Skip to main content

Ethereum ในฐานะส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีในภาพกว้าง

ในปี 2014 เกวิน วู้ดได้นำเสนอ Ethereum ในฐานะหนึ่งในชุดเครื่องมือสามอย่างสามารถพัฒนาขึ้นได้ โดยอีกสองเครื่องมือคือ Whisper (ระบบส่งข้อความแบบกระจายศูนย์) และ Swarm (ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์) ในช่วงแรก Whisper ได้รับความสนใจอย่างมาก แต่เมื่อโลกของคริปโตเริ่มหันไปทางด้านการเงินในปี 2017 เครื่องมือทั้งสองก็เริ่มเสื่อมความนิยมลง โชคดีที่ Whisper ยังไม่สูญหายไป และปัจจุบันได้พัฒนาเป็น Waku ซึ่งถูกใช้งานในโปรเจคต่างๆ เช่นในแพลตฟอร์มส่งข้อความกระจายศูนย์อย่าง Status ในขณะเดียวกัน Swarm ก็ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แถมเรายังมี IPFS ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการโฮสต์และให้บริการเว็บบล็อกที่ผมเขียนอยู่นี้ด้วย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเติบโตของโซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์ เช่น Lens และ Farcaster เปิดโอกาสให้เรากลับมาพิจารณาชุดเครื่องมือเหล่านี้อีกครั้ง นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องมือใหม่ที่ทรงพลังมากเข้ามาเสริมทัพ คือ Zero Knowledge Proofs (ZKPs) เทคโนโลยีเหล่านี้ได้รับการประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางที่สุดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการใช้งาน (scalability) ของ Ethereum (อาทิ ZK rollups) แต่พวกมันยังมีประโยชน์มากในแง่ของความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสามารถในการเขียนคำสั่งใหม่ลงไปได้ (programmability) ของ ZKPs ทำให้เราสามารถก้าวข้ามแนวคิดผิดๆ ที่ว่าเราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง “การไม่ระบุตัวตนแต่เสี่ยง” กับ “การระบุตัวตนเต็มรูปแบบ (KYC) จึงปลอดภัย” และทำให้เราสามารถมีทั้งความเป็นส่วนตัวและการตรวจสอบหรือยืนยันตัวตนในรูปแบบต่างๆ ได้พร้อมกัน

ตัวอย่างของสิ่งนี้ในปี 2003 ก็คือ Zupass ระบบที่ใช้งาน ZKPs ซึ่งพัฒนาขึ้นที่ซูซาลู (Zuzalu) โดยใช้ทั้งเพื่อยืนยันตัวตนแบบออฟไลน์สำหรับการเข้างาน และยืนยันตัวตนแบบออนไลน์เพื่อใช้งานระบบต่าง ๆ เช่น ระบบสำรวจความคิดเห็น Zupoll และแพลตฟอร์มหน้าตาคล้าย Twitter อย่าง Zucast เป็นต้น จุดเด่นสำคัญของ Zupass คือ คุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าคุณเป็นผู้อาศัยในซูซาลู โดยไม่ต้องเปิดเผยว่าคุณเป็นใครในนั้น นอกจากนี้ ผู้อาศัยแต่ละคนในซูซาลู จะได้รับตัวตนเข้ารหัสแบบสุ่มที่ไม่ซ้ำกันสำหรับแต่ละแอปพลิเคชัน (เช่น การลงคะแนนใน Zupoll) ที่พวกเขาลงชื่อเข้าใช้งาน Zupass ประสบความสำเร็จอย่างมาก และถูกนำไปใช้จัดการระบบจำหน่ายตั๋วในงาน Devconnect ในปีเดียวกันนั้นด้วย

การใช้งาน Zupass อย่างเป็นรูปธรรมที่สุดจนถึงตอนนี้น่าจะเป็นการใช้สำหรับการลงคะแนนเสียง ระบบนี้ถูกใช้จัดการโพลในหลากหลายหัวข้อ บางหัวข้อเป็นประเด็นอ่อนไหวทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วนตัวที่ผู้คนต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของตน โดยใช้ Zupass เป็นแพลตฟอร์มลงคะแนนแบบไม่เปิดเผยตัวตน

จากตรงนี้ เราเริ่มเห็นภาพว่าโลก “ไซเฟอร์พังก์” ในแบบของ Ethereum อาจมีหน้าตาเป็นอย่างไรในทางเทคนิค เราสามารถถือสินทรัพย์ในรูปของ ETH หรือโทเคน ERC20 รวมถึง NFT ประเภทต่างๆ และใช้ระบบความเป็นส่วนตัวที่สร้างจาก stealth addresses และเทคโนโลยี Privacy Pools เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเรา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีสามารถใช้ประโยชน์จากการไม่เปิดเผยตัวตนแบบเดียวกันนี้ได้

ไม่ว่าจะเพื่อการใช้งานภายใน DAOs เพื่อช่วยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงโปรโตคอล Ethereum หรือเพื่อเป้าหมายอื่นๆ เราสามารถใช้ระบบการลงคะแนนแบบ zero-knowledge ซึ่งช่วยให้เรากำหนดคุณสมบัติต่างๆ เพื่อระบุว่าใครเป็นผู้มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน ยกตัวอย่างเช่น นอกจากการลงคะแนนด้วยโทเคนแบบที่ทำในปี 2017 เราอาจสร้างโพลแบบไม่ระบุตัวตนสำหรับผู้ที่มีส่วนร่วมกับระบบนิเวศมาพอสมควร หรือผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมมากพอ หรือแม้แต่ระบบ หนึ่งคนหนึ่งเสียง

การชำระเงินทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายด้วยธุรกรรมราคาถูกมากบน Layer 2 (L2) ซึ่งใช้ประโยชน์จากพื้นที่ความพร้อมใช้งานของข้อมูล (data availability space) (หรือข้อมูลนอกเชนที่ได้รับการรักษาความปลอดภัยด้วย Plasma) รวมถึงการบีบอัดข้อมูลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ใช้งาน การโอนเงินระหว่าง rollup สามารถทำได้ผ่านโปรโตคอลกระจายศูนย์อย่าง UniswapX โซเชียลมีเดียแบบกระจายศูนย์สามารถใช้เลเยอร์จัดเก็บข้อมูลเพื่อบันทึกกิจกรรม เช่น โพสต์ การรีทวีต หรือการกดไลก์ และใช้ ENS (ซึ่งมีต้นทุนต่ำบน L2 ด้วย CCIP) เพื่อเป็นชื่อผู้ใช้งาน ระบบยังสามารถผสานรวมโทเคนที่อยู่บนเชนเข้ากับการยืนยันข้อมูลนอกเชนที่ผู้ใช้เก็บไว้เป็นส่วนตัว และการพิสูจน์ด้วยเทคโนโลยี ZK ผ่านระบบอย่าง Zupass ได้อย่างไร้รอยต่อ

กลไกใหม่ๆ อย่าง quadratic voting, cross-tribal consensus finding และ prediction markets สามารถช่วยให้องค์กรและชุมชนต่างๆ บริหารจัดการตัวเองได้ดีขึ้นและรับข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ บล็อกเชนและระบบตัวตนบนพื้นฐาน ZK-proofs ยังสามารถทำให้ระบบเหล่านี้ปลอดภัยจากการเซ็นเซอร์แบบรวมศูนย์จากภายในและการบิดเบือนข้อมูลจากภายนอก กระเป๋าที่มีระบบซับซ้อนขึ้นสามารถช่วยปกป้องผู้ใช้งานเมื่อใช้ dApps อินเทอร์เฟซผู้ใช้อาจถูกเผยแพร่ผ่าน IPFS และเข้าถึงได้ด้วยโดเมน .eth โดยที่แฮชของ HTML, JavaScript และซอฟต์แวร์อื่นๆ จะได้รับการอัปเดตบนเชนผ่าน DAO โดยตรง กระเป๋าสมาร์ทคอนแทรกต์ที่เริ่มพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใช้งานสูญเสียคริปโตมูลค่าหลายสิบล้านดอลลาร์ จะพัฒนาต่อเพื่อปกป้อง “รากฐานตัวตน” (identity roots) ของผู้ใช้งาน โดยสร้างระบบที่ปลอดภัยยิ่งกว่าผู้ให้บริการตัวตนแบบรวมศูนย์ เช่น “ลงชื่อเข้าใช้ด้วย Google"

เราสามารถมอง Ethereum-verse (หรือ Web3) ว่าเป็นการสร้าง สแต็กโปรโตคอลเทคโนโลยีแบบอิสระ ซึ่งกำลังแข่งขันกับสแต็กโปรโตคอลแบบรวมศูนย์ในทุกระดับ หลายคนอาจเลือกใช้ทั้งสองระบบร่วมกัน และมีวิธีที่ชาญฉลาดในการทำให้ระบบทั้งสองนี้ทำงานเข้ากันได้ เช่น ZKEmail ซึ่งสามารถให้อีเมลของคุณเป็นในการ์เดี้ยนเพื่อกู้คืนโซเชียลวอลเล็ตของคุณได้! แต่การใช้ส่วนต่างๆ ของสแต็กแบบกระจายศูนย์ร่วมกันยังประโยชน์อีกหลายอย่างโดยเฉพาะหากเราออกแบบให้ส่วนเหล่านี้ทำงานร่วมกันได้ดี

ข้อดีอย่างหนึ่งของการมองระบบในรูปแบบสแต็กคือมันสอดคล้องกับจิตวิญญาณแบบพหุนิยม (pluralist ethos) ของ Ethereum บิตคอยน์พยายามแก้ปัญหาแค่หนึ่งหรืออย่างดีก็แค่สองสามปัญหา แต่ Ethereum มีชุมชนย่อยที่มีเป้าหมายหลากหลาย ไม่มีเรื่องเล่าเรื่องเดียวที่ครอบงำ เป้าหมายของการสร้างสแต็กนี้คือเพื่อสนับสนุนความหลากหลายดังกล่าว ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันให้ระบบที่หลากหลายเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 3 ขีดจำกัดของอำนาจรัฐ (The Limits o
Apolitical
บทที่ 2 สิทธิของมนุษย์ (The Rights of Man)
Apolitical
บทที่ 1 ความคิดเรื่องเสรีภาพยุคคลาสสิกและยุคสมัยใหม่ (
Apolitical
บล็อกนี้มีจุดประสงค์เริ่มแรก เพื่อรวบรวมงานแปลของผมเป็นหลักนะครับ โดยจะทยอยอัพเดทเรื่อย ๆ เท่าที่มีเวลา