Skip to main content
 
สหภาพแรงงานและเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ
อันโตนิโอ กรัมชี่ (1919)

---------------------------------------------
มาจาก : L’Ordine Nuovo 25 ตุลาคม 1919
แปลเป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก : โดย Michael Carney
แปลเป็นภาษาไทย : โดย จักรพล ผลละออ 2017

---------------------------------------------

 

ผลสำเร็จสูงสุดของการต่อสู้ทางชนชั้นระดับสากลคือชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพในการจัดตั้งระบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ในรัสเซียและฮังการีชนชั้นแรงงานและชาวนาประสบความสำเร็จในการก่อตั้งระบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพผ่านการต่อสู้ และในทั้งสองที่นั้นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพต้องประคับประคองตัวเองผ่านการต่อสู้อันดุเดือดไม่เฉพาะแต่การต่อสู้กับพวกชนชั้นนายทุนกระฎุมพีเท่านั้น แต่ยังต้องต่อสู้กับสหภาพแรงงานอีกด้วย และความขัดแย้งระหว่างสหภาพแรงงานกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนี้เองที่เป็นสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้และการล่มสลายของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพและโซเวียตฮังการี โดยสหภาพแรงงานนั้นแม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยเปิดเผยหรือแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต้องการจะโค่นล้มเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่ในทางปฏิบัติแล้วสหภาพแรงงานได้พยายาม “แบ่งแยก” และ “ลดทอน” กลไกและกำลังของการปฏิวัติลง ในขณะเดียวกันก็พยายามปลูกฝังและสร้างความไม่พอใจและความขี้ขลาดให้เกิดขึ้นในหมู่กรรมกร-คนงาน-ชาวนา และ ทหารแห่งกองทัพแดง แม้ว่าจะมีการทดสอบและพิจารณากันแล้วถึงเหตุผลและเงื่อนไขของความขัดแย้งดังกล่าวนั้นไม่สามารถจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ในการจัดตั้งความคิดเรื่องการปฏิวัติให้กับมวลชน อย่างไรก็ตามหากพวกเขามั่นใจว่าสหภาพแรงงานนั้นอาจจะเป็นองค์กรสำคัญของชนชั้นกรรมาชีพในการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ เพราะสหภาพเป็นองค์กรที่สามารถก่อตั้งและเผยแพร่ความคิดแบบสังคมนิยมในโรงงานได้ (สังคมนิยมภิวัฒน์) และเพราะสหภาพแรงงานนั้นเป็นองค์กรที่จะทำให้รูปแบบการถือครองกรรมาสิทธิ์ส่วนบุคคลหายไปและไม่อาจจะกลับมาอีกได้แล้วนั้น พวกเขาจะต้องมั่นใจและยืนยันด้วยว่าสหภาพแรงงานนั้นจะสามารถเตรียมพร้อมและสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรู้ทางชนชั้นให้กับชนชั้นแรงงานได้ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติ 


การต่อสู้ทางชนชั้นนั้นวางตัวอยู่ทั่วทุกประเทศในทวีปยุโรปและทุกประเทศบนโลกซึ่งมีลักษณะหรือรูปแบบของการปฏิวัติที่แตกต่างกันออกไป ความคิดหรือมุมมองที่เหมาะสมที่สุด (อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเป้าหมาย/ยุทธศาสตร์-ผู้แปล) คือการที่เราจะต้องมุ่งมั่นที่จะสถาปนาเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพขึ้นและจะต้องมีชัยชนพเหนืออุดมการณ์แบบประชาธิปไตย และจะต้องกลายเป็นความคิดที่แพร่หลายกันทั่วไปในหมู่ชนชั้นกรรมาชีพ พรรคสังคมนิยมนั้นยึดมั่นในสากลที่สามหรืออย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็ยึดมั่นต่อกฎเกณฑ์พื้นฐานที่วางแนวทางไว้โดยภาคองเกรสมอสโคว ส่วนสหภาพแรงงานนั้นแตกต่างออกไปพวกเขายังคงรักษาความศรัทธาและความเชื่อต่อเรื่อง “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” และไม่เคยหยุดที่จะสนับสนุนให้ชนชั้นแรงงานประกาศตัวเองว่าต่อต้านเผด็จการ-เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ และสนับสนุนให้แรงงานปฏิเสธการสร้างความร่วมมือกับโซเวียตรัสเซียในการต่อสู้ ท่าทีและวิธีการแบบดังกล่าวของสหภาพแรงงานนั้นได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในรัสเซีย นับตั้งแต่มีการเริ่มต้นการพัฒนาองค์กรสหภาพแรงงานและองค์กรอึตสาหกรรมให้มีอำนาจเสมอกันและเร่งจังหวะขึ้นด้วยการพัฒนาสภาโรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้บ่อนทำลายและกัดเซาะรากฐานสำคัญทางอำนาจของชนชั้นกรรมาชีพในฮังการี ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่มาจากการกวาดล้างขบวนการกรรมาชีพคอมมิวนิสต์และการสถาปนาระบอบ “Noske” ขึ้นในเยอรมนี ความล้มเหลวในการนัดหยุดงานใหญ่ระหว่างวันที่ 20-21 กรกฎาคมที่ทำให้ระบอบ “Clemenceau” ในฝรั่งเศสมั่นคงยิ่งขึ้น และการที่แรงงานในอังกฤษถูกกีดกันออกจากความขัดแย้งและการต่อสู้ทางการเมืองจนถึงปัจจุบันด้วย


ในขณะที่พรรคสังคมนิยมนั้นมีแนวโน้มที่จะเสาะหาวิธีการที่จะสร้างการปฏิวัติ สหภาพแรงงานนั้นต่างออกไปพวกเขาพยายามที่จะก่อตั้งทฤษฎี (!) และแนวทางการปฏิบัติสำหรับพวกนักปฏิรูปจอมฉวยโอกาสซึ่งพยายามจะผลักดันองค์กรของชนชั้นแรงงานให้กลายเป็นเพียงกลไกหนึ่งในองค์ประกอบของรัฐ พวกเขาได้ให้กำเนิดสถานการณ์อันไม่มั่นคง และเงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดความสับสน และความอ่อนแออันเรื้อรังอย่างถาวรแก่ชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งจะผลักดันสังคมไปสู่ความไร้สมดุลอันสุ่มเสี่ยงที่จะก้าวไปสู่ภาวะอนารยะ สหภาพแรงงานนั้นได้จัดการกับชนชั้นแรงงานตามกฎเกณฑ์ของความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นโดยจัดวางให้ตัวเองนั้นเป็นองค์กรหลักของการต่อสู้ ซึ่งสหภาพแรงงานมักจะกล่าวอยู่เสมอว่ามีเพียงแต่การต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้นที่จะสามารถปลดปล่อยชนชั้นกรรมาชีพได้และสหภาพแรงงานนั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการต่อต้านการถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลและการขูดรีดมูลค่าส่วนเกิน ดังนั้นนี่จึงเป็นการเสนอให้ทำการโค่นล้มและทำลายระบบทุนนิยม (ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล) ออกจากกระบวนการการผลิตในอุตสาหกรรม และท้ายที่สุดนั้นคือการสลายระบบชนชั้น แต่สหภาพแรงงานนั้นไม่สามารถทำตามเป้าหมายดังกล่าวได้ในทันทีพวกเขาจึงหันเหกำลังและความแข็งแกร่งทั้งหมดไปที่การพัฒนาปัจจัยการดำรงชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพให้ดีขึ้นแทน พวกเขาเรียกร้องให้มีการเพิ่มค่าแรง ลดชั่วโมงการทำงาน และเรียกร้องให้มีการร่างกฎหมายแรงงาน การเคลื่อนไหวของพวกเขาคือการเดินขบวน การนัดหยุดงาน และแน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นกรรมาชีพก็ดีขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้ไม่ว่าสหภาพแรงงานจะได้รับชัยชนะในการเรียกร้องมากี่ครั้งก็ตามการเคลื่อนไหวเรียกร้องทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ซึ่งยังคงถูกรักษาเอาไว้และทำให้มั่นคงยิ่งขึ้นไปอีก ระเบียบและวินัยของการผลิตแบบทุนนิยม และการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินยังคงอยู่อย่างครบถ้วนและยังซับซ้อนขึ้นอีกภายใต้รูปแบบใหม่ คือ การทำงานแปดชั่วโมง การขึ้นค่าแรง ความไม่สมดุลในการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานนี้ทำให้ขบวนการแรงงานกลายไปเป็นองค์กรทั่วไปที่ทำการแข่งขันในตลาดแรงงานหรือเป็นตัวแทนของประเทศในการต่อสู้แข่งขันกันในระดับเศรษฐกิจโลกเช่นกรณีของอังกฤษ และ เยอรมนี ส่วนประเทศที่มีกำลังทางเศรษฐกิจจำกัดอย่างอิตาลีและฝรั่งเศสก็หันมาใช้วิธีการตั้งกำแพงภาษีแทน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทั้งหมดนี้พาเรามุ่งหน้าไปสู่การสถาปนาแรงงานชาติและอาณานิคมที่ไร้รูปร่าง (แรงงานข้ามชาติ) ที่จะยิ่งส่งเสริมกำไรโดยทั่วไปให้กับการผลิตแบบอุตสาหกรรม


การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานที่ผ่านมานั้นได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่าสหภาพแรงงานนั้นตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขและบริบทต่างๆที่ไม่สามารถเอาชนะได้นั่นคือ วิถีการผลิตแบบทุนนิยม สังคมทุนนิยม ซึ่งพิสูจน์ว่าสหภาพแรงงานนั้นไม่สามารถที่จะเป็นองค์กรที่นำชนชั้นกรรมาชีพไปสู่การปลดแอกตนเองได้ และที่สำคัญสุดคือไม่สามารถนำพาชนชั้กรรมาชีพไปปสู่เป้าหมายที่สหภาพแรงงานได้ประกาศเอาไว้ในตอนต้นได้


หากจะพูดตามทฤษฎีแบบ syndicalist แล้วสหภาพแรงงานนั้นจำเป็นจะต้องให้การศึกษาและจัดตั้งมวลชนในการบริหารจัดการการผลิต เพื่อทำให้มวลชนนั้นกลายเป็นผู้บริหารความสามารถของมวลชนเพื่อจัดการอุตสาหกรรมต่างๆ หน้าที่ของสหภาพแรงงานจะต้องเลือกคนงานที่เก่งที่สุด รอบคอบที่สุด ฉลาดที่สุดเพื่อเป็นผู้ควบคุมกลไกอันซับซ้อนของการผลิตและการแลกเปลี่ยน ผู้นำแรงงานของอุตสาหกรรมหนังสัตว์ย่อมจะเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการควบคุมกิจการนั้น เช่นเดียวกับกรณีอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมหนังสือ ฯลฯ


ที่กล่าวมานั้นเป็นภาพมายาและคำลวงหลอกอันใหญ่โต รคัดเอกผู้นำของสหภาพแรงงานนั้นไม่เคยวางอยู่บนเรื่องความสามารถทางอุตสาหกรรมของแรงงาน แต่วางอยู่บนความสามารถเรื่องกฎหมาย ความสามารถแบบข้าราชการ และความสามารถในการนำมวลชน และเมื่อองค์กรสหภาพแรงงานของพวกเขาขยายตัวขึ้น ข้อเสนอของพวกเขาที่มากขึ้นก็จะเป็นการแทรกแซงการต่อสู้ทางชนชั้น ยิ่งสหภาพแรงงานทำการเคลื่อนไหวที่ใหญ่โตและแหลมคมมากขึ้น ผู้นำขององค์กรก็จเหลือเพียงแต่พวกนักบริหารและนักบัญชี ส่วนตำแหน่งหน้าที่เชิงเทคนิคทางอุตสาหกรรมจำนวนมากก็จะกลายไปเป็นตำแหน่งที่ไม่มีค่า ขณะที่ตำแหน่งหน้าที่ด้านธุรกิจและราชการกลับได้คุณค่าที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้สหภาพแรงงานจึงกลายเป็นองค์กรที่สถาปนาระบบชนชั้นของพวกที่ทำงานแบบข้าราชการขึ้น และสถาปนาจิตสำนึกแบบใหม่ที่แตกต่างกับจิตสำนึกทางชนชั้นของกรรมาชีพอย่างสิ้นเชิง ซึ่งในท้ายที่สุดนั้นจะนำชนชั้นกรรมาชีพไปสู่การถูกปกครองโดยระบบราชการภายใต้รัฐแบบรัฐสภาประชาธิปไตย (ของพวกกระฎุมพี)


เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้นมีเป้าหมายต่างกัน เพราะต้องการจะโค่นล้มและทำลายระเบียบของการผลิตแบบทุนนิยม ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล เพราะมีแต่เพียงวิธีนี้เท่านั้นที่จะทำให้การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินล่มสลายลง เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพนั้นมุ่งมั่นที่จะทำลายการแบ่งแยกชนชั้น และยุติการต่อสู้ทางชนชั้น เพราะนี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้การปลดแอกทางสังคมของชนชั้นกรรมาชีพสามารถบรรลุผลได้ และเพื่อจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวพรรคคอมมิวนิสต์จึงจำเป็นจะต้องทำการให้การศึกษาและจัดตั้งมวลชนให้ตระหนักรู้ถึงอำนาจของพวกเขา เพื่อให้ชนชั้นกรรมาชีพใช้อำนาจนั้นเอาชนะและครองอำนาจนำเหนือพวกชนชั้นนายทุนกระฎุมพี และวางเงื่อนไขปัจจัยที่จะโค่นล้มชนชั้นผู้ถูกขูดรีดลงและทำให้มันไม่สามารถกลับมาได้อีก ดังนั้นภารกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ในเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพก็คือ จัดตั้งมวลชนและสนับสนุนให้พวกเขาตระหนักถึงการต่อสู้และเริ่มต่อสู้กับชนชั้นปกครอง ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าองค์กรและกลไกในรัฐใหม่นั้นจะทำงานเพื่อพัฒนาและสนับสนุนการปฏิวัติและยุติความคิดเรื่องกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลทิ้งทั้งหมด


แต่การจะโค่นล้มและควบคุมระบบดังที่กล่าวมานี้ (งานทางการเมือง) จะต้องกระทำไปพร้อมกับการทำงานด้านการผลิต (งานทางเศรษฐกิจ) ถ้าหากว่าการปฏิวัติไม่สามารถจะยึดกุมอำนาจการผลิตได้ ความเข้มแข็งทางการเมืองนั้นก็จะกลายเป็นเพียงสิ่งไร้ประโยชน์และเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะไม่มีสังคมไหนที่ดำรงอยู่ได้โดยปราศจากการผลิต หรือแม้ว่าเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพจะสามารถก่อตั้งขึ้นได้บนเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ล้มเหลวเพราะผลของสงครามอันต่อเนื่องยาวนานก่าห้าปี และถูกซ้ำเติมแบบเดือนต่อเดือนจากการก่อวินาศกรรมของพวกกระฎุมพีปฏิกิริยา สิ่งที่พวกเขาต้องทำควบคู่ไปก็คือต้องเพิ่มกำลังทางเศรษฐกิจและการผลิต


และนี่คือภารกิจอันยิ่งใหญ่ของสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม พวกเขาจำเป็นจะต้องเริ่มต้นกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม พวกเขาจะต้องเริ่มต้นการวางระเบียบทางการผลิตใหม่ที่การผลิตจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ร่วมของสังคมไม่ใช่เพื่อตอบสนองกำไรและความโลภของนายทุน


ในโซเวียตฮังการีนั้นสหภาพแรงานไม่ได้สร้างสรรค์งานใดๆเลย กล่าวในทางการเมืองและให้ชัดเจนคือสหภาพแรงงานในฮังการีนั้นจัดวางตัวเองเป็นอุปสรรคกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพอย่างต่อเนื่อง สร้างสภาวะรัฐซ้อนรัฐขึ้น ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้นสหภาพแรงงานฮังการีเต็มไปด้วยความเฉื่อยชา บรรดาผู้นำของสหภาพแรงงานฮังการีนั้นมีจิตสำนักแบบข้าราชการ-นักปฏิรูป พวกเขาหวาดกลัวที่จะสูญเสียอำนาจอยู่ตลอดเวลา พวกเขาหวาดกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจของตนหากว่าองค์กรเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพสามารถสถาปนาขึ้นมาได้สำเร็จ ดังนั้นพวกเขาจึงประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้เกิดการสุกงอมจนเกินไป พวกเขารักษาหลักการ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ซึ่งก็คือการรักษาความคิดแบบกระฎุมพีให้แฝงอยู่ในจุดยืนแบบชนชั้นกรรมาชีพ พวกเขาต้องการที่จะยืดเวลายุคสมัยแห่งการเจรจาต่อรอง การประนีประนอมระหว่างนายทุน-กรรมาชีพออกไป เพื่อคงคุณค่าของตัวเองเอาไว้


สหภาพแรงงานต้องการการปฏิวัติในระดับสากล ... แต่ยังไม่ใช่ในตอนนี้ พวกเขาต้องการให้การปฏิวัติยืดเวลาออกไปอีก พวกเขาไม่สามารถเข้าใจถึงความต้องการของชนชั้นกรรมาชีพได้ พวกเขาไม่เข้าใจว่าการปฏิวัติระดับสากลนั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในฮังการีโดยการปฏิวัติฮังการี ในรัสเซียโดยการปฏิวัติรัสเซีย ในทวีปยุโรปทั้งหมดด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น การนัดหยุดงานทั่วไป ด้วยปัจจัยการดำรงชีวิตที่ตกต่ำลงของชนชั้นกรรมาชีพอันเป็นผลพวงมาจากสงคราม สหภาพแรงงานไม่อาจจะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้.