Skip to main content

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

 

มาร์กซิสม์ 101 – ความจำเป็นของการปฏิวัติระดับสากล

(Marxism 101 – The need for a revolutionary international)

By Alan Woods. Translated by Jakkapon P.

 

ในวันที่ 28 กันยายน 1864 ตัวแทนจากหลากหลายประเทศได้เดินทางมารวมตัวกันที่โรงละครเซนต์มาตินในลอนดอน นับเป็นความพยายามอย่างจริงจังที่จะผนวกชนชั้นแรงงานระดับหัวก้าวหน้าให้เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายระดับสากล การพบปะครั้งสำคัญนี้ได้ประชุมกันถึงผลลัพธ์ของการตอบสนองต่อการลุกฮือของชาวโปแลนด์ในปี 1863 โดยกลุ่มสมานฉันท์ในระดับสากล

ผลของการประชุมนั้นมีมติตัดสินใจที่เป็นเอกฉันท์ว่าจะให้มีการจัดตั้งสมาคมกรรมาชีพสากลขึ้น ซึ่งกลายมาเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อของ “สากลที่ 1” โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ลอนดอน นำโดยคณะกรรมการจำนวน 21 คนซึ่งจะเป็นผู้นำในการร่างโครงการและก่อตั้งองค์กร โดยภารกิจนี้ถูกมอบหมายให้กับ Karl Marx รวมไปจนถึงการเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของสากลที่ 1 ในเวลาต่อมา

ในโอกาสที่เราหวนรำลึกกลับไปถึงเรื่องนี้ เราสามารถกล่าวได้ว่าภารกิจทางประวัติศาสตร์ของสากลที่ 1 ก็คือการจัดตั้งกฎเกณฑ์หลัก โครงการ การวางแผนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้กับการปฏิวัติ และนักปฏิวัติ Marxist ในระดับโลก อย่างไรก็ตาม สากลใหม่นี้ไม่ได้ก้าวกระโดดไปสู่การก่อร่างหรือติดอาวุธอย่างสมบูรณ์แบบอย่างเทพีอาเธน่าที่ถือกำเนิดจากศีรษะของเทพซูสพร้อมอาวุธและชุดเกราะ ในการเริ่มต้นนี้สากลที่ 1 ไม่ใช่ขบวนการสากลของ Marxist แต่เป็นการรวบรวมกลุ่มกรรมาชีพและชนชั้นแรงงานที่แตกต่างหลากหลายกันอย่างสุดโต่งมาไว้ด้วยกันด้วยการพยายามแสวงจุดร่วม

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งลัทธิสังคมนิยมดูจะอยู่ห่างไกลจากการลบล้างลัทธิแบ่งพรรคแบ่งพวกในขบวนการกรรมกรที่พยายามจะสถาปนาองค์กรของกรรมาชีพที่มีแต่กรรมาชีพเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีอยู่จริง และจะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง Marx และ Engels เข้าใจถึงความสำคัญของการทำงานในพื้นที่อันกว้างใหญ่และรากความคิดแบบนี้ที่หยั่งลึกอยู่ในหมู่กรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้การเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานอังกฤษจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นพิเศษ

ในช่วงแรกนั้น Marx และ Engels เลือกที่จะนิ่งเงียบและสงบปากสงบคำต่อการต่อสู้เพื่อสร้างความชัดเจนทางอุดมการณ์ภายในสากลที่ 1 แต่พวกเขาเข้าใจดีกว่าการจะจัดระบบหรือยึดครองความคิดมวลชนด้วยความคิดสังคมนิยมนั้นจำเป็นจะต้องกระทำอย่างอดทน และทำงานอย่างอดทนกับองค์กรซึ่งถูกกำหนดโดยประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพที่หยั่งรากลึกอยู่ในชนชั้น (หมายถึง Marx และ Engels เข้าใจว่าต้องใช้ความอดทนในการทำงานทางความคิดกับกรรมาชีพซึ่งอาจจะไม่ยอมรับ Marx และ Engels ที่เป็นปัญญาชนกระฎุมพี เพราะในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกรรมาชีพนั้นพวกเขาถูกคนในชนชั้นกระฎุมพีแบบ Marx และ Engels กดขี่รังแกมาโดยตลอด – ผู้แปล) กระนั้นในที่สุดแล้วสากลที่ 1 ก็ได้เตรียมกรอบการทำงานร่วมกันให้พวกเขาเพื่อทดสอบและการโต้เถียงทางความคิดที่ไปไกลกว่ากรอบการปฏิวัติขนาดเล็กซึ่งดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงเริ่มต้นนั้น Marx และ Engels ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคที่ใหญ่มาก มีหลายประเทศที่ขบวนการแรงงานนั้นยังอยู่ในระดับตั้งไข่หรือพึ่งเริ่มก่อตั้งขบวนการ ขบวนการในประเทศเหล่านี้ยังคงติดอยู่ในระดับของการก่อตั้งขบวนการ และยังได้รับอิทธิพลทางความคิดจากอุดมการณ์เสรีนิยมกระฎุมพีและประชาธิปไตยให้ไขว้เขวอยู่บ่อยครั้ง และในหลายประเทศเองนั้นขบวนการแรงงานยังไม่สามารถตัดขาดตนเองออกจากพรรคการเมืองของพวกกระฎุมพีได้

ในยุคของ Marx และ Engels นั้น กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในยุโรปคือชาวนาและช่างฝีมือจำนวนเล็กน้อยไม่ใช่แรงงานรับจ้าง มีเพียงอังกฤษเท่านั้นที่ชนชั้นกรรมาชีพกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม แต่กระนั้นผู้นำของสหภาพแรงงานอังกฤษก็ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความคิดแบบเสรีนิยม ในฝรั่งเศสกรรมาชีพที่เปี่ยมไปด้วยความภาคภูมิใจและจองหองปฏิเสธวิธีการนัดหยุดงาน โดยกล่าวว่ามันเป็นการทำลายยูโธเปียเรื่องการพึ่งพาซึ่งกันและกันของพวกเขา นอกจากนี้พวกเขายังต่อต้านการมีส่วนร่วมของชนชั้นแรงงานในการต่อสู้ทางการเมืองอีกด้วย

ในท้ายที่สุดด้วยการรวบรวมกฎเกณฑ์อย่างแน่นแฟ้นและด้วยความยืนหยุ่นทางยุทธวิธี Marx และ Engels สามารถมีชัยชนะเหนือเสียงส่วนใหญ่ได้ ภายใต้การชี้นำของสภาสามัญที่นำโดย Marx และ Engels สากลที่ 1 ได้กำหนดเค้าโครงสำหรับการพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวของกรรมาชีพในยุโรป เกาะอังกฤษ และอเมริกา โดยมีการจัดตั้งและวางรากฐานอย่างมั่นคงในประเทศแถบยุโรป

 

สังคมนิยมและสากลนิยม

ลัทธิสังคมนิยมนั้นเป็นของผู้เป็นนักสากลนิยม (ที่ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสัญชาติ-ผู้แปล) หรือว่าไม่ใช่ ในรุ่งอรุณของการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวของพวกเรา ในหน้ากระดาษของ “คำประกาศพรรคคอมมิวนิสต์” (The Communist Manifesto) Marx และ Engels ได้เขียนวลีอันโด่งดังซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่า “ชนชั้นแรงงานนั้นไม่มีประเทศ” ลัทธิสากลนิยมของ Marx และ Engels นั้นไม่ใช่การพูดตามอำเภอใจ หรือเป็นการพูดที่เกิดจากความเห็นใจต่อชนชั้นกรรมาชีพ แต่มันเกิดจากความจริงที่ว่าระบบทุนนิยมนั้นพัฒนาตนเองจนกลายเป็นระบบสากลของโลก-มันทำงานโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางเศรษฐกิจหรือตลาดหรือพรมแดนระหว่างประเทศ ระบบทุนนิยมนั้นเป็นเนื้อเดียวกันทั่วโลก ไม่อาจจะแบ่งแยกออกจากกันได้ และมันทำงานโดยพึ่งพาซึ่งกันและกันทั้งระบบ-นั่นคือระบบตลาดโลก

ในปัจจุบันนี้คำทำนายของผู้ก่อตั้งลัทธิ Marxist ได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้ว ว่ายุคสมัยของเรานั้นถูกกำหนดและครอบงำโดยระบบตลาดโลกอย่างไม่มีทางโต้แย้ง ไม่สำคัญว่าประเทศต่างๆจะยิ่งใหญ่หรือมีกำลังสักแค่ไหน – ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน หรือรัสเซีย – ต่างก็ไม่สามารถปฏิเสธหรือหลบเลี่ยงการฉุดกระชากอันทรงพลังจากเงื้อมมือของระบบตลาดโลกไปได้

ไม่มีหนังสือเล่มไหนจะทันสมัยไปกว่าคำประกาศของ Marx และ Engels เพราะมันได้อธิบายถึงการแบ่งแยกทางสังคมที่นำไปสู่การสถาปนาระบอบชนชั้น อธิบายถึงปรากฏการณ์การกำเนิดของโลกาภิวัฒน์ วิกฤตของการผลิตที่ล้นเกินระดับโลก (อันเป็นผลมาจากการแข่งขันกันในการผลิตแบบ mass production ของสังคมอุตสาหกรรม-ผู้แปล) อธิบายถึงธรรมชาติของรัฐและพลังกลไกพื้นฐานของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้แต่ความคิดที่ดีและยอดเยี่ยมที่สุดก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลสำเร็จใดๆเลย เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะสามารถสร้างและสถาปนาองค์กรและการแสดงออกในทางภาคปฏิบัติการ นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้ก่อตั้งลัทธิวิทยาศาสตร์สังคมนิยมจึงต่อสู้อยู่ตลอดเพื่อผลักดันให้เกิดการสถาปนาองค์กรสากลสำหรับชนชั้นกรรมาชีพ Marx และ Engels นั้นได้ทำงานอย่างกระตือรือร้นอย่างมากในสมัชชาคอมมิวนิสต์นับตั้งแต่การเริ่มก่อตั้งขบวนการกรรมกรสากล ซึ่งทำให้การก่อรูปของขบวนการกรรมกรสากลที่ 1 มีความก้าวหน้าในเชิงคุณภาพ

สากลที่ 1 นั้นได้พัฒนาและเติบโตขึ้นในช่วงเวลาก่อนการเกิดขึ้นของ “คอมมูนปารีส” (Paris Commune) ซึ่งไม่ได้แยกออกจากปัญหาอื่นๆที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องประสบพบเจอในทุกๆวัน ในทางตรงกันข้ามนี่ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันโดยตลอดกับการเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกร ที่ขบวนการกรรมกรสากลจะต้องจารึกเอาไว้บนผืนธงแห่งการปฏิวัติของพวกเขา ถึงการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมและการต่อสู้ของผู้หญิงและเด็กเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นจากการถูกกดขี่อย่างร้ายแรงภายใต้ระบบทุนนิยม ในห้วงแรกนั้นสากลที่ 1 มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ในเดือน เมษายน 1865 สากลที่ 1 ได้เปิดให้ผู้หญิงสามารถเข้าเป็นสมาชิกของขบวนการสากลได้ และยังพัฒนาข้อเสนอข้อเรียกร้องเพื่อคนงานผู้หญิงอีกด้วย

สำนักงานใหญ่ของทั้งสภาสามัญในลอนดอนและหลายๆสหภาพแรงงานที่เข้าร่วมกับขบวนการสากลต่างก็ปฏิบัติงานร่วมกัน พวกเขาร่วมกันเคลื่อนไหวในการนัดหยุดงานหลายครั้งและในกรณีข้อพิพาทอื่นๆของแรงงาน ขบวนการสากลนั้นมุ่งมั่นที่จะขัดขวางการนำเข้าแรงงานต่างชาติเพื่อทดแทนแรงงานภายในที่ทำการนัดหยุดงาน และระดมทุนร่วมสำหรับจ่ายเป็นเงินช่วยเหลือให้กับแรงงานที่หยุดงานประท้วงและครอบครัวของพวกเขา ซึ่งนี่ทำให้ขบวนการกรรมกรสากลได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจากกรรมาชีพ ซึ่งเริ่มตระหนักรู้อย่างจริงจังว่าขบวนการกรรมกรสากลคือนักสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ ที่กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับชนชั้นกรรมาชีพ

กระนั้นถึงแม้จะมีผลสำเร็จดังกล่าวหรืออาจจะด้วยผลกระทบจากการเคลื่อนไหวดังกล่าว พวกนักปฏิรูปสหภาพแรงงานได้ทวีจำนวนมากขึ้นทุกทีและพวกเขายังตื่นกลัวต่อการขยายอิทธิพลของขบวนการกรรมกรสากลในอังกฤษอย่างมาก พวกเขายอมรับความช่วยเหลือจากขบวนการกรรมกรสากลแต่จะไม่ยอมเข้าร่วมหรือสนับสนุนลัทธิสังคมนิยมหรือความคิดเรื่องการปฏิวัติ แต่จะอย่างไรก็ตามขบวนการกรรมกรสากลยังคงเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่คนงานอังกฤษ ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลให้สหภาพแรงงานอังกฤษได้จัดการประชุมขึ้นที่ Sheffield และมีมติรับรองที่จะกล่าวขอบคุณขบวนการกรรมกรสากลอย่างจริงใจ ในความพยายามของขบวนการกรรมกรสากลที่จะผนึกกำลังกรรมาชีพและแรงงานให้เป็นหนึ่งเดียวกันฉันท์พี่น้อง นอกจากนี้สหภาพแรงงานยังคัดเลือกตัวแทนของสหภาพให้เป็นผู้แทนในการเข้าร่วมกับขบวนการกรรมกรสากลอีกด้วย.

 

การต่อกรกับกลุ่มกรรมกรนิยม

Marx และ Engels นั้นถูกบีบบังคับให้ต้องการต่อสู้ในสองด้าน ในด้านแรกนั้นพวกเขาจำเป็นต้องต่อกรกับแนวคิดปฏิรูปของพวกผู้นำสหภาพแรงงานจอมฉวยโอกาสที่มักจะโน้มเอียงไปหาความร่วมมือทางชนชั้นและการพยายามคืนดีกับพวกกระฎุมพีเสรีนิยม และในอีกด้านหนึ่งพวกขาก็ถูกบีบบังคับให้ต้องต่อสู้กับพวกกรรมกรนิยมซ้ายจัด สถานการณ์แบบดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนักแม้กระทั่งในปัจจุบันเอง นัก Marxist ยังคงต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเดิมๆและจำเป็นต้องต่อสู้กับศัตรูเดิมๆทั้งสองแบบ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนชื่อเรียกไปบ้างตามกาลเวลาแต่ว่าโดยประเด็นและเนื้อหายังคงเดิม

ในประวัติศาสตร์ของสากลที่ 1 นั้นได้แสดงลักษณะสำคัญสองประการซึ่งไม่ลงรอยและขัดแย้งกันอยู่ ประการแรกนั้นคือรูปแบบความคิดเรื่องสังคมอุดมคติ กับเรื่องการพยายามแบ่งแยกคน ที่พยายามจะครอบงำและครองอำนาจนำเหนือการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพ และประการที่สองคือรูปแบบความคิดแบบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ ที่มี Karl Marx เป็นผู้นำทางความคิดคนสำคัญ

ในสากลที่ 1 ซึ่งห่างไกลจากอิทธิพลหรือกระแสแบบ พวกลัทธิสังคมนิยมอุมคติแบบ Owen กับพวกนักปฏิรูปของสหภาพแรงงานในอังกฤษ หรือพวกลัทธิ Proudhonism กับพวกลัทธิ Blanquism ในฝรั่งเศส หรือพวกลัทธิชาตินิยมแบบ Mazzini ในอิตาลี และไม่ใช่พวกอนาธิปไตยรัสเซีย หรือกระแสแบบอื่นๆ Marx ได้เขียนจดหมายถึง Engels ซึ่งมีข้อความว่า “มันเป็นเรื่องยากมากที่เราจะร่างหรือเสนอข้อเสนอจากมุมมองของเราให้กลายเป็นที่ยอมรับและได้รับการยอมรับจากกรรมาชีพภายใต้จุดยืนการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพ […] มันจะต้องใช้เวลานานกว่าที่จะมีการปลุกการเคลื่อนไหวใหม่ที่กล้าพอจะอนุญาตให้เราพูด ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่เราจำเป็นจะต้องมีวิธีการแบบ “อ่อนในเชิงกระบวนการ แต่ชัดเจนในเนื้อหา” (Fortiter in re, suaviter in modo)

พวกอนาธิปไตย ทั้งกระแสของกลุ่ม Proudhonism และกระแสของพวก Bakunin นั้นเป็นกระแสความคิดที่ต่อต้านการร่วมมือกันของชนชั้นกรรมาชีพในการต่อสู้ทางการเมือง แม้ว่าจะมองผ่านมุมมองอื่นๆก็ตาม พวก Proudhonism นั้นได้เสนอและแนะนำให้กรรมาชีพให้มุ่งมั่นกับการปลดปล่อยตัวเองผ่านมาตรฐานทางเศรษฐกิจเล็กๆ โดยเฉพาะด้วยองค์กรที่ให้เครดิตเสรีและการแลกเปลี่ยนซื้อขายที่ยุติธรรมท่ามกลางหมู่ผู้ผลิต

ในอีกด้านหนึ่งที่แย่กว่านั้นพวก Bakunin นั้นเชื่อและสนับสนุนความคิดเรื่อง “การโฆษนาชวนเชื่อเรื่องการปฏิบัติการณ์” ซึ่งลดทอนประเด็นความขัดแย้งทางชนชั้นลงให้เหลือแค่เรื่องการก่อการร้ายโดยปัจเจกบุคคล และ การก่อจราจลเล็กๆ ซึ่งถูกทำให้เป็นเหมือนการจำลองและการฝึกซ้อมขั้นพื้นฐานสำหรับรอการมาถึงของการปฏิวัติสังคมนิยมที่จะเกิดขึ้นเป็นการระเบิดเพียงครั้งเดียว ในขณะที่ Proudhon นำเสนอภาพอุดมคติในมุมมองของพวกกระฎุมพีน้อยอย่างผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ขนาดเล็ก และพวกช่างฝีมือ Bakunin ก็นำเสนอการแสดงออกของพวกแรงงานไร้ฝีมือชาวนาที่ทำการกบฏ

ความคิดที่ผิดพลาดเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญในห้วงเวลาที่มวลชนกรรมาชีพกำลังอยู่ในช่วงที่จะตื่นขึ้นสู่ชีวิตใหม่ เป็นการฟื้นตัวหลังความพ่ายแพ้อย่างรุนแรงและต่อเนื่องหลังการปฏิวัติ 1848 กรรมกรและแรงงานชาวฝรั่งเศสนั้นแสดงออกถึงการขบถของพวกเขาต่อการเป็นทาสในระบบเศรษฐกิจด้วยการนัดหยุดงาน ขณะที่ในทางการเมืองนั้นพวกเขาก็เตรียมตัวสำหรับการโค่นล้มระบอบการปกครองของ Bonaparte แต่ Proudhon นั้นได้คัดค้านการนัดหยุดงานและเสนอข้อเสนอแบบเพ้อฝันที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์ความขัดแย้งลง (ทำลายจิตสำนึกทางชนชั้นและกล่อมเกลาไม่ให้ขบวนการแรงงานทำการปฏิวัติ-ผู้แปล)

แทนที่จะทำการเตรียมพร้อมตนเองให้เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของมวลชนกรรมาชีพและยกระดับมวลชนขึ้นไปอีก พวกสมาชิกสภาสามัญของสากลที่ 1 กลับให้ความสนใจอยู่แต่กับการกำหนดบนลงโทษซึ่งยึดโยงอยู่กับลัทธิคำสอนของพวกเขา การต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์อย่างแหลมคมจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อกวาดล้างพวกกรรมกรนิยมสากลและเพื่อเตรียมความพร้อมขั้นพื้นฐานด้านอุดมการณ์ให้กับขบวนการกรรมกรสากล ด้วยเหตุนี้ Marx จึงอุทิศเวลาจำนวนมากให้กับการทำงานเชิงทฤษฎีและพยายามต่อสู้กับพวกกรรมกรนิยมในหลายรูปแบบ.

 

คอมมูนปารีส

ในห้วงเวลานั้น (ช่วงเวลาหลังการก่อตั้งสากลที่ 1-ผู้แปล) ความมั่นคงของพวกกระฎุมพีได้ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง แต่ไม่ใช่จากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มาในรูปแบบของขบวนการกรรมกรสากล แต่มาจากเหตุการณ์สำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาข้ามขั้นตอนอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ภายในสากลที่ 1 กำลังทำการต่อสู้ทางอุดมการณ์กันอย่างหนักหน่วง สถานการณ์อันรุนแรงนั้นก็ได้อุบัติขึ้นในทวีปยุโรปแล้ว

ในเดือน กรกฎาคม 1870 เกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศส กับ เยอรมัน ขบวนการกรรมกรสากลที่ 1 ได้ประกาศจุดยืนของขบวนการต่อสงครามในครั้งนี้ โดยสภาสามัญได้ประกาศแถลงการณ์ประท้วงและประณามการก่อสงคราม รวมทั้งประณามรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลปรัสเซีย ขณะเดียวกันแถลงการณ์ก็ชี้ให้ฝ่ายเยอรมันเป็นฝ่ายป้องกันในการทำสงคราม นอกจากนี้แถลงการณ์ยังย้ำเตือนต่อแรงงานและกรรมกรเยอรมันว่าหากพวกเขายอมรับและสนับสนุนการทำสงคราม มันจะกลายเป็นสงครามแห่งการยึดครองของพวกกระฎุมพี และมันจะกลายเป็นหายนะสำหรับชนชั้นกรรมาชีพไม่ว่าในตอนจบประเทศไหนจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม

ความพ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศสในเดือนกันยายน 1870 กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ปลดปล่อยและเร่งเร้าให้เกิดการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพ จนเกิดเป็นการก่อตั้งรัฐของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมาเป็นครั้งแรกของโลกซึ่งรู้จักกันในนาม : คอมมูนปารีส ในคำกล่าวของ Marx นั้นเขากล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า คนงานของปารีสนั้นได้ทำการ “ถล่ม-โค่นล้มสวรรค์” (หมายถึง การกระทำอันรุนแรงที่โค่นล้มสรวงสวรรค์ของพวกกระฎุมพีลง-ผู้แปล) คอมมูนปารีสนั้นไม่ได้มีระบบรัฐสภาในแบบการปกครองเก่า แต่พวกเขามีระบบบริหารและนิติบัญญัติในรูปแบบของชนชั้นกรรมาชีพเอง พวกข้าราชการที่เป็นได้เพียงเครื่องมือและข้ารับใช้ผู้ว่าง่ายของพวกชนชั้นปกครองมาถึงตอนนี้นั้นพวกเขาถูกแทนที่ด้วยตัวแทนที่มาจากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไป ที่สำรวมและระลึกอยู่เสมอว่าพวกเขามีตำแหน่งจากเสียงลงคะแนนของชนชั้นแรงงาน

ยังมีเนื้อหาละรายละเอียดเกี่ยวกับวามสำเร็จของคอมมูนปารีสในเชิงประวัติศาสตร์อีกมากที่เราไม่อาจจะยกมาพูดถึงได้หมดในที่นี้ กระนั้นมันก็เพียงพอที่จะกล่าวว่าจุดอ่อนสำคัญของคอมมูนปารีสนั้นคือความอ่อนแอด้านภาวะผู้นำและการนำ คอมมูนปารีสหลังการยึดอำนาจนั้นไม่มีทั้งโครงการหรือแผนที่ชัดเจน รวมทั้งไม่มีการทำงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการป้องกันหรือโจมตีต่อ ในคอมมูนปารีสเองนั้น เสียงของขบวนการกรรมกรสากลถือว่าเป็นเสียงส่วนน้อย ในสมาชิกสภาของคอมมูนปารีสทั้งหมด 92 คนนั้นมีคนของขบวนการกรรมกรสากลเพียง 17 คนเท่านั้น และด้วยการขาดจิตสำนึกและความชัดเจนด้านการนำนี้เอง คอมมูนปารีสจึงไม่สามารถนำเสนอมุมมองหรือแผนการอันกว้างใหญ่ให้กับกรรมกรและชาวนาในขบวนการได้ ซึ่งทำให้มวลชนจำนวนหนึ่งยุติบทบาทและแยกตัวออกจากคอมมูนปารีส

แม้ว่าคอมมูนปารีสจะถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่คอมมูนปารีสก็มีจ้อผิดพลาดโดยเฉพาะข้อผิดพลาดที่ Marx ได้นำเสนอและชี้ให้เห็น Marx ได้เสนอว่าคอมมูนปารีสนั้นล้มเหลวในการยึดครองธนาคารฝรั่งเศส และล้มเหลวในการไม่เคลื่อนพลไปทำลายขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติใน Versailles ชนชั้นกรรมาชีพจึงต้องชดใช้ความผิดพลาดนี้ในราคาสูงเมื่อรัฐบาลของพวกกระฎุมพีใน  Versailles มีเวลามากพอสำหรับการก่อตั้งกองทัพปฏิปักษ์ปฏิวัติ และเคลื่อนพลกลับสู่ปารีสเพื่อปราบปรามและทำลายล้างคอมมูนปารีสอย่างไร้ความปราณี

หลังการปราบปรามคอมมูนปารีสอย่างโหดเหี้ยม (ในบทความใช้คำว่า Having drowned the Commune in blood ถ้าแปลตรงๆก็คือคอมมูนปารีสนั้นจมไปกับกองเลือดอะไรทำนองนี้-ผู้แปล) พวกกระฎุมพีก็เริ่มปกปิดข่าวการปราบปรามและเริ่มต้นการลดปล่อยข่าวใส่ร้ายป้ายสีความผดให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพอีกเช่นเคย Marx จึงออกมาปกป้องและตอบโต้ในเรื่องนี้อย่างเผ็ดร้อน เขาได้เขียนแถลงการณ์ในนามของสภาสามัญแห่งขบวนการกรรมกรสากลซึ่งเป็นที่รู้จักกันต่อมาในชื่อ “สงครามกลางเมืองฝรั่งเศส” (The civil war of france) ซึ่งเขาได้อธิบายถึงความสลักสำคัญของคอมมูนปารีสในฐานะการปฏิวัติอันยิ่งใหญ่ของชนชั้นกรรมาชีพว่า “คอมมูนปารีสคือรูปแบบของการปกครองที่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นผู้ปกครอง รัฐบาลอันเผด็จการนี้ถูกก่อตั้งขึ้นโดยชนชั้นของผู้ถูกกดขี่ ซึ่งทำการปกครองเหนือชนชั้นผู้กดขี่ขูดรีด” นี่คือการเปลี่ยนผ่านระบอบการปกครองที่ยืนหยัดเพื่อการเปลี่ยนแปลงระอบเศรษฐกิจของสังคม นี่คือสิ่งที่ Marx หมายวามถึงเวลาที่เข้ากล่าวถึง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ”

 

การล่มสลายของสากลที่ 1

ความพ่ายแพ้และการล่มสลายของคอมมูนปารีสนั้นส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของขบวนการกรรมกรสากลที่ 1 ความมั่นใจอย่างล้นหลามของสากลที่ 1 ที่เชื่อว่าจะสามารถทำการปฏิวัติทั่วทั้งฝรั่งเศสและในทุกที่ทั่วโลกถูกสั่นคลอนและทำลายลงพร้อมๆการล่มสลายของคอมมูนปารีส แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้นคือการขยายและเติบโตของทุนนิยมในระดับสากลซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการล่มสลายของคอมมูนปารีสที่ส่งผลลบอย่างมากต่อสากลที่ 1

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว แรงกดดันจากระบบทุนนิยมต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานทำให้เกิดการทะเลาะกันภายในสากลที่ 1 และเกิดการแบ่งแยกภายใน อันทำให้เกิดบรรยากาศของความท้อแท้และสิ้นหวังกระจายไปทั่วในหมู่แรงงาน แนวคิดผิดๆของ Bakunin และผู้ติดตามลัทธิของเขาแพร่ขยายมากขึ้นเป็นทวีคูณ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ Marx และ Engels จึงเสนอให้มีการย้ายศูนย์กลางของสากลที่ 1 ไปยัง New York ซึ่งในท้ายที่สุดนำมาสู่การตัดสินใจที่จะล้มเลิกสากลที่ 1 ลงเสียดีกว่า และสุดท้ายขบวนการกรรมกรสากลที่ 1 ก็ล่มสลายลงอย่างเป็นทางการในปี 1876

ขบวนการกรรมกรสากลที่ 1 นั้นประสบความสำเร็จในการวางรากฐานทางทฤษฎีที่แท้จริงสำหรับการปฏิวัติระดับสากล แต่ขณะเดียวกันก็ล้มเหลวในการขับเคลื่อนมวลชนขนาดใหญ่ในระดับสากลที่เป็นได้เพียงความคาดหวังต่ออนาคต ขบวนการสังคมนิยมสากล (สากลที่ 2) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1889 เริ่มต้นการทำงานในส่วนที่สากลที่ 1 ไม่อาจจะทำได้โดยเริ่มการขับเคลื่อนมวลชนในระดับสากลโดยสากลที่ 2 นั้นบริหารจัดการกรรมาชีพจำนวนเป็นล้านคน ซึ่งมีสมาชิกจากพรรคการเมืองและสหภาพแรงงานจำนวนมากอยู่ในเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยียม ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นสากลที่ 2 ยังยืนหยัดอยู่บนพื้นฐานหลักการปฏิวัติแบบ Marxist ในขณะนั้นอนาคตที่โลกจะเปลี่ยนไปสู่การเป็นสังคมนิยมดูเหมือนว่ากำลังจะเป็นจริงขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตามเป็นความโชคร้ายที่สากลที่ 2 นั้นถูกก่อตั้งขึ้นในระหว่างห้วงเวลาของกระแสการเติบโตอย่างสูงของระบบทุนนิยม ที่ทำให้มันส่งอิทธิพลต่อความคิดของสมาชิกระดับนำของพรรคการเมืองสังคมนิยมประชาธิปไตยและผู้นำของสหภาพแรงงาน ช่วงเวลาระหว่างปี 1871-1914 นี้คือช่วงเวลาคลาสสิกสำหรับแนวคิดแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย ภายใต้การเติบโตอันยาวนานของระบบทุนนิยมมันทำให้ระบบทุนนิยมสามารถมอบสิทธิพิเศษบางประการให้กับชนชั้นกรรมาชีพได้ หรือกล่าวให้ถูกก็คือ มอบให้กับกรรมาชีพระดับบน นี่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดพวกนักปฏิรูป-ชาตินิยม ซึ่งสร้างความเสื่อมถอยให้แก่สากลที่ 2 ความผิดพลาดร้ายแรงนั้นเกิดขึ้นในปี 1914 เมื่อผู้นำของสากลที่ 2 ลงมติที่จะให้การสนับสนุนบรรดา “กระฎุมพีของพวกเขา” ในการทำสงครามระหว่างประเทศจักรวรรดินิยมที่รู้จักกันในชื่อ สงครามโลกครั้งที่ 1

 

สากลที่ 3

หายนะอันรุนแรงที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการปฏิวัติรัสเซีย ในปี 1917 มันส่งให้ชนชั้นกรรมาชีพก้าวขึ้นสู่อำนาจภายใต้การนำของพรรคบอลเชวิคที่นำโดย Lenin และ Trotsky กระนั้นพรรคบอลเชวิคก็ไม่ได้มองว่าการปฏิวัติรัสเซียนั้นเป็นเพียงเรื่องระดับประเทศ แต่พรรคบอลเชวิคมองว่านี่คือก้าวแรกในการปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลกมากกว่า นี่คือเหตุผลที่นำไปสู่การก่อตั้งขบวนการสากลใหม่ในปี 1919

สากลที่ 3 หรือที่รู้จักกันในนาม “องค์กรคอมมิวนิสต์สากล” นั้นยืนหยัดอยู่บนมาตรฐานที่สูงกว่าองค์กรสากลก่อนหน้า สากลที่ 3 อยู่บนจุดสูงสุดของการพัฒนาองค์กร พวกเขายืนอยู่บนฐานทางทฤษฎีการปฏิวัติอันชัดเจนและมีแผนโครงการสำหรับการปฏิวัติระดับสากลเช่นเดียวกับขบวนการสากลที่ 1 ขณะเดียววันสากลที่ 3 ก็มีจำนวนสมาชิกกรรมกรแรงงานหลักล้านคนเข้าร่วมเช่นเดียวกับขบวนการสากลที่ 2 นี่เป็นอีกครั้งที่เราสามารถกล่าวได้ว่าการปฏิวัติระดับโลกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้

ภายใต้การนำของ Lenin และ Trotsky สากลที่ 3 ได้รักษาความคิดเรื่องการปฏิวัติที่ถูกต้องเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตามการแยกตัวออกของขบวนการปฏิวัติรัสเซียภายใต้เงื่อนไขของการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเก่าโดยพวกข้าราชการแดงก็สร้างความเสื่อมถอยให้กับสากลที่ 3 กลุ่มข้าราชการแดงซึ่งนำโดย Stalin นั้นได้ควบคุมอำนาจส่วนใหญ่เอาไว้ในมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเสียชีวิตของ Lenin ในปี 1924

Leon Trotsky และกลุ่มฝ่ายค้านเอียงซ้ายพยายามที่จะปกป้องหลักการสำคัญของการปฏิวัติเดือนตุลา 1917 เอาไว้จากพวกปฏิกิริยาลัทธิ Stalinism – นั่นคือปกป้องหลักการของลัทธิ Leninism หลักการเรื่องประชาธิปไตยของแรงงาน และหลักการเรื่องขบวนการกรรมาชีพสากล แต่ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นการต่อสู้กับกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ในสถานการณ์ที่กรรมกรแรงงานชาวรัสเซียนั้นประสบความเหนื่อยหน่ายจากสงครามอันยาวนาน และจากการปฏิวัติ รวมทั้งสงครามกลางเมือง กล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ พวกข้าราชการแดงนั้นมีความมั่นคงและความมั่นใจอย่างมากในหารควบคุมอำนาจของพรรค พวกเขาผลักกลุ่มกรรมกรแรงงานออกไปฝั่งหนึ่งและเข้าควบคุมกิจการภายในพรรคบอลเชวิคเอาไว้ทั้งหมด

การเรืองอำนาจของระบอบ Stalin ในรัสเซียได้ปิดกั้นการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นของสากลที่ 3 ไปโดยปริยาย ลัทธิ Stalinism ของสหภาพโซเวียตนั้นยังได้สร้างความหายนะให้กับบรรดาผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในต่างประเทศที่ไม่อาจจะรู้เท่าทันได้จำนวนมาก ในขณะที่ Lenin และ Trotsky มองว่าขบวนการปฏิวัติสากลของกรรมาชีพนั้นคือสิ่งเดียวที่จะปกป้องอนาคตของการปฏิวัติรัสเซียและพิทักษ์สถานะของสหภาพโซเวียตเอาไว้ได้ แต่ Stalin และบรรดาสมัครพรรคพวกของเขากลับมองต่างออกไป พวกเขาเชื่อในเรื่องการปฏิวัติภายในประเทศซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านมโนทัศน์ของพวกข้าราชการแดงที่ไม่เข้าใจเรื่องการปฏิวัติสากล พวกเขามองว่าสากลที่ 3 นั้นไม่ใช่อะไรอื่นมากกว่าเครื่องมือสำหรับการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศของ Moscow ด้วยเหตุนี้ Stalin จึงหยิบใช้สากลที่ 3 เพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ของตนเอง ก่อนจะสั่งให้ยุติสากบที่ 3 ลงโดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภาเลยด้วยซ้ำ

 

สากลที่ 4

ภายหลังจากถูกขับไล่และเนรเทศ Trotsky พยายามที่จะรวมกลุ่มผู้ภักดีต่อพรรคบอลเชวิคและเดินรอยตามการปฏิวัติเดือนตุลาเท่าที่เหลืออยู่ ภายใต้ข้อจำกัดและอุปสรรคอันยากลำบาก ตั้งแต่การถูกใส่ร้ายโดยพวก Stalinist และการถูกตามจับกุมและสังหารโดยพวกตำรวจลับ GPU พวกเขาพยายามที่จะรวมตัวกันภายใต้การชูหลักการของการปฏิวัติเดือนตุลา ประชาธิปไตยของคนงานตามลัทธิ Leninism และขบวนการกรรมาชีพสากล

แต่ทว่าช่างโชคร้ายที่พวกเขามีจำนวนน้อยเหลือเกิน ผู้ติดตามของพวกเขาจำนวนหนึ่งสับสนและท้อแท้ ในท้ายที่สุดก็ก่อความผิดพลาดจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะเกิดแนวคิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกซึ่งถูกสะท้อนออกมาในรูปแบบของการแยกตัวของลัทธิ Trotskyism ออกจากการเคลื่อนไหวของมวลชน ลัทธิแบ่งแยกแบบดังกล่าวยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันในหลายกลุ่มซึ่งประกาศว่าตนเองเป็น Trotskyists แต่กลับไม่มีความเข้าใจต่อความคิดพื้นฐานที่สุดที่ Trotsky พยายามปกป้องเลยแม้แต่น้อย

ในปี 1938 Trotsky ประกาศก่อตั้งสากลที่ 4 ซึ่งยืนอยู่บนวิธีคิดและมุมมองอันชัดเจน อย่างไรก็ตามวิธีคิดและมุมมองดังกล่าวถูกบิดเบือนไปโดยประวัติศาสตร์ เมื่อ Trotsky ถูกมือสังหารของ Stalin ลอบสังหารจนถึงแก่ความตายในปี 1940 นั้นในทางเดียวกันก็คือการตอกฝาโลงให้กับการเคลื่อนไหวของสากลที่ 4 ไปด้วย ผู้นำคนอื่นๆที่เหลือของสากลที่ 4 ถูกพิสูจน์ให้เห็นว่าขาดความสามารถในการนำขบวนการสากลและทำตามภารกิจทางประวัติศาสตร์ และขาดความเข้าใจในการวิเคราะห์หรือรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 1940-1945 การแตกกระจายของขบวนการและลัทธิแบบ Trotskyism ได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลานี้เอง

มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะยกเอารายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดในการนำของสากลที่ 4 มาอธิบายทั้งหมดที่นี่ แต่เท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่เราจะกล่าว Mandel, Mandel และผู้นำคนอื่นๆของสากลที่ 4 ได้ละทิ้งหลักการที่พวกเขาแบกมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และละทิ้งหลักการที่แท้จริงของ Marxism ไปอย่างหมดสิ้น สากลที่ 4 เริ่มเสื่อมถอยหลังการตายของ Trotsky จนกระทั่งกลายไปเป็นองค์กรหนึ่งของพวกกระฎุมพีน้อย และในท้ายที่สุดสากลที่ 4 ก็ไม่เหลือสิ่งใดเลยที่เชื่อมโยงกับหลักการของผู้ก่อตั้งหรือเชื่อมโยงกับหลักการที่แท้จริงของลัทธิ Bolshevism-Leninism 

 

ความถดถอยของการเคลื่อนไหวและขบวนการเคลื่อนไหว

ขบวนการกรรมกรสากลที่ 2 และสากลที่ 3 นั้นคือการถกถอยไปสู่การเป็นขบวนการของนักปฏิรูปถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีมวลชนจำนวนมากก็ตาม ขณะที่ Trotsky ที่ถูกเนรเทศนั้นแม้ว่าจะไม่มีองค์กรมวลชนขนาดใหญ่แต่เขาก็มีโครงการและนโยบายที่ถูกต้อง เขาได้รับความเคารพจากชนชั้นแรงงานทั่วโลกซึ่งยินดีรับฟังความคิดของ Trotsky ในปัจจุบันนี้องค์กรที่เรียกตัวเองว่า สากลที่ 4 ไม่ได้ดำรงอยู่ในรูปแบบขององค์กรที่เป็นทางการ และใครก็ตามที่พูดว่าตนเองเป็นคนของสากลที่ 4 (ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก) นั้นไม่มีทั้งมวลชนและความคิดที่ถูกต้อง และไม่มีแม้กระทั่งธงนำการปฏิวัติที่แท้จริง พวกเขากลายไปเป็นเพียงพวกแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ไร้ประโยชน์แบบที่ Marx เคยต่อสู้มาตั้งแต่ช่วงการก่อตั้งสากลที่ 1 การพูดเรื่องการพยายามฟื้นฟูสากลที่ 4 ผ่านรากฐานที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจจะเป็นไปได้

เราจำเป็นจะต้องเผชิญหน้ากับความจริงในปัจจุบัน เวลาผ่านไปกว่า 150 ปีแล้วหลังการก่อตั้งสากลที่ 1เพื่อการรวมตัวของชนชั้นกรรมาชีพทั้งทางพฤติการณ์ ทางภาวะวิสัย และอัตวิสัย ขบวนการปฏิวัติสากลนั้นถดถอยลงและกำลังที่แท้จริงของลัทธิ Marxism ก็ลดจำนวนลงกลายไปเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ นี่คือความเป็นจริง และใครที่พยายามปฏิเสธข้อเท็จจริงนี้ก็เหมือนว่าเขากำลังหลอกตัวเองและหลอกลวงคนอื่น เหตุผลของสถานการณ์ในปัจจุบันนี้บางส่วนเป็นผลมาจากความผิดพลาดในอดีต แต่ปัจจัยชี้ขาดที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการแตกแยกและสร้างความอ่อนแอให้กับขบวนการปฏิวัติแบบ Marxism ก็คือสถานการณ์ภาวะวิสัย

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในประเทศทุนนิยมก้าวหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานั้นได้สร้างความถกถอยอย่างรุนแรงให้กับขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงานอย่างไม่เคยมีมาก่อน มันได้แบ่งแยกและสลายกำลังในการปฏิวัติทั่วๆไป และลดความคิดของการปฏิวัติให้กลายไปเป็นเสียงส่วนน้อย การล่มสลายของสหภาพโซเวียตนั้นก่อให้เกิดความสับสนและความวุ่นวายให้กับขบวนการเคลื่อนไหวทั่วโลก กลายเป็นการปิดกั้นหนทางของการปฏิวัติไปโดยปริยาย ความผิดนี่ถูกกล่าวว่าเป็นความผิดของพวกผู้นำที่มาจากลัทธิ Stalinism ซึ่งหลายคนก้าวผ่านจากค่ายสังคมนิยมไปสู่การเข้าร่วมกับพวกกระฎุมพีปฏิกิริยา

จากสถานการณ์ดังกล่าวมีคนจำนวนไม่น้อยที่สรุปสถานการณ์ออกมาในแง่ร้าย ซึ่งเราจำเป็นต้องส่งข้อความบอกคนเหล่านั้นว่า : นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเรา (ชาว Marxists) เผชิญหน้ากับอุปสรรคอันยากลำบาก และพวกเราไม่ได้ตื่นกลัวกับการเผชิญหน้ากับอุปสรรคเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย พวกเรายืนหยัดอย่างมั่งคงและหนักแน่นในความถูกต้องของลัทธิ Marxism และการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพที่อาจจะเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่ชัยชนะของสังคมนิยม วิกฤตทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้เห็นด้านปฏิกิริยาของทุนนิยมซึ่งแสดงตัวออกมาในการพยายามฟื้นฟูขบวนการสังคมนิยมสากล นี่คือการเริ่มต้นของการรวมตัวใหม่สำหรับขบวนการสากล สิ่งที่เราต้องการก็คือการรวมตัวและการสร้างองค์กรสากลใหม่พร้อมกับโครงการ มุมมองและนโยบายที่ชัดเจนในการปฏิวัติ.

 

ทางออกเดียวของวิกฤติทุนนิยม

ภารกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ดูคล้ายกับการทำงานในอดีตที่ Marx และ Engels ได้เผชิญหน้ามาก่อนในการก่อตั้งสากลที่ 1 ดังเช่นที่เราได้อภิปรายกันไปก่อนหน้านี้ องค์กรสากลนั้นไม่ได้รวมตัวไปในทิศทางเดียวกันแต่เกิดจากการรวมคนจากหลากหลายเฉดความคิดเข้ามา อย่างไรก็ตาม Marx และ Engels ไม่ได้ย่อท้อกับอุปสรรคเหล่านี้ พวกเขาเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวของขบวนการกรรมกรสากลและทำงานอย่างอดทนในการจะพัฒนาให้องค์กรสากลก้าวไปสู่การเป็นองค์กรสังคมนิยมที่มีอุดมการณ์และการวางแผนแบบสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาเผชิญหน้ากับอุปสรรคและความยากลำบากมากมาย ในช่วงปลายของชีวิต Engels ได้เขียนบันทึกไว้ว่า “Marx และข้าพเจ้านั้นเป็นได้เพียงเสียงส่วนน้อยของขบวนการมาตลอดชีวิตของเรา และเราภูมิใจที่ได้เป็นเสียงส่วนน้อยนั้น”

เหมือนเช่น Marx และ Engels ในห้วงทศวรรษแห่งการเติบโตของทุนนิยมอย่างต่อเนื่องพวกเราต่างก็ว่ายทวนน้ำอยู่ในสายธารอันเชี่ยวกราก แต่ตอนนี้กระแสธารของประวัติศาสตร์กำลังจะเปลี่ยนทิศทางไป วิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008-2009 คือจุดเปลี่ยนที่เด่นชัดของสถานการณ์โลกและยุทธศาสตร์ของทุนนิยมดูเหมือนจะไม่มีทางออก พวกเขาทำนายว่าอาจจะต้องใช้เวลา 10 หรือ 20 ปีสำหรับการอดออมและตัดรายจ่ายด้านงบประมาณของรัฐที่ไม่จำเป็น นี่คือการพยายาม “ฟื้นตัว” อย่างช้าๆเหมือนเช่นที่เคยเกิดมาแล้วในประวัติศาสตร์ของทุนนิยมและแน่นอนว่าการฟื้นตัวดังกล่าวนั้นไม่เคยให้ประโยชน์หรือเป็นผลดีกับประชากรส่วนใหญ่ของโลก

ระบบกลไกขั้นพื้นฐานนั้นบอกเราว่าทุกๆการกระทำย่อมจะมีการสะท้อนกลับมาของปฏิกิริยาที่เท่ากัน วิกฤตการณ์ของทุนนิยมนั้นได้ปลุกปฏิกิริยาของชนชั้นแรงงานและคนรุ่นใหม่ขึ้นมา ในทุกๆพื้นที่ทั่วโลกภายใต้ภาพของความสงบนิ่งและสันติสุขอันฉาบฉวยนั้นมีคลื่นใต้น้ำของความโกรธ ความเดือดดาล และความไม่พอใจซ่อนอยู่ และเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมดนั้นมันคือความขุ่นเคืองที่มีต่อการดำรงอยู่ของกิจการของรัฐในสังคมและการเมือง การปะทุของมวลชนกรรมาชีพเกิดขึ้นจากประเทศหนึ่งและลุกลามไปยังอีกประเทศหนึ่งดังจะเห็นจากกรณีของ ตูนิเซีย อิยิปต์ ตุรกี บราซิล กรีซ สเปน และ โปรตุเกส แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาเองความไม่พอใจและการตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของรัฐก็แพร่หลายมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ปัจจุบันนี้ความคิดของ Marx นั้นดูจะถูกต้องและสำคัญขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจที่กินเวลากว่า 6 ปีนั้นได้ทำให้เกิดคนว่างงานจำนวนมาก ภาวะความตกต่ำของมาตรฐานการดำรงชีพ ซึ่งส่งผลต่อความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตย เราได้รับรู้เรื่องราวอื้อฉาวของพวกนายธนาคารที่ทำลายระบบการเงินโลกด้วยความโลภ การเก็งกำไร และการฉ้อโกง องค์กร Oxfam ได้นำเสนอสถิติซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนที่ร่ำรวยที่สุดของโลก 66 คนมีทรัพย์สมบัติมากกว่าทรัพย์สมบัติของคนจนทั่วโลกที่มีจำนวน 3.5 พันล้านคนรวมกัน หรือก็คือพวกเขาร่ำรวยกว่าคนครึ่งโลก ซึ่ง Marx ได้ทำนายสถานการณ์ดังกล่าวเอาไว้ใน The Capital และ The Communist Manifesto

นักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองต่างก็ไม่มีวิธีการที่จะแก้ไขวิกฤติการณ์ เหตุผลหนึ่งนั่นก็เพราะพวกเขาไม่มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ พวกเขากล่าวว่าปัญหาและวิกฤติการณ์นั้นเกิดจากภาวะการผลิตจนล้นเกิน แต่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขากลัวที่จะเรียกสิ่งนั้นด้วยชื่อจริงของมันต่างหาก

เราควรทำความเข้าใจก่อนว่าอะไรคือ “ภาวะการผลิตที่ล้นเกิน” ที่พวกนักเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองกล่าวอ้างถึง Marx ได้อธิบายภาวะดังกล่าวเอาไว้ในปี 1848 ว่านี่คือความขัดแย้งขั้นพื้นฐานในระบบทุนนิยมซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในระบบสังคมก่อนหน้า และวิธีการเดียวที่จะทำลายความขัดแย้งดังกล่าวก็คือการปลดปล่อยกำลังการผลิตออกจากข้อจำกัดของกรอบคิดเรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลและรัฐชาติ

ไม่มีความจำเป็นจะต้องไปบอกแก่ชนชั้นแรงงานหรือคนรุ่นใหม่ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะเพียงแค่เปิดโทรทัศน์พวกเขาก็สามารถเข้าถึงและรับรู้ปัญหาดังกล่าวได้แล้วในปัจจุบัน ในขณะที่ความไม่มั่นคงในชีวิตกำลังสูงขึ้นในฟากหนึ่งของสังคม ความมั่งคั่งก็ไปกระจุกตัวรวมกันอยู่อีกฝั่งหนึ่ง การผลิต และผลรวมความมั่งคั่งที่ผลิตได้ต่อชั่วโมงทวีจำนวนขึ้นกว่า 50% ตั้งแต่ปี 1970 โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันตก แต่ขณะเดียวกันนั้น ค่าจ้างของแรงงานกลับหยุดนิ่งหรือแทบจะไม่ได้ขยับตัวเพิ่มเลย มูลค่าส่วนเกินจำนวนมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นจากกำลังแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพกลับถูกถือครองไว้โดยพวกคนรวยในสังคม หรือกลุ่มคนที่ขบวนการ Occupy เรียกว่า 1%

หนทางเดียวที่จะยุติความโกลาหลของทุนนิยมคือต้องให้ชนชั้นกรรมาชีพยึดครองอำนาจรัฐเอาไว้ในมือ ยึดครองธนาคารและบริษัทพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งหลายและเริ่มต้นการวางแผนสำหรับระบบเศรษฐกิจใหม่ตามแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย ในเมื่อแรงงานที่เป็นคนส่วนใหญ่นั้นเป็นผู้สร้างความมั่งคั่งที่แท้จริง – พวกเขาก็สมควรจะได้เป็นผู้บริหารจัดการมัน ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมั่นใจได้ว่าทรัพยากรทั้งหลายนั้นจะถูกใช้ไปเพื่อตอบสนองต่อต้องความต้องการที่แท้จริงของมนุษยชาติ ไม่ใช่ตอบสนองต่อความมั่งคั่งส่วนบุคคลของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งมันจะทำให้สังคมสามารถมีระบบประกันสุขภาพและระบบการศึกษาฟรีทุกระดับ รวมถึงบ้านและที่พักอาศัยฟรีในระดับที่ดีเยี่ยมพร้อมๆกับการเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของการผลิตของแรงงาน

รูปแบบรัฐสังคมนิยมใหม่นี้จะช่วยวางรากฐานที่จะนำไปสู่การสลายระบบชนชั้น ตามคำกล่าวของ Marx ที่ว่า “ในพื้นที่ของสังคมเก่าของพวกกระฎุมพี ที่มีระบบชนชั้นและการเป็นศัตรูกันทางชนชั้น เราจำเป็นจะต้องมีสหภาพและความร่วมมือกัน ที่จะทำให้การพัฒนาอย่างเสรีของคนหนึ่งคนจะกลายเป็นเงื่อนไขสำหรับการพัฒนาของคนทั้งหมด”

 

ปล.เรื่อง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” นี้มีหลายคนเข้าใจผิดเยอะในปัจจุบันว่าเวลาที่ชาว Marxist พูดคำนี้พวกเขากำลังหมายถึงการปกครองของจีน หรือเกาหลีเหนือ แต่ผิดถนัดความหมายที่ชาว Marxist ต้องการสื่อเมื่อพวกเขาพูดถึง “เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ” นั้นพวกเรากำลังพูดถึงโมเดลของ “คอมมูนปารีส” หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือโมเดลของ “บอลเชวิค” หลังการปฏิวัติรัสเซียเป็นสหภาพโซเวียตในยุคของเลนิน ไม่ใช่สตาลิน-ผู้แปล

 

ปล.กรรมกรนิยมในที่นี้หมายถึงลัทธิแบ่งพรรคแบ่งพวกในตอนก่อนหน้า คือกลุ่มกรรมกรซ้ายจัดที่มีความเชื่อว่าขบวนการกรรมกรแรงงานจะต้องประกอบไปด้วยคนของชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น กล่าวคือต่อต้านพวกปัญญาชนกระฎุมพีที่จะเข้าร่วมกับขบวนการปฏิวัตินั่นเอง-ผู้แปล

 

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.