Skip to main content

Ko We Kyaw

 

ไร่ปลูกสบู่ดำริมทางบนถนนระหว่างเมืองเจ้าปะต่าวกับมิตทีลา ภาคมัณฑะเลย์ ภาพถ่ายในเดือนพฤษภาคม 2551 (ที่มา: Kowekyaw/Prachataiburma)

 

 

พฤษภาคม 2551

1.

ผมอยู่บนรถโดยสารเก่าๆ แล่นออกจากเมืองเจ้าปะต่าว (Kyaukpadaung) มุ่งสู่มิตทีลา (Meiktila) ภาคมัณฑะเลย์ ใจกลางเขตแล้งฝน (dry zone) ของสหภาพพม่า สองข้างทางซึ่งเป็นดินแดงๆ จึงเหมาะจะปลูกเฉพาะพืชทนแล้ง โดยเมืองเจ้าปะต่าวถือเป็นแหล่งปลูกตาล ส่วนเนินแห้งแล้งรอบทะเลสาบมิตทีลาก็เป็นแหล่งปลูกฝ้าย แต่สองข้างทางของถนนที่ผมกำลังเดินทางกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าด้วยโครงการปลูกพืชพลังงานชนิดใหม่ สบู่ดำ

ป้ายโครงการปลูกสบู่ดำและไร่สบู่ดำหรือที่ภาษาพม่าออกเสียงว่า แจ๊ตซู่ (Kyet-Suu) พบเห็นทั่วไปสองข้างทาง ปลูกทั้งที่ดินชาวบ้าน ทั้งที่ดินรัฐบาล ปลูกทั้งที่โล่ง และแม้แต่ปลูกบนอาคาร เช่นที่ว่างริมระเบียงในอพาร์ทเมนท์หรือยอดตึกในเมืองก็ไม่เว้น

 

2.

บทรายงานในนิตยสารสาละวินโพสต์ ฉบับ 1 เม.ย. – 15 พ.ค. 2551 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2548 พลเอกอาวุโสตานฉ่วย ผู้นำพม่า ได้ประกาศรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นสบู่ดำเพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล โดยตั้งเป้าว่า ภายในสามปีจะต้องขยายพื้นที่ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ให้ได้ 20 ล้านไร่ รัฐบาลแบ่งโควตาเพาะปลูกอย่างน้อย 1.25 ล้านไร่ ในเขตรัฐหรือภาคต่างๆ แม้ว่าแต่ละรัฐหรือภาคจะมีพื้นที่มากน้อยต่างกันก็ตาม ทำให้รัฐคะเรนนีซึ่งเป็นรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุด จะต้องสูญเสียพื้นที่ให้กับพืชพลังงานชนิดนี้ถึงร้อยละ 17 และชาวบ้านทุกคนจะต้องปลูกต้นไม้เฉลี่ยคนละ 177 ต้นภายใน 3 ปี เพื่อให้ได้ตามจำนวนโควตาที่กำหนดไว้ ประชาชนแทบทุกสาขาอาชีพจะต้องเข้าร่วมโครงการนี้โดยไม่ถามความสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน พยาบาล และหน่วยงานต่างๆ จะต้องใช้พื้นที่ว่างในหน่วยงานของตนปลูกพืชชนิดนี้

ดังนั้นจึงมีการปลูกต้นสบู่ดำรอบๆ บริเวณบ้าน ตามถนน ในสวน หรือแม้แต่ในไร่ที่ติดทางหลวง แม้แต่ในเมืองหลวง ประชาชนที่อาศัยอยู่ตามอพาทเม้นท์ก็ต้องปลูกสบู่ดำ โดยถือว่าเป็นหน้าที่ต่อประเทศชาติ โดยประชาชนต้องซื้อเมล็ดมาปลูกเอง ไม่เว้นแม้แต่ปลูกตามระเบียงหน้าต่างของที่พัก

หลังจากโครงการผ่านไปสองปี กระทรวงเกษตรและชลประทานได้ออกแถลงการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ว่า ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกต้นสบู่ดำไปแล้ว 2.5 ล้านไร่ โดยจะปลูกเพิ่มอีกประมาณปีละ 6 ล้านไร่ในปี 2550 ถึง 2551

โดยในปี 2552 นี้ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในแผนงานจะต้องปลูกเพิ่มอีกเกือบ 8.5 ล้านไร่ เพื่อรวมพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ 20 ล้านไร่ทั่วประเทศพม่า

อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังไม่มีแผนพัฒนาพลังงานชนิดนี้อย่างชัดเจน เช่นการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย รับประกันราคาผลผลิต ไปจนถึงการแปรรูปเป็นพลังงานไบโอดีเซล ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการรณรงค์ของโครงการคือการยึดที่นาของชาวบ้านมาเป็นของกองทัพและบังคับให้ชาวบ้านปลูกพืชชนิดนี้ทั้งที่ดินของตนเอง และของกองทัพ รวมถึงการเรียกเก็บเงินทดแทนสำหรับชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินปลูกพืชโดยรัฐบาล ได้ออกคำสั่งเป็นเอกสารไปยังหน่วยทหารทุกหน่วยให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมชาวบ้านในพื้นที่ของตนเองปลูกต้นสบู่ดำให้ได้ตามโควตาที่กำหนด

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารในพม่า อันเนื่องจากแหล่งปลูกข้าวสำคัญคือที่ราบบริเวณปากแม่น้ำอิระวดีได้รับผลกระทบจากพายุนาร์กีส ขณะที่พื้นที่ส่วนที่เหลือของประเทศ ส่วนหนึ่งก็นำมาปลูกพืชพลังงานที่ว่า โดยการที่ชาวนาต้องใช้ที่ดินในการปลูกต้นสบู่ดำแทนพืชเพื่อยังชีพ ซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปีจึงจะได้ผลผลิตรอบแรก

อีกทั้งประชาชนยังถูกบังคับให้ไปปลูกพืชชนิดนี้ในที่ดินของกองทัพ จนไม่มีเวลาทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัว ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากพากันอพยพออกไปหางานทำในประเทศเพื่อนบ้าน โดยจากรายงานล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2551 เรื่อง "Biofuel By Decree: Unmasking Burma's bio-energy fiasco" โดยกลุ่ม Ethnic Community Development Forum (ECDF) ระบุว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้อย่างน้อย 800 คน อพยพมาทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน

และนับตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่รัฐบาลเริ่มโครงการทำไร่สบู่ดำ มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหารพม่าที่เชื่อมโยงกับโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น รายงานของกลุ่มเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวไทยใหญ่ ระบุว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐฉานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นการยึดที่ดินเกือบ 30 รายในช่วงเวลา 2 ปี โดยประชาชนเหล่านี้ต้องถูกยึดที่ดินทำกินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ เช่นเดียวกับประชาชนในเขตชายแดนพม่า - จีนเปิดเผยว่า กองทัพพม่าประจำทางตอนเหนือของรัฐฉานได้ยึดที่ทำกินชาวบ้านไปแล้วกว่า 2,500 ไร่ในเมืองหมู่เจ้เมื่อต้นปี 2550

ชาวบ้านส่วนใหญ่จะถูกยึดที่ดินโดยไม่ได้รับเงินชดเชยใดๆ หรือหากได้รับก็เป็นเงินจำนวนน้อยนิดเท่านั้นเมื่อเทียบกับที่ดินที่สูญเสีย ไป โดยอัตราค่าชดเชยที่ได้รับคือ 10,000 - 50,000 จั๊ต (300 บาท - 1,500 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือ 1 - 5 แสนจั๊ต (3,000 บาท - 15,000 บาท) สำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ไร่ชา หรือ ไร่ส้มทั้งไร่

 

3.

ล่าสุด บริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น (Japan Bio Energy Development Corp) หรือ JBEDC ประกาศวันที่ 27 ก.พ. 52 เกี่ยวกับแผนการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นของพม่า เพื่อก่อตั้งบริษัทใหม่ใช้ชื่อว่า Japan-Myanmar Green Energy เป็นการร่วมระหว่างเอกชนดังกล่าว 60% กับเอกชนพม่า 40% ภายใต้วงเงินลงทุนรวม 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยบริษัทนี้ตั้งเป้าส่งออกเมล็ดละหุ่ง 5,000 ตันในปี 2552 นี้ก่อนจะตั้งโรงงานสกัดน้ำมันแห่งที่หนึ่งในปี 2553 และยังมีแผนการจะส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพที่สกัดจากเมล็ดสบู่ดำ ในปีหน้าอีกด้วย

รายงานของบริษัทพัฒนาพลังงานชีวภาพญี่ปุ่น ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันพม่าเป็นประเทศผลิตสบู่ดำรายใหญ่ที่สุดของโลก รัฐบาลพม่าได้ส่งเสริมให้เกษตรปลูกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 พื้นที่ปลูกขยายออกไปเป็น 2 ล้านเฮกตาร์ หรือ 12.5 ล้านไร่ เมื่อสิ้นปี 2551 หรือเท่ากับว่าพม่าปลูกสบู่ดำคิดเป็นร้อยละ 90 ของเนื้อที่ปลูกสบู่ดำในประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกัน!

 

4.

นอกจากนี้ ข่าวลืออีกด้านเกี่ยวกับโครงการปลูกต้นสบู่ดำ หรือ แจ๊ตซู่ก็คือ เหตุผลที่รัฐบาลผลักดันให้ประชาชนปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไปทั่วอาจไม่ใช่เป้าหมายด้านพลังงาน แต่เป็นเพราะความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ที่ว่า ชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ในภาษาพม่ามีความหมายตรงกับความต้องการของผู้นำพม่า นั่นเอง

คำว่า แจ๊ตซู่หรือ Kyet Suu มีความหมายในภาษาพม่าว่า ไก่ขันเสียงดัง และเมื่อไหร่ที่ไก่จำนวนมากรวมตัวกันส่งเสียงดัง คนเราก็ไม่สามารถจะส่งเสียงร้องสู้กับไก่ได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทางการพม่าบังคับให้ประชาชนปลูกพืชสบู่ดำเพิ่มขึ้นทุกวันเพื่อกลบเสียงของประชาชน

อีกความเชื่อหนึ่ง คือ คำว่า Kyet Suu ยังมีตัวอักษรแรกของแต่ละคำ คือ K และ S สลับกับอักษรนำหน้าของนางออง ซาน ซูจี (Suu Kyi) คือ S และ K ซึ่งหากมีการปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็หมายความว่า เงาของต้นสบู่ดำจะปกคลุมเหนือผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่าผู้นี้

นอกจากนี้ คำว่า Kyet Suu ในภาษาพม่า ถ้าแปลตามหลักโหรศาสตร์แล้วคำว่า Kyet ขึ้นต้นด้วยตัว K มีความหมายว่า วันจันทร์ ส่วนคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วยตัว S มีความหมายว่า วันอังคาร ดังนั้น Kyet Suu จึงมีความหมายว่า วันจันทร์ วันอังคาร เช่นเดียวกับชื่อของนางอองซาน ซูจี หรือ Suu Kyi ในภาษาพม่า โดยคำว่า Suu ขึ้นต้นด้วย S มีความหมายตามหลักโหรศาสตร์ว่า วันอังคาร และคำว่า Kyi ขึ้นต้นด้วย K มีความหมายว่าวันจันทร์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นชื่อของซูจี หรือ Suu Kyi อาจมีความหมายตามหลักโหราศาสตร์ว่า วันอังคาร วันจันทร์ การปลูกต้นสบู่ดำมากเท่าไหร่ก็จะทำให้วันจันทร์ต้องนำหน้าวันอังคารมากเท่านั้น ซึ่งจะทำให้อำนาจของนางซูจีพ่ายแพ้ต่อผู้นำพม่าวันยังค่ำ

ไม่ว่าการปลูกสบู่ดำจะเป็นไปด้วยเหตุผลใด ที่แน่นอนที่สุดทั้งประชาชนพม่า และอองซาน ซู จี ได้รับผลกระทบจากการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการที่ยาวนานเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารโดยนายพลเนวิน (Ne Win) ใน พ.ศ. 2505

 


(ที่มาของภาพ: www.pbase.com/dassk)

พฤษภาคม 2552

5.

และไม่ว่าการรณรงค์ปลูกสบู่ดำจะเกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ของรัฐบาลทหารเพื่อข่มนางอองซาน ซูจีหรือไม่ แต่ที่แน่นอนที่สุดก็คือ ชะตากรรมของอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy – NLD) นั้น ในรอบ 19 ปีนี้ ถูกกักบริเวณอยู่ภายในบ้านพักริมทะเลสาบอินยา เมืองย่างกุ้ง กินเวลารวมถึง 13 ปี

โดยการกักบริเวณรอบแรกกินเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2533 – 2538 และการกักบริเวณรอบสองเกิดขึ้นนับตั้งแต่หลังกรณีที่สมาชิกสมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Association – USDA) โจมตีขบวนรถของนางออง ซาน ซูจี และผู้สนับสนุนที่หมู่บ้านเดปายิน (Depayin) เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ระหว่างที่นางและแกนนำพรรค NLD กำลังอยู่ระหว่างตระเวนพบปะผู้สนับสนุนพรรคในภูมิภาคสะกาย (Sagaing Division) ทางเหนือของพม่า โดยการโจมตีขบวนรถดังกล่าวทำให้สมาชิกพรรค NLD เสียชีวิตกว่า 70 คน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นางออง ซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักนับจากนั้น โดยรัฐบาลทหารพม่าต่ออายุการกักบริเวณไปเรื่อยๆ ตามมาตรา 10 ของกฎหมายคุ้มครองรัฐ อนุญาตให้รัฐบาลกักบริเวณบุคคลโดยปราศจากข้อหาหรือการพิจารณาคดีได้เพียงไม่เกิน 5 ปี และขยายเวลากักบริเวณได้ครั้งละ 1 ปีไปเรื่อยๆ

โดยการขยายเวลากักบริเวณนางซูจีล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปีก่อน และจะครบกำหนดการกักบริเวณในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไม่ทันที่รัฐบาลพม่าจะมีคำสั่งปล่อยตัวหรือขยายเวลากักบริเวณต่อไปอีก 1 ปี หรือไม่ ก็เกิดเหตุนายจอห์น วิลเลียม ยิตทอว์ (John William Yettaw) ลอบเข้าบ้านพักของนางซูจี

โดยหนังสือพิมพ์เมียนมาร์ อะลีน (หนังสือพิมพ์แสงพม่า) หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลพม่ารายงานว่า นายยิตตอว์ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและเข้าไปในบ้านนางซู จี ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 พ.ค. จากนั้นก็ว่ายน้ำกลับมาในกลางดึกคืนวันที่ 5 พ.ค. ก่อนจะถูกตำรวจจับได้เมื่อเช้ามืดที่ 6 พ.ค.

ชาวอเมริกันผู้นี้ว่ายน้ำโดยใช้กระป๋องน้ำ 5 ลิตร ช่วยพยุงตัวขณะว่ายน้ำ เมื่อตำรวจตรวจค้นสิ่งของติดตัว พบเป้สะพายหลังสีดำ 1 ใบ หนังสือเดินทางสหรัฐ 1 เล่ม คีม 2 อัน กล้องถ่ายภาพ 1 ตัว ธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ 2 ใบ รวมทั้งเงินจ๊าตอีกจำนวนหนึ่ง โดยทางการสอบปากคำถึงแรงจูงใจว่าเหตุใดชายผู้นี้จึงว่ายน้ำไปยังพื้นที่ต้องห้าม

ไม่เพียงแต่ยิตทอว์จะถูกดำเนินคดี แต่ออง ซาน ซูจี และผู้ช่วยประจำตัวอีก 2 คน คือนางขิ่น ขิ่น วิน, ลูกสาวของนางขิ่น ขิ่น วิน คือนางสาววิน มะ มะ ก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎการควบคุมตัวด้วย

ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิด ระวางโทษของคนทั้ง 4 คือจำคุกระหว่าง 3-5 ปี

มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลทหารพม่าจะใช้โอกาสดังกล่าวเป็นเหตุขยายเวลากักบริเวณนางออง ซาน ซูจี และผู้ช่วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจถูกกักบริเวณในบ้าน หรือไปที่ เรือนจำอินเส่ง อันลือชื่อ!

 

6.

18 พฤษภาคม 2552 ที่เรือนจำอินเส่ง เขตอินเส่ง เมืองย่างกุ้ง วันพิจารณาคดีละเมิดคำสั่งกักบริเวณเริ่มต้นเป็นวันแรก

ภายนอกเรือนจำ กลุ่มเยาวชนของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี มาชุมนุมกันอยู่บริเวณหน้าเรือนจำอินเส่ง

อู วิน ติ่น (U Win Tin) กรรมการกลางของพรรคเอ็นแอลดีและอดีตนักโทษการเมืองวัย 80 ปี เดินทางมาพร้อมกับประชาชนหลายร้อยคนเพื่อมารอฟังการพิจารณาคดี แต่พวกเขาไม่สามารถฝ่าแนวรั้วลวดหนามไฟฟ้าเข้าไปได้

ผู้ชุมนุมหลายคนรวมทั้งพระสงฆ์ผูกผ้าคาดหัวและชูป้ายที่เขียนข้อความว่า ออง ซาน ซูจี ไม่มีความผิด” …

000

 

อ้างอิง

เรื่องนโยบายการปลูกต้นสบู่ดำในพม่า สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่

KAWN LEOW, จับกระแส: โครงการปลูกต้นสบู่ดำ พลังงานทางเลือกหรือความอดอยากหิว, ใน สาละวินโพสต์ ฉบับที่ 46 1 เม.ย. - 15 พ.ค. 51. เผยแพร่ออนไลน์ 20 พ.ค. 51

Chiho Matsuda, Nikkei Monozukuri, Japan-Myanmar JV Established to Produce Biofuel from Tropical Plant, Techon, Mar 3, 2009

 

เรื่องก่อนหน้านี้

'เหตุวิวาทในร้านน้ำชา' สู่ 'วันสิทธิมนุษยชนพม่า', Ko We Kyaw, 14/3/2009

ตลกพม่าประชันตลก.ไทยใครขำกว่า, Ko We Kyaw, 4/10/2008

 

หมายเหตุ

ติดตามข่าว บทความ และบทวิเคราะห์สถานการณ์ในสหภาพพม่าและชายแดนได้ที่ www.prachatai.com/burma

บล็อกของ Hit & Run

Hit & Run
 หอกหักจูเนียร์  ขณะที่นั่งปั่นข้อเขียนชิ้นนี้ ยังมีสองเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และผมต้องอาศัยการแทงหวยคาดเดาเอาคือ1. การเลือกนายกรัฐมนตรี (จะมีในวันที่ 15 ธ.ค. 2551)2. การโฟนอินเข้ามายังรายการความจริงวันนี้ของคุณทักษิณ (จะมีในวันที่ 13 ธ.ค. 2551)เรื่องที่ผมจะพูดก็เกี่ยวเนื่องกับสองวันนั้นและเหตุการณ์หลังสองวันนั้น ผมขอเน้นประเด็น การจัดการ - การบริหาร "ความแค้น" ของสองขั้ว I ขอแทงหวยข้อแรกคือ ในวันที่ 15 ธ.ค. 2551 หากว่า คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะถูกโหวตให้เป็นนายก และพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล (ขออภัยถ้าแทงหวยผิด แต่ถ้าแทงผิด…
Hit & Run
ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจ  หลังการประกาศชัยชนะของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหลังการยุบพรรค แล้วล่าถอยในวันที่ 3 ธ.ค. พอตกค่ำวันที่ 3 ธ.ค. เราจึงกลับมาเห็นบรรยากาศที่ไม่ค่อยคุ้นเคย แทนที่สนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯ จะปราศรัยบนเวที หรือหลังรถปราศรัย ก็กลายเป็นเสวนา และวิเคราะห์การเมืองกันในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ ASTV อย่างไรก็ตาม สนธิ ลิ้มทองกุล ก็พยายามรักษากระแสและแรงสนับสนุนพันธมิตรฯ หลังยุติการชุมนุมเอาไว้ โดยเขาเผยว่าจะจำลองบรรยากาศการชุมนุมพันธมิตรตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาไว้ในห้องส่ง เพื่อแฟนๆ ASTV โดยเขากล่าวเมื่อ 3 ธ.ค. [1] ว่า “พี่น้องครับ…
Hit & Run
พิชญ์ รัฐแฉล้ม            นานมากแล้วที่ “ประเทศของเรา” ประสบกับสภาพความมั่นคงและเสถียรภาพที่แหว่งวิ่นเต็มทน และตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าความหวังในความสำเร็จของการจัดการกับปัญหายิ่งเลือนรางไปทุกที ทุกเรื่อง ทุกราว กำลังถาโถมเข้ามาจากทุกสารทิศเพื่อมารวมศูนย์ ณ เมืองหลวงมิคสัญญีแห่งนี้ จนกระแสข่าวรายวันจากปักษ์ใต้ อีสาน...แผ่วและเบาเหมือนลมต้นฤดูหนาว   สื่อต่างๆ ทั้งไทย-ต่างประเทศ ประโคมข่าวจากเมืองหลวงกระจายสู่ทุกอณูเนื้อโลก ช่างน่าตกใจ! ภาพแห่ง “ความรุนแรง” ของฝูงชนขาดสติและไม่เหลือแม้สายใยในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ถูกกระจายออกไป…
Hit & Run
  ธวัชชัย ชำนาญ ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นห้วงเวลาที่คนไทยทั่วทุกสารทิศ เดินทางเข้ามาร่วมเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ "พิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ" ความยิ่งใหญ่อลังการที่ทุกคนคงรู้ดีที่ไม่จำเป็นต้องสาธยายเยอะ  แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ความสงบเงียบของบ้านเมืองที่ดูเหมือนมีพลังอำนาจอะไรบางอย่างมากดทับกลิ่นอายของสังคมไทยที่เคยเป็นอยู่กลิ่นอายที่ว่านั้น..เป็นกลิ่นอายของความขัดแย้ง ความเกลียดชังของคนในสังคมที่ถูกกดทับมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา…
Hit & Run
 ภาพจากเว็บบอร์ด pantipจันทร์ ในบ่อ เชื่อว่าหลายคนคงได้ชมรายการตีสิบเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยเชิญ ‘คุณต้น' อดีตนักร้องวง ‘ทิค แทค โท' บอยแบนด์ไทยสไตล์ญี่ปุ่นรุ่นแรกๆ ที่โด่งดังราวสิบปีก่อนมาออกรายการ เพื่อเป็นอุทธาหรณ์แก่สังคมเรื่องผลเสียจากการใช้ยาเสพติดคุณต้นสูญเสียความทรงจำและมีอาการทางสมองชนิดที่เรียกว่า ‘จิตเภท' จากการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะยาบ้าและยานอนหลับชนิดรุนแรง จนหลายปีมานี้เขาได้หายหน้าหายตาไปจากวงการบันเทิงและจดจำใครไม่ได้เลย คุณแม่เคยสัญญากับคุณต้นไว้ว่า หากอาการดีขึ้นจะพามาออกรายการตีสิบอีกครั้งเพื่อทบทวนเรื่องราวในอดีต เพราะคุณต้นและเพื่อนๆ…
Hit & Run
  คนอเมริกันและลามถึงคนทั่วโลกด้วยกระมัง ที่เหมือนตื่นจากความหลับใหล พบแดดอ่อนยามรุ่งอรุณ เมื่อได้ประธานาธิบดีใหม่ที่ชนะถล่มทลาย คนหนุ่มไฟแรง ผิวสี เอียงซ้ายนิดๆ ผู้มาพร้อมสโลแกน "เปลี่ยน เปลี่ยน เปลี่ยน และเปลี่ยน" แม้ผู้คนยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะเปลี่ยนได้ไหม เปลี่ยนไปสู่อะไร (เพราะอเมริกาไม่มีหมอลักษณ์ฟันธง หมอกฤษณ์คอนเฟิร์ม) แต่ขอแค่โลกนี้มีหวังใหม่ๆ ความเปลี่ยนแปลงสนุกๆ ก็ทำให้ชีวิตกระชุ่มกระชวย ท้องฟ้าสดใสกว่าที่เคยเป็นได้ง่ายๆ   มองไปที่อื่นฟ้าใส แต่ทำไมฝนมาตกที่ประเทศไทยไม่เลิก บ้านนี้เมืองนี้ ผู้คนพากันนอนไม่หลับ ฟ้าหม่น ฝนตก หดหู่มายาวนาน นานกว่าเมืองหนึ่งใน ‘100…
Hit & Run
    ช่วงนี้มีแต่เรื่องวุ่นวาย ส่วนตัวความจริงแล้วไม่อยากยุ่งเพราะเป็นคนรักสงบและถึงรบก็ขลาด แต่ไม่ยุ่งคงไม่ได้เพราะมันใกล้ตัวขึ้นทุกที ระเบิดมันตูมตามก็ถี่ขึ้นทุกวัน จนไม่รู้ใครเป็นตัวโกง ใครเป็นพระเอก เลยขอพาหันหน้าหาวัดพูดเรื่องธรรมะธรรมโมบ้างดีกว่า แต่ไม่รับประกันว่าพูดแล้วจะเย็นลงหรือตัวจะร้อนรุมๆ ขัดใจกันยิ่งกว่าเดิม ยังไงก็คิดเสียว่าอ่านขำๆ พอฆ่าเวลาปลายสัปดาห์ก็แล้วกัน.....
Hit & Run
< จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์ >หลังจากอ่าน บทสัมภาษณ์ของซูโม่ตู้ หรือจรัสพงษ์ สุรัสวดี ในเว็บไซต์ผู้จัดการรายสัปดาห์ออนไลน์ แล้วพบว่าสิ่งหนึ่งที่ควรชื่นชมคือ ความตรงไปตรงมาของจรัสพงษ์ที่กล้ายอมรับว่าตนเองนั้นรังเกียจคนกุลีรากหญ้า ที่ไร้การศึกษา โง่กว่าลิงบาบูน รวมไปถึง “เจ๊ก” และ “เสี่ยว” ที่มาทำให้ราชอาณาจักรไทยของเขาเสียหาย เป็นความตรงไปตรงมาของอภิสิทธิ์ชนที่ปากตรงกับใจ ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลา ที่คงไม่ได้ยินจากปากนักวิชาการ หรือนักเคลื่อนไหวคนไหน (ที่คิดแบบนี้) (เดี๋ยวหาว่าเหมารวม)
Hit & Run
  ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านไป ความวุ่นวายในเมืองหลวงเริ่มคลีคลาย แต่ความสับสนและกลิ่นอายของแรงกดดันยังบางอย่างภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองยังคงคลุกรุ่นอยู่ไม่หาย... ไม่รู้ว่าน่าเสียใจหรือดีใจที่ภารกิจบางอย่างทำให้ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ก่อนหน้าเหตุการณ์อันน่าเศร้าที่เรียกกันว่า "7 ตุลาทมิฬ" เพียงข้ามคืน สิ่งที่เกิดขึ้นในความทรงจำจึงเป็นเพียงอีกเรื่องราวของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ถึงขณะนี้ยังไม่รู้ถึงข้อมูลที่แน่ชัดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความสูญเสียเกิดจากอะไร เพราะใครสั่งการ ใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น อย่างไร ฯลฯ คำถามมากมายที่ยังรอคำตอบ   …
Hit & Run
   (ที่มาภาพ: http://thaithai.exteen.com/images/photo/thaithai-2550-11-4-chess.jpg)หลังจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ความขัดแย้งทางชนชั้น การปะทะกันระหว่าง "ความเชื่อในคุณธรรม vs ความเชื่อในประชาธิปไตย" เริ่มปรากฏตัวชัดขึ้นเรื่อยๆ และได้ก่อให้เกิดความรุนแรงจากมวลชนทั้งสองกลุ่มฝั่งคุณธรรม อาจเชื่อว่า หากคนคิดดี ทำดี ปฏิบัติดีแล้ว เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และปัญหาใหญ่ที่สุดของสังคมในขณะนี้คือ จริยธรรมของคนที่ข้องเกี่ยวกับการเมือง ดั้งนั้น จึงพยายามกดดันให้นักการเมืองเข้ากรอบระเบียบแห่งจริยธรรมที่ตนเองคิด หรือไม่ก็ไม่ให้มีนักการเมืองไปเลยฝั่งประชาธิปไตย อาจเชื่อว่า…
Hit & Run
Ko We Kyawเมื่อวันเสาร์ สัปดาห์ก่อน มีการจัดงาน ‘Saffron Revolution, A Year Later' ที่จัดโดยคณะผลิตสื่อเบอร์ม่า (Burma Media Production) หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึง 1 ปี แห่งการปฏิวัติชายจีวร นอกจากการเสวนาและการกิจกรรมเพื่อเป็นการรำลึกแล้ว ภาคบันเทิงในงานก็มีความน่าสนใจเพราะมีการแสดงจากคณะตีเลตี (Thee Lay Thee) ที่มีชื่อเสียงจากพม่าการแสดงในวันดังกล่าว เป็นการแสดงในเชียงใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในรอบปี 2551 หลังจากเคยจัดการแสดงมาแล้วในเดือนมกราคม และการแสดงการกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยนาร์กิส เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในพม่า…
Hit & Run
  ขุนพลน้อย       "ผมรู้สึกภูมิใจยิ่งที่สามารถคว้าเหรียญทอง สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย แต่ก็แอบน้อยใจบ้างที่เงินอัดฉีดของพวกเราจากรัฐบาลน้อยกว่าคนปกติ นี่ถ้าได้สักครึ่งหนึ่งของพวกเขาก็คงดี"น้ำเสียงของ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์' เหรียญทองหนึ่งเดียวของไทย ในกีฬา ‘พาราลิมปิกเกมส์ 2008' หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยในช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 เป็นไปอย่างมุ่งมั่นระคนทดท้อการต้อนรับนักกีฬาในหมู่คนใกล้ชิดและในวงการมีขึ้นอย่างอบอุ่น แต่ความไม่เท่าเทียมกันเมื่อเปรียบเทียบกับนักกีฬาที่ได้รางวันใน ‘โอลิมปิก' คงเป็นภาพที่สะท้อนมองเห็นสังคมแบบบ้านเราได้ชัดเจนขึ้น…