Skip to main content

เหตุผลยอดแย่ 1: เรื่องอื่นที่สำคัญมีตั้งเยอะแยะ ทำไมมัวมารณรงค์เรื่องชุดนักศึกษา? ประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เยอะแยะทำไมไม่รู้จักไปรณรงค์?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: เหตุผลนี้ตื้นเขินและตรรกะผิดพลาดอย่างยิ่ง แต่คนจำนวนมากก็ยังยกมันมาใช้ รวมทั้งอธิการบดีธรรมศาสตร์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ ด้วย (ดูที่นี่)

 

ในโลกนี้มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง การที่เรื่องบางเรื่องสำคัญไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องไปรณรงค์เรื่องนั้นและปล่อยเรื่องอื่นทั้งหมดให้หยุดชะงักไป. และการรณรงค์เรื่องชุดนักศึกษา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรณรงค์เรื่องอื่นไปด้วยไม่ได้. เอาเข้าจริง ที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษาที่รณรงค์เรื่องชุดนักศึกษานี้ ก็รณรงค์ประเด็นการเมืองและสังคมมาแล้วมากกว่าคนที่วิจารณ์เขาด้วยซ้ำไป.

 

เหนืออื่นใด การมองเรื่องชุดนักศึกษาว่าเป็นแค่ "เรื่องส่วนตัวของนักศึกษา" หรือ "เรื่องแฟชั่นไร้สาระ" นั้น เป็นความคิดที่ตื้นเขินอย่างยิ่ง. เครื่องแบบนักศึกษานั้นมันไม่ได้มีแค่เส้นใยผ้า แต่มันมีสถานะและความสัมพันธ์ทางสังคมผูกติดมาด้วยอีกมากมาย เช่น สถานะความเป็น "นิสิต/นักศึกษา" ที่ต้องนบนอบ เจียมเนื้อเจียมตัวต่ออาจารย์และผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัย แต่สามารถอยู่เหนือคนขับแท็กซี่ กรรมกร และพ่อค้าแม่ค้า ในฐานะ "ปัญญาชน". ที่สำคัญคือ เครื่องแบบนักศึกษาเป็นมรดกของอำนาจนิยม. มันบ่มเพาะให้นักศึกษาเคยชินกับการอยู่ในกรอบ ใส่อะไรตามที่ผู้มีอำนาจบอกให้ใส่ ไม่แสดงอัตลักษณ์ของตน เพราะเมื่อใดที่คนในสังคมแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง สังคมก็ย่อมหลากหลาย และสังคมที่หลากหลายย่อมวุ่นวายและยากแก่การควบคุมโดยผู้มีอำนาจ.

 

ประเด็นเรื่องการบังคับนักศึกษาให้แต่งเครื่องแบบ จึงเป็นประเด็นทางสังคมอย่างยิ่ง. การต่อสู้ระหว่างแนวคิดบังคับสวมเครื่องแบบ กับแนวคิดให้สิทธินักศึกษาตัดสินใจนั้น ไม่ใช่แค่การต่อสู้เรื่องสิทธิในการแต่งตัว แต่เป็นการต่อสู้ของแนวคิดทางสังคมและการเมืองที่ใหญ่กว่านั้นมาก. น่าเศร้าอย่างยิ่งที่นักวิชาการบางคนมองประเด็นชุดนักศึกษาว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านักศึกษารักสวยรักงาม.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 2: เลิกบังคับใส่ชุดนักศึกษาแล้วจะทำให้นักศึกษาฉลาดขึ้นหรืออย่างไร?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: การเลิกบังคับใส่เครื่องแบบไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้น. แต่การบังคับใส่เครื่องแบบก็ไม่ได้ทำให้ใครฉลาดขึ้นเช่นกัน. อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 200 อันดับแรกของโลกนั้น ไม่มีมหาวิทยาลัยใดที่บังคับนักศึกษาสวมเครื่องแบบเข้าเรียน.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 3: การบังคับให้นักศึกษาทุกคนใส่เครื่องแบบเป็นการฝึกความพร้อมเพรียง มีระเบียบวินัย

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารที่จะต้องฝึกความพร้องเพรียงและมีวินัย. มหาวิทยาลัยคือที่แสวงหาความรู้และพัฒนาความรู้ใหม่ๆ. และการจะทำอย่างนั้นได้ นักศึกษาต้องถูกฝึกให้มีจิตใจที่กล้าคิด กล้าตั้งคำถามท้าทายความเชื่อเดิม กล้าเสนอสิ่งใหม่ และกล้ายืนหยัดในความจริงโดยไม่โอนเอนไปตามกระแสสังคมหรือแรงกดดันจากผู้มีอำนาจ. ในแง่นี้ ความพร้อมเพรียงและวินัยไม่ใช่ คุณสมบัติที่ดีของนักศึกษามหาวิทยาลัย. ความกล้าคิดวิเคราะห์ กล้าวิพากษ์วิจารณ์ และกล้าเสนอสิ่งใหม่ต่างหาก ที่เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักศึกษา.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 4: การบังคับใส่ชุดนักศึกษา เป็นการสร้างความเท่าเทียมระหว่างนักศึกษาจนกับนักศึกษารวย. หากอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวทแล้ว นักศึกษาที่ไม่มีเงินซื้อเสื้อผ้าสวยๆ ก็อาจรู้สึกด้อยกว่านักศึกษาบ้านรวย.

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: การบังคับใส่ชุดนักศึกษาไม่ได้ช่วยกำจัดความเหลื่อมล้ำในหมู่นักศึกษาสถาบันเดียวกัน. ทั้งนี้เพราะต่อให้นักศึกษาไม่แสดงออกถึงความร่ำรวยผ่านเสื้อผ้า นักศึกษาก็ยังแสดงออกผ่านกระเป๋า รองเท้า แว่นตา นาฬิกา โทรศัพท์ เสื้อคลุม ผ้าคลุมไหล่ รถยนต์ที่ขับ ร้านอาหาร-ร้านขนมที่ไปนั่งกินแล้วถ่ายลงเฟสบุ๊ค ฯลฯ. การบังคับใส่ชุดนักศึกษานั้นไม่ได้ช่วยกำจัด หรือแม้แต่ปกปิดความเหลื่อมล้ำได้เลย.

 

นอกจากนี้ การบังคับใส่ชุดนักศึกษายังเพิ่มความแบ่งชนชั้นระหว่างนักศึกษาแต่ละสถาบัน และระหว่างนักศึกษากับคนที่ประกอบอาชีพอื่น (เช่น เด็กเสิร์ฟที่ครอบครัวไม่มีเงินจะส่งเรียนมหาวิทยาลัย) ด้วย.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 5: ขนาดตำรวจ ทหาร พนักงานห้าง ยังถูกบังคับให้ใส่เครื่องแบบเลย ทำไมนักศึกษาถึงจะไม่ต้องใส่?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: ตำรวจ ทหาร และพนักงานห้างนั้น เป็นอาชีพที่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบ เพราะคนเหล่านี้จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่โดยเป็นที่สังเกตของคนทั่วไป. ตำรวจจราจรต้องใส่ชุดให้คนรู้ เพื่อที่คนจะได้ปฏิบัติตามเวลาถูกเรียก. ทหารต้องใส่เครื่องแบบเพื่อให้ทหารด้วยกันรู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน และให้คนทั่วไปรู้ว่าเป็นทหารเวลาออกไปปฏิบัติหน้าที่นอกค่าย. พนักงานห้างต้องใส่เครื่องแบบเพื่อให้ลูกค้ารู้ได้ทันทีว่าเป็นพนักงานขาย จะได้เรียกใช้บริการได้. แต่นักศึกษาไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้คนทั่วไปมองแล้วรู้ทันทีว่าเป็นนักศึกษา เพราะนักศึกษาไม่ใช่อาชีพที่ต้องให้บริการแก่คนทั่วไป. มหาวิทยาลัยในโลกส่วนใหญ่ รวมทั้งคณะส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เอง ก็ไม่ได้บังคับนักศึกษาสวมเครื่องแบบ และนักศึกษาเหล่านั้นก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากกว่านักศึกษาที่สวมเครื่องแบบ.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 6: เด็กประถม-มัธยมยังต้องใส่เครื่องแบบ แล้วทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยถึงจะไม่ต้องใส่?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: ก็ต้องถามกลับว่า เด็กประถมไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยมีสิทธิเลือกตั้ง? เด็กประถมไม่มีสิทธิแต่งงาน ไม่มีสิทธิมีใบขับขี่ ไม่มีสิทธิลงชื่อเสนอกฎหมายหรือแก้กฎหมาย ไม่มีสิทธิจดทะเบียนบริษัท แต่ทำไมนักศึกษามหาวิทยาลัยมี? นักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว เราจะบังคับให้นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ โดยใช้ข้ออ้างเดียวกับที่บังคับเด็กประถม-มัธยมแต่งเครื่องแบบ ไม่ได้.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 7: ถ้าไม่พอใจกฎบังคับแต่งชุดนักศึกษา แล้วทำไมไม่ย้ายไปเรียนที่อื่น?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: การที่นักศึกษาสมัครใจเข้ามาเรียนในสถาบันการศึกษาหนึ่งๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องเห็นด้วยและยอมรับกับกฎทุกข้อของสถาบันนั้น. และนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบก็มีสิทธิมีส่วนร่วมในสถาบันของเขาเท่าๆ กับนักศึกษาที่เห็นด้วยกับกฎระเบียบ.

 

การหนีไปอยู่สถาบันอื่นเพียงเพราะไม่เห็นด้วยกับกฎบางข้อนั้น ก็ทำได้ แต่ก็เป็นแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้น. อีกทางเลือกหนึ่ง (ซึ่งกล้าหาญกว่า) คือการพยายามรณรงค์ต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎเหล่านั้น.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 8: ตอนสมัครเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้อยู่แล้วว่าเขาบังคับใส่ชุดนักศึกษา แต่ก็ยังสมัครใจเข้ามาเรียนเอง แล้วจะมาบ่นอะไร? นักศึกษาในอดีตก็ถูกบังคับใส่เครื่องแบบ ก็ไม่เห็นจะมีใครมีปัญหา ทำไมอยู่ดีๆ ถึงจะมามีปัญหา?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: มหาวิทยาลัยทุกที่อาจมีทั้งกฎที่ดี-มีเหตุผล และกฎที่แย่-ไร้เหตุผล. การที่นักศึกษาสมัครใจเข้ามาเรียนในสถาบันหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องยอมรับว่ากฎทุกข้อดี-เหตุผล และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่มีสิทธิรณรงค์เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนกฎที่แย่-ไม่มีเหตุผล.

 

นอกจากนี้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ในอดีตก็ ไม่ได้ถูกบังคับให้สวมเครื่องแบบนักศึกษา. การบังคับสวมเครื่องแบบนั้นเป็นนโยบายใหม่ ที่เพิ่งมีมาเร็วๆ นี้ และมีในบางคณะเท่านั้น. ที่สำคัญกว่าคือ การที่สิ่งใดเคยทำกันมานานนั้นไม่ได้หมายความว่ามันจะดี. การให้เดินลุยไฟพิสูจน์ความผิดถูกใช้มานับพันปี แต่ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อมนุษย์ฉลาดพอที่จะรู้ว่ามันเชื่อถือไม่ได้.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 9: ถ้าแค่ใส่ชุดนักศึกษายังทนไม่ได้ แล้วต่อไปจะทนกับอะไรที่ลำบากกว่านี้ได้อย่างไร?

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: คนที่รณรงค์ให้เลิกบังคับนักศึกษาใส่เครื่องแบบ ไม่มีใครบอกว่าการใส่ชุดนักศึกษานั้นลำบาก ทนไม่ได้. เขาเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับนักศึกษาสวมเครื่องแบบด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวกับความลำบาก เช่น 

 

1. การบังคับนักศึกษาแต่งเครื่องแบบนั้นขัดกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการให้ทุกคนเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งชนชั้นระหว่างนักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย พ่อค้าแม่ค้า หรือคอาชีพอื่น และต้องการต่อต้านโครงสร้างทางสังคมแบบเก่าที่กำหนดให้คนแต่ละอาชีพมีที่ทางแบบเฉพาะเจาะจง ผู้ที่อยู่ที่ต่ำไม่มีสิทธิท้าทายผู้ที่อยู่สูง.

 

2. การบังคับแต่งเครื่องแบบเป็นมรดกของอำนาจนิยม ที่พยายามบ่มเพาะให้นักศึกษาเคยชินกับการอยู่ในกรอบ ไม่ตั้งคำถาม ไม่ท้าทาย ไม่ขบถ ให้ทุกคนมีอัตลักษณ์เหมือนกัน เพราะการแสดงอัตลักษณ์ของตนเองจะทำให้สังคมหลากหลาย และสังคมที่หลากหลายย่อมวุ่นวาย ไม่เชื่อฟังผู้มีอำนาจ. สิ่งเหล่านี้ขัดกับปรัชญาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นผู้กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าท้าทายความเชื่อเดิม และกล้าเสนอความรู้ใหม่.

 

--------------------------------------------------------------

 

เหตุผลยอดแย่ 10: การบังคับนักศึกษาสวมเครื่องแบบเป็นการป้องกันนักศึกษาไม่ให้แต่งกายไม่เหมาะสม. หากอนุญาตให้ใส่ชุดไปรเวท นักศึกษาอาจแต่งตัวโป๊ ยั่วยวน หรือใส่บิกินีมาเรียนได้.

 

ทำไมเหตุผลนี้จึงแย่: ประการแรก หากจะป้องกันไม่ให้นักศึกษาใส่บิกินีมาเรียน ก็ต้องออกกฎห้ามใส่บิกินีมาเรียน ไม่ใช่ออกกฎบังคับให้ใส่เครื่องแบบ.

 

ประการที่สอง ปัจจุบันนักศึกษาที่สวมเครื่องแบบก็แต่งกายโป๊ ยั่วยวน กว่าชุดไปรเวทอยู่แล้ว. ชุดนักศึกษาไทยได้กลายมาเป็นเครื่องปลุกอารมณ์ทางเพศสำหรับคนจำนวนมาก. เว็บไซต์ข่าว Rocket News 24 และ Livedoor ของญี่ปุ่นเผยผลสำรวจว่าชุดนักศึกษาไทย "เซ็กซี่" ที่สุดในโลก. และ Google แสดงผลการค้นหาคีย์เวิร์ด "ชุดนักศึกษา เซ็กซี่" มากกว่าคียเวิร์ด "ชุดพยาบาล เซ็กซี่" ถึง 3 เท่า. ฉะนั้นข้ออ้างที่ว่าชุดนักศึกษาสุภาพกว่า ยั่วยวนน้อยกว่าชุดไปรเวทนั้นไม่จริง.

 

ประการสุดท้าย เราต้องตระหนักว่านักศึกษาเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก. หากเขาจะแต่งตัวโป๊ ยั่วยวน เขาก็มีสิทธิทำได้ (ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย).

 

--------------------------------------------------------------

 

ข้อเท็จจริงที่ควรทราบ 

 

1. ปัจจุบันเหลือเพียง 4 ประเทศในโลกเท่านั้น ที่ยังบังคับนักศึกษามหาวิทยาลัยให้สวมเครื่องแบบกันอย่างกว้างขวาง ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย

 

2. มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 200 อันดับแรกของโลก (ตามการจัดอันดับของ Times Higher Education, QS University Ranking และ Webometrics) ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเลยที่บังคับนักศึกษาสวมเครื่องแบบ

 

โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

บล็อกของ ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร

ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร 
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
เหตุผลยอดแย่ 1: เรื่องอื่นที่สำคัญมีตั้งเยอะแยะ ทำไมม
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
หลายๆ คนคิดว่า คนที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะต้องต่อต้านรัฐประหารในทุกกรณี. ผมว่าความคิดนี้ผิด. แม้ว่าการรัฐประหาร ในตัวมันเองจะเป็นขัดกับประชาธิปไตย แต่มันก็อาจให้ผลที่เป็นประชาธิปไตยได้ เช่น การรัฐประหารล้มระบอบเผด็จการแล้วเปลี่ยนให้เป็นระบอบประชาธิปไตย.
ธร ปีติดล & ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
พระอานนท์ สนทนากับ โกกิลา