ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่
[Young People Today are uniquely radical because Capitalism has failed them]
By Luke Savage
Translated By Jakkapon P.
ความเข้าใจหรือความเชื่อว่าคนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาวจะเป็นฝ่ายซ้าย และบรรดาคนแก่นั้นจะต้องเป็นพวกอนุรักษ์นิยมนั้นเป็นเพียงมายาคติและความเข้าใจผิดๆ เพราะหากเราพิจารณาบริบทในปัจจุบันแล้วย่อมเห็นได้ว่าการที่คนรุ่นมิลเลนเนียมและคนในเจเนอเรชั่น Z กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแหลมคมมากขึ้นนั้นไม่ใช่เพราะพวกเขาเป็นคนหนุ่มสาว หากแต่เป็นเพราะระบบทุนนิยมหักหลังพวกเขา
ไม่กี่ปีก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาของขบวนการเคลื่อนไวอนุรักษ์นิยมแคนาดา ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหัวอนุรักษ์นิยมที่มีชื่อเสียงหลายคนได้เข้าร่วมการสัมมนานี้ ในระหว่างช่วงการแลกเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการได้ถามวิทยากรที่ขึ้นพูดแต่ละคนว่า พวกเขามีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ความคิดแบบอนุรักษ์นิยมของพวกเขากลายเป็นความคิดที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาว คำตอบที่ได้รับจากวิทยากรท่านหนึ่งทำให้ผมในฐานะของนักสังคมนิยมที่นั่งอยู่ในห้องสัมมนารู้สึกเย้ยหยันต่อคำตอบนั้นเป็นที่สุด เพราะคำตอบที่ได้รับคือการตอบว่า “คนรุ่นใหม่รักในเสรีภาพ และพวกเรานักอนุรักษ์นิยมก็รักเสรีภาพเช่นเดียวกัน”
ไม่ว่าการพูดเรื่อยเปื่อยดังกล่าวนั้นจะต้องการสื่อถึงเสรีภาพในความหมายไหนก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ชัดเจน – ไม่ว่าจะในอดีตหรือในปัจจุบัน – ก็คือคำว่า “เสรีภาพ” ที่บรรดาคนรุ่นใหม่ส่วนมากที่หันหลังให้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยมรับรู้นั้นเป็นคำที่มีนัยทางความหมายแตกต่างอย่างยิ่งกับคำที่บรรดาวิทยากรอนุรักษ์นิยมพูดบนเวที ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 นั้นนอกเหนือจากการออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่สูงขึ้นของคนรุ่นใหม่แล้ว เรายังได้เห็นว่าคะแนนเสียงของคนอายุ 18-24 ที่เลือกพรรคอนุรักษ์นิยมนั้นต่ำกว่าเมื่อเทียบกับพรรคกลาง-ขวา (centrist Liberals) และ พรรคสังคมประชาธิปไตย (social-democratic NDP) อยู่มาก
ต้องยอมรับว่าอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของคนรุ่นใหม่นั้นมีส่วนร่วมในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านผลการเลือกตั้งนี้
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือบรรดานักการเมืองอนุรักษ์นิยมเหล่านี้เชื่อมร้อยเรื่องเล่าว่าด้วยเสรีภาพของตนเองเข้ากับคุณค่าเสรีภาพที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด หากแต่มันเป็นเพียงการพูดเชื่อมโยงแบบลวกๆอย่างผิวเผินเท่านั้น คนในรุ่นเจเนอเรชั่น x (Gen-Xers) อันเป็นกลุ่มประชากรที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางยุคสมัยอันรุ่งเรืองหลังสงคราม และเริ่มต้นเข้าช่วงวัยที่มีส่วนร่วมทางการเมืองในบรรยากาศของยุคสมัยแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศณษฐกิจ (อย่างน้อยก็ต้องนับว่าเจริญรุ่งเรืองกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน) มันคือยุคสมัยที่นโยบายรัฐสวัสดิการคือฉันทามติร่วมกันทางการเมือง ในขณะที่ลัทธิแบบเคนเชียน (Keynesianism) เป็นฉันทามติร่วมกันในทางเศรษฐกิจ
ภายใต้บรรยากาศแบบที่เรากล่าวไปข้างต้นนี้ มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะมองเห็นว่าความคิดที่เราเรียกว่า เสรีนิยมใหม่ ซึ่งทรงอิทธิพลสูงในปัจจุบัน จะสามารถดึงดูดและครอบงำความคิดของกลุ่มคนที่ออายุน้อยกว่า 30 ปีได้อย่างง่ายดาย อุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่นั้นไหลรวมและผสานตัวเองเข้ากับจิตวิญญาณแบบปัจเจกชนนิยมของยุค 1960 พร้อมกับปรับเปลี่ยนสารัตถะของมันอย่างมโหฬารผ่านภาษาแบบตลาดและวิธีคิดทางการเมืองแบบฝ่ายกลาง อุดมการณ์แบบเสรีนิยมให้คำมั่นถึงการปลดแอกออกจากโซ่ตรวนของรัฐที่เข้ามาแทรกแซง พร้อมกันนั้นเสรีนิยมใหม่ยังประสบความสำเร็จในการกล่าวโทษว่าวิก๖ทั้งหลายและความเสื่อมโทรมของสังคมเกิดมาจากการที่รัฐมีขนาดและอำนาจที่ใหญ่มากเกินไป กล่าวให้ตรงประเด็นกว่านั้นอุดมการณ์แบบเสรีนิยมใหม่เติบโตมากขึ้นภายหลังจากที่คนในเจเนอเรชั่น x ได้ดื่มด่ำกับดอกผลของระบบสังคมประชาธิปไตยยุคหลังสงครามมาหลายสิบปีแล้ว กล่าวคือการดื่มด่ำกับนโยบาย การกระจายความเจริญมั่งคั่ง, การขึ้นค่าแรง, ระบบการศึกษาระดับมัธยมและมหาวิทยาลัยที่เป็นรัฐสวัสดิการหรือเข้าใกล้การเป็นรัฐสวัสดิการ ฯลฯ ภายใต้บริบทนี้เองที่บรรดานักอนุรักษ์นิยมได้พยายามสร้างมุมมองทางการเมืองและโลกทัศน์ของตนเองขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้สึกหรือโน้มเอียงไปทางอุดมการณ์แบบที่กล่าวมา เราจะเห็นได้จากการที่ผู้คนจำนวนมากออกมาโต้ตอบการปฏิปักษ์ปฏิวัติของกลุ่มฝ่ายขวาอย่างรุนแรงในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 หากแต่เมื่อเราพิจารณาเหตุการณ์ในช่วงดังกล่าวอย่างถี่ถ้วนว่าใครบ้างที่กล้าออกมาเคลื่อนไหวและมีจำนวนมากเท่าไหร่ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นี้จะช่วยให้เราแก้ไขความเข้าใจผิดว่าคนรุ่นใหม่จะต้องเป็นกลุ่มคนหัวก้าวหน้า ในขณะที่คนแก่จะเป็นอนุรักษ์นิยมได้อย่างดียิ่ง ความเข้าใจผิดที่เราพูดถึงนี้กลายเป็นมโนทัศน์หลักในการทำความเข้าใจหรือสร้างความเข้าใจความรับรู้เกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของปัจเจกบุคคลทั่วไป ซึ่งถูกสรุปออกมาเป็นวลีอันโด่งดังของ Winston Churchill ที่กล่าวว่า “เมื่อคุณอายุได้ 25 ปีหากคุณไม่เป็นพวกเสรีนิยมคุณก็เป็นคนไม่มีหัวใจ แต่เมื่ออายุได้ 35 ปีหากคุณยังไม่เป็นพวกอนุรักษ์นิยมคุณก็เป็นคนไร้สมอง”
วลีอันโด่งดังนี้ฟังดูเรื่องถูกต้องเสมือสัจธรรมบางอย่าง และเราเองก็อาจจะพบเรื่องเล็กๆน้อยๆจากประสบการณ์ในชีวิตที่ช่วยสนับสนุนสัจธรรมนี้
หากทว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นข้อเท็จจริงหรือสัจธรรม เพราะหากเราพิจารณาเรื่องนี้ แค่พิจารณาเอาจากประเด็นผิวเผินอย่างพฤติกรรมทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเจเนอเรชั่นที่แตกต่างกันก็จะเห็นได้ว่าประโยคที่กล่าวมาไม่เป็นจริง ตัวอย่างเช่น หากเราพิจารณาพฤติกรรมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ในยุค 1980 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร สองประเทศที่เป็นศูนย์กลางของอุดการณ์เสรีนิยมใหม่ในทศวรรษที่ 1980 เราจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ในยุคนั้นจำนวนมากออกไปลงคะแนนเสียงเพื่อสนับสนุนการรื้อถอนระบบรัฐสวัสดิการ, สนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนานใหญ่ และอยู่ภายใต้อุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยม ในการเลือกตั้งทั่วไปของยุคนั้น Ronald Raegan ได้รับชัยชนะอย่างสำคัญเหนือ Jimmy Carter จากกลุ่มฐานเสียงผู้ลงคะแนนที่มีอายุ 18-29 ปี ขณะที่ในกลุ่มผู้ลงคะแนนอายุ 30-44 ปีเขาก็ได้รับชัยชนะมาอย่างไม่ยากเย็น ตัวอย่างสำคัญที่เราจะยกมาให้ดูก็คือบทความใน New York Times ที่รายงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งในยุคนั้นว่า Reagan จะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไป
“ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 คำขวัญในการรณรงค์ทางการเมืองของกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันคือ “อย่าไว้ใจใครก็ตามที่อายุมากกว่า 30” ขณะที่ในปี 1984 วัฒนธรรมของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลายมาเป็นการมอบความไว้วางใจให้กับประธานาธิบดีที่อายุมากกว่า 70 ปี เมื่อนำข้อมูลนี้มาพิจารณาร่วมกับตัวเลขการสำรวจล่าสุดของ New York Times และ CBS news ที่ทำการสำรวจความเห็นก่อนการดีเบตของผู้ลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี พบว่าผู้มีสิทธิออกเสียงที่มีอายุระหว่าง 18 – 24 ปีนั้นมีความเห็นเลือก Raegan ถึง 61 เปอร์เซ็นต์”
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร Margaret Thatcher ก็ได้รับชัยชนะในหมู่คนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งสองครั้งแรก เธอได้รับคะแนนเสียงกระทั่งจากกลุ่มแรงงานที่มีอายุระหว่าง 18 – 24 ปีในปี 1979 และได้รับชัยชนะในหมู่คนที่อายุมากกว่า 35 ปีเหนือพรรคแรงงานราว 10 เปอร์เซ็นต์ พรรคอนุรักษ์นิยมได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากกลุ่มคนที่มีอายุ 35-44 ปี รวมถึงจากกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และยังสามารถเก็บเสียงสนับสนุนจากคนที่พึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ในปี 1983
หากว่าปรากฏการณ์ในอดีตนี้เป็นภาพตรงข้ามต่อความเข้าใจของเราที่มีต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและมุมมองทางการเมืองกับช่วงอายุของคน นั่นอาจจะเป็นเพราะเราอยู่ภายใต้บริบทปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่คนหนุ่มสาวจำนวนมากประกาศตัวเองในทิศทางที่โน้มเอียงไปทางฝ่ายซ้ายมากกว่าที่เคยเป็นเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน – ซึ่งนี่นับว่าเป็นช่องว่างระหว่างช่วงอายุและความคิดทางการเมืองของกลุ่มมิลเลนเนียม ที่มีต่อกลุ่มเบเบี้บูมเมอร์และเจนเนอเรชั่น X ที่ไม่อาจจะมองข้ามได้
ในระหว่างการแข่งขันไพรมารี่โหวตภายในพรรคเดโมแครต ในปี 2016 เราจะเห็นได้ว่า Bernie Sanders ได้รับชัยชนะจากกลุ่มฐานเสียงคนรุ่นใหม่อย่างถล่มทลาย ในขณะที่กลุ่มคนที่มีอายุเลือกที่จะโหวตให้กับ Joe Biden ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปปี 2017 ในสหราชอาณาจักร พรรคแรงงานได้รับชัยชนะในหมู่คนที่อายุต่ำกว่า 39 และได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มผู้ลงคะแนนที่มีอายุระหว่าง 18 – 29 ปี ผลการสำรวจความคิดเห็น Gallup poll ที่จัดทำในปี 2018 พบว่ามีกลุ่มวัยทำงานรุ่นใหม่เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยังมีมุมมองที่ดีต่อระบบทุนนิยม – ผลสำรวจนี้พบว่าความนิยมในระบบทุนนิยมลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจในปี 2010 – ขณะที่สัดส่วนที่ลดลงนี้หันไปเพิ่มให้กับความนิยมต่อระบบสังคมนิยม แม้ว่าในหมู่คนอายุมากจะมีสัดส่วนที่มองระบบสังคมนิยมในเชิงบวกหรือสนับสนุนน้อยกว่าเล็กน้อย
จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผมคิดว่าแทนที่เราจะมานั่งพิจารณาว่ามุมมองทางการเมืองเป็นสิ่งที่กำเนิดออกมาหรือถูกกำหนดโดยช่วงอายุ ผมคิดว่าเราควรตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจึงมีแนวโน้มที่จะต่อต้านระบบทุนนิยมมากกว่ากลุ่มคนรุ่นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายายของเขา คำตอบอย่างง่ายที่สุดอาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นเพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากในปัจจุบัน (ในปี 2020) มีชุดประสบการณ์ที่ก้าวหน้าและแตกต่างจากคนรุ่นก่อน อันนำไปสู่การพัฒนาชุดคุณค่าทางการเมืองของตนเองขึ้นมา เราอาจจะยกตัวอย่างบางประการโดยเปรียบเทียบได้ว่า ในทศวรรษที่ 1960 ราคาบ้านพักอาศัยโดยเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 97,000 ดอลลาห์ (คำนวนรวมอัตราเงินเฟ้อแล้ว) แต่ในปัจจุบันค่าเฉลี่ยนี้ขยับไปอยู่ที่ 226,000 ดอลลาห์ ขณะที่ค่าจ้าง-เงินเดือนมีการปรับขึ้นในอัตราคงที่แบบช้าๆ เป็นเวลานับทศวรรษทนช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1940 – 1970 และหลังจากนั้นเราก็แทบไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในการปรับขึ้นค่าจ้าง-เงินเดือนอีกเลย ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการที่การเข้าถึงการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและการหางานทำได้ยากขึ้น
ประสบการณ์ร่วม
ถ้าหากว่าคุณเป็นคนที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี คงต้องกล่าวว่าเป็นความโชคดี (ประชด) ของคุณที่ระบบทุนนิยมมันไม่ได้ทำงานรับใช้คุณอย่างดีเยี่ยม พร้อมกันนั้นคุณยังถูกระบบการเมืองที่อ่อนแรงกดทับซ้ำ แลผลักภาระทุกอย่างไปให้ปัจเจกบุคคลทั้งหลายต้องแบกรับเอาไว้เอง ต้องบอกว่าสภาพดังกล่าวที่คุณเจอเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่คนในยุคก่อนหน้าได้พบเลย นโยบายทางเศรษฐกิจแบบเคนส์ และคำสัญญาถึงความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วในปัจจุบัน ชนชั้นแรงงานที่ผมรู้จักบางคนทำงานอย่างหนักตลอดวันแต่ก็มีคุณภาพชีวิตในระดับที่สูงกว่าเส้นความยากจนเพียงเล็กน้อย ในขณะที่บรรดาเพื่อนผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพการงานของผมบางคนก็ไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ร่ำรวยกว่ากันเท่าไหร่ (บางทีพวกเขาเหล่านี้อาจจะมีหนี้ติดตัวมหาศาลด้วย)
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อย แต่สิ่งที่เราควรต้องยืนยันก็คือเราจำเป็นต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการที่จะสร้างมาตรฐานความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมุมมองทางการเมืองและช่วงอายุของกลุ่มคน สิ่งหนึ่งที่ต้องยืนยันก็คือช่วงอายุของคนนั้นไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะช่วงอายุของคนมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดและมันบรรจุไปด้วยภูมิหลังและประสบการณ์ทางสังคมที่แตกต่างหลากหลายกันมากมาย เราต้องยืนยันว่าไม่ใช่คนรุ่นมิลเลนเนียมทุกคนที่จะเป็นศัตรูกับระบบทุนนิยม และ มีกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปีอีกจำนวนมากที่ยังคงมีความคิดก้าวหน้าและไม่ได้ละทิ้งความเป็นซ้ายในวัยหนุ่มสาวไปเมื่ออายุมากขึ้น การแบ่งกลุ่มคนตามช่วงอายุนั้นมีความหลากหลายซับซ้อนอยู่ภายในตัวมันเอง ทั้งความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและความแตกต่างด้านกายภาพ การสรุปเอาช่วงอายุของคนไปผูกกับความคิดทางการเมืองจึงอาจจะสร้างปัญหาในการวิเคราะห์สังคมตามมาอีกนับไม่ถ้วน
มีเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างแน่นอนในกรณีนี้ก็คือ ประสบการณ์ร่วมของคนในสังคมนั้นเป็นตัวช่วยในการอธิบายเรื่องความแตกต่างทางความคิดของคนในแต่ละช่วงอายุได้อย่างชัดเจน คุณค่าทางการเมืองหรือจุดยืนทางการมเองนั้นเป็นรูปแบบการย่นย่อทางวิชาการของการอธิบายและตีความความจริงร่วมที่เราประสบ (ประสบการณ์) ช่วงอายุที่แตกต่างกันนั้นไม่ได้มีผลมากเทียบเท่าประสบการณ์ร่วม ดังนั้นมันจึงไม่มีลักษณะของความเป็นฝ่ายก้าวหน้าหรือฝ่ายปฏิกิริยาที่ผูกติดกับช่วงอายุ เช่นเดียวกันนั้นคุณไม่ได้กลายเป็นฝ่ายก้าวหน้า หรือฝ่ายอนุรักษ์นิยมเพียงเพราะคุณมีอายุเข้าเกณฑ์แบ่ง อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่าการเป็นคนหนุ่มสาวนั้นไม่ได้ทำให้คุณมีญาณวิทยาที่วิเศษกว่าคนในช่วงอายุอื่น และการเป็นคนแก่ก็ไม่ได้ทำให้อุดมการณ์ของคุณเสื่อมโทรมลง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือชุดของประสบการณ์ทางสังคมและข้อเท็จจริงทางสังคมต่างหากที่มีอิทธิพลในการก่อร่างและประกอบสร้างทัศนคติและมุมมองทางการเมืองของปัจเจคบุคคล
คนรุ่นใหม่นับล้านคนในช่วงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่กลุ่มคนที่เกิดขึ้นมาในพร้อมคำสาปให้พวกเขาจงเกลียดจงชังระบบทุนนิยมแต่กำเนิด ทั้งนี้ก็เพราะการมองหาทางเลือกทางการเมืองอื่นๆอย่างระบบสังคมนิยมหรือการแสดงอาการไม่พอใจต่อระบบทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นการตอบโต้ที่เป็นเหตุเป็นผลต่อโลกที่พวกเขาพบและมีประสบการณ์กับมัน นั่นคือมันเป็นการตอบโต้กับประสบการณ์อย่าง วิกฤตทางเศรษฐกิจ, การล่มสลายของระบบการเงิน และความผิดหวังทางการเมือง ที่ดำรงอยู่ตลอดมาตั้งแต่หลังทศวรรษที่ 1990
การอธิบายทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า ฝ่ายซ้ายควรจะโจมตีแนวคิดเรื่องการเมืองระหว่างรุ่นอายุ หรือ ปล่อยมือวางเฉยจากการเมืองแบบนี้และนั่งเพ้อฝันรอให้นักปฏิวัติในอนาคตดำเนินการต่อสู้ จนวันหนึ่งเราจะได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ผ่านการปฏิวัติด้วยการเลือกตั้ง หากแต่เราควรทำความเข้าใจต่อเรื่องการเมืองระหว่างรุ่นนี้เพื่อย้ำเตือนตนเองไม่ให้หลงไปกับความเข้าใจผิดเรื่องช่วงอายุกับความคิดทางการเมือง
ดังนั้นแล้วการทำความเข้าใจต่อเรื่องข้อเท็จจริงทางสังคมและข้อเท็จจริงเชิงรูปธรรม (อาจจะกล่าวในภาษาแบบ Marxist ได้ว่า การทำความเข้าใจต่อรูปแบบการผลิต ปัจจัยการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่เป็นจริง – ผู้แปล) นั้นจะเป็นเสมือนแผนที่นำทางให้เรา ในการทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งขึ้นว่าเหตุใดระบบทุนนิยมจึงล้มเหลวในสายตาคนรุ่นใหม่ และเพราะเหตุใดคนหนุ่มสาวจำนวนมากจึงมองหาทางเลือกทางการเมืองที่แตกต่างและแหลมมากยิ่งกว่าที่คนรุ่นก่อนหน้าเคยพยายามมองหา.