Skip to main content

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

บทนำเสนอเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น

Introduction to Marxist Economics

By Rob Sewell and Alan Woods

Translated By Jakkapon P.

 

บทนำ

ปัจจุบันนี้ภายใต้แรงกดดันและผลกระทบอันเนื่องมาจากวิกฤตของระบบทุนนิยม ชนชั้นแรงงานจำนวนทวีความต้องการคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์มากขึ้น พวกเขาพยายามที่จะทำความเข้าใจต่อกลุ่มพลังอำนาจที่ทำการควบคุมและกำหนดชีวิตของพวกเขา บทนำเสนอความคิดเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้นนี้เขียนขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะจัดเตรียมชนชั้นแรงงานที่มีความตระหนักและจิตสำนึกทางชนชั้นขึ้น มันจึงไม่ใช่เพียงงานเขียนที่รวบรวมองค์ความรู้ทางเศรษฐกิจเข้าไว้เท่านั้นแต่เป็นงานเขียนแนะนำให้ผู้อ่านมีความเข้าใจต่อกฎพลวัตรของระบบทุนนิยมที่ควบคุมการดำรงอยู่ของทุกชีวิต

คามตื้นเขินของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมนั้นแสดงให้เราเห็นผ่านการที่พวกเขานั้นปราศจากความสามารถในการจะทำความเข้าใจวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากระบบที่พวกเขาสนับสนุน หน้าที่เพียงอย่างเดียวของบรรดานักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ก็คือการพยายามปกปิดและปกป้องกระบวนการขูดรีดชนชั้นแรงงานและ “พิสูจน์” ความทรงอำนาจและประสิทธิภาพของระบบทุนนิยม “ทฤษฎี” และ “มาตรการแก้ปัญหา” อันหลอกลวงของพวกเขานั้นไม่สามารถจะช่วยแก้ไขสภาพธรรมชาติอันผุพังและเน่าเฟะของระบบทุนนิยมได้เลย มีเพียงแต่การเปลี่ยนผ่านสังคมจากระบบทุนนิยมไปสู่ระบบสังคมนิยม และการนำระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนมาใช้เท่านั้นที่จะยุติฝันร้ายของปัญหาการว่างงาน เศรษฐกิจตกต่ำ และความโกลาหลที่เกิดจากระบบทุนนิยมได้

บรรดาผู้นำแรงงานฝ่ายขวานั้นต่างก็ปฏิเสธเคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เป็นเสมือนพระเจ้าองค์ก่อนไป และแทนที่มันด้วยการหันไปบูชากระบวนการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจแบบ “ออโธด็อกซ์” (orthodox economic solution) นั่นคือ การใช้มาตรการลกรายจ่ายภาครัฐ, หยุดการขึ้นค่าจ้างและมาตรการเงินฝืด ขณะที่บรรดาฝ่ายซ้ายปฏิรูปนิยม ก็พากันเอาแต่ร้องหานโยบายทุนนิยมในอดีต (การเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบ, การควบคุมการนำเข้าสินค้า, ฯลฯ) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ถูกพิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่ามันเป็นมาตรการที่ไร้ประสิทธิภาพภายใต้ระบบทุนนิยม

มีเพียงแต่การทำความเข้าใจระบบทุนนิยมแบบมาร์กซิสต์เท่านั้นที่จะช่วยให้ชนชั้นแรงงานที่มีจิตสำนึกทางชนชั้นมองทะลุผ่านคำโกหกและการบิดเบือนของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมได้ และพร้อมที่จะต่อต้านอิทธิพลของความคิดแบบทุนนิยมภายในขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นแรงงาน

 

เงื่อนไขสำหรับระบบทุนนิยม

ในปัจจุบันนี้ กระบวนการผลิตสมัยใหม่นั้นถูกรวมศูนย์อำนาจเอาไว้ในมือของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ Uniliver, ICI, Ford, British Petroleum, บริษัทเหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างของกิจการขนาดใหญ่ที่ควบคุมและกำหนดชีวิตของเรา แม้ว่ามันจะเป็นความจริงที่ยังคงมีกิจการขนาดกลางและขนาดเล็กดำรงอยู่ในระบบตลาด หากแต่กิจการเหล่านั้นเป็นเพียงภาพสะท้อนของกระบวนการผลิตในอดีตไม่ใช่กระบวนการผลิตในปัจจุบัน กระบวนการผลิตสมัยใหม่นั้นโดยเนื้อแท้ของมันแล้วคือการผลิตจำนวนมหาศาล กล่าวได้ว่ามันคือการดำเนินกิจการในระดับขนาดใหญ่

ณ ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรนั้นถูกควบคุมเอาไว้โดยกิจการขนาดใหญ่ 200 อันดับแรก ผนวกกับ ธนาคารและแหล่งให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์อีก 35 บริษัท ซึ่งควบคุมผลผลิตมวลรวมของชาติกว่าร้อยละ 85 เอาไว้ พัฒนาการนี้เกิดขึ้นผ่านช่วงเวลาไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมาด้วยกระบวนการแข่งขันอันโหดเหี้ยม วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และสงคราม ในช่วงสมัยที่นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกนั้นทำนายถึงระบบการค้าเสรีในอนาคต มาร์กซ์ก็ได้อธิบายถึงพัฒนาการของระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดอันเกิดขึ้นจากกระบวนการแข่งขันในระบบตลาด และในตอนนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าระบบทุนนิยมผูกขาดได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาพร้อมกับทำลายระบบการแข่งขันเสรีลง

ในเบื้องแรกนั้น ดูเสมือนว่าระบบทุนนิยมนั้นทำการผลิตสินค้าและส่งต่างๆขึ้นโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้คน และแน่นอนว่าทุกสังคมนั้นย่อมจะดำเนินการเพื่อเป้าหมายนี้ หากแต่ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นจริงนั้น สินค้าไม่ได้ถูกผลิตขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์หากแต่มันถูกผลิตขึ้นเพื่อเป้าหมายหลักนั่นคือการขาย และนั่นถือเป็นเป้าหมายอันสำคัญยิ่งของระบบอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม

วลีหนึ่งที่สามารถอธิบายถึงปณิธานอันสูงสุดของชนชั้นนายทุนทั้งมวลได้นั้น คือคำกล่าวอันโด่งดังของ Lord Stokes อดีตประธานบริษัท Britise Leyland ที่กล่าวว่า “ผมกำลังประกอบกิจการเพื่อหาเงิน ไม่ใช่เพื่อผลิตรถยนต์!”

กระบวนการผลิตแบบทุนนิยมนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการดำรงอยู่ของเงื่อนไขที่คงที่ อันประกอบด้วย เงื่อนไขประการแรก การดำรงอยู่ของชนชั้นแรงงานที่ปราศจากทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่ต้องถูกบีบบังคับให้ขายกำลังแรงงานของตนเองเพื่อที่จะดำรงชีวิตรอด ดังนั้นแล้วมโนทํสน์ของ Tory เรื่อง “การกระจายทรัพย์สินอย่างเป็นประชาธิปไตย” (property owning democracy) จึงเป็นมโนทัศน์ที่กลายเป็นเรื่องไร้สาระภายใต้ระบบทุนนิยม เพราะหากประชากรจำนวนมหาศาลนั้นสามารถถือครองทรัพย์สินจำนวนมากเพียงพอที่จะดำรงชีวิตเองได้ ชนชั้นนายทุนย่อมไม่สามารถจะแสวงหาแรงงานมาผลิตมูลค่าส่วนเกินให้แก่ตัวเองได้ เงื่อนไขประการที่สอง ปัจจัยการผลิตทั้งมวลนั้นต้องถูกผูกขาดเอาไว้ในกำมือของชนชั้นนายทุน ตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา บรรดาชาวนาและผู้คนทั้งหลายที่ถือครองปัจจัยการดำรงชีพที่จำเป็นสำหรับตนเองนั้นต่างก็ถูกรุกคืบยึดเอาปัจจัยการผลิตเหล่านั้นไปอย่างโหดร้ายโดยชนชั้นนายทุนและบรรดาเจ้าที่ดิน เมื่อนั้นบรรดาชาวนาทั้งหลายที่สูญเสียที่ดิน (ปัจจัยการผลิตที่จำเป็นสำหรับตนเอง – ผู้แปล) จึงต้องกลายไปเป็นแรงงานซึ่งจะต้องถูกจ้างโดยบรรดานายทุนเพื่อทำการผลิตปัจจัยการผลิต และสร้างมูลค่าส่วนเกินขึ้นมา.

 

มูลค่าและสินค้า

ระบบทุนนิยมทำงานอย่างไร?

ชนชั้นแรงงานถูกขูดรีดได้อย่างไร?

กำไรของชนชั้นนายทุนมาจากไหน?

ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เพื่อที่จะตอบบรรดาคำถามข้างต้นนั้น ในขั้นแรกเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจหัวใจสำคัญของเรื่องซับซ้อนเหล่านี้ก่อน นั่นคือ มูลค่าคืออะไร? หากเราสามารถตอบคำถามนี้ได้แล้ว คำตอบของคำถามอื่นๆก็จะตามมา การทำความเข้าใจต่อเรื่องมูลค่านั้นถือว่าเป็นเรื่องแกนกลางอันสำคัญยิ่งสำหรับการทำความเข้าใจต่อรูปแบบระบบเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม

ในขั้นแรกเราต้องเริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจว่า บรรดาบริษัททั้งหลายของชนชั้นนายทุนนั้นผลิตสร้างสินค้าและบริการขึ้นมา หรือกล่าวให้ตรงกว่านั้นก็คือพวกเขาผลิตสร้าง สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งบรรดาสินค้าและบริการเหล่านี้นั้นถูกผลิตสร้างขึ้นมาเพื่อการขายเท่านั้น แน่นอน ใครสักคนอาจจะสร้างสิ่งของบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้ส่วนตัวได้ ในห้วงเวลาก่อนจะมีระบบทุนนิยมผู้คนจำนวนมากทำการผลิตสิ่งของต่างๆขึ้น หากแต่ผลผลิตเหล่านั้นไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) กระบวนการการผลตแบบทุนนิยมนั้นกลายมาเป็นสิ่งที่สำคัญอยู่เหนือการผลิตและมันก่อให้เกิด “การสะสมสินค้าโภคภัณฑ์ขนาดมหาศาล” (Marx, Capital Vol. I) นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมมาร์กซ์จึงเริ่มที่จะทำการศึกษาระบบทุนนิยมพร้อมกับวิเคราะห์ลักษณะของสินค้าโภคภัณฑ์

สินค้าโภคภัณฑ์ทั้งมวลนั้นต่างก็มีมูลค่าใช้สอย (use-value) ในตัวมันเองสำหรับผู้คน นั่นหมายความว่าตัวสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆมีประโยชน์ในการใช้สอยสำหรับใครบางคน ไม่เช่นนั้นสินค้าเหล่านั้นย่อมไม่อาจจะขายได้ ซึ่งมูลค่าใช้สยนี้ถูกจำกัดเอาไว้ด้วยคุณสมับัติการใช้สอยในเชิงกายภาพของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ

นั่นแปลว่าบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายนั้นบรรจุมูลค่าเอาไว้ในตัวมันเอง คำถามคือมูลค่าดังกล่าวนี้คืออะไร และมันแสดงตัวเองออกมาอย่างไร?

ถ้าหากเราหยุดการนำเอาระบบเงินตราเข้ามาคิดคำนวนรวมด้วย บรรดาสินค้าโภคภัณฑ์นั้นเมื่อมันต้องถูกแลกเปลี่ยนย่อมตกอยู่ภายใต้สมการที่แน่นอน

ตัวอย่างเช่น

รองเท้า 1 คู่, นาฬิกา 1 เรือน = ผ้า 10 หลา, เหล้าวิสกี้ 3 ขวด, ยางรถ 1 เส้น

สินค้าแต่ละชนิดในสมการฝั่งซ้ายนั้นสามารถแลกเปลี่ยนเป็นผ้า 10 หลาได้ และแน่นอนว่าในทางกลับกัน สินค้าจำนวนเท่ากันก็สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นตามสมการนี้ได้

ตัวอย่างแบบง่ายๆนี้แสดงให้เห็นว่ามูลค่าแลกเปลี่ยน (exchange value) ของสินค้าโภคภัณฑ์ต่างชนิดกันเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างดำรงอยู่ภายในตัวสินค้าแต่ละชนิด หากแต่คำถามคืออะไรเป็นตัวกำหนดว่า รองเท้า 1 คู่ = ผ้า 10 หลา? หรือ นาฬิกา 1 เรือน = เหล้าวิสกี้ 3 ขวด? ฯลฯ

แน่นอนว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่เป็นจุดร่วมกันของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งมวล และชัดเจนว่าสิ่งดังกล่าวนั้นย่อมไม่ใช่น้ำหนัก, สี หรือความแข็งของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ และแน่นอนว่ามันไม่ใช่เพราะว่าสินค้าเหล่านั้นมีประโยชน์ในตัวเองด้วย ขนมปังนั้นมีราคาน้อยกว่ารถยนต์โรลส์ รอยซ์มหาศาล แน่นอนสินค้าชนิดหนึ่งนั้นเป็นสินค้าจำเป็น ขณะที่อีกอันเป็นสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือย คำถามคือแล้วอะไรคือลักษณะที่ทั้งสองมีร่วมกัน? คำตอบคือสิ่งที่พวกมันมีร่วมกันนั้นก็คือมันต่างเป็นสิ่งของที่ถูกผลิตขึ้นมาจากกำลังแรงงานของมนุษย์

ปริมาณกำลังแรงงานของมนุษย์ที่ถูกใส่เข้าไปในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นถูกแสดงออกมาในรูปแบบของเวลา ในหน่วยสัปดาห์, วัน, ชั่วโมง และนาที

และหากย้อนกลับไปที่ตัวอย่างที่เรายกข้างต้น บรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหมดนั้นสามารถแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบของส่วนประกอบร่วมได้ หรือก็คือรูปแบบสมการของเวลาการผลิต (Labour-time) ดังนี้

รองเท้า 1 คู่ (ใช้เวลาการผลิต 5 ชั่วโมง), นาฬิกา 1 เรือน (ใช้เวลาการผลิต 5 ชั่วโมง) = ผ้า 10 หลา (ใช้เวลาการผลิต 5 ชั่วโมง), เหล้าวิสกี้ 3 ขวด (ใช้เวลาการผลิต 5 ชั่วโมง), ยางรถ 1 เส้น (ใช้เวลาการผลิต 5 ชั่วโมง).

 

ปริมาณแรงงานเฉลี่ย

หากเรามองสินค้าโภคภัณฑ์ผ่านกรอบมุมมองเรื่องมูลค่าใช้สอย (การใช้ประโยชน์จากสินค้าชนิดนั้นๆ) เราย่อมมองเห็นมันในฐานะของ “รองเท้า” คู่หนึ่งที่ใช้สอมใส่ หรือ “นาฬิกา” เรือนหนึ่งที่ใช้เพื่อดูเวลา ฯลฯ กล่าวคือเราจะมองเห็นมันในฐานะของผลผลิตอันเนื่องมาจากการใช้กำลังแรงงานเฉพาะทาง ... กล่าวคือเราจะเห็นสินค้าในฐานะของผลผลิตจากกำลังแรงงานของช่างทำรองเท้า, ช่างทำนาฬิกา ฯลฯ หากแต่ในการแลกเปลี่ยนสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะถูกมองในอักมิติหนึ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง ลักษณะพิเศษเฉพาะของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดนั้นๆจะถูกมองข้ามไปทันทีและมันจะถูกแทนที่ด้วยการมองมันในฐานะของผลผลิตที่เกิดจากปริมาณกำลังแรงงานเฉลี่ยจำนวนหนึ่ง ในการแลกเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์เราจะเริ่มต้นการเปรียบเทียบจำนวนปริมาณกำลังแรงงานมนุษย์ที่ถูกบรรจุลงไปในการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆขึ้นมา กำลังแรงงานทั้งมวลนั้นจะถูกลดทอนลงไปเป็นปริมาณแรงงานเฉลี่ยหน่วยย่อยเพื่อการแลกเปลี่ยน

อย่างไรก็ตามเป็นความจริงที่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตด้วยแรงงานมีฝีมือนั้นย่อมบรรจุมูลค่าที่มากกว่าสินค้าที่ผลิตขึ้นมาด้วยแรงงานไร้ฝีมือ ดังนั้นแล้วในการแลกเปลี่ยนสินค้า ปริมาณกำลังแรงงานเฉลี่ยของแรงงานมีฝีมืจึงมีมูลค่าเท่ากับปริมาณกำลังแรงงานเฉลี่ยของแรงงานไร้ฝีมือหลายหน่วย  ยกตัวอย่างเช่น อัตราส่วนของปริมาณแรงงานมีฝีมือ 1 หน่วยนั้น มีค่า = ปริมาณแรงงานไร้ฝีมือจำนวน 3 หน่วย หรือกล่าวคือกำลังแรงงานมีฝีมือนั้นมีค่ามากเป็นสามเท่าของกำลังแรงงานไร้ฝีมือ

อธิบายให้ง่ายขึ้น มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้นถูกกำหนดโดยปริมาณหรือจำนวนของปริมาณกำลังแรงงานเฉลี่ยที่ถูกใช้ไปในการผลิตสินค้าชนิดนั้นๆขึ้นมา (หรือก็คือ จำนวนเวลาที่ใช้ในการผลิตสินค้าชิ้นนั้นๆ) หากแต่ หากแต่ถ้าเรายึดหลักไว้เพียงเท่านั้นมันย่อมจะกลายเป็นว่าแรงงานที่เกียจคร้านนั้นย่อมสร้างมูลค่ามากกว่าแรงงานที่มีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแน่นอน!

ขอให้ผมได้ยกตัวอย่างที่ชัดเจนมากขึ้น ตัวอย่างที่เราจะกล่าวถึงนี้คือช่างทำรองเท้ารายหนึ่งที่เลือกจะใช้กระบวนการผลิตที่ล้าหลังตั้งแต่สมัยยุคกลางในการผลิตรองเท้า และด้วยการใช้กระบวนการผลิตแบบดังกล่าวนี้ ช่างทำรองเท้าย่อมต้องใช้เวลาตลอดทั้งวันในการผลิตรองเท้าหนึ่งคู่ และเมื่อเขานำรองเท้าที่เขาผลิตได้ไปขายในตลาด เขาย่อมพบว่ารองเท้าที่เขาผลิตขึ้นนั้นมีราคาเท่าๆกับรองเท้าที่ถูกผลิตขึ้นมาด้วยกระบวนการผลิตที่ทันสมัยกว่าจากโรงงานยุคใหม่

และหากว่าโรงงานยุคใหม่ที่เรากล่าวถึงข้างต้นนี้สามารถผลิตรองเท้าหนึ่งคู่ขึ้นมาได้โดยใช้เวลาในการผลิตเพียงครึ่งชั่วโมง รองเท้าที่ถูกผลิตขึ้นในโรงงานนี้ย่อมบรรจุปริมาณแรงงานที่น้อยกว่าการผลิตที่ใช้เวลานานกว่า (และดังนั้นแล้วมันจึงมีมูลค่าที่น้อยกว่า) และดังนั้นแล้วมันย่อมถูกขายด้วยราคาที่ถูกกว่า และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการผลิตแบบใหม่นี้ย่อมจะบีบให้ช่างทำรองเท้าที่ใช้กระบวนการผลิตอันล้าหลังนั้นต้องพ่ายแพ้ในระบบตลาดและหลุดออกจากการแข่งขัน ทั้งนี้ก็เพราะกระบวนการผลิตรองเท้าที่ใช้เวลาในการผลิตมากกว่าที่โรงงานผลิตนั้นคือการใช้เวลาในการผลิตไปอย่างสิ้นเปลือง และเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นภายใต้เงื่อนไขของโลกสมัยใหม่ และเพื่อหลีกหนีจากการพ่ายแพ้ในระบบตลาดช่างทำรองเท้านั้นย่อมถูกบีบบังคับให้ต้องหันไปใช้กระบวนการผลิตแบบสมัยใหม่ และผลิตรองเท้าภายในเวลาที่ไม่มากไม่น้อยไปกว่าเวลาที่จำเป็นในการผลิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยสังคม

ดังนั้นแล้วบรรดาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายนั้นย่อมจำเป็นต้องอาศัยระยเวลาที่แน่นอนในการผลิตมันขึ้นมาไม่ว่าจะผลิตขึ้นมาในยุคสมัยใด หรือด้วยการใช้กำลังแรงงานเฉลี่ย, เครื่องจักร, กระบวนการผลิตแบบใดก็ตาม ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้ถูกกำกับไว้โดยระดับของพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการผลิตของสังคม ตามคำกล่าวของมาร์กซ์นั้น บรรดาสินค้าโคภัณฑ์ทั้งหลายนั้นจะต้องถูกผลิตขึ้นด้วยกปริมาณเวลาแรงงานทางสังคมที่จำเป็น ปริมาณเวลาแรงงานที่ใช้เกินกว่าหรือมากกว่านี้นั้นจะถือเป็นเวลาแรงงานที่ไร้ค่า ที่จะก่อให้เกิดการเพิ่มต้นทุนการผลิตและทำให้กิจการการผลิตนั้นไม่สามารถแข่งขันได้

กล่าวให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นกว่านั้น มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นถูกกำหนดด้วยจำนวนของปริมาณของเวลาแรงงานทางสังคมที่จำเป็นที่เรากล่าวไปในย่อหน้าก่อน และเป็นเรื่องปกติว่าเวลาแรงงานทางสังคมที่จำเป็นนี้เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องเมื่อมีการนำเอาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตแบบใหม่เข้ามาใช้ และการแข่งขันในระบบตลาดนั้นจะเป็นสิ่งที่ผลักให้รูปแบบการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพล้มตายไป

เมื่อเป็นดังนี้แล้วเราย่อมสามารถทำความเข้าใจได้ว่าเหตุใดอัญมณีที่มีความงดงามล้ำค่าจึงมีมูลค่ามากกว่าสิ่งของที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ก็เพราะการผลิตอัญมณีนั้นมีความจำเป็นต้องใช้เวลาแรงงานที่จำเป็นทางสังคมไปเพื่อค้นหา และสกัดมันออกมา จากนั้นก็นำมันเข้าสู่กระบวนการผลิตที่ต้องใช้เวลาอีกมหาศาล ดังนั้นแล้วมูลค่าของมันจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

เราอาจจะต้องย้ำอีกครั้งว่าพร้อมกันนี้มันก็มีสิ่งของที่มูมูลค่าใช้สอยในตัวเอง แต่ปราศจากมูลค่าใดๆในตัวเอง กล่าวคือ สิ่งของที่มีประโยชน์อย่างยิ่งที่ไม่จำเป็นต้องใข้เวลาแรงงานเพื่อสร้างหรือผลิตมันขึ้นมา เช่น อากาศ, แม่น้ำ, ดิน, ทุ่งหญ้าตามธรรมชาติ ฯลฯ ดังนั้นแล้วกำลังแรงงานจึงไม่ใช่ต้นกำเนิดเดียวของมูลค่า กล่าวคือ ไม่ใช่ต้นกำเนิดเดียวของมูลค่าใช้สอย หากแต่ธรรมชาติเองก็เป็นที่มาของมูลค่าใช้สอยในสิ่งต่างๆเช่นกัน

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราย่อมมองเห็นได้ว่าการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตย่อมจะนำมาซึ่งการขยายตัวของปริมาณของสิ่งต่างๆที่ผลิตขึ้น (ความมั่งคั่งเชิงรูปธรรม) แต่พร้อมกันนั้นมันก็ย่อมจะลดมูลค่าของสิ่งที่มันผลิตขึ้นมาด้วย กล่าวคือ เมื่อปริมาณกำลังแรงงานที่ใช้ในการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์นั้นลดลง มันย่อมตามมาด้วยมูลค่าที่ลดลง การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพการผลิตนั้นย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ในการเพิ่มขึ้นของความมั่งคั่ง อย่างไรก็ตามการขยายตัวขึ้นในเชิงปริมาณของความมั่งคั่งเชิงรูปธรรมนั้นย่อมทำให้เกิดภาวะที่แรงดึงดูดในมูลค่าของมันต่ำลง (ตัวอย่างเช่น สินค้าที่ผลิตออกมาด้วยโรงงานที่มีกำลังการผลิตสูงเป็นจำนวนมาก กลายเป็นสินค้าระดับ mass ในตลาดนั้นก็ย่อมทำให้ราคาและความน่าดึงดูดของมันตกต่ำลงด้วย – ผู้แปล)

 

ระบบเงินตรา

อันเนื่องมาจากความยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยการใช้กระบวนการแบบสินค้าแลกสินค้านั้น ทำให้ในที่สุดแล้วมันนำไปสู่การนำ “ระบบเงินตรา” เข้ามาใช้ ตลอดเวลานับพันปีที่ผ่านมานั้น – ทองคำ – ได้กลายมาเป็นตัวแทนในการรับหน้าที่ในระบบเงินตราในฐานะของ “ตัวแทนมูลค่าแลกเปลี่ยนสากล” (Marx, Capital Vol. I)

และนั่นทำให้จากเดิมที่เราต้องเปรียบเทียบว่าสินค้าชนิดหนึ่งนั้นมีมูลค่ามากกว่าเนย, เนื้อสัตว์, เสื้อผ้า, ฯลฯ มันย่อมกลายมาเป็นการเปรียบเทียบมูลค่าสินค้ากับทองคำโดยตรง ระบบเงินตรานั้นแสดงภาพตัวแทนของมูลค่าออกมาในรูปแบบของราคาซื้อขาย ทองคำถูกดึงเข้ามารับบทบาทกลางนี้ก็เนื่องมาจากคุณสมบัติของตัวมันเอง นอกจากนี้ทองคำยังสามารุบรรจุมูลค่าปริมาณมากเอาไว้ในปริมาณขนาดเล็กได้ และมันยังสามารถนำมาผลิตเป็นเหรียญกษาปณ์ได้อีกด้วย

และเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิด มูลค่าของทองคำนั้นโดยตัวมันเองถูกกำหนดด้วยจำนวนของเวลาแรงงานที่ถูกใช้ไปในการผลิตทองคำขึ้นมา ตัวเองเช่น สมมติว่าทองคำ 1 ออนซ์นั้นใช้เวลาแรงงานจำนวน 40 ชั่วโมงในการผลิตขึ้นมา เมื่อนั้นสินค้าชนิดอื่นๆที่ใช้เวลาในการผลิตเท่ากับทองคำจำนวน 1 ออนซ์นี้ย่อมมีมูลค่าเท่ากัน และสินค้าใดที่ใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่าครึ่งหนึ่งก็ย่อมจะมีมูลค่าน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเช่นกัน ฯลฯ

ทองคำ 1 ออนซ์ = เวลาแรงงาน 40 ชั่วโมง, ทองคำ ½ ออนซ์ = เวลาแรงงาน 20 ชั่วโมง, ทองคำ 1/4 ออนซ์ = เวลาแรงงาน 10 ชั่วโมง ดังนั้นแล้ว รถยนต์ 1 คัน (ใช้เวลาในการผลิต 40 ชั่วโมง) = ทองคำ 1 ออนซ์, โต๊ะ 1 ตัว (ใช้เวลาในการผลิต 10 ชั่วโมง) = ทองคำ 1/4 ออนซ์

และเนื่องด้วยความเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตและการขยายตัวของผลิตภาพการผลิตของแรงงานนั้น มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายย่อมมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง เหมือนดั่งรถไฟในสถานีที่ผลัดกันเข้ามาจอดและออกวิ่งไปในห้วงเวลาที่แตกต่างกัน หากคุณเลือกเดินขึ้นรถไฟสักขบวนที่กำลังจะเคลื่อนตัวออกไปขึ้นมาเป็นตัวอย่างมาตรฐานเพื่อเปรียบเทียบกับการเคลื่อนไหวของรถไฟขบวนอื่น มันย่อมทำให้คุณเดินหน้าไปสู่ความสับสน มีเพียงแต่การยืนอยู่บนพื้นที่ที่แน่นอนและมั่นคงเท่านั้นที่จะทำให้คุณมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคืออะไร ในความสัมพันธ์ของการแลกเปลี่ยนสินค้าทั้งหลายนั้น ทองคำก็รับบทเป็นตัวมาตรฐานกลาง ทั้งนี้ก็เพราะตัวมันเองมีความมั่นคงที่สุด แม้ว่าทองคำนั้นจะมีความเคลื่อนไหวอยู่บ้างหากแต่ก็ยังไม่มีสินค้าตัวไหนที่จะทำหน้าที่แทนมันได้.

 

ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์

กฎของมูลลค่านั้นทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมราคาของสินค้าต่างๆ ดังเช่นที่เราได้อธิบายเอาไว้ก่อนหน้านี้ มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นจะมีค่าเท่ากันกับปริมาณกำลังแรงงานที่ถูกบรรจุเอาไว้ภายในสินค้าแต่ละชนิด ในทางทฤษฎี มูลค่าของสินค้าแต่ละชนิดนั้นจะมีค่าเท่ากับราคาขายของมัน หากแต่ในความเป็นจริง ราคาของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นมีแนวโน้มที่จะขยับตัวสูงขั้นหรือต่ำลงกว่ามูลค่าที่เป็นจริงของตัวมันเอง ความผันผวนของราคานี้เกิดขึ้นเนื่องจากความแตกต่างที่ส่งอิทธิพลต่อราคาตลาด เช่น อัตราการเติบโตของกิจการที่มีลักษณะผูกขาดตลาด, ความแตกต่างของอุปสงค์และอุปทานนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคา ยกตัวอย่างเช่น ในห้วงเวลาหนึ่งมันอาจจะมีการสะสมของสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนเกินในตลาด (อุปทานเยอะกว่าอุปสงค์ – ผู้แปล) เมื่อนั้นราคาสินค้าชนิดดังกล่าวย่อมมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง แต่ในทางกลับกันหากสินค้าชนิดนี้ประสบสภาวะขาดแคลน (อุปสงค์มากกว่าอุปทาน – ผู้แปล) ราคาขายของสินค้าชนิดนี้ย่อมสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริงของตัวมันเอง อิทธิพลของอุปสงค์และอุปทานนี้ส่งให้บรรดานักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีนั้นเชื่อกฎเรื่องอุปสงค์-อุปทานนี้เป็นแก่นแกนหลักในการกำหนดราคาสินค้า หากแต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีเหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้ก็คือการที่ราคาสินค้าแต่ละชนิดนั้นจะมีการผันผวนอยู่ในระดับที่น่นอน และระดับความผันผวนที่เรากล่าวถึงนี้ไม่ได้ถูกควบคุมหรือกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน หากแต่ถูกกำหนดมาด้วยเวลาแรงงานที่ถูกใช้ไปในการผผลิตสินค้าชนิดนั้นๆ ดังนั้นแล้วต่อให้อุปสงค์จะมากกว่าอุปทานแค่ไหนก็ตามแต่เราจะไม่มีทางได้เห็นการที่สินค้าอย่างรถบรรทุกนั้นมีราคาตกต่ำจนถูกกว่าถังพลาสติก

 

กำไร

บรรดา “ผู้รอบรู้” บางกลุ่มนั้นได้นำสนอทฤษฎีที่ว่า กำไร นั้นมีที่มาจากการซื้อสินค้าราคาถูกแล้วนำมาขายต่อในราคาที่แพงขึ้น ในงานเรื่อง มูลค่า, ราคา และ กำไร (Value, Price and Profit) มาร์กซ์ได้อธิบายถึงความไม่สมเหตุสมผลของการอธิบายแบบดังกล่าวเอาไว้ดังนี้

“ชัยชนะที่มนุษย์จะได้รับอย่างแน่นอนในฐานะการเป็นผู้ขายนั้น คือความพ่ายแพ้ของผู้ซื้อ แน่นอนนี่ไม่ใช่การพูดว่ามันมีมนุษย์ที่เป็นเพียงแต่ผู้ซื้อโดยที่ไม่ได้เป็นผู้ขายในตัวเอง หรือเป็นผู้บริโภคโดยที่ไม่เป็นผู้ผลิตในตัวเองไปพร้อมกัน พวกเขาจะจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาได้รับสิ่งของจากผู้ผลิตก่อน และถ้าหากว่าคนคนหนึ่งเริ่มต้นด้วยการนำเอาเงินของคุณไป แล้วหลังจากนั้นก็นำเงินก้อนเดิมนี้มาใช้ซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่คุณขาย คุณก็ย่อมจะไม่สามารถสร้างความร่ำรวยให้ตัวเองได้ด้วยการขายสินค้าโภคภัณฑ์ในราคาที่สูงขึ้นให้กับคนๆเดิมได้ รูปแบบการซื้อขายแบบนี้ย่อมจะสร้างให้มีผู้เสียเปรียบในการซื้อขายขึ้น หากแต่มันไม่อาจจะช่วยให้เกิดการสร้างกำไรที่เป็นจริงขึ้นมาได้” (Marx, Value, Price and Profit)

 

กำลังแรงงาน

ในการจะบรรลุถึง “เงื่อนไขของการผลิต” นั้นชนชั้นนายทุนได้เพ่งมองไปยัง “ตลาดแรงงาน” ในฐานะของรูปแบบหนึ่งของตลาดสำหรับซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ ความสามารถและพลังงานของชนชั้นแรงงานนั้นถูกมองในฐานะของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง

สิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อนก็คือชนชั้นนายทุนนั้นซื้ออะไรจากแรงงาน ชนชั้นแรงงานนั้นไม่ได้ขายแรงงานของตนเองหากแต่ขายความสามารถในการทำงาน และนี่คือสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่าเป็นกำลังแรงงาน

กำลังแรงงานนั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกควบคุมโดยกฎเดียวกันกับสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ (กฎของมูลค่า) มูลค่าของมันนั้นถูกกำหนดโดยเวลาแรงงานที่จำเป็นในการผลิตตัวเอง กำลังแรงงานนั้นคือความสามารถของชนชั้นแรงงานในการจะทำงาน ซึ่งมันถูก “บริโภค” โดยชนชั้นแรงงานในกระบวนการใช้กำลังแรงงาน แต่พร้อมกันนี้การเสนอแบบนี้ก็ทำให้เรามองเห็นการดำรงอยู่ของสุขภาพและความเข้มแข็งของแรงงานแต่ละคน ดังนั้นแล้วการผลิตกำลังแรงงานย่อมหมายถึงการรักษาร่างกายของแรงงานและการผลิตซ้ำกำลังแรงงาน เพื่อจะเตรียมแรงงานรุ่นใหม่เอาไว้ให้พร้อมรับรองการใช้งานของชนชั้นนายทุน

เวลาแรงงานที่จำเป็นสำหรับการบำรุงรักษาตนเองของแรงงานนั้นย่อมเป็นเวลาแรงงานที่ถูกใช้ไปเพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับการดำรงอยู่ของแรงงานและครอบครัวของแรงงาน นั่นคือ อาหาร, เสื้อผ้า, ที่พักอาศัย ฯลฯ ปริมาณความต้องการพื้นฐานเหล่านี้มีความแตกต่างหลากหลายกันไปตามความแตกต่างของประเทศ, สภาพอากาศ และความแตกต่างด้านยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยสำหรับการดำรงชีพของแรงงานที่เพียงพอสำหรับแรงงานในกัลกัตตาอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอสำหรับคนงานเหมืองในเวลส์ เช่นเดียวกัน ปัจจัยสำหรับการดำรงชอีพที่เพียงพอของคนงานเหมืองในเวลส์เมื่อห้าสิบปีก่อนนั้นอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่เพียงพอสำหรับแรงงานอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน การพิจารณาประเด็นนี้จึงแตกต่างจากการพิจารณามูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆ อันเนื่องมาจากมันมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และเกี่ยวข้องกระทั่งกับประเด็นด้านศีลธรรม อย่างไรก็ตามในประเทศใดๆก็ตาม ณ จุดหนึ่งในช่วงเวลาที่แน่นอนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ปัจจัยดังกล่าวนี้ถูกเรียกในฐานะของ “ปัจจัยดำรงชีพขั้นพื้นฐาน”

 

หยุดการขูดรีด!

นอกเหนือไปจากการผลิตซ้ำกำลังแรงงานในแต่ละวันแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งในพัฒนาการของเทคโนโลยีการผลิตนั้น มันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสละเวลาส่วนหนึ่งนีวิตประจำวันของแรงงานไปใช้ในการศึกษาเพื่อที่จะเตรียมพร้อมให้แรงงานสามารถทำงานภายใต้เงื่อนไขของอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเพื่อเพื่มประสิทธิภาพในการผลิต

กำลังแรงงานนั้นมีความแตกต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆในระบบตลาดอย่างมาก เพราะมันเป็นสิ่งของรูปแบบเดียวที่ถูกซื้อขายโดยที่จะได้รับเงินที่ซื้อกำลังแรงงานนั้นหลังจากเกิดการบริโภคไปแล้ว (สินค้าชนิดอื่นนั้นเราต้องจ่ายเงินซื้อก่อนที่จะบริโภคมัน ขณะที่กำลังแรงงานนั้นถูกบริโภคหรือถูกใช้ไปก่อนที่จะมีการจ่ายเงินซื้อ-ผู้แปล) ดังนั้นแล้วชนชั้นแรงงานต้องนับว่าเป็นกลุ่มคนที่ให้เครดิตแก่บรรดานายจ้างอย่างมหาศาล (โดยเฉพาะเมื่อการจ่ายค่าแรงที่อาจจะไม่เกิดแบบวันต่อวัน แต่เกิดแบบรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเกิดการโกงการนับชั่วโมงการทำงาน หรือการล้มละลายของบริษัท ย่อมนำไปสู่การเสียบเปรียบของแรงงานที่อาจไม่ได้รับค่าตอบแทน)

อย่างไรก็ตามมีการนำเสนอความเห็นในเรื่องนี้ว่า แรงงานนั้นไม่เคยถูกขูดรีดคดโกง เพราะแรงงานนั้นเป็นผู้ตกลงปลงใจในการทำงานตามข้อตกลงด้วยเจตจำนงค์เสรีของตนเอง และการขายกำลังแรงงานนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดอื่นๆนั่นคือมันอยู่ภายใต้การแลกเปลี่ยนมูลค่าที่เท่ากัน กล่าวคือ กำลังแรงงานที่เป็นสินค้าของชนชั้นแรงงานนั้นถูกขายให้แก่นายจ้างใน “ราคาตามระดับกการแข่งขัน” ทุกคนย่อมได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมจากกระบวนการนี้ และหากว่าชนชั้นแรงงานไม่พอใจกับข้อตกกลง พวกเขาก็มีเสรีภาพที่จะลาออกแล้วไปหางานใหม่ ถ้าหากว่าพวกเขาสามารถทำได้น่ะนะ

การขายกำลังแรงงานนี้ได้นำเสนอปัญหาประการหนึ่งขึ้นมา นั่นคือถ้าหากว่า “ไม่มีใครสักคนที่คดโกง” ถ้าหากว่าชนชั้นแรงงานได้รับค่าตอบแทนเต็มมูลค่าที่พวกเขาใช้ไปในการผลิตสินค้าแล้ว การขูดรีดมูลค่าส่วนเกินนั้นจะมีที่มาจากไหน? บรรดาชนชั้นนายทุนนั้นสามารถสร้างกำไรขึ้นมาได้อย่างไร? คำตอบก็คือชนชั้นแรงงานนั้นไม่ได้ขายแรงงานของเขาให้แก่นายจ้าง หากแต่เป็นการขายกำลังแรงงาน – ความสามารถในการผลิตของเขาให้แก่นายจ้าง

และเมื่อนายทุนซื้อกำลังแรงงานมาในฐานะของสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง บรรดานายทุนนั้นย่อมมีอิสระที่จะใช้กำลังแรงงานนี้ตามความต้องการ ดังเช่นที่มาร์กซ์อธิบายเอาไว้ว่า “ทันทีที่แรงงานก้าวเท้าเข้าไปในโรงงาน มูลค่าใช้สอยของกำลังแรงงานของตัวแรงงานนั้น ตลอดจนการใช้งานกำลังแรงงานนั้นย่อมกลายสภาพไปเป็นสิ่งของภายใต้บัญชาของชนชั้นนายทุน” (Marx, Capital, Vol. I)

 

มูลค่าส่วนเกิน

เราคงได้เห็นจากตัวอย่างที่เราอธิบายมาข้างต้นแล้วว่า นายทุนนั้นจ่ายเงินซื้อกำลังแรงงานก็เนื่องมาจากกำลังแรงงานนั้นเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดเดียวที่สามารถสร้าง มูลค่าใหม่ ที่มากกว่าและสูงกว่ามูลค่าเดิมของตัวมันเองได้

ยกตัวอย่างเช่น แรงงานหนึ่งคนที่ถูกจ้างให้ทำงานปั่นฝ้ายให้กลายเป็นเส้นด้าย โดยที่เขาต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ได้รับค่าตอบแทนชั่วโมงละ 1 ยูโร

เมื่อแรงงานคนนี้ทำงานไปได้ 4 ชั่วโมง เขาสามารถผลิตเส้นด้ายรวมแล้ว 100 ปอนด์ ที่มีมูลค่ารวมเท่ากับ 20 ยูโร ซึ่งมูลค่าจำนวน 20 ยูโรที่เรากล่าวถึงนี้ถูกสร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบดังต่อไปนี้

วัตถุดิบตั้งต้น 11 ยูโร (ฝ้าย, เครื่องปั่น, กำลังแรงงาน) ค่าเสื่อมสภาพ 1 ยูโร (วัตถุดิบที่เหลือทิ้งหรือสึกกร่อน หรือตกหล่นระหว่างการผลิต) มูลค่าใหม่จากการผลิต 8 ยูโร

มูลค่าใหม่ที่เกิดขึ้นนี้มากพอที่จะจ่ายเป็นค่าแรงให้แก่คนงานที่ทำงานเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ณ จุดนี้เองที่นายทุนนั้นสามารถหามูลค่าได้มากพอที่จะจ่ายต้นทุนทั้งหมดได้ (รวมถึงค่าจ้างทั้งหมดของแรงงานด้วย) หากแต่ว่าในจุดนี้เองมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) ยังไม่ถูกผลิตขึ้น

ดังนั้นแล้วในช่วงเวลาที่เหลืออีกสี่ชั่วโมง ที่แรงงานจะผลิตด้ายจำนวน 100 ปอนด์ขึ้นมาเพิ่มพร้อมมูลค่า 20 ยูโร ที่ประกอบด้วยมูลค่าใหม่ 8 ยูโรในนั้น ในช่วงเวลา 4 ชั่วโมงนี้เองที่มูลค่าใหม่ไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กำลังแรงงาน (เนื่องจากค่าจ้างของคนงานถูกจ่ายไปแล้วด้วยมูลค่าที่ผลิตขึ้นในช่วงเวลา 4 ชั่วโมงแรก – ผู้แปล) เช่นนี้เองมูลค่าใหม่ที่เกิดขึ้น (8 ยูโร) ย่อมกลายเป็นมูลค่าส่วนเกิน ที่มันจะกลายไปเป็น ค่าเช่า (ให้แก่เจ้าที่ดิน), ผลประโยชน์ (ให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงิน) และกำไร (ให้แก่นักอุตสาหกรรม) ดังนั้นแล้วมูลค่าส่วนเกินหรือกำไรในมุมมองของมาร์กซ์แล้วมันเป็น ค่าแรงที่ไม่ได้จ่ายให้แก่ชนชั้นแรงงาน

 

ชั่วโมงการทำงาน

ความลับสำคัญในการผลิตสร้างมูลค่าส่วนเกินก็คือการที่ชนชั้นแรงงานยังคงต้องทำงานต่ออีกยาวนานแม้ว่าพวกเขาจะได้สร้างมูลค่าเท่าที่จำเป็นสำหรับกำลังแรงงานของตนเอง (ค่าจ้าง) ขึ้นมาแล้ว “ข้อเท็จจริงที่ว่าเวลาเพียงครึ่งวันนั้นเพียงพอที่จะสร้างมูลค่าที่เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิตให้แก่แรงงานนั้นไม่อาจทำให้พวกเขาหลีกหนีไปจากการต้องทำงานเต็มวันได้” (Mrax, Capital, Vol. I)

ชนชั้นแรงงานนั้นขายสินค้าโภคภัณฑ์ของตนเอง (ในที่นี้หมายถึงกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงาน-ผู้แปล) และไม่อาจจะปริปากบ่นได้ไม่ว่ากำลังแรงงานของตนนั้นจะถูกนำไปใช้ทำอะไร ในขณะที่ช่างตัดเสื้อนั้นกลับยังสามารถขายชุดสูทพร้อมกับแจ้งแก่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปว่าพวกเขาไม่ควรสวมเสื้อสูทบ่อยๆ ชั่วโมงการทำงานนี้จึงเป็นระบบการจัดการเพื่อที่จะรีดเอาผลประโยชน์สูงสุดออกมาจากกำลังแรงงาน และในกระบวนการนี้เองมันได้วางรากฐานที่เป็นความลับของการเปลี่ยนแปลงเงินให้กลายเป็นทุนเอาไว้

 

ทุนคงที่

ในกระบวนการการผลิตนั้นโดยตัวมันเองแล้ว เครื่องจักรและวัตถุดิบสำหรับการผลิตนั้นจะสลายมูลค่าในตัวมันเอง กล่าวคือมูลค่าของตัวมันเองนั้นจะถูกย่อยสลายและถ่ายโอนไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดขึ้น มันได้ถ่ายโอยมูลค่าของตัวมันเองเข้าไปสู่สินค้าโภคภัณฑ์ใหม่

มันจึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าในความสัมพันธ์แบบดังกล่าวนี้ วัตถุดิบสำหรับการผลิต (ไม้, โลหะ, เชื้อเพลิง, สีย้อมผ้า ฯลฯ) นั้นถูกบริโคจนหมดสิ้นในกระบวนการผลิต เพื่อที่จะกลับมาปรากฎในรูปแบบใหม่ของผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากกระบวนการผลิต

ส่วนเครื่องจักรนั้นมันลักษณะที่แตกต่างออกไป เครื่องจักรสำหรับการผลิตนั้นไม่ได้สูญสลายหายไปเหมือนกับวัตถุดิบการผลิต หากแต่ตัวเครื่องจักรเองนั้นย่อมประสบกับการเสื่อมสภาพหรือสึกหรอจากกระบวนการผลิต ดังนั้นแล้วมันจึงมีลักษณะที่เสื่อมสภาพลงอย่างช้าๆ ในจุดที่เครื่องจักรเสื่อมสภาพลงจนถึงจุดที่มันไม่สามารถใช้งานได้ต่อไปและไม่สามารถจะซ่อมให้กลับมาใช้ใหม่ได้นั้นจึงเป็นลักษณะเช่นเดียวกันกับการตายลงของมนุษย์ หากแต่บรรดานายทุนนั้นก็มีองค์ความรู้เหมือนเช่นบริษัทประกัน พวกเขาอาศัยพื้นฐานของกฎแห่งค่าเฉลี่ยในการคำนวนอย่างแม่นยำเพื่อคำนวนว่าเครื่องจักรหนึ่งชิ้นนั้นสามารถทำงานได้นานเท่าไหร่ เช่นเดียวกับที่บริษัทประกันชีวิตคำนวนข้อมูลสุขภาพของลูกค้าประกันเพื่อประมาณการอายุและสุขภาพของพวกเขา

การเสื่อมสภาพหรือการสึกหรอของเครื่องจักร จึงนับว่าเป็นการสูญเสียมูลค่าในตัวเองแบบรายวัน มูลค่าที่หายไปนี้จะถูกคำนวนและกลายเป็นมูลค่าที่เข้าไปบรรจุอยู่ในผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้นแล้วปัจจัยการผลิตต่างๆนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถ่ายโอนมูลค่าในตัวมันเองไปสู่สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดใหม่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราย่อมเห็นว่า ปัจจัยการผลิตที่เป็นทุนคงที่เหล่านี้นั้นเพียงแต่ถ่ายโอนมูลค่าดั้งเดิมในตัวมันเองไปสู่สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดใหม่หากแต่มันไม่สามารถสร้างมูลค่าใหม่ที่เพิ่มขึ้นให้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงเรียกขานมันว่า ทุนคงที่

 

ทุนแปรผัน

ในขณะที่ปัจจัยการผลิตที่เป็นทุนคงที่นั้นไม่ได้สร้าง มูลค่าใหม่ ให้แก่สินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมานั้น กำลังแรงงานของชนชั้นแรงงานนั้นไม่เพียงแต่ รักษาการถ่ายโอนมูลค่า หากแต่ยัง สร้างมูลค่าใหม่ มห้แก่ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นด้วยการทำงาน หากว่ากระบวนการผลิตนั้นถูกหยุดลงในห้วงจังหวะที่แรงงานสามารถสร้างมูลค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกับกำลังแรงงานของตนเองได้ (ตามที่กล่าวไว้ในตัวอย่างเรื่อง มูลค่าส่วนเกิน – ผู้แปล) กล่าวคือ ทำงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน (8 ยูโร) มันจะเกิดการสร้างมูลค่าใหม่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

หากแต่กระบวนการทำงานนั้น ไม่ได้หยุดลงเพียงแค่นั้น กระบวนการผลิตนั้นต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสามารถสร้างมูลค่าขึ้นมาครอบคลุมรายจ่ายของชนชั้นนายทุนในการจ้างงานแรงงานได้เสียก่อน ชนชั้นนายทุนนั้นไม่ได้จ้างงานแรงงานเพื่อการกุศล หากแต่จ้างเพื่อแสวงหากำไร เมื่อนชนชั้นแรงงานได้เข้ามาทำสัญญากับชนชั้นนายทุนแรง เมื่อนั้นคนงานย่อมกลายเป็นกำลังแรงงาน ที่ต้องสร้างการผลิตมูลค่าจำนวนมากที่เมื่อรวมแล้วจะต้องมีมูลค่ามากกว่าค่าจ้างของตัวคนงานเอง

“องค์ประกอบของการผลิต” ตามทฤษฎีแบบนักเศรษฐศาสตร์กระฎุมพีอันประกอบด้วยปัจจัยการผลิตในด้านหนึ่ง และกำลังแรงงานในอีกด้านหนึ่ง – ได้นำเสนอให้เห็นรูปแบบที่แตกต่างกันซึ่งถูกพิสูจน์โดยทุนในวัฏจักรต่อไปนี้

เงิน -> สินค้าโภคภัณฑ์ -> เงิน

(ซื้อ) -> (ผลิต) -> (ขาย)

นักเศรษฐศาสตร์กรฎุมพีมองว่าองค์ประกอบเหล่านี้มีค่าเท่ากัน หากแต่นักมาร์กซิสต์นั้นมองแยกระหว่างทุนที่ไม่ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆในมูลค่าระหว่างกระบวนการผลิต (เครื่องจักร, เครื่องมือการผลิต, วัตถุดิบ) และทุนที่เป็นตัวแทนของกำลังแรงงานซึ่งเป็นส่วนที่สร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมา ทุนประเภทแรกนั้นถูกเรียกว่าเป็นทุนคงที่ ส่วนที่สองนั้นเรียกว่าเป็นทุนแปรผัน มูลค่าองค์รวมของสินค้าโภคภัณฑ์นั้นถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากทุนคงที่, ทุนแปรผัน และมูลค่าส่วนเกิน กล่าวคือ

มูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ = ทุนคงที่ + ทุนแปรผัน + มูลค่าส่วนเกิน

 

กำลังแรงงานที่จำเป็นและกำลังแรงงานส่วนเกิน

กำลังแรงงานที่ถูกนำมาใช้โดยชนชั้นแรงงานนั้นสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ส่วนใหญ่คือ

  1. กำลังแรงงานที่จำเป็น: นี่คือส่วนของกำลังแรงงานที่จำเป็นต้องใช้ในกระบวนการแรงงานเพื่อสร้างมูลค่าที่เท่าเทียมกับค่าจ้างค่าแรงของแรงงาน
  2. กำลังแรงงานส่วนเกิน: นี่คือกำลังแรงงานที่เกิดขึ้นหลังจากการสร้างมูลค่าที่เหนือไปกว่าค่าตอบแทนของคนงาน เป็นกำลังแรงงานส่วนเกินในการผลิตที่เป็นตัวสร้างกำไรขึ้นมา

ตามความสัมพันธ์นี้หากชนชั้นนายทุนต้องการที่จะเพิ่มกำไร สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็คือการพยายามลดค่าจ้างของคนงานลง ซึ่งชนชั้นนายทุนนั้นอาจจะใช้ความพยายามในหลายรูปแบบดังนี้ (1) ขยายระยะเวลาการทำงานต่อวัน, นำรูปแบบการทำงานแบบใหม่เข้ามาใช้ ฯลฯ (2) เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อเร่งการสร้างมูลค่าที่เท่าเทียมกับค่าจ้างคนงานให้เร็วขึ้น (3) ขัดขวางการขึ้นค่าจ้างและพยายามลดทอนค่าจ้างคนงาน

 

อัตรามูลค่าส่วนเกิน

เมื่อเป้าหมายทั้งมวลของกระบวนการผลิตแบบทุนนิยมนั้นคือการพยายามรีดเอามูลค่าส่วนเกินออกมาจากกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงาน สัดส่วนระหว่างทุนคงที่ (ค่าจ้างคนงาน) และมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง ทั้งสองสิ่งนี้ย่อมมีสิ่งหนึ่งที่มีมูลค่าครอบคลุมหรือมากกว่าอีกส่วนหนึ่ง  ความขัดแย้งเหนือส่วนเกินนี้นับว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ก่อให้เกิด ความขัดแย้งทางชนชั้น สิ่งที่ทำให้ชนชั้นนายทุนเป็นกังวลนั้นไม่ใช่ปริมาณของมูลค่าส่วนเกินที่ถูกสร้างขึ้นหากแต่เป็น อัตรามูลค่าส่วนเกิน เพราะพวกเขาย่อมคาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าเป็นสองเท่าในเงินทุกบาทที่พวกเขาใช้ลงทุน อัตรามูลค่าส่วนเกินนั้นคืออัตราของการขูดรีดกำลังแรงงานโดยทุน เราอาจจะนิยามมันได้ในรูปสมการ

มูลค่าส่วนเกิน = S/V หรือ

มูลค่าส่วนเกิน = กำลังแรงงานส่วนเกิน/กำลังแรงงานที่จำเป็น

เมื่อ V = ทุนผันแปร

และ S = ทุนคงที่

ตัวอย่างเช่น ในการลงทุนทำการเพาะปลูกขนาดเล็กนั้น ทุนรวมทั้งหมดเท่ากับ 500 ยูโร แบ่งออกเป็น ทุนคงที่ (410 ยูโร) และทุนผันแปร (90 ยูโร) เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้วมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกิดจากการผลิตนั้นเพิ่มขึ้น 90 ยูโร ย่อมแสดงออกมาในรูปแบบของสมการนี้

มูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ = ทุนคงที่ + ทุนแปรผัน + มูลค่าส่วนเกิน

= 410 + 90 + 90

        = 590

                                                              มูลค่าสินค้าโภคภัณฑ์ = 590

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วเราย่อมคำนวนหาได้ว่าอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นในมูลค่าของการผลิตที่เกิดจากทุนผันแปรนั้นจะนำไปสู่การหา อัตรามูลค่าส่วนเกิน

อัตรามูลค่าส่วนเกิน              = S/V

                                          = 90/90

                                          = 100%

กล่าวโดยสรุปแล้วเราจะเห็นว่ากระบวนการผลิตในตัวอย่างที่ยกมานี้ มีอัตรามูลค่าส่วนเกิน ที่เกิดจากกำลังแรงงานอยู่ที่ 100%

 

อัตราส่วนกำไร

ภายใต้แรงกดดันของการแข่งขันในระบบทุนนิยมนั้น ชนชั้นนายทุนต่างก็ถูกบีบให้ต้องพัฒนาปัจจัยการผลิตเพื่อจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการที่จะขยายทุนและกำไรนั้นดึงดูดให้นายทุนใช้จ่ายเงินจำนวนมากไปกับการพัฒนาเครื่องจักรและวัตถุดิบ แต่ใช้จ่ายเงินกับกำลังแรงงานในอัตราส่วนที่น้อยลง ดังนั้นแล้วมันจึงเป็นการลดอัตราส่วนของทุนผันแปรต่อทุนคงที่ลงไป พร้อมกันนั้นเมื่อเทคโนโลยีการผลิตแบบระบบอัตโนมัติถูกนำเข้ามาใช้จนนำไปสู่ภาวะ การเข้มข้นขึ้นของทุน ก่อให้เกิดการควบรวมกิจการขนาดเล็ก และการครองอำนาจนำในระบบเศรษฐกิจโดยบริษัทผูกขาดขนาดใหญ่ ภาวะดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคในองค์ประกอบของทุน

แต่เมื่อทุนผันแปร (กำลังแรงงาน) นั้นเป็นเพียงสิ่นเดียวที่เป็นต้นกำเนิดของมูลค่าส่วนเกิน (กำไร) การลงทุนจำนวนมากในทุนคงที่นั้นย่อมก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตามมาในรูปของ แนวโน้มการตกต่ำของอัตราส่วนกำไร แม้ว่าการลงทุนในเครื่องจักรการผลิตแบบใหม่นี้จะสามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาล หากแต่มันก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการขยายตัวของทุนอย่างสมส่วน

ยกตัวอย่างเช่น นายทุนน้อยรายหนึ่งที่มีทุนรวมทั้งหมด 150 ยูโร นำเงินไปลงทุนในทุนคงที่ 50 ยูโร และทุนแปรผัน 100 ยูโ เขาจ้างคนงาน 10 คนด้วยค่าจ้าง 10 ยูโร ต่อวัน เพื่อทำการผลิตโต๊ะและเก้าอี้ เมื่อจบการทำงานหนึ่งวันกระบวนการผลิตนี้สร้างมูลค่ารวมเท่ากับ 250 ยูโร

ทุนรวมทั้งหมด : ค่าจ้างที่ต้องจ่าย = 100 ยูโร

ทุนคงที่ = 50 ยูโร

มูลค่าส่วนเกิน = 100 ยูโร

อัตรามูลค่าส่วนเกินนั้นสามารถคำนวนได้ด้วยสูตร

อัตรามูลค่าส่วนเกิน              = S/V

                                             = 100/100

                                             = 100%

อัตราส่วนกำไรนั้นสามารถคำนวนได้ด้วยอัตราส่วนระหว่างทุนรวมทั้งหมด และมูลค่าส่วนเกินดังนี้

อัตราส่วนกำไร                     = มูลค่าส่วนเกิน/ทุนรวมทั้งหมด

                                             = 100/150

                                             = 66.66%

ตามสมการข้างต้นนี้เราจะเห็นว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุนคงที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นนั้น สิ่งที่จะตามมาก็คืออัตราส่วนกำไรที่จะลดลง ในตัวอย่างเดียวกันนี้หากเราเพิ่มทุนคงที่จาก 50 ยูโร เป็น 100 ยูโรแล้ว ผลจะเป็นดังนี้

อัตราส่วนกำไร                     = มูลค่าส่วนเกิน/ทุนรวมทั้งหมด

                                             = 100/200

                                             = 50%

และหากเราเพิ่มทุนคงที่เป็น 200 ยูโร ผลที่จะออกมาก็คือ อัตราส่วนกำไร = 33.33% ถัดจากนั้นคือหากเราเพิ่มทุนคงที่เป็น 300 ยูโร อัตราส่วนกำไรที่ออกมาจะเท่ากับ 25%

การเพิ่มขึ้นของทุนคงที่นี้ถูกนำเสนอผ่านมุมมองแบบมาร์กซิสต์ในฐานะของลักษณะองค์ประกอบโดยธรรมชาติของทุนนิยมขั้นสูง และถือเป็นรูปแบบของความก้าวหน้าในพัฒนาการของกำลังการผลิตด้วย  ดังนั้นแล้ว แน้วโน้มความตกต่ำของอัตราส่วนกำไร จึงถือว่าเป็นส่วนประกอบที่เป็นเรื่องปกติธรรมชาติของวิถีการผลิตแบบทุนนิยม และถือว่าเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ยืนเผชิญหน้ากับชนชั้นนายทุนในช่วงยุคหลังสงคราม มูลค่าส่วนเกินจำนวนมหาศาลขยายตัวขึ้น แต่เมื่อนำมาเทียบกับอัตราส่วนในการขยายขนาดของทุนคงที่แล้วผลลัพธ์ที่ออกมานั้นแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำลงของอัตรากำไร ชนชั้นนายทุนนั้นยังคงพยายามที่จะเอาชนะความขัดแย้งนี้ด้วยการเพิ่มการขูดรีดต่อชนชั้นแรงงาน เพื่อเพิ่มปริมาณมูลค่าส่วนเกินและเพิ่มอัตราส่วนกำไร ด้วยวิธการอื่นๆที่นอกเหนือจากการลงทุน พวกเขาพยายามทำมันในหลายรูปแบบเช่น การเพิ่มความเข้มข้นในการขูดรีด, เร่งความเร็วในการทำงานของเครื่องจักรและขยายกรอบเวลาชั่วโมงการทำงานต่อวัน หนทางอื่นที่ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มอัตราส่วนกำไรนั้นคือการลดทอนอัตราค่าจ้างคนงานที่เป็นจริงให้ต่ำกว่ามูลค่าแรงงานที่แท้จริง กฎของระบบทุนนิยมนั้นได้สร้างความขัดแย้งขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมหาศาล ความพยายามแสวงหากำไรของชนชั้นนายทุนนั้นสร้างแรงผลักดันให้เกิดการลงทุน หากแต่เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่นั้นก็บีบบังคับให้คนงานกลายเป็นคนว่างงานจำนวนมหาศาล ซึ่งนี่นับว่าเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งกันอย่างมาก อันเนื่องมาจากปัจจัยเดียวที่สามารถสร้างกำไรให้แก่ชนชั้นนายทุนได้นั้นก็คือกำลังแรงงานของชนชั้นแรงงานที่ถูกไล่ออกจากงานนั่นเอง

 

การส่งออกทุน

ลัทธิจักรวรรดินิยม ถือว่าเป็นพัฒนาการขั้นสูงของระบบทุนนิยม ที่มีความโดดเด่นชัดเจนด้วยการส่งออกทุน ในการแสวงหาหนทางในการเพิ่มอัตราส่วนกำไรนั้น ชนชั้นนายทุนถูกบีบบังคับให้ต้องทำการลงทุนขนาดใหญ่ไปในประเทศที่มีส่วนส่วนหรือการเติบโตของทุนในระดับต่ำ และในที่สุดแล้วนั้นโลกทั้งใบก็เป็นเหมือนเช่นที่มาร์กซ์และเองเกิลส์อธิบายเอาไว้ใน แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ นั่นคือโลกทั้งใบตกอยู่ภายใต้การครอบงำปกครองโดยวิถีการผลิตแบบทุนนิยม

ปมปัญหาความขัดแย้งสำคัญของระบบทุนนิยมนั้นคือปมปัญหาที่ชัดเจนที่ว่าชนชั้นแรงงานในฐานะของผู้บริโภคนั้นต้องซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่พวกเขาเป็นผู้ผลิตเอง หากแต่พวกเขากลับไม่ได้รับค่าจ้างค่าแรงที่เต็มมูลค่าแรงงานที่แท้จริงของตัวเอง และนั่นทำให้หลายครั้งพวกเขาไม่สามารถซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตัวเองเป็นผู้ผลิตได้ ชนชั้นนายทุนนั้นแก้ไขปัญหานี้ด้วยการแย่งชิงเอามูลค่าส่วนเกินไปและนำมันมาลงทุนใหม่ในการพัฒนากำลังการผลิตเพิ่มเติม พร้อมกันนั้นพวกเขาก็พยายามเสาะหาช่องทางขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่เหลืออยู่เป็นส่วนเกินในระบบตลาดโลกด้วยการแข่งขันกับนายทุนคนอื่นๆจากประเทศต่างๆทั่วโลก แต่แน่นอนว่ามันย่อมมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเมื่อนายทุนทั่วโลกต่างก็กระโดดเข้าร่วมเล่นเกมส์ในสนามเดียวกัน และเพื่อแก้ไขปัญหาที่ตามมานั้น บรรดานายทุนจึงหันไปใช้ระบบการให้สินเชื่อ ด้วยการพึ่งพาระบบธนาคาร เพื่อจะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ สินเชื่อเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาใช้ซื้อสินค้าได้ หากแต่วิธีการนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน เพราะบรรดาเงินสินเชื่อเหล่านี้จำเป็นต้องถูกจ่ายคืนให้กับธนาคารพร้อมกับผลกำไรในรูปแบบของดอกเบี้ย

นี่จึงเป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายธรรมชาติของระบบทุนนิยมที่เติบโตและถดถอยเป็นระยะๆ การขยายตัวของระบบทุนนิยมนั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากผ่านยุคของความตกต่ำ การต่อสู้อย่างเร่งร้อนในระบบตลาดนั้นจะจบลงด้วยวิกฤตของการผลิตจนล้นเกินในระบบทุนนิยม ผลทำลายล้างของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการควบรวมกิจการจนนำไปสู่การรวมศูนย์ของทุนและการเข้มข้นขึ้นของทุนนั้นนับว่าเป็นตัวชี้วัดที่เพียงพอสำหรับการชี้ให้เห็นความอับจนชองระบบทุนนิยม

บรรดาปัจจัยทั้งมวลที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นมาได้หลังสงครามนั้นได้ตระเตรียมหนทางที่จะนำไปสู่ความตกต่ำทางเศรษฐกิจและวิกฤติเอาไว้โดยพร้อมเพรียงกัน ลักษณะพิเศษของยุคสมัยใหม่นี้นับว่าเป็น วิกฤตโดยเนื้อแท้ ที่ระบบทุนนิยมกำลังเผชิญอยู่ ในบางห้วงเวลานั้นชนชั้นแรงงานอาจจะต้องเผชิญหน้ากับความตกต่ำทางเศรษบกิจแบบปี 1929 ถ้าหากว่าระบบทุนนิยมยังไม่ถูกทำลายลง มีเพียงแต่การโค่นล้มความไร้ระเบียบของระบบทุนนิยมลงเท่านั้น มีแต่เพียงการพังทลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในการถือครองปัจจัยการผลิตเท่านั้น ที่จะสามารถนำพาให้สังคมหลุดพ้นออกจากกฎการเคลื่อนไหวของระบบทุนนิยมและนำพาสังคมไปสู่การพัฒนาและความเจริญรุ่งเรืองในวิถีทางที่มีการวางแผนและมีเหตุมีผล พลังการผลิตอันทรงพลังในปัจจุบันที่เกิดขึ้นจากสังคมชนชั้นนั้นสามารถกวาดล้างปัญหาทั้งหลายที่เกิดจากวิกฤติการผลิตจนล้นเกินท่ามกลางปัญหาความอดอยากและยากไร้ลงได้ การลบล้างความขัดแย้งของพัฒนาการของกำลังการผลิต ลบล้างระบอบรัฐชาติและระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลลงนั้นจะช่วยสร้างพื้นฐานใหม่ให้แก่ระบบการผลิตแบบสากล

และเมื่อเราหยิบใช้อำนาจของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ โลกทั้งใบของเราย่อมจะสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใหม่ที่ดีกว่า การเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ระบบสังคมนิยมยังคงเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์บนบ่าของชนชั้นแรงงาน ลัทธิมาร์กซิสม์นั้นได้เตรียมอาวุธทางความคิดเพื่อเชื่อมร้อยประสานชนชั้นแรงงานทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเดินหน้าไปสู่การสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม.

 

 

บล็อกของ จักรพล ผลละออ

จักรพล ผลละออ
ความล้มเหลวของทุนนิยม และความคิดก้าวหน้าในหมู่คนรุ่นใหม่[Young People Today are uniquely radical because Capi
จักรพล ผลละออ
เมื่อการประท้วง และการจลาจลคือหนทางในการต่อสู้[When Rioting Works]
จักรพล ผลละออ
 ใครกันแน่คือผู้ปล้นชิง และใครที่กำลังถูกปล้นชิง[Who Exactly Is Doing the Looting, and Who’s Be
จักรพล ผลละออ
Covid-19 และระบบทุนนิยมกำลังนำคนนับล้านไปสู่การอดตายCapitalism threatens mass starvationBy Oliver Bro
จักรพล ผลละออ
ทำไมผมจึงเป็นนักสังคมนิยมWhy I’m a SocialistBY BARRY EI
จักรพล ผลละออ
มองสัญญาณวิกฤตของระบบทุนนิยม ผ่านมูลค่าพันธบัตรExplaining the coming crisis of capitalism
จักรพล ผลละออ
 สังคมนิยมประชาธิปไตย คือเรื่องที่ว่าด้วยระบอบประชาธิปไตยDemocratic Socialism Is About Democr
จักรพล ผลละออ
แถลงการณ์องค์กรมาร์กซิสต์สากล เนื่องในวันสตรีสากลสหายทั้งห
จักรพล ผลละออ
มาร์กซิสม์ 102 – หลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์(Marxism 102 – Some Basic Principles of Marxian Economics)By John H. Munro.
จักรพล ผลละออ
 25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์(The Principles of Communism)By Frederick Engels.