Skip to main content

 

25 คำถาม-คำตอบว่าด้วยคอมมิวนิสม์

(The Principles of Communism)

By Frederick Engels. Translated by Jakkapon P.

 

- 1 -

คอมมิวนิสม์คืออะไร?

คอมมิวนิสม์คือสำนักความคิดที่ว่าด้วยเงื่อนไขปัจจัยอันจะนำไปสู่การปลดแอกตนเองของชนชั้นกรรมาชีพ

 

- 2 -

ใครคือกรรมาชีพ?

กรรมาชีพคือกลุ่มชนชั้นหนึ่งในสังคมที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการขายกำลังแรงงานของตนเอง โดยที่ไม่รับผลตอบแทนในรูปแบบของกำไรใดๆจากทุนเลย เป็นกลุ่มชนชั้นที่ความสุขสบายและความยากลำบาก การมีชีวิตรอดหรือความตาย ไปจนกระทั่งการดำรงอยู่ทั้งหมดของตัวตนของเขานั้นเป็นสิ่งที่ผูกอยู่กับความต้องการแรงงานในตลาด ดังนั้นแล้วในการเปลี่ยนแปลงรูปการของธุรกิจ ในระบบการแข่งขันที่รุนแรงนี้ (หมายถึงภายใต้ระบบทุนนิยม – ผู้แปล) กรรมาชีพ หรือชนชั้นกรรมาชีพนั้นจึงถือได้ว่าเป็นชนชั้นแรงงานของศตวรรษที่ 19[1]

 

- 3 -

กรรมาชีพนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดเวลาหรอกหรือ?

ไม่เลย ชนชั้นกรรมาชีพนั้นไม่ได้ดำรงอยู่ตลอดเวลา แต่แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมานั้นมันมีกลุ่มคนยากจนและชนชั้นแรงงานอยู่ทุกยุคทุกสมัย และแน่นอนว่าชนชั้นแรงงานนั้นก็เป็นกลุ่มคนที่ยากจนมากที่สุดหากแต่พวกเขานั้นก็ไม่ใช่แรงงานและคนยากจนที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้เงื่อนไขอย่างเช่นที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พวกเขาไม่ได้เป็นกรรมาชีพมาตลอด เช่นเดียวกับที่มันไม่ได้มีระบบการแข่งขันเสรีมาตั้งแต่ยุคโบราณนั่นเอง

 

- 4 -

กรรมาชีพถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร?

กรรมาชีพปรากฏตัวขึ้นมาครั้งแรกในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษเมื่อราวๆช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 และหลังจากนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมนี้ก็ได้แพร่กระจายไปยังประเทศอารยะต่างๆทั่วโลก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตกตะกอนทางความคิดหลังการค้นพบพลังงานไอน้ำ, เครื่องปั่นด้ายที่หลากหลายรูปแบบ, เครื่องจักรทอผ้า และพัฒนาการอันหลากหลายของเครื่องจักรในการผลิตชนิดอื่นๆ บรรดาเครื่องจักรที่มีราคาแพงเหล่านี้นั้น ด้วยราคาที่สูงลิ่วจึงทำให้มีแต่เพียงนายทุนเท่านั้นที่สามารถซื้อหามันมาได้ ได้กลายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตทั้งมวลไปและเข้าแทนที่แรงงานยุคก่อน เพราะเครื่องจักรนั้นสามารถผลิตสินค้าออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่าและสร้างสินค้าที่มีมาตรฐานดีกว่าการใช้แรงงานมือของแรงงานในการทำการผลิตแบบเก่า เครื่องจักรนั้นได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมทั้งหมดตกเข้าไปอยู่ภายในอำนาจของนายทุน รวมทั้งทำให้เกิดสภาวะการขาดแคลนเครื่องมือของแรงงาน ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือในไม่ช้าชนชั้นนายทุนจะดีรวบเอาทุกอย่างไว้ในกำมือของตัวเอง ขณะที่ชนชั้นแรงงานนั้นจะไม่เหลือสิ่งใดเลย ลักษณะอันโดดเด่นของระบบโรงงานนี้ถูกนำไปใช้เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

และเมื่อมันเกิดการใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ในการผลิตรวมถึงระบบการผลิตแบบโรงงานแล้ว ระบบการผลิตแบบดังกล่าวนั้นก็ได้ขยายตัวออกไปอย่างรวดเร็วในภาคการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบต่างๆ โดยเฉพาะในการผลิตเสื้อผ้า การพิมพ์หนังสือ และอุตสาหกรรมโลหะ

แรงงานนั้นถูกแบ่งแยกมากขึ้นและมากขึ้นท่ามกลางหมู่คนงานปัจเจกบุคคลภายใต้ระบบการผลิตแบบดังกล่าว จากเดิมที่แรงงานหนึ่งคนนั้นจะเป็นผู้ที่ผลิตสินค้าทั้งชิ้น ก็กลับกลายเป็นว่าพวกเขานั้นได้ทำการผลิตเพียงส่วนประกอบหนึ่งของสินค้าเท่านั้น กระบวนการแบ่งงานกันทำนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะผลิตสินค้าได้รวดเร็วขึ้นและราคาถูกขึ้น ระบบการผลิตแบบนี้ได้ลดกิจกรรมของแรงงานปัจเจกบุคคลให้กลายเป็นงานง่ายๆ แต่เป็นงานที่ต้องทำซ้ำแบบไม่มีที่สิ้นสุดเสมือนการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งควรจะกลายเป็นการกระทำที่ไม่เพียงเทียบเท่าหากแต่จะต้องทำงานได้ดีกว่าเครื่องจักรอีกด้วย ในวิถีทางเช่นนี้บรรดาอุตสาหกรรมเหล่านี้ต่างก็กลายเป็นสิ่งที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพลังงานไอน้ำ, เครื่องจักร และระบบโรงงาน ดังเช่นที่มันเคยอยู่ภายใต้การครอบงำของเครื่องปั่นด้ายและเครื่องทอผ้ามาก่อน

หากแต่ในเวลาเดียวกันนั้น บรรดาอุตสาหกรรมทั้งหลายก็กลายไปเป็นสิ่งที่อยู่ภายใต้อำนาจของชนชั้นนายทุน และบรรดาแรงงานที่ถูกจ้างนั้นต่างก็ถูกลิดรอนเอาสิ่งที่ควรจะเป็นของแรงงานไป ไม่เพียงแต่งานในระบบการผลิตเท่านั้นหากแต่กระทั่งในกลุ่มงานฝีมือเองก็ถูกลาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบโรงงานอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับที่ชนชั้นนายทุนนั้นค่อยๆเบียดขับเอาช่างฝีมือรายย่อยออกไปจากการผลิตด้วยการสร้างโรงงานขนาดใหญ่ขึ้นมาแทน ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายลงไปได้มากอีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดระบบแบ่งงานกันทำอย่างละเอียดขึ้นอีกด้วย

นี่คือลักษณะที่เกิดขึ้นในประเทศอารยะทั้งหลายในช่วงเวลาปัจจุบันที่แรงงานทุกประเภทนั้นจะถูกนำเข้าไปทำการผลิตภายในโรงงาน และงานต่างๆทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นการผลิตโดยทั่วไปหรืองานฝีมือนั้นก็จะถูกแทนที่ด้วยการผลิตแบบโรงงาน กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นกระบวนการที่บ่อนทำลายชนชั้นกลางเก่าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มช่างฝีมือรายย่อย อันเป็นการก่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเงื่อนไขของแรงงาน และชนชั้นใหม่สองชนชั้นนั้นก็กำลังถูกสร้างขึ้นอย่างช้าๆขึ้นมาเหนือชนชั้นอื่นๆ ซึ่งก็คือ

(i) ชนชั้นของกลุ่มนายทุน ผู้เป็นกลุ่มคนที่ถือครองความเป็นเจ้าของเหนือปัจจัยการดำรงชีพทั้งหมด เหนือเครื่องมือ (เครื่องจักร, โรงงาน) และวัสดุ วัตถุดิบทั้งหมดที่จำเป็นต่อการผลิตปัจจัยการดำรงชีพ นี่คือกลุ่มคนที่เราเรียกได้ว่าเป็นกระฎุมพี หรือชนชั้นกระฎุมพี

(ii) ชนชั้นของกลุ่มคนทั้งมวลที่ไม่ได้ครอบครองทรัพย์สินใดๆ เป็นกลุ่มคนที่ถูกบีบบังคับให้ต้องขายกำลังแรงงานของตนเองให้แก่พวกกระฎุมพีเพื่อที่จะได้รับปัจจัยการดำรงชีพเป็นการแลกเปลี่ยน นี่คือกลุ่มคนที่เราเรียกได้ว่าเป็นกรรมาชีพ หรือชนชั้นกรรมาชีพ

 

- 5 -

การขายกำลังแรงงานของกรรมาชีพให้กับกระฎุมพีนั้นเกิดขึ้นที่ไหนและภายใต้เงื่อนไขอะไร?

กำลังแรงงานนั้นเป็นสินค้า เช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆ และราคาของแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดโดยกฎแบบเดียวกันที่ถูกใช้กับสินค้าชนิดอื่นๆ ภายใต้ระบอบของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือระบอบการแข่งขันเสรี ดังเช่นที่เราสามารถเห็นได้ ว่าทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้คือสิ่งเดียวกัน ราคาของสินค้านั้นโดยเฉลี่ยแล้วจะมีราคาเทียบเท่ากับต้นทุนการผลิตของมันเสมอ ดังนั้นแล้ว ราคาของแรงงานนั้นก็ย่อมจะเท่ากันกับต้นทุนการผลิตกำลังแรงงานนั่นเอง

หากแต่ต้นทุนของการผลิตกำลังแรงงานนั้นเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพของปัจจัยการดำรงชีพที่จำเป็นสำหรับแรงงานที่จะทำให้เขาสามารถทำงานต่อไปได้ และต้องมากพอที่จะไม่ทำให้ชนชั้นแรงงานนั้นตายลง ดังนั้นแล้วแรงงานจึงไม่ได้มีทางได้รับสิ่งตอบแทนที่มากไปกว่าค่าตอบแทนที่จำเป็นเพื่อตอบสนองเป้าหมายที่กล่าวมา นั่นคือราคาของกำลังแรงงาน หรือค่าจ้างนั้น อาจจะกล่าวได้ในอีกทางหนึ่งว่ามันจะถูกกดลงให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นค่าจ้างที่น้อยที่สุดสำหรับการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตามเมื่อธุรกิจนั้นมีทั้งช่วงเวลาที่เจริญรุ่งเรืองและตกต่ำซบเซา มันย่อมตามมาด้วยการที่บางช่วงเวลานั้นแรงงานได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นหรือต่ำลง หากแต่ในมุมมองแบบนักอุตสาหกรรมนิยมแล้วค่าเฉลี่ยระหว่างช่วงเวลาที่รุ่งเรืองและตกต่ำนั้นราคาของสินค้าจะต้องไม่มากไม่น้อยไปกว่าต้นทุนการผลิตของมัน เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยของแรงงานก็ย่อมจะไม่ได้รับค่าจ้างที่มากกว่าหรือน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่สุด

กฎเศรษฐศาสตร์ของค่าจ้างดำเนินอยู่อย่างเคร่งครัดมากในระดับที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นต่างก็ดำเนินตามไม่ว่าจะทำการผลิตในภาคการผลิตใดๆก็ตาม

 

- 6 -

ชนชั้นแรงงานนั้นเป็นอะไรมาก่อนที่จะเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม?

ชนชั้นแรงงานนั้นดำรงอยู่เสมอในประวัติศาสตร์ แม้ว่าพวกเขาจะดำรงชีพอยู่ในระดับขั้นของพัฒนาการของสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันและมีความสัมพันธ์ต่อชนชั้นปกครองที่แตกต่างกัน

ในสมัยโบราณ แรงงานนั้นเป็นทาสที่สังกัดต่อนายทาส ดังเช่นที่มันยังคงเป็นอยู่ในประเทศล้าหลังหลายประเทศ หรือกระทั่งในรัฐทางใต้ของสหรัฐอเมริกา

ในยุคกลาง ชนชั้นแรงงานนั้นเป็นชาวนาติดที่ดิน หรือไพร่ติดที่ดินของขุนนางและเจ้าที่ดิน ดังเช่นที่มันยังเป็นอยู่ใน ฮังการี, โปแลนด์ และรัสเซีย ในช่วงยุคกลางนี้รวมถึงจนกระทั่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นมันยังมีกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็นคนงานในเมือง ผู้ทำงานเพื่อรับใช้เจ้านายที่เป็นกระฎุมพีน้อยอีกด้วย และเมื่อกระบวนการผลิตได้รับการพัฒนาขึ้น คงงานเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแรงงานที่ทำงานการผลิตให้กับนายทุนใหญ่ที่จ้างพวกเขา

 

- 7 -

กรรมาชีพนั้นแตกต่างจากทาสอย่างไร?

ทาสนั้นจะขายตัวเองแค่ครั้งเดียวตลอดชีวิต ขณะที่กรรมาขีพนั้นจะต้องขายตัวเองเป็นรายวันและรายชั่วโมง

ทาสที่เป็นปัจเจกบุคคลนั้น เป็นทรัพย์สินของนายทาส ซึ่งจะสามารถยืนยันถึงการดำรงอยู่ของตัวเองได้ อย่างไรก็ตามทาสบางส่วนก็อาจจะมีความเป็นอยู่ที่แย่ อันเนื่องมาจากลักษณะของนายทาสนั่นเอง ขณะที่กรรมาชีพนั้น ก็เป็นเสมือนทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่ชนชั้นกระฎุมพีสามารถจะเลือกซื้อกำลังแรงงานมาก็ต่อเมื่อมีความต้องการใช้กำลังแรงงาน ดังนั้นกรรมาชีพจึงเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีความมั่นคงปลอดภัย การดำรงอยู่ของกรรมาชีพนั้นมีความมั่นคงก็แต่เพียงในรูปแบบของชนชั้นทั้งมวลเท่านั้น

ทาสนั้นอยู่นอกพื้นที่ของการแข่งขัน แต่กรรมาชีพนั้นอยู่ภายใต้การแข่งขัน และอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน

ทาสนั้นถูกนับว่าเป็นสิ่งของไม่ใช่สมาชิกของสังคม ดังนั้นแล้ว ทาสจึงสามารถที่จะได้รับการดำรงอยู่ที่ดีกว่ากรรมาชีพได้ ในขณะที่กรรมาชีพนั้นอยู่ภายใต้รูปแบบพัฒนาการของสังคมในระดับที่สูงขึ้น และกรรมาชีพนั้นโดยตัวมันเองได้ยืนอยู่บนระดับชั้นทางสังคมที่สูงกว่าทาส

ทาสนั้นจะเป็นอิสระได้ก็ต่อเมื่อ เขาได้ทำลายเพียงแต่ความสัมพันธ์แบบทาสลง จากความสัมพันธ์ทั้งมวลของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และเมื่อนั้นทาสก็จะกลายมาเป็นกรรมาชีพ ส่วนกรรมาชีพนั้นจะสามารถเป็นอิสระได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลลงทั้งหมด

 

- 8 -

กรรมาชีพแตกต่างจากทาสติดที่ดิน หรือไพร่ติดที่ดินอย่างไร?

ไพร่ติดที่ดินนั้นยังคงครอบครองและหยิบใช้เครื่องมือของการผลิตได้ นั่นคือครอบครองที่ดินส่วนหนึ่ง แลกกับการที่พวกเขาต้องมอบผลผลิตส่วนหนึ่ง หรือมอบการใช้กำลังแรงงานของตนเองส่วนหนึ่งให้กับเจ้าที่ดิน

ในขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพนั้นทำงานกับเครื่องทางการผลิตของผู้อื่น เพื่อสร้างการผลิตให้แก่ผู้อื่น แลกเปลี่ยนกับการได้รับผลตอบแทนเป็นผลผลิตส่วนหนึ่ง (ที่มาในรูปแบบของค่าจ้าง – ผู้แปล)

เมื่อระบบไพร่ติดที่ดินล่มสลายลง ชนชั้นกรรมาชีพจึงถือกำเนิดขึ้นมา ไพร่ติดที่ดินนั้นถือได้ว่ายังมีความมั่นคงในการดำรงชีพ แต่ชนชั้นกรรมาชีพนั้นไม่มีเลย ไพร่ติดที่ดินนั้นอยู่นอกเหนือระบบการแข่งขันของตลาดแรงงาน ขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพนั้นอยู่ภายใต้การแข่งขัน

ไพร่ติดที่ดินนั้นสามารถปลดแอกตนเองได้ด้วยวิถีทางใดวิถีทางหนึ่งในสามทางเลือกดังต่อไปนี้ ประการแรกคือหนีจากเจ้าที่ดินเข้าไปในเมืองและกลายเป็นช่างฝีมือ หรือ แทนที่จะเป็นไพร่ติดที่ดินใช้กำลังแรงงานแบบเดิม ก็เปลี่ยนมามอบเงินให้แก่เจ้าที่ดินและกลายไปเป็นชาวนาผู้เช่าที่ดิน หรือ โค่นล้มเจ้าศักดินาของตนเองและกลายไปเป็นผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์เสียเอง กล่าวโดยสรุปแล้วไม่ว่าจะโดยวิถีทางใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วพวกเขาย่อมจะก้าวเข้าไปสู่ชนชั้นที่เป็นเจ้าของและเข้าสู่พื้นที่ของการแข่งขัน ขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพนั้นจะสามารถปลดแอกตนเองได้ก็ด้วยการทำลายการแข่งขันในระบบตลาด, ทำลายระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล และความแตกต่างทางชนชั้นทั้งมวลลงเท่านั้น

 

- 9 -

กรรมาชีพแตกต่างจากช่างฝีมืออย่างไร?

ช่างฝีมือนั้นแตกต่างจากชนชั้นกรรมาชีพ สิ่งที่เรียกว่าช่างฝีมือนั้นมีอยู่โดยทั่วไปตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา (ศตวรรษที่สิบแปด) และยังคงดำรงอยู่จนกระทั่งถึงในปัจจุบัน ในฐานะของกลุ่มคนที่เป็นเสมือนชนชั้นกรรมาชีพชั่วคราว เป้าหมายของกลุ่มช่างฝีมือนั้นคือการสะสมทุนให้แก่ตัวเองเพื่อที่จะทำการขูดรีดแรงงานกลุ่มอื่น บ่อยครั้งที่กลุ่มช่างฝีมือนั้นสามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้ในยุคที่ยังคงมีสมาคมช่างฝีมือหรือในยุคที่พวกเขาได้รับอิสระจากสมาคมอันเนื่องมาจากสมาคมช่างฝีมือนั้นยังไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการผลิตในรูปแบบของโรงงาน และยังไม่ต้องเผชิญกับการแข่งขันอันโหดร้าย หากแต่เมื่อทันทีที่ระบบโรงงานถูกนำเข้ามาใช้ และการแข่งขันนั้นขยายตัวไปทั่วทุกหนแห่งสภาวการณ์แบบดังกล่าวนั้นก็หายไป และบรรดาช่างฝีมือทั้งหลายก็กลายเป็นกรรมาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแล้วช่างฝีมือทั้งหลายจึงถูกบีบบังคับให้ต้องกลายไปเป็นชนชั้นกระฎุมพี หรือกลายเป็นกลุ่มชนชั้นกลางโดยทั่วไป  หรือกลายไปเป็นชนชั้นกรรมาชีพอันเนื่องมาจากการแข่งขัน (ซึ่งเห็นได้บ่อยครั้งขึ้นในปัจจุบัน) ในกรณีเช่นนี้เองพวกเขาย่อมจะสามารถปลดแอกตัวเองได้ด้วยการเข้าร่วมกับขบวนการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพ หรือกล่าวคือ ขบวนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์นั่นเอง

 

- 10 -

กรรมาชีพแตกต่างจากแรงงานการผลิตอย่างไร?

แรงงานการผลิตในช่วงศตวรรษที่ 16 ถึงศตวรรษที่ 18 นั้นยังคงได้ถือครองหรือครอบครองเครื่องมือสำหรับการผลิตเอาไว้กับตัวเองได้ – นั่นคือเครื่องทอผ้า, เครื่องปั่นด้าย, ที่ดินขนาดเล็กที่พวกเขาสามารถทำการเพาะปลูกได้ในยามว่าง แต่ชนชั้นกรรมาชีพไม่มีสิ่งเหล่านี้

แรงงานการผลิตนั้นแทบจะใช้ชีวิตเกือบทั้งหมดอยู่ในเขตชนบทและมีความสัมพันธ์เชิงชนชั้นแบบโบราณอยู่กับนายจ้างหรือเจ้าที่ดิน ส่วนชนชั้นกรรมาชีพนั้นอาศัยอยู่ในเมืองเป็นจำนวนมาก และความสัมพันธ์ที่มีต่อนายจ้างนั้นก็มีแต่เพียงความสัมพันธ์ทางการเงินเท่านั้น

แรงงานการผลิตแบบเดิมนั้นถูกแยกออกจากความสัมพันธ์แบบโบราณด้วยการขยายตัวของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ พวกเขาต้องสูญเสียทรัพย์สินใดๆก็ตามที่เคยมี และนี่คือวิถีทางที่ทำให้พวกเขากลายเป็นกรรมาชีพในที่สุด

 

- 11 -

อะไรคือผลลัพธ์อย่างฉับพลันของการปฏิวัติอุตสาหกรรมและระบบแบ่งแยกทางสังคมที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้นเป็นกระฎุมพีและกรรมาชีพ?

ประการแรก ราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่มีราคาถูกอย่างมากอันเนื่องมาจากการใช้เครื่องจักรในการผลิตนั้นทำให้แรงงานการผลิตแบบเดิมถูกทำลายลง ในทุกประเทศทั่วโลก ระบบการผลิตแบบเก่าที่ใช้แรงงานมือในการผลิตนั้นล่มสลายลง

ในแง่นี้เอง บรรดาประเทศกึ่งอนารยะที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างออกไปไม่มากก็น้อยซึ่งมีอุตสาหกรรมที่วางรากฐานอยู่บนการใช้แรงงานคน จึงถูกทำลายรากฐานการพัฒนาอุตสาหกรรมลงอย่างรุนแรงซึ่งส่งผลตามมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน พวกเขาเลือกที่จะนำเข้าสินค้าราคาถูกจากอังกฤษและยอมปล่อยให้อุตสาหกรรมล้าหลังในประเทศตัวเองล่มสลายลง ประเทศที่รับรู้กันว่าไม่มีพัฒนาการหรือความก้าวหน้ามากว่าพันปี – ตัวอย่างเช่น อินเดีย – นั้นกำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิวัติอย่างถึงที่สุด และกระทั่งจีนเองในตอนนี้ก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่การปฏิวัติ

เรากำลังชี้ให้เห็นว่าผลของการนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตในอังกฤษนั้นได้ส่งผลให้แรงงานนับล้านคนในจีนต้องถูกถีบส่งออกจากการทำมาหากินแบบเดิมในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี

ในแง่นี้เองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นได้นำพาให้ผู้คนทั่วโลกนั้นต้องเข้ามาติดต่อซึ่งกันและกัน เป็นการดึงเอาตลาดท้องถิ่นเข้ามารวมกันในระบบตลาดโลก ทำให้เกิดการขยายตัวของอารยธรรมและความก้าวหน้าในทุกหนทุกแห่ง ที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นในประเทศอารยะนั้นจะส่งผลสะท้อนไปยังทั่วทุกประเทศในโลก

และด้วยเหตุนี้เอง หากว่าแรงงานในอังกฤษและฝรั่งเศสได้เริ่มต้นการปลดแอกตนเองขึ้น มันย่อมจะส่งผลให้เกิดการปฏิวัติที่แพร่กระจายไปในประเทศอื่นๆด้วย – การปฏิวัตินั้นไม่ว่าจะช้าหรือเร็วย่อมจะต้องนำไปสู่การบรรลุผลสำเร็จในการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพตามลำดับ

ประการที่สอง ในพื้นที่ใดก็ตามที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้เข้าแทนที่การผลิตแบบเดิมนั้น ชนชั้นกระฎุมพีนั้นย่อมจะพัฒนาตัวขึ้นมาให้มีอำนาจและความร่ำรวยจนถึงขีดสุด และย่อมจะทำให้ตนเองนั้นกลายเป็นชนชั้นนำของประเทศในที่สุด ผลลัพธ์ของมันก็คือไม่ว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นที่ไหนก็ตาม ชนชั้นกระฎุมพีย่อมจะแย่งชิงเอาอำนาจทางการเมืองมาไว้ในมือและเข้าแทนที่ชนชั้นปกครองเดิม เข้าที่กลุ่มคณาธิปไตย, หัวหน้าสมาคมช่างฝีมือ, และระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ชนชั้นกระฎุมพีนั้นจะทำลายอำนาจของกลุ่มขุนนางและกลุ่มคณาธิปไตยลง ด้วยการบ่อนทำลายระบบการถือครองที่ดิน หรือกล่าวในอีกทางหนึ่งก็คือ การทำให้ที่ดินนั้นกลายเป็นสินค้าที่สามารถถูกซื้อขายได้ และโดยการทำลายสิทธิพิเศษของบรรดาขุนนางลง ชนชั้นกระฎุมพีนั้นทำลายอำนาจของกลุ่มสมาคมช่างฝีมือลงด้วยการบ่อนทำลายระบบสมาคมช่างและอภิสิทธิ์ของช่างฝีมือ นั่นก็คือการสร้างการแข่งขันขึ้นมา – กล่าวคือ การสร้างสภาพสังคมที่ทุกๆคนมีสิทธิ์ที่จะประกอบการอุตสาหกรรมใดๆก็ได้โดยไม่ต้องผ่านสมาคมช่างฝีมือ และอุปสรรคเดียวที่ขวางกั้นการแข่งขันแบบนี้ก็คือการไม่มีทุนที่จะเข้ามาแข่งขันนั่นเอง

การนำเอาระบบการแข่งขันเสรีเข้ามาใช้นั้นเป็นการประกาศว่านับแต่นี้ต่อไปสมาชิกทุกคนในสังคมนั้นจะไม่มีความเสมอภาคกันก็แต่เพียงในด้านของความไม่เสมอภาคทางการถือครองทุน ที่ทำให้ทุนนั้นกลายไปเป็นอำนาจชี้ขาด และด้วยเหตุนี้เองมันจึงทำให้ชนชั้นกระฎุมพีกลายมาเป็นชนชั้นอันดับหนึ่งของสังคม

การแข่งขันเสรีนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสถาปนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากมันเป็นเงื่อนไขเดียวของสังคมที่จะทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นสามารถดำเนินการไปได้

นอกเหนือจากการทำลายอำนาจทางสังคมของบรรดาขุนนางและสมาคมช่างฝีมือแล้ว ชนชั้นกระฎุมพียังได้ทำลายอำนาจทางการเมืองของทั้งสองกลุ่มดังกล่าวลงอีกด้วย เมื่อชนชั้นกระฎุมพีนั้นผงาดขึ้นสู่อำนาจจนกลายไปเป็นชนชั้นอันดับหนึ่งของสังคม และประกาศตัวเองเป็นชนชั้นที่มีอำนาจปกครองทางการเมือง โดยกระทำการผ่านการนำระบบสภาผู้แทนเข้ามาใช้งานที่วางรากฐานอยู่บนกฎหมายของชนชั้นกระฎุมพีและระบบการแข่งขันเสรี ซึ่งในหลายประเทศในยุโรปนั้นอยู่ในรูปแบบของระบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในระบบเช่นนี้นั้นมีการกำหนดว่ามีแต่เพียงผู้ที่มีครอบครองทุนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ออกเสียงได้ – หรือกล่าวคือ มีแต่เพียงสมาชิกของชนชั้นกระฎุมพีเท่านั้นที่มีสิทธิทางการเมือง บรรดากระฎุมพีนั้นเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทน และบรรดาผู้แทนเหล่านี้ก็เข้าไปโหวตเพื่อต่อต้านกฎหมายการเก็บภาษี รวมถึงเป็นกลุ่มคนที่เลือกรัฐบาลกระฎุมพีด้วย

ประการที่สาม ชนชั้นกรรมาชีพนั้นพัฒนาขึ้นตามชนชั้นกระฎุมพีในทุกหนทุกแห่ง ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เมื่อชนชั้นกระฎุมพีเติบโตขึ้นในด้านความร่ำรวย ชนชั้นกรรมาชีพก็เติบโตขึ้นในแง่ของจำนวนสมาชิกในชนชั้น และเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนั้นถูกจ้างให้ทำงานได้แต่เพียงผ่านระบบทุน และเมื่อทุนนั้นจะขยายตัวขึ้นได้ก็ด้วยผ่านการจ้างกำลังแรงงานมาทำการผลิต ดังนี้แล้วการขยายตัวของชนชั้นกรรมาชีพย่อมขยายตัวอย่างตรงกันกับการขยายตัวของทุน

กระบวนการดังกล่าวนี้ได้ลากเอาทั้งกระฎุมพีและกรรมาชีพให้มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่โดยพร้อมเพรียงกัน ในเมืองใหญ่ที่อุตสาหกรรมนั้นสามารถสร้างกำไรได้มากขึ้น และด้วยเหตุนี้เองเมื่อมีการนำเอาชนชั้นกรรมาชีพจำนวนมากมารวมกันเอาไว้ในจุดเดียวมันจึงเป็นจุดที่ทำให้ชนชั้นกรรมาชีพสามารถตระหนักรู้ถึงความเข้มแข็งของชนชั้นตนเองได้

ยิ่งไปกว่านั้น หากว่ากระบวนการเหล่านี้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งมีการนำเอาเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานคนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตามมาด้วยการพยายามกดค่าแรงของคนงานมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งอย่างที่เราได้เห็นกันมาแล้ว การพยายามกดค่าแรงของคนงานให้ต่ำลงที่สุดเท่าที่จะเป็นได้นั้นย่อมจะนำไปสู่เงื่อนไขที่สร้างความไม่พอใจแห่กรรมาชีพอย่างถึงที่สุด การขยายตัวของความไม่พอใจของกรรมาชีพนี้เองที่จะหลอมรวมพวกเขาเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันพร้อมกับการสถาปนาอำนาจของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ

 

- 12 -

การปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นจะส่งผลกระทบเพิ่มเติมในอนาคตอย่างไร?

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่นั้นก่อให้เกิดพลังงานไอน้ำ และเครื่องจักรชนิดอื่นๆ อันส่งให้เกิดการขยายตัวของการผลิตแบบอุตสาหกรรมอย่างไม่รู้จบ รวมถึงเป็นการเร่งอัตราการผลิตและทำให้ต้นทุนของการผลิตถูกลง การความสะดวกในการผลิตนี้ การแข่งขันเสรีที่จำเป็นจะต้องมาแบบควบรวมกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่สันนิษฐานได้ว่าจะทำให้เกิดรูปแบบทางการผลิตอย่างสุดขั้วขึ้น นั่นคือการที่กลุ่มทุนจำนวนมากต่างพากันเข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรม และในช่วงเวลาสั้นๆนั้นก็มากพอแล้วที่จะทำให้เกิดสภาวะการผลิตสินค้าที่มากเกินกว่าความต้องการ

และในท้ายที่สุดแล้ว สินค้าที่ผลิตจนเสร็จสิ้นนั้นจะไม่สามารถขายออกได้ และสิ่งที่เรียกว่าวิกฤตการณ์ทางธุรกิจก็จะระเบิดออกมา โรงงานจำเป็นจะต้องถูกปิดลง บรรดาเจ้าของโรงงานจะกลายเป็นผู้ล้มละลาย และชนชั้นแรงงานจะอดอยากไร้กระทั่งขนมปังประทังชีพ ความทุกข์ทรมานอย่างถึงที่สุดนี้จะแพร่กระจายไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

และเมื่อผ่านไปช่วงเวลาหนึ่งแล้ว บรรดาสินค้าตกค้างทั้งหลายนี้ก็จะถูกขายได้ โรงงานจะกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ค่าแรงจะขยายตัวสูงขึ้น และธุรกิจต่างๆจะขยายตัวมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

หากแต่ช่วงเวลาดังกล่าวจะดำรงอยู่ไม่นานนัก สินค้าจำนวนมากก็จะถูกผลิตมาจนล้นเกินอีกครั้งและวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ก็จะระเบิดขึ้น และมันก็จะเข้าสู่วงจรของวิกฤตด้วยสาเหตุเดียวกันกับที่เคยเกิดมาก่อน

ตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นของศตวรรษนี้ (ศตวรรษที่สิบเก้า) เงื่อนไขของอุตสาหกรรมนั้นประสบกับความผันผวนอย่างรุนแรงต่อเนื่องระหว่างช่วงเวลาของความเจริญรุ่งเรืองและช่วงเวลาของวิกฤต เกือบทุกห้าปี หรือเจ็ดปีนั้นมันจะเกิดวิกฤตครั้งใหม่ขึ้น และทุกครั้งนั้นมันจะกลายเป็นวิกฤตที่หนักหนามากขึ้นสำหรับชนชั้นแรงงาน และในทุกวิกฤตนั้นมันย่อมจะตามมาด้วยสัญญาณหรือประกายไปของการปฏิวัติและอันตรายที่ส่งผลโดยตรงต่อระเบียบของสังคมที่ดำรงอยู่เสมอ

 

[to be continue]