Skip to main content

มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์

(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)

By John H. Munro. Translated by Jakkapon P.

 

ในบทความชิ้นต่อไปนี้ผมพยายามอย่างยิ่งที่จะรวบรวมเนื้อหาและข้อสรุปนำเสนอหลักการพื้นฐานสำหรับเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ให้มีความชัดเจนและกระชับมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ กระนั้นก็ตามเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับว่าตัวผมเองนั้นไม่ได้มีความเชี่ยวชาญอย่างชัดเจนในความคิดแบบมาร์กซิสม์หรือกระทั่งความเชี่ยวชาญในเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์โดยเฉพาะ ดังนั้นแล้วหากท่านพบความผิดพลาดหรือข้อสงสัยใดก็ตามในบทความชิ้นนี้ ขออย่าได้เรียกร้องให้ตัวผมแก้ไขหรือปกป้องข้อเขียนดังกล่าวเกี่ยวกับหลักการของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสม์ ทั้งนี้ก็เพราะตัวผมเองนั้นไม่ได้มีความเชื่อมั่นหรือสมาทานหลักการแบบมาร์กซิสม์ กล่าวให้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นแล้วตัวผมไม่ได้ยอมรับต่อหลักการที่มีรากฐานอยู่บนทฤษฎีมูลค่าแรงงานของมาร์กซ์เลยแม้แต่น้อย

 

ในบทความนำเสนอนี้เราจะให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เป็นรากฐานพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ ซึ่งมีหัวข้อดังต่อไปนี้

(ก) ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน

(ข) เศรษฐศาสตร์ว่าด้วย ‘การขูดรีด’ และมโนทัศน์ว่าด้วย ‘มูลค่าส่วนเกิน’

(ค) ความตกต่ำของอัตราส่วน ‘กำไร’ ที่ ‘ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้’ (กำไรในที่นี้คือความหมายรวมถึง ผลประโยชน์, ค่าเช่า และ กำไร) – หรือแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของ ‘กำไร’ ที่จะตกต่ำลง

 

ในทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์นั้น ความตกต่ำของอัตราส่วนกำไรที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นั้นเป็นประเด็นที่จะนำไปสู่การอธิบายถึงวิกฤตระดับมูลฐานในระบบทุนนิยมอันเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิวัติ หากแต่ในทฤษฎีแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ที่ได้รบการพัฒนาอย่างเต็มที่นั้น ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 ดูเหมือนว่าระบบทุนนิยมในยุโรปนั้นมีความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาความตกต่ำของอัตราส่วนกำไรนี้และพยายามหลีกเลี่ยงสภาวะความตกต่ำและความล่มสลายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ด้วยการมองหาแหล่งทรัพยากรใหม่ที่ไกลออกไปเพื่อการขูดรีดทางเศรษฐกิจ ผ่านกระบวนการส่งออกการลงทุนไปยังต่างประเทศ ซึ่งตามมุมมองแบบมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์นี้เองทำให้เห็นว่าประเทศทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เติบโตเต็มที่นั้นจะถูกบีบบังคับให้ต้องส่งออกทุนมากขึ้นและมากขึ้น และการส่งออกทุนไปสู่ภูมิภาคหรือประเทศด้อยพัฒนานี้โดยตัวมันเองแล้วก็คือสิ่งที่เรียกว่าเป็นรูปแบบของระบบจักรวรรดินิยม ไม่ว่าการส่งออกทุนนี้จะอาศัยการใช้อำนาจทางการเมืองหรือการทหารในการแทรกแซงหรือไม่ก็ตาม

 

หลักการขั้นพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์

 

เนื้อหาทั้งหมดนี้อ้างอิงมาจากงานเรื่อง ว่าด้วยทุน (Das Kapital, Capital) เล่มที่ 1-3 ของคาร์ล มาร์กซ์

1.หลักการขั้นพื้นฐาน

(ก) ทฤษฎีว่าด้วยพัฒนาการทางเศรษฐกิจและประวัติศาสตร์

จากสังคมทาส (เกรโค-โรมัน) สู่สังคมศักดินา (ยุคกลาง) สู่สังคมทุนนิยม ไปสู่สังคมนิยม และท้ายที่สุดก็พัฒนาเข้าสู่รูปแบบสังคมที่สูงที่สุดนั่นคือสังคมคอมมิวนิสม์

(ข) วัตถุนิยมวิภาษวิธี

หัวใจสำคัญของหลักการวัตถุนิยมวิภาษวิธีนั้นก็คือมโนทัศน์ว่าด้วยความขัดแย้งภายใน อันเป็นหลักปรัชญาที่มีรากฐานมาจากมโนทัศน์แบบเฮเกลที่มองว่ากระบวนการทางประวัติศาสตร์นั้นเกิดความก้าวหน้าขึ้นเนื่องจากการปะทะกันของสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามต่อกันและก่อให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ที่สามารถอธิบายได้ในรูปแบบสมการดังนี้

บทนำเสนอ + (ปะทะกับ) บทเสนอแย้ง -> บทสังเคราะห์ (ผลลัพธ์ใหม่-ความก้าวหน้า)

จากปรัชญานี้เองที่นำไปสู่การพัฒนาทฤษฎีว่าด้วยความขัดแย้งทางชนชั้นในฐานะของสิ่งที่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ก่อให้เกิดพลวัตรทางประวัติศาสตร์ที่ช่วยอธิบายถึงการเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์จากรูปแบบทางสังคมหนึ่งไปสู่อีกลำดับขั้นหนึ่ง ในแต่ละลำดับขั้นของพัฒนาการทางสังคมนั้นโครงสร้างทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นตัวกำหนดชนชั้นทางสังคมและธรรมชาติของชนชั้นปกครอง หากแต่ในทางเดียวกันแล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจนั้นก็ได้สร้างชนชั้นที่เป็นขั้วตรงข้ามกับชนชั้นปกครองขึ้นมา และเมื่อผ่านความขัดแย้งที่มีความรุนแรงไปแล้วมันย่อมจะนำไปสู่การล่มสลายของชนชั้นปกครองเดิมอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

(ค) ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน : กล่าวโดยสรุปได้ว่าแรงงานนั้นคือที่มาของมูลค่าในกระบวนการผลิต

 

2.ทฤษฎีมูลค่าแรงงาน (ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 1, หน้า 41-55)

(ก) นิยาม : “มูลค่าแลกเปลี่ยนของสินค้านั้นถูกกำหนดโดยปริมาณของกำลังแรงงานที่ถูกใช้เพื่อผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆขึ้นมา”

(ข) ปริมาณของกำลังแรงงานที่จำเป็น ในฐานะที่มันเป็นตัวร่วมในการกำหนดราคาของการแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว ปริมาณของกำลังแรงงานที่จำเป็นต่อการผลิตสินค้านั้นคือจำนวนเวลาเฉลี่ยที่จำเป็นสำหรับการผลิตสินค้าขึ้นมาภายใต้เงื่อนไขปกติทั่วไป พร้อมด้วยทักษะและความเข้มข้นระดับปานกลางของแรงงาน ซึ่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันในการผลิตร่วมกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่สุดที่สามารถนำมาใช้ได้ ดังนั้นแล้ว มันจึงไม่มีช่วงเวลาในการผลิตที่มากไปกว่าห้วงเวลาที่จำเป็น และมันเป็นการรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกันของกำลังแรงงานที่ไม่แตกต่างกัน

(ค) ความสำคัญของเทคโนโลยี

มาร์กซ์นั้นมีความตระหนักอย่างชัดเจนว่าเครื่องจักร, ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีนั้นมีส่วนโดยตรงต่อการพัฒนาความสามารถในการผลิตของแรงงาน ดังนั้นแล้ว ผลผลิตที่ขยายตัวขึ้นของแรงงาน และชั่วโมงการทำงานที่ลดลงนั้นย่อมเกี่ยวพันอยู่กับกระบวนการผลิตสินค้า และนั่นย่อมจะทำให้มูลค่าของสินค้าลดลง หรือราคาของสินค้านั้นลดราคาลง หรือ มูลค่าของสินค้านั้น...ย่อมจะแตกต่างกันออกไปโดยแปรผันตรงตามจำนวน [ของกำลังแรงงาน] และแปรผกผันกับกำลังแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆขึ้นมา

(ง) มูลค่าของกำลังแรงงานที่มีอยู่ในสินค้านั้นไม่ได้ถูกนับรวมเฉพาะแต่กำลังแรงงานที่ทำการผลิตสินค้าในปัจจุบัน หรือนับเฉพาะกำลังแรงงานในการผลิตขั้นสุดท้ายเท่านั้น หากแต่เป็นการนับรวมบรรดากำลังแรงงานในช่วงก่อนหน้าทั้งหมดที่ถูกใช้เพื่อการผลิตสินค้าชิ้นนี้ขึ้นมา ซึ่งอาจจะถูกพิจารณาในฐานะของสิ่งที่ ‘ผนวกรวมเป็นเนื้อเดียว’ ในกระบวนการผลิตของวัตถุดิบในการผลิต ในเครื่องจักรและเครื่องมือของการผลิต ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนั้นมีกำลังแรงงานเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในทุกขั้นตอนของกระบวนการผลิตตั้งแต่กระบวนการสกัดเอาวัตถุดิบสำหรับการผลิตออกมา จนกระทั่งในกระบวนการขั้นสุดท้ายของการผลิต

(จ) ค่าจ้างและมูลค่าในตลาดของกำลังแรงงาน (ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 1, หน้า 187-190)

1) ชนชั้นแรงงานนั้นมีสินค้าชนิดเดียวที่จะขายได้ และสินค้านั้นคือกำลังแรงงานของตัวเขาเอง ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องขายมันให้กับชนชั้นนายทุนเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิต พวกเขาจำเป็นต้องขายกำลังแรงงานแลกกับค่าจ้างเพื่อที่จะมีชีวิตรอด และกำลังแรงงานที่พวกเขาขายออกไปนั้นก็มีมูลค่าแลกเปลี่ยนที่แน่นอน ซึ่งมูลค่าดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความแตกต่างจากมูลค่าแลกเปลี่ยนอื่นๆแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรียก, จำนวนปริมาณเวลาแรงงานที่จำเป็นสำหรับการจะสร้างหรือฟื้นฟูกำลังแรงงานของตนเองขึ้นมา, สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพของชนชั้นแรงงานและครอบครัวของเขา (อาหาร, เสื้อผ้า, ที่พักอาศัย, ฯลฯ) และสำหรับการศึกษาของพวกเขาเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายในครอบครัวนี้เองสามารถมองได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการผลิตซ้ำกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงาน

2) มูลค่าและราคาเพียงอย่างเดียวที่ชนชั้นนายทุนจะยินยอมจ่ายให้แรงงานเพื่อแลกกับกำลังแรงงานนั้นก็คือราคาที่เทียบเท่ากับมูลค่าแรงงานดังที่ได้อธิบายเอาไว้ข้างต้น ระบบตลาด การแข่งขันกันของชนชั้นนายทุนเพื่อแย่งชิงแรงงานและการแข่งขันกันของแรงงานเพื่อแข่งกันขายกำลังแรงงานของตัวเองนั้น จะ [หรือควรจะ] เป็นตัวกำหนดว่ามันจะไม่มีการจ่ายค่าจ้างที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป

3) การดำรงชีพของชนชั้นแรงงานนั้นจะอยู่ในจุดที่สูงจากเส้นความอดอยากไม่มากนักนั่นหมายถึงว่าชนชั้นแรงงานนั้นจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ด้วยค่าจ้างพอประมาณที่ทำให้พวกเขาพอจะมีชีวิตอยู่ได้ อันจะทำให้แรงงานและครอบครัวของเขานั้นจำเป็นต้องขายกำลังแรงงานของตนเองอยู่ตลอดเวลา อันที่จริงแล้วค่าจ้างที่จ่ายนั้นจะต้องมีมากพอสมควรสำหรับแรงงานที่จะมีครอบครัวและผลิตซ้ำกำลังแรงงานต่อไป

 

3.มโนทัศน์ว่าด้วยทุน : ทุนคงที่และทุนไม่คงที่

เม็ดเงินหรือเงินทุนนั้นคือสิ่งที่ชนชั้นนายทุนใช้จ่ายหรือลงทุนไปในกระบวนการผลิตสินค้า ซึ่งกล่าวแล้วชนชั้นนายทุนใช้จ่าย ‘ทุน’ ในสองรูปแบบดังนี้

(ก) ทุนคงที่ [ทุนที่ไม่มีการผลิตซ้ำ] ซึ่งมาร์กซ์อธิบายว่าเป็น ‘ส่วนหนึ่งของทุนที่แสดงออกมาในรูปแบบของปัจจัยการผลิต, วัตถุดิบของการผลิต, วัสดุเสริมในการผลิต ฯลฯ ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วไม่ได้ทำให้ตัวมันเองเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านมูลค่าขึ้นในเชิงปริมาณ’ ซึ่งกล่าวคือมูลค่าของวัตถุดิบและมูลค่าของเครื่องจักร โดยเฉพาะมูลค่าของผลประโยชน์และการเสื่อมราคาเป็นสิ่งที่รวมอยู่ในทุนในเชิงกายภาพ ทุนแบบนี้นั้นถูกบริโภค ถูกใช้งานในกระบวนการผลิต และมูลค่าแรงงานที่แฝงอยู่ในตัวมันนั้นก็ถูกส่งผ่านไปสู่ผลผลิตใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้น หากแต่ในมิติของทุนแบบนี้ ในทุนคงที่เช่นนี้มันไม่ได้สร้างหรือเพิ่มมูลค่าใดๆให้กับตัวมันเองที่จะส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มเติมต่อตัวผลผลิตได้

(ข) ทุนไม่คงที่ [ทุนที่มีการผลิตซ้ำ] ซึ่งมาร์กซ์อธิบายเอาไว้ว่า ‘เป็นส่วนหนึ่งของทุนที่แสดงตัวเองออกมาในรูปแบบของกำลังแรงงานซึ่งจะมีการผลิตซ้ำมูลค่าที่เท่าเดิมของตัวเองขึ้นมา และยังทำการผลิตส่วนเกิน หรือมูลค่าส่วนเกิน ซึ่งจะแตกต่างกันออกไปโดยตัวมันเอง... ส่วนหนึ่งของทุนนี้จะถูกเปลี่ยนรูปแบบอย่างต่อเนื่องจากรูปแบบที่คงที่ไปสู่รูปแบบไม่คงที่’ กล่าวในอีกทางหนึ่งทุนไม่คงที่นั้นก็คือกำลังแรงงานนั่นเอง หรือกล่าวให้ชัดเจนยิ่งกว่านั้นก็คือเงินทุนที่ใช้จ่ายไปในการจ้างแรงงานนั่นเอง ทุนไม่คงที่หรือก็คือกำลังแรงงานนั้นไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าแก่ตัวมันเองเท่านั้นหากแต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มเติมที่เราเรียกว่าเป็นมูลค่าส่วนเกิน

 

4.มโนทัศน์ว่าด้วยมูลค่าส่วนเกิน

(ก) คำนิยามโดยมาร์กซ์ กล่าวว่า “การบริโภคของกำลังแรงงานนั้นในห้วงเวลาเดียวกันนั้นถือว่าเป็นกระบวนการผลิตสินค้าและกระบวนการผลิตมูลค่าส่วนเกินด้วย” [ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 1, หน้า 187-190] “ส่วนเกินของมูลค่าทั้งมวลของผลผลิต ที่อยู่นอกเหนือผลรวมของมูลค่าขอปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของตัวมันเองแล้ว ถือว่าเป็นส่วนเกินของการขยายตัวของทุนที่ขยายตัวขึ้นเกินจากต้นทุนดั้งเดิมของตัวมันเอง” [ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 1, หน้า 225-233]

(ข) มูลค่าส่วนเกินนั้นคือภาพแสดงตัวแทนของกำไรของนายทุน

1) มูลค่าส่วนเกินนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยกำลังแรงงานเพียงอย่างเดียว หากแต่มันกลับถูกยึดครองเอาไว้โดยชนชั้นนายทุนอันเนื่องมาจากชนชั้นนายทุนนั้นเป็นผู้จ่ายเงินซื้อกำลังแรงงานทั้งหมดนั้นมาจากชนชั้นแรงงาน และดังนั้นแล้วจึงถือว่าชนชั้นนายทุนได้ซื้อเอาสิทธิ์เหนือผลผลิตทั้งหลายจากกำลังแรงงานที่ถูกเรียกว่ามูลค่าส่วนเกินที่ชนชั้นแรงงานเป็นผู้ผลิตเอาไว้ด้วย

2) กำไร ในความหมายแบบมาร์กซิสต์นั้นประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามอย่างดังนี้

                                (1) ผลประโยชน์ในทุน

                                (2) ค่าเช่าจากที่ดินหรือทุนทางกายภาพ

                                (3) กำไรทั่วไป หรือสิ่งที่เราเรียกกันบ่อยครั้งว่าเป็น กำไรจากผลประกอบการ

กำไรในความหมายแบบมาร์กซิสต์นั้นยังหมายรวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าเป็น ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ส่วนประเด็นเรื่องการจัดแบ่งขององค์ประกอบทั้งสามนี้ เราจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้

(ค) มูลค่าส่วนเกินนั้นจะขยายตัวขึ้นอย่างเป็นปกติในรูปแบบดังต่อไปนี้

1) จากการที่ชนชั้นแรงงานซึ่งหยิบใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีอยู่ในการดำเนินการผลิตที่จะลดปริมาณแรงงานที่จำเป็นในกระบวนการทำการผลิตลง อันจะทำให้สามารถผลิตซ้ำมูลค่าในค่าจ้างของกำลังแรงงานในชั่วเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อวันได้ หรือกล่าวคือ มูลค่าค่าจ้างของแรงงานที่มีต่อนายจ้างนั้นจะเป็นเพียงตัวแสดงถึงมูลค่าสำหรับการดำรงชีพ หรือค่าแรงสำหรับการดำรงชีพเท่านั้น

2) หากแต่ชนชั้นแรงงานนั้นถูกจ้างมาไม่ใช่เพียงเพื่อแค่ทำงาน ในเวลาเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันที่แรงงานสามารถผลิตซ้ำมูลค่ากำลังแรงงานของตัวเองได้ หากแต่แรงงานนั้นถูกจ้างมาเพื่อทำงานเต็มวันในเวลา 8 ชั่วโมง ดังนั้นแล้วชนชั้นแรงงานจึงสามารถจะผลิตซ้ำมูลค่าของกำลังแรงงานของตนเองได้ภายในเวลา 4 ชั่วโมงแต่เขากลับต้องทำงานด้วยการขายกำลังแรงงานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวันให้กับชนชั้นนายทุน ผู้ที่จะได้รับทั้งมูลค่าที่จ่ายไปเพื่อจ้างแรงงานและได้รับมูลค่าส่วนเกินที่เกิดจากชนชั้นแรงงานในเวลาอีก 4 ชั่วโมงที่เป็นส่วนเกินด้วย

(ง) อัตราส่วนของมูลค่าส่วนเกิน

1) สมการ : อัตราส่วนของมูลค่าส่วนเกินคือ : จำนวนของมูลค่าส่วนเกินหารด้วยจำนวนของทุนไม่คงที่

Sr = s/v

2) เมื่อ     Sr = อัตราส่วนของมูลค่าส่วนเกิน

                                v = ทุนไม่คงที่ [ค่าจ้างของแรงงาน]

                                c = ทุนคงที่

                                C = ทุนทั้งหมด

                                s = มูลค่าส่วนเกิน

                                C’ = มูลค่า

3) สมการคำนวณหาอัตราส่วนมูลค่าส่วนเกิน

                C = c + v [ทุนทั้งหมด = ทุนคงที่บวกด้วยทุนไม่คงที่]

                C’ = (c + v) + s [มูลค่า = ทุนคงที่และทุนไม่คงที่บวกด้วยมูลค่าที่เกิดจากทุนไม่คงที่]

เมื่อ c เป็นทุนคงที่ที่แสดงถึง มูลค่าของปัจจัยของการผลิตที่ถูกบริโภคอยู่ในกระบวนการผลิตและในมูลค่านั้น และเมื่อมันไม่ได้ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเติมใดๆในตัวมันเองต่อมูลค่า มันย่อมจะถูกลดทอนลงเป็นศูนย์ตามเป้าหมายของสมการ ดังนั้นแล้วรูปแบบของสมการจะเป็นดังนี้

C’ = (c + v) + s = v + s

Sr = s/v

(จ) มุมมองของมาร์กซ์ที่มีต่อบทบาทของทุนคงที่, เครื่องจักร และความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

1) มาร์กซ์กล่าวว่า “เพื่อที่จะทำให้ส่วนหนึ่งของทุนนั้นขยายมูลค่าของตัวมันเองด้วยการถูกเปลี่ยนแปลงให้กลายไปเป็นกำลังแรงงานนั้น มันมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทุนส่วนอื่นให้กลายไปเป็นปัจจัยการผลิต [เครื่องจักร]” ดังนั้นแล้วทุนคงที่นั้นจะต้องถูกขยายตัวในสัดส่วนที่เหมาะสมที่จะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละกระบวนการผลิต

2) สำหรับมาร์กซ์แล้วการเปลี่ยนแปลงของเครื่องจักรและเทคโนโลยีนั้นถือได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการการผลิตและกระบวนการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ นั่นก็เพราะเป็นเรื่องชัดเจนว่าเครื่องจักรนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดการขยายตัวของประสิทธิภาพการผลิตของแรงงาน ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีนั้นย่อมนำไปสู่เครื่องจักรที่ก้าวหน้ามากขึ้น นั่นย่อมจะนำไปสู่การลดจำนวนเวลาที่จำเป็น – นั่นคือลดปริมาณแรงงานที่จำเป็นสำหรบการผลิตลง – หรือก็คือลดเวลาที่ชนชั้นแรงงานจะใช้เพื่อผลิตซ้ำมูลค่าแลกเปลี่ยนของกำลังแรงงานของตัวเองลง หรือก็คือลดลดค่าใช้จ่ายของตัวเองเขาเองในรูปแบบของค่าจ้างลง ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่ามันเป็นผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนในการลดเวลาในการผลิตซ้ำมูลค่าแลกเปลี่ยนของชนชั้นแรงงานลงให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ด้วยการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิตที่จะทำให้เกิดเวลาส่วนเกินจากการทำงานมากขึ้น หรือกล่าวคือทำให้ชนชั้นแรงงานสามารถสร้างมูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้นจาก 4 ชั่วโมงต่อวันเป็น 5 ชั่วโมงต่อวันได้ เป็นต้น

3) ชนชั้นนายทุนนั้นยังค้นพบเครื่องจักรรูปแบบใหม่ๆจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการดึงเอาแรงงานสตรีและแรงงานเด็กเข้าสู่การจ้างงาน การจ้างงานคนกลุ่มนี้นั้นทำให้ชนชั้นนายทุนสามารถลดทอนค่าจ้างของแรงงานกลุ่มนี้ลงได้อีก อันกลายเป็นการกำหนดให้มูลค่าแลกเปลี่ยนของแรงงานนั้นถูกมองเป็นหน่วยแบบครอบครัว ไม่ใช่หน่วยเดี่ยวแบบเดิม

4) เครื่องจักรสมัยใหม่และเทคโนโลยีสมัยใหม่ในยุคสมัยของมาร์กซ์นั้นก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการขยายชั่วโมงการทำงานออกไป ดังนั้นแล้วมันจึงทำให้เกิดการขยายชั่วโมงการทำงานที่ทำให้แรงงานต้องสร้างมูลค่าส่วนเกินที่มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการขูดรีดของชนชั้นนายทุน ดังนั้นแล้วสอดคล้องตามคำกล่าวของมาร์กซ์ “เครื่องจักรนั้นได้สร้างมูลค่าส่วนเกินสัมพัทธ์ขึ้น หากแต่เครื่องจักรนั้นได้กลายเป็นสิ่งที่แพร่ขยายไปทั่วเพื่อแก้ไขปริมาณแรงงานที่จำเป็นในการผลิต ดังนั้นแล้วมูลค่าของผลผลิตจึงตกลง เมื่อนั้นมันจึงกลับไปสู่กฎเบื้องต้นที่เรากล่าวไว้ว่ามันมีแต่เพียงทุนไม่คงที่เท่านั้นที่จะสามารถสร้างมูลค่าส่วนเกินขึ้นมาได้

5) เครื่องจักรและความขัดแย้งภายในโดยสามัญของอุตสาหกรรมนิยมสมัยใหม่ : เมื่อมีการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาใช้แทนที่กำลังแรงงานในการผลิตมากขึ้นเท่าไหร่ จำนวนแรงงานมีชีวิตที่จะถูกขูดรีดได้ก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น นั่นคือการขูดรีดเอามูลค่าส่วนเกินของชนชั้นนายทุนก็จะลดลง และเพื่อที่จะทดแทนการลดลงของจำนวนการจ้างแรงงาน ผู้ที่เป็นที่มาของมูลค่าส่วนเกินนั้น ชนชั้นนายทุนจำเป็นต้องใช้งานแรงงานที่เหลืออยู่ของตัวเองอย่างเต็มที่ หรือก็คือเร่งการขูดรีดให้เข้มข้นขึ้น นั่นคือการเร่งความเข้มข้นของการทำงานและเร่งกระบวนการผลิตให้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมจากจำนวนแรงงานที่น้อยลง ชนชั้นนายทุนนั้นไม่มีทางที่จะเลือกใช้เครื่องจักรให้น้อยลงเพื่อจ้างแรงงานเพิ่ม อันที่จริงตราบเท่าที่เครื่องจักรยังสามารถทำตามหน้าที่ของมันตามที่กล่าวมาข้างต้นได้ การแข่งขันระหว่างนายทุนด้วยกันเองนั้นก็จะเป็นตัวบีบบังคับให้นายทุนต้องขยายปริมาณเครื่องจักรให้มากขึ้นเพื่อการแข่งขัน

 

6. การสะสมทุนและความตกต่ำของอัตราส่วนกำไร

(ก) สำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกทุกสำนัก ตั้งแต่ อดัม สมิธ ไปจนถึง เดวิค ริคาโด และ จากมิลล์ ถึง ตัวมาร์กซ์เองนั้น ต่างก็กล่าวถึงแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของกำไร (ผลประโยชน์, ค่าเช่า, กำไร) นั้นจะต้องตกต่ำลง

(ข) ทฤษฎีว่าด้วยการถกถอยของอัตราส่วนกำไรที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ของมาร์กซ์นั้นเป็นสิ่งที่รับเอาความคิดเชิงตรรกะมาจากบทวิเคราะห์ที่มีมาก่อนหน้า ดังนั้นแล้วเมื่อมันเกิดการสะสมทุนจากการสร้างมูลค่าส่วนเกินในการผลิตแล้ว ชนชั้นนายทุนที่กำลังแข่งขันกันเองย่อมจะต้องทำการลงทุนซ้ำมากขึ้นในทุนคงที่อย่างเครื่องจักรมากกว่าจะลงทุนในทุนไม่คงที่ (กล่าวคือ การจ้างแรงงานเพิ่ม) ดังนี้เองเมื่อเกิดการสะสมทุนขนานใหญ่ขึ้น สัดส่วนระหว่างทุนคงที่กับทุนไม่คงที่ย่อมจะขยายตัวมากขึ้น และมูลค่ารวมของทุนไม่คงที่นั้นย่อมจะขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องหากแต่ไม่ได้ขยายตัวเท่าสัดส่วนการขยายตัวของทุนคงที่ และดังนั้นแล้วจึงเท่ากับว่ามูลค่าสัมพัทธ์ของทุนไม่คงที่นั้นจะตกต่ำลง และย่อมจะส่งผลถึงการตกต่ำลงของมูลค่าส่วนเกินด้วย

(ค) สมการสำหรับการตกต่ำลงของอัตราส่วนกำไร

1) อัตราส่วนกำไร :

Pr = s/C = s/(c + v) [สมการที่ 1]

2) ‘s’ (มูลค่าส่วนเกิน) จะต้องลดลงในสมการนี้ เพราะ s นั้นจะได้รับมาก็เนื่องจาก v เพียงอย่างเดียว และดังนั้นแล้ว s จะลดลงเมื่อ c นั้นขยายตัวขึ้นอย่างสัมพันธ์กับ v แม้ว่าอัตราส่วนของมูลค่าส่วนเกิน (s/v) จะยังคงเท่าเดิมก็ตาม

3) สมการของแนวโน้มทางประวัติศาสตร์ของอัตราส่วนกำไรนั้นสามารถแสดงออกได้ในสมการดังต่อไปนี้

s/(cx1---n + vy1---n) [สมการที่ 2]

เมื่อ x > y

4) เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงจะยกคำกล่าวของมาร์กซ์ว่าด้วยความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยมมาดังนี้

“ธรรมชาติของกระบวนการสะสมทุนของระบบทุนนิยมนั้น ... เป็นการส่อแสดงถึงการขยายตัวอย่างมหาศาลของปัจจัยการผลิต ซึ่งจะถูกทำให้กลายไปเป็นทุนอันเป็นสิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนแรงงานที่ถูกจ้างเพื่อการขูดรีด หากแต่ว่ามันจะกลายเป็นปัญหาขึ้นถ้าหากกระบวนการของการผลิตนั้นเร่งการขยายตัวของเทคโนโลยีและขนาดการผลิตขึ้นอันจะทำให้ทุนคงที่นั้นขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าทุนไม่คงที่ และนั่นย่อมจะนำไปสู่การตกต่ำลงของอัตราส่วนกำไร”

(ง) ข้อเสนอแนะของมาร์กซ์ว่าด้วยการตอบโต้ปัญหาการตกต่ำของอัตราส่วนกำไร

1) เพิ่มความเข้มข้นของการขูดรีดแรงงานขึ้น

2) พยายามหาปัจจัยสำหรับการดำรงชีพที่ถูกลงสำหรับแรงงานเพื่อที่จะพยายามตัดลดค่าจ้างให้ถูกลงกว่าเดิม

3) ปรับลดค่าใช้จ่ายสำหรับองค์ประกอบของทุนคงที่ ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และด้วยการขยายปริมาณของการผลิต

4) ขยายพื้นที่การค้าข้ามภูมิภาค และดูแลให้พื้นที่เมืองอาณานิคมนั้นต้องบรรลุเป้าประสงค์ดังต่อไปนี้

(1) ทำการผลิตปัจจัยการผลิตที่จำเป็น, วัตถุดิบ, อาหารในราคาถูก

(2) ขยายปริมาณการผลิตด้วยการขยายตลาดการค้า

 

7.มโนทัศน์ว่าด้วยทุนนิยมผูกขาด, ความเสื่อมถอย และวิกฤต

(ก) การสร้างมูลค่าส่วนเกินนั้นเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การสะสมทุน ที่จะนำไปสู่การผสานรวมกันในรูปแบบของทุนขนาดใหญ่ ที่จะก่อให้เกิดการกลืนกินกลุ่มทุนขนาดเล็กอื่นๆไป และนั่นจะนำไปสู่กระบวนการเข้มข้นขึ้นของทุนที่ถูกถือครองเอาไว้ในมือของผู้ผูกขาดเพียงไม่กี่คน ผลลัพธ์ของมันนั้นก็คือระบบทุนนิยมผูกขาด เมื่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่นั้นสามารถผลิตสินค้าที่มีราคาถูกและผลิตได้รวดเร็วกว่ากลุ่มทุนขนาดเล็ก และสามารถผลิตและส่งออกสินค้าเหล่านั้นเข้าสู่ตลาดได้มากกว่าเมื่อนั้นกลุ่มทุนขนาดเล็กย่อมจะพ่ายแพ้และถูกกลืนกินโดยกลุ่มทุนใหญ่ในที่สุด

(ข) ความพยายามในการจัดการปัญหาการตกต่ำของอัตราส่วนกำไรของบรรดากลุ่มทุนใหญ่นั้นทำได้เพียงแต่บรรเทาวิกฤตเพียงชั่วคราวเท่านั้น และกระบวนการแก้ไขนี้ก็ยังดำเนินการไปพร้อมๆกับการขูดรีดแรงงานของนายทุนด้วย นั่นคือการพยายามลดค่าจ้างลงให้มากที่สุดเพื่อที่จะได้รับมูลค่าส่วนเกินให้มากที่สุด ปัญหาคนว่างงานนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงาน รวมถึงการขยายตัวของจำนวนประชากรเนื่องจากพัฒนาการทางเศรษฐกิจนั้นจะทำให้เกิดคนว่างงานจำนวนมหาศาลขึ้น และนั่นย่อมจะนำไปสู่การที่ชนชั้นนายทุนจะยิ่งลดค่าแรงลงให้มากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

(ค) การเติบโตของทุนนิยมผูกขาด ด้วยการขยายตัวของทุนคงที่แลกกับการลดลงของทุนไม่คงที่ นั้นจะเร่งให้เกิดกระบวนการของความทุกข์ทรมานมากขึ้นรวมถึงการกดขี่ชนชั้นแรงงานที่จะรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การปฏิวัติ กลายเป็นการจุดระเบิดเปลวไฟแห่งการปฏิวัติขึ้นเมื่อ ผู้กดขี่นั้นจะถูกเอาคืนโดยผู้ถูกกดขี่ ซึ่งนั่นคือจุดสูงสุดของความขัดแย้งภายในของระบบทุนนิยม. [ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 1, หน้า 685-703. และ ว่าด้วยทุน, เล่มที่ 3, หน้า 308-310.]

 

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.