Skip to main content

Theodor W. Adorno

ผมได้อ่านบทความเรื่อง "ทบทวนแนวคิด ‘อุตสาหกรรมวัฒนธรรม' : เมื่อวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม" ของ อ.เกษม เพ็ญภินันท์ จากวิภาษาฉบับที่ 7 แล้วก็นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่องของนักคิด/นักวิจารณ์ ที่ชื่อ Theodor Adorno นี้ จากบทความชื่อ "อดอร์โนกับอุตสาหกรรมวัฒนธรรม : กรณีศึกษาเพลงสมัยนิยม (Popular Music)" ในหนังสือชื่อ "เหลียวหน้าแลหลัง วัฒนธรรมป็อบ" ซึ่งเป็นบทความที่พูดถึงเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะ

Adorno เป็นนักคิดสังคมนิยมชาวเยอรมัน ผู้นำเอาแนวคิดของทั้ง Max Waber, Marx และ แม้แต่ Sigmund Freud เข้ามาจับในงานเขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์ของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของดนตรี

Adorno พูดถึงดนตรีโดยแบ่งออกเป็นสองประเภทอย่างชัดเจนคือ Serious Music (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงดนตรีเครียด แต่ "ซีเรียส" ที่หมายถึงจริงจังน่าจะตรงกว่า) ซึ่งมีนัยหมายถึงดนตรี Classic ทั้งหลายแหล่ (โดยเฉพาะดนตรีที่มีความเป็น Atonality ที่เขาชอบ) กับ Light Music/Popular music ซึ่งหมายถึงดนตรีสมัยนิยม/มวลชนนิยม (จากนี้ผู้เขียนขอเรียกอย่างชัดเจนว่า Popular music) ซึ่งหมายรวมตั้งแต่ Jazz, Blue, Folk, Pop, Rock, เพื่อชีวิต แม้กระทั่ง Progressive 

โดย Adorno ได้วิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ว่าเป็นดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะของการผลิตซ้ำ และมีจุดมุ่งหมายแบบอุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือเป็นการผลิตเพื่อมุ่งการซื้อขาย การฟังดนตรีพวกนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการบริโภคสินค้าเพื่อความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม นอกจากนี้อาจยังจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า False need คือ "ความต้องการเทียม" ขึ้นมาอีก

False Need นี้หมายถึงความต้องการในสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นต่อเราจริงๆ ตัวอย่างง่ายๆ คือเวลาที่เรารู้ว่าใครได้ฟังเพลงๆ นึง พูดถึงเพลงๆ นึงในกลุ่มเพื่อนแล้วเราไม่รู้จัก เราไม่เข้าใจ เราไม่เคยฟัง เราก็จะเกิด False need ว่าเราต้องไปหาฟังมันให้ได้ ไม่งั้นจะเชย หรือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง อย่างนี้เป็นต้น

ซึ่งในประเด็นนี้ผมมีข้อถกเถียงอยู่แน่นอน ทั้งเรื่องการสร้างความพึงพอใจชั่วครู่ชั่วยาม และเรื่องการสร้าง False need แต่ตอนนี้ขอเล่าถึงความคิดที่ลึกไปกว่านี้ของ นาย Adorno ก่อน

เขาได้เขียน บทความชื่อยาวเหยียดบ้าคลั่งว่า "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" และในเนื้อหาตอนนึงของบทความ มีข้อความที่ทำให้ผมรู้สึกขำ ข้อความที่ว่านั้นก็คือ

"...the illusion of a social preference for light music as against serious is based on that passivity of the masses which makes the consumption of light music contradict the objective interest of those who consume it"

ขอแปลตามบริบทปัจจุบันและความเข้าใจของผมเองว่า "...ภาพลวงของการที่คนในสังคมส่วนมากชื่นชอบดนตรีสมัยนิยมเบาๆ  ง่ายๆ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธดนตรีซีเรียส เนื่องมาจากความเฉื่อยชาของมวลชน ที่ทำให้การเสพย์ดนตรีสมัยนิยม ย้อนแย้งกับความสนใจเชิงวัตถุวิสัยของผู้เสพย์เอง"

คำที่ผมฮาคือ "ความเฉื่อยชาของมวลชน" (Passivity of the Mass) ในความหมายคล้ายๆ กันตรงนี้ Adorno ก็ถึงขั้นบอกว่าอุตสาหกรรมเพลงมันช่วยสร้างปัจเจกเทียม (Pseudo-individual) ขึ้นมาเลยทีเดียว หมายความว่า การที่ผู้คนแห่แหนชื่นชมเพลงบางเพลงหรือศิลปินบางกลุ่ม เป็นเพราะพวกเขาเฉื่อยชาและยอมจำนนอย่างนั้นหรือ? ...ผมคิดว่ามีส่วนจริงครับ แต่ไม่ทั้งหมด บางคนอาจจะชื่นชมในดนตรีวงนี้ๆ เพลงนี้ๆ ตามๆ กันไปเพียงเพื่อต้องการทำตัวกลมกลืนไปกับสังคม แต่ขณะเดียวกันผมก็เชื่อว่ามันเป็นรสนิยมส่วนตัว เป็นการเลือกเสพย์ของเขาเองก็มี

ดนตรี Popular music ทั้งหลายในยุคสมัยปัจจุบันที่ Adorno ไม่ทันได้เห็นนั้น มีความหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่เดิมมาก เท่าที่ผมสำรวจตรวจตราดู ผมเห็นว่า รสนิยมของผู้คนมันหลากหลายขึ้นกว่าในอดีตนัก จริงอยู่ดนตรีป็อบกระแสหลักยังครองใจคนหมู่มาก แต่พื้นที่ของคนที่ชอบอะไรแตกต่างออกไปก็มีหลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังมีการผุดขึ้นมาของวัฒนธรรมย่อยอย่าง พังค์, เมทัล, อีโม, อินดี้ หรืออะไรๆ ซึ่งผมไม่ค่อยสนหรอกว่า มันจริงหรือมันเฟค อะไรยังไง แต่การมีอยู่ของความหลากหลายตรงนี้มันทำให้คนได้มีทางเลือก

ยังไม่นับว่า คนที่ทำงานการเคลื่อนไหวทางสังคมส่วนใหญ่ที่ผมพบเจอก็ไม่ได้ฟังเพลงคลาสสิก ฟัง Serious music อะไรของคุณเลยแม้แต่น้อย พวกเขาฟัง Pop-rock ธรรมดา, ฟังเพื่อชีวิต, ฟังลูกทุ่ง, บางคนชอบเพลงพื้นบ้านชนเผ่า กระทั่งปัญญาชนสมัยใหม่ที่รู้จักชื่อวง Heavy Metal แปลกหู มากพอๆ กับที่รู้จักชื่อนักคิดออกเสียงยากๆ ผมก็เคยเจอมาแล้ว

ในเมื่อ Adorno เอาจิตวิทยามาจับ ผมก็จะเอาจิตวิทยามาจับบ้าง (เอาไปยำกับปรัชญาเล็กน้อย) ผมคิดว่าคนที่จะสมาทานรสนิยมเข้ากับอะไรอย่างชัดเจนมักจะเกิดในช่วงวัยรุ่นเป็นสำคัญ ประการแรกวัยรุ่นเป็นช่วงค้นหา Identity ของตัวเอง ซึ่งอิทธิพลก็มาจากทั้งสภาพแวดล้อมที่เขาเกิดและเติบโตมา ประการที่สอง ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่คนเราจะหากลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน (หรือสนใจอะไรใกล้เคียงกัน) แบบที่เรียกว่า Peer Group และการเสพย์ดนตรีพวกนี้ บางครั้งก็เป็นไปเพื่อการเข้าสังคม แต่ในปัจจุบันมีคนที่สนใจดนตรีแนวเดียวกัน ซึ่งเป็นแนวที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ก็ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แม้พวกนี้อาจจะสร้างอัตลักษณ์อะไรบางอย่างร่วมกัน (ใส่เสื้อวง, เพ้นท์ขอบตา, ทรงผม ฯลฯ) แต่ผมเชื่อว่าพอหมดจาก "พิธีกรรม" ร่วม เช่น คอนเสิร์ทเฉพาะกลุ่ม หรืออะไรก็ตามตรงนั้นไปแล้ว พวกเขาก็จะกลับมามีอัตลักษณ์อะไรอย่างอื่นในแบบของตัวเองอยู่ดีแหละครับ เราไปรู้ได้ยังไงว่าเขาเป็นปัจเจกเทียม เพียงเพราะพวกเขามีอัตลักษณ์บางส่วนร่วมกันน่ะหรือ?

ที่มาของภาพ : averypublicsociologist.blogspot.com

บทความเรื่อง "On the Fetish Character of Music and the Regression of Listening" ของ Adorno เขียนเมื่อปี 1938 ซึ่งในยุคสมัยนั้นเข้าใจว่าดนตรี Jazz กำลังครองเมือง และ Adorno เองก็มีอคติกับ Jazz เป็นการส่วนตัว (ผมเชื่ออย่างนั้น) ทั้งนี้ถ้าได้อ่านประวัติก็จะพบว่าเขาเติบโตมากับดนตรีคลาสสิค จึงไม่แปลกที่เขาจะเชิดชูมันนัก โดย Adorno ก็ทำการป้องกันตัวเองตรงนี้ไว้ก่อนด้วยการด่าพวก Positivism หรือก็คือนักวิจารณ์ที่เน้นวิเคราะห์ตัวผู้ผลิตงาน (นักคิด/นักปรัชญา/ศิลปิน ฯลฯ) มากกว่าตัวบท คงเพราะกลัวว่าจะมีคนมารู้เข้าว่าเขาเกลียด Jazz แล้วชูดนตรีคลาสสิคกระมัง :P

แต่เชื่อใจได้ ผมจะไม่โจมตี Adorno ด้วย Positivism อย่างเดียว (ซึ่งผมคิดเหมือนกันว่าการใช้ Positivism โดดๆ มันยังตื้นเกินไป) ผมอยากจะบอกว่า ผมเสียดายแทน Adorno มากที่เขาเสียชีวิตไปในปี 1969 ช่วงที่ Popular music ในยุคนั้นอย่างดนตรี Rock กำลังบูม และวัฒนธรรมฮิปปี้เบ่งบานได้ที่เลยทีเดียว (ยังไม่นับว่าดนตรี Progressive Rock เพิ่งตั้งไข่ ซึ่งผมจะเขียนถึงในครั้งหน้า)

Adorno อาจจะวิจารณ์ก็ได้ว่า ดนตรี Rock ก็ไม่ต่างอะไรกับ Jazz ที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่ก็หลากหลายกันในกรอบเดียว (เขาใช้คำว่า "Various with the same theme") และแม้ดนตรีจะมีลักษณะท้าทาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เสพย์เกิดสำนึกในการที่จะเป็นอิสระ, มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความสุขอันจริงแท้ รวมถึงไม่ได้ช่วยในการปลดปล่อยสังคม

ผมไม่รู้ว่า Adorno เคยเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของ Popular music รวมถึงวัฒนธรรมที่พ่วงมาด้วยมากแค่ไหน แต่หากได้ศึกษาบริบทดีๆ จะพบว่าดนตรีบางประเภทที่เขาปฏิเสธ มันมีที่มาน่าสนใจขนาดไหน อย่างเช่นดนตรี Blues (ซึ่งแน่นอนสำหรับ Adorno มันต้องถูกรวมอยู่ใน Popular music) นั้น มันมีกำเนิดมาจากการที่คนผิวสี ในยุคนั้นที่ยังเป็นแรงงานทาส พวกเขาไม่เพียงถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางสังคม แม้แต่ในทางวัฒนธรรมพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิมใดๆ  พวกเขาจึงทำได้แค่เพียงร้องเพลงโต้ตอบกันเวลาที่ทำงานเป็นหมู่คณะ ด้วยเนื้อหาและน้ำเสียงที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดจากตัวผู้ขับร้องเอง ซึ่งต่อมาน้ำเสียงแบบนี้รวมถึงดนตรีที่มีการวางตัวโน้ตในแบบแอฟริกันดั้งเดิมได้กลายมาเป็นดนตรีบลูส์

จริงอยู่ ดนตรีแนว Blues อาจจะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปฏิวัติเลิกทาสของคนผิวสี (โดยตรงในทางรูปธรรม) แต่ในแง่ของวัฒนธรรมมันทำให้พวกเขารู้สึกว่าได้มีพื้นที่ในการแสดงออกบ้าง ทำให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกออกมาจากเพลงต่างๆ ที่เขาร้องเขาเล่น Adorno เอ๋ย...คุณอาจจะบอกว่า "การมีพื้นที่ตรงนี้โดยไม่คิดจะทำอย่างอื่นที่มากกว่า มันจะทำให้เกิดความเฉื่อยชา และไม่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้อย่างจริงจัง" 

ซึ่งผมก็จะขอตอบคุณว่า "หากคนๆ หนึ่งกำลังหิวไส้จะขาด คุณจะยังมามัวสอนเขาตกปลาอยู่หรือ? บางทีการให้ปลาตัวหนึ่งไปก่อน หรือแม้แต่ปลากระป่อง (ผลผลิตแบบอุตสาหกรรมที่คุณรังเกียจน่ะ) ถ้ามันช่วยชีวิตเขาได้ มันก็น่าจะทำไม่ใช่หรือ"

สิ่งที่ผมพบในงานวิพากษ์วิจารณ์ดนตรี Popular music ของ Adorno นั้น นอกจากมันจะน่าขำสำหรับผมแล้ว ผมยังพบว่ามันเป็นงานที่แสนจะเหมารวม คิดแทนคนอื่น และตรงทื่อไร้มิติโดยสิ้นเชิง

ไว้คราวหน้าจะมาขยายความ...

บล็อกของ Music

Music
Sum 41 เป็นอีกหนึ่งวงที่อยู่ในธารสายเชี่ยวของ Punk ร่วมสมัยไม่นานมานี้ ในแง่ของดนตรียังคงอิทธิพลส่วนหนึ่งจาก Metal โดยเจือไว้ในโครงดนตรี Pop Punk สมัยนิยม ซึ่งอิทธิพลความหนักส่วนหนึ่งคงมาจากมือกีต้าร์ที่เพิ่งออกจากวงไปอย่าง Dave Baksh อัลบั้มล่าสุด Underclass Hero จึงลดทอนซาวน์แบบ Metal ลงไป และกรุยทางอย่างเต็มที่ในความเป็น Punk ดนตรีแบบ Punk ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาของการลุยไปข้างหน้านี้เองที่เหมาะกับการประท้วงดีแท้ แต่จะว่าไปความ Punk ของวงในอัลบั้มก่อนๆ ก็มากพอจะ "ประท้วง" ได้อยู่แล้วจึงไม่ใช่ว่ารูปแบบของดนตรีในแง่นี้จะเกี่ยวข้องกับทิศทางเนื้อหาที่เปลี่ยนไป…
Music
Scorpions อัลบั้มล่าสุด Humanity - Hour I เป็นอัลบั้มที่วงแมงป่องได้กลับมาผยองเดชอีกครั้ง ซึ่งดนตรีในแบบของสกอร์เปี้ยนส์ยุคเก่าได้ผสานกับดนตรียุคใหม่อย่างกลมกลืน แม้จะมีเสียงกีต้าร์หนักแน่น มีพลัง แต่เมโลดี้สวยๆ ในแบบของ Scorpions ก็ยังคงไม่เสื่อมคลายไป และแน่นอนว่าเสียงร้องอันเป็นเอกลักษณ์ของ Klaus Meine ซึ่งอาจจะโรยไปบ้างตามอายุไข แต่ก็ยังคงมาตรฐานและความเป็น Klaus Meine ได้อย่างเต็มเปี่ยมหากแฟนๆ ยุคเก่าของ Scorpions ได้มาฟังอัลบั้มนี้คงอาจจะทำให้ไพล่รู้สึกคิดถึงบรรดาบทเพลงสุดคลาสสิกของพวกเขาขึ้นมา ซึ่งเพลงเหล่านั้นถึงขั้นมีออกมาให้ร้องเป็นคาราโอเกะ ไม่ว่าจะเป็น Wind of Change, Always…