Skip to main content

ในฐานะนักมานุษยวิทยาการท่องเที่ยว ผู้เขียนจะรู้สึกฟินฝุดๆ เมื่อพบว่าพื้นที่ท่องเที่ยวใดเปิดโอกาส เปิดที่ เปิดทางให้คนเล็กคนน้อยได้ทำมาหากิน และเปิดที่ เปิดทาง เปิดโอกาส ให้คนเล็กคนน้อยได้เที่ยวในราคาถูกแบบบ้านๆ เช่นกัน

หน้าวัดไทย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ในเทศกาล “การบวงสรวงวันเปิดโลก บูชาพญานาค” เป็นอีกพื้นที่ท่องเที่ยวหนึ่งที่ผู้เขียนรู้สึกฟินเวอร์

ในการขายแผงลอยในงาน เรานึกว่ามีแต่พ่อค้าแม่ค้ามาจากต่างจังหวัด แต่ที่ไหนได้ คนท้องถิ่นก็มีไม่น้อย เช่น พ่อค้าข้าวจี่ แม่ค้าส้มตำ และแม่ค้าขายข้าวเหนียวหมูย่าง ทั้งสามคนที่ผู้เขียนไปอุดหนุน ต่างก็เป็นคนโพนพิสัย

เดินไปเดินมาเจ๊อะ ชายชราวัย 50 ตอนปลายเดินขายเสื่อ 2 ผื่น กลิ่นเหล้าโชยคลุ้ง ตรงมายังผู้เขียนแล้วบอกว่าขอให้ช่วยซื้อหน่อย ตั้งแต่เช้ายังไม่ได้กินข้าวเลย (ก็แน่ละซิ๊ กลิ่นเหล้าหึ่งซะงั้น) ถ้าขายไม่ได้ เมียจะไม่ให้กินข้าว อะไรประมาณนี้

เดินไปได้อีกนิดก็เจอกับขอทาน ด้วยความที่เคยไปช่วยนิสิตนามว่า “หมวย” พูดคุยกับขอทานในการทำงานวิจัยและข่าวเจาะเรื่องขอทานของหมวย ทำให้การคุยกับขอทานของผู้เขียนเป็นเรื่องง่าย ต่างกับเมื่อปีก่อนที่คุยไป ก็ขัดๆ เขินๆ ไป เพราะคนเดินถนนต่างจ้องมองเรา

คราวนี้ก็ไม่ได้เดินเที่ยวคนเดียวอีกแหละ แต่มากับหมวย เจ้าเก่า (จากตอนที่ 2) เราเลยต่างคนต่างนั่งประกบซ้าย-ขวา แล้วชวนขอทาน 3 คน คุยต่างกรรม ต่างวาระ ด้วยภาษาอีสานสำเนียงพอไปรอด (แม้ไม่ 100 % ก็ตาม)

เลยอยากจะมาเล่าสู่กันฟัง…

แม่ใหญ่ (ยาย) หนึ่ง (นามสมมติ) เป็นคนขาขาดข้างเดียว ขาดตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงมา นั่งขอทานพร้อมขาเทียม เดินไปไหนมาไหนได้เอง แม่ใหญ่มาจากอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อาชีพขอทานตามเทศกาลต่างๆ เมื่อหมดเทศกาล “การบวงสรวงวันเปิดโลก บูชาพญานาค” แล้วก็จะไปที่อำเภอ (อะไรไม่รู้ จำไม่ได้) ของจังหวัดหนองคาย ที่จัดเทศกาลแข่งเรือยาวออกพรรษา แม่ใหญ่มาพร้อมกับเพื่อนบ้านๆ เดียวกัน แต่ขาดี แม่ใหญ่หนึ่งบอกว่าไม่มีที่ไร่ที่นามาแต่ไหนแต่ไร รับจ้างไปเรื่อยๆ เมื่อหมดแรง ก็มาขอทาน

มีป้าคนหนึ่งเป็นข้าราชการเกษียณอายุ ให้เงินแม่ใหญ่หนึ่งแล้วถามแม่ใหญ่ว่า ลูกหลานไม่เลี้ยงเหรอยาย มานั่งขอทานเนี่ย แต่แม่ใหญ่หนึ่ง ยังไม่ทันตอบ ป้านั้นก็ถูกสามีดุว่า ให้เงินเขาแล้วก็ให้ไป ไปถามเขาทำไม

ภาพ 1 หมวยกับแม่ใหญ่สอง

แม่ใหญ่สอง (นามสมมติ) คือแม่ใหญ่ขาดี มาด้วยกันกับแม่ใหญ่หนึ่ง แต่แยกสาขาไปนั่งขอทานคนละมุม บอกว่าเมื่อขอทานเสร็จ หรือไม่มีเทศกาลใดให้นั่งขอทานแล้วจะกลับไปรับจ้างเลี้ยงเด็กให้คนในหมู่บ้านที่ขอนแก่นนั่นแหละ เพราะพ่อแม่เด็กไม่อยู่ ว่าแล้วก็ชวนคิดถึงคำที่ อ.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด เคยพูดไว้เมื่อหลายปีก่อนว่าเศรษฐกิจชนบทภาคอีสาน คือ "อุตสาหกรรมเลี้ยงเด็ก"

แม่ใหญ่สองเคยมีที่นา แต่นาน้ำท่วม ตอนนี้ไม่มีแล้ว ขายไปหมดแล้ว ดังนั้น อาชีพขอทาน จึงเป็นอาชีพหนึ่งในหลายอาชีพ ที่แม่ใหญ่สองได้ประกอบการ

ยังไม่ทันจะได้ถามต่อ แม่ใหญ่สองก็บอกผู้เขียนว่า “ปวดขี้” ตอนแรกก็ฟังไม่ชัด นึกว่า “ปวดฉี่” เลยถามไปว่าปวดเยี่ยว หรือปวดขี้ แกบอกว่าปวดขี้ ขอไปเข้าห้องน้ำหน่อย จากนั้นก็ลุกโดยผู้เขียนกับหมวยช่วยประคอง แล้วก็เดินจากไป (สงสัยจะรำคาญพวกเรา ถามเยอะ....อิอิ)

ภาพ 2 ผู้เขียนกับแ่ม่ใหญ่สาม

แม่ใหญ่สาม (นามสมมติ) แม่ใหญ่นี้ผู้เขียนเจอตอนเย็นๆ ท่าทางดูนิ่งๆ และมีสง่าราศรีมาก แกไม่ได้ยกมือไว้ผู้คนตลอดเวลา แต่จะไหว้เมื่อมีคนมาให้เงิน แม่ใหญ่สามนี้อารมณ์ดี และคุยเก่ง คุยกันไป หัวเราะกันไป เลยคุยกันได้นาน แม่ใหญ่อายุ 84 ปีแล้ว เป็นคนอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร แม่ใหญ่มางานนี้พร้อมกับเพื่อนบ้านวัย 40-50 ปี 5-6 คน และลูกชายอีกหนึ่งคน ทั้งหมดยกเว้นลูกชายไปเดินเที่ยวและรอดูบั้งไฟพญานาค ส่วนลูกชายไปเดินขายลูกโป่ง แม่ใหญ่บอกว่า มานั่งตรงนี้ “ซือๆ” (เฉยๆ) เอากระป๋องมาวางแล้ว คนเขาให้เงินเอง

แม่ใหญ่สามเคยทำนาเมื่ออายุ 30-40 ปี ก็ขายไร่ขายนา ไปทำการค้าขายที่อุดรธานี ขายหลายอย่าง ผักบ้าง ขนมบ้าง ต่อมาก็ทำตุ๊กตาผ้าขาย แต่เพราะเมื่อ 2 ปีก่อน สายตาเริ่มมองไม่เห็น คุยไปคุยมาแม่ใหญ่บอกว่าความจริงแล้วสายตาก็พอมองเห็นบ้าง แต่แก่หง่อมมากแล้ว ขี้เกียจนั่งหลังขดหลังแข็งทำตุ๊กตา  เลยมานั่ง “ซือๆ” นี่แหละ  ว่าแล้วก็หัวเราะตัวเอง

แม่ใหญ่มีลูกชายเพียงคนเดียว ผัวตายตั้งแต่แม่ใหญ่อายุ 50 ปี ลูก-หลานก็เลี้ยงดูแม่ใหญ่นะ แต่ก็แค่เลี้ยงดู ให้อยู่ให้กิน ไม่ได้ลำบากลำบนอะไร เพียงแต่ว่าไม่มีเงินเก็บไว้ยามเจ็บป่วย แม่ใหญ่มาขอทานเพราะอยากมีเงินไว้ยามเจ็บป่วยและตาย จะได้ไม่ไปเป็นภาระลูกหลานที่ต้องกู้หนี้ยืมสิน

โอ้วซซซซ มายก๊อด...ช่างขัดกับความรู้ที่เรามีอยู่ทั่วไปเกี่ยวกับขอทาน คือว่า เป็นพวกที่ลูก-หลานไม่เลี้ยง ไม่มีจะกิน แต่นี่มีกิน แต่ไม่มีเก็บไว้ในยามเจ็บป่วยและตาย

ทำให้คิดถึงว่าเราน่าจะพัฒนาระบบภาษีและการจัดสวัสดิการของรัฐเพื่อคนชรา เพราะลำพังจะให้ลูกเลี้ยงหน่ะ ก็ยาก ลูกชายขายลูกโป่ง จะมีเงินเก็บซักแค่ไหน ไหนจะต้องเลี้ยงเมีย ส่งเสียลูกเรียนอีก

คนแถวนี้ก็ใจบุญดี แม่ใหญ่ได้เงินเรื่อยๆ บางคนให้เงินแม่ใหญ่มา 100 บาท แล้วก็ไหว้แกด้วย ส่วนใหญ่ให้เป็นแบ้งค์มากกว่าเหรียญ ช่วงเวลาที่ผู้วิจัยคุยด้วยแค่ไม่กี่สิบนาที คิดว่าแกได้เงินกว่า 200 บาท

นั่นหล่ะ... เมื่อสวัสดิการของรัฐไม่มี ก็ต้องอาศัยสวัสดิการสังคมแบบนี้แหละ

การมีอยู่ของขอทานหญิงชราจำนวนมาก ก็อาจจะเป็นตัวชี้วัดระดับจิตใจของผู้คนในสังคม ที่ยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ ในยามที่สถาบันครอบครัวทำหน้าที่ไม่ได้ และรัฐก็ไม่ได้ทำหน้าที่

บันทึกการเดินทางในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พุทธศักราช 2557

บล็อกของ เก๋ อัจฉริยา

เก๋ อัจฉริยา
เหมือนประเทศทั้งหลาย ตลาดเสรีโลกาภิวัตน์ของการแปลงที่ดินเป็นสินค้า กำลังดุเดือดเลือดพล่านอยู่ในเวียดนาม ในขณะนี้ เห็นได้จากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา มีความตึงเครียดและการประท้วงของกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศ การประท้วงการ privatization ที่ดิน และการสร้างเขื่อนเซินลา เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่าน
เก๋ อัจฉริยา
หลังจากกลับมาถึงเมืองไทยได้หนึ่งสัปดาห์ เสียงโทรศัพท์ทางไกลจากที่ราบกลางหุบเขา แห่งเมืองมายโจว ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม ก็ดังกรี๊งกร๊าง ขึ้นมา “...อาโล้…ถุกเลิมอ่า...ขันบ่าวล้า” (ฮัลโหล...”ถุกเลิม” (ชื่อภาษาเวียดของผู้เขียน) เหรอ สบายดีมั้ย) แล้วตามมาด้วยเสียงแ
เก๋ อัจฉริยา
พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาการเมืองสู่ระบอบประชาธิปไตย การเปิดประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ การทะยอยสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย การเปิดเสรีด้านแรงงานและเศรษฐกิจอาเซียน การลงทุนเมกาโปรเจคที่ท่าเรือน้ำลึกทวาย (ที่เขาว่าขนาดของอุตสาหกรรมน่าจะใหญ่กว่ามาบตาพุด 10 – 15 เท่า) การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และอื่นๆ แรงงานชาวพม่
เก๋ อัจฉริยา
ใครว่าสาวบริการทางเพศนั้นไม่มีสิทธิ “เลือก” ลูกค้า ทว่าเป็นแค่ “วัตถุ” ที่รอให้ผู้ชายมาหยิบไป “เสพสม” ใครว่าสาวไม่มีทางเลือกในการทำให้ตัวเองปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บนความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ลูกค้าเหนือกว่า ทั้งโดยความเป็น “ชาย” และความเป็น “ผู้ซื้อ”
เก๋ อัจฉริยา
กาลครั้งหนึ่งหลายปีมาแล้ว ณ เมืองหลวงพระบาง เมืองมรดกโลกที่มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่อยู่บนภาพตัวแทนของการรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้มาก  เช่น ภาพอันวิจิตรอลังการของวัดวาอารามต่างๆ ที่มีถึง 37 แห่ง ภาพพระสงฆ์เดินเป็นแถวมารับบิณฑบาตรยาม
เก๋ อัจฉริยา
  วันหนึ่งในหน้าร้อน กลางปี 2556 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้