เหตุเกิดเมื่อกลางปี 2008 นักมานุษยวิทยาสมัครเล่นนางหนึ่งได้ใช้เวลา 3 วันโดดเรียนไปเที่ยวที่ Sa Pa (ซาปา) เมืองในหมอกบนพื้นที่สูงของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ภูเขาที่นี่สูงเสียดฟ้าสลับซับซ้อนกันหลายลูกจริงๆ จนภูเขาบ้านเราสมควรถูกเรียกว่า “hill” มากกว่า “mountain” นาขั้นบันไดก็มีให้เห็นกันอย่างดาษดื่นจนกลายเป็นโลโก้ของเมืองนี้ หมู่บ้านม้งดำ และเย้าแดงกลางหุบเขา น้ำตกและลำธารใสๆที่ไหลผ่านกลางหมู่บ้านมีให้เห็นตลอดสองข้างทาง ทำให้ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนอันสุดแสนจะโรแมนติกของคู่รัก เมื่อต้นปีใครๆก็บอกว่า “หิมะตกที่ซาปาสวยงามมาก...อยากเห็น” แต่ใครเลยจะรู้ว่าควายที่เป็นแรงงานสำคัญในการทำนาขั้นบันไดของชาวม้งดำและเย้าแดงตายไปหลายตัวเพราะทนต่อความหนาวเหน็บไม่ไหว ทำให้คนเย้าแดงที่ไม่เคยรู้จักคำว่าหนี้สินต้องเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตร 10 ล้านด่อง หรือประมาณ 21,250 บาท เพื่อซื้อรถไถนาเดินตามขนาดเล็กกว่าคูโบต้าบ้านเราถึง 1 ใน 3 หรือราคาเท่ากับลูกควายน้อย 1 ตัว มาแทน แถมยังต้องฝึกใช้อย่างล้มลุกคลุกคลานในขี้ตมท่ามกลางกำลังใจของเพื่อนบ้านรอบๆคันนานับสิบคน
ภาพ 1 ทิวทัศน์หมู่บ้านม้งในซาปา
ความประทับใจในตลาดผ้าของผู้เขียนเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันที่จะได้ลงจากรถบัสไปยังโรงแรมที่พักเลย (เนื่องจากรถบัสต้องไปส่งฝรั่งหลายคนที่พักอยู่ใกล้เส้นทางก่อน) เมื่อฝรั่งลงจากรถ เสียงม้งดำหลายคนที่หอบผ้าทอเอาไว้ต่าง “สปี๊กอิงลิช” กันเป็นต่อยหอย ตั้งแต่ Hello! What is your name? Where are you from? Do you want to buy (the goods from) me? และถ้าฝรั่งผู้ใดหันไปเชยชมสินค้า หรือแม้แต่มองหรือจับดู ฝรั่งผู้นั้นก็จะถูกรุม(ล้อม)จากม้งดำหลายคน ซึ่งไม่รู้ว่ามาจากที่ไหน มาอย่างรวดเร็ว จนฝรั่งเกือบดิ้นหลุดไปไม่ได้ ต้อง “ออกอาการโหด” โดยใช้สีหน้าแบบทำหน้าตายๆ หรือแบบหมดแรง หรือทำหน้าเข้มๆ เหี้ยมๆ อย่างไร้ความปรานีพร้อมกับสบัดตัวออกไปอย่างรวดเร็วปานว่า “ฉันไม่ต้องการ” จึงจะหลุดออกไปได้ พฤติกรรมการขายของของม้งที่นี่จึงดูเหมือนเป็นอะไรที่ดูเป็นรบกวนนักท่องเที่ยว เป็นภาพลบของการท่องเที่ยวที่ซาปาที่นักท่องเที่ยวและคนกิง(เวียด)กล่าวถึงเสมอๆ เมื่อพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ณ ที่แห่งนี้
ภาพ 2 ม้งดำกำลังมะรุมมะตุ้มขายสินค้าของตัวเองให้กับนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก
ท่ามกลางการที่ซาปาถูกพัฒนาให้เป็นตลาดการท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในภาคเหนือของเวียดนาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าสินค้าการท่องเที่ยวหลักของซาปานอกเหนือจากภูมิทัศน์ที่สวยงามและอากาศที่ดีแล้ว คือการขายม้งและเย้าและวัฒนธรรมของพวกเขา วิถีชีวิตเช่น การทำนาขั้นบันได บ้านช่อง จังหวะชีวิตของผู้คน การแต่งกาย เป็นต้น ถูกแปลงให้เป็นสินค้า ทว่าคนที่ควบคุมตลาดการท่องเที่ยวกลับไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ท้องถิ่น คนกิง (เวียด) ครอบครอบตลาดและธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงของพื้นที่และในเชิงกฎหมายเกือบทั้งหมด เหลือพื้นที่เพียงน้อยนิดให้คนท้องถิ่น[1] เช่น ม้ง เย้า ต่าย และซ้าย ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงถูกเบียดขับให้ออกไปอยู่ชายขอบของตลาดการท่องเที่ยว ดังนั้น จะให้เขาขายผ้าได้อย่างไร หากไม่หน้าด้าน ไม่มะรุมมะตุ้มนักท่องเที่ยวแบบนี้ ผู้เขียนก็นึกไม่ออกเหมือนกัน
ความพยายามต่อสู้และต่อรองในการแสวงหาโอกาสของม้งและเย้าในซาปาท่ามกลางการเบียดขับออกจากพื้นที่ศูนย์กลางในตลาดการท่องเที่ยวซึ่งถูกครอบครองโดยกลุ่มกิงยังคงดำเนินต่อไปทุกขณะจิต และนี่คือสิ่งที่ผู้เขียนจับตามองในระยะเวลา 3 วัน...ภาพการดิ้นรนและต่อรองของแม้ค้าม้งดำในตลาดในชีวิตประจำวันและปฏิสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวในระดับจุลภาค (micro relationship) อีกทั้ง ในฐานะที่เป็น “a shopping anthropologist” (ฉายาที่วิชาการเวียดนามคนหนึ่งให้ไว้) และผู้คลั่งไคล้ในผ้าพื้นเมือง ก็อดเข้าไป “เล่น” และดูลูกเล่น(tactic) เพื่อการเอาตัวรอดของแม่ค้าในตลาดผ้าของที่นี่ไม่ได้
ในเช้าวันแรกของซาปา ผู้เขียนก็นั่งทานอาหารบนชั้นบนของโรงแรม มองลงและมองผ่านออกไปนอกหน้าต่างซึ่งเป็นกระจกใส ก็เห็นหญิงผู้เฒ่าม้งดำหลายคน มาเสนอขายผ้าอยู่ข้างนอกโรงแรม พวกหล่อนเหงนหน้ามองขึ้นมายังชั้นสองที่ผู้เขียนนั่งอยู่ และพลันก็กางผ้าออกมาโชว์แล้วยิ้มหวานให้ผู้เขียนกับเพื่อน พร้อมกับพยักหน้าเชิญชวนให้ลงมาเชยชม เมื่อผู้เขียนยิ้มตอบ แต่ยังไม่ตอบรับคำเชิญที่ลงให้ไปเชยชม บรรดาป้าๆ ม้ง ก็หยิบสินค้าตัวใหม่จากกระบุงที่แบกอยู่ข้างหลังมากางโชว์ใหม่ เพื่อต่อรองกับผู้เขียนเป็นนัยว่า “ลงมาดูผ้าของฉันซะดีๆ...นังหนู” ผู้เขียนก็ได้แต่ยิ้มและต่อรองผ่านการสบตากลับไปเพื่อ ว่า “ฮะฮ่า...เรามีพาวเวอร์เหนือกว่าพวกหล่อน ไอ้เรื่องจะมารุมล้อมเราเหมือนฝรั่งโดน แล้วบังคับให้เราต้องเมคหน้าโหดๆเพื่อหนีเอาตัวรอด ให้รู้สึกผิดนิดๆนะเหรอ...อย่าหวังซะให้ยากเลย พวกหล่อนทำอะไรฉันไม่ได้หรอก อิอิ”
ภาพ 3 กลุ่มสาวๆ ม้งดำมาเสนอขายผ้าให้กับผู้เขียนซึ่งนั่งทานอาหารอยู่บนโรงแรม
ภาพ 4 ชาวม้งพยายามใช้ทุกพื้นที่ ทุกโอกาสที่พวกเขามีขายของให้กับนักท่องเที่ยว
ซึ่งก็เหมือนกับป้าม้งดำที่พยายามขายผ้าทอผืนใหญ่แก่ผู้เขียนในเวลาที่ผู้เขียนนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ในร้านอาหารด้วยการใช้การโชว์ผ้า ยิ้ม สบตา พยักหน้า เพื่อเป็นสื่อกลาง ให้ผู้เขียนออกมาหาเธอ “เรื่องอะไรจะออกไปเสียให้ยาก ขืนก้าวออกไปมีหวังเราต้องถูกเธอสร้างความใหม่ใหม่ของผ้ามากขึ้นมา เธอจะต้องงัด “ความเป็นชาติพันธุ์/วัฒนธรรมม้ง” และความเป็นคนชรา เพื่อต่อรองให้ผู้เขียนยอมรับความหมายเหล่านั้นให้ได้” ผู้เขียนนึกในใจ แม้ว่าเราจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาพูดกันได้เลย แต่สิ่งที่ป้าม้งดำใช้ในการต่อรองกลับถูกงัดมาใช้อย่างแพรวพราว และท้ายที่สุด(ถ้าผู้เขียนเดินออกไปหาเธอ) ก็ต้องลงเอยด้วยการเป็น “ผู้ซื้อที่มีความสุข” (กับความหมายเชิงวัฒนธรรมของผ้าทอ) แต่ในเวทีการต่อรองนี้ผู้เขียนยังทนใจแข็งไม่ยอมซื้อจนได้ เมื่อป้าม้งดำใช้ “ความเป็นม้ง” มาต่อรองไม่สำเร็จ เธอจึงพูดว่าถ่ายรูปเธอแล้วต้องซื้อผ้าเธอ “นั่นแน่ะ! คราวนี้งัดเหตุผลทางธุรกิจมาต่อรองกันเลย... เธอได้รูปฉันไป ฉันก็ต้องได้อะไรจากเธอบ้างสิ!”
ภาพ 5 ป้าม้งดำซึ่งโดนเจ้าของร้านห้ามไม่ให้เข้าร้านใช้โอกาสทุกขณะจิตโชว์ผ้าเพื่อขายให้ผู้เขียนขณะนั่งทานอาหารกลางวัน
ต่อมาผู้เขียนไปเที่ยวท่องในหมู่บ้านม้งดำที่ชุมชนตาพิน (Ta Phin) ซึ่งประกอบไปด้วยหมู่บ้านย่อยๆ อีก 3 หมู่บ้าน นักท่องเที่ยวต้องเดินไปและกลับแบบครึ่งวงกลม กว่า 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดิน ดู นั่ง และคุยกับชาวบ้านม้งดำประมาณสามชั่วโมง เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่ผู้เขียนลงจากรถก็มีชาวบ้านม้งดำนับสิบคนมารุม มาตุ้ม เซไฮ ทักทาย ถามชื่อ ไม่น่าเชื่อว่าพวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก แม้แต่เด็กผู้หญิงอายุไม่น่าจะเกิน 6 ขวบ หรือคนแก่อายุประมาณ 50 ตอนแรกนึกว่าท่องมาไม่กี่ประโยคเพื่อพูดกับนักท่องเที่ยว ที่ไหนได้กลับสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ม้งกลุ่มนี้เดินตามผู้เขียนกับเพื่อนอีก 2 คน ตลอดเวลาเกือบสามชั่วโมง ตอนแรกก็ทักทายและชวนคุยเรื่องทั่วๆไป ต่อมาก็จะถามว่าต้องการซื้อสินค้าหรือไม่ และตั้งแต่นั้นมาจนครบสองชั่วโมงครึ่ง ก็คือเวลาแห่งการ “ปะลองกำลัง” เพื่อการขาย-ไม่ซื้อ/ซื้อสินค้าในราคาที่ดูดี-มีความสุข
ภาพ 6 ชาวม้งดำเดินตามผู้เขียนและเพื่อนตลอดระยะทาง 8 กม. ของการเดินชมหมู่บ้านเพื่อขายผ้า
ภาพ 7 เพื่อนผู้เขียนโดนมะรุมมะตุ้มเพื่อเสนอขายผ้าระหว่างการเดินชมหมู่บ้าน
สาวน้อยวัย 6 ขวบบอกกับผู้เขียนว่า I will go together with you but you promise me (that) you will buy (the goods from) me. ครั้งแรกที่ได้ยินประโยคนี้ก็นึกขำในใจ “เรื่องอะไรฉันจะบายหล่อนล่ะนังหนู ฉันจะเอาหล่อนไปทำอะไรล่ะ” ระหว่างทางทั้งม้งเด็ก ม้งวัยรุ่น ม้งผู้ใหญ่ ม้งชรา (ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้หญิง) ต่างก็ทะยอยงัดสินค้าที่ซุกไว้ในย่ามบ้าง ในตระกร้าบ้าง ออกมาเสนอขายกันทีละชิ้นสองชิ้นเพื่อลองทดสอบดีมานด์ของตลาด แต่อย่าเผลอลองหยิบ-จับอะไรเชียวนะ แม่เจ้าประคุณทั้งหลายจะมะรุมมะตุ้มอย่างรวดเร็ว เพื่อโชว์ว่าตัวเองก็มีสินค้าชนิดนั้นเหมือนกัน
ภาพ 8 แม่สาวน้อยผู้ซึ่งแอคทีฟที่สุดในการขายสินค้าตลอดระยะการเดินทางชมหมู่บ้าน 8 กม.
แม่สาวน้อยวัย 6 ขวบ ดูเหมือนจะพูดมากที่สุดในกลุ่ม ได้พยายามขายกระเป๋าสตางค์ให้ผู้เขียนตลอดเวลาเกือบสามชั่วโมง เธอได้ใช้ร่างกาย (ความเป็นเด็กน้อย ใสซื่อบริสุทธิ์ และการสู้อุตสาห์พลีกายเดินร่วมกับผู้เขียนถึงสามชั่วโมง) ใช้ความเป็นม้ง ใช้ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ใช้การทวงถามเรื่องคุณธรรม (You said you promised me you will buy me (the purse).) (งง...เราไปสัญญาตอนไหนหว่า?) ใช้เหตุผล (เมื่อผู้เขียนพูดว่า I don’t want to buy this purse. I have a lot of purses. เธอกลับตอบว่า You buy for your sibling.) มาเป็นวัตถุดิบเพื่อสร้างความหมายแก่สินค้า เพื่อมาต่อรองขายของได้อย่างน่าสนใจ เพื่อนชาวเวียดนามบอกผู้เขียนว่า she is very active (to use her power in the space of negotiation).
แม้จะเป็น “a shopping antropologist” ที่มองเห็นตลาดในฐานะพื้นที่แห่งการผจญภัยอันสนุกสนานและตื่นเต้น แต่ทว่าตอนนี้ผู้เขียนกลับรู้สึกไม่สนุกเลยที่ต้องแสดงอำนาจเพื่อการต่อรอง (และการปฏิเสธ) แบบใกล้ชิด ตาต่อตา ตัวต่อตัว เช่นนี้ ความจริงในฐานะผู้ที่คลั่งไคล้ผ้าพื้นเมืองและผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้เขียนชอบเสื้อและสายรัดเอว รวมทั้งหมวก ของชาวม้งมาก อยากจะลองซื้อ ลองใส่ดู ได้แต่ถามราคา และแกล้งทำเป็นไม่สนใจ แม้จะแกล้งทำเป็นไม่สนใจเพียงใด แต่ความคลั่งในผ้าชนเผ่าที่มีอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจก็ทำให้อดไม่ได้ที่จะต้องเอาเสื้อมาลองใส่ดูตั้ง 3 ครั้ง ในขณะที่เพื่อนของผู้เขียนนั้นไม่สนใจเลย “อะไรนี่เรา...ลูกค้าที่แสดงความชอบให้ผู้ขายเห็นอย่างออกนอกหน้านอกตาแบบนี้ ในเวทีการต่อรองเพื่อการซื้อขาย ถือว่าเราได้โชว์ความอ่อนแอออกไปแล้ว แล้วเราจะแสดงอำนาจเพื่อการต่อรองอย่างไร” เป็นอันว่าผู้ขายกลุ่มนี้รู้แล้วว่าใน 3 คนนี้ ใครคือลูกค้าเป้าหมาย และลูกค้าเป้าหมายต้องการอะไร
เมื่อผู้เขียนแวะที่ร้านขายผ้าพื้นเมืองและแสดงความสนใจในตัวเสื้อ กลุ่มม้งดำที่เดินตามและยืนอยู่ข้างนอกร้านก็จะส่งเสียงเอะอะโวยวายเพื่อกดดันไม่ให้มีการซื้อขายของในนั้น และเมื่อผู้เขียนจะซื้อผ้าชนิดเดียวกับที่พวกเขามีเพราะราคาถูกว่าที่พวกเขาเสนอขาย ผู้เขียนต้องหันไปบอกกับกลุ่มม้งผู้ติดตามว่า “โตยมัวเดือกเคิม” (ฉันขอซื้อผ้านี้ได้มั้ย) เมื่อกลุ่มม้งผู้ติดตาม(ตื้อ)บอกว่า “เดือก” (ได้) ผู้เขียนก็รู้สึกสบายใจที่จะซื้อผ้าจากร้านค้าอย่างบอกไม่ถูก (คิดแบบเป็นเหตุเป็นผล “มันก็เงินเรานี่หว่า ทำไมเราจะต้องหันไปขออนุญาตม้งกลุ่มนี้ด้วย”) ก็โธ่ถัง!...แสดงว่าท่ามกลางการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มม้ง (Interaction) แบบเนื้อชนเนื้อ ตาสบตา ตลอดเวลาที่เราเดินไปด้วยกัน เราในฐานะว่าที่ลูกค้าได้ถูกควบคุมผ่านการให้ความหมายไปแล้วว่า “หากฉันจะซื้อผ้า ชั้นต้องซื้อผ้าของคนที่อุตสาห์สู้อดทนเดินตามขายให้ฉันตั้งสามชั่วโมงแน่ะ” เมื่อความหมายใหม่ของผ้าสำแดงพลัง อำนาจและเหตุผล(ราคาที่สมเหตุสมผล)ก็น้อยลง การถูกควบคุม (โดยความหมายใหม่ของสินค้า) จึงเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย
และแล้วเมื่อเดินครบแปดกิโลเมตร ผู้เขียนก็ได้ซื้อเสื้อม้งไป 2 ตัว กระเป๋าสตางค์ 4 ใบ ผ้าคลุมผม 1 ผืน ในราคาที่แพงกว่าตลาดซาปา พร้อมกับได้ความเป็น a shopping antrhopologist “ผู้แพ้” ในเวทีต่อรองในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ “ที่มีความสุข” “ก็นี่มันเป็นผ้าที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมเชียวนะ และรู้มั้ยว่ากว่าที่เขาจะปักผ้าผืนนี้ได้ เขาใช้เวลาเท่าไร แถมพลีกายเดินตามเราตั้งสามชั่วโมง ไอ้กระเป๋าสตางค์ที่ไม่อยากได้ก็ช่วยเขาซื้อ..อย่างน้อยก็ได้บุญละว้า ไอ้เรามันก็คนใจดี ขี้สงสารด้วยนี่นา”
นี่แหละ tactic ของคนท้องถิ่นบนปฏิสัมพันธ์ในระดับจุลภาค (micro interaction) การปะทะกันโดยตรง แบบตาสบตา เนื้อชนเนื้อ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ได้สร้างความหมายที่ลึกซึ้งในระดับศีลธรรมซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายสินค้าชนิดเดียวกันในร้านค้าของพ่อค้ากิง ในบริบทที่วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกแปลงเป็นสินค้าการท่องเที่ยว แต่พวกเขากลับถูกเบียดขับให้ไปอยู่ชายขอบของพื้นที่การตลาด …ถ้าไม่ให้เขาทำแบบนี้(หน้าด้าน ดินตาม มะรุมมะตุ้ม รบกวน) แล้วจะให้เขาทำอย่างไร เพื่อที่จะมีโอกาสสร้างความหมายใหม่ของสินค้า และสร้างชีวิตทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นในตลาดการท่องเที่ยวแห่งนี้
เก๋ อัจฉริยา ชูวงศ์เลิศ
[1] Michaud, Jean, and Sarah Turner. "The Sa Pa marketplace, Lao Cai Province, Vietnam" Asia Pacific Viewpoint Vol 41, no. 1 (2000): pp85-100.