Skip to main content

 

เพื่อนผู้ไม่เคยข้องเกี่ยวกับคุกตะราง แสดงความสงสัยเมื่อผู้เขียนบอกว่าวันนี้ไป “ตีเยี่ยม” นักโทษที่เรือนจำมา -- ทำไมการเยี่ยมผู้ต้องขังต้องไป “ตี”  การไปกรอกใบเยี่ยมญาตินั้น เป็นอาการของการ “ตี” ได้อย่างไร คำถามเหล่านี้ก็สุดปัญญาที่ผู้เขียนจะตอบได้ แต่ก็ให้สงสัยว่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับการใช้คำว่า “ตีตรวน” ให้กับนักโทษหรือไม่  คงต้องอาศัยการค้นคว้าทางภาษาศาสตร์ ว่าด้วยที่มาที่ไปของคำๆ หนึ่งมาตอบคำถามนี้

 

แต่คำถามดังกล่าวก็ชวนให้คิดไปถึงคำหลายๆ คำที่เคยได้ยินจากนักโทษและผู้คนที่เกี่ยวข้องกับคุกตะราง โดยเป็นกลุ่มคำแปลกๆ ที่ “โลกภายนอก” ไม่คุ้นเคย หรือมิเช่นนั้นก็เป็นคำเดิม แต่ถูกใช้ไปในอีกความหมายที่แตกต่างออกไปจากที่เราคุ้นชิน จนอาจกล่าวได้ว่าชีวิตภายในคุกมีภาษาของมันเอง ภาษาที่คนภายในโลกนั้นใช้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราอาจไม่พบเห็นการใช้แบบนี้ในสถานที่อื่น หรือในกลุ่มบุคคลอื่นๆ

 

เช่นเดียวกับกลุ่มวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) ในสังคมต่างๆ ที่มีการใช้ภาษาเฉพาะของตนเอง เช่น ภาษาของเด็กแว๊น ภาษาในวงการการ์ตูน ภาษาในหมู่คนไร้บ้าน เป็นต้น ในคุกเองก็เป็นอีกโลกหนึ่งโดยตัวมันเอง มีระเบียบกฎเกณฑ์ รูปแบบความสัมพันธ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม กระทั่งภาษาเฉพาะของมันเอง

 

อย่างที่พอทราบกันว่า ภาษาในโลกหนึ่งๆ ไม่เพียงเป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสาร แต่ยังเป็นเครื่องมือกำหนดความสัมพันธ์ จัดวางที่ทางต่างๆ ของผู้ใช้ภาษา มีส่วนกำกับควบคุมการกระทำ ความคิด ความเข้าใจต่อโลกๆ นั้น รวมทั้งสามารถใช้ตอบโต้ ต่อสู้ขัดขืนการกำกับควบคุมได้ด้วยเช่นกัน  ชุดคำที่พบในคุกเองก็มีทั้งคำที่มาจากกฎระเบียบเฉพาะของคุก หรือผู้คุมประกอบสร้างขึ้น และคำที่นักโทษเองเป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเพื่ออธิบายความสัมพันธ์หรือชีวิตในคุก

 

ในบันทึกนี้ ผู้เขียนอยากลองรวบรวมภาษาที่เคยผ่านหูผ่านตามาทดลองจัดแบ่งประเภทชุดคำที่ถูกใช้ในคุกชาย หรือจัดทำ “พจนานุกรมฉบับคุกๆ” (เช่นเดียวกับพจนานุเกรียนที่มีผู้จัดทำขึ้น) ขึ้นเล่นๆ ดู เพื่อชี้ให้เห็นภาพบางส่วนของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากคำที่ใช้ พร้อมกับตระหนักว่าในเรือนจำอื่นๆ หรือเรือนจำหญิง อาจมีการใช้คำที่ต่างออกไปก็ได้

 

ชุดคำประเภทแรก เป็นคำที่บอกถึงสถานะของนักโทษภายในคุก เช่น การแบ่งนักโทษตามสถานภาพทางกฎหมาย ได้แก่ “ขังชาย” หรือ “ข.ช.” ซึ่งย่อมาอีกทีหนึ่งจาก “ผู้ต้องขังชาย” ซึ่งหมายถึงนักโทษที่คดียังไม่สิ้นสุด หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดี และ “นักโทษชาย” หรือ “น.ช.” ซึ่งหมายถึงนักโทษที่คดีถึงที่สุดแล้ว ถูกตัดสินลงโทษจากศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในหมู่นักโทษเองจะเรียกนักโทษสองประเภทนี้ด้วยคำว่า “นักโทษระหว่าง”  และ “นักโทษเด็ดขาด” ตามลำดับ

 

ยังมีการแบ่งนักโทษตามระดับของความประพฤติ ซึ่งเรียกว่า “ชั้น” ของนักโทษ โดยแบ่งเป็น 6 ชั้น ได้แก่ เลวมาก, เลว, กลาง, ดี, ดีมาก, เยี่ยม โดยขณะเข้าไปในคุกใหม่ๆ นักโทษจะถูกจัดไว้ในชั้นกลาง และในทุกๆ ครึ่งปี คือในช่วงปลายเดือนมิถุนายนและธันวาคม นักโทษที่เด็ดขาดแล้วจะถูกปรับระดับชั้น โดยหากนักโทษไม่เคยมีการทำความผิด มีความประพฤติดี เมื่อครบครึ่งปีนักโทษก็จะถูกปรับระดับขึ้นหนึ่งระดับ เช่น จากชั้นกลางขึ้นเป็นชั้นดี

 

ดังนั้น หากไม่มีการก่อเรื่องใดๆ เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง ก็จะสามารถเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมได้ แต่หากนักโทษทำความผิดหรือก่อเรื่อง เช่น ทะเลาะวิวาท นำของผิดระเบียบเข้าไปภายใน ฯลฯ ก็จะโดนลดชั้นลงมา ซึ่งเรียกว่า “ตัดชั้น” โดยระดับชั้นนี้จะมีผลในการลดหย่อนโทษหรือการให้ญาติเยี่ยมใกล้ชิดในโอกาสสำคัญต่างๆ ยิ่งชั้นดีมากเท่าไร การลดหย่อนหรือโอกาสต่างๆ จะมากขึ้นเท่านั้น การแบ่งชั้นนักโทษนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบวินัยที่ใช้ในการควบคุมกำกับความประพฤตินักโทษในเรือนจำ

 

ขณะเดียวกันก็มีการใช้คำเรียกนักโทษตามอัตราโทษที่ได้รับ เช่น “พวกต่ำปี” คือคนที่ได้รับโทษจำคุกต่ำกว่า 1 ปี และ “พวกซ้ำซาก” หมายถึงพวกที่ติดคุกบ่อย เข้าออกหลายๆ ครั้ง ซึ่งเมื่อเข้าไปในครั้งหลังๆ อาจจะถูกปรับชั้นให้อยู่ในชั้นเลวเลย และจะไต่ขึ้นไปชั้นบนๆ ได้ยาก ได้รับการลดหย่อนโทษค่อนข้างยาก

 

นอกจากนั้นยังมีการแบ่งนักโทษตามหน้าที่หรืองานที่ถูกจัดสรรให้ไปทำในแต่ละวัน ซึ่งจะใช้คำว่า “กอง” กับงานแต่ละอย่างที่แบ่งให้นักโทษทำ เช่น “กองงานไม้”  “กองถ้วย” “กองงานห้องสมุด” “กองเลี้ยง” (ดูแลการทำอาหาร) หรือ “กองนอก” คือนักโทษที่ออกไปทำงานภายนอกพื้นที่จำขัง เช่น ทำงานในจุดเยี่ยมญาติ, ทำความสะอาดเรือนจำบริเวณภายนอก ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มที่สามารถทำงานนี้ได้ จะเป็นพวกที่โทษน้อย (พวกต่ำปี) หรือคนที่ใกล้จะครบวันออก และไม่มีประวัติผิดวินัยในเรือนจำมาก่อน

 

ขณะเดียวกันก็ใช้คำว่า “ฝ่าย” กับงานที่เป็นเรื่องการดูแล หรือควบคุมนักโทษอีกต่อหนึ่ง เช่น “ฝ่ายการศึกษา” ทำหน้าที่ฝึกสอนนักโทษด้วยกัน เช่น สอนการใช้คอมพิวเตอร์ สอนภาษา หรือ “ฝ่ายควบคุมกลาง” เป็นงานธุรการในเรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์  งานใน “ฝ่าย” ต่างๆ นี้จะถูกจัดให้นักโทษกลุ่มน้อยที่มีความสามารถ และถูกคัดเลือกจากผู้คุมมาทำงาน เช่น มีความสามารถด้านคอมพิวเตอร์ หรือภาษาอังกฤษ จึงเป็นงานที่ค่อนข้างสบาย ไม่หนักเท่างานใน “กอง”

 

ยังมีกลุ่มนักโทษที่ถูกเรียกว่า “ยอดลอย” โดยใช้กับนักโทษที่ไม่ต้องทำงานประจำวัน ไม่ได้เป็น “ยอดงาน” ที่ถูกจัดแบ่งในกองหรือฝ่ายต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นนักโทษที่มีอภิสิทธิ์บางอย่าง หรือมีปัญหาด้านสุขภาพ

 

ชุดคำประเภทต่อมา คือคำที่บอกถึงความสัมพันธ์ภายในคุก ซึ่งแบ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษด้วยกันเอง เช่น คำว่า “ขาใหญ่” “บ้านใหญ่” หรือ “แก๊งค์” เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มนักโทษที่รวมตัวกันเพื่อมีอิทธิพล หรือสร้างอำนาจต่อรองภายในคุก จึงทำการ “ตั้งบ้านตั้งแก๊งค์” กันขึ้นมา กลุ่มหนึ่งอาจมีราว 30-40 คน โดยมี “พ่อบ้าน” เป็นหัวหน้าแก๊งค์ และบางบ้านอาจมีเจ้าหน้าที่ให้ท้ายด้วย ผู้เขียนได้ยินว่ามี แก๊งค์อย่างเช่น “แก๊งค์ลาดพร้าว” “แก๊งค์ยานนาวา” เป็นต้น

 

อดีตนักโทษคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเคยมีสงครามหรือการทะเลาะวิวาทครั้งใหญ่ระหว่างแก๊งค์เกิดขึ้น ครั้งนั้นต้องระดมเจ้าหน้าที่จำนวนมากไปช่วยกันระงับเหตุการณ์ กลุ่มนักโทษที่อยู่แต่ละบ้านหรือแก๊งค์ เหมือนกับว่าตนมี สังกัด จึงได้รับความปลอดภัยจากพรรคพวก การมีเรื่องกับใครคนหนึ่งในแก๊งค์ อาจหมายถึงมีเรื่องกับทั้งแก๊งค์

 

ในคำอธิบายเรื่องความสัมพันธ์ภายใน “บ้าน” ของเรือนจำหญิง ในงานศึกษาเรื่อง “คุกกับคน: อำนาจและการต่อต้านขัดขืน” ของสายพิณ สุพุทธมงคล ดูเหมือนคำนี้จะใช้ต่างออกไปจากในคุกชาย บ้านในเรือนจำหญิงมีลักษณะของการเป็นครอบครัว สร้างความอบอุ่น ดูแลกันและกัน และเป็นกลุ่มค่อนข้างเล็ก มากกว่าบ้านในลักษณะ “แก๊งค์” แบบในเรือนจำชาย

 

นอกจากนั้นยังมีคำที่นักโทษใช้เหยียดหรือดูถูกกันเอง ซึ่งอาจมาจากลักษณะนิสัยหรือโทษที่ได้รับมา เช่น “ไอ้รั่ว” “ไอ้หมิ่น” เป็นต้น ชี้ให้เห็นว่าแม้แต่ในกลุ่ม “คนคุก” ที่ถูกตีตราดูแคลนจากสังคมภายนอก ก็ยังมีการลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์ภายในกันเองอีกด้วย

 

ส่วนคำที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษกับผู้คุม คำที่ผู้เขียนได้ทราบมา คือนักโทษจะใช้คำว่า “พี่” หรือ “นาย” เรียกผู้คุม โดยคำว่า “พี่” แม้นักโทษจะมีอายุมากกว่าก็ตาม ก็จะใช้คำนี้เรียกผู้คุม ในระหว่างสนทนากัน  ส่วนคำว่า “นาย” จะใช้เรียกเมื่อพูดคุยกับบุคคลที่ 3 และมีการเอ่ยถึงผู้คุม หรือบางทีก็ใช้คำว่า “หัวหน้า” คำเรียกเหล่านี้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างนักโทษกับผู้คุม ในลักษณะสูงต่ำได้ดี (ในงานของสายพิณชี้ให้เห็นว่าในเรือนจำหญิงมีการใช้คำว่า “แม่” เรียกผู้คุมหญิงที่มีครอบครัวหรืออยู่ในวัยกลางคน และใช้คำว่า “คุณ” เรียกผู้คุมที่อายุน้อย)

 

ชุดคำอีกประเภทหนึ่ง คือคำที่เกี่ยวกับกฎระเบียบภายในเรือนจำ มีตั้งแต่คำเกี่ยวกับการลงโทษภายในเรือนจำ เช่น “การขังซอย” หมายถึงการขังเดี่ยว โดย “ซอย” เป็นคำเรียกห้องขังซึ่งใช้กักบริเวณผู้ทำผิดระเบียบ เมื่อได้ทำความผิดที่ร้ายแรง บางคนอาจจะโดนซ้อมก่อน แล้วนำไปขังอยู่ในห้องแคบๆ คนเดียว ระยะเวลาขึ้นอยู่กับผู้คุม แต่เข้าใจว่าคำที่ใช้กับการลงโทษนี้ที่เป็นทางการ คือคำว่า “กักบริเวณ” ซึ่งคล้ายจะเป็นการทำให้การปฏิบัติที่รุนแรงหรือบางการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังดูเบาหรือรุนแรงน้อยลง (เช่นเดียวกับการใช้คำว่า “กระชับพื้นที่” แทนการสลายการชุมนุม)

 

ในหมู่นักโทษยังมีการใช้คำว่า “เกมส์” หมายถึงการถูกจับการกระทำผิดได้ เช่น “มึงไปเกมส์อะไรมา” หมายถึง “มึงมาคดีอะไร”  หรือใช้เมื่อถูกจับสิ่งที่ “กระทำผิด” ในคุกได้ อย่างที่ทราบว่าในคุกเต็มไประเบียบวินัยข้อห้ามจำนวนมาก การทำอะไรเล็กๆ เช่น แอบส่งจดหมายที่เล่าเรื่องด้านลบในเรือนจำ ก็เป็นความผิดได้ เมื่อถูกจับได้ก็เท่ากับ “เกมส์” นั่นเอง

 

ยังมีคำที่เกี่ยวกับการพ้นโทษและอภัยโทษ เช่น “ออกตามป้าย” คือการได้รับปล่อยตัวเมื่อครบตามกำหนดเวลาต้องขัง  คำว่า “ลูก” ถูกใช้เป็นลักษณนามที่ใช้เรียกการอภัยโทษ เป็นครั้งๆ เช่น อภัยโทษครั้งนี้ “ลูก” เล็ก คำว่า “กั๊กมาตรา” หมายถึงการลดโทษในอัตราไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ลดโทษลงน้อย เช่น ถ้าผู้ต้องหาเป็นชั้นเยี่ยม แต่อยู่ในข้อหาที่โดนกั๊กมาตรา ก็จะถูกพิจารณาลดโทษในฐานะนักโทษชั้นดีมาก โดยจะเกิดขึ้นในกับคดีที่มีโทษหนักๆ เช่น คดีความมั่นคง, คดีฆาตกรรม เป็นต้น

 

การลดโทษผู้ต้องขังนั้นแบบเป็น 2 แบบ ได้แก่ “การพักโทษ” คือการปล่อยนักโทษออกไปก่อนครบกำหนดโทษ ส่วนใหญ่เป็นนักโทษความประพฤติดี และอยู่ในเงื่อนไข เช่น นักโทษชั้นเยี่ยม ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน นักโทษชั้นดีมากและชั้นดี เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 และไม่เกิน 1 ใน 5 ตามลำดับ โดยการพักโทษต้องมีการทำเรื่อง และจัดหาผู้อุปการะที่จะดูแลที่พักอาศัยหลังการปล่อยตัว

 

อีกแบบหนึ่งคือการ “การลดวันต้องโทษ” คือผ่านการสะสมวันลดโทษ ตามเวลาที่อยู่ในเรือนจำ โดยต้องเป็นนักโทษชั้นเด็ดขาด ที่อยู่ในเรือนจำตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ถ้าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จะได้วันลดโทษเดือนละ 5 วัน ชั้นดีมากและชั้นดีได้วันลดโทษเดือนละ 4 วัน และ 3 วัน ตามลำดับ วันเหล่านี้จะนำมาสะสมกัน แล้วนำไปลดจากโทษที่มีอยู่ จึงได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด แต่หากผู้ต้องขังก่อความผิด ก็อาจโดนลดชั้นและโดนตัดวันลดโทษที่สะสมไว้ เรียกว่า “ตัดชั้น ตัดวันลด”

 

นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มคำเฉพาะอื่นๆ เช่น คำที่เกี่ยวกับชื่อสถานที่ต่างๆ เช่น “พบ.” หมายถึงสถานพยาบาลภายในเรือนจำ “โรงเลี้ยง” หมายถึงโรงอาหาร “แดนแรกรับ” คือแดนซึ่งนักโทษที่ถูกนำเข้าเรือนจำใหม่จะเข้ามาในแดนนี้ก่อน ราว 2 อาทิตย์ ก่อนจะถูกจำแนกไปยังแดนที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเหมาะสม

 

หรือคำที่อธิบายกิริยาอาการต่างๆ ภายในโลกของคุก เช่น คำว่า “ตีเยี่ยม” หมายถึงการเยี่ยมนักโทษ คำว่า “เมียเลี้ยว” หมายถึงเมียที่อยู่ภายนอกคุกทิ้งไป เนื่องจากสามีติดคุก คำว่า “โดน” ถูกใช้แทนคำว่ากิน คำว่า “พวกปั่น” หมายถึงพวกที่โกหกหลอกลวงนักโทษด้วยกันเอง เช่น ปั่นข่าวว่าจะมีการอภัยโทษ การปั่นนี้อาจทำเพราะความสนุก เมือได้เห็นคนเศร้า

 

สันนิษฐานว่าคำเฉพาะที่อธิบายถึงกิริยาอาการต่างๆ ในเรือนจำน่าจะมีมากกว่านี้ อีกทั้งน่าจะมีความแตกต่างระหว่างภาษาในพจนานุกรม ซึ่งความหมายหยุดนิ่ง กับภาษาที่พูดและใช้จริงในชีวิตประจำวันหรือภาษาที่ใช้ในทางปฏิบัติ  แต่เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ศึกษาเจาะลึกเรื่องนี้โดยตรง ซึ่งอาจต้องอาศัยการเข้าไปดูบริบทการใช้ถ้อยคำ คลุกคลีกับสถานการณ์จริงของการใช้ภาษาในกลุ่มบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับคุกอย่างละเอียดมากกว่านี้ด้วย

 

บล็อกของ กำลังก้าว

กำลังก้าว
ขณะที่ 7 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีผลกำหนดอนาคตของประเทศ แต่ก็เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของคำพิพากษาคดีๆ หนึ่งที่มีผลกำหนดอนาคตชีวิตของครอบครัวๆ หนึ่งอย่างมหาศาล
กำลังก้าว
ผ่านไปเกือบจะครบสองปีแล้ว ตั้งแต่เธอถูกจับกุมดำเนินคดี...แต่คดียังไม่ได้เริ่มสืบพยานโจทก์เลยแม้สักปากเดียวเสาวณี อินต๊ะหล่อ เคยทำงานเป็นแม่ครัวในร้านอาหารแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน แต่บ้านที่เธออยู่อาศัยนั้นอยู่ที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
กำลังก้าว
1“เราจะไม่เป็นเราอีก”
กำลังก้าว
คืนนั้น หลังจากรู้ว่ามีชื่อตัวเองอยู่ในประกาศเรียกทางโทรทัศน์ แกโพสต์สเตตัสหนึ่งในเฟซบุ๊กไว้ว่า “โจนาธาน ลิฟวิ่งสตัน ซีกัล ผมจะเป็นนางนวลตัวนั้น”
กำลังก้าว
 การดิ้นรนครั้งสุดท้ายของไดโนเสาร์ยักษ์เกรี้ยวกราดสุดเรี่ยวแรงแห่งเผ่าพันธุ์ทำผืนดินสะเทือนเลือนลั่นต้นไม้ใบหญ้าล้มระเนระนาดสัตว์น้อยใหญ่หลบหนีชุลมุนวุ่นวายกระทั่งหลายชีวิตบาดเจ็บล้มตายเซ่นสังเวยการเคลื่อนตัวของสัตว์ยักษ์ 
กำลังก้าว
30 เม.ย.นี้ จะเป็นวันครบรอบ 3 ปีของการจับกุมคุมขังสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในคดีมาตรา 112 และเป็นเวลาครบรอบ 3 ปีแล้วที่ชายคนนี้ยืนยันนับตั้งแต่ถูกจับกุมว่า “ผมยอมสูญเสียอิสรภาพ แต่จะไม่ยอมสูญเสียความเป็นคน”
กำลังก้าว
ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกเล็กๆ น้อยๆ จากการทำรายงานข่าวเรื่อง “เปิดใจ 'สปป.ล้านนา' สาขาสันกำแพงกับข้อกล่าวหาแยกประเทศ”%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%