Skip to main content

MMT Image Socialist Appeal

มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตร

Explaining the coming crisis of capitalism

By Alex Grant, 18 September 2019

Translated By Jakkapon P, 28 September 2019

 

หากท่านได้ตามข่าวสารทางเศรษฐกิจบ้างก็คงจะเห็นว่าในช่วงไม่นานมานี้หนังสือพิมพ์ธุรกิจต่างก็พาดหัวคร่ำครวญกันถึงประเด็นสำคัญหนึ่งนั่นคือเรื่องอิทธิพล “ความผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร” ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศอันเป็นเสมือนสัญญาณของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะคืบคลานเข้ามา แน่นอนว่าการพูดเรื่องนี้ขึ้นมาลอยๆหรือการอ่านข่าวกระทั่งฟังการเล่าข่าวเรื่องนี้ยอมทำให้ชนชั้นแรงงานต้องยกมือขึ้นเกาหัวด้วยความไม่เข้าใจต่อภาษาและศัพท์แสงเศรษฐศาสตร์เหล่านี้แน่นอน

ในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเวลา 10 ปีได้แล้วหลังจากเหตุการณ์ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่” (Great Recession – 2008) ผมเชื่อเหลือเกินว่าคนจำนวนมากนั้นคงจะเปลี่ยนความคิดของตัวเองแล้วที่พวกเขาอาจจะเคยเชื่อว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบถาวรและมันจะไม่มีอะไรที่แย่ไปกว่าเดิมแล้ว เพราะข้อเท็จจริงก็คือในขณะที่เศรษฐกิจในหลายประเทศย่ำแย่และไม่มีสัญญาณว่าจะดีขึ้นนั้น บรรดาปัญหาเศรษฐกิจและสังคมนั้นก็อาจจะย่ำแย่ลงยิ่งกว่าเดิมได้อีก

ในบทความนี้ผมจะอธิบายว่าทำไมมันจึงเป็นเช่นนั้น

41324290244 84f49c7604 b

ความผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรคืออะไร และมันมีความสำคัญอย่างไร?

พันธบัตร หรือรูปแบบกลไกทางการเงินที่ให้ความหมายถึงการที่คุณจ่ายเงินเพื่อซื้อหนี้ของคนอื่นมา กล่าวให้ง่ายขึ้นกว่านั้น ถ้าคุณซื้อพันธบัตรมา นั่นแปลว่าคุณกำลังให้ใครซักคนยืมเงินของคุณไป (ใครซักคนในที่นี้หมายถึงรัฐบาล หรือบริษัท-กิจการขนาดใหญ่) พันธบัตร นั้นเป็นกลไกทางการเงินที่ต่างจาก หุ้น ที่ให้ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นในรูปแบบของการปันผลกำไรการประกอบกิจการของบริษัท

พันธบัตรนั้นมีทั้งรูปแบบของพันธบัตรระยะสั้น และพันธบัตรระยะยาว โดยการแบ่งประเภทนั้นก็ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่คุณยินยอมให้ผู้ขายพันธบัตรยืมเงินของคุณไปนั่นเอง ในสภาวะปกติ ยิ่งคุณให้ยืมเงินในระยะเวลาที่นานมากเท่าไหร่ (พันธบัตรระยะยาว) ผลตอบแทนของมันก็จะยิ่งสูงตามขึ้นไปเท่านั้น เช่น ถ้าคุณให้ใครซักคนยืมเงินเป็นเวลา 12 เดือน คุณอาจจะคาดหวังอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์จากวงเงินยืม (กำไรจากดอกเบี้ยเงินกู้) แต่หากคุณให้ให้เขากู้เงินเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี คุณอาจจะเรียกอัตราผลตอบแทนที่ 4 หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติมากๆที่คุณจะเรียกร้องอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อคุณซื้อพันธบัตรระยะยาว อันเนื่องมาจากคุณต้องแบกรับความเสี่ยงสูงมากตลอดช่วงเวลาที่ถือพันธบัตร มูลค่าเงินต้นซื้อพันบัตรของคุณอาจจะปรับลดลงอันเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อ หรือคุณอาจจะต้องเสียเงินต้นที่ซื้อพันธบัตรทั้งหมดนั้นไปเลยถ้าหากบริษัทที่ที่ขายพันธบัรเกิดล้มละลาย หรือ รัฐบาลที่ออกพันธบัตรยกเลิกพันธบัตร (ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินคืน) ซึ่งอัตราผลประโยชน์นี้มีชื่อเรียกในทางเศรษฐศาสตร์ว่า “อัตราผลตอบแทนพันธบัตร” (bond yield) และ “ภาวะผกผันของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร” นั้นก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เลวร้ายและอันตรายอย่างยิ่งยวด มันคือสภาวะที่อัตราผลประโยชน์ของการถือพันธบัตรระยะยาวนั้นมีมูลค่าน้อยกว่าอัตราผลประโยชน์ของการถือพันธบัตรระยะสั้น

คำถามคือ เหตุใดอัตราผลตอบแทนของการถือครองหนี้ระยะยาวจึงตกต่ำกว่าการถือครองหนี้ระยะสั้น? สภาวะนี้อาจเปรียบเปรยได้กับการบอกว่าชีวิตมนุษย์ในระยะสั้นนั้นมีความเสียงสูงกว่าชีวิตในระยะยาว (แม้ว่าเราจะนำเอาความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อและการล้มละลายเข้ามาคำนวนด้วยก็ตาม)

ลองจินตนาการว่าตัวคุณเป็นอภิมหาเศรษฐี ที่กำลังพยายามคิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรกับภูเขาเงินทองที่คุณรีดไถออกมาจากน้ำพักน้พแรงของชนชั้นแรงงาน ถ้าหากว่าระบบทุนนิยมนั้นยังคงทำงานได้ดี คุณก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงในตลาดหลักทรัพย์ (หุ้น) เพื่อจะรอรับเงินปันผลจากกำไรที่สร้างขึ้นจากการขูดรีดชนชั้นแรงงาน นี่เป็นการลงทุนที่มีความเสียงหากแต่มันก็ให้ผลตอบแทนที่ชัดเจน หากแต่ถ้าคุณมองว่าระบบทุนนิยมกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เมื่อนั้นคุณก็จะย้ายเงินของคุณออกจากตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่บรรดานายทุนคนอื่นๆจะทำแบบเดียวกัน และแน่นอนคุณอาจจะเสียเงินหลักล้านเนื่องจากการขายหุ้นบางตัวเพื่อนำเงินออกจากตลาดหลักทรัพย์ก่อนที่มันจะตกต่ำลงมากกว่าเดิม ในตอนนี้เองอภิมหาเษรษฐีผู้น่าสงสารของเราก็ต้องมองหาสถานที่สำหรับรองรับเงินของพวกเขา เมื่อนั้นพวกเขาย่อมจะพากันไปซื้อพันธบัตร ในแง่นี้พวกเขาอาจจะซื้อพันธบัตรระยะสั้นหรือยาวก็ได้ หากแต่การซื้อพันธบัตรระยะสั้นนั้นอาจจะทำให้พวกเขาได้รับเงินคืนกลับมาในช่วงเวลาที่ยังคงมีวิกฤตทางเศรษฐกิจอยู่ การซื้อพันธบัตรระยะสั้นจึงไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้นแล้วทางเลือกเดียวของพวกเขา (นอกเหนือจากการเก็บเงินไว้กับตัวเองหรือหันไปซื้อทองคำ) ก็คือการซื้อพันธบัตรระยะยาว

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวนั้นจะลดต่ำลงก็ต่อเมื่อผู้คนจำนวนมากต้องการที่จะซื้อมัน (อุปสงค์เพิ่มขึ้นมาก – ผู้แปล) ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากพันธบัตรนั้นใช้กระบวนการขายแบบการผระมูล รัฐบาลอาจจะออกประกาศว่า “รัฐบาลมีความต้องการจะกู้ยืมเงินในวงเงิน 1 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 1 โดยจะกู้ยืมเงินผ่านการขายพันธบัตรรัฐบาล” เมื่อพ้นการประกาศนี้แล้วหากไม่มีใครสนใจที่จะซื้อมัน เช่น ไม่มีใครต้องการจะซื้อหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ เมื่อนั้นรัฐบาลอาจจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตอบแทนที่ให้แก้ผู้ซื้อพันธบัตรเพื่อดึงดูดใจนักลงทุน หากแต่ถ้ารัฐบาลที่ขายพันธบัตรนั้นเป็นรัฐบาลของประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูงอย่างเช่น เยอรมนี ย่อมจะทำให้มีคนจำนวนมากต้องการที่จะซื้อหนี้ของรัฐบาลผ่านพันธบัตรในอัตราผลตอบแทนที่ร้อยละ 1 เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลอาจจะประกาศลดอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ลงเหลือร้อยละ 0.5 ก็ยังได้

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวนั้นเป็นสิ่งแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นนายทุนเองก็ไม่ได้มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่กับระบบทุนนิยม เราไม่จำเป็นต้องรับฟังหรือสนใจคำกล่าวของบรรดานักโฆษณาชวนเชื่อของชนชั้นนายทุนที่มักพร่ำบ่นแต่ว่า “ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี” นั้นเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร กลับกันนั้นเราควรจับตามองว่าบรรดาชนชั้นนายทุนอภิมหาเศรษฐีนั้นจัดการกับภูเขาเงินตราและทรัพย์สมบัติของพวกเขาอย่างไรมากกว่า บรรดานายทุนนั้นต่างก็กังวลกับการปกป้องผลตอบแทนของตัวเองมากกว่าที่จะเชื่อการโฆษราชวนเชื่อที่ตัวเองสร้างขึ้นมา สิ่งที่บรรดานายทุนต้องการนั้นมีเพียงแค่ต้องการรักษาพันธบัตรของตัวเองเอาไว้แล้วภาวนาให้วิกฤตของระบบทุนนิยมหายไปก่อนที่จะครบกำหนดคืนเงินพันธบัตร พวกเขาไม่แยแสกับเรื่องการสร้างการผลิต และแน่นอนว่าพวกนายทุนไม่เคยแยแสกับเรื่องการสร้างอาชีพหรือตำแหน่งงานให้กับชนชั้นแรงงาน พวกนายทุนนั้นสนใจก็แต่เพียงแค่เงินเท่านั้น

สถานการณ์ในปัจจุบันนั้นกลายเป็นสถานการณ์ที่พัฒนาไปไกลเกินกว่าจะควบคุม เพราะในตอนนี้มันมีกระทั่งพันธบัตรที่มาพร้อมผลตอบแทนที่เป็นลบ! นั่นหมายความว่าเมื่อคุณทำการกู้เงินมาในรูปแบบหนี้แล้ว แทนที่คุณจะต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนเจ้าหนี้ กลับเป็นเจ้าหนี้ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มในส่วนดอกเบี้ยตอบแทนคุณ วิธีคิดของเรื่องนี้เป็นเพราะการที่ผู้ให้กู้ยืมต้องเสียเงินนั้น ขณะเดียวกันก็นับว่าพวกเขาสูญเสียเงินน้อยกว่าการที่พวกเขาจะนำเงินนั้นไปลงทุนในที่อื่นๆ เรื่องนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องบ้า หากทว่ามันกลับมีการลงทุนในรูปแบบนี้เป็นมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านดอลลาห์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่การันตีได้เลยว่ามันเป็นการลงทุนที่จะตามมาด้วยการสูญเสียเงินอย่างแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ ธนาคารสัญชาติเดนมาร์กแห่งหนึ่งนั้นเปิดให้มีการปล่อยกู้สินเชื่อจำนองที่อัตราดอกเบี้ยเป็นลบ ระบบทุนนิยมนั้นแสดงออกอย่างชัดเจนว่าตัวมันกำลังอยู่ในสภาวะกลับหัวกลับหาง

กล่าวในทางประวัติศาสตร์แล้ว นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เมื่อไหร่ก็ตามที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ นั้นมีอัตราผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนของพันธบัตร 2 ปีของรัฐบาลสหรัฐฯ เมื่อนั้นมันมักจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ในขณะที่มันมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เป็นลบโดยปราศจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกจหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย หากแต่ในหลายครั้งที่ผ่านมานั้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักจะนำหน้ามาด้วยการเกิดอาการแบบดังกล่าวมาข้างต้นเสียก่อน

 

ความสับสนของบรรดากระฎุมพี

อย่างไรก็ตามหากใครสักคนพยายามมองหาคำอธิบายว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มันย่อมตามมาด้วยความสับสนอย่างมาก นักการเมืองเสรีนิยมนั้นจะตอบว่ามันเกิดจาก “ความตกต่ำของรัฐบาลโดนัล ทรัมป์” พร้อมกับผลกระทบอันเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯอันก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถแยไปทั่วโลก ในทางเดียวกันนั้นแนวโน้มของ โนเล “บอริส เบรกซิสต์” (การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรโดยปราศจากข้อตกลง – No deal Boris Brexit) ก็เป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่จะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ให้เกิดการตั้งกำแพงภาษีที่ต่อต้านระบบการค้าเสรี กระทั่งการประท้วงในฮ่องกงก็ก่อให้เกิดความกังวลขึ้นในระบบตลาดเนื่องจากแนวโน้มของการประท้วงที่มีทีท่าว่าจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ พร้อมกับข้อเท็จจริงที่ว่าฮ่องกงนั้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกด้วย

บรรดาฝ่ายขวาประชานิยม (Right-wing populist) อย่งโดนัล ทรัมป์นั้นคิดว่าพวกเขาเองสามารถกำชัยชนะในสงครามการค้าได้ ซึ่งความคิดเช่นนี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ปัญญาชนกระฎุมพี เหมือนเช่นที่พวกเขาเคยใช้เวลากว่า 80 ปีในการพยายามขยายระบบการค้าเสรีและต่อต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้า (protectionism) ในมุมมองของฝ่ายขวาประชานิยม ลัทธิคุ้มครองทางการค้านั้นเป็นส่วนช่วยขยายวิกฤติของตลาดหลักทรัพย์ในปี 1929 จนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ ในทางหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าคำกล่าวนี้มีประเด็น ลัทธิคุ้มครองทางการค้านั้นเป็นสิ่งที่บีบรัดระบบทุนนิยม การตั้งกำแพงภาษีและการลดคู่แข่งของตลาดภายในประเทศนั้นเป็นกระบวนการที่บีบบังคับให้คุณต้องซื้อสินค้าที่มีราคาแพงและมีคุณภาพน้อยกว่าซึ่งผลิตภายในประเทศ แทนที่จะได้ซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่าและมีคุณภาพมากกว่าที่ผลิตจากต่างประเทศ ถ้าหากว่าคุณเป็นประเทศเดียวที่ใช้มาตรการคุ้มครองทางการค้านั้น แน่นอนว่าคุณย่อมประสบความสำเร็จในการส่งออกคนว่างงานสู่ต่างประเทศ หากแต่เมื่อทุกประเทศต่างก็ใช้มาตรการนี้ผลที่ตามมาก็คือระบบเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย มันกลายเป็นว่าคุณต้องทำงานหนักขึ้นแต่ได้รับผลตอบแทนน้อยลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมบรรดาบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายจึงต่อต้านสงครามการค้าและสนับสนุนการค้าเสรี

กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “ประชาคมแห่งชาติ” (community of nations) นั้นกล่าวหาพฤติกรรมของทรัมป์ที่ทำการละเมิด “ระเบียบบรรทัดฐานสากล” การพูดเช่นนี้แปลว่าชนชั้นแรงงานควรจะต้องสนับสนุนพวกเสรีนิยมพวกนี้ในการต่อต้านทรัมป์หรือเปล่า? คำตอบก็คือเราควรทำความเข้าใจก่อนว่า “ระเบียบบรรทัดฐานสากล” นี้คือคำพูดสวยหรูที่ถูกสนับสนุนจากประเทศอย่าง เยอมนี, ฝรั่งเศส และแคนาดา คำพูดสวยหรูพวกนี้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อเป็นตราประทับบังหน้ากระบวนการปล้นชิงขูดรีดกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงานทั่วโลก ดังนั้นทั้งทรัมป์และบรรดามาเฟียระดับโลกนี้ต่างก็กำลังพยายามจะนิยามคำเรียกของข้อตกลงนี้ใหม่ตามความต้องการของตัวเองเท่านั้น จุดยืนของเราต่อเรื่องนี้ย่อมเป็นเสมือนกับจุดยืนของเราที่มีต่อความแตกต่างระหว่างมาเฟียนิยอร์ก, อันธพาลในลอนดอน และแก๊งยากุซ่าในญี่ปุ่น

ทว่าในระหว่างที่ผลกระทบของสงครามการค้านั้นมีแนวโน้มจะยิ่งก่อให้เกิดความรุนแรงต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่กำลังคืบคลานเข้ามา เช่นเดียวกับ ปรากฏการณ์หนี้ซับไพรม์ที่ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008, หรือฟองสบู่ดอทคอมในปี 2000, หรือวิกฤ๖น้ำมันในปี 1973 หากแต่บรรดาปัจจัยความวุ่นวายเหล่านี้นั้นไม่เคยเป็นตัวอธิบายถึงต้นเหตุของภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างจริงจัง นี่เป็นเวลากว่าสิบปีแล้วนับตั้งแต่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจในระดับโลก ที่นับว่าเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ยาวที่สุดช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยม มันกลายเป็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ต้องการคำอธิบายที่ชัดเจนว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบเศรษฐกิจ บางทีเราอาจจะหาคำอธิบายได้ดีที่สุดต่อรากฐานต้อตอของวิกฤตระบบทุนนิยมได้จากการย้อนกลับไปอ่าน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)

หลักฐานยืนยันการขยายวงกว้างและการแพร่ขยายของสภาวะการผลิตจนล้นเกินนั้นเราอาจจะมองได้ผ่านสถิติทางเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเรียกว่า “อัตราการใช้กำลังการผลิต” (capacity utilization) สถิติดังกล่าวนั้นเป็นตัวแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพกำลังการผลิตของเครื่องจักรและโรงงานนั้นถูกใช้ไปจริงเป็นจำนวนเท่าไหร่ในการผลิตสินค้า ในระดับโลกนั้นสถิติดังกล่าวปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา อัตราการใช้กำลังการผลิตนั้นขยับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ร้อยละ 85 ในช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างไรก็ตามภายหลังการปรับตัวลดลงอย่างมากจนมาแตะที่ระดับร้อยละ 65 ระหว่างช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 และดูเหมือนว่าตัวเลขดังกล่าวจะไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีก ในตอนนี้กำลังการผลิตของเครื่องจักรกว่าร้อยละ 20-25 ของกำลังการผลิตทั้งหมดนั้นถูกทิ้งให้ว่างและไม่ถูกนำมาใช้ในการผลิตแม้ว่าเราจะอยู่ในห้วงของ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ” การละทิ้งศักยภาพและกำลังการผลิตอย่างเปล่าประโยชน์นี้เป็นลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ที่มาร์กซ์และเองเกลส์ได้อธิบายเอาไว้ตั้งแต่ในยุควิคตอเรียน ในทางตรงกันข้ามแล้วสถิติตัวนี้ก็ได้แสดงให้เราเห็นถึงแนวโน้มของสังคมที่หันไปผลิตเพื่อการบริโภคมากกว่าการผลิตเพื่อตอบสนองความโลภ และในช่วงเวลาข้ามคืนเราก็อาจจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นอีกร้อยละ 20 โดยการใช้กำลังการผลิตที่มีอยู่แล้ว (แต่ถูกทิ้งว่างไว้) เราสามารถผลิตและใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลนี้เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน เพื่อยุติปัญหาวิกฤตที่อยู่อาศัย, สร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โรงเรียนและโรงพยาบาลที่เพียงต่อมนุษย์ทุกคน ฯลฯ

Economic crisis coming Image Trading Economics

อัตราการใช้กำลังการผลิตจริงในสหรัฐอเมริกา

 

อีกตัวอย่างหนึ่งของวิกฤตการณ์การผลิตจนล้นเกินนั้นคือกองภูเขาขนาดมหึมาของ “เงินตาย” (dead money – หมายถึงเงินที่ไม่ถูกนำไปใช้ในการลงทุน) มาร์ค คาร์นีย์ (Mark Carney) อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติแคนาดา และผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษคนปัจจุบัน กล่าวย้อนกลับไปถึงช่วงปี 2015 ในช่วงที่เขาโจมตีบรรดากลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่เอาแต่นั่งอยู่บนกองเงินของตนเองและไม่ทำการลงทุน การขาดการลงทุนนี้ก่อให้เกิดภาวะถดถอยในส่วนของภาคการผลิต  ในช่วงเวลานั้น ในประเทศแคนาดา ปริมาณเงินตายมีจำนวนรวมกันประมาณ 700 พันล้านดอลลาห์ฯ บรรดานายทุนตอบโต้การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการไม่ลงทุนนี้ด้วยการตั้งคำถามกลับว่า เหตุใดพวกเขาต้องทำการลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิตในเมื่อมันมีวิกฤตของอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่แล้ว ทำไมพวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อผลิตสินค้าเพิ่มในเมื่อมันสามารถผลิตสินค้าที่มากเกินกว่าที่ตลาดจะดูดซับได้อยู่แล้วด้วย? คาร์นีย์ไม่ได้ตอบโต้เรื่องดังกล่าว เช่นเดียวกับบรรดานักข่าว หากทว่าปัญหาของระบบทุนนิยมยังคงเดินหน้าต่อไป

“เงินตาย” ของแคนาดานั้นขยายตัวอยู่ที่ระดับ 65 พันล้านดอลลาห์ฯ ต่อปีจนมีตัวเลขสะสมรวมในปัจจุบันอยู่ที่ 950 พันล้านดอลลาห์ฯ ตัวเลขดังกล่าวนี้ยังคงเกิดซ้ำในรูปแบบเดียวกันในประเทศอื่นๆ ชนชั้นนายทุนนั้นกำลังประพฤติตนเหมือนพวกมังกรจากนิยายของโทลคีน (J.R.R. Tolkien – ผู้เขียนวรรณกรรมเรื่อง The Lord of The Ring) ที่นอนอยู่เหนือกองภูเขาเหรียญทองและสมบัติเลอค่า หากแต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ชนชั้นแรงงานกล้าจะลุกขึ้นทวงถามว่าทรัพย์สมบัติมหาศาลนี้ควรนำไปใช้เพื่อสร้างตำแหน่งงาน หรือที่พักอาศัย หรือการศึกษา พวกเขาย่อมถูกตอบกลับด้วยเปลวเพลิงจากมังกรเฝ้าสมบัติ นี่คือรูปธรรมตัวอย่างที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดมนุษยชาติจึงไม่อาจจะอาศัยร่วมกับระบบอันป่าเถื่อนโหดร้ายได้อีกต่อไป

ความขัดแย้งขั้นมูลฐานของระบบทุนนิยมนั้นก็คือการที่ชนชั้นแรงงานไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นจริงตามมูลค่าที่พวกเขาใช้กำลังแรงงานของตนเองสร้างขึ้นมา ดังนั้นแล้วชนชั้นแรงงานจึงไม่อาจจะซื้อสินค้าที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตได้ หากทว่าในขณะที่พลังการบริโภคของชนชั้นแรงงานลดต่ำลง ชนชั้นนายทุนนั้นกลับวางแผนการผลิตอย่างต่อเนื่องราวกับว่ามันไม่มีขีดจำกัด ด้วยเหตุผลนี้เองจึงเป็นสิ่งที่จะนำให้ระบบทุนนิยมขยับเข้าไปสู่วิกฤติของการผลิตจนล้นเกินอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

ชนชั้นนายทุนนั้นอาจจะชะลอปัญหาดังกล่าวมาข้างต้นได้บ้างเป็นการชั่วคราวในหลากหลายวิธี พวกนายทุนอาจจะลงทุนในภาคการผลิต เพื่อเก็บเกี่ยวกำไรจากผลผลิตส่วนเกิน หากแต่การกระทำเช่นนั้นก็เป็นเพียงการตอกย้ำปัญหาให้รุนแรงขึ้น เพราะเมื่อมีการเพิ่มอัตราการผลิตในระยะยาวย่อมนำไปสู่การผลิตสินค้าจำนวนมากที่ชนชั้นแรงงานไม่อาจจะซื้อได้ เมื่อถึงจุดนั้นมันย่อมเกิดสภาวะแบบที่เราได้เห็นอยู่ในปัจจุบันผ่านวิกฤตอัตรากำลังการผลิตและวิกฤตเงินตาย บรรดาบริษัทขนาดใหญ่นั้นย่อมหยุดการลงทุน บรรดานายทุนนั้นอาจจะส่งออกสินค้าที่เป็นผลผลิตส่วนเกิน หากแต่นั่นก็จะเป็นการไปขยายศักยภาพการผลิตในประเทศอื่นๆและท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การสร้างวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินขึ้นมาใหม่ ในตอนนี้เองการก่อสงครามการค้าของทรัมป์นั้นก็เป็นเสมือนการปิดประตูการใช้กระบวนการดังกล่าวในการชะลอการเกิดวิกฤตออกไป และท้ายที่สุดแล้วพวกเขาอาจจะสร้างกระบวนการเร่งการเติบโตของตลาดเทียมขึ้นโดยการขยายปริมาณหนี้สินเชื่อให้แก่ชนชั้นแรงงาน, บริษัท, และรัฐบาล กระบวนการดังกล่าวนี้อาจจะใช้งานได้ในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดแล้วหนี้เหล่านี้ต้องได้รับการจ่ายคืนพร้อมผลกำไร แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั้นได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวเอาไว้ดังนี้

“วิธีการที่ชนชั้นกระฎุมพีรับมือกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ในทางหนึ่งพวกเขารับมือมันด้วยการบีบบังคับให้เกิดทำลายล้างพลังการผลิตจำนวนมหาศาล ในอีกทางหนึ่งคือการยึดครองตลาดแห่งใหม่ และด้วยการขยายระดับการขูดรีดของตลาดเก่าอย่างทั่วถึง กล่าวได้ว่ามันเป็นการปูทางไปสู่วิกฤตที่ยิ่งใหญ่กว่าและส่งผลทำลายล้างมากกว่า“

ในปี 2009 นั้นรัฐบาลเข้าไปช่วยอุ้มธนาคารที่กำลังจะล้มละลายจากวิกฤตทางการเงินและก่อให้เกิดหนี้ขนาดมหาศาล ในปัจจุบันนี้หนี้ดังกล่าวยังคงอยู่ – หนี้ส่วนบุคคล, บริษัท, รัฐบาล – พร้อมๆกับที่วิกฤตครั้งใหม่กำลังก้าวเข้ามา ชนชั้นนายทุนนั้นพยายามหยิบใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีเพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์อื่นๆ มันแสดงให้เห็นว่าพวกเขากำลังหวาดกลัวอย่างหมดท่าถึงการมาถึงของบทสรุปของสังคมที่กำลังจะเดินหน้าไปสู่ “การบีบบังคับให้เกิดทำลายล้างพลังการผลิตจำนวนมหาศาล” ที่จะนำไปสู่การปลดพนักงานจำนวนมหาศาลและปัญหาความอดอยาก หนึ่งทศวรรษก่อน กระทรวงแรงงานที่กำลังล้มละลายพยายามที่จะบอกชนชั้นแรงงานให้ก้มหน้าและอย่าคิดต่อสู้กับระบบ หากแต่ในห้วงเวลาเดียวกันนั้นความคิดแบบสังคมนิยมก็เจริญเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ระบบการเมืองในหลายประเทศนั้นกำลังเดินหน้าไปสู่ขอบเหวแห่งการล่มสลาย  ลองจินตนาการสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นหากเราต้องก้าวสู่ภาวรเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในสถานการณ์แบบที่เป็นอยู่

นักวิเคราะห์การเมืองของ CBC นั้นเคยกล่าวเอาไว้ว่า

“เรากำลังอยู่ปริมณฑลที่เราไม่รู้จัก ไม่มีใครรู้เลยว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะดำเนินต่อไปอย่างไรและมันจะส่งผลอย่างไรออกมา แม้กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ก็ให้คำตอบเราไม่ได้ มันเหมือนกับสิ่งที่เราเจอมาในวิกฤตเมื่อปี 2008 ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ความเลวร้ายและการพังทลายลง โดยส่วนตัวแล้วขอบอกแลยว่าผมรู้สึกแย่มากๆกับสิ่งที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้น”

กล่าวในทางทฤษฎีแล้ว มันไม่มี “วิกฤตครั้งสุดท้าย” ของระบบทุนนิยม วิกฤตของระบบทุนนิยมนั้นจะเกิดขึ้นมาเสมอไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หากแต่ชนชั้นนายทุนนั้นไม่อาจล่วงรู้เลยว่าวิกฤตครั้งต่อไปจะปรากฏออกมาในรูปแบบไหนและจะแก้ไขมันอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนก็คือ ไม่ว่าหนทางแก้ไขวิกฤตจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม มันย่อมก่อให้เกิดภาระขนาดมมหึมาต่อชนชั้นแรงงานและคนยากจนไม่ใช่พวกนายทุน บรรดานายทุนนั้นไม่อาจจะพาสังคมก้าวไปข้างหน้าได้อีกแล้ว พวกเขายืนอยู่บนปากเหวของความล่มสลาย พวกเราจำเป็นต้องสร้างขุมพลังที่สามารถให้กำเนิดระบบสังคมนิยมขึ้นมาในฐานะของทางเลือกเพื่อหลีกหนีออกจากวิกฤตอันร้ายแรงของระบบทุนนิยม.

 

 

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.