โดย ปราชญ์ ปัญจคุณาธร
วันก่อนผมไปร้านหนังสือ Candide Books มา. ข้างๆ มีแกเลอรีแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหนังที่ถูกแบน เรื่อง "ปิตุภูมิ (Fatherland)" โดยผู้กำกับ ยุทธเลิศ สิปปภาค.
ผมไม่เห็นด้วยกับการแบนหนังเรื่องนี้ แต่ผมดูนิทรรศการแล้วรู้สึกมากๆ ว่าหนังเรื่องนี้ห่วย และจะสร้างผลเสียมากกว่าผลดี. หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. พระเอกเป็นทหารที่ถูกส่งลงใต้. นางเอกเป็นครูชาวมุสลิม (จะมีอาชีพอะไรที่เหมาะกับการเป็นนางเอกในจังหวัดชายแดนใต้ได้มากกว่านี้อีก?). แน่นอนว่าทั้งสองพบรักกัน และทุกสิ่งทุกอย่างที่ cliche ก็ตามมา.
พอเห็นพล็อตแบบนี้แล้ว ก็น่าจะเดาได้เลยใช่ไหมครับ ว่านางเอกก็คงต้องเป็นชาวมุสลิมที่ "ดี" คอยสอนเด็กๆ ว่าหลักศาสนานั้นสอนให้คนรักสันติ. พระเอกก็ต้องคอยต่อสู้กับ "โจรใต้" ที่ก่อกรรมทำเข็ญต่างๆ นานา ทั้งฆ่าพระ ฆ่าครู. นางเอกต้องสวยเปล่งประกายแบบเกินจริง ส่วนพระเอกก็ต้องหล่อแบบชายชาติทหาร แต่ก็ยังต้องคงลักษณะแบบชนชั้นกลางในเมือง คือผิวขาว หน้าจีน ไม่ดูบ้านนอก (ไม่งั้นสลิ่มในเมืองดูแล้วจะไม่อิน). นอกจากนั้นก็ต้องมีฉากนางเอกสอนวัยรุ่นที่ไปเป็น "โจรใต้" ว่าพวกเขากำลังเข้าใจหลักอิสลามผิด. และแน่นอนว่าต้องมีฉากสนทนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างนางเอกกับหญิงชาวพุทธ. และก็แน่นอนว่าบทสนทนาจะต้องตื้นเขินสุดๆ.
ความ cliche นั้นก็เรื่องนึง แต่สิ่งที่ผมว่าแย่ที่สุดเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือ หนังวาดภาพชาวมุสลิมที่ต่อสู้กับรัฐไทยว่าเป็น "ผู้หลงผิด" ทำนองเดียวกับที่รัฐเคยวาดภาพนักศึกษาที่เข้าป่า จับอาวุธสู้กับรัฐในช่วงสงครามเย็น. หนังฉายภาพ "โจรใต้" แบบมีแววตาโหดร้าย แววตาที่บ่งบอกว่าเขาหลงมัวเมา เขาถูกล้างสมอง เขาเสียสติ เขาไม่ใช่คนปกติ (ดูภาพข้างล่างประกอบ). หนังไม่เคยฉายให้เห็นตัวตนและความรู้สึกนึกคิดของคนเหล่านี้ ไม่เคยพาคนดูเข้าสอดส่องให้หัวคนเหล่านี้ว่าเขาคิดอย่างไร. (หนังมองว่าไม่จำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจความคิดของคนเสียสติ.)
ในทางตรงกันข้าม หนังพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้คนดูเข้าใจและเห็นใจเจ้าหน้าที่รัฐ. หนังตามเฝ้าสังเกตติดตามเจ้าหน้าที่รัฐ (ทหารและตำรวจ) อย่างละเอียด. แววตาของเจ้าหน้าที่รัฐถูกทำให้เป็นแววตาของคนดี ผู้บริสุทธิ์ ที่มีอารมณ์ความรู้สึกเหมือนคนทั่วไป. ในแง่นี้หนังไม่พยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาความรุนแรงนั้นมีสาเหตุที่ซับซ้อนกว่าที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่กลับตอกย้ำความเข้าใจอันฉาบฉวยของคนเมือง ที่ว่า "โจรใต้" เป็นผู้ก่อการร้าย ที่ถูกล้างสมองจนคลั่ง หมดไร้ซึ่งสติสัมปชัญญะ และความรุนแรงจากฝ่ายรัฐนั้นชอบธรรมแล้ว.
อีกอย่างหนึ่งที่แย่เกี่ยวกับหนังเรื่องนี้คือ มันลดทอนปัญหาที่สลับซับซ้อน ปัญหาที่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างอย่างยิ่ง ให้อยู่ในรูปของเรื่องราวความสัมพันธ์อันตื้นเขินระหว่างตัวละครสองตัว แล้วสรุปแบบมักง่ายว่าปัญหาทุกอย่างแก้ได้ด้วยการหันมารักกัน. หนังพยายามจับนางเอก (ซึ่งหนังอุปโลกน์ให้เป็นตัวแทน "คนมุสลิมที่ดี") กับพระเอก (ซึ่งหนังปั้นมาให้เป็นตัวแทน "ฝ่ายรัฐไทย") มาจูบปากกัน แล้วปิดเรื่องแบบให้ความรักฝ่าฟันอุปสรรคทั้งปวงได้. คนดูดูจบแล้วก็กลับบ้านไปท่องคาถา "มารักกันเถิด" แล้วก็สาปแช่ง "โจรใต้" ในพาดหัวหนังสือพิมพ์กันได้ต่อไปแบบไม่ต้องฮุกคิดอะไรเพิ่ม และไม่ต้องสนใจหาข้อมูลเกี่ยวกับการกดขี่และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ.
ผมดูนิทรรศการมาจนถึงจุดสุดท้าย แล้วพบว่าหนังเรื่องนี้สร้างจากนิยายเรื่อง "พรมแดน" ของ "วสิษฐ เดชกุญชร". ผมก็เลยหายแปลกใจกับความห่วย ความฉาบฉวย และการพยายามแทรกอุดมการณ์ชาตินิยมและพุทธนิยมภายใต้ลายพรางของความรักระหว่างคนสองคนและบทสนทนาที่ดูเหมือนจะพยายามทำความเข้าใจศาสนา. ก่อนเดินออกจากห้องนิทรรศการ ผมเขียนคอมเม้นต์ให้ผู้กำกับในสมุดเยี่ยม. ท่านสามารถอ่านคอมเม้นต์นั้นได้ในรูปข้างล่างครับ.
(ภาพจากนิทรรศการหนัง "ปิตุภูมิ (Fatherland)" ที่ The Jam Factory)
(ภาพจากนิทรรศการหนัง "ปิตุภูมิ (Fatherland)" ที่ The Jam Factory)
(ภาพจากนิทรรศการหนัง "ปิตุภูมิ (Fatherland)" ที่ The Jam Factory)