ขุนพลน้อย
"ผมรู้สึกภูมิใจยิ่งที่สามารถคว้าเหรียญทอง สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย แต่ก็แอบน้อยใจบ้างที่เงินอัดฉีดของพวกเราจากรัฐบาลน้อยกว่าคนปกติ นี่ถ้าได้สักครึ่งหนึ่งของพวกเขาก็คงดี"
น้ำเสียงของ ‘ประวัติ วะโฮรัมย์' เหรียญทองหนึ่งเดียวของไทย ในกีฬา ‘พาราลิมปิกเกมส์ 2008' หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยในช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551 เป็นไปอย่างมุ่งมั่นระคนทดท้อ
การต้อนรับนักกีฬาในหมู่คนใกล้ชิดและในวงการมีขึ้นอย่างอบอุ่น แต่ความไม่เท่าเทียมกันเมื่อเปรียบเทียบกับนักกีฬาที่ได้รางวันใน ‘โอลิมปิก' คงเป็นภาพที่สะท้อนมองเห็นสังคมแบบบ้านเราได้ชัดเจนขึ้น
ถึงตอนนี้นึกไม่ออกว่าทำไมคนที่เป็นฮีโร่ทางการกีฬาระหว่างคนปกติกับคนพิการจึงได้รับการตอบแทนจากสังคมไม่เท่าเทียมกัน บางทีนึกไปอีกว่าสำหรับกีฬาอย่างพาราลิมปิกแท้จริงแล้วภาครัฐหรือแม้แต่คนในสังคมเองมองแค่การส่งเสริมให้มีผ่านๆไปแต่ละทีเท่านั้น หรือบางทีอาจเพื่อไปสู่สังคมมนุษยธรรมที่ดูผักชีๆ ในขณะที่จีนถูกโจมตีเรื่องมนุษยชนอย่างหนักหน่วงตลอดมาแต่สำหรับกีฬาคนพิการเราเห็นความแตกต่าง ความสำเร็จและให้เกียรติเป็นไปอย่างสูง ประธานาธิบดียังคงมานั่งชมพิธีปิด และในฐานะเจ้าภาพได้แสดงความทุ่มเทและให้ความสำคัญต่อนักกีฬาอย่างชัดเจน ก่อนการแข่งขันมีการเก็บตัวฝึกซ้อมกันถึง 2 ปี เมื่อเปรียบกับไทย กีฬาในพาราลิมปิกเก็บตัวเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น
จริงอยู่ว่าเรายังคงยึดถือกับชัยชนะเพราะเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่น แต่มันก็ทำให้มองไม่เห็นคนอื่นๆอีกมากมาย ทั้งทีมงานต่างๆที่ช่วยกันปั้นนักกีฬาสักคนจนประสบความสำเร็จขึ้นมาหรือนักกีฬาที่ไม่ได้เหรียญอะไรเลยไม่ว่ากีฬาคนปกติและกีฬาคนพิการ บางทีเราอาจลืมเจือกำลังใจไปคิดถึงและมอบให้
แม้ ‘ประวัติ' พูดถึงเงินรางวัลอย่างน้อยใจ และคงปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นสิ่งที่สร้างแรงใจนักกีฬาได้จริง แต่สำหรับตัวนักกีฬาแล้วความภูมิใจที่คนอื่นๆร่วมยินดีด้วยก็เป็นรางวัลที่สำคัญไม่น้อยกว่าเช่นกัน แต่สังเกตไหมว่าบรรยากาศของ ‘พาราลิมปิก' แตกต่างกับบรรยากาศ ‘โอลิมปิก' อย่างสิ้นเชิง
มองในแง่ดีอาจเป็นเพราะกีฬาต่างๆในพาราลิมปิกคนธรรมดาปกติร่วมเล่นไม่ได้จึงไม่มีอารมณ์ร่วม แต่อารมณ์ร่วมก็สามารถสร้างได้หากมีการสนับสนุนเกมส์การแข่งขันให้ได้ชมกันบ่อยๆ เพราะยิ่งลองตั้งใจดูเกมส์แข่งขันแล้ว ความตื่นเต้นเร้าใจของความเป็นกีฬานับว่ามีไม่แพ้กีฬาปกติเลยทีเดียว และถ้าเพียงเรามีผู้บรรยายที่เข้าใจในเกมส์ต่างๆมาวิเคราะห์เทคนิคลูกเล่นได้ถึงแก่นเพิ่มขึ้นอีก การชมกีฬาและมีอารมณ์ร่วมไปกับนักกีฬาคงมีขึ้น
แล้วเราก็จะรู้ว่า ‘เหรียญ' เหล่านั้นไม่ได้มาได้ง่ายๆแน่
ผู้พิการคงไม่ใช่เพียงผู้รอโอกาสที่สังคมไทยหยิบยื่นให้ ‘พาราลิมปิก' ทำให้เราเห็นแล้วว่าเขาสร้างและไขว่คว้ามันด้วยตัวเอง ไม่ต้องสนหรอกว่าเขาเป็นอย่างไร หากเขาทำหน้าที่ได้สมแก่ความภูมิใจในฐานะคนคนหนึ่งในสังคมได้แล้ว ทำไมเขาจึงไม่สมควรได้รับสิ่งที่เท่าเทียมกันในโลกที่บอกว่ามนุษย์เกิดมาเท่ากัน
"ผมขอรับใช้ชาติต่อไปในลอนดอนเกมส์ 2012 ซึ่งคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลังกลับถึงเมืองไทยผมจะเดินทางไปแก้บน 3 ที่ ได้แก่ กรมหลวงชุมพร, ดอนเมือง และสระแก้ว ส่วนโครงการใช้เงินตอนนี้ผมยังไม่มีแผนทำอะไรเป็นพิเศษ ขอเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ทั้งสามคน" ประวัติกล่าวถึงอนาคตอย่างหนักแน่นท่ามกลางเสียงตอบรับอันแผ่วเบา
เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2551