ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง
[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Being Looted?]
By David Sirota
Translated By Jakkapon P.
พาดหัวข่าวใหญ่ในวันนี้ล้วนแล้วแต่พูดถึงประเด็นการปล้นชิงและการใช้ความรุนแรง – โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดขี่ใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรณีของมินนีแอโปลิส (Minneapolis) เมื่อวิดิโอบันทึกเหตุการณ์ที่ตำรวจมินนีแอโปลิสใช้กำลังเข้าจับกุมพลเมืองชาวแอฟริกันอเมริกันจนถึงแก่ความตายถูกเผยแพร่ออกไป ในสังคมสมัยใหม่นั้นคำว่า “ปล้นชิง” (Looting) นั้นถูกนำไปใช้ในหลากหลายทาง – มันเป็นคำที่ถูกนำมาใช้พร้อมกับความหมายในเชิงเชื้อชาติและชนชั้นด้วย และเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าคำศัพท์อย่างคำว่า “ปล้นชิง” นี้เองเป็นตัวอย่างของคำศัพท์ที่ถูกนำมาใช้โดยสื่ออยู่บ่อยครั้งเพื่อที่จะกล่อมเกลาให้เราคิดถึงแต่เรื่องของเศรษฐกิจ, อาชญากรรม และการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเฉพาะเจาะจง (กล่าวคือคำว่า “ปล้นชิง” นี้จะถูกนำมาใช้เฉพาะแต่กรณีข่าวอาชญากรรม ที่กล่อมเกลาให้เราคิดว่ามีแต่คนบาง “ชนชั้น” หรือ “เชื้อชาติ” เท่านั้นที่จะกระทำการปล้นชิง อาจกล่าวได้ว่านี่คือการเมืองเรื่องภาษา – ผู้แปล)
เมื่อชนชั้นแรงงานทำการฉกฉวยเอาสิ่งของไปจากร้านสะดวกซื้อ พวกเขาจะถูกแปะป้ายว่ากำลังกระทำการ “ปล้นชิง” แต่ในทางกลับกันเมื่อบรรดาคนร่ำรวยและบรรษัททั้งหลายฉกชิง (stealing) เอาเงินนับพันล้านไประหว่างที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือการต่อสู้ทางชนชั้นนั้นการกระทำนี้จะถูกเรียกว่าเป็น “นโยบายสาธารณะ” ที่ดีเยี่ยมและเหมาะควรยิ่ง – โดยที่การกระทำดังกล่าวนี้ล้วนได้รับการสนับสนุนและผลักดันโดยบรรดานักการเมืองฉ้อฉลในวอร์ชิงตันที่แกล้งทำเป็นสร้างฉากเพื่อช่วงชิงโอกาสในการเอื้อประโยชน์ให้บรรดานายทุน
การจะทำความเข้าใจอย่างจริงจังต่อสิ่งที่เรากำลังเสนอนี้ กล่าวคือการทำความเข้าใจในการพิจารณาหาสาเหตุว่าเพราะเหตุใดคำศัทพ์ “ปล้นชิง” นี้จึงแทบไม่ถูกใช้ไปเพื่อบรรยายถึงการปล้นชิงทรัพย์สินที่กลายมาเป็นรูปแบบวัฏจักรนโยบายของรัฐบาลทั้งหลายในระดับมหภาคนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ไกลยิ่งกว่าการทำความเข้าใจต่อเหตุของการนำคำนี้มาใช้กับเหตุการณ์ทำลายทรัพย์สินของรัฐระหว่างการเกิดจราจล
อันที่จริง หากคำว่าปล้นชิงนี้ถูกนิยามความหมายเอาไว้ในพจนานุกรมว่าหมายถึง “การกระทำเพื่อแย่งชิงเอาทรัพย์สินในระดับมหาศาล” โดยเปลี่ยนไปใช้คำว่าคอร์รัปชั่นแทนแล้ว นี่คือตัวอย่างสิบเรื่องที่มีการปล้นชิงตามความหมายในพจนานุกรมหากแต่กลับไม่เคยถูกเรียกว่าเป็น “การปล้นชิง” เลยแม้แต่ครั้งเดียว
- “ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาตัดสินใจออกเงินอุ้มกลุ่มนักลงทุน” – ขอบคุณการอุดหนุนงบประมาณปริมาณมหาศาลจากภาครัฐ ที่ทำให้บรรษัทขนาดใหญ่อย่างโบอิ้ง และ คาร์นิวัล ครุยซ์ ไม่ต้องทำการหาเงินพยุงกิจการด้วยตัวเอง – และสามารถหลีกเลี่ยงการรักษาการจ้างงานได้
- “บรรดามหาเศรษฐีได้รับผลประโยชน์คืนราว 80% จากนโยบายเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีอันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิท” – ความเปลี่ยนด้านการจัดเก็บภาษีนี้จะทำให้เจ้าของกิจการทั้งหลายสามารถลดหย่อนหรือหักภาษีบางอย่างออกได้ และนั่นจะทำให้พวกเขาได้รับเงินภาษีคืนราว 82 พันล้านดอลลาห์จากมาตรการลดหย่อยภาษีในปี 2020
- “เงินอุ้มล่องหน รัฐขุดเงินหลายล้านดอลลาห์จ่ายให้บริษัทน้ำมัน” – บทบัญญัติในกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 2.2 ล้านล้านดอลลาห์ นั้นจะเอื้อให้เกิดการลดหย่อนภาษีบางประการแก่บรรดาบรรษัททั้งหลาย ... ความเปลี่ยนแปลงทางภาษีนี้ไม่ได้มุ่งหมายเอื้อประโยชน์ให้แต่อุตสาหกรรมน้ำมันเพียงอย่างเดียว หากแต่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมแบบที่เป็นอยู่ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากมาตรการนี้
- “มาตรการทางภาษี คือขุมทรัพย์มหาศาลที่ซ่อนตัวอยู่ในมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” – ภายในบทบัญญัติของมาตรการฟื้นฟูเศณษบกิจที่ผ่านออกมาเป็นกฎหมายเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา รัฐบางกลางได้มอบเงินจำนวน 174 พันล้านดอลลาห์คืนให้แก่บรรดาคนร่ำรวยผ่านมาตรการลดหย่อนทางภาษี
- “บรรดาเจ้าของกิจการโรงพยาบาลได้รับเงินนับพันล้านในมาตรการอุ้มของรัฐเพื่อสร้างความพร้อมด้านสาธารณสุข” - บรรดาเครือข่ายเจ้าของกิจการโรงพยาบาลเอกชนนั้นได้รับเงินมากกว่า 5 พันล้านดอลลาห์จากรัฐบาลกลางถึงม้ว่าโรงพยาบาลเหล่านั้นจะยังคงมีกระแสเงินสดในมือมากกว่า 100 พันล้านดอลลาห์ (กรณีนี้อาจจะต้องทำความเข้าใจว่า โรงพยาบาลของสหรัฐอเมริกามีลักษณะเป็นโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก และโรงพยาบาลเหล่านี้กลายเป็นกำลังหลักไม่ใช่โรงพยาบาลรัฐแบบในประเทศไทย ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกลางจ่ายงบประมาณให้แก่โรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นที่น่าสนใจว่าคนที่รับประโยชน์จริงๆคือบรรดาเจ้าของโรงพยาบาลและผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ประชาชนที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่ค่ารักษาแพงลิบลิ่วนี้ – ผู้แปล)
- “สายการบินต่างๆ ได้รับการทุ่มเงินอุ้มกิจการโดยรัฐ” – งบประมาณรัฐกว่า 50 พันล้านดอลลาห์ถูกใช้ไปเพื่อประคับประคองอุตสาหกรรมการบินนี้นับว่าเป็นของขวัญชิ้นมหึมาจากผู้เสียภาษีที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นในกิจการการบิน
- “บรรษัทขนาดใหญ่เข้าแย่งชิงเงินอุดหนุนสำหรับธุรกิจขนาดย่อมในโครงการเงินกู้เพื่อกิจการรายย่อย” – โครงการคุ้มครองประกันเงินรายเดือนนั้นถูกเสนอขึ้นเพื่อช่วยเหลือละปกป้องบรรดากิจการขนาดเล็กจากการพังทลายภายใต้สถานการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่สภาวะถอถอย ... หากทว่าบรรดาบรรษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรน้อยพร้อมด้วยปัญหาด้านการเงินและกฎหมายกลับเข้าข่ายเป็นกลุ่มบริษัทที่จะได้รับเงินข่วยเหลือนี้ด้วยและนั่นทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้เข้ามาชิงเอาเงินช่วยเหลือไปจากกิจการรายย่อย
- “บริษัทมหาชนได้รับงบประมาณ 1 พันล้านดอลลาห์ทั้งที่มันควรเป็นงบอุดหนุนให้ธุรกิจขนาดเล็ก” – กิจการที่ได้รับเงินอุดหนุนนี้ประกอบไปด้วยบริษัทรวม 43 แห่งที่มีลูกจ้างมากกว่า 500 คน ซึ่งบรรดาบริษัทเหล่านี้ต่างมีสถานะทางการเงินที่ดีถึงขั้นที่จ่ายเงินเดือนให้ผู้บริหารระดับสูงได้ถึง 2 ล้านดอลลาห์ต่อคน หากแต่กลับเข้ามารับเงินอุดหนุนจากรัฐ
- “บรรษัทที่ไม่ได้เข้าข่ายมาตรการลดหย่อนทางภาษีจากรัฐบาล ควรได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกลาง” – มีการเสนอว่าบริษัทที่ไม่เข้าข่ายหรือไม่ได้รับการพิจารณาให้รับผลประโยชน์จากมาตรการของรัฐนั้นควรจะได้รับการพิจารณาเพื่อรับมาตรการช่วยเหลือใหม่ของธนาคารกลาง หรือของรัฐเพิ่ม
- “มาตรการอุ้มเค สตรีท” (The K street – หมายถึงศูนย์กลางของบรรดาล็อบบี้ยิสต์ในวอร์ชิงตัน) – บรรดานักล็อบบี้ยิสต์นั้นต่างก็ได้รับการประกันเงินช่วยเหลือ เมื่อบรรดาบรรษัททั้งหลายได้รับการประกันเงินอุ้มจากรัฐ กล่าวคือบรรษัททั้งหลายนั้นได้รับการฟื้นฟูและเยียวยาจากมาตรการของคณะกรรมการธนาคารกลาง ซึ่งนั่นทำให้บรรดาล็อบบี้ยิสต์ทั้งหลายสามารถเดินหน้าล็อบบี้เพื่อหาเงินฟรีได้
เหตุการณ์ทั้งสิบข้อที่เรายกมานี้เรียกได้ว่าเป็นการปล้นชิงที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลก ทั้งนี้ก็เพราะในขณะที่คนกว่าห้าร้อยล้านคนทั่วโลกนั้นกำลังจะถูกผลักเข้าสู่ภาวะความอดอยากยากจน และพลเมืองอเมริกันกว่า 43 ล้านคนกำลังจะไม่ได้รับความคุ้มครองในประกันด้านสุขภาพ หากแต่เรากลับพบว่าตามรายงานข่าวของ CNBC กล่าวว่า “มีการคาดการณ์ว่าบรรดามหาเศรษฐีชาวอเมริกันนั้นน่าจะได้รับผลตอบแทนราว 434 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ ในระหว่างมาตรการล็อคดาวน์ช่วงกลางเดือนมีนาคม – พฤษภาคม”
และหากว่าคุณคิดว่าการฉกชิงเอาทรัพยากรที่เกิดขึ้นนี้ยังไม่เด่นชัดพอ การปล้นชิงนี้ได้แสดงตัวเองออกมาให้เห็นอย่างโจ่งแจ้งอีกครั้ง เมื่อประธานาธิบดีทรัมพ์ ได้ออกมาตรการงดการจัดเก็บภาษีผลได้จากทุนสำหรับกลุ่มนักลงทุน ในขณะที่ New York Times รายงานว่า Nancy Pelosi ได้นำเสนอว่า “การออกมาตรการดังกล่าวนี้จะเป็นการเอื้อผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้มีรายได้สูง”
เราไม่เรียกบรรดาการกระทำเหล่านี้ว่า “การปล้นชิง” เพราะมันเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นอย่างเงียบเชียบในอาคารหินอ่อนอันสวยงามท่ามกลางมหานครวอร์ชิงตันและนิวยอร์ค
เราไม่เรียกบรรดาการกระทำเหล่านี้ว่า “การปล้นชิง” เพราะบรรดาผู้ปล้นชิงนั้นสวมชุดสูทสั่งตัดอย่างดี และมีท่าทีสุภาพมากเท่ากับความกระหายที่จะฉกฉวยเอาทุกสิ่ง
เราไม่เรียกบรรดาการกระทำเหล่านี้ว่า “การปล้นชิง” ปต่เราควรต้องเรียกมันว่าการปล้นชิง – เพราะมันกำลังฉีกกระชากองค์ประกอบทางสังคมของเรา ทำลายล้างระบบเศณษบกิจของเรา และกำลังผลักให้สังคมของเราเข้าสู่สภาวะวิกฤตและโกลาหล.