความเป็นวัยเฮ้ว เนื้อหายุคแรก ๆ ของ Dropkick Murphys เลยแสดงออกอย่างวัยรุ่น ด้วยท่าทีดิบ ๆ แบบเพลงที่ว่ามา มีบ้างที่เป็นเรื่องเซ็งตำรวจ เบื่ออำนาจรัฐบาล เช่นเดียวกับวงแนวนี้โดยทั่วไป แต่พอพวกเขาเติบโตขึ้น พื้นเพชีวิตพวกเขาที่มาจากคนระดับล่าง ๆ ของสังคมก็เริ่มทำให้พวกเขามองอะไรลึกขึ้น หรืออย่างน้อยก็มองผ่านชีวิตจริงมากขึ้น
จนกระทั่งสหพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (AFL-CIO) ได้ ชวนให้พวกเขาไปเล่นในวันแรงงานสากลปี ค.ศ. 2001 พวกเขาดีใจมาก ไม่คิดว่าวงที่เคยเล่นเหมือน "หนูในชั้นใต้ถุน" (เป็นคำที่พวกเขาตัวเรียกเองตอนนั้น-ผมไม่ได้ตั้งให้นะ) จะมีโอกาสได้เล่นโชว์ในงานที่เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย
Dropkick Murphys ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับวันแรงงานเท่านั้น พวกเขายังมีส่วนร่วมกับสหภาพ International Brotherhood of Electrical Workers (IBEW) อีกด้วย เนื้อหาในอัลบั้มหลัง ๆ ของวงพังค์ไอริชก็เริ่มพูดถึงชีวิตแบบปากกัดตีนถีบของคนงาน อิสรภาพและทางเลือกที่จำกัดเพราะฐานะทางเศรษฐกิจ อย่างเนื้อเพลง Worker's Song หรือ "เพลงคนงาน" ยังคงพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับกรรมาชีพระดับล่างในหลายประเทศได้อย่างจริงแท้
"We're the first ones to starve the first ones to die
The first ones in line for that pie-in-the-sky*
And always the last when the cream is shared out
For the worker is working when the fat cat's** about"
"พวกเราจะเป็นพวกแรกที่อดอยาก พวกแรกที่จะตาย
เป็นพวกแรกที่ไปต่อแถวรับฟังคำสัญญาอันงมงาย
แต่จะเป็นพวกสุดท้าย ที่ได้ลิ้มรสครีมที่ได้แบ่งคนอื่นไป
เพราะคนงานต้องก้มหน้าทำงาน ขณะที่แมวอ้วนอยู่เฉยไม่ทำอะไร"
- Worker's Song
(*pie-in-the-sky เป็นสำนวนแปลว่า ขนมพายบนสรวงสวรรค์ สื่อถึงการให้คำสัญญาแบบที่ไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง)
(** Fat Cat หรือแมวอ้วน เป็นสำนวนใช้เรียก คนรวยที่แสวงหาหนทางสู่อำนาจ)
กลุ่มแฟนเพลงของพวกเขาก็หลากหลายขึ้น ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจทำให้ทั้งคนงานคอปกน้ำเงิน (ที่ทำงานใช้แรงงานในโรงงาน ยามรักษาความปลอดภัย ฯลฯ) และคนงานคอปกขาว (พนักงานออฟฟิศ เลขาฯ เสมียน ฯลฯ) ต้องประสบปัญหาอะไรใกล้เคียงกัน ไม่แปลกหากเพลงของ Dropkick จะสามารถเป็นเพื่อนใจ ร่วมเรียงเคียงบ่ากับคนทำงานทั้งสองรูปแบบได้
Dropkick Murphys ในงาน St. Patrick Day 2002
(รูปถ่ายโดย Angela Giovine , ที่มา http://www.dropkickmurphys.com/)
ในอัลบั้มล่าสุดของ Dropkick คือ The Meanest of Times นั้น Ken Casey บอกว่า มีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวของกรรมชาชีพออกมาในมุมมองที่มองโลกในแง่ดี เท่าที่ได้ฟังมาบางเพลงของ Dropkick ก็มีเนื้อหาแฝงเรื่องของชาวไอริชอพยพไว้ด้วย
ดนตรีส่วนใหญ่ของ Dropkick Murphys ไม่พ้นเป็นพังค์ที่ Live and Loud แต่ก็ยังได้ผสานดนตรีพื้นบ้านของไอริช-เชื้อชาติเดิมของพวกเขาลงไปด้วย อย่างบางเพลงก็มีปี่แบ๊กไปป์ (บ้านเราเรียกปี่สก็อตฯ) ก็ลอยเด่นออกมาน่าจดจำ ตรงนี้ถือเป็นการปรับตัวทางวัฒนธรรมที่มีความหมาย และในปี ค.ศ. 2002 แสดงในงาน St. Patrick's day ที่รัฐบอสตัน ซึ่งมันคงเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาภาคภูมิใจไม่น้อย เพราะงาน St. Patrick เป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวไอริชทั่วโลก ซึ่งเป็นทั้งงานรื่นเริงและงานแสดงทางวัฒนธรรม
ใช่ที่ว่าตัวดนตรีเองไม่อาจเปลี่ยนโลกแบบปุบปับหรือทำให้คุณภาพชีวิตคนดีขึ้นอย่างทันตาเห็นได้ แต่วงดนตรีชาวไอริชวงนี้ก็ได้ใช้เป็นเครื่องมือรวบรวมเงินทุนช่วยเหลือให้หน่วยงานที่เคลื่อนไหว หรือแม้แต่เป็นหมุดหมาย เป็นการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ ของคนที่รวมตัวกัน
ศิลปะทุกอย่างมันทำเพื่อศิลปะในตัวมันเองอยู่แล้ว แต่หากศิลปะกับชีวิตคนมันยังแยกกันไม่ขาด มันก็ต้องเกี่ยวพันกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างน้อยสำหรับคนอเมริกัน Dropkick Murphys ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในทางเลือก สำหรับวันพรุ่งนี้ของยุคอุตสาหกรรม