Skip to main content

เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้

[When Rioting Works]

By Paul Heideman

Translated By Jakkapon P.

 

บรรดานักเสรีนิยมอเมริกันนั้นต่างก็กระตือรือล้นอย่างยิ่งในการประกาศตัวว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามและไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของขบวนการประท้วงเพื่อต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในปัจจุบัน (ขบวนการ black protest) ในทางหนึ่งนั้นบรรดานักเสรีนิยมวาดภาพฝันในหัวว่าตนเองนั้นเป็นเพื่อนผู้แสนดี (หรือในคำศัพท์ร่วมสมัยที่ใช้คำว่า “พันธมิตร” หรือ “แนวร่วม”) ที่ร่วมต่อสู้ผลักดันให้เกิดความเสมอภาพทางเชื้อชาติและเกิดการรับสิทธิคนผิวสีขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งนั้นข้อเท็จจริงคือขบวนการเสรีนิยมถอนตัวออกจากการเป็นแนวร่วมประเด็นเรื่องเชื้อชาติ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1930 และมีแนวโน้มจะหันไปสู่การเป็นฝ่ายปฏิกิริยา

และเนื่องมาจากการลุกฮือประท้วงที่เกิดขึ้นอันส่งผลสั่นกระเทือนหลายเมืองทั่วประเทศนี้ ความคิดที่ย้อนแย้งกันเองของบรรดานักเสรีนิยมอเมริกันก็ถูกเปิดเผยให้เห็นอีกครั้ง การพยายามอันน่าสมเพชของบรรดาเสรีนิยมพวกนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยการพยายามรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการประท้วง และพร้อมกันนั้นก็ประณามและโจมตีการลุกฮือขึ้นประท้วง อย่างเช่น ความคิดอันไร้สาระที่เสนอว่า การทำลายทรัพย์สินทั้งหลายนั้นเป็นการกระทำของ “พวกนักอนาธิปไตยผิวขาว” นอกจากนี้พวกเขายังสำรอกเอาความคิดอย่างการพยายามทำให้การใช้ความรุนแรงในการปราบปรามของตำรวจเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลขึ้นมา บรรดาความคิดเหล่านี้ส่งอิทธิพลอย่างยิ่งในการเบียดขับเอารูปแบบการเคลื่อนไหวอื่นๆในการประท้วงที่ไม่ตรงใจของพวกเสรีนิยมออกไป

บรรดานักคิดบางคนยังได้พยายามนำเสนอความคิดและอถลงจุดยืนว่าพวกเขานั้นรู้สึกไม่สบายใจต่อการลุกฮือ ด้วยการเสนอว่าการลุกฮือและการจลาจลนั้นไม่ว่าเหตุผลของการประท้วงคืออะไรท้ายที่สุดแล้วมันจะเป็นกลไกในการช่วยขยายอำนาจให้พวกปฏิกิริยาและฝ่ายขวาจัดทั้งสิ้น ดังเช่นที่นักรัฐศาสตร์นามว่า Omar Wasow นำเสนอผ่านหนังสือพิมพ์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การก่อจลาจลในช่วงทศวรรษที่ 1960 นั้นทำให้เกิดความกลัวในหมู่คนผิวขาวและทำให้พวกเขาหันไปลงคะแนนเสียงให้ประธานาธิบดีนิกสัน (Nixon)

ข้อเขียนของ Wasow นี้ต้องนับว่าเป็นงานเขียนทางรัฐศาสตร์ที่เข้มงวดอย่างยิ่ง และข้อสรุปของมันนั้นไม่ได้ยืนอยู่บนเรื่องของการวิพากษ์ มันมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่การลุกฮือในทศวรรษที่ 1960 นั้นจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการหันไปสนับสนุนนโยบายและแคมเปญหาเสียงของนิกสัน

ข้อเขียนดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม มีใครหลายคนพยายามขยายผลของงานเขียนนี้ให้ขยับไปไกลกว่านั้น Ross Douthat นักเขียนหัวอนุรักษ์นิยมของ New York Times นำข้อเขียนนี้มาเสนอว่านักเสรีนิยมนั้นมีภารกิจพิเศษที่จะต้องขัดขวางการจลาจลหากพวกเขาต้องการป้องกันการขยายตัวของปฏิกิริยาโต้กลับทางการเมือง

ในช่วงสองสัปดาห์ก่อน บรรดาเสรีนิยมนั้นต่างพากันวิจารณ์ทรัมป์อย่างรุนแรงในเรื่องมาตรการบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ผิดพลาด กระนั้นก็ตามพวกเสรีนิยมก็ยังยืนยันว่าประสบการณ์ในยุค 60 นั้นบอกพวกเขาแล้วว่าการจลาจลเป็นสิ่งที่ถ่วงรั้งความเจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ ความคิดที่ว่าการประท้วงหรือการจลาจลจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปนั้นเป็นความคิดที่ซับซ้อนจนเกินไปและมันไม่เคยมีอยู่ในหัวของพวกเสรีนิยม

ลองพิจารณาตัวอย่างนี้ ขบวนการเคลื่อนไหวอย่าง Black Lives Matter (BLM) ที่เกิดการลุกฮือในปี 2014-2015 ที่มีศูนย์กลางอยู่ใน เฟอร์กูสัน, มิสซูรี และ บัลติมอร์ รัฐแมรีแลนด์ สำหรับมุมมองของ Douthat แล้วการลุกฮือนี้เป็นการเร่งให้เกิดความกระตือรือล้นของพวกอนุรักษ์นิยมในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูประบบราชทัณฑ์และสร้างคะแนนนิยมให้ทรัมป์

หากแต่มันมีเค้าเงื่อนที่บ้ำค่าอย่างมากสำหรับการเสนอความเห็นนี้ อันที่จริงแล้วจากการสำรวจความคิดเห็นด้วยทั่วไปในนั้นข้อมูลที่ได้รับมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าการลุกฮือที่เรากล่าวในย่อหน้าก่อนทำให้เกิดความคิดก้าวหน้ามากขึ้นในสังคม (มากกว่าจะเป็นการเกิดความคิดแบบขวาจัดตามที่พวกเสรีนิยมอ้าง – ผู้แปล) ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันวิจัย PEW (Pew Research Center) ได้ทำการสำรวจโดยสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่า คุณคิดเห็นว่ารัฐได้ผลักดันและยืนยันการคุ้มครองความเสมอภาคระหว่างคนผิวขาว-ผิวสีมากพอแล้ว หรือคิดว่ารัฐควรจะผลักดันให้เกิดความเสมอภาคยิ่งขึ้นกว่านี้ ผลการสำรวจที่ออกมานั้นแสดงให้เห็นอิทธิพลของขบวนการ BLM อย่างชัดเจน

 

 

ในหมู่ประชากรทั้งหมด ช่วงปี 2014 ถึง 2015 นั้นเป็นช่วงเวลาที่เกิดการก้าวกระโดดของการแสดงความเห็นจากประชาชนว่ารัฐควรจะเปลี่ยนแปลงเพื่อออกมาตรการคุ้มครองและรับรองความเสมอภาคทางสิทธิ์ อัตราการก้าวกระโดดนี้อาจจะดูน้อยมากหากนับเฉพาะการสอบถามความเห็นจากกลุ่มคนผิวขาว แต่กระทั่งในการสำรวจความเห็นในหมู่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ก็ยังแสดงให้เห็นว่ามันมีการก้าวกระโดดอย่างชัดเจนในความเห็นของประชาชนว่ารัฐควรจะมีมาตรการบางอย่างที่จำเป็นเพื่อสร้างความเสมอภาคทางเชื้อชาติ ขณะที่การสำรวจและวิจัยความเห็นอื่นๆอีกหลายชิ้นก็ยืนยันถึงอิทธิพลของขบวนการ BLM เช่นกัน

ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ที่ผ่านมา กรณีที่เกิดในเฟอร์กูสันและบัลติมอร์นั้นไม่ใช่สิ่งพิเศษ เพราะมันมีหลักฐานอยู่มากมายในประวัติศาสตร์ว่าการต่อสู้ การประท้วง หรือกระทั่งการจลาจลนั้นจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าขึ้น งานศึกษาชิ้นหนึ่งยืนยันว่าภายหลังการลุกฮือของ Rodney King ที่เกิดขึ้นในลอส แองเจอลิส การประท้วงและการจลาจลนั้นทำให้เกิดความตื่นตัวในการเลือกตั้งและออกเสียงเลือกพรรคเดโมแครต พร้อมข้อเรียกร้องให้มีโรงเรียนรัฐบาล

สำหรับกรณีของสหราชอาณาจักร การประท้วงและจลาจลที่เกิดขึ้นในช่วง 1990 เมื่อมากาเรต แทรชเชอร์พยายามจะออกกฎหมายให้มีการจัดเก็ยภาษีอัตราถดถอย และแม้ว่าในช่วงเวลานั้นพรรคแรงงานอังกฤษจะถูกครอบงำด้วยกระแสความคิดที่ตราหน้าการประท้วงและการก่อจลาจลว่าเป็นการกระทำแบบ “อนาธิปไตย” ก็ตาม แต่การรณรงค์ทางการเมืองก็เริ่มต้นขึ้น ตามมาด้วยการประท้วง ความไม่สงบ และการเดินขบวนเพื่อต่อต้านกฎหมายภาษีดังกล่าว ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ได้ส่งผลให้เกิดวิกฤตแก่พรรคอนุรักษ์นิยมและนั่นทำให้มันตามมาด้วยการยุติการออกกฎหมายดังกล่าวและแทรตเชอร์ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

กระทั่งกรณีการลุกฮือประท้วงในทศวรรษที่ 1960 นั้นก็มีความสลับซับซ้อนมากกว่าในเรื่องเล่าของพวกเสรีนิยมที่กล่าวกันว่าการลุกฮือนั้นทำให้ผู้คนหวาดกลัวจนหันไปเลือกนิกสัน สิ่งหนึ่งที่ต้องยืนยันก็คือการประท้วงและการจลาจลที่เกิดขึ้นนั้นทำให้รัฐบาลต้องกำหนดงบประมาณรายจ่ายและกระจายงบประมาณเหล่านั้นลงไปยังเมืองต่างๆที่ไม่เคยได้รับหรือได้รับงบน้อยมากในยุคก่อนหน้า หนังสือเรื่อง Black Violence ของ James W. Button ที่ตีพิมพ์ในปี 1978 นั้นได้รวบรวมข้อมูลเอามาแสดงไว้อย่างครบถ้วนว่าการประท้วงและการจลาจลนั้นเป็นวิถีทางที่จะทำให้บรรดาผู้มีอำนาจและผู้กำหนดนโยบายหันมาให้คามสนใจต่อกลุ่มคนยากจนและคนจนเมือง อันเป็นกลุ่มประชากรที่ถูกรัฐละเลยและมองข้ามเสมอมา ในขณะที่นักรัฐศาสตร์หลายคนมองว่าขบวนการประท้วงนั้นเป็นการกระทำแบบจิตวิทยาหมู่ แต่ Button ได้แสดงให้เห็นว่าการประท้วงและการจลาจลนั้นเป็นการตอบโต้อย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อการถูกมองข้าม

งานวิจัยหลังจากนั้นได้แสดงให้เห็นว่าการประท้วงและการจลาจลนั้นสามารถช่วยให้เกิดการเพิ่มงบประมาณด้านสวัสดิการรัฐได้ กระทั่งในพื้นที่ที่มีกลุ่มคนขาวเหยียดสีผิวอยู่มากก็ตาม กล่าวในอีกมุมได้ว่า ต่อให้การประท้วงและการจลาจลทำให่ความคิดของคนผิวขาวขยับไปสู่ความเป็นอนุรักษ์นิยม แต่พร้อมกันนั้นมันก็ได้นำมาซึ่งผลประโยชน์อันสำคัญในเชิงก้าวหน้าไปยังพื้นที่ต่างๆด้วยเช่นกัน

แม้ว่าผลกระทบในทางการเมืองของการประท้วงและการจลาจลนั้นจะมีความซับซ้อนมากกว่าเรื่องเล่าผ่านนิทานศีลธรรมของพวกเสรีนิยม หากแต่มันก็ยังมีเซนส์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ด้วย กล่าวคือไม่ว่าการประท้วงจะก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองในมิติไหนก็ตาม หากแต่การประท้วงและการจลาจลนั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายเมืองทั่วอเมริกา เมื่อผู้คนถูกไล่ที่ (กรณีนี้เกิดในอเมริกาตั้งแต่หลังวิกฤต 2008 คือคนจำนวนมากถูกไล่ออกจากที่พักอาศัยของตนเอง อันเนื่องมาจากไม่มีเงินจ่ายค่าผ่อนบ้าน หรือจ่ายดอกเบี้ย – ผู้แปล) เมื่อพวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อพวกเขาเห็นว่าเพื่อนร่วมชาติถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และเมื่อระบบการเมืองนั้นไม่สนใจใยดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา มั่นใจได้เลยว่าไม่ช้าก็เร็วพวกเขาจะควบรวมเอาปัญหาที่เผชิญอยู่ให้กลายเป็นวาระระดับชาติไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหนก็ตาม

เหมือนที่ Cardi B (ศิลปินอเมริกัน – ผู้แปล) กล่าวอย่างตรงไปตรงมาในวิดิโอของเธอว่า “คุณรู้ไหมว่าการได้เห็นผู้คนออกไปประท้วง ก่อจลาจล ปล้นสะดม มันทำให้ฉันรู้สึกแบบว่า เออ! เอาสักทีสิวะ! ในที่สุด! ในที่สุด! ไอ้พวกเวรตะไลนั่นมันจะได้หันมาฟังเสียงของพวกเราสักที” (ข้อความต้นฉบับ - Seeing people looting, and going extremely outraged, you know, it makes me feel like yes! Finally! Finally, motherfuckers is gonna hear us now.) และแม้ว่าพวกเสรีนิยมจะดาหน้ากันออกมาพูดถึงคุณค่าความสำคัญของการรับฟังซึ่งกันและกันในเวลาแบบนี้ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะที่ผ่านมาพวกเขาแสดงให้เราเห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่ได้สนใจจะรับฟังมันจริงๆ.

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.